วันพุธ, เมษายน 26, 2549

เรื่องเล่าจาก "บ้านดิน"

การได้เดินทางอีกครั้ง ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆเกิดกับเราเสมอ

ยิ่งไปค่ายผ่อนพักตระหนักรู้กับพี่อุ๊ด้วยแล้ว

ยิ่งรู้สึกว่าได้ซึมซับอะไรใหม่ๆและสดชื่นแจ่มใสทุกครั้งไป แม้ว่าครั้งนี้จะต่างจากทุกครั้ง เนื่องจากเป็นการผ่อนพักตระหนักรู้แบบถึกๆ แบกหิน ก้อนดิน ใช้แรงกันไม่ใช่น้อย แต่ก็ได้อีกอารมณ์หนึ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ เลย

ล้อหมุนจาก มสช. ในเย็นวันที่ 20 มุ่งหน้าไปวัดท่ามะไฟหวาน จ.ชัยภูมิ

จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกุฎิดินถวายวัด

ครั้งนี้พลพรรคสื่อสร้างสรรค์มีเพียง 10 กว่าคน แต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพแห่งความถึก พ่วงสมาชิกใหม่มากมาย

ตั้งแต่ ไฟท์บังคับอย่าง พี่อุ๊ พี่น้ำเย็น และพี่จ๋าจิตวิวัฒน์

ไฟท์ต่อเนื่องอย่าง พี่ปิ่น แฟนคลับ ไปทุกค่าย ไปทุกครั้ง ไม่มีขาด และมุ่งมั่นมากๆ กับค่ายบ้านดินหนนี้ (เห็นบอกว่าตั้งแต่ดูกิจกรรมทั้งหมดของ Happy Media แล้ว ค่ายบ้านดินนี่แหละคือสิ่งที่พี่ปิ่นต้องการ! - แล้วผู้หญิงคนนี้ก็ทำให้เราเห็นจริงๆ ว่าเธอมีพลังเหลือล้นจริงๆ โฮะๆ)

ไฟท์ตามสะดวก ได้แก่ นิ้ง พี่แอม (health & cuisine)พี่หน่อย และ พี่อี้

ไฟท์น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์(?) ได้แก่

พี่เอก นักข่าวการเมืองหัวเห็ดจาก Post Today ที่เพิ่งลาออกจากบริษัทแล้วบึ่งมา มสช. แบบร้อนฉ่าเลยทีเดียว

พี่น้อย แฟนพี่เอก เอ๊ย! บ่จ๊าย สามีพี่น้ำเย็นคะ

เอ๋ นิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ภาควารสารสนเทศ เพื่อนรุ่นเดียวกับหนูนิ้ง(ชักชวนเพื่อนเข้าวงการ)

พี่ชัย ลูกศิษย์ อ.สุริชัย หวันแก้ว กำลังเรียนปริญญาเอกที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นพี่มหาลัยเดียวกับหนูนิ้ง (ชักชวนพี่เข้าวงการแรงงานอีกเช่นกัน ฮี่ๆๆๆ)

และครอบครัวคุณเดช ซึ่งประกอบด้วย คุณเดช น้องฟาง(ลูกชายวัย 10 ขวบ) และน้องข้าว (ลูกสาว 7 ชวบ) พี่หน่อยส่งเข้าประกวด

และที่หลงลืมไม่ได้ เพราะถ้าลืม เราอาจจะหลง ได้แก่ พี่ไมค์ ภิรมย์พร คนขับรถมาดเท่ผู้มีหน้าตา ท่วงท่าหล่อเหลาเอาการคล้ายพี่ไมค์ (ไม่รู้ว่าน้ำเสียงด้วยหรือเปล่า) จนได้ชื่อใหม่ว่า "พี่ไมค์" แทนชื่อจริงไปเสียฉิบ

นับหัวแรงงานแล้วได้ 15 หัว

9 หัวเดินทางจากมสช. ไปวัดท่ามะไฟหวาน พร้อมแผ่นกระดาษแผนที่ 1 ใบ

เริ่มแรกการเดินทางนั้นราบเรียบราวสายไหม แต่พอเริ่มเลี้ยวเข้าตัวอำเภอแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ตกดึก เริ่มระทึก ไม่ใช่ว่าตื่นเต้นกับสถานที่ใหม่ แต่ลุ่นระทึกกับการ rally หาเส้นทางสู่วัดท่ามะไฟหวาน..ยามเที่ยงคืน (จะถึงไหมเนี่ย - -")

เนื่องจากถนนหนทางสู่ท่ามะไฟหวานนั้นอยู่ท่ามกลางป่าเขาและถนนที่ไร้แสงนีออน จะมองหาป้ายบอกทางซักอัน เพื่อควานหาทางตามแผนที่ซักที ทำเอาพี่ไมค์ของเราเหงื่อตก ต้องเดินหน้าถอยหลังให้ควั่กเพื่อหาทางไปต่อ

สุดท้ายเมื่อไม่รู้เหนือรู้ใต้ที่พึ่งแห่งเดียวคือ “พี่โย” วิทยากรบ้านดิน เจ้าบ้านของเรา

นี่คือบทสนทนาส่วนหนึ่งจากการหลงทาง

พี่อุ๊ : ค้า คุณโยคะ ตอนนี้เราอยู่ที่ป้าย.... แล้วค่ะ จะไปอย่างไรต่อคะ ตรงไปนะคะ ตรงไปเรื่อยๆ ซักสิบกิโลแล้วเจอแยก

10 นาทีผ่านไป

พี่อุ๊ : คุณโยคะ ตอนนี้เราถึงแยกแล้วค่ะ แต่ว่า อืมมม แต่มันไม่มีป้ายบอกอะไรเลยค่ะ มันมีแต่ทางแยก เดี๋ยวลองคุยกับคนขับนะคะ

พี่ไมค์ : ครับ ไม่มีอะไรบอกเลยครับ มีแต่เสาไฟฟ้าครับ ...อืม.. ครับ เหรอครับ ต้องขับกลับไปตรงที่มีน้ำและข้ามสะพาน ตรงไปแล้วเจอโรงเรียน ครับๆ ….

20 นาทีผ่านไป เข้าใกล้ 100 เมตรสุดท้าย


พี่จ๋า : ค่ะ พี่โย เรามาถึงหน้าทางเข้าวัดท่ามะไฟหวานแล้วนะคะ แต่มันมีทางแยกอีกคะ คะ ไปทางไหนคะ


5 นาทีผ่านไป 10 เมตรสุดท้าย


พี่อุ๊ : เอิ่ม พี่โยคะ เรามาถึงหน้าประตูวัดแล้วค่ะ แล้วต้องไปอย่างไรต่อคะ ค่ะ เดี๋ยวจะขี่มอเตอไซค์ออกมารับเหรอคะ อ๋อ ค้า~ ขอบคุณคะ แหะๆๆๆ

จนถึงจนถึงวินาทีสุดท้าย เราก็ยังยืนยันที่จะถามพี่โยต่อไป (ฮา)

จบค่ำคืนนั้นด้วยการอาบน้ำนอนบนบ้านพัก ตี 1-2 สลบไสลไปพร้อมๆกัน

***********
21 เมษายน วันแรกของการทำบ้านดิน

เสียงไก่ขัน เสียงฆ้อง เสียงสวดมนตร์ เสียงเทศน์ กระหน่ำตั้งแต่ตีสาม ดังจากลำโพงก้องไปถึงอวัยวะภายใน ตั้งแต่ตะวันไม่โผล่ดิน ทำเอาหลายจำต้องคนงัวเงียตื่นขึ้นมาก่อนเวลาอันควร(หนึ่งในนั้นคือตัวข้าพเจ้าซึ่งเดินดังจนคนอื่นตื่นต่อ เหอๆ)

ที่เสียงดังกันแต่เช้าอย่างนี้ พี่โยบอกว่า คนในหมู่บ้านท่ามะไฟหวานตื่นกันแต่เช้าเดินทางไปทำงานข้างนอกกันทุกคน ฉะนั้นวันใดเป็นวันพระก็ยิ่งต้องตื่นเร็วยิ่งขึ้น มีเทศน์ มีสวด ก็ทำกันตั้งแต่ก่อนตื่น จึงเป็นปกติที่วัดนี้ตีฆ้องและเริ่มเปิดเสียงเทศน์ทางลำโพงตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อสารธรรมะกับคนทั้งหมู่บ้าน ก่อนที่พวกเขาจะออกไปทำงานเมื่อตะวันขึ้น

หกโมงกว่าพระฉันข้าว เราก็ทานอาหารพื้นบ้านที่ชาวบ้านที่นี่ทำถวายวัดกันด้วย (อร่อยมากๆค่ะ^^)

หลังจากอิ่มข้าว ก่อนไปเจอบ้านดินของจริง พี่โยก็พาไปดู VCD บ้านดินในสถานทีต่างๆ กันก่อน ให้ตื่นตาตื่นใจเล่น

ได้ความรู้ว่าว่าบ้านดินนั้นมีมานานแล้ว เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์สมัยก่อน ตั้งแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์เราย้ายนิวาสสถานจากถ้ำ ไปยังบ้าน บ้านที่ทำจากดินก็ก่อกำเนิดขึ้น โดยมีต้นกำเนิดหลายแหล่งทั่วโลก มีให้เห็นทั้งในแอฟริกา ตะวันออกลาง แถบอเมริกา เม็กซิโก จีน อินเดีย ฯลฯ

แม้แต่ในเมืองไทยเองก็เคยมีบ้านดินมาก่อน พี่โยเล่าว่ามีในสมัยรัชกาลที่ 5 พ่อค้าชาวจีนย้ายถิ่นฐานเข้ามาที่ราชบุรีและสร้างบ้านดินเพื่อเป็นอาคารสำหรับค้าขายอยู่ที่นั่น จวบจนทุกวันนี้บ้านดินหลังดังกล่าวยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิม

หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับบ้านดินได้พอประมาณ พี่โยก็พาเดินชมบ้านดินในบริเวณวัดแห่งนี้ ซึ่งมีเกือบ 10 หลัง!

โอ้ว~ อาจจะงงงันกันว่าเหตุใดถึงเยอะจั๋งซี่ เนื่องจากวัดท่ามะไฟหวานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ "บ้านสายรุ้ง" ซึ่งเป็นสถาบันอบรมสอนบ้านดิน ฉะนั้นสถานที่วัดจึงเป็นที่ทดลองสร้างบ้านดินหลายต่อหลายหลัง มีหลายกรณีศึกษามีทั้ง

กุฏิดิน

บ้านพักดิน

บ้านเด็กเล่นดิน

ศาลาดิน

ออฟฟิศดิน

จนไปถึง...ส้วมดิน!

(โอเพ่นแอร์ด้วยนะขอบอก ฮา)

มีให้เลือกชมตั้งแต่หรูหราไฮโซน่านั่งน่านอน จนไปถึง นั่งไม่ได้นอนไม่ได้ เพราะยังสร้างไม่เสร็จ ค้างคาไว้อย่างนั้น (ต้นไม้เลื้อยไปมาเป็นว่าเล่น)

เมื่อเดินดูบ้านนู้นชมบ้านนี้กันอย่างตื่นตาตื่นใจ พี่โยก็ชวนให้มาทดลองดินว่าดินแบบไหนจะนำมาสร้างบ้านดินได้

ดินที่สามารถนำมาทำบ้านดินได้นั้น ต้องมาจากดินที่มีสัดส่วนของดิน 50% และทราย 50% หรือสัดส่วนที่ใกล้เคียง โดยวิธีการ lap ทดลองกันง่ายๆ เพียง

- นำขวดมาหนึ่งขวด

- ใส่ดินที่คิดจะนำมาสร้างบ้านดิน 1/3 ของขวด

- เติมน้ำ

- เขย่าขวดให้เข้ากัน เขย่าไปเขย่ามาจนน้ำกระฉ่อกได้ที่แล้วก็ปล่อยขวดไว้ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที

- รอๆๆ กินๆๆ นอนๆๆๆ => ให้ดินตกตะกอน

- พอตกตะกอนแล้วจะมีมีสามชั้นที่โด่นเด่นชัดเจนได้แก่ ชั้นล่างคือส่วนที่มวลหนัก คือ "ดินทราย" ชั้นบนถัดไปคือส่วนที่มีมวลเบาเป็น "ดินร่วน" และ สามคือ "ดินเหนียว" กะจากสายตาดูได้ หากเห็นว่าสัดส่วนของดินร่วนบวกกับดินเหนียว กับสัดส่วนของทรายมีประมาณ 50/50 แล้วไซร้ ถือว่าใช้ได้แน่นอน (หากว่าส่วนที่เป็นดินน้อยเกินไปเราก็เติมดิน หากว่าทรายน้อยเกินไปก็เติมทรายคะ)

ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสำหรับสร้างบ้านดินมีข้อแม้หนึ่งเดียว คือ น้ำท่วมไม่ถึง และ อากาศไม่ชื้นมาก เทปูนบริเวณที่จะสร้างบ้านก่อนสร้าง แค่นี้ก็พร้อมแล้ว

อ่า... เอาละ ต่อไป เราจะได้สร้างบ้านดินกันแล้ว อิ๊วววววว~~~~~

พี่โยบอกว่าขั้นแรกก่อนอื่นเลย คือการ "ย่ำดิน" โดยผสมคลุกเคล้า ดินที่เราทดลองเมื่อตะกี้ผสมกับน้ำและแกลบ ด้วยสองเท้าของเรา

ตื่นเต้นๆๆ ตื่นเต้นคะ เราจะได้สร้างบ้านด้วยตัวเองค่ะ ว้าว!! บ้าน Hand made!!!

ถึงขั้นนี้ ทำเอาหนูนิ้งและหนูเอ๋ตาโตเป็นไข่ห่าน O.o ใจเต้นตึกตัก

เมื่อขุดดินได้ที่ ใส่น้ำพอขลุกขลิก เหมาะสมแล้วกับการคลุกวงใน นิ้งกับเอ๋ก็เข้าไปชาร์จ เอ๊ย! ย่ำดินโดยทันท่วงที (โดยปล่อยให้พี่ๆ ยืนอึ้งกิมกี่เนื่องจากยังลังเลอยู่ ฮาๆ)

การย่ำดินเป็นอย่างไร ขอบรรยายความรู้สึกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า จั๊กกะเดียมเล็กๆ เดินเซๆหน่อยๆ ฉะนั้นจับมือคนข้างๆ ไว้ แล้วย่ำกัน (ฮุๆๆๆ สนุกมากๆ ค่ะ)

เมื่อทำสปาเท้ากันอย่างเมามันส์ พี่โยเริ่มเรียกเด็กโข่งทั้งหลายมาสู่กระบวนการต่อไป คือ การทำ "ก้อนดิน"(ก้อนดิน คือ ดินที่เเข็งแรงพอที่จะนำมาทำหน้าที่เหมือนอิฐสำหรับก่อบ้าน)

ก่อนอื่นต้องมีตัวแบบที่ทำจากไม้ซึ่งทำให้ได้ก้อนดินขนาด 16x8 หนา 3 นิ้ว กระบวนการก็คือ วางแบบ => เทดินที่ย่ำลงไปในตัวแบบ => เอาเกรียงปาดให้เรียบ => ยกแบบออก => จากนั้นก็ปล่อยให้ตากแดดให้แห้ง นำมาใช้เพื่อก่อบ้านในที่สุด (อธิบายดูงงๆ แต่จริงๆไม่ยากเลยค่ะ)

หลังจากนั้นเราก็เริ่มก่อดินสร้างบ้านกันล่ะค่ะ เรานำก้อนดินซึ่งหนักมาก (ก้อนละเกือบสิบกิโล) มาก่อซ้อนๆ กันขึ้นไป โดยมีดินที่ย่ำแล้วเป็นตัวเชื่อมเกาะ เรียงไปทีละก้อนๆ ขึ้นมาเป็นตัวบ้าน

ชั่วโมงแรกก็คึกคักก่อกันใหญ่ สูงเอาๆ แต่พอชั่วโมงที่สองเริ่มเมื่อย เหงื่อเริ่มโทรมกาย กำแพงเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แขนหมดแรง จะยกมือปาดดินที ยกก้อนดินที "ความอืด" เริ่มเข้ามาเยือน

"ฮึบ!! หลีกๆๆ ดินมันหนัก"

"แปะๆ"

"ฮีบๆๆ"

กว่าจะฮืบที่ละฮืบ กว่าจะยกแต่ละอัน หลายคนจึงเริ่มพักยก ออกไปย่ำดินบ้าง ไปล้างเท้าล้างมือ นั่งพักบ้าง หลังๆเริ่มมีเม้าธ์

แต่มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ stand by อยู่ตลอดเวลา

หาใช่หนุ่มกล้ามโตอย่างพี่เอก ม่ายช่าย~

หาใช้หมีตัวโตอย่างพี่จ๋า ม่ายช่าย~

หากแต่เป็นหญิงเหล็กตัวเล็กอย่าง "พี่ปิ่น" ผู้ซึ่งเก็บกักพลังงานมากมายมาตั้งแต่ค่ายครั้งที่หนึ่งจนครั้งนี้เธอได้กลายเป็น ปิ่นนอนสต๊อป! โฟร์แมนตัวจริงกระทิงแดง!!ส่วนที่เหลือ เริ่มสต๊อปแล้วอยากนอนฮ่ะ เหอๆ

จบเย็นวันนั้นด้วยการปาดเหงื่อ (ให้กำลังใจพี่ปิ่นหนักไปหน่อย) เนื้อตัวมอมแมม แต่ชายเดียวอย่างพี่เอกกลับเนื้อตัวสะอาดหมดจด ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน ?? อันนี้ต้องถามพี่น้อยผู้หัวเราะคิกคักกันตลอดการก่อบ้าน

พอได้ถอยหลังออกมาดูผลงานตัวเอง เราก็เห็นกำแพงซู้ง สูง ประมาณ 3-4 เมตรได้ ว้าว! ไม่น่าเชื่อว่าเพียง 2-3 ชั่วโมง เราจะทำกันได้ถึงขนาดนี้

โอ้ว~บ้านดินอาจไม่ยากเกินไป

ตก 4 โมงเย็น ใกล้เวลากินข้าว พี่โยถามว่าจะไปเขื่อนกันไหม? เด็กๆ ร่าเริงดี๊ด๊าตอบตกลงทันที เตรียมไปลงน้ำกันเต็มที่ พอถึงเขื่อนปุ๊ป ก็รีบลงน้ำปั๊บ (เหมือนไม่เคยเห็นน้ำมาเลยตลอดชีวิต)

ลืมนึกไปว่ามาเขื่อนนั้น เรามาปิ๊กนิกกินข้าวด้วย ขึ้นจากน้ำจึงได้แต่ "กินไปหนาวไป" บรื้ออ! หนาวจริงๆค้า~

หลังจากกินข้าวเสร็จก็เริ่มแยกทำกิจกรรมใต้น้ำบนดิน

นิ้ง เอ๋ พี่เอก และน้องก้อง (ลูกชายพี่โย) ลงแหวกว่ายกันต่อหลังจากหนาวได้ใจ (พี่อุ๊กับพี่ชัยลงเป๊ปเดียว ไม่ยอมหนาวต่อ)

น้องข้าวและพี่จ๋า โดนปล่อยเกาะกลางแม่น้ำ

พี่แอม เดินสู่หนทางของเธอ Amm's way~

ที่เหลือมองคนอื่นทำนู้นทำนี่ (เก็บค่าชมคนละ 5 บาทนะค่ะพี่น้อง)

หลังจากนั้นเหล่าเราก็กลับที่พัก อาบน้ำ นอนหลับกันเป็นเบือ...

คร่อกกกก ฟี้~~~~

..........

22 เมษายน วันที่สองของการทำบ้านดิน


และแล้วก็ผ่านค่ำคืนแห่งจากหลับฟี้~ หลับฟี้~ อันยาวนาน

การตื่นในยามเช้านั้นช่างยากส์ลำบากยิ่งนัก (ขออนุญาติเติม s ไปอีก 10 ตัว)

มันยากจริงนะคะ ไม่ได้โม้ ลองคิดถึงวันที่คุณต้องออกแรงทุกหยาดเหงื่อหยาดหยดจนเหมดสิ้น เช่นว่า วิ่งแบบไม่ผลัด 100X100 ติดต่อกันนอนสต๊อป, แบกข้าวสารร้อยโล (ทีละหลายๆรอบ), กระโดดเชือกพันครั้ง (ขาโป่งเป็นบอลลูนเเน่ๆ) , วิ่งรอบวัดพระแก้วร้อยหนแก้บนไล่ทักกี้ ฯลฯ (และอื่นๆ แล้วแต่ท่านจะจินตาการ)

หากตัวอย่างเหล่านี้ยังไม่พอ คงต้องมาลองทำเองเท่านั้น และจะพบว่า มันเมื่อย มันขบ มันสโลว์ไปหมดทุกท่วงท่า ไล่ไปตั้งแต่ปลีน่อง ต้นขา ก้นกบ หลัง ไหล่ เอว แขน ยังผลไปยัง "ความอู้" (ซึ่งน่าจะเกี่ยวพันกับความอ้วน อืด และอวบเป็นแน่เท้ อิๆ)

หลังจากกินข้าวเช้ากันอิ่ม เราจึงนอนเล่นใต้ต้นโพธิ์กลางลานวัดกันต้นโพธิ์กลางวัดที่นี้มีนามแสนไพเราะว่า หลวงพ่อ "นิโครธ" ต้นโพธิ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา ปกดิน ทิ้งร่มเงาไม้ให้เราได้พักพิงอิงนอน เงยหน้ามองกิ่งไม้ใบไม้โบกไหวอย่างอ่อนโยน รู้สึกได้ถึงความเอื้ออทรและปราณีเลยคะ

อีกสิ่งที่รู้สึกได้ชัดเจนจากการไปทริปนี้ คือ ที่นี่มี "อากาศ อาหาร และอารมณ์" ที่เป็นมิตรมาก หากอยู่ในกรุงเทพฯ จะนั่งจะนอนที่ไหนก็คงร้อนแทบแย่ แต่ที่ชัยภูมิไม่ใช่เช่นนั้น พื้นที่วัดที่เราอาศัยอยู่ในเขตภูเขา มีป่า ต้นไม้ และดินที่อุดม

ต้องขอบคุณพระและคนที่นี้ที่รักษาอากาศและผืนป่าไว้
ขอบคุณคุณป้าที่ทำอาหารจากผักที่ปลูกกินเองให้เราทาน อาหารไร้ผงชูรส แสนสดชื่น
และต้องขอบคุณอารมณ์ดีๆ สงบๆ ของคนและบรรยากาศรอบข้าง

^^ Very Happy Media จริงๆคะ ยิ่งหลังอาหารยิ่งแฮปปี้มากๆ ฮุๆ

หลังจากนอนอู้ใต้ต้นนิโครธพักใหญ่ เราก็เราขยับตัวไปยังบ้านดินที่เราก่อดินไว้เมื่อวาน พบว่าตอนนี้มันเป็นรูปเป็นร่างสูงใหญ่กว่าเดิมโดยฝีมือเหล่าพี่ช่างที่ได้ล่วงหน้ามาก่อนเราพักใหญ่ ก่อได้สูงจริงๆ เลย อิ๊วๆๆ (ดีใจไม่ต้องก่อ ฮุๆ)

พี่โยจึงสอนให้ทำขั้นต่อไปคือการฉาบดินซึ่งใช้ดินที่มีส่วนผสมเหมือนดินที่ทำจากก้อนดิน แต่มีส่วนผสมของน้ำมากกว่าวิธีการฉาบมีสองวิธีคือใช้มือฉาบและใช้เกียงฉาบปูนซึ่งจะทำให้ผนังเรียบสวยกว่า

บ้านหลังนี้มีให้เลือกชมทั้งสองแบบ ได้แก่ ข้างหน้า ฉาบเกียงโดย พี่ปิ่น เอ๋ พี่อุ๊ พี่อี๊ และพี่จ๋า เรียบเนี๊ยบส่วนใหญ่โดยโฟร์แมนมือหนึ่งของเรา พี่ปิ่น เธอได้แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ที่เก็บกักไว้ตั้งแต่วัยเด็กของเธอ อันมีตำนานว่า สมัยเป็นเด็ก พี่ปิ่นช่วยแม่ทำงานปูนบ่อยๆ มาช่วยยกนู้นยกนี้ประจำ สมัยนั้นช่างฉาบเป็นอาชีพที่เท่มาก นั่งร้านสูงๆ ฉาบเรียบๆ แถมได้ค่าจ้างเยอะอีกต่างหาก ผลจากการครูพักลักจำและการเก็บกักพรสวรรค์ไว้นานถึง 20 ปี ทำให้พี่ปิ่นแสดงฝีมือการฉาบเป็นที่ประจักษ์ในค่ายนี้ (เท่ห์มากๆ)

ด้านหลังและข้างๆ เป็นแนวโพสต์ๆ ผสมกันระหว่างฉาบๆ โป๊ะๆ ได้แก่ ครอบครัวคุณเดช พี่หน่อย นิ้ง พี่แอม พี่ชัย พี่น้อย และพี่น้ำเย็น ขรุขระบ้างเป็นช่วงๆ อาร์ตฮ่ะ อาร์ต!

ถึงตอนนี้อาจสงสัยว่าเหตุใดคนชื่อ "เอก" จึงหายไป ?? พี่เอกหายไปไหน??

หันหลังไปจึงพบว่า ... พี่เอกกำลังยืนถือฟองน้ำอยู่ ... (ขออนุญาติยืนปิดตาชี้ไปยังพี่เอก)

อาจจะสงสัยกันว่าฟองน้ำมีหน้าที่อะไรในงานครั้งนี้ ฟองน้ำมีหน้าที่ทำให้เกียงฉาบ ลื่น ง่ายต่อการฉาบให้เรียบ (เห็นป่าว สำคัญมากๆ)

พี่เอกจึงยืน support ฟองน้ำอยู่เช่นนั้น จนมีคนถามหาคนขนดิน พี่เอกจนกลายเป็นคนยกดินไปจนได้ ซึ่งถังๆ หนึ่งก็หนักใช่ย่อยทีเดียว (โอ๊ะ! แมนขึ้นนิดหนึ่ง)

จบการฉาบเวลาเที่ยงทุกคนมอมแมม ยกเว้นพี่เอกเช่นเคย (ฮา)

ตกเที่ยง คุณป้ายกหมี่ผัดซีอิ๊ว ไข่เจียว บวกกับเมนูเด็ดแห่งมื้อ ได้แก่ ส้มตำ มาด้วยครก มะละกอ พริก มะเขือ ปลาร้า กุ้งแห้ง พร้อม ป้าพร้อม เราพร้อม เปิปหยิบ! (ซู๊ด~ น้ำลายไหล)ซักพัก พี่ปิ่น โชว์ฝีมือตำไทยให้เรากินกัน

โอ้ว~~ เหล่าเราต่างครางกันอู้อ้าด้วยความอร่อยจบมื้อนั้นด้วยการนอนพักใต้หลวงพ่อนิโครธเช่นเคย ^^ อ๊า เย็นสบายจัง~

หลังการอู้ตอนเที่ยงอย่างเป็นพิธีการ พี่โยเริ่มสะกิดเรียกไปสู่ขั้นต่อไปได้แก่ การทำ "เฟอร์นิเจอดิน"
คำๆ นี้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราอีกแล้ว เพราะนอกจากเราจะทำบ้านดินได้ เรายังทำเฟอร์นิเจอร์ดินของตัวเองได้อีกต่างหาก!

พี่โยบอกว่าขั้นตอนนี้จริงๆ ควรดีไซน์ไว้ก่อนที่จะสร้างบ้านจะง่ายกว่าคิดทีหลัง แต่หากเพิ่งคิดได้ก็สามารถทำได้อยู่ดี

ก่อนอื่นต้องคิดก่อนว่าอยากได้เฟอร์นิเจอร์อะไร มติที่ประชุมตกลงใจให้ "ชั้นวางหนังสือ" และ "ที่นั่งริมหน้าต่าง" ได้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกเลือกในครั้งนี้

พี่โยบอกว่าหากต้องการให้เฟอร์นิเจอร์ยื่นออกมาจากตัวบ้านก็ให้เจาะบ้านดินออกมาเป็นช่องแล้วเสียบก้อนดินหรือไม้ไว้เป็นโครง แล้วเอาไม้พาดเป็นชั้นวางหนังสือ หรือจะทำเฟอร์นิเจอร์แยกจากตัวบ้านเลยก็ย่อมได้

เราตกลงใจกันว่าจะทำเฟอร์นิเจอแยกจากตัวบ้านดีกว่า เพราะการเจาะบ้านดินดูยุ่งยากกว่าหลายเท่านัก
แบ่งเป็นสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มชั้นหนังสือ และ กลุ่มที่นั่ง โดยมีที่พี่โยเป็นผู้นำทาง

ก่อนอื่นต้องเอาก้อนหินมาเป็นฐานของเฟอร์นิเจอร์ก่อน ทั้งนี้เพื่อกันความชื้นและเฟอร์นิเจอร์มีฐานที่มั่นคง หลังจากได้ฐานหินที่พอดีแล้วก็โป๊ะดินลงไปแล้วก่อก้อนดินให้เฟอร์นิเจอร์สูงขึ้น

ฝั่งกลุ่มชั้นวางหนังสือเมื่อก่อก้อนดินสูงได้ที่ ก็เอาไม้อัดพาดเป็นชั้นวางหนังสือ ฝั่งกลุ่มที่นั่งก็ก่อฐานที่นั่งขึ้นไปให้สูงพอนั่งสะดวก

เล่าสั้นๆ แค่สามบรรทัด แต่ของจริงใช้เวลาสองชั่วโมงก็ยังไม่เสร็จ พี่โยยกมือมองนาฬิกา มองไปมองมา กลัวเราไม่ได้ทำทุกกระบวนการของบ้านดิน จึงเริ่มไล่ไป "ทาสีดิน" ยังบ้านดินอีกหลังต่อ

ทำไมต้องทาสีดิน กระบวนการนี้มีเพื่อเคลือบผิวบ้านดินให้ติดทนนาน ไม่เป็นขี้ผงขี้ฝุ่นบินปลิวว่อนไปว่อนมาในนภาอากาศ จึงควรทาทั้งนอกทั้งในบ้าน ให้เรียบเนียนงามหมดจดทุกที่ไป

มาถึงบ้านดินหลังนี้ เราก็พบถังกะละมังหม้อ อุปกรณ์ครบครัน สำหรับการทาสี ส่วนประกอบการทาสีดินได้แก่ สีดิน 1 ส่วน ดินทรายร่อน 1 ส่วน และกาวแป้งเปียก 1 ส่วน คนกันให้ได้ที่

กลิ่นดีๆ แหม~ น่ากิน แต่กินไม่ได้ มันกรุบกรับเกินไป ควรแล้วที่จะเอาไปทาบ้าน

ฉับพลันเราก็จุ่มมือลงไป "อ๊า~~~~~~~~ มันอุ่น" เมื่อมือได้สัมผัสกับกาวแป้งเปียกที่อบอุ่นได้ที่ ก็รู้สึกราวกับได้ทำสปามือ เหล่าเราจึงเอามือปาดบ้านไปมาเมามันส์

ปาดจากล่างขึ้นบน บ้านจะดูสวยงาม เรียบๆ หนืดๆ น่าเอาตัวไป "แปะยืดๆ" เป็นยิ่งนัก

พอเราปาดขึ้นปาดลงจนหนืดเหนียวไปทั้งหลังแล้ว ก็เอาฟองน้ำชุบน้ำเช็ดๆ เสียหน่อย แหม เรียบลื่นน่าสัมผัสจริงๆ

ครั้นเสร็จแล้ว เราก็ถ่ายภาพที่ระลึกกันมา อิๆ งามจริงๆ นะคะ เชิญทัศนา

หลังจากทาสีดินกันเสร็จสรรพก็ถึงเวลาพักทักทายหลวงพ่อนิโครธอีกครั้ง เราจำนวนหนึ่งก็นอนพึ่งพุงกันใต้ต้นโพธิ์อย่างมีความสุข

หลังจากนั้นเราก็ขยับกายขึ้นรถไปปิ๊กนิกยามเย็นกันอีกแล้วที่ "ภูมอหินขาว"

นั่งรถกระบะ หัวสั่นหัวคลอน รถก็เริ่มปีนป่ายภูเขาสูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อยๆ กินฝุ่นแดงกันประมาณชั่วโมงกว่า เราก็มาถึงที่หมาย

ภูมอหินขาวนั้นงดงามจริงๆ คะ อากาศบนภูเขาเย็นๆ ดอกหญ้าสีขาว ชมพู ชูช่อไสวขึ้นเต็มภู อ่อนหวาน งดงาม และแสนอ่อนโยน ส่วนภูเขาทรายก็ตั้งตระหง่าน ราวกับเป็นใจกลางโลก

การกินข้าวมื้อนี้ ท่าทางบรรยากาศจะอร่อยกว่าอาหารซะแล้ว

แต่เนื่องจาก "อำนาจแห่งท้องกิ๋ว" มีมากกว่า พอลงจากรถปุ๊บ พลพรรคส่วนใหญ่จึงมุงไปยัง ผัดเปรี้ยวหวาน ผัดเผ็ดฝักทองและไข่เจียว

ทำเอาพี่แอมผู้ดื่มด่ำกับธรรมชาติบ่นอุบว่า "อะไรเนี่ยกันเนี่ย มาถึงก็กินเลย" แล้วพี่แอมก็ออกเดินทาง ปลีกกายไปกับจิตวิญญาณตามทาง ของ amp's way~

หลังจากกินข้าวเสร็จก็ถึงเวลากินลมชมวิว ปีนหน้าผา ในครั้งนี้มีลิงชื่อว่า "เอ๋" ปฏิบัติหน้าที่ (อีกคราว) ปีนขึ้นไป 3-4 เมตร จึงตกลงใจว่าเอ๋เป็นแค่พันธุ์ทาง กระโดดลงมาดีกว่า เดี๋ยวขาจะหักเอา

ฟ้าเริ่มมืด กินลมชมวิวกันจนพอใจแล้ว พลพรรคจึงตัดสินใจลงจากเขามาเป็นชาววัดต่อ

คืนนั้นหลายคนพูดคุยกันยาว ตั้งแต่เรื่องสื่อ เหตุบ้านการเมือง วันวานยังหวานอยู่ จนถึงนิสัยใจคอ
อึด หรือ อืดที่สุดก็ไม่รู ได้แก่ นิ้ง เอ๋ ชัย ที่ทำสถิติ นอนตีสี่ ตาโหลกันเป็นทิวแถว =_=

........................
เช้าวันที่ 23 เมษายน วันกลับ

เช้าวันนั้นเรามีโอกาสได้ทำพิธีถวายกุฎิดินให้แก่วัดท่ามะไฟหวาน

ความต่างของการถวายอะไรที่ทำเองจากมือ แตกต่างมากกับการทำบุญสังฆทานด้วยกะละมังสีเหลืองๆ ที่เวียนมือคนไม่รู้กี่สิบรอบ

มันบอกได้ถึงความตั้งใจ มันบอกได้ถึงความมีส่วนร่วม มันรู้สึกได้ถึงบุญอันสาธารณะ

เราไม่มีความรู้สึกหวงแหน แต่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับสิ่งนั้น มีส่วนร่วมกับทุกคนที่ทำ และรู้สึกว่าลมหายใจเรามีสติตลอดการถวายกุฏิขณะนั้นหลวงพ่อคำเขียน เจ้าอาวาสวัดกำลังอาพาธด้วยโรคมะเร็งและรอการผ่าตัด ขอให้การสร้างบ้านดินของเรามีส่วนให้ท่านมีกำลังใจ หายไวๆคะ

ก่อนกลับเราได้นั่งนิ่งๆ และพูดความรู้สึกเกี่ยวกับการสร้างบ้านดินครั้งนี้

ได้ยินข้อความหลากหลายที่มีค่า ข้อความที่นิ้งจะเขียนต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รู้สึกเท่านั้นนะคะ

คิดว่าชีวิตควรเป็นแบบนี้แหละ... รับอากาศดีๆ ออกกำลังกาย กำลังมือบ้าง ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมบ้าง เห็นค่าของสิ่งรอบตัว และเป็นส่วนหนึ่งของมัน เพื่อให้ทั้งหมดสมบูรณ์

แต่ชีวิตในเมืองนี้มันหัวกลับหมดเลย มันทำให้เราเป็นมนุษย์ตัวลีบ เร็วและรีบไปหมด ไม่ค่อยทำอะไรให้ใคร ไม่ค่อยพึ่งตัวเอง พึ่งแต่เทคโนโลยี ไม่เห็นค่าของธรรมชาติ และหลายต่อหลายครั้งเราแยกตัวออกห่าง

อีกอย่างคือ จะทำอะไรซักอย่าง บางทีมันต้องคลุกวงในซะบ้าง ถ้ายังนั้นก็คงไม่มีทางเข้าใจ
การลงมือทำสำคัญมาก บางทีการมองจากหอคอยอย่างเดียว การมีแนวคิดเยอะเยะ มีความเชื่อเป็นกระตั้ก แต่ไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่เคยทำจริง ก็ไม่มีประโยชน์ ตราบใดก็ตราบนั้น เราไม่ควรวางตัวเป็นผู้ตัดสิน

เหมือนกับว่า ตราบใดที่เล็บยังไม่ติดขี้ดิน เราก็ยังไม่ได้ทำบ้านดิน

จบทริปด้วยความรู้สึก อิ่มเอม อิ่มท้อง อิ่มบุญ อิ่มใจ ลามไปถึงอิ่มสมองน้อยๆ ที่ปลอดโปร่งขึ้นแยะเลยคะ

^_^

สนใจการสร้างบ้านดินโดยละเอียด อ่านได้ที่ http://www.budpage.com/ba24.shtml

วันเสาร์, เมษายน 08, 2549

ไม่ใช่โทรโข่งของรัฐบาล




สมาคมนักข่าวฯโต้โภคินอย่าโยนบาปสื่อไม่เชียร์พรรคไทยรักไทยให้ชนะเลือกตั้งเพราะไม่ใช่หน้าที่ แจง”.ทักษิณ”อย่าโบ้ยสื่อไม่เปิดพื้นที่เพราะก่อนนี้ 2 สมาคมนักข่าวฯร่อนหนังสือให้ตอบคำถามแล้วแต่กลับปฏิเสธเอง


เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายพิเชษฐ์ ชูรักษ์ รองเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายโภคิน พลกุล รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่ประชาชนลงคะแนนไม่ประสงค์เลือกใคร หรือโนโหวต จำนวนมาก เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ไม่เชียร์พรรคไทยรักไทยนั้น ทางสมาคมนักข่าวฯ ขอชี้แจงว่า คำพูดของนายโภคินอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนโดยทั่วไป ว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่เชียร์พรรคการเมือง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และไม่ให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ทางสมาคมนักข่าวฯ ขอเรียนว่า สื่อมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริง และไม่มีหน้าที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว ขอให้นายโภคินเข้าใจบทบาทสื่อ และเลิกบิดเบือนข้อเท็จจริง สมาคมนักข่าวฯ ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ขอยืนยันในหลักการว่า สื่อมีหน้าที่นำเสนอความจริงต่อสาธารณะให้มากที่สุด และรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลให้การตัดสินใจ และหากสื่อต้องเลือกข้าง ตามที่บางฝ่ายพยายามให้เป็น ก็คงทำได้เฉพาะยืนเคียงข้างความถูกต้อง ชอบธรรม และผลประโยชน์สูงสุดของบ้านเมืองเท่านั้น

รองเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวอีกว่ากรณี พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวในรายการกรองสถานการณ์ทางช่อง 11 เมื่อคืนวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งว่า ไม่มีพื้นที่ชี้แจงข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหานายกรัฐมนตรี

ทางสมาคมนักข่าวฯ ขอเรียนว่า คำพูดดังกล่าวอาจจะสื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด ว่าสื่อมวลชนไม่เปิดพื้นที่ หรือลำเอียงในการนำเสนอข่าว จึงขอชี้แจงว่าเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสมาคมนักข่าวฯและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีให้ใช้เวทีสมาคมนักข่าวฯ เพื่อชี้แจงข้อครหาต่าง ๆ ที่สาธารณชนเคลือบแคลงสงสัย แต่นายกฯได้ปฏิเสธ

ดังนั้น การที่นายกฯระบุว่าไม่มีพื้นที่ชี้แจงข้อเท็จจริง จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจากการปิดพื้นที่ของสื่อแต่อย่างใด

“นายกฯ เลือกที่จะพูดข้างเดียวมาตลอด เช่น ในรายการกรองสถานการณ์ ท่านก็ตอบคำถามจากทางบ้านที่ส่งเข้ามา และไม่ได้เป็นคำถามที่รอบด้านทุกแง่มุม รวมทั้งไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถาม ทำให้อีกหลายคำถามที่ท่านนายกฯ ยังไม่ได้ตอบ แต่ท่านยังมาเรียกร้องให้สื่อช่วยกันปรองดอง ในฐานะองค์กรวิชาชีพ เรายืนยันว่าไม่อาจปรองดองกับความไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่พร้อมจะทำหน้าที่ในการช่วยให้สังคมมีความเข้าใจร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้คนในชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” รองเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ กล่าวฯ