วันศุกร์, พฤษภาคม 26, 2549

สุนทรียสนทนา : คุยให้สุข เมื่อเราฟังอย่างลึกซึ้ง ภาคหนึ่ง

สุนทรียสนทนา : คุยให้สุข เมื่อเราฟังอย่างลึกซึ้ง
......ภาคหนึ่ง สุขภาพองค์รวมและวิทยาศาสตร์ใหม่

“สุนทรียสนทนา”

คำๆ นี้คงเป็นคำที่คุ้นชินหูเราหลายๆ คนที่เข้าร่วมกิจกรรม "ผ่อนพักตระหนักรู้และสุนทรียสนทนา" ของโครงการพี่อุ๊เป็นอย่างดี

อากาศ กลิ่นหญ้า อุณหภูมิหนาวๆ บวกกับเสียกีต้าร์พริ้วๆ ของอาจารย์คงไม่ทำให้พวกเราลืมการเดินทางครั้งนั้นได้ง่ายนัก

หากถามว่า "สุนทรียสนทนา" คืออะไร อยากจะให้เราหลายๆ คนที่เข้าร่วมกิจกรรมช่วยกันเติมความหมายของมันให้เต็ม

ในทัศนะของนิ้งคิดว่า สุนทรียสนทนาคือการพูดคุยที่ทำให้เกิดสุข การพูดคุยที่ไม่ตัดสิน การพูดคุยเพื่อการพูดคุย ไม่เป็นอะไรไปมากกว่านั้น

การเดินทางครั้งนั้นเราได้เดินทางกันโดยทางเครื่องบิน จำได้ว่าเช้าวันนั้นหมอกลงจัด เครื่องไม่ได้ฤกษ์ขึ้นเสียที ทำเอาหลายคนหาของกินกันจนท้องอิ่ม (แต่เครื่องก็ยังไม่ขึ้น) พี่จ๋านอนหลับแบบกดปุ่มสั่งได้ตลอดการเดินทางจนหลายคนอเมซิ่ง เราเลยไปถึงจุดมุ่งหมายช้ากว่าที่กำหนดไว้

ไปถึงก็ได้เจอวิทยาการหน้าตาแจ่มใส ได้แก่ พี่ณัฐฬส พี่น้อง และ อาจารย์ผู้ดีดกีต้าร์ได้ไพเราะเพราะพริ้ง (หากตกหล่นชื่อใครไปขออภัย ไม่ได้เป็นเพราะลืม แต่ลืมชื่อ) นั่งๆ นอนๆ เอกเขนกรอที่ได้ต้นไม้ ^^

เราทำกิจกรรมเริ่มต้นรู้จักทักทายของพี่น้องที่กำหนดให้เราหลับตาเดิน และพูดคุยกับคนที่เราเจอเมื่อลืมตา


ภาพแฉ 1 : พี่โก๋จีบน้องไมโลใหญ่เลย

หลังจากนั้นเราก็เข้าไปคุยกับคุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ เรื่อง สุขภาพองค์รวมและวิทยาศาสตร์แบบใหม่กัน

คุณหมอเล่าว่าแต่ก่อน คุณหมอเป็นหมอกระแสหลักมัก มองอะไรแบบแยกส่วน หมอก็ทำหน้าที่หมอ คนไข้ก็ทำหน้าที่คนไข้ แต่เมื่อได้มาสนใจมุมมองของวิทยาศาสตร์และสุขภาพแบบกระบวนทัศน์ใหม่ พบมุมมองแบบ bird’s eyes view มากขึ้น ทำให้เห็นว่าเรื่องของสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของ "หมอ" กับ "คนไข้" เท่านั้น แต่ผูกพันธ์อย่างยิ่งกับ "จิตใจ" และ "ความสัมพันธ์ของมนุษย์"

คุณหมอยกตัวอย่างงานวิจัยแห่งหนึ่งที่พบว่า คนไข้โรคหัวใจขาดเลือดที่ผ่าตัด 30%-40% อาการจะแย่ลงจนต้องกลับมาผ่าตัดใหม่ คุณหมอจากงานนี้ได้ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดูแลคนไข้ใหม่ นอกจากเรื่องอาหาร การออกกำลังกายแล้ว แต่ต้องยังดูแลในเรื่องสุขภาพใจ มุมมองต่อโลก และดูแลอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมด้วย

คุณหมอคนนี้พบว่าคนไข้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ฉะนั้นเราต้องมองสุขภาพองค์รวมแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ มากขึ้น

"สุนทรียสนทนา" เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ดูแลสุขภาพของเราด้วย เนื่องจากเกี่ยวพันกับ "จิตใจ" และ "ความสัมพันธ์ของมนุษย์"

คุณหมอบอกว่า สุนทรียสนทนาเป็นการสื่อสารที่ไม่ใช่มีเพื่อทำความเข้าใจ แต่สื่อสารเพื่อการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้ตัวเราเองลองมองโลกแบบใหม่ได้กว้างขึ้น ปลอดโปร่ง จนเกิดอาการ “ปิ้งแว้บ” หรือ "ญาณทัศนะ" ขึ้นในสมอง

เงื่อนไขง่ายๆ ใน "สุนทรียสนทนา" คือ การฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง, แขวนความคิดและการติดสินของเรา และไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุป

"การฟังอย่างลึกซึ้ง" เป็นการเฝ้าดูความคิดของเรา ส่วน "การแขวนความคิดและการตัดสิน" เป็นการเปิดโอกาสให้เรามองโลกแบบใหม่ และลดภาวะอารมณ์โกรธจาก "ความไม่เห็นด้วย" ซึ่งเป็นอารมณ์ลบของเราลง และ "ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุป" คือ ปล่อยให้แต่ละคนได้ตรึกตรองเอง แต่หากในการประชุมที่จำเป็นต้องมีข้อสรุป การใช้สุนทรียสนทนาคือการทอดเวลาให้คนได้พูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง เปิดโอกาสให้ทางเลือกใหม่ๆ ได้เข้ามา

คุณสมพล ผู้บริหารจาก ARROW ได้เข้าร่วมการพูดคุยด้วย แลกเปลี่ยนในแง่องค์กรทางธุรกิจที่ได้รับการฝึกใน "สุนทรียสนทนา" อย่างน่าสนใจว่า

"dialogue เป็นสิ่งที่ฝืนความเคยชินเดิมของเรามาก เดิมการประชุมคือการเข้าประเด็นถกเถียงกัน หลังจากการฝึกครั้งนี้ เราเริ่มรู้ว่าเราจะพูดคุยสัมพันธ์กันอย่างไร ก่อนเข้าประเด็นเรื่องงานเราก็จะให้เวลาฟังเรื่องราวของกันและกันซึ่งอาจเป็นเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยากจะพูดถึง การเริ่มต้นแบบนี้เป็นการเปิดทางให้การรับฟังต่างๆ ระหว่างการประชุมดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าที่มีธรรมชาติไม่ค่อยฟังใคร ใช้อำนาจแทรกแซง สรุปเร็ว ทำให้เราเตือนตัวเองให้ช้าๆ เพื่อเปิดทางให้คนอื่น

ส่วนในกรณีที่เราต้องสัมพันธ์กับคนที่ยังไม่ได้ผ่านการเรียนรู้วิธีการนี้ ก็ควรปล่อยวางก่อน ในที่นี้มิได้หมายถึงปล่อยหรือทิ้ง แต่เราจะจัดการคนอื่นได้มากขึ้นเมื่อเราจัดการตัวเราเองก่อน และเฝ้าสังเกตดูด้วยความเข้าใจรับฟัง ซึ่งก็อาจจะมีจังหวะโอกาสดีๆ ที่เราจะพูดหรือทำสิ่งใดให้บ้างเล็กน้อย สถานการณ์ก็อาจเปลี่ยนไปได้"

หมดไปหนึ่งสำหรับการฟังความรู้จากคุณหมอ อิ่มสมองจนคลื่นแอลฟากระจายเต็มบรรยากาศ เหล่าเราก็กินข้าวกันให้อิ่มท้อง

จบตอนที่หนึ่งด้วยรูปภาพบรรยากาศจากเชียงรายให้ได้อมยิ้มกัน

ภาพแฉ 2 : รุมตักกันใหญ่ ไม่เหลือที่ให้อาจารย์เลยนะ (งอน)

............................................................................................................................

วันศุกร์, พฤษภาคม 19, 2549

เก็บตกจากเสวนา "สื่อสร้างสรรค์ สร้างสุข สู่สังคมวิวัฒน์"

วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา สื่อสร้างสรรค์นำโดยคุณพี่อุ๊ได้จัดเสวนา ณ ห้องสมุดแสงอรุณในหัวข้อ

สื่อสร้างสรรค์ สร้างสุข สู่สังคมวิวัฒน์”

เริ่มช่วงเช้าด้วยการทำหนังสือทำมือกับพี่นุ้ย YIY

เข้มข้นช่วงบ่ายกับการเสวนา

นำการเสวนา พี่อุ๊ กรรณจริยา สุขรุ่ง

ร่วมพูดคุยกับวิทยากร พี่แวว ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวพิเศษ ช่อง 11 ผู้ประกาศข่าววิทยุ

รศ.ประภาภัทร นิยม
ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ

ฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการกลุ่มตาสับปะรดสำนักข่าวเด็กและเยาวชน

อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หน้า Outlook ผู้ติดตามและนำเสนอข่าวสารด้านการปฏิรูปสื่อและสื่อสารวัฒนธรรม อาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชน

พี่อุ๊บอกว่าการเสวนาครั้งนี้ไม่ใชแค่อิ่มใจ แต่อิ่มไปถึงสมอง จึงอยากแบ่งปันเนื้อหาการเสวนาร่วมกัน ดังนี้ค่ะ


- ข่าวดี ข่าวร้าย

ประเด็นแรกที่หยิบยกขึ้นมาพูดคือเรื่องข่าวดี-ข่าวร้ายในสังคมไทย อ.ประภาภัทร นิยม ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อทุกวันนี้ดูมุ่งไปที่ข่าวร้าย ข่าวดีขายไม่ได้ ในโรงเรียนรุ่งอรุณจึงทำหนังสือพิมพ์เล็กๆ ในโรงเรียนชื่อว่า “ข่าวดีรอบรั้วรุ่งอรุณ” เพื่อปรับทัศนะในการรับสื่อและสื่อข่าวที่ดี

"สิ่งที่ข่าวดีรอบรั้วเสนอคือ เรื่องราวเกี่ยวกับคนภายในว่าเขาทำอะไรบ้างในแง่มุมที่ดี คนอื่นไม่รู้ เพราะคนอยู่กันหมู่มาก บางทีไม่รู้ว่าอีกมุมหนึ่งมีเรื่องดีๆ เราขยายเสียงออกไป กรณีหนึ่งคือ มีนักเรียนชั้นม.4 ได้ไปธรรมยาตราที่ภูหลง เขาก็ไปเผชิญชีวิตที่ลำบากแสนสาหัส อยู่ดอย มีกินบ้าง ไม่มีกินบ้าง ร้อนมาก เมื่อเขาผ่านพ้นมาได้ก็เรียนรู้หลายอย่าง เราไปสัมภาษณ์เขา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือเขาได้คิดร่วมกันว่าเขาอยากจะช่วยเด็กนักเรียนชาวเขา เขาจับกลุ่มทำเสื้อขาย ทำนู้นทำนี้ เพื่อหาเงินส่งไปให้เด็กเรียนต่อตอนนี้ช่วยน้องได้ 6 คน 3 ปีแล้ว อาจารย์คิดว่าการไปสัมภาษณ์เป็นการช่วยทบทวนเขาว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาคืออะไร ทำให้เขาได้คิดว่าเขาจะทำอะไรได้เพื่อคนอื่น ฉะนั้นกระบวนการสื่อ เปิดโอกาสให้คนได้ถ่ายทอดและทบทวนสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ "

พี่อุ๊ ได้หยิบยกการสำรวจความเห็นเรื่องข่าวดี-ข่าวร้ายขึ้นมาเป็นข้อมูล จากการสำรวจว่าอะไรคือข่าวดี อะไรคือข่าวร้าย ข่าวดีหรือข่าวร้ายมีผลกระทบอะไรกับชีวิตเขาบ้าง ข่าวสารอะไรบ้างที่ต้องการให้มีมากขึ้น พบว่าข่าวดีในรอบปีคือ ข่าวที่คนไทยร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ อย่างที่สองคือความพยายามสร้างสันติสุขในภาคใต้ ส่วนข่าวร้าย เช่น ข่าวทำร้ายร่างกายในภาคใต้ คอรัปชั่น แต่ในแง่ผลกระทบแล้ว คนมองผลกระทบของตัวเองเป็นหลัก แต่ไม่เห็นผลเชิงโครงสร้าง เช่น นโยบายหรือคอรัปชั่น ส่วนข้อเสนอว่าต้องการสื่อแบบไหน เขาอยากให้สื่อเสนอเรื่องที่ดีๆ อ่านแล้วมีความสุข


พี่แวว แลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ว่า หากดูใน Mass media ก็ต้องยอมรับว่าข่าวร้ายขายได้เป็นความจริง เพราะทฤษฎีการเป็นข่าวคือต้องเป็นเรื่องที่ "หวาดเสียว แปลก ไม่เคยพบเห็น" พูดถึงประเด็นนี้ทีไรต้อง วกกลับมาที่คำพูดอมตะที่ว่า "สื่อเป็นตะเกียงหรือกระจกสะท้อนสังคม?" จะด้านไหนสื่อก็ลำบากใจ เพราะทำหน้าที่แค่เป็นกระจกก็ดูไม่เพียงพอ เป็นตะเกียงส่องนำไปก็ถูกตั้งคำถามว่าชี้นำ แต่หน้าที่ของสื่ออีกอย่าง นอกจากเป็นตะเกียงและกระจกแล้ว ต้องทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านด้วย ต้องตามติด ตรวจสอบ มีประสบการณ์หนึ่งจากการทำงาน ITV ทำให้คิดว่าในข่าวร้ายที่ดูเลวร้าย แต่ ความจริงที่เลวร้าย ต้องถูก back up อีกมุมที่มีความสวยงาม เช่น การฆ่ากันตายรายวันในภาคใต้ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในการนำเสนอ แตสิ่งที่พบหลายครั้งคือคนไทยพุทธและมุสลิมให้กำลังใจกันและกันในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เราก็นำเสนอมุมเหล่านี้เข้าไปด้วย


แต่ในขณะเดียวกัน ในเรื่องการนำเสนอเรื่องภาคใต้ การนำเสนอข่าวดีก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่าเหมือนกัน เช่น เรื่องคนไทยพุทธกับไทยมุสลิมอยู่ด้วยกันได้เป็นความจริง แต่ในบางชุมชน เช่น ตันหยงลิมอ คนแตกแยกกันจากเหตุการณ์รุนแรงอย่างมาก จึงตั้งคำถามว่า “ข่าวดี” คืออะไร คืออะไรที่เราฟังแล้วนั่งยิ้ม หรือว่าเป็นข่าวที่สร้างคุณค่าได้ เช่น ข่าวทุจริตตามติดเรื่องคอรัปชั่น การค้าน FTA หรือที่คุณสนธิขึ้นเวทีพูด เอี้ยๆๆๆ แฉพฤติกรรมของทักษิณ ถือว่าเป็นข่าวดีหรือร้าย


ด้าน พี่หนุ่ม อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ มองมุมกลับว่า ข่าวเลวอาจจะสร้างสุขให้เราก็ได้เหมือนกัน เช่น มันทำให้เราจะได้รู้ว่าคนอื่นเขามีความทุกข์อย่างไร จะแบ่งปันกันอย่างไรดี หรืออาจเห็นว่าเราโชคดีกว่าบางคนเขาทุกข์มาทั้งชีวิต เป็นต้น

การสื่อสารมีข้อจำกัดในเรื่อง "เวลา พื้นที่และโครงสร้าง" อยู่ ฉะนั้นการนำเสนอเชิงบวกจึงเป็นไปเรื่องลำบาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ คนทำข่าวต้องใช้ศิลปะในการนำเสนอ พยายามสร้างคุณค่า ในเวลาและพื้นที่อันจำกัด อยู่ในโครงสร้างที่เป็นไปตามบรรณาธิการและนโยบายองค์กร

"ผมคิดว่าสื่อก็เหมือนกับคนที่มีหน้าที่หลายๆ แบบ บางทีก็ชี้ประเด็น สอนบ้าง บันเทิงบ้าง คงจะคาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ บวกอย่างเดียวไม่ได้ ทำไมสื่อถึงไม่มองในแง่บวกล่ะ เพราะมันมีแง่อื่นที่ต้องมองด้วย ไม่ใช่มองเพียงแง่เดียว มันจะไม่เห็นภาพรวม ถ้าสื่อมีพื้นที่มากในการให้สมดุลย์ข้อมูล ผมคิดว่าสังคมเราต้องการข้อมูลที่ทำให้เกิดวุฒิภาวะและตัดสินได้ มากกว่าข้อมูลทางเดียว"


- สื่อกับทุน

พี่ไข่ หรือ ฉัตรชัย เชื้อรามัญ จากขบวนการตาสัปปะรด กลุ่มคนทำสื่อที่ใช้กำลังใจ กำลังคน มากกว่ากำลังเงิน ให้ความเห็นว่า สื่อปัจจุบันนี้ต้องพึ่งพาทุน ทำให้ไม่มีความอิสระในการจะทำงาน สื่ออยู่กับทุน นายทุนต้องการเงิน ฉะนั้นอย่างน้อยต้องเท่าทุน บก.ต้องตอบสนองทุนให้ได้ ฉะนั้นพี่ไข่จึงเลือกทำอีกขั้ว สื่อที่ไม่จำเป็นต้องมีเงิน แต่มีใจและมีคน

“ผมไม่สนใจใคร สื่อกันเอง ใช้ทุนใคร ใช้ทุนจากคนที่เราเจอ เด็กที่มีเงิน 30 บาท เขาอยากทำรายการทีวี จะทำเรื่องไหว้พระ 9 วัด 9 วัน ก็ทำได้เลยเพราะรู้สึกว่าเขาเป็นอิสระ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความงาม ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะถามนู้นนี่ เราอยากทำก็ทำ มันเป็นความงาม แต่เราปล่อยให้ความงามเหล่านี้อยู่ในมือของรัฐหมดเลย ของสื่อหมดเลย ทั้งๆ ที่ความงามมันเป็นของเรา มันเป็นความเชื่อของผมที่ทดลองมา 10 กว่าปี แต่สิ่งที่ผมทำผมก็คิดว่ามันไม่ใช่คำตอบนะ ผมคิดว่าเราจะหาจุดตรงกลางได้ ก็ต่อเมื่อเห็นซ้ายสุดโต่ง ขวาสุดขอบ สิ่งที่ผมทำคือทำอีกขั้วให้เห็นว่ามันทำได้ ตรงกลางคืออะไรมาร่วมกันหา”

นอกจากนี้เราในฐานะผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง พี่ไข่เชื่อว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่แหละเป็นคนส่งสารเอง ได้ ตอนนี้เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดขึ้น เช่น ตอนนี้ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือส่งสื่อได้ หนังสือพิมพ์เริ่มเปิดคอลัมน์ให้ประชาชน สิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนความเชื่อผู้บริโภคว่าเราเองมีสิทธิ ข้อสองที่ต้องช่วยกันในเรื่องทักษะและเทคโนโลยีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึง ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีใบผู้ประกาศจัดรายการวิทยุแต่สามารถจัดได้เลย ไม่ต้องรอเรียกร้องสื่อ อยากสื่อสารเรื่องดีๆ ก็ทำได้เลย


ด้าน อ. ประภาภัทร นิยม ให้ความเห็นว่า ในบางครั้งเราก็หลงติดกับประเด็นสื่อมวลชนปัจจุบันมากเกินไป จนคิดว่าเราไม่มีทางเลือก ให้ลองกลับมามองพื้นฐานของตัวเอง จะพบว่าเรามีพื้นฐานการสื่อสารเองอยู่แล้ว แต่กระแสของสื่อมันครอบงำมาก ทำให้คนลืมว่ามีทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร ทำให้สื่อกันกระทอนกระแท่น ไม่สมบูรณ์ ต้องรอให้คนอื่นมาสื่อให้ ลองสังเกตง่ายๆ คือเด็กรุ่นนี้จะสื่อสารค่อนข้างกันฉาบฉวย ให้พูดอะไรเป็นเรื่องเป็นราวต้องตั้งคำถามกับเขาเยอะ คิดว่าสถาบันการศึกษาควรจะมาจับประเด็นนิ้ให้แน่นๆ แล้วการรู้เท่าทันสื่อจะมาเอง


พี่หนุ่ม อลงกรณ์
สรุปการพูดคุยเสวนาครั้งนี้ไว้เป็นสองประเด็นว่า

ประเด็นแรก ตอนนี้เรากำลังชั่งน้ำหนักว่าจะพึ่งใครดี สื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง หรือตัวเอง หรือว่า กสช.ที่ไม่รู้จะเกิดไหมดี ไม่อยากให้มองในเชิงสิ้นหวังซะทีเดียว เพราะเห็นการทำงานของแต่ละส่วนต่างหนุนเสริมกันและกัน การทำงานของของคุณฉัตรชัย กลุ่มเด็กๆ ที่ขึ้นมาพูดเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ กลุ่มอาจารย์ที่เป็นการศึกษาทางเลือก กลุ่มนักข่าวที่มีจิตสำนัก ในภาพใหญ่จะทำอย่างไรให้ network มันชัด เข้มแข็งขึ้น อยู่รอดเพื่อแย่งชิงพื้นที่

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเชื่อมกัน ทุกวันนี้มีสื่อใหม่ๆ เข้ามาแทนที่สื่อหลายอย่าง ในขณะที่สื่อเก่าๆ ก็ถูกดึงกลับมา เช่น งิ้ว กลายเป็นพื้นที่ในการพูดประเด็นการเมือง มีการใช้อินเตอร์เนต มือถือ ซึ่งความโยงใยระหว่างสื่อทางเลือกกับสื่อกระแสหลักนั้นแยกกันไม่ออก ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องแยกว่าสื่ออะไรทำส่วนไหน ถ้าเรารู้ว่าพันธะกิจของตัวเองคืออะไร พยายามตอบโจทย์มันให้ดี แล้วสื่อต่างๆ จะเอื้อกันและกัน เช่น สิ่งที่คุณฉัตรชัยทำสื่อโดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลัก เรื่องของตาสัปปะรดก็ถูกนำเสนอสู่สื่อกระแสหลัก มันมีลักษณะของโมเมมตัมที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อย่างกรณีภาคใต้ก็ถูกหยิบมาพูดในรายการ แล้วก็เอาไปพูดต่อในอินเตอร์เนต บางกรณีเองก็หยิบเรื่องจากเวบบอร์ดไปพูดในสื่อกระแสหลัก ฉะนั้นผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นนักสื่อสารก็ได้ แต่เป็นคนที่สื่อสารเป็น

อีกประเด็นคือ ความจริงในสังคมนั้นมีหลายเฉด ซึ่งอาจจะดูขัดแย้ง ความจริงน่าจะมีชุดเดียว แต่ในสังคม ความจริงไม่ใช่สัจจะ แต่เป็นชุดความจริง สื่อก็หยิบชุดหนึ่งขึ้นมา การศึกษาก็เอาชุดความจริงเหล่านี้มาพูด ทำอย่างไรให้เราแกะรหัสให้ออก คือเท่าทันมัน

วิธีการมีหลายอย่าง สิ่งที่ตาสัปปะรดทำชัดเจนมาก คือ ลองทำเลย แล้วเราจะเห็นว่าในเรื่องเดียวกัน ทำไมสื่อกระแสหลักพูดไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันระบบการศึกษาต้องช่วยดึงเอาบริบทเหล่านี้มาอภิปราย ผมคิดว่ารุ่งอรุณทำได้ดี คือให้เด็กเริ่มตั้งข้อสังเกต เรื่องเหล่านี้มันน่าจะมีการคุยกันในบ้านว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอมันมีซีรี่ มีหลายโทนความจริง เลือกว่าเฉดไหนเป็นของเรา ฉะนั้นคนควรได้รับการฝึกอบรมการมองสื่อ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องเข้าอบรมนิเทศศาสตร์ คนธรรมดาอย่างเราสามารถเข้าใจได้เรื่องสื่อ เรื่องทุน เรื่องการประกอบสร้าง เทคนิค และเรื่องนโยบายได้

ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำคือ พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สังคมสาธารณะ” เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ แต่กำลังพัฒนาการอยู่ เหมือนหลายร้อยปีก่อนเราไม่คิดว่าจะเลิกทาสได้ ผู้หญิงจะออกมาทำงานได้ รัฐบาลจะถูกล้มได้โดยประชาชนได้ ตอนนี้เราเห็นความกังวลร่วมกันว่า ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปจะกลายว่าเราร่วมมือให้มันเกิดขึ้น ผมคิดว่าสังคมเหมือนระบบนิเวศ มีพลังกลุ่มเล็ก พลังกลุ่มใหญ่ ฉะนั้นเราต้องใช้เวลาเพื่อไปสู่สังคมที่เราหวังไว้

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 04, 2549

ศิลป์... แสนสุข


เวลาใครเขาพูดถึงศิลปะ ใจเราก็ประหวัดไปถึง - ภาพสีน้ำมัน, ปูนปั้นต่ำๆ สูงๆ, Art Exhibition ขาวๆ สวยๆ, อาจารย์หนวดครึ้มผู้ตะหวัดปลายพู่กันอย่างมาดมั่น ฯลฯ


คงจะมีน้อยคนที่คิดว่าตัวเราเองก็สามารถเป็นนักสร้างศิลปะได้ ยิ่งคนทำสื่อที่วุ่นอยู่กับการสัมภาษณ์ ทำงานหน้าแป้นพิมพ์ (รวมทั้งหลังไมค์และหลังกล้อง)ทุกวันแล้ว พู่กัน เป็นสิ่งที่ห่างไกลชีวิตประจำวันจริงๆ

แต่จากกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ของพี่อุ๊ทำให้ฝันของหลายคนที่อยากวาดรูป(แต่คิดว่าแก่เกินจะวาดรูป)ได้เป็นจริง!

ชื่อเต็มๆ ของค่ายคราวนี้มีชื่อว่า "ศิลป์.. สร้าง.. สรรค์.. สุข" หรือ "Contemplative Arts for Happiness " แค่ฟังชื่อ บวกกับสถานที่พักพผ่อนอย่างชะอำแล้ว ทำให้พลพรรคสื่อสร้างสรรค์ไปกิจกรรมคราวนี้ล้นหลาม

อีกด้านวิทยากรหน้าใส วัยเด็ก (?) สองท่านก็มารออยู่ ได้แก่ ครูอั๋น จากอาศรมศิลป์ และ พี่นุ้ย ทำมือ จาก YIY

เนื่องจากเมื่อยเนื้อตัวจากการเดินทาง กิจกรรมเริ่มแรกจึงเป็น "ผ่อนพักตระหนักรู้" ซึ่งเป็นกิจกรรมคล้ายๆ "ซ่อนตาดำ" แต่ขลังกว่า เพราะเป็นการซ่อนตาดำเวอร์ชั่นมีเสียงนุ่มๆ ของครูอั๋นกล่อม ให้เราได้ผ่อนคลาย สบาย เผลอหลับไปหลายคน ฟี้ๆ~

หลับซักพักก็ได้ฤกษ์ตื่น พูดคุยทำความรู้จักชื่อ และเรียนรู้เรื่องดนตรีกับสุขภาวะทางจิตวิญญานผ่านกิจกรรมที่มีชื่อว่า “เสียงและท่วงทำนองภายใน”

ครูอั๋นบอกให้ทุกคนนอนลง ตะแคงตัวนอน จินตนาการถึงวัยเด็กของตัวเอง ทารกน้อยๆ ที่กำลังถูกขับกล่อมอยู่ ฮัมเพลงกล่อมนั้นเบาๆ

แล้วเสียงฮัมเล็กๆ มากมายก็ดังขึ้น

"ฮึม ฮึม... ฮึม"

จากนั้นเราก็ฮัมเพลงในวัยที่ที่โตขึ้น ฮัมเพลงที่อยากฮัมขึ้นมา เมื่อฮัมจนถึงเพลงปัจจุบัน ครูอั๋นก็บอกให้เราลุกขึ้น หลับตา และเดินฮัมไปทั่วห้อง

เสียงฮัมใหญ่ๆ เล็กๆ ดังฮัมๆ ไปทั่ว

ครูอั๋นบอกให้เราแลกเปลี่ยนเพลงฮัมให้กับเพื่อนที่เราเจอ เราฮัมให้เพื่อนฟัง เพื่อนฮัมให้เราฟัง แล้วเราก็ได้เพลงของเพื่อน เพื่อนก็ได้เพลงของเรา เพลงของเพื่อนกับเราไม่หายไปไหน แต่อยู่ในห้องนี้ อยู่ในคอของเรา

เราเปลี่ยนเพลงของเพื่อน ให้เพื่อนคนต่อไป จนครูอั๋นให้เราจับกลุ่มกัน แล้วฮัมเพลงของเพื่อน พร้อมกับฟังเพลงของเพื่อน จนเพลงของเราและเพลงของเพื่อนเป็นเพลงเดียวกัน
จากหลายกลุ่ม ครูอั๋นจับเราเป็นกลุ่มเดียวกันแล้วฟังและฮัมเพลงของกลุ่มย่อย ให้กลายเป็นเสียงฮัมของกลุ่มเดียว

"ฮึมมมมมมม ฮึมมมมมมมมมม ฮึมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมมม"
เสียงฮัมสุดท้ายหนึ่งเดียว จบลง

เรานั่งลงและเเลกเปลี่ยนได้ความคิดหลากหลาย

ทั้งการฮัมเพลงวัยเยาว์ที่ทำให้ความสดชื่นแจ่มใสกลับคืนมา แต่บางคนก็คิดถึงเพลงวัยเยาว์ไม่ออก

จนถึงเพลงปัจจุบันกับการฮัมเพลงแลกเปลี่ยน ที่บางคนฮัมเร็วจัง บางคนก็ช้ามากๆ ปรับยากเหลือเกิน แต่ก็กลายเป็นเสียงเดียวกันในตอนท้าย

การฮัมครั้งสุดท้ายนั้นยากที่สุดแต่ก็ทิ้งให้เกิดความคิดมากมาย ไม่ว่าจะลดเสียงของเราให้เสียงของเพื่อนนำ นำเสียงของเราขึ้นมา ฯลฯ

ครูอั๋นบอกว่านี่เป็นกระบวนการหนึ่งของดนตรีที่ดึงบทเพลงจากตัวเราออกมา รวมกัน เกิดเป็นบทเพลงใหม่ร่วมกัน

หลังจากการฮัมเพลงจากภายใน เราก็กินข้าวข้างนอกรับลมทะเลกัน อิ่มแล้วก็กลับเข้าห้องเรียนกับครูอั๋นต่อ

กิจกรรมต่อไปคือ การวาดสีน้ำ

หลายคนตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้น แต่ครูอั๋นดันมีข้อจำกัดซะอย่างนั้น

ข้อบังคับแปลกๆ ได้แก่ บังคับให้ใช้สี 3 สี แดง เหลือง น้ำเงิน แต้มสีเป็นจุดๆ แบ่งสีเป็น 3 แถบ ห้ามทาสีปนกัน

โอ้โห! ข้อบังคับเยอะจริงๆ ทำไมทาสีน้ำต้องมีข้อห้ามเยอะอย่างนี้ แต่เนื่องจากเราเป็นคนว่านอนสอนง่าย เลยตั้งหน้าตั้งตาจิ้มสี ทาๆ กันไป


ตั้งหน้าตั้งตาแต้มสีกันน่าดู
เจ๊นุ้ยทำมือ
เสร็จสำเร็จหน้าตาประมาณนี้
....
หลังจากแต้มสีน้ำกันเสร็จ ก็ถึงเวลาเอามาโชว์กันให้ดู น่าเเปลกนะคะ ทั้งๆ ที่คำสั่งตายตัว ตั้งเงื่อนไขกันขนาดนั้น แต่การทาสีของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
บางคนแต้มซ้าย แต้มเอียงๆ บางคนแต้มเล็กๆ ละเอียดๆ บางคนแต้มเป็นระเบียบ ช่องไฟห่างเท่ากัน บางคนแต้มไม่เท่ากัน ใหญ่ๆ เล็กๆ ช่องไฟไม่แน่นอน บางคนแต้มแล้วบอกว่าเหมือนปลากะตักจังเลย บางคนอยากได้สีรุ้งแต้มแล้วแต้มอีก ยิ่งสีเหลืองเนี่ยต้องเเต้มอีกสิบรอบเลย
เราเลยได้พบว่านิสัยการลงสีเชื่อมโยงกับนิสัยและความรู้สึกของเราไม่ก็ทางใดทางหนึ่ง

เอามาแลกเปลี่ยนกันหน่อย

กิจกรรมต่อไปคือทำหนังสือทำมือ แต่เนื่องจากตอนเย็นมีเสียงอืออึงรีเควสต์ "แดจังกึม" กิจกรรมเลยร่นขึ้นมาข้างหน้าให้ทำได้ทัน พี่นุ้ยจึงเตรียมวาดรูปสำหรับ "สมุดทำมือ" ไว้ก่อนกินข้าว

วาดง่าย เร็ว เยอะ ก็ต้องช่วยกันลงแขกด้วยสีน้ำมัน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม สามแผ่นโตๆ วาดรูปกันอย่างเมามันส์

กลุ่มแรก งามงดดอกไม้บาน

กลุ่มนี้ ปนๆ งงๆ กันไป แต่พออกมาแล้วสวยนะคะ อุๆ

ส่วนอันนี้ใสๆ หวานๆ น่ารักๆ

หลังจากวาดรูปกันสวยงาม ก็พากันไปปิ้งอาหารทะเลกินกัน เคี้ยวปลาหมึกไปดูแดจังกึมไป แงะหัวกุ้งไปกรี๊ดไป อุๆๆ ละครสนุก

หลังจากกินข้าวกันเสร็จ กิจกรรมก็ยังไม่จบ เป็นกิจกรรมที่รอคอยได้แก่ ทำ "สมุดทำมือ" นั่นเอง

ขั้นตอนนั้นถ้าอยากทำได้เองบ้างสงสัยต้องไปลงคอร์สเรียนกับพี่นุ้ยเอง (ซึ่งได้ยินมาว่าตอนนี้เปิดสอนที่ art4heart เป็นที่เรียบร้อย ถ้าอยากเรียนถามพี่อุ๊หรือพี่นุ้ย ได้เรียนแน่ๆ) เพราะละเอียดมากตั้งแต่ ฉีกกระดาษ เจาะกระดาษ ถักเชือกขึ้นซ้าย ไขว้ขวา กันให้งงงวย แต่พอทำเป็นแล้วไม่ยากๆ ต้องลอง

ทำเสร็จแล้วความปลาบปลื้มก็เอิบอาบซ่าบซ่านไปถึงหัวใจ อยากตะโกนดังๆว่า

"ฉันทำสมุดเองได้ด้วย!!" ^_^V

โชว์ค่ะ โชว์ ทำเสร็จแล้วเอามาตั้งเป็นปิรามิด สวยจังเลย


งามนะคะ ถึงตอนนี้ไม่รู้ทุกคนจดสมุดทำมือเล่มเล็กนี่ไปถึงไหนแล้ว นิ้งจดไปหน่อยเดียวเอง เย็นนี้จะไปจดเพิ่มค่ะ ^^

หลังจากทำสมุดทำมือกันเสร็จหลายคนเข้านอน ในขณะที่หลายคนคุยเรื่องเหตุบ้านการเมืองกันอย่างเมามัน

----------------------------------------------------------------------

เช้าวันใหม่ หลังจากบิดขี้เกียจ สลัดขี้หูขี้ตากันเรียบร้อย ก็เขาชั้นเรียนศิลปะกันต่อ

คราวนี้ครูอั๋นผู้น่ารักให้วาดสีน้ำมัน ว้าว! ตื่นเต้นจัง ไม่เคยวาดเอาซะเลย

แต่ยังค่ะ ยัง ครูอั๋นมีข้อแม้ก่อน คือ ให้เลือกสีที่ดึงดูดเราที่สุดจากจานสี หลับตา ทำใจให้ว่าง สบาย ใช้มือซ้ายจับพู่กัน ลากเส้นไปหนึ่งเส้นตามแต่ใจจะพาไป

หลังจากนั้นก็ลืมตา วาดรูปโดยไม่ต้องคิดว่ารูปที่ออกมาจะคืออะไร

ทุกคนเงียบและจดจ่อกับการลากเส้น และ สีในจานกระดาษ

สีมากมายถูกป่ายปัด จากสีหลายสีก็กลายเป็นภาพ หลายคน หลายภาพ หลากหลายให้เลือกชม

หลังจากวาดกันแล้ว ครูอั๋นก็แบ่งเราออกเป็นกลุ่ม แยกกันพิจารณาภาพของทุกคนในกลุ่มยกเว้นตัวเอง

ข้อพิจารณาภาพนั้นประมาณว่า (ไม่แน่ใจว่าจำได้หมดไหม สมองพื้นที่น้อยค่ะ)

- เห็นเส้น สี อะไรบ้างในภาพนั้น

- เส้นสีเหล่านั้นบอกอะไร

- เรารู้สึกอย่างไรกับภาพนั้นบ้าง

น่าแปลกว่าภาพที่ไม่ได้ตั้งใจวาดให้เป็นภาพ กลับเป็นภาพ แถมยังบ่งบอกอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเรา ตัวตน ความคิด สภาพจิตใจ ได้อย่างตรงไปตรงมา จนน่าฉงน

บางทีภาพกับใจของเราคงสื่อกัน


ภาพอันไหนของใคร จำได้ไหมเอ่ย

น่าแปลกใจจังว่าทำไมภาพออกมาเป็นภาพ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียน ไม่เคยวาด ไม่เคยลอง แต่ภาพที่ออกมากลับสวย แปลก เราค้นหาความงามของมันจนพบ แม้จะไม่เข้าใจภาพนั้นทั้งหมดก็ตาม คงเป็นเพราะทุกคนมีความงามอยู่ในใจ

แกลลอรี่ภาพสีน้ำมันของคราวนี้ ทำเอาหลายคนกลับบ้านไปซื้อสี ซื้อชอล์ก ซื้อดินสอ มาฝึกปรือฝีมือกันหลายคน เช่น หนูนิ้ง พี่เเอม พี่ปิ่น

นอกจากนี้ยังได้ยินอีกว่าพี่โอ๋ ไปหัดทำสมุดทำมือกับพี่นุ้ยทำมือ จนวิทยายุทธแกร่งกล้า ทำเป็นของฝากให้เพื่อน ปรากฎว่าตอนนี้ลามปามกลายเป็นธุรกิจเอาเสียแล้ว ว้าวว~ ท่าทางจะเจริญรุ่งเรือง

ไม่รู้ว่าตอนนี้หลายคนที่กลับจากค่ายนี้ได้สัมผัสสีอีกรอบแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลองอีกรอบกันนะคะ สนุกดี เหมือนได้ระบายสี ระบายความรู้สึก จิตใจลงไปในภาพ

แล้วว่างๆ เอารูปภาพมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ ^^