วันเสาร์, สิงหาคม 19, 2549

“จิตสำนึก ใต้สำนึก” กับชีวิต

เสวนาสื่อสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2 คุยกับอ.อาจอง เรื่อง “จิตสำนึก ใต้สำนึก”
วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2549 ณ ห้องประชุม 1 มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์


ถึงวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่า ร่างกาย จิตใจ และสมองของเราช่างเชื่อมโยง เกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ่งยากจะแบ่งแยก แต่ส่วนที่ลึกที่สุดนั้นเห็นไม่พ้น “จิตใจ” ที่มันอยู่ข้างในนี้ แต่เราไม่รู้ว่ามันมีขนาดเท่าไหร่ ที่แน่ๆ มันคงไม่เท่ากับกำปั้นสีแดงในอกข้างซ้ายของเรา เราไม่รู้ว่ามันมีความลึกเท่าไหร่ ที่แน่ๆ มันไม่น่าลึกแค่อกคืบศอกสองศอกของเรา

หากแต่ลึกกว่านั้นมีอะไร? อ.อาจอง นักวิทยาศาสตร์ผู้ใส่ใจเรื่อง “จิตวิญญาณ” ไม่แพ้เรื่องข้อพิสูจน์ ได้นั่งคุยในงานเสวนาสื่อสร้างสรรค์ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับ สมอง ใจ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก

***********************
“จิต” อันลึกและกว้างขว้าง

โลกตะวันออกเราจะเน้นทางด้านจิตใจ เพราะเราถือว่าจิตใจเหนือกว่าสมอง สมองเป็นเครื่องมือระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ เพราะจิตใจมันไปไกลกว่านั้นและต่อเนื่อง เราคงยอมรับว่าทุกยุคทุกสมัย คนเราจะเก่งกว่าคนยุคก่อนๆ เสมอ ลูกเราจะเก่งกว่าพ่อ หลานเราจะต้องเก่งกว่าลูก และมันก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นเพราะมีการสั่งสมประสบการณ์ ดังนั้นเราจะเน้นในเรื่องของจิตใจมากกว่าสมอง
บางคนจะคิดว่าพอตายแล้วก็ดับหมดไม่เหลืออะไร แต่ทำไมเราถึงยังมีความทรงจำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตนี้ อย่างเช่น คีตกวีเอก MOZART ตอนเล็กๆ อายุ 7- 8 ขวบ สามารถเล่น PIANO ได้เลยโดยไม่ต้องฝึกและเล่นได้ดีมากด้วย เด็กไทยบางคนอายุไม่กี่ขวบพูดภาษาบาลีได้ สิ่งนี้แสดงว่ามันไม่ได้อยู่ที่สมองเพียงอย่างเดียวแน่นอน

มนุษย์เราทุกคนส่วนที่จะต้องรับรู้ข้อมูลต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี “สติ” อยู่กับตัวจึงจะทำงานได้ดี ซึ่งส่วนนี้คือ “จิตสำนึก” แต่ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราจะเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดในชีวิตใน “จิตใต้สำนึก” เป็นอันดับแรก และประสบการณ์ในอดีตทั้งหมดอยู่ตรงนี้ ลองถามว่า วันที่ 24 พฤษภาคม เวลา 14.50 น. ตอนที่คุณอายุ 4 ขวบคุณกำลังทำอะไรอยู่ เราจำไม่ได้

แต่จากการศึกษาของ ดร.เฮเลน วัมบาทด์ นักจิตวิทยาที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าข้อมูลทุกอย่างอยู่ในจิตใต้สำนึก เขาลองใช้วิธีสะกดจิต ย้อนเวลากลับไปในอดีต พบว่าจิตใต้สำนึกมันมีข้อมูลอยู่ทุกเวลาอย่างน่ามหัศจรรย์ ดร.วัมบาทด์ ลองถามถึงเหตุการณ์ของวันเวลาในคำถามเมื่อเขาอายุ 4 ขวบ เขาตอบได้หมดและละเอียดมาก ลองถามย้อนอดีตกลับไปเรื่อยๆ ตอนเกิดใหม่เขาก็บอกได้ว่ามีหมอกี่คน พยาบาลกี่คนอยู่ในห้องคลอด พยาบาลพูดอย่างไร หมอพูด และก็ย้อนหลังต่อไปอีกตอนที่อยู่ในท้องแม่ แม่ชอบอะไร ดูหนังเรื่องอะไร แม่ชอบทานอะไร แม่หงุดหงิด แม่โมโห แม่คุยกับใครอย่างไรก็ถูกบันทึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็ก ดังนั้นสื่อที่แม่ชอบดูให้ความสนใจก็จะมีอิทธิพลต่อเด็ก และเมื่อเขาย้อนหลังกลับไปในอดีตเข้าไปอีก ร้อยปี สองร้อยปี ห้าร้อยปี พันปี สองพันปี ดร.วัมบาทด์ ตกใจมาก เพราะไม่เคยคิดเลยว่าจะมีข้อมูลก่อนที่จะมาอยู่ในท้องของแม่ได้ ซึ่งก็เป็นคำถามว่าข้อมูลที่อยู่ในจิตใต้สำนึกนั้นคิดขึ้นมาเองหรือเป็นความจริง?
เขาสะกดจิตชายชาวอเมริกันคนหนึ่งย้อนหลังกลับไปสองพันปี เขาถามว่าตอนนั้นอยู่ที่ไหน ปรากฏว่าอยู่ในมณฑลแห่งหนึ่งในประเทศจีน ชายคนนี้เป็นชาวอเมริกันที่อยู่ในอเมริกาไม่เคยไปจีน ไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับจีน แต่กลับพูดได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การแต่งตัวเครื่องประดับ ภาษา เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปให้นักโบราณคดีพิสูจน์ ก็พบว่าตรงกับจีนในยุคนั้น จากงานของ ดร.วัมบาทด์ เป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์เราจึงเก่งขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ทั้งๆ ที่ก็มีเวลาเรียนในชีวิตใกล้เคียงกัน แต่ทำไมเราเรียนไปได้ไกลกว่า เพราะว่าเราสะสมประสบการณ์ความรู้ของเราในจิตใต้สำนึกนั้นเอง

สื่อกับเรื่อง “จิตสำนึก ใต้สำนึก”
การที่จิตของเราจะรับรู้หรือไม่รับรู้อะไรนั้นขึ้นอยู่กับ “การตีความ” สัญญาณจากสิ่งแวดล้อมผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เหตุผลที่ต้องตีความก็เพราะว่า สิ่งที่เข้ามาในประสาทสัมผัส ในตา หู จมูก ปาก ที่จริงไม่มีอะไร ในหูเป็นเสียงของการสั่นสะเทือนของอากาศ เขาด่าเรา เราก็โกรธ ถามนักวิทยาศาสตร์ว่าอะไรที่ทำให้โกรธ นักวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่าไม่มี มันเป็นแค่การสั่นสะเทือนของอากาศ แต่ไปตีความ ฉะนั้นวิธีการตีความสำคัญ วิธีการตีความของเราก็คือเอาสัญญาณออกมาส่วนหนึ่งจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเอาสัญญาณออกมาจากจิตใต้สำนึกเพื่อมาเปรียบเทียบ เพราะเรารับรู้ด้วยการอาศัยประสบการณ์ในอดีตแล้วจึงตีความ เมื่อเข้าใจแล้วเราก็ส่งสัญญาณไปที่จิตสำนึกว่าเราเข้าใจแล้ว แต่สิ่งที่เราเข้าใจมันก็คือสิ่งที่เราบันทึกข้อมูลไว้ในอดีต
เด็กบางคนได้เห็นอะไรที่ก้าวร้าวมาก พ่อแม่ทะเลาะกัน ตีกัน ด่ากัน เมื่อเขาพบเหตุการณ์มีคนมาด่าเขา เขาก็ไปดึงเอาข้อมูลเหล่านี้ออกมาเอามาเปรียบเทียบ และในทันทีเขาก็อยากจะด่าและตี ฉะนั้นเด็กก้าวร้าวนั้นไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่เป็นเพราะว่าเราไม่ได้บันทึกข้อมูลดีๆให้ โดยเฉพาะในยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ที่มีสิ่งต่างๆให้กับเด็กตลอดเวลา แต่เราให้อะไร สังเกตได้ว่ายุคนี้สมัยนี้เด็กมีปัญหามาก เพราะได้รับข้อมูลไม่ค่อยเหมาะสม
อดีตผมเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในวงการตลาดกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่คือ “เยาวชน“ เขาต้องสร้างความต้องการกิเลสให้กับเยาวชนมากที่สุด เพราะเชื่อง่าย สอนง่าย สร้างกิเลสให้ง่าย และมีความต้องการสูง จึงไม่แปลกเลยที่เด็กสมัยใหม่จะมีความเครียดสูง ผมรู้สึกว่าเรากำลังเอาเปรียบและกำลังสร้างปัญหาให้กับเด็ก เพราะเรารู้ว่ายิ่งเขามีกิเลสมาก เขาจะไม่มีความสุขเลย ต้องการมากก็ผิดหวังมากเป็นธรรมดา
ฉะนั้นเราต้องดูแลอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ สื่อละครโทรทัศน์นอกจากไม่มีคุณค่าแล้วยังให้เด็กมีความอิจฉาริษยา ทะเลาะเบาะแว้งโกรธเคืองกัน เพลงเนื้อร้องก็มีแต่อกหักๆ เสียใจๆ หดหู่ๆ พอเด็กอกหักเสียใจถึงกับกระโดดตึกตายจนเป็นข่าวออกมา พอมีข่าวเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นอีก เป็น PROGRAM ฝังความคิดลงไปในจิตใต้สำนึก ตรงนี้เป็นปัญหาของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในสหรัฐอเมริกาเขาทำวิจัยเรื่องความรุนแรงกับเด็กพบว่าเด็กทุกคนในสหรัฐอเมริกาในหนึ่งปีเห็นการฆาตกรรมในบ้านของตัวเองถึง 15,000 ครั้ง ผลจากสื่อที่ฆ่ากันเป็นว่าเล่น เด็กก็จ้องมอง การจ้องมองของเด็กนั้นไม่ใช่การจ้องแบบคิดวิเคราะห์ แต่เป็นการรับทุกอย่างเข้าไปหมดและฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก จากสถิติเด็กไทยดูโทรทัศน์ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน เด็กเห็นการฆาตกรรม 50-60 ครั้งต่อวัน

“เราไปได้ไกลแสนไกล แต่ผมพบว่ามนุษย์เรายังไม่สามารถเดินทางเข้าไปในจิตใจของเรา”
ตัวผมเองเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ได้ไปช่วยเขาสร้างยานอวกาศไวกิ้งส์ไปลงบนดาวอังคาร ผมรับผิดชอบในส่วนที่จะนำยานอวกาศไปร่อนลงสู่พื้นดินของดาวอังคารซึ่งเราประสบความสำเร็จ ความสำเร็จในครั้งนั้นเกิดจากการนั่งสมาธิ ยกระดับจิตใจบนเขาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่คิดถึงอะไรเลยอยู่ๆ มันก็แวบเข้ามาและเราก็รู้คำตอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรามีในบ้านเมืองไทยของเรา ไตรสิกขาอันมีศีล สมาธิ ปัญญา พาเราไปไกลกว่าฝรั่งมาก เราควรมุ่งผลิตคนดีมีศีลธรรมก่อน แล้วให้ฝึกยกระดับจิตใจและปัญญาขึ้น ส่วนตัวผมเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็กลับมาแอบตัวเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ ซึ่งผมมารู้สึกตัวว่ามันได้ประโยชน์อะไร ผมนำพายานอวกาศไปไกลแสนไกล 250 ล้านไมล์กว่าจะไปถึงดาวอังคารแล้วก็พามันลงมา เราไปได้ไกลแสนไกล แต่ผมพบว่ามนุษย์เรายังไม่สามารถเดินทางเข้าไปในจิตใจของเรา ซึ่งมีระยะทางไม่กี่มิลลิเมตร อยู่ตรงนี้เอง และมันสำคัญกว่ามากมาย ผมจึงตัดสินใจเลิกทำสิ่งเหล่านั้นหันมาส่งเสริมเด็กให้รู้จักเข้าไปในจิตใจของตัวเองก่อน

วันอังคาร, สิงหาคม 01, 2549

เวลารู้สึกแย่ๆ ควรทำอะไร?

เรารู้สึกแย่มากๆกับอะไรบางอย่างจนสิวประทุ หมดเรี่ยวแรง นอนสลบแห้งเหี่ยวบนเบาะยูโด ที่สถาบันศิลปะอาร์ต โฟว์ ฮาร์ท เงยหน้าเห็นภาพปรมาจารย์ยูโด ท่าน จิโกโร่ ยิ้มน้อยๆ คำสอนของท่านก็แว่วเข้ามาในความคิดคำนึง "ยูโด คือความโอนอ่อน ความว่าง จงปะทะแรง โดยไม่ใช้แรง"
ถอนใจเฮือกใหญ่ "ศิษย์เลวทำไม่ได้" เราคิด แล้วก็หลบตาลงมองพื้นเบาะ เห็นเส้นผมสั้นๆกระจัดกระจายเต็มไปหมด ซึ่งเป็นของเด็กๆที่มาเล่นยูโดเมื่อหลายวันก่อน แทบไม่ต้องคิด กายก็สปริงตัวขึ้นอย่างรวดเร็วราวกับผีปรมาจารย์เข้าสิง เดินปรี่ไปคว้าไม้กวาดและที่โกยผง แล้วก็กวาดๆๆๆๆๆ

เสียงปรมาจารย์ยูโดแว้บเข้าอีก "ประสิทธิภาพสูงสุด จากแรงน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน" Minimum effort, Maximise beneifts for mutual welfare" และแล้วเราก็กวาดเบาะอย่างชาญฉลาด ไม่มีผงตกร่องระหว่างเบาะ กวาดเก็บผงได้เรียบ ในเวลาอันสั้น วางไม้กวาดด้วยรอยยิ้ม ห้องสะอาด

นิทานสั้นๆเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เวลาทุกข์ เครียด ไม่ควรจ่อมจมอยู่กับความคิด ความรู้สึกอะไรทั้งสิ้น ควรให้กายนำทางบ้าง ให้กายช่วยรักษาและคืนสมดุลให้ใจ ทำงานใช้แรงกายเข้าไว้ ได้เหงื่อ ได้เหนื่อย แล้วปัญญาจะผุดพรายขึ้นมาเอง

เวลารู้สึกแย่ สิ่งที่น่าลองทำคือ ทำสวน มือคลุกดิน ขุดแปลงผักไว้กินก็ได้ กวาดบ้าน ล้างห้องน้ำก็ดี รักษาใจและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของบ้านและโลกด้วย

จาก ก้านกล้วย

เผชิญความตายอย่างสงบ ๔

กิจกรรมการฝึกทำโพวะให้ตัวเองอย่างย่อ

คำแนะนำ

วิธีการทำสมาธิ/บำเพ็ญเพียรทางจิตแบบทิเบต ใช้การทำจินตนาการหรือนึกภาพในใจน้อมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรามีศรัทธา เชิญมาเพื่อแผ่รังสีแห่งความเมตตาไปยังผู้อื่นหรือตัวเอง เป็นการปลุกพลังใจ พลังเมตตาโดยอาศัยศรัทธาที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

กระบวนการ

พระไพศาล วิสาโล เป็นวิทยากร กล่าวและนำกระบวนการ ซึ่งก่อนเริ่มกระบวนการ ท่านกล่าวหลักการทำโพวะที่สำคัญคือการจินตนาการ ซึ่งการจินตนาการของคนเราอาจจะถือว่าเป็นเรื่องยากหากคนผู้นั้นไม่ได้ฝึกทำบ่อยหรือมีบ่อย ๆ คือคนที่ไม่ค่อยได้ใช้สมองซีกขวา

การทำโพวะแบบประยุกต์ ประโยชน์ที่ได้นอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยแล้วยังทำให้กับตัวเองด้วย โดยน้อมใจตามการกล่าวนำดังนี้

o ทำความสงบ ตามลมหายใจอยู่กับความสงบ ทำความรู้สึกผ่อนคลายทั้งกายใจ น้อมจิตมาที่ลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ระลึกว่าขณะนี้มีเพียงลมหายใจที่อยู่ในความรับรู้ของเรา ให้วางความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลงชั่วขณะ วางความกังวลหม่นหมอง ให้จิตรับรู้เพียงลมหายใจเข้าออก (ใช้เวลาสักพักเพื่อให้จิตสงบ)

o จินตนาการว่าเรากำลังอยู่บนทุ่งหญ้า ที่โล่งกว้าง ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศบริสุทธิ์ เป็นท้องฟ้าที่กว้าง มีเพียงเราผู้เดียวที่อยู่ในทุ่งโล่งนั้น สัมผัสถึงความสงบ สงัด ของบรรยากาศรอบตัว ทำใจให้โล่ง ไม่ต่างจากท้องฟ้าที่กว้างและโปร่งใส

o น้อมใจนึกต่อไปว่า ที่ท้องฟ้าเบื้องหน้าเราปรากฏสิ่งที่เราเคารพนับถือ อาจเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ครูบาอาจารย์ที่เคารพ รู้สึกในใจว่าท่านกำลังเสด็จมาอยู่บนท้องฟ้าเบื้องหน้าเรา รอบกายเปล่งไปด้วยรัศมีที่เปล่งปลั่ง ให้อธิษฐานในใจว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้พระกรุณาของท่านช่วยให้จิตใจเราหายหม่นหมอง บำบัดความทุกข์โศก โรคภัย กิเลส อวิชชาในใจเรา ช่วยให้เรามีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง ให้รู้สึกถึงพระกรุณาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นที่อยู่เบื้องหน้าเรา

o จินตนาการต่อไปว่ารัศมีเปล่งปลั่งนั้นแผ่ลงมาเป็นลำแสงที่ใส อ่อนโยน ตรงมายังตัวเรา เป็นแสงแห่งกรุณาที่ช่วยเยียวยาความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บในตัวเรา บำบัดปัดเป่าโรคทางวิญญาณ ความเศร้าหมองในใจ

o ให้รู้สึกว่าลำแสงแห่งการุณย์นั้นได้ซึมซาบอาบตัวเรา ชำแรกไปทุกส่วนกาย รู้สึกถึงผัสสะแห่งความอ่อนโยน เมตตาของลำแสง รู้สึกถึงการชำแรกอาบรดของลำแสง จนร่างเราเรืองไปด้วยแสงเปล่งปลั่งเป็นร่างแสง ลำแสงได้แผ่จนร่างเรากลมกลืนไปกับลำแสงนั้น

o รู้สึกถึงทุกข์ที่เบาบางลงทั้งกายและใจ จินตนาการต่อไปว่า ร่างที่เรืองแสงนั้นล่องลอยขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปกคลุมไปด้วยบารมีแห่งกรุณาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น พยายามประคองให้ร่างเรืองแสงนั้นอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นให้นานที่สุด

o เมื่อรู้สึกสมควรแก่เวลาก็ขอให้ลำแสงนั้นค่อยๆ เลือนหายไป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อัญเชิญมาก็ค่อยๆ เลือนหายไป ตัวเราก็น้อมกลับมาสู่ที่เดิม กำหนดลมหายใจเข้าออกด้วยความสงบ (ให้สัญญาณระฆังเลิก ๓ ครั้ง)
เวลาที่ใช้ ประมาณ ๑๕ นาที


กิจกรรมฝึกทักษะการดูแลและให้สติผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการแสดงบทบาทสมมติ

กระบวนการ
๑. วิทยากรแบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมออกเป็น ๒ กลุ่ม โดยจับคู่กับคู่เดิม แต่ให้สลับบทบาทโดยให้คนที่เล่นเป็นเพื่อนผู้ป่วย มาเป็นผู้ป่วยแทน และในแต่ละกลุ่มอ่านบทละครของตน
๒. เมื่อการแสดงจบลง วิทยากรสอบถามถึงความรู้สึกของผู้เล่นแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับบทบาทนั้น ๆ รวมทั้งเหตุผลของการแสดงออกที่เกิดขึ้น
๓. วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมอบรมวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายข้อสังเกตต่างๆ

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๑ ชั่วโมง

Case ๑ เพื่อนผู้ป่วย
คุณเป็นเพื่อนของผู้ป่วย ที่มีอาการหนักอยู่ในระยะสุดท้าย มีลูก ๒ คน อายุ ๑๐ และ ๑๕ ปี สามีทำงานต่างจังหวัด ฐานะการเงินอยู่ในขั้นดี ไม่มีปัญหาในเรื่องการรักษาพยบาล คุณไปเยี่ยมเพื่อนมาแล้ว ๒-๓ ครั้ง และสังเกตว่าเขามีสีหม่นหมองกังวลใจ คุณอยากให้เขาทำใจให้สงบ ในวาระสำคัญของชีวิตให้เขาสามารถทำใจได้

Case ๒ ผู้ป่วย
คุณเป็นผู้ป่วยมีอาการหนัก ระยะสุดท้าย แต่ห่วงลูก ๒ คน อายุ ๑๐ และ ๑๕ ปี ว่าจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างไรดี เพราะสามีทำงานต่างจังหวัด นาน ๆ จะได้กลับบ้าน หากมีอันเป็นไปไม่รู้จะดูแลลูกอย่างไร (สามีจะเปลี่ยนมากรุงเทพดูแลลูกเป็นเรื่องยาก เพราะงานกำลังก้าวหน้า) คุณห่วงลูกทั้งสอง เป็นทุกข์กับการทำใจไม่ได้

อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้สึก
๑) การเข้าไปเยี่ยมเพื่อจะเข้าไปช่วย ต้องระวังการลุ้นให้ได้ข้อมูล เราต้องอ้อม ๆ ก่อน ด้วยการสร้างสัมพันธภาพ เขาอาจจะบอกแค่เรื่องพื้น ๆ แม้แต่เพื่อนสนิท หากเรานึกไปแต่ว่าเราสนิทกัน แต่ความเจ็บปวดทางกาย ทางใจที่มากเสียจนเป็นปมบางอย่าง เราจะเข้าไม่ถึง เราต้องพร้อมทั้งเรื่องเวลาและอารมณ์
๒) ถ้าจะให้เข้าถึงปัญหา ต้องเข้าให้ถึงปม
๓) พระไพศาล สรุป ได้แบบแผนการช่วยปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ

o แสดงหรือย้ำความเป็นเพื่อน ซึ่งแสดงได้หลายอย่าง แสดงด้วยความเห็นอกเห็นใจ ย้ำความเป็นเพื่อน(สำหรับคนที่เป็นเพื่อน สัมพันธภาพ) หรือเห็นอกเห็นใจคยนหัวอกเดียวกัน หรือการนี่งนิ่งเพื่อแสดงความสนใจ หรือการแสวงหาคำพูดเพราะๆ ก็ไม่จำเป็น เป็นประการแรก

o ช่วยให้เบาใจ คือการเอาข้อเท็จจริงบางด้าน เช่น สถานการณ์บางด่านมาให้ เช่น ลูกเป็นคนดี พ่อเป็นคนดี หรือ เขาดูแลลูกมานานแล้ว เราเอาข้อเท็จจริงมาพูด ซึ่งเราอาจเอามาใช้กับญาติผู้ป่วสย หรือถ้าเรามีความรู้ทางการแพทย์ก็เอามาให้สบายใจเช่น เป้นแค่การหายใจติดขัด หรือการช่วยเอื้อความสะดวก ตย. แม่กับลูก ลูกป่วย แม่ก็ชวยได้ หมอบอกให้แม่ช่วยได้ ก็ทำให้แม่มีบทบาทช่วยได้ หรือการใช้ความเป็นเพืท่อนทำให้เขาเบาใจ

oช่วยทำให้เขาเห็นทางออก ถ้ามีความโกรธ กลุ้ม ก็มองไม่เห็นทางออก เป็นการช่วยเขาคิด เช่น จะช่วยไปปรึกษาหารือกับลูก คนที่เป็นสามี หรือแนะนำทางธรรมให้เขาปล่อยวาง ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดความแจ่มใจ จากใจที่โปร่งใส แต่ควรจะผ่านขั้นตอนมาก่อนคือการได้เบาใจ วางใจก่อน แล้วสู่การปล่อยซึ่งการช่วยเหลือ ควรจะมาถึงขั้นที่ ๓ นี้ให้ได้ เพื่อคลี่คลายไปถึงการแก้ปัญหาได้



oการช่วยให้เบาใจ พอใจ เป็นแค่ชั่วคราว ดังนั้นควรให้ไปถึงขั้นที่ ๔

กิจกรรมฝึกทักษะการดูแล และให้สติผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการแสดงบทบาทสมมติ


กระบวนการ
๑. วิทยากรขออาสาสมัครที่จะแสดงบทบาทสมมติในแต่ละกรณี
๒. อาสาสมัครแต่ละท่านจะได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทสมมติต่างๆ เช่น ผู้ป่วย น้องสาวคนป่วย ลูกสาว และพยาบาล แล้วแต่กรณี โดยจะได้รับบทละครไปศึกษาและมีการชี้แจงบทอย่างย่อจากผู้ช่วยวิทยากร เพื่อให้เข้าใจสถานภาพ ลักษณะ และบทบาทที่ต้องแสดงผ่านตัวละครนั้นๆ
๓. ก่อนแสดง วิทยากรจะให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมอบรมในเบื้องต้นถึงลักษณะของผู้ป่วย และตัวละครที่เกี่ยวข้อง
๔. แสดงบทบาทสมมติโดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมพยายามสังเกตการแสดงออกและจับความรู้สึกของตัวละครที่เกิดขึ้น
๕ เมื่อการแสดงจบลง วิทยากรสอบถามถึงความรู้สึกของผู้เล่นแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรกับบทบาทนั้นๆ รวมทั้งเหตุผลของการแสดงออกที่เกิดขึ้น
๖. วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมอบรมวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายข้อสังเกตต่างๆ

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๓ ชั่วโมง

บทบาทสมมติ :
o แม่ป่วย
o ลูกที่ยังเป็นเด็กมาก
o น้องของแม่
o พยาบาล


สถานที่ : โรงพยาบาล

สถานการณ์ : แม่ป่วยนอนอยู่บนเตียง อาการหนักมาก ลูกไม่กล้ามาเยี่ยม กลัวโรงพยาบาล กลัวเห็นอาการป่วย เห็นแผล เพื่อนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกมาเยี่ยมแม่ ขณะที่แม่ก็บ่นน้อยใจว่าลูกไม่ยอมมาเยี่ยม พยาบาลก็ช่วยพูดกับลูกว่าดูแล ทำแผลอย่างไร จนลูกค่อย ๆยอมทำ แม่ก็อาการดีขึ้นเลย ส่วนเพื่อนก็พูดให้ปล่อยวาง

สรุปประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยจากบทบาทสมมติ
แม่ : รู้สึกน้อยใจ ที่ลูกไม่ยอมมา เหมือนตนเองสูญเสีย สูญเสียความรู้สึก เป็นปมที่รู้สึกเหมือนลูกไม่รัก
ลูก : กลัวเสียงแม่ ทำให้ยิ่งตกใจ ตระหนก สงสารก็สงสารแม่ เห็นแผลแล้วน่ากลัว ไม่อยากเข้าใกล้
น้องของแม่ : เข้าใจปัญหา พยายามใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาแก้ เริ่มตั้งแต่ที่เด็ก แล้วก็ตัวแม่ ต้องการให้สิ่งที่ดีๆ โดยต้องมีการเตรียมใจเด็กก่อน และเข้าใจเด็กในสภาพสังคมแบบนี้ เด็กจะถูกกีดกัน ไม่ให้เด็กร่วมรับรู้ความจริง

แลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่


๑) จะเตรียมให้เด็กมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร
o โดยการโน้มน้าวให้เด็กเกิดการสร้างจินตนาการ เช่น อุลตร้าแมน
o ค่อย ๆ พูด โดยเตรียมที่ผู้ป่วยก่อน ให้ดูดี พร้อม
o ระวังสิ่งที่ตามมาจากคำพูดหรือกระบวนการที่กลายเป็นทำให้เด็กเข้าไปในความรู้สึกมากเกินไป หากแม่สูญเสียจริง ๆ สิ่งที่ตามมาเด็กอาจจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ทำให้แม่จากไป เป็นความผิดของตน
o อย่ากีดกันเด็กห่างออก มากเกินไป จนเมื่อเวลาที่มาพบคนไข้ที่เป็นแม่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จะทำให้เด็กกลายเป็นกลัว ต้องเตรียมความคิดเด็กมาก่อน


๒) พยาบาลรู้สึกอย่างไร
o จะเจอความกดดันจาก ๒ ทาง คือผู้ป่วย และญาติ
o กำลังเผชิญอารมณ์ของคนสิ้นหวัง และอยากตาย ท่าทีของเราคือ สนใจและช่วยเรื่องปมของเขา
o ควรจะช่วยเหลือทางจิตใจได้ด้วย

๓) คำพูดว่า อยากตาย
o ต้องระวัง และต้องให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นความรู้สึกคือต้องการบอกเรา ให้เราช่วยหาปมของเขา

กิจกรรมการฝึกภาวนาร่วมกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล


กระบวนการ
o วิทยากรเตรียมพร้อมผู้เข้าอบรมด้วยการให้ข้อมูลโดยรวมของผู้ป่วย
o นำผู้เข้าอบรมเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อเยื่ยมผู้ป่วย
o แบ่งผู้เข้าร่วมอบรมเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อเยื่ยมพูดคุย และภาวนาด้วยการทำของเล่นร่วมกับผู้ป่วย
o แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับร่วมกัน

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ 1 ชั่วโมง


-จบบริบูรณ์-

เรียบเรียงโดย พี่อุ๊
โพสต์โดย นิ้ง

เผชิญความตายอย่างสงบ ๓

กิจกรรมฝึกทักษะการดูแลและให้สติผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการแสดงบทบาทสมมติกระบวนการ
๑. วิทยากรแบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมออกเป็น ๒ ทีม และในแต่ละทีมให้ผู้เข้าร่วมอ่านบทละครของตน
๒. ให้ผู้เข้าร่วมอบรมจับคู่กับคนที่ไม่ค่อยสนิท และเล่นบทบาทสมมติ
๓. เมื่อการแสดงจบลง วิทยากรสอบถามถึงความรู้สึกของผู้เล่นแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับบทบาทนั้น ๆ รวมทั้งเหตุผลของการแสดงออกที่เกิดขึ้น
๔. วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมอบรมวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายข้อสังเกตต่างๆ


ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๑ ชั่วโมง


เนื้อเรื่อง

Case ๑. ผู้ป่วย
คุณเป็นผู้ป่วยมีอาการหนัก คุณรู้ตัวว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ทำใจได้ลำบาก เพราะในใจยังรู้สึกโกรธ และน้อยใจลูกชาย ลูกชายคนนี้คุณรักมาก แต่หลังจากที่โต้เถียงกับเขาอย่างรุนแรงเกี่ยวกับผู้หญิงที่เขาคบเป็นแฟน ลูกชายจึงหนีจากคุณไปอยู่กับผู้หญิงคนนั้น โดยที่ไม่มาเยี่ยมเธออีกเลย จนกระทั่งคุณล้มป่วย เขาก็ไม่มา ความโกรธ และน้อยใจ จนทำให้คุณมีความหงุดหงิด ก้าวร้าว และทุกข์มาก

Case ๒. เพื่อนผู้ป่วย
เพื่อนของคุณป่วยหนัก อยู่ในระยะสุดท้าย คุณสังเกตว่าเพื่อนของคุณมีความหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ คุณอยากให้เพื่อนของคุณมีจิตใจที่สงบ เพื่อที่จะจากไปอย่างสงบ คุณจะช่วยเหลือเพื่อนของเธอได้อย่างไร
ข้อมูลเพิ่มเติม : เพื่อนของคุณเป็นม่าย ส่วนลูกชายก็แยกไปมีครอบครัวที่ต่างจังหวัด

อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการแสดงบทบาทสมมติ

ตอนเราเป็นผู้ป่วย


๑) ผู้ป่วย รู้สึกอย่างไรกับผู้มาเยี่ยม
o คนมาเยี่ยมอยู่ในกำมือเรา เราจะทำอย่างไรกับคนมาเยี่ยม
o การสัมผัส ได้ความรู้สึกดี
o ทำให้เราคิดว่าเราจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน
o เขาร้องเพลงให้ รู้สึกดี
o เพื่อนมีความพยายามมาก แต่ชักแม่น้ำทั้ง ๕ มาก่อน ก่อนที่จะถามถึงลูก
o ตอนที่เขาเข้ามา ถามคำถามด้วย plain ๆ และคำพูดที่แสดงความรู้สึกเก่า ๆ จากความเป็นเพื่อน ทำให้เขาไม่รู้โดดเดี่ยว
o เพื่อนอดทน ขนาดแสดงว่าหงุดหงิด อย่ามาแตะต้อง เขายังพยายามอีก
o ความเป็นพ่อ โกรธลึก พอให้เล่า มันมากจนไม่รู้จะบอกอะไร เต็มอก เพราะผู้ชายจะรู้สึกเหมือนถูกหมิ่นศักดิ์ศรี
o ความรู้สึกจากที่เขาคุยอย่างเรียบ ๆ เคียง และจะถึงจุดที่ต้องการหรือทุกข์ของเรานั้น เรียบ ๆ เคียง ๆมากไป จนอยากจะให้ถามเสียทีถึงเรื่องที่เราต้องการพูดคือเรื่องลูก
o เขาพยายามจะถาม แต่เขาก็ยังเกรงใจเรา

๒) ท่าทีหรือคำพูดที่บอกให้เรารู้สึกน่าจะดีในเรื่องที่เกี่ยวกับทุกข์ที่เราติด ปลดปล่อย
o คำพูดที่จะให้เราปลดปล่อย ที่เราติด
o จากความพยายามและคำพูดที่เอาใจเรา ยกประสบการณ์ที่เขาก็มี เขาพยายามดีมากจนบางทีทำให้ตนรู้สึกน้อยใจ ขนาดว่าคนอื่นยังดีกว่าลูกตน แต่เขาก็ยังเล่าให้เราเห็นมุมของลูกอีกแง่หนึ่ง ทำให้เราลองคิดตามและเบาคลายลง
o เราอยากท้าทาย หากเขาอดทนอีกนิด เขาก็จะบอก
o จากความตั้งใจดี พยายามมาพูด แต่เราผู้เป็นพ่อ มีความโกรธลึก ก็เลยไม่อยากพูดอะไรเลย น้อยใจและอ่อนแอ หากให้เวลา ไม่อยากฟังมากนัก และก็ไม่อยากพูดถึง
o แต่ถึงโกรธมาก พอเขาพยายามพูด เราก็จะรู้สึกเกรงใจ ก็เลยพูดบ้าง
o บางครั้งการมาเยี่ยม ถ้าเงียบลงบ้าง ผู้ป่วยจะดีขึ้นบ้าง

เพื่อนผู้ป่วย
o บางทีไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ถ้าเราเริ่มแล้ว เหมือนไม่ตรงใจเขา อะไรที่รู้สึกหนักใจ จะปลดปล่อยปัญหาของเขา
o เอาเข้าจริง ถ้าเขาไม่อยากพูด จะทำอย่างไร ถ้าให้เขาพูด เราจะเป็นผู้ฟัง หากเขาไม่พร้อม
o แต่เราพยายามต่อ โดยเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้ค้นพบ

วิทยากรเสริม
o ในความเป็นจริง ยากกว่านี้ ถ้าเราแสดงความจริงใจ ความรัก คนไข้ต้องการอยู่แล้ว แต่คนไข้อาจจะแสดงอาการแรงออกมา ทำเป็นตรงข้าม และมีอารมณ์แรงมากที่เขามีปม เราอาจจะหาปมไม่เจอ ก็ต้องอดทน ไม่จำเป็นว่าต้องให้เขาพูดกับคนเยี่ยมได้เลย ต้องอดทน ทำไปเรื่อย ๆ
o ต้องให้เวลา โดยสร้างความไว้วางใจจนเขาวางใจแล้วเขาจะพูดให้ฟัง
o ต้องให้คำสัญญา เคารพ เอาใจใส่เขาอย่างจริงจัง เพราะภาวะนั้น เขามักจะเอาแต่ใจตนเอง โกรธ ฉุนเฉียวหรือหงุดหงิดง่าย
o สภาพคนไข้ที่มีปมโกรธ หงุดหงิด มักจะปฏิเสธการมาหามาเยี่ยม เขาจะหันหลังให้ก่อน หรือทำท่าไม่รับฟัง เพราะฉะนั้นวันแรกหรือครั้งแรกเราผู้ไปเยี่ยมก็แค่แสดงความเป็นมิตรเขาหรือแสดงความจริงใจก่อน ไม่สำเร็จวันเดียว
o ต้องอดทนต่อการแสดงออกของเขา
o แสดงคำพูด เช่น เราเป็นเพื่อนกัน เป็นการย้ำเตือน เป็นสะพานเชื่อมให้ถึงเขา เป็นการแสดงหัวอกเดียวกันหรือเห็นใจ เข้าใจเขา เป็นการลดช่องว่างของเขา ซึ่งนอกจากการนิ่ง ๆ อดทน เฉย ๆ เพราะต้องการแสดงความเห็นใจ นี่คือจุดเริ่มต้ยน และต้องใช้เวลา เป็นกรณีที่ไม่ต้องสร้างสัมพันธภาพเพราะเป็นเพื่อนมาก่อน ตรงนี้ก็คือการย้ำสัมพันธภาพ
o ต้องเข้าใจว่า เขาอาจจะถูกสะดุดหรือกระตุก เมื่อเราพูดถึงคำถามที่จะเป็นปมของเขา เพราะเป็นบาดแผล ต้องอย่าเลิก เพียงแต่ต้องหาโอกาสมาอีกที เพราะจะต้องช่วยเขาคลายปมนั้นเพื่อแก้ปัญหาค้างคาของเขา ต้องไม่ใช่ละเลยหรือข้ามไปเลย ทำให้เขาวางใจก่อน แล้วเขาจะเข้าสู่ประเด็น ในที่สุดทำให้ลุกของเขามาเยี่ยมได้ เราอาจจะบอกว่าเราจะพยายามช่วยให้ลูกของเขามาเยี่ยม
o ที่สำคัญเราก็ต้องมีสติ ทำด้วยความอดทน อาจจะถึงขั้นถูกทำร้ายก็ยังได้ รับฟังอย่างลึกซึ้ง




กิจกรรมการเขียนความในใจถึงผู้ล่วงลับ
กระบวนการ
วิทยากรกล่าวนำให้ผ่อนคลายและค่อย ๆ น้องนำสู่ลมหายใจ ด้วยการตามลมหายใจเข้าและออก ให้นึกถึงคนใกล้ชิดที่จากไป ความผูกพันใกล้ชิด ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งด้านที่ดี และด้านที่เราทำไม่ดี เรารู้สึกนึกคิดอย่างไรในขณะนั้น ตลอดจนความรู้สึกของเราในขณะนี้ (เคาะระฆังตอนเริ่มต้น ๓ ครั้ง เปิดเพลงบรรเลงคลอเบา ๆ และเคาะระฆังเมื่อจบภาวนา ๓ ครั้ง) หลังจากนั้นให้เขียนความในใจที่เห็นภาพเมื่อสักครู่ลงในสมุดบันทึก

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๒๐ นาที


อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์

­ ถึงป้า... รู้สึกกับคำพูดที่ไม่ดี ไปที่ป้า แต่เป็นห่วงการเตรียมการสอน เมื่อย้อนมานึกถึง รู้สึกว่าผิด ที่เห็นแก่ตัว อยากชดเชยที่ผิด ต้องรีบพูดดีทันที แต่ก็ยังรู้สึกไม่เพียงพอ ขณะที่ป้าป่วยและต้องตาย และการที่ปล่อยทิ้งให้ป้าอยู่ที่รพ.หรือให้เจาะคอ ถ้าทำได้...อยากให้ป้าอยู่ที่บ้านรักษา รู้สึกตนเองผิด

­ ถึงพ่อ วันนี้สิ่งใดที่ตนเองทำไม่ดี พ่อกำลังอยู่ที่ รพ. ขอให้อภัย ลูกรักพ่อค่ะ ­ อยากขออโหสิกรรม จากที่ตนเองได้ทำอะไรไป หากทำไม่ดี กำลังเขียนถึงพ่อ แม้แต่กับคนไข้ ขออโหสิกรรมด้วย ย้อนไปตอนเด็กที่พ่อเสียชีวิตไปแล้ว อยากจะเขียนให้พ่อ

­ เขียนถึงพ่อ พ่อยังมีชีวิต พ่ออยู่ไกลกันมาก ผมรู้ว่าพ่อรักผมมาก แต่เป็นบาปของผม ถ้าผมยังไม่ได้ทำให้พ่อ พ่อยังอยู่ที่เตียงมา ๖ ปี

­ ถึงย่า..ย่าเสียไปไม่ค่อยดี ขอให้ย่าไปสู่ภพภูมิที่ดี ขอให้พระสงฆืนำทาง

­ ถึงยาย ขอให้บุญกุศลความดีที่มาจากคุณยาย ให้จิตใจที่ใสของคุณยายดียิ่ง ๆ ขึ้น ขอให้รับรู้จริง

­ ถึงพ่อ จากกันมากว่า ๑๐ ปี ๒๐ กว่าปีก็มีการสื่อสารกันมาตลอดมา เขาบอกเสมอให้เรียนสูง ๆ และทำดี ก็ทำดีต่อไป ตามที่พ่อบอก

­ ถึงน้องสาว อ่านหนังสือธรรม ตนเองจะหาโอกาสอ่านหนังสือธรรม

­ ถึงคุณตา พระคุณ แม้ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทุกคนร้องไห้ แม่ น้า หนูเรียนรู้มากขึ้น ความตายที่หนูเรียน ทำให้หนูเข้าใจมากขึ้น จากการเข้ามาอบรมทำให้เห็นการตายเป็นทางผ่าน ทำให้การตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่โศกเศร้า หนูเห็นรอยยิ้มของพระคุณ ไม่ใช่ความสูญเสีย เป็นของขวัญ ช่างมีความสุข หนูจะเดินทาง เท่าที่จะทำได้

­ จดหมายถึงป๊า นี่สิบกว่าปีแล้ว ที่เราไม่ได้คุยกันน่ะ เล่าเรื่องคนในบ้านให้ป๊าฟัง ลูกๆของป๊าโตมากขึ้น คิดเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ได้จากการสอนของป๊า ภูมิใจที่เป็นลูกป๊า..คิดถึงป๊า

­ ถึงป้า ป้ามีครอบครัวแล้วหย่า ไม่มีลูก เลี้ยงเหมือนลูก ผมดื้อ หนีไปอยู่หอพัก ตอนหลังเสียชีวิตล้มในห้องน้ำ ตะกายหาโทรศัพท์ จนมีคนมาพบ ตายอย่างว้าเหว่ รู้สึกตนเองผิด ที่อยู่กับแกไม่ได้ เพราะนิสัยขี้โกรธ ถ้าย้อนได้อยากให้แกพบธรรมเพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีขึ้น

­ จากความเป็นเพศสมณะ อารมณ์อาลัยอาวรณ์ลดลงไป เดิมมีเพื่อนคนหนึ่งสนิทมากที่ตายเพราะถูกรถชน รู้สึกนึกถึงเขา

สรุป ได้อะไรจากการเขียนความในใจ (ความรู้สึกที่ได้)
o­ ได้ปลดปล่อยความรู้สึก ความทุกข์ มองเห็นภาพสะท้อนของอดีต ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
o­ พบว่าสาเหตุที่ปิดกั้นอยากทำ แล้วไม่ได้ทำ เพราะ ระยะทางไกล ไม่มีเวลา
­o การมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิด รู้สึกดี จิตว่าง คิดถึงความดีของผู้ล่วงลับ มองสิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในชีวิตให้เรียนรู้
­o พบว่าการขอโทษไม่ได้เกิดง่าย เพราะในเวลา สถานการณ์ และความสัมพันธ์ ถ้าใกล้มาก เราจะละเลย แต่พอเขาไป แล้วค่อยมานึกถึง
­o ทำไมการมองมักเป็นด้านลบง่าย เพราะคนเรามักมองคนอย่างตัดสินถูกผิด
­o จากประสบการณ์ที่ได้มีการเขียนความในใจบ่อย ๆ จะช่วยให้คลายความรู้สึกผิดได้ ขอโทษได้
­o จะมีวิธีการอย่างไรในการน้อมใจให้เราหมั่นเขียนความในใจ คลายความผิดหรือยึดติดในใจ
­o จากการบวชเป็นพระ ทำให้เราได้จากการใช้ชีวิตนักบวช มีการศึกษาพระไตรลักษณ์ มีส่วนให้เรามีวินัย เข้าใจในกฏ เริ่มปล่อย โล่งได้

กิจกรรมการเขียนพินัยกรรมชีวิต

กระบวนการ
ให้ผู้เข้าอบรมเขียนพินัยกรรมชีวิตลงในสมุด โดยมีรายละเอียดใน ๗ ประเด็น ดังนี้
๑. เราจะจัดการทรัพย์สิน ข้าวของ เงินทองอย่างไร
๒. เราจะให้จัดการเกี่ยวกับครอบครัว หรือคนที่อยู่ต่อไป อย่างไร
๓. เราจะให้จัดการต่อเรื่องงานอย่างไรต่อไป
๔. การรักษาแบบใดที่เราไม่ต้องการ
๕. เราจะจัดการเกี่ยวกับร่างกาย หรืออวัยวะของเราเมื่อตายไปแล้วอย่างไร
๖. เราอยากให้จัดงานศพของเราอย่างไร
๗. ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น คนที่เราจะให้ตัดสินใจแทนคือใคร

ให้สังเกตความรู้สึก ณ ขณะนั้นว่าข้อไหนที่เรารู้สึกหวั่นไหว หรือเฉย ๆ
ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๓๐ นาที

กิจกรรมการภาวนามรณสติ

กระบวนการ
o ให้ผู้เข้าอบรมแต่ละคนหาบริเวณที่สามารถนอนราบได้ ถอดแว่น และให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ผ่อนคลาย
o น้อมนำสู่ความสงบด้วยการตามลมหายใจเข้าและออก
o อ่านบทภาวนาอย่างช้าๆ เปิดเพลงคลอเบาๆ เคาะระฆังเป็นระยะ
o ให้ผู้เข้าอบรมเฝ้าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างฟังบทภาวนา
o แลกเปลี่ยนความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้จากการภาวนา

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๔๕ นาที

บทเรียนจากการทำมรณสติ
พิจารณาว่า การตายเกิดขึ้นกับเราแน่นอน แต่ต้องพิจารณาให้ไม่เกิดความประมาทขึ้นมา หรือทำให้เราเตรียมพร้อม ไม่ใช่หดหู่ การพิจารณาเพื่อให้เราลงมือกระทำ ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ การทำกิจ เช่น พ่อแม่ป่วย เราจะทำอย่างไรดี เราไม่ผลัดผ่อน (ทำหน้าที่) และ การทำใจ

พิจารณามรณสติ โดยการน้อมเข้ามาใส่ตัวเสมอ เช่น การขึ้นรถ ลงเรือ น่าคิดต่อว่า นี่อาจจะเป็นการเดินทางครี้งสุดท้าย ลองคิดต่อว่า ถ้าเครื่องบินจะตก (ยังมีเวลาบ้าง) หรือรถกำลังจะประสานงา ซึ่งแทบไม่มีเวลา แต่เป็นระดับวินาที หากถึงเวลามาอย่างเร็ว เราจะนึกถึงอะไร เราต้องนึกเลย

ลองพิจารณาอีกแบบหนึ่ง จากข่าวหนังสือพิมพ์ ลองนึกจากภาพตรงที่จะเกิดขึ้น หากเกิดกับเรา เราจะทำอย่างไร หรือรถกำลังท่วมในคูน้ำ น้ำค่อย ๆ เข้ามา เราจะทำอย่างไร ฉะนั้น จะฝึกจิต ฝึกใจอย่างไร การมรณสติจะทำให้เราคุ้นชิน นี้คือการพิจารรานอกเหนือชีวิตประจำวัน แต่พิจารณาแบบหวือหวา
หรือเวลาเราสูญเสียหรือการพลัดพราก งานล้มเหลว เราโดนต่อว่า เราลองคิดว่านี่เป็นแค่ระดับหนึ่ง ถ้าวันหลังมากกว่านี่จะทำอย่างไร นี้คือการซ้อม ว่าแค่นี้เรายังไม่ไหว แล้วเราจะรับมือยฃอย่างไร

การพิจารณามรณสติทำได้บ่อย ไม่ใช่จะก่อนนอน พระพุทธเจ้ายังบอกว่า การตายเกิดขึ้นทุกขณะ จึงควรจะหมั่นพิจารณา

--- จบตอนที่ 3 ---
ติดตามตอนต่อไปค้า

เรียบเรียงโดย พี่อุ๊
โพสต์โดย นิ้ง