วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 27, 2550

เวลาและรอยยิ้ม



วันหนึ่งขณะทีข้าพเจ้ากำลังขับรถเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เหลือบเห็นรถสามล้อถีบ (ซาเล้ง) สนิมเครอะตลอดคัน ลมยางทุกล้อแบนแฟบ รถเอียงเอนเค้เก้ จอดนิ่งอยู่ใกล้ๆ กับชายที่กำลังง่วนอยู่กับการถอนตะปูทีละดอกออกจากแผ่นไม้เก่าที่ถูกโยนทิ้งขว้างไว้ข้างทาง

ในรถเศษเหล็กคันนั้น หญิงสาวคนหนึ่งกำลังนั่งเล่นอยู่กับเด็กชายวัย 2-3 ขวบ ส่วนของเล่น คือเศษวัสดุสารพัดที่เก็บได้ระหว่างทาง

ภาพที่ข้าพเจ้าเห็นทำให้รู้สึกอุ่นในหัวใจ เพราะในความแร้นแค้น ครอบครัวเล็กๆ กลับแลดูมีความสุข พวกเขาเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยกันตราบเท่าที่เจ้าเศษเหล็กและกำลังขาของผู้เป็นพ่อจะปั่นพาไป

การงาน การเล่น และความสัมพันธ์ในครอบครัว ล้วนดำรงอยู่ร่วมกันในทุกๆ หนแห่ง

ข้าพเจ้าหยุดรถและส่งรอยยิ้มให้ หวังว่าพวกเขาคงรู้ว่า รอยยิ้ม นั้น คือคำขอบคุณที่ชีวิตของพวกเขาได้ให้ ความรู้สึกที่ดี แก่ข้าพเจ้า และหญิงในรถคันนั้นก็ยิ้มตอบข้าพเจ้าด้วยรอยยิ้มอันเบิกบาน เป็นสุขทั้งแววตาและหัวใจ

แค่เสี้ยวเวลาสั้นๆ นี้ กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็พอที่จะพาหัวใจของข้าพเจ้าให้อิ่มเอิบไปตลอดทั้งวัน

รอยยิ้มและความสุข เราหาซื้อที่ไหนไม่ได้ และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องดั้นด้นแสวงหา ความสุขง่ายๆ ผุดขึ้นในใจเรา หากเราพอมีเวลาที่จะสังเกต เฝ้ามองสิ่งรอบตัว และชื่นชมกับชีวิตเหล่านั้น

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความสุขตกอยู่กลาดเกลื่อนทุกที่ ซึ่งไม่ยากเลยที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกนั้น

ช่วงเทศกาลแห่งความสุขและการให้นี้ เราหลายคนมักนึกถึงของขวัญและการ์ดอวยพรที่จะมอบให้แก่คนที่เรารักและเคารพ ซึ่งหลายครั้ง เรากลับกระอักกระอ่วนด้วยความรู้สึกว่า ต้องให้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

หากรายชื่อผู้รับความสุขจากเรายาวเหยียดอาจทำให้เงินในกระเป๋าและในบัญชีธนาคารพร่องลง ถึงตอนนั้น รอยยิ้มของเราอาจแปรเปลี่ยนเป็น รอยยับ เพราะต้องแบกรับความเครียดและความทุกข์ที่เกิดจากการทนอด บางรายอาจถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสิน พาเอาหัวใจหม่นหมอง ไม่มีความสุขไปพร้อมๆ กับผู้รับของขวัญจากเรา

สังคมทุนและบริโภคนิยมอาจทำให้เรามอง การให้ ในมิติของวัตถุ ของขวัญและการ์ดอวยพรเป็นเพียงสิ่งแสดงแทนความรู้สึกจากใจผู้ให้ อย่างของเล่นที่พ่อแม่ให้แก่เราในช่วงนี้ย่อมแสดงความรักที่ท่านมีต่อลูกๆ แหวนเพชรที่สามีให้แก่คู่ชีวิตของเขาคือสัญลักษณ์ยืนยันความรักที่ชายผู้นั้นมีต่อภรรยา

แต่สำหรับครอบครัวซาเล้ง ความรักและความสุขของพวกเขากลับปราศจากประจักษ์พยานทางวัตถุ ไม่มีของขวัญหรือการ์ดใดๆ เป็นหลายชีวิตที่ยินดีคล้องใจกันโดยไม่ยินดียินร้ายกับวัตถุพยานเหล่านั้น

เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่งบอกว่า สำหรับเขาแล้ว เวลาคือชีวิต เราให้เวลาแก่ใครย่อมหมายถึงเราได้ให้ ชีวิต แก่คนๆ นั้นด้วย

เวลาที่พ่อแม่ให้แก่ลูกๆ ก็คือการให้ชีวิตพวกเขาแก่ลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความสัมพันธ์ พลังใจ และประสบการณ์ความรู้ ซึ่งช่วยให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้

เด็กหลายคนที่อยู่ในสถานพินิจเคยสะท้อนว่า เขาเหงามาก พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ พวกผู้ใหญ่มัวแต่ทำงานหาเงิน บ้างเล่นไพ่ ติดการพนันและเหล้า

ที่โรงเรียน ครูเองไม่มีเวลาพูดคุยหรืออบรมศิษย์ ช่องว่างภายในใจไกลห่าง เด็กหมดหนทาง ไม่รู้จะปรึกษาใครหรือจะเรียนการฝึกหัวใจให้แข็งแกร่งท่ามกลางสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่รายล้อมชีวิตพวกเขาได้อย่างไร ท้ายสุดมักลงเอยที่การทำร้ายตัวเองด้วยการกระทำผิด

เด็กที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายคนหนึ่งเคยสะท้อนความในใจออกมาว่า ดีใจที่ป่วยหนัก เพราะทำให้พ่อมีเวลาให้เขามากขึ้น

ชีวิตของเด็กๆ ต้องการเวลาจากผู้ใหญ่ที่เขาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีชีวิตที่งดงามต่อไป เราให้เวลาเพียงพอหรือไม่กับเด็กของเรา เราให้เวลาแก่พวกเขาอย่างไร

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มักอิงแอบอยู่กับ ความสัมพันธ์ ที่ดีต่อกัน หากความสัมพันธ์บกพร่อง สงครามใหญ่น้อยทั้งในบ้าน นอกบ้าน และภายในใจเราย่อมปรากฏ

ที่สำคัญ ความสัมพันธ์อันดีต้องลงทุนด้วยการให้เวลาและหัวใจแก่กันและกัน

เราทุกคนต่างโหยหากันและกัน ในยามทุกข์ หากมีเพื่อนให้เวลานั่งเคียงข้าง เรารู้สึกอุ่นใจขึ้น ยามที่เราตั้งใจทำงานดีๆ หากมีเพื่อนสนับสนุนให้เวลานั่งคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน เราก็มีพลังในการเดินหน้าทำงานต่อไปเช่นกัน

น่าตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีเวลาให้คนรอบข้าง คนสำคัญในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ เพียงพอแล้วหรือ และให้แบบใดแก่กัน

เราให้เวลากับสิ่งใด เรากำลังให้ชีวิตกับสิ่งนั้น

เวลาที่ให้ลูกสุนัข เวลาที่ให้แก่ต้นไม้ที่ปลูกรอบบ้าน เวลาในการทำงานอาสา เช่น การดูแลผู้สูงอายุ เวลาในการดูแลปะการังเสื่อมโทรม แม้กระทั่งการให้เวลาในการทำงาน

การให้เวลากินความถึงการใส่หัวใจลงไปในเวลานั้นด้วย

หากเราให้เวลากับงานอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ใส่หัวใจและจิตวิญญาณลงไปในงานที่เราทำ ย่อมเป็นเสมือนกับ การให้ชีวิต แก่งานนั้นๆ

และไม่ว่าเราจะให้เวลากับใครหรือสิ่งใด สำคัญที่สุดคือ การให้เวลาและชีวิตแก่ตัวเอง

พระไพศาล วิสาโล เคยให้พรปีใหม่แก่เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย และทุกๆ คนว่า ชีวิตปัจจุบันของเราเร่งรีบ พะรุงพะรังไปด้วยการงาน สมุดตารางเวลาของเราเต็มไปด้วยนัดหมาย การประชุม งานที่ต้องทำมากมาย ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง และเมื่อไม่มีเวลาให้ตัวเอง เราก็ไม่อาจมีเวลาให้แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริงได้

ขอให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เพ่งพินิจตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อะไรคือความสุขที่แท้จริงของเรา

เราไม่มีเวลาที่จะดูและรักษากายและใจตัวเอง หลายคนไม่มีเวลารับประทานอาหารอย่างเบิกบานมีความสุข ต้องร้อนรนเร่งรีบ ไม่ซาบซึ้งกับรสชาติและสิ่งดีๆ ที่อาหารนำสู่ร่างกาย รีบทานจนอาหารไม่ย่อย หมักหมมจนกลายเป็นโรคต่างๆ ตามมา

นอกจากนี้ เรายังไม่มีเวลาออกกำลังกายและปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในหัวใจ พร้อมรับความไม่แน่นอนในชีวิต

ในยามที่พูดคุยกับผู้อื่น เราไม่อาจให้เวลาและหัวใจรับฟังผู้อื่นได้เต็มร้อย เพราะในหัวของเรามีเรื่องสำคัญต้องคิดก่อนมากมาย เราพะวงกับเรื่องที่ต้องทำต่อไปจนไม่มีเวลาฟังผู้อื่น หรือแม้แต่พูดคุยกันเต็มเวลา สุดท้าย ความเข้าอกเข้าใจกันย่อมเกิดยาก ความสัมพันธ์ที่ดีกลับขาดวิ่นร้าวฉาน

สำหรับช่วงส่งท้ายปีใหม่นี้ เราน่าจะได้ให้ของขวัญแก่ชีวิตเรา คือให้เวลากับตัวเอง หยุดพัก ทบทวนชีวิตในปีที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นทิศทางในการเดินทางต่อชัดเข้มยิ่งขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุด หากเราตระหนักว่า ทุกเวลาที่ผ่านเข้ามาล้วนเป็นเวลาแห่งการให้ เราย่อมมอบของขวัญ เป็นรางวัลแห่งชีวิตอันวิเศษให้แก่ทุกคน ทุกเมื่อ รวมทั้งตัวเราเองด้วย.



กรรณจริยา สุขรุ่ง
เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย
media4joy@hotmail.com

วันอังคาร, พฤศจิกายน 27, 2550

ฟัง ‘คำขอ’ จากหัวใจ




หากเปรียบชีวิตมนุษย์เป็นเสมือนการเดินทาง ต่อให้พวกเขาไปไกลแค่ไหน ก็มิอาจห่างหายไปจากธรรมชาติได้ แม้เขาจะเดินมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง มนุษย์ก็ต้องการธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นจุดแวะพักจิตใจ เป็นพื้นที่ผ่อนคลายอารมณ์และหามุมสงบระหว่างการเดินทาง

เหลียวมองไปรอบๆ ป่าคอนกรีต ทิวแถวต้นไม้ริมทางเท้า พุ่มไม้สีเขียวบนเกาะกลางถนน พร้อมช่อดอกสวยที่ต้องแสงแดด ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต


ช่อดอกไม้ธรรมดาๆ สักช่อในแจกัน หรือต้นไม้เล็กๆ สักต้นในกระถาง ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ข้างจอคอมพิวเตอร์หรือริมหน้าต่างกระจกใสบานโตในออฟฟิศ คือการปลูกที่พักใจด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระให้หนักใจ

ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของชีวิตและธรรมชาติ ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แม้ผู้ที่ต้องทำงานบนท้องถนน เช่น ขับรถประจำทางเพื่อบริการผู้คน พวกเขาก็รู้จักปลูกต้นไม้และดูแลที่พักใจของเขา พร้อมเผื่อแผ่ให้แก่ผู้โดยสารด้านหลัง พวงมาลัยสวยหน้ารถตู้โดยสารหรือรถบรรทุกทั่วไปก็อาจเป็นพื้นที่พักผ่อนคลายสบายอารมณ์ได้ในความหมายนี้

พระไพศาล วิสาโล ได้แสดงธรรมบรรยายไว้ตอนหนึ่งถึง “พลังของธรรมชาติ” ว่า ความงามของดอกไม้และต้นไม้นั้น มีส่วนช่วยขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ได้หลายประการ ประการแรกคือ การช่วยให้มนุษย์เกิด “ความชื่นบาน” อารมณ์เบิกบาน จิตแจ่มใส เป็นความรู้สึกยินดีที่ได้ชมดอกไม้สวย ประการที่สองคือ การดลใจของเราให้สงบ ก้าวพ้นความตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ได้พบเห็น เกิดความรู้สึกปล่อยวาง ลดความเร่งรีบของชีวิต แล้วเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของธรรมชาติ ช้าลงๆ

หลวงพี่เทศน์ไว้อีกว่า เนื่องจากธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องให้ใครชม เราจึงไม่รู้สึกถูกเรียกร้องขณะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เมื่อไม่ถูกเรียกร้อง ความกังวลของเราจึงผ่อนคลาย กลายเป็นความรู้สึกที่ได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับ “การรู้” ตัว และหากพินิจให้ลึกซึ้งก็จะพบคุณูปการที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติอีกอย่าง นั่นคือ ธรรมชาติยังแสดง “สัจธรรม” แก่เราด้วย

“สัจธรรมเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักมองหรือเปิดใจรับ เราจะเกิดปัญญา เห็นความไม่เที่ยงของฤดูกาล เห็นความไม่เที่ยงของวันเวลา เห็นความผันแปรของสิ่งต่างๆ รวมทั้งความไม่เที่ยงของตัวเราด้วย”

พลังธรรมชาติประการท้ายสุด สำหรับพระไพศาลจึงหมายถึง “ความจริง” ที่มนุษย์ควรเรียนรู้จากธรรมชาติ เมื่อเราตระหนักในสัจธรรมดังกล่าว ใจของเราก็จะวางเฉย ยอมรับกับทุกเหตุการณ์ทุกความรู้สึกด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่หยุดนิ่งหรือติดยึดกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ไม่ว่านั่นจะทุกข์หรือสุข เพราะทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย

ธรรมชาติและต้นไม้จึงเป็นแหล่งพลังที่มนุษย์ไม่อาจไกลห่าง ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในองค์กรที่ปฏิเสธความสดชื่นของสีเขียวในสำนักงาน หมกมุ่นแต่การงานและการแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง ย่อมเหินห่างจากโอกาสในการแสวงหาความหมายที่แท้จริงของ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งถึงที่สุด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป หัวใจของมนุษย์ในอาคารคอนกรีตที่ปราศจากต้นไม้ย่อมเหี่ยวเฉา ไม่เห็นผู้อื่นนอกจากตัวเอง เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใจหยาบและยโส เพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของสังคม ไม่เป็นเดือดเป็นร้อนตราบเท่าที่ตนยังคงเสพความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจ

หากไม่ปรารถนาเป็นมนุษย์ที่ไร้หัวใจดังกล่าว เพียงการออกเดินพักผ่อนอย่างช้าๆ ในสวนอันร่มรื่นใกล้บ้าน หรือพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วมองไปยังมุมเล็กๆ สีเขียวข้างโต๊ะทำงาน หรือแม้แต่แขวนพวงดอกไม้แห้งที่เคยสดและส่งกลิ่นหอมหน้ารถ กิจกรรมที่แสนปกติธรรมดาและเรียบง่ายแบบนี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เราเริ่มต้นเข้าถึงความจริงของชีวิต ขอเพียงต้องพิจารณา เล็งให้เห็นนัยของธรรมชาติรอบตัว และหมั่นฝึกฝนปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตใจภายใน ขจัดอัตตาให้พร่องหาย แทนที่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในหัวใจ

นอกจากนี้ พระไพศาล ยังแนะนำให้เรารู้จักกล่าวคำขอบคุณแสดงความซาบซึ้งใจที่ผู้อื่นปฏิบัติแก่เรา และแสดงความชื่นชมกับสิ่งดีๆ ที่เขาทำ ขณะเดียวกันก็พร้อมให้อภัยในความพลั้งเผลอระหว่างเพื่อนมนุษย์

ที่สำคัญคือ “คำขอโทษ” ที่เราพึงเอ่ยเมื่อประพฤติผิด ทั้งนี้ มิใช่เป็นการแสดงความเสียหน้าหรืออ่อนแอ หากแต่เป็นวิถีแห่งการขัดเกลาจิตใจ มิให้สำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษแต่อย่างใด

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากล้าที่จะขอโทษ มันจะช่วยทำให้เรากลับกลายมาเป็นมนุษย์ หลุดพ้นจากหัวโขนเหล่านั้น เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับคนอื่น และตรงนี้แหละที่ทำให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้อื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม และทำให้ใจของเราโปร่งโล่ง เบา อิสระ”

การใช้ชีวิตให้ช้าลง ปล่อยให้ความคิดและกิจกรรมประจำวันดำเนินไปพร้อมๆ กับจังหวะการลื่นไหลในธรรมชาติ ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรีบ อยู่กับปัจจุบันขณะปราศจากความกังวล ฝึกการอ่อนน้อมถ่อมตนจากหัวใจ ไม่ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท เพียงเท่านี้ ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเริ่มกลับมาอีกครั้ง

การปลูกและดูแลต้นไม้จึงเปรียบได้กับการปลูกธรรมะและรักษาไว้ให้อยู่ภายในใจเรา ธรรมะและต้นไม้ดอกไม้ต่างมีคุณูปการต่อเรา หากรู้จักเรียนรู้และพิจารณา แต่จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ต้องเริ่มที่การให้โอกาสและเวลาแก่ตัวเอง ดังที่พระไพศาลได้ขอไว้ในหนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่”

“อยากให้เราได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง เพ่งพินิจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองบ้าง เพราะว่าเวลานี้ เราไม่มีเวลากับสิ่งเหล่านี้เลย ชีวิตที่เร่งรีบและชีวิตที่พะรุงพะรัง ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง และสุดท้าย เราก็ไม่มีเวลาให้แก่คนอื่นด้วย

“...เร่งรีบจนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวเราเอง เราพะรุงพุรังไปด้วยงานการ สิ่งเสพ จนกระทั่งไม่มีเวลาให้แก่ตนเอง ไม่มีกำลังที่จะทำสิ่งดีงามให้แก่ผู้อื่น...

“อาตมาขอให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เพ่งพินิจตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อะไรคือความสุขที่แท้จริง หากทำได้มากกว่านั้น ขอให้เราพร้อมที่จะเรียนรู้ หาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ไม่ใช่จากความสุขเท่านั้น แต่จากความทุกข์ด้วย

“ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกิเลสที่ทุกข์ เป็นการถือตัวหรือมานะที่ทุกข์ บางทีการมองความทุกข์ในแง่นี้กลายเป็นของดี ช่วยให้เราไม่ทุกข์ไปตามอำนาจของกิเลส ตามอำนาจของอัตตา เราควรทำให้อัตตาหรือมานะ หรือตัวกิเลสนี้อ่อนน้อมถ่อมตนลง”

ขอเชิญแวะอ่าน พิจารณาธรรมชาติและธรรมะร่วมสมัยในหนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่” โดย พระไพศาล วิสาโล และ “อาทิตย์ยามเช้า” (นามปากกา) ได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ media4joy@hotmail.com กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com

วันอังคาร, พฤศจิกายน 20, 2550

พีอาร์เบอร์หนึ่ง


เรื่องราวของเพื่อนนักข่าว/พีอาร์ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อยในแง่ของความสับสนในบทบาทบน เส้นแบ่ง ระหว่างหน้าที่ในการงานกับความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน ความคลุมเครือระหว่างจรรยาบรรณกับความเป็นจริงในแวดวงพีอาร์ วิชาชีพผู้สร้างสรรค์งานสื่อสารประชาสัมพันธ์ (Public Relations) ที่มีอิทธิพลในสังคมไม่น้อยไปกว่าวิชาชีพสื่อสารมวลชน

ว่าไปแล้ว คนเหล่านี้ นับวันยิ่งถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขามีหน้าที่หลักในการสร้างและประคอง อุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภค มิให้ลดหรือพร่องลงตามโจทย์ของลูกค้าบริษัทห้างร้าน ทั้งนี้ หากผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักคำว่า พอ พากันเลือกเดินบนวิถีชีวิตที่พอเพียงเมื่อไหร่ นั่นย่อมหมายถึงสัญญาณอันตรายกำลังมาถึงความมั่นคงในอาชีพและความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา

นอกจากงานบริการให้คำปรึกษาการสร้างและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรแล้ว อีกหนึ่งภารกิจหลักของพวกเขาคือการเสาะแสวงหา ยุทธวิธีในการปลุกเสกและเพิ่มพูน ความต้องการ การบริโภค บ้างเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิต เป็นปัจจัยที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายและราบรื่นขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หลายอย่างก็ล้นเกิน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบสนองโจทย์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

เพราะเมื่อลูกค้าพอใจและจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการและ ผลกำไรย่อมปรากฏตามมา เป็นสายเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงธุรกิจและคนพีอาร์ ยิ่งหากได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนพีอาร์รายนี้แล้ว ดูเหมือนความเป็น พีอาร์เบอร์หนึ่งของประเทศ จะไปด้วยกันไม่ได้เลยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เพื่อนของผมคนนี้ เขาเคยเป็นนักข่าวที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทพีอาร์แห่งหนึ่ง (เขาบอกว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ) เขาเล่าต่อ คำสำคัญ (key words) ที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ การเพิ่มอุปสงค์ (demand) เงิน (money) ความคิด (ทั้ง thought และ idea) การบริการ (service) ดีที่สุด (the best) การท้าทาย” (challenge) “การสร้างสรรค์ (creativity) และอีกสารพัดในคลังศัพท์ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระตุ้นพลังให้แก่พนักงาน ทุ่มเทศักยภาพให้แก่ภารกิจเบื้องหน้า

ไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าแรงกระตุ้นดังกล่าวได้ผลเพียงใด ที่แน่ๆ หากต้องการร่วมงานและเงินเดือนจากบริษัทพีอาร์แห่งนี้ พนักงานหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนคนนี้ จำเป็นต้องเพิกเฉยต่อจริยธรรมภายในใจ แขวนพักคุณธรรมชั่วคราวทิ้งไว้ที่บ้าน แสร้งเป็นไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน ไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ขณะอยู่ที่ออฟฟิศ

และเป็นที่รู้กันในวงการพีอาร์ว่า คอนเนคชั่น (connection) คือองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะกับ นักข่าว และพื้นที่บนสื่อ ล้วนเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งสำหรับคนพีอาร์

ปริมาณเนื้อข่าว (Coverage) ที่ปรากฏสู่สาธารณะคือดัชนีชี้วัดผลงาน หากทำงานหนัก แต่ไม่มีข่าวของตนได้รับการประชาสัมพันธ์หรือตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ความทุ่มเททั้งหมดย่อมไร้ความหมาย เพราะไม่อาจสร้างความพึงใจให้แก่ลูกค้า อันอาจนำมาซึ่งการสูญเสียลูกค้าและรายได้ รวมทั้งชีวิตการงานในอนาคตของคุณด้วย

ด้วยความบังเอิญ เพื่อนคนนี้คืออดีตนักข่าวคนเดียวในบริษัท เขาจึงมักถูกเรียกตัวบ่อยๆ ในภารกิจลับที่ต้องอาศัยคอนเนคชั่นส่วนตัวเป็นประตูสู่ข้อมูล ดังเช่น การล้วงความลับของความสัมพันธ์ระหว่างคู่แข่งของลูกค้ากับหนังสือพิมพ์บางฉบับ การสืบเสาะเจาะหาข้อมูลเฉพาะด้าน หรือขอความคิดเห็นจากเพื่อนนักข่าวด้วยกันเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ลูกค้าธนาคารข้ามชาติ (ที่นี่เรียก การวิจัย) รวมทั้งการแอบหลอกถามความในใจของเพื่อนๆ นักข่าวด้วยกัน เพื่อนำไปรายงานสรุปคาดการณ์ข่าวที่น่าจะปรากฏในพื้นที่สื่อ

เสร็จภารกิจยังต้องรายงานวันเวลาการติดต่อเพื่อนนักข่าว ชื่อ-นามสกุล พร้อมประเด็นที่พูดคุยกัน ส่งออนไลน์ตรงไปยังหน้าจอของลูกค้าต่างประเทศ ทำเช่นนี้เป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ ราวกับว่าลูกค้าจะโล่งอกที่ได้ล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า พร้อมมีรายชื่อผู้สื่อข่าวและเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออยู่ในมือ

สำหรับคนพีอาร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า นับเป็นงานบริการอย่างหนึ่ง ยิ่งเป็นพีอาร์เบอร์หนึ่ง ลำพังเพียงทักษะการชวนสนทนาปราศรัยกับผู้สื่อข่าวไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรือเรื่องหนักใจแต่อย่างใด

ความกระอักกระอ่วนใจในบทบาทระหว่างเพื่อนกับพีอาร์จึงเริ่มปรากฏ บางครั้งบางคราว เขาเองก็จำต้องแปลงกายจากพนักงานพีอาร์เป็นผู้สื่อข่าวตัวปลอม สวมรอยจำแลงเป็น นักข่าวจำเป็น ในงานแถลงข่าวของลูกค้าบริษัท เป็นกระทั่งหน้าม้าในการตั้งคำถามเพื่อสร้างบรรยากาศ (เรียกกันสั้นๆ ว่า ผี) ขอเพียงลูกค้ารายนั้นไม่เคยเห็นใบหน้าของเขาในที่ทำงานมาก่อนเป็นพอ นี่ยังไม่นับรวมผีสางไร้ศาลอีกหลายตัวที่ถูกจ้างมาเฉพาะกิจ ซึ่งทำให้ผมนึกถึงการจ้างผู้ชุมนุมและจ่ายเงินซื้อเสียงอย่างที่เราๆ ท่านๆ เคยได้ยินกันมา

และหากเป็นไปได้ ไหนๆ ก็แสร้งไปทำข่าวแล้ว การเขียนเรื่องส่งไปฝากตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางสำนักย่อมถือเป็นการจุนเจือช่วยเหลือบริษัทเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเป็นดอกผลที่บริษัทและลูกค้าปรารถนา

คนพีอาร์บางรายที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเข้ากับคุณสมบัติที่เกริ่นมา พวกเขาจะปราศจากความรู้สึกผิดใดๆ ต่อพฤติกรรมดังกล่าว ซ้ำยังเชื่อด้วยว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หากผิดไปจากนี้ ไม่ใช่คนพีอาร์ ทำราวกับว่า มิติของงานประชาสัมพันธ์มีได้แบบเดียว ไม่มีอื่น

ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกับนักข่าวและลูกค้า ภาษาที่ฟังดูไพเราะเสนาะหู น้ำเสียงซึ้งหวาน เสียงหัวเราะที่เรียกอารมณ์ขันได้เป็นอัตโนมัติ และหมดลงทันทีที่จบคำสนทนา

การชวนพูดคุยวกไปวนมา แลดูเอาอกเอาใจอยู่ในที คือลักษณะทั่วไปของคนพีอาร์ประเภทนี้ ซึ่งนานวันเข้า บุคลิกภาพดังกล่าวได้กลายเป็นมาตรฐานวิชาชีพ เป็นภาพลักษณ์ที่คนพีอาร์รุ่นใหม่เห็นและเชื่อว่านี่คือ คนพีอาร์ ที่หากพวกเขาอยากจะเป็น ต้องปรับตัวให้กลมกลืนเข้าไปในเนื้อตัว

คนอาชีพพีอาร์หลายคนปรับตัวได้สำเร็จจนแยกไม่ออกระหว่าง การแสดง (performance) ในช่วงเวลาทำงาน กับ ตัวตน ของเขาในชีวิตจริง

สงสารก็แต่พวกที่ปรับตัวไม่ได้อย่างเพื่อนของผมรายนี้ ตัวเขาถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาในหมู่คนพีอาร์ ถูกกล่าวหาด้วยคำล้าสมัยว่าเป็นพวก ต่อต้านทุนนิยม” (anti-capitalism) ด้วยไม่มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งทุกประการ

ก่อนหน้านี้ ความตั้งใจของเขาคือการเข้ามาเปลี่ยนทัศนคติการทำงานประชาสัมพันธ์ให้มีมิติที่หลากหลายและกว้างขวาง เป็นพีอาร์อาชีพที่มีศักดิ์ศรี ไม่เห็นแก่ตัว

ผมเห็นใจเพื่อน และมองเห็นหลุมพรางที่คนพีอาร์สร้างขึ้น พีอาร์คือช่างผู้ชำนัญการในการสร้างภาพลักษณ์ รวมทั้งผู้อุปโลกน์ข่าวและมายาคติได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ขัดเขิน คุณสมบัติข้อนี้ ไม่มีใครปฏิเสธ แต่คนพีอาร์ผู้ปราดเปรื่องก็สามารถปันน้ำใจ แบ่งความสุขและความเจริญรุ่งเรืองของตนออกสู่สังคมที่ตนประกอบธุรกิจได้

ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจหลายแห่งเริ่มขยายบทบาทจากการเป็นผู้บริจาคมาเป็นผู้ประกอบธุรกิจกับสังคมมากขึ้น บริษัทแวดวงคนพีอาร์ย่อมเคยได้ยินคำนี้ หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) เพราะเป็นกระแสที่มาแรงและทรงพลังในการสื่อสารการตลาด ที่จริง คนพีอาร์เองก็ใช้คำนี้อยู่เรื่อยๆ ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ถึงแม้พวกเขาอาจเข้าใจความหมายของ CSR คลาดเคลื่อนไปบ้างก็ตามที

น่าเสียดายที่คำตอบจากพีอาร์เบอร์หนึ่ง ทัศนคติของผู้นำในอุตสาหกรรมธุรกิจสื่อสารประชาสัมพันธ์ในสังคมไทยจะตอบรับกระแสข้างต้นด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น ต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่าการให้สังคม การทำธุรกิจกับสังคม สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่บริษัทพอๆ กับที่ได้จากการทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่... หากพิสูจน์ได้ เมื่อนั้น เราถึงค่อยมาคุยกัน”…


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ


วันจันทร์, พฤศจิกายน 12, 2550

ในยุคมืด







เวลาดูหนังประเภทซุปเปอร์ฮีโร่ ดิฉันรู้สึกสนุกเพลิดเพลินไปกับจินตนาการ เครื่องไม้เครื่องมือ และความสามารถพิเศษล้ำโลก ที่เหล่ายอดมนุษย์ทั้งหลายนำออกมาใช้แก้ปัญหาสังคม และกู้วิกฤตโลก

ในภาคล่าสุดดิฉันประทับใจซุปเปอร์แมนที่ช่วยแบกเครื่องบินโดยสารที่กำลังจะตก เพราะถูกวางระเบิดวินาศกรรม หลายชีวิตรอดจากโศกนาฏกรรมนี้ หรือในคราวที่สไปเดอร์แมน และแบทแมนที่ช่วยจัดการกับเหล่าอาชญากรสติเฟื่องที่หาทางบ่อนทำลายความสุขสงบของมหานคร
เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเผชิญในตอนนี้และอนาคตอันใกล้ ดิฉันอดฝันไม่ได้ว่า จะดีเพียงใดหากเราจะมียอดมนุษย์ขึ้นมาจริงๆ

โลกของเรากำลังต้องการยอดมนุษย์ ทั้งหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่มากมาย ที่จะช่วยกันกอบกู้และสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่กว่านี้

ข่าวคราวภัยพิบัติโลกร้อนระอุขึ้นทุกที เปลือกโลกเคลื่อนไหวถี่ขึ้น ชาวไทยรู้สึกได้บ่อยขึ้นทุกวันโดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เพิ่มปริมาณระดับน้ำทะเล อากาศแปรปรวนผิดฤดู โรคระบาดหวนคืน เชื้อโรคแข็งแรงขึ้นในขณะที่ภูมิคุ้นกันของมนุษย์ถดถอยลง

ปัญหาปากท้องก็บีบคั้นหัวใจ ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นจนรายได้ไล่ตามไม่ทัน น้ำมันราคาสูงขึ้น ราคาน้ำดื่มก็แพงพอๆกัน มาม่าอาหารคนยากก็เขยิบราคา ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น

สังคมโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงของสงคราม นิวเคลียร์ ความรุนแรงการก่อการร้าย การเข่นฆ่ากันทั่วหัวระแหง พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า โลกปัจจุบันเป็นยุคแห่งความเกลียดชัง มนุษย์พร้อมที่จะทำลายล้างกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

ถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มหดหู่ใจถึงสิ้นหวัง แต่ดิฉันยังขอยืนยันว่า ในภาวะอึมครึมเช่นนี้ ชีวิตยังรื่นรมย์ได้และยังอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมรื่นรมย์กับชีวิตต่อไป

บางทีความท้าทายและปัญหาในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นแง่งามและความรื่นรมย์ของชีวิต

ในวงประชุมจิตวิวัฒน์เรื่อง “จิตวิญญาณกับการเมืองไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ผู้ที่ปวารณาตัวว่าเป็นนักอภิวัฒน์สังคม อย่างอาจารย์ ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์ พยากรณ์ว่ายุคมืดกำลังคืบคลานเข้ามาแล้ว แสงไฟเริ่มสลัว และอาจจะดับลงในไม่ช้า เราจำเป็นต้องตื่นขึ้นมารับรู้และยอมรับความจริงให้เร็วที่สุด เพื่อปรับตัวตั้งรับปัญหาความท้าทายต่างๆให้ทันท่วงที และถ้าเราทำได้ สิ่งนี้จะเป็นตะเกียงแห่งความหวังของเรา

อันที่จริง ความมืดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นความธรรมดาของโลก มีมืด ย่อมมีสว่าง เมื่อสว่างแล้วก็มืด หากเราตระหนักรู้กฎธรรมชาติธรรมดานี้ เราจะไม่โวยวายตื่นกลัวมากนักในคราวที่ความมืดมาเยือน หากจะสามารถยืนหยัดเผชิญกับรัตติกาลอย่างกล้าหาญและเปี่ยมด้วยความหวัง ว่าอีกไม่นานก็จะถึงคราวสว่างฟ้าแจ้ง และเมื่อคราวฟ้าใสเราก็ไม่ประมาทหลงระเริงใจ

ในประวัติศาสตร์โลก เมื่อยุโรปผ่านยุคมืดก็เกิดยุค Enlightenment คือยุคแห่งแสงสว่างและความรู้ ช่วงแห่งความมืดจะสั้น-ยาว จะหนักหน่วงหรือเบาคลาย ก็ขึ้นอยู่กับผู้คนในยุคนั้นว่า จะปรับตัว ปรับใจ และเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อขจัดความมืดออกไปโดยเร็วและสร้างสรรค์สิ่งดีกว่าในอนาคต หรือในทางตรงกันข้ามทำให้ความมืดนั้นเย็นเยือกยาวนานออกไปอีก

ความเจริญทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์บีบให้โลกใบนี้เล็กลง เกิดปัญหาเหลื่อมทับ ซับซ้อนมากขึ้นโยงใยไปทั่วโลก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราทั้งหมดต้องเผชิญร่วมกัน
ในสถานการณ์เช่นนี้ มนุษย์ธรรมดาไม่อาจแก้ปัญหาได้ แต่เราต้องการมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ จำพวกยอดมนุษย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาอันหนักหน่วงนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์เสนอ
และเราไม่ต้องร้องเรียก รอคอย ซุปเปอร์ฮีโร่จากที่ไหนเลย ยอดมนุษย์อยู่ในตัวเรานี่เอง

ความหมายของ “ยอดมนุษย์” ในที่นี้เป็นเรื่องเดียวกับ “ความเป็นมนุษย์ที่แท้” ที่ท่านพุทธทาสกล่าวถึงเสมอ มนุษย์ที่แท้สามารถผันชะตากรรมของโลกได้
มนุษย์คือผู้สร้างปัญหาและนักแก้ปัญหา คือผู้สร้างชะตากรรม และแปรเปลี่ยนชะตากรรม

พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวนำแสงแห่งปัญญาให้หลายชีวิตมากว่า 2500 ปี ธรรมที่ท่านนำมาสอนบอกกล่าว ทำให้ล้านๆชีวิตเข้าถึงศานติสุขภายในและรังสรรค์สันติภาพภายนอก อิทธิพลของท่านจะยังคงสืบเนื่องผ่านห้วงเวลาและสถานที่ต่อไป

คานธี ชายอินเดียร่างเล็ก ไร้อาวุธและตำแหน่งทางการเมือง สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าจักรวรรดินิยม และนำอิสรภาพสู่อินเดีย นำกระแสกระบวนการทางสังคมคือ อหิงสา จวบจนทุกวันนี้
ด้วยความเชื่อที่ว่า “เราต้องทำสิ่งเล็กๆด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่”

แม่ชีเทเรซานำความหวังมาสู่ชีวิตนับแสนในอินเดีย ท่านจัดหาอาหาร โรงเรียน สถานพยาบาล ศูนย์เด็กกำพร้า ที่พักพิงผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น
โลกของเราไม่เคยว่างเว้นจากยอดมนุษย์ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเราเพียงแต่พวกท่านยกระดับจิตใจตัวเองให้เป็นยอดมนุษย์ได้ และนี่คือหนทางแห่งความรอดของทั้งโลก และในเวลานี้เราจำเป็นต้องการเพิ่มขึ้นอีก

ท่านคานธีเคยกล่าวว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงโลก เราจำต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน อาจารย์ชัยวัฒน์ ขยายความต่อว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจ สภาวะภายใน ด้วยพลังสติ ความรักและกรุณา ความกล้าหาญ และพลังกลุ่ม

เราต้องตระหนักรู้ศักยภาพภายในว่า เราสามารถเป็นยอดมนุษย์ได้ และมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพิ่มพูนพลังแห่งสติ คือการรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไปทำไม เราคือใคร และอยู่ไปเพื่ออะไร

บ่มเพาะความรักและกรุณา ขยายใจเราให้ใหญ่ขึ้นไปไกลกว่าขอบเขตของตัวตน ปัญหาหลายอย่างที่เราเผชิญมาจากการที่คนเราโดยมากเห็นแก่ตัวเองเป็นหลัก คำนึงถึงผู้อื่นและส่วนรวมน้อย
เราเห็นแก่ความสะดวกสบาย บริโภคถุงพลาสติก “ไม่เป็นไร ไม่แพง” แต่เรากำลังทิ้งภาระให้โลกข้างหน้าเป็นร้อยๆปี เราเห็นแก่ความร่ำรวยมากเกินพิกัด เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สังคมเป็นทุกข์ ถ้าหากเราต้องการรอด เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด หันมาเห็นข่ายใยความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงชีวิตของเรากับสิ่งอื่นๆ เราสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร เราสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างไร เราสัมพันธ์กับครอบครัว เราสัมพันธ์กับสังคมชุมชนอย่างไร เราสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร
คำตอบ คำนิยามที่เราให้ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งต่างๆ รวมทั้งท่าที วิถีปฏิบัติของเราจะกำหนดรูปแบบของชีวิต ทางแก้หรือ ทางตันของปัญหา

ความกล้าหาญและอดทนที่จะน้อมรับความจริงและเผชิญหน้ากับความท้าทายของปัญหา และลงมือปฏิบัติการ ความคิดและคำพูดเป็นความเชื่อ จินตนาการที่รอคอยการพิสูจน์ การเรียนรู้ที่แท้เกิดจากการลงมือทำ ลงมือปฏิบัติจนเห็นแจ้ง

ยิ่งเรายอมรับความจริงเร็วเท่าไร เราจะปรับตัวเพื่อเผชิญกับปัญหาได้เร็วและดีขึ้นเท่านั้น ระยะเวลาความมืดจะสั้นลง แต่ถ้าเราหนีปัญหา ไม่ยอมมองหรือหลอกตัวเองว่าเรายังอยู่ในยุคทอง ซึ่งจะอยู่ยั้งยืนยง เราอาจเป็นเหมือนไดโนเสาร์ที่ปรับตัวได้ช้าและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ที่สำคัญ ยอดมนุษย์เพียงคนใดคนหนึ่งไม่สามารถช่วยเราได้ เราไม่อาจทิ้งความรับผิดชอบของเรา แล้วโยนภาระการกอบกู้โลกไปให้ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเรายกให้เป็นวีรบุรุษ นั่นเป็นความหวังที่ไม่ยั่งยืนเท่าไร เราต้องอาศัยการผนึกกำลังของยอดมนุษย์หลายๆคน หลายๆศักยภาพที่แตกต่างหลากหลาย
และนี่หมายความว่า เราต้องยกระดับตัวเองขึ้นเป็นยอดมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวตน แต่เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิต สังคมและโลกที่ให้เราได้อาศัย

มีคำกล่าวว่า “ทางเกิดขึ้นเมื่อเราออกเดิน” ถึงเวลาแล้วกระมังที่เราแต่ละคนต้องเริ่มเดิน เพื่อสร้างทางให้ตัวเราและลูกหลานในอนาคต ให้พวกเขามีโลกและชีวิตที่น่ารื่นรมย์


กรรณจริยา สุขรุ่ง

วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2550

ดูนก ย้อนดูใจคน

ช่วงปลายฝนต้นหนาว สายลมเย็นโชยทุกยามเช้า ชวนให้ผมคิดถึงการเดินดูนกในป่าเขากับอาจารย์ผู้ใหญ่ใจดี “บัณฑิต ผดุงวิเชียร”
ท่านเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ครูผู้สอนผมดูนก หัดวาดเขียน และดูหัวใจตนเอง

ภาพของชายวัยเกษียณคล้องกล้องส่องทางไกลขนาดกระชับมือเดินย่างในป่าเขาในความสงัด สายตาที่มองทอดไกลบนยอดไม้ ลึกเข้าไปในพงพุ่ม พร้อมประทับกล้องคู่กายขึ้นส่องทุกวินาที ยังคงเป็นภาพที่ติดตรึงภายในใจ
เรามักเดินทางเป็นกลุ่มคณะที่ไม่ใหญ่นักเพื่อความคล่องตัวและไม่เป็นการรบกวนหมู่นกมากนัก ทุกคนมีจุดหมายร่วมกัน นั่นคือ การได้ทักทายเพื่อนร่วมโลก ทั้งผู้ผ่านทางและเจ้าบ้าน ได้ฟังเสียงใสๆ ไพเราะ ซึ่งบ่อยครั้งก็แปลกหู รวมทั้งยังได้ชมสีสันความงามของพวกมันใกล้ๆ รวมทั้งท่าทางและลีลาการโบยบินที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์
คณะของพวกเรามีทั้งช่างภาพและจิตรกร คุณครูและนักเรียน มืออาชีพและสมัครเล่น ทุกเช้าก่อนอาหารมื้อแรก พวกเราจะออกกำลังเบาๆ ด้วยการเดินช้าๆ และเงียบเสียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากใครพบเห็นนกก็จะเรียกเพื่อนๆ ด้วยเสียงกระซิบ ด้วยอาการสงบ บอกตำแหน่งเทียบกับเข็มนาฬิกาแทนการชี้นิ้ว (ซึ่งมักทำไม่ได้ง่ายนัก ด้วยตื่นเต้นเมื่อได้พบเห็น)
อาจารย์สอนว่า หากเรายกแขนขึ้นชี้นิ้ว เพื่อนเราบนพุ่มไม้อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นลำกล้องปืนไฟ สัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายและการจากพราก
เวลาผ่านไปพอเหงื่อซึม แสงแดดเริ่มแผดกล้า นกน้อยเริ่มกลับรัง พวกเราจึงรู้ว่าได้เวลาอาหารมื้อเช้า
ช่วงเวลาดูนกที่ดีที่สุดคือ รุ่งเช้าและยามเย็น ที่เหลือคือ “บทสนทนา” และอื่นๆ
ที่จริง การดูนกคือเป้าหมายของเรา ไม่มีใครปฏิเสธ แต่บทสนทนาหลังจากกิจกรรมดูนกกับอาจารย์บัณฑิตและมิตรสหายร่วมคณะก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
หลังอาหารมื้อเช้า “อาจารย์ดูนก” เริ่มชวนคุยตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระ ข่าวสารบ้านเมือง ผสมคำคมและหยอกด้วยอารมณ์ขัน ช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยของอาหารที่เพิ่งทานเข้าไปได้ไม่น้อย
หากหมดเรื่องคุย หมดมุข หรือหัวเราะจนพอใจแล้ว สมาชิกบางรายก็จะเริ่มปลีกตัว จับปากกา เหลาดินสอมาขีดเขียน ทั้งรูปนกและบรรยากาศรอบๆ ที่พัก ขณะที่บางรายขอตัวไปนอนต่ออีกนิด ด้วยอาการง่วงซึมยังคงรุมเร้าร่างกายไม่หาย
หันไปเห็นอีกรายเดินกลับไปที่เต้นของตัวเองเพื่อหยิบสมุดบันทึกประสบการณ์มาจดจารอย่างตั้งใจ คงเกรงว่าจะลืมถ้อยคำสอนและข้อคิดที่ผุดขึ้นภายในระหว่างการเดินทาง หนึ่งในนั้นก็คือตัวผมเอง
หรือบางรายที่อุตส่าห์แบกสัมภาระสะพายกล้องถ่ายภาพลำโตมาเต็มกระเป๋า กลุ่มช่างภาพเหล่านี้มักปลีกตัวแยกออกไปเข้าป่าลึก โดยหวังจะได้เก็บภาพถ่ายนกน่ารักๆ ไม่ก็ชนิดที่ใจหมายมั่นนำภาพกลับบ้านแทนความทรงจำ
การมาดูนกกับอาจารย์บัณฑิตและคนรักธรรมชาติเหล่านี้น่าสนใจ พวกเราไม่เกร็งกับการดูนก ไม่คาดหวังจนกังวล ไม่วิตกกับภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาในพงไพร หากไปไม่ถึงที่หมายด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ถนนเสียหาย และฝนตกหนักจนไปต่อไม่ได้ เราก็พอใจกับจุดที่เราอยู่ กับสถานการณ์และเงื่อนไขที่อำนวย ณ ขณะนั้น
ว่าไปแล้ว ผมเองเริ่มจับดินสอมาวาดเขียนอีกครั้งก็ได้แรงยุมาจากการดูนกกับผู้เฒ่าท่านนี้ ครูสอนวาดภาพให้วิทยาทานแก่ผมมากมาย อาทิเช่นบทเรียนที่ว่าการวาดเขียนจะทำให้เราฝึกฝนที่จะจดจำในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ การดูนกก็เช่นกัน ทุกครั้งที่เห็น ขอให้เราฝึกสังเกตรูปร่างหน้าตา ขนาดลำตัว จงอยปาก สีขน จำนวนขา กิริยาอาการ ท่าทางการเดิน การกระโดด การเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งแต่ละตัวจะมีบุคลิกนิสัยเฉพาะไม่เหมือนกัน แม้ว่ามันจะเป็นชนิดหรือสายพันธุ์เดียวกัน
คำสอนดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงข้อคิดที่ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า ความจริงแล้ว ศักยภาพความจำของคนเรามีอยู่สูงมาก เพียงแต่เราละเลย ไม่ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงสูญเสียศักยภาพในส่วนนี้ไป ซึ่งศิลปินหรือนักเขียนอาชีพมักมีคุณลักษณะข้อนี้เด่นชัดกว่าคนทั่วไป
อาจารย์บัณฑิตเองที่เติบโตมาในวัฒนธรรมการศึกษาจากรั้วศิลปากรก็เคยผ่านการเรียนรู้ทำนองนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งครูสอนศิลปะในดวงใจของท่านก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก “อาจารย์ศิลป” ของลูกศิษย์นั่นเอง
นกแต่ละชนิดจะมีแหล่งพักพิงต่างกันไป บางชนิดอาศัยอยู่บนยอดไม้ บางพันธุ์หากินตามพื้นดิน ริมน้ำ ในป่าชายเลน และทะเลสาบ กระจายแหล่งอาหารและที่พักพิง ไม่เบียดเบียนกันและกัน แต่พึ่งพิงกัน
คงเคยได้ยินเรื่องราวของนกเงือกใช่ไหมครับที่ว่า หากนกตัวผู้ที่ไปหาอาหารตายไป ลูกนกและแม่นกที่ทำรังอยู่ในโพรงไม้ยอดสูงก็จะต้องตายตาม เพราะขาดอาหารจากพ่อนก เรื่องราวของนกแพนกวินจักรพรรดิที่ขั้วโลกเหนือก็คล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะของเรายังบอกด้วยว่า ไม่ใช่คนเราเท่านั้นที่คิดว่าได้ดูนก บ่อยครั้งทีเดียวที่นกก็พากันมาดูพวกเราเช่นกัน ผมเองจำได้แม่น คราวไปพักที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเราไปถึงที่พักในเวลาเย็น เราไม่เห็นอะไรเลย ซึ่งต่างจากเช้าวันต่อมาที่หมู่ปักษาพากันส่งเสียงเจื้อยแจ้วระงมหน้าเต้นที่พัก พวกมันต่างบินมาดูพวกเรา พวกมันคงสงสัยในพฤติกรรมแปลกๆ ของมนุษย์ แต่อย่างน้อย การมาปรากฏกายของฝูงนกสารพัดชนิดนับว่าไม่ได้ทำให้พวกเราเสียเที่ยวหรือผิดหวัง เพราะถือว่าได้เห็นพวกมันมาอวดโฉมความงามให้เราได้ชมสมปรารถนา เก็บภาพและบันทึกความทรงจำไว้แล้ว
การดูนกเพื่อย้อนดูใจตนจึงควรมองให้ไกลด้วยหัวใจเปิดกว้าง มองให้เห็นการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตอย่างลึกซึ้ง สัมผัสธรรมชาติรอบข้างไปพร้อมๆ กับนกน้อยที่เราเห็น หากดูนกได้ดั่งนี้ จิตใจของเราจึงจะสงบ ได้นิ่งเงียบ เพื่อฟังเสียงภายในของใจเรา
ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตามุ่งหน้าแต่เพียงดูนก สิ่งที่เราเห็น อย่างมากก็เพียงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิชาสัตว์ปีก พิสูจน์ความจริงที่ระบุไว้ในตำราที่มีคำบรรยายวงจรชีวิตและพฤติกรรมไว้เบ็ดเสร็จ โดยที่เราจะไม่ได้เรียนรู้ส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ไม่เข้าใจบริบทและสภาพแวดล้อมของชีวิตนก ขาดญาณทัศน์ มองไม่เห็นองค์ประกอบแวดล้อมของชีวิตอื่นและตัวเราเอง
หากเราดูนก แต่เห็นมากกว่าตัวนก เราก็จะเห็นการเชื่อมโยงของชีวิต ไม่เขินอายหากต้องกลับมาย้อนถามเพื่อตรวจสอบความนึกคิดของตัวเราเอง
การพักผ่อนหย่อนใจไปกับกิจกรรมการดูนกและบทสนทนาอย่างผ่อนคลาย นอกจากจะได้พักกายแล้ว เรายังได้รับความรู้ความเข้าใจในชีวิตของสัตว์โลกตัวน้อย ได้รับประสบการณ์ที่แบ่งปันกัน ผ่านมุมมองและความคิดความเห็นระหว่างการเดินทาง
ผมนึกถึงคำของศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตและสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ท่านอาจารย์เคยรจนาไว้ทำนองว่า
ชีวิตนกต้องการแค่เพียงที่เกาะบนยอดไม้ แล้วทำไมมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ จึงต้องการอะไรมากกว่านั่น...


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

ศิลปะสร้างสุขในชีวิตประจำวัน


เย็นวันหนึ่งขณะกำลังนั่งๆนอนๆในห้องคอนโดชั้น ๔ ข้าพเจ้าเหลือบมองออกไปนอกห้องผ่านประตูกระจกบานใหญ่ เห็นท้องฟ้ายามเย็นงามจับใจ แสงส้มขลิบขอบเมฆเป็นเส้นสายดูบางเบา บางที่แสงสีแสดป้ายระบายเมฆเป็นคลื่นบนฟ้า ข้าพเจ้าไม่อาจละสายตาจากความงามเบื้องหน้าได้ ต้องวางภาระกิจการงานทุกอย่างลง เปิดประตูออกไปนั่งแช่ตรงระเบียงเพื่อชื่นชมสีสันของสนทยายามเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆจนความมืดเข้าครอบคลุม
ความงามและสุนทรีภาพสะกดตาและใจมนุษย์ได้เสมอ ความงามในธรรมชาติทำให้ใจสงบสุขโดยง่ายไร้การบังคับ ข้าพเจ้านึกถึงคำของวิปัสสนาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยกล่าวว่า “ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ” ธรรมชาติมีกลวิธีเชื้อเชิญเราเข้าสู่สภาวะสมาธิได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพยายามให้มากเลย เพียงแต่เราต้องหยุดตัวเองบ้าง ช้าลงหน่อยเพื่อชื่นชมความงามเล็กๆน้อยๆในชีวิต
เมื่อมองความงามภายนอกแล้วหันกลับมาดูใจนิดหนึ่งว่าเรารู้สึกอย่างไร ใจของเราเป็นอย่างไร เราคิดอะไรอยู่หรือไม่ สำรวจกายและใจว่าสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่เรากำลังชื่นชมอยู่อย่างไร บางทีเราอาจจะเห็นภาพอันสวยงามนั้นปรากฏในใจเราเหมือนภาพถ่ายและภาพวีดีโอ
ข้าพเจ้าคิดเล่นๆว่า การเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างเนิ่นนานนี้เป็นกระบวนการทางศิลปะอย่างหนึ่งด้วย คือ งานถ่ายภาพด้วยเลนส์ใจนั่นเอง
ในแต่ละวัน เราน่าจะให้เวลา“ตื่นตาตื่นใจ”กับธรรมชาติอย่างน้อยวันละหนึ่งอย่าง เมื่อเห็นดอกไม้เราอาจจะหยุดและใส่ใจมองดอกไม้นั้นอย่างเต็มที่สักระยะ ลอกสีสันดอกไม้ไว้ในใจ หรือเมื่อเห็นเม็ดฝนตกกระทบบานหน้าต่าง เราจะนั่งมองลายเส้นใสๆที่ไหลย้อยลงมาเป็นลายที่มิอาจคาดเดา เพื่อนคนหนึ่งเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยว่า เขาเคยเฝ้ามองใบไม้ที่ปลิดปลิวจากกิ่ง ค่อยๆลิ้วลู่ตามลม แฉลบไปมาอย่างช้าๆจนกระทบพื้น ในขณะนั้นเอง เวลาดูเหมือนจะหยุดนิ่งและทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง
เปิดตา เปิดใจแล้วเราจะสัมผัสศิลปะแห่งความสุขเช่นนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา ยิ่งทำบ่อยยิ่งเกิดสุข สุนทรียภาพ และสมาธิในใจ
กระบวนการศิลปะแบบนี้คงกระตุ้นให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาลองรังสรรค์ “ศิลปะในใจ” ดูบ้าง อันนี้เหมาะกับหลายคนที่คิดว่าตนไม่มีพรสวรรค์หรือทักษะทางศิลปะที่ทางโรงเรียนโดยมากให้คุณค่า แต่กระนั้น การสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการพัฒนาความสุขและคุณภาพของจิตใจก็ใช่เป็นสิ่งยากเกินเอื้อม โดยเฉพาะหากเราให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าผลงานที่แล้วเสร็จ
แค่การลากเส้นก็ทำให้เกิดความสุขได้แล้ว
วันหนึ่งข้าพเจ้าพบกับนักศิลปะบำบัดจากประเทศฮอลแลนด์ชื่อ ซาบีน่า เธอบอกให้ข้าพเจ้าหยิบสีเครยอนขึ้นมาหนึ่งแท่ง ลากเส้นเป็นรูปตัวยูประมาณกึ่งหนึ่งของหน้ากระดาษ ส่วนเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามก็ทำเช่นเดียวกันแต่บนพื้นที่อีกครึ่งของกระดาษที่เหลือ จากนั้นเราลากเส้นซ้ำรูปตัวยูทวนเข็มนาฬิกาในขณะที่เพื่อนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามก็ทำเช่นเดียวกัน เราต้องขยายเส้นวาดรูปตัวยูของเราไปจนถึงอีกฝั่งของกระดาษ และต้องระวังไม่ให้มือของเราชนกัน
ภาพที่เห็นไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปตัวยูเป็นวงชั้นๆ ไม่ได้วิจิตรพิศดาลอะไร แต่ที่สำคัญคือช่วงที่เราลากเส้นไปมานั้น เรารู้สึกอย่างไร สำหรับคู่ของข้าพเจ้า เราสามารถวาดเส้นตัวยูไปตามมือ ตามใจของเราโดยไม่ชนกัน สำหรับข้าพเจ้ายิ่งลากเส้นยาวขึ้น ยิ่งรู้สึกสนุก อิสระและผ่อนคลาย ความเครียดกังวลที่มีอยู่สลายไปเลย ข้าพเจ้าค้นพบว่าบางทีในเวลาเครียดกังวล หยิบดินสอหรือสีมาสักแท่งแล้วลากไปเรื่อยๆ หรือลากยาวจากปลายกระดาษหนึ่งถึงอีกฝั่ง ก็อาจช่วยคลายเกลียวความวิตกได้บ้าง
กิจกรรมลากเส้นนี้ยังทำให้เราได้รู้จักตัวตนภายในอีกด้วย ชายคนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมนี้สะท้อนว่า “ผมลากเส้นไปโดยไม่ดูเลยว่าอีกฝ่ายอยู่ตรงไหนแล้ว ผมนำไปก่อนเลยเพราะต้องการทำให้ได้ตามที่ได้รับคำสั่ง อีกฝ่ายดูเหมือนต้องตามผมเอง แต่พอแขนเราชนกัน ติดขัดบ่อยขึ้น ผมเรียนรู้ที่จะช้าลง และดูจังหวะของคู่ทำงานของผมด้วย”
ภาพที่ปรากฏบนบนกระดาษบวกกับการหวนระลึกถึงความรู้สึกในขณะที่ทำ สะท้อนความโน้มเอียงของบุคลิกภาพภายในและพฤติกรรมที่เราอาจไม่เคยรับรู้หรือตระหนักชัดมาก่อน และการรู้จักตัวเองเช่นนี้เองที่จะนำเราไปสู่หนทางแห่งการแปรเปลี่ยน
ในการทำงานศิลปะแบบเน้นกระบวนการนี้ มือเป็นจุดเชื่อมไปถึงใจ ข้าพเจ้านึกถึงการทำงานปั้นครั้งหนึ่ง นักศิลปะบำบัดบอกให้ข้าพเจ้าปั้นดินน้ำมันในมือให้เป็นลูกกลมๆ จากนั้นบิออกเป็นเม็ดกลมเล็กๆ แล้วเอาเม็ดกลมเล็กๆนั้นมาแปะ ปะ เชื่อมเป็นอะไรก็ได้ที่มือและใจพาไป ทำไปเรื่อยๆจนกว่าดินน้ำมันลูกกลมใหญ่จะหายไปหมด ที่สำคัญห้ามใช้การวางแผน ขบคิด วาดภาพไว้ก่อนในการทำงาน
“การปั้นโดยไม่ใช้สมอง” ในครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเห็นก้อนทุกข์ที่ข้าพเจ้าฝังกลบอย่างมิดชิดในใจ ระหว่างนั่งบิดินน้ำมันและปะติดปะต่อเป็นรูปร่างอื่น ข้าพเจ้าหยุดชะงักเมื่อเห็นก้อนงานคล้ายลูกน้อยหน่า ตาของข้าพเจ้าเปียกแฉะ ก้อนที่จิตสำนึกดาดๆในสังคมทั่วไปต้องตัดสินว่าเป็นงานโง่งมไร้ความงามอย่างสิ้นเชิง ทำให้ข้าพเจ้านึกถึง “ก้อนมะเร็ง” ในเสี้ยววินาทีนั้นข้าพเจ้ารู้ทันทีว่าความเครียด ความหดหู่โดยไม่รู้สาเหตุในระยะสองอาทิตย์นั้นมาจากไหน เพื่อนของข้าพเจ้ากำลังป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายและเธอชื่อน้อยหน่า
อีกคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ได้โจทย์ให้ปั้นดินไปเรื่อยๆ โดยไม่คิด ให้ใจขึ้นรูปดินไปเรื่อยๆ สักพักดินที่อยู่ในมือข้าพเจ้าดูละม้ายคล้ายมดลูก สำหรับนักศิลปะบำบัดแล้ว รูปร่างที่ปรากฏไม่สำคัญเท่ากับว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น งานที่ปรากฏนำประสบการณ์ ความทรงจำ เรื่องราวและความรู้สึกอะไรมาให้ข้าพเจ้า สำหรับก้อนมดลูกนี้สะท้อนความกังวลของตนเองต่ออวัยวะที่เป็นปัญหาสุขภาพของข้าพเจ้าในเวลานั้น
การปั้นโดยไม่คิดหรือวางแผนผลงานไว้ก่อนทำให้บางอย่างที่เราเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกผุดปรากฏออกมา เมื่อเห็นปัญหา เราก็หาทางแก้ได้ตรงจุด
การทำงานทางศิลปะในลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่อยู่ในภาวะไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นักศิลปะบำบัดนำเอาการทำงานทางศิลปะให้ผู้ป่วยและเด็กที่ป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเพลิดเพลินและเยียวยาความทุกข์บางอย่าง อีกทั้งเราจะทราบถึงปมปัญหาบางอย่างที่เด็กหรือผู้ป่วยไม่บอกเรา
หญิงคนหนึ่งเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวและหดหู่ซึ่งอาจจะมาจากการที่เธอเป็นมะเร็ง เมื่อแรกที่มาเข้าร่วมกระบวนการศิลปะบำบัด เธอระบายสีน้ำด้วยสีสดใสแต่รูปทรงทุกอย่างมีเส้นกรอบชัดเจน นักศิลปะบำบัดช่วยแนะให้เธอผสมสีและป้ายสีผสมกันบ้าง เช่นท้องฟ้าก็ใช้สีหลายเฉดที่เกลื่อนๆกลืนๆกันก็ได้ หลายครั้งผ่านไป ภาพของเธอเปลี่ยน เส้นกรอบวางเขตแดนของสิ่งต่างๆเริ่มจางลง มีสีผสมมากขึ้น บุคลิกภาพเธอก็เปลี่ยนเช่นกัน เธอเริ่มเปิดตัวเองและสดชื่นมากขึ้น
ถ้าเรามองศิลปะเป็นเรื่องของวิธีการและกระบวนการหนึ่งเพื่อการพัฒนาจิตใจ สติ สมาธิ สรรสร้างความสุขและบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ หรือเยียวยาความเจ็บปวดทางกายและใจ เราสามารถเลือกกลวิธีทางศิลปะได้หลากหลาย ไม่ว่าจะลากเส้น ทำจุด ปั้น แปะกระดาษ ระบายสี แต้มพู่กัน คัดตัวอักษร เป็นต้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การปล่อยให้ใจและมือนำพาการสร้างสรรค์ไป ใช้การคิดวางแผนให้น้อย และในขณะสร้างสรรค์งานหมั่นสำรวจใจว่า รู้สึกอย่างไร งานนั้นกำลังบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราเอง

กรรณจริยา สุขรุ่ง
จากสารเพื่อนเสม

วันพุธ, ตุลาคม 24, 2550

อุบายขจัดโกรธ

อุบายขจัดโกรธ

เรื่องโกรธนี้สำคัญ โดยเฉพาะในโลกยุคนี้
เหตุการณ์ 9/11 กับอาคารแฝดเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ หรือ 28 เมษายน การสูญเสียที่กรือเซะ หรือที่ใกล้ตัวเราเข้ามาอีกนิดคือ การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในบ้านเราต่างกรรมต่างวาระ แม้แต่เรื่องราวความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างเหตุแห่ง “ความโกรธร่วม” ได้ทั้งสิ้น
หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ และ องค์ทะไลลามะ ทั้งคู่ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ “การจัดการ” ความโกรธ เล่มของท่าน ติช นัท ฮันห์ ที่จัดพิมพ์หลังเหตุการณ์ 9/11 (11 กันยายน) เป็นอันขายดีโดยบังเอิญ ส่วนของท่าน ทะไลลามะ คือเล่ม Healing Anger: The Power of Patience from a Buddhist Perspective ซึ่งจัดพิมพ์ในภายหลัง เน้นย้ำถึง “ขันติธรรม” เป็นโอสถเจือจางและรักษาความโกรธ
ในที่นี้ ดิฉันจะขออนุญาตเล่าถึงเฉพาะเล่มหลัง ด้วยเห็นว่ามีกุศโลบายดีๆ ที่กำจัดโกรธได้หลายวิธี ที่เหลือคือความมานะฝึกฝน เพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำๆ และมีวินัย
ลำพังเพียงท่องจำคำ “โกรธนั้น ไม่ดี” ก็ยังไม่ช่วยอะไร การจะขจัดความโกรธในใจได้นั้น ต้องอาศัยความอดทนเป็นยาบรรเทา
อุบายขจัดโกรธในหนังสือเล่มนี้ ท่านทะไลลามะอ้างอิงจากงานเขียนของท่าน สันติเทวะ อีกชั้น ท่านผู้นี้เป็นปราชญ์ เป็นคุรุผู้ใหญ่สายพุทธมหายาน งานชิ้นนี้ประกอบด้วยโคลง 134 บท เขียนในเชิงแสดงเหตุและผล รวมทั้งยกสมมติฐานและข้อโต้แย้งขึ้นมาอรรถาธิบายได้อย่างเฉียบแหลม จับใจผู้อ่าน
ขันติต้องเริ่มจาก “การเห็นโทษ” ของความโกรธ ถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน เราก็จะโกรธอยู่เรื่อยไป
หากเราลองนั่งนึกถึงสีหน้าของคนที่กำลังโมโห คนที่น่ารัก สดใส และอารมณ์ดีก็จะกลายเป็นคนไม่หน้ามองไปโดยปริยาย
ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องของคนที่โกรธกัน ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็เป็นเรื่องของคนที่เกลียดกัน สงครามอิรักก็เป็นเรื่องโกรธเกลียดกัน ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใส่อารมณ์โกรธากันในประเด็นปัญหาของประชาชนโดยลืมนึกถึงเด็กที่นั่งดูท่านเป็นตัวอย่างอยู่ที่บ้าน
ช่างน่าเศร้ายิ่งนัก เราเห็นตัวอย่างไม่ดีแล้วก็ต้องคอยตักเตือนตัวเอง บุญกุศลใดที่เคยทำมาเป็นอันสูญเปล่าเพียงชั่วพริบตาเพราะความโกรธ
นอกจากนั้น เรายังต้องเล็งเห็น “คุณประโยชน์” ของความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า ประโยชน์จากการไม่ได้รับความเป็นธรรม นั่นคือ หากมีผู้ปฏิบัติไม่ดีต่อเรา เราเองก็ต้องคิดว่าความทุกข์เล็กน้อยเหล่านี้คือโอกาสที่เอื้อให้เราได้ฝึกฝนตนเอง โดยเฉพาะความอดทนข่มกลั้น และที่ว่าความทุกข์เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็เพราะ จริงๆ แล้ว โลกนี้มีความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น นั่นคือ “การยึดติดอยู่ในวัฏสงสาร” การจะทนกับทุกข์ขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ก็ต้องหัดคุ้นชินกับความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ก่อน และถ้าไม่มีใครทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เราก็จะไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนตนเอง เพราะฉะนั้น ต้องมองให้เห็นข้อดีของความทุกข์เหล่านี้
และถ้ามองต่อไปว่าคนที่ทำร้ายเราก็มุ่งหวังให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรายิ่งเป็นทุกข์เดือดร้อนก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีให้เขาสมความปรารถนา และหากเป็นเช่นนี้ ความโกรธและเกลียดนั้นก็จะเป็น “ศัตรูตัวฉกาจที่แท้จริง” เพราะไม่ว่าจะใครก็ตาม ล้วนตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ตัวเราและกุศลของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องระมัดระวังไม่ปล่อยให้ความโกรธเกลียดของเราผุดขึ้นในใจ
ศาสนาพุทธนั้นเชื่อเรื่อง “กรรม” ที่เกิดจาก “เหตุปัจจัย” กฏอิทัปปัจจัยยตาและปฏิจจสมุปบาทย้ำว่า “ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้เอง” สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยอำนวยให้ปรากฏ การที่มีคนมาทำร้ายเราก็ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย ซึ่งบางครั้ง ตัวเราหรือคนที่ทำร้ายเราก็ไม่มีเจตนา
เช่นเดียวกับอาการเจ็บป่วยที่ไม่ได้มีเจตนาจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากผลของเหตุปัจจัยต่างๆ เป็นต้นว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากโมโหเชื้อโรคหรือร่างกายที่อ่อนแอก็ไม่ช่วยให้เราหายป่วยไข้แต่อย่างใด
ถ้าเขาทำร้ายเราก็เท่ากับเขาได้ทำอกุศลกรรมและเป็นเหตุปัจจัยของผลร้ายที่เขาจะได้รับในภายหลังอยู่แล้ว ในสถานการณ์เดียวกันนี้ ตัวเราเองต่างหากที่มีโอกาสประกอบกรรมดีด้วยการบำเพ็ญขันติบารมี และเราต่างหากที่ต้องเห็นใจเขาให้มาก เพราะเรามองเห็นผลกรรมในบั้นปลายของเขา
“ความเห็นอกเห็นใจ” คือ “ความกรุณา” ทั้งสองโอสถนี้จะช่วยเสริมความอดทนข่มกลั้นขจัดโกรธได้
และยิ่งหากเรายินดีที่ได้เห็นศัตรูมีความสุขหรือประสบความสำเร็จก็ยิ่งดี เฉกเช่นเป้าหมายของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
เนื่องจากมนุษย์ทุกชีวิตต้องการความสุข เขาย่อมมีสิทธิแสวงหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ตนเองได้ เช่น การที่เราให้การอุปถัมภ์การเงินแก่ญาติมิตร ถ้าเขาเหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้บนลำแข้งของตัวเอง เราก็ควรยินดี และการที่เขามีสุขเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นผลมาจากความดีของเรา แต่ถ้าเราคิดร้ายกับเขาสิ กลับจะทำให้กุศลของเราหม่นหมอง
อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ศัตรูของเราก็คือผู้มีพระคุณต่อเรา ทำให้เรามีโอกาสฝึกฝนตนเอง วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นอุบายที่ช่วยในการฝึกฝนเพื่อให้เรามีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ด้วยการใช้เพียง “ความคิด” หรือ “การคำนวณ” หรือ “การคิดเชิงเหตุและผล”
สุขภาพร่างกายแข็งแรง โภชนาการที่ดี การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจไม่พอ เราต้องพึ่งวินัยในกิจกรรมเหล่านี้ด้วย วินัยในการรับประทาน วินัยในการออกกำลังกาย การจะมีคุณภาพทางวิญญาณที่ดีต้องได้รับอาหารทางจิตวิญญาณและการบำเพ็ญญานไปพร้อมๆ กันด้วย
นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “การออกกำลังทางจิต”
ท่านทะไลลามะยืนยันว่า มนุษย์แต่ละคนล้วนมีจริตแตกต่างกัน ศรัทธา ความคิด และความเชื่อย่อมขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิถีการเรียนรู้
ที่เหลือคือ ความใจกว้าง ยอมรับความหลากหลายของทุกชีวิตและสรรพสิ่งในโลก หากเราเข้าใจดังนี้ ตัวตน และความโกรธของเราย่อมถูกขจัดให้ดับสูญไปโดยปริยาย

โพสต์ทูเดย์ // ชีวิตรื่นรมย์ // 23 ตค 50


ชลนภา อนุกูล
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com

วันพุธ, ตุลาคม 17, 2550

พลังชีวิตจากความหมาย

เพื่อนสนิทคนหนึ่งของดิฉันถูกขอร้องให้เป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษในงานนำเสนอโครงการสำหรับกระทรวงยุติธรรม เธอสารภาพภายหลังว่า ตอบตกลงไปอย่างงงๆ ไม่ได้ตั้งตัว และรู้สึกปฏิเสธไม่ได้

ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นที่เธอต้องเดินทางไปเป็นล่ามอาสานั้น เธอจึงดูหงุดหงิดเล็กน้อย ฉันมีงานตั้งกระบุงต้องทำให้เสร็จ น่าจะเอาเวลาไปทำงานของตัวเองหรือไม่ก็น่าจะได้นั่งเล่น นอนเล่น หรือพักผ่อนเพิ่มพลัง ทำไมต้องมาทำงานที่ไม่ใช่ธุระของตนด้วยเธอพร่ำพรรณนายืดยาวขณะเดินทางไปยังจุดหมาย

เมื่อต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายค่าแท๊กซี่ เธอก็บ่นต่อ แล้วยังต้องเสียเงินอีก โอ้ย! เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ฉันมาทำอะไรอยู่ตรงนี้นะ

คำถามนั้นดิฉันก็ตอบเธอไม่ได้เหมือนกัน อยากช่วยให้เธอคลายความหงุดหงิดใจบ้างเลยลองถามไปว่า สิ่งที่กำลังจะทำนี้มีความหมายอะไรบ้างไหม?

เธอนิ่งไปครู่ใหญ่ก่อนแลกเปลี่ยนว่า ถ้าผู้มาร่วมฟังโครงการรู้สึกสนใจนำศิลปะบำบัดไปใช้กับเด็กและเยาวชนที่พลาดพลั้ง กระทำความผิด เด็กเหล่านั้นจะได้รับการเยียวยาปัญหาภายในของเขา ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เขาน่าจะมีความสุขขึ้น และหากเขาเป็นคนที่มีความสุข เขาจะสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้แก่สังคมได้อีกมาก เธอตอบพร้อมรอยยิ้มบาน

และถ้าเด็กๆ มีความสุข สังคมก็น่าจะเป็นสุขขึ้น ฉันก็จะได้อยู่ในสังคมที่มีความสุข ความปลอดภัยขึ้น

ตาเธอเป็นประกายเมื่อพูดถึงตรงนี้ คำตอบที่ได้รับจากภายในทำให้เธอดูมีความสุขมากขึ้นทีเดียว แต่ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า เธอกำลังทำตัวเป็นมะนาวหวานหาเหตุผลดีๆ เพื่อเกลื่อนความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจดังกล่าว

ดิฉันเฝ้าสังเกตเธอในช่วงเวลาสองชั่วโมงกว่าที่เธอทำหน้าที่ล่ามอาสา ดิฉันเห็นพลัง ความสุข และความเบิกบานในตัวเธออย่างมาก ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดจากใจจริงๆ หรือเธอพยายามสร้างขึ้น มันก่อให้เกิดผลอันมหัศจรรย์ทีเดียว

งานลุล่วงไปด้วยดี เจ้าหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรมเปิดใจและให้ความสนใจแนวคิดเยียวยาเด็กและเยาวชนด้วยกระบวนการทางศิลปะ แม้จะไม่เกี่ยวอะไรกับเธอเลย แต่เธอก็รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

เธอไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แต่เธอได้รับความอิ่มใจและความสุขเป็นรางวัล

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ดิฉันหันกลับมาทบทวนว่า บางที มนุษย์อาจเป็นเผ่าพันธุ์ที่วิวัฒน์จากการกระเสือกกระสนเพื่อการอยู่รอด มาถึงจุดที่ต้องการแสวงหา ความหมาย ในการดำรงอยู่

ชีวิตเรามีความหมายอย่างไร เราเรียนหนังสือหรือทำงานไปเพื่ออะไรกัน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มีความหมายอย่างไรบ้าง

ในหนังสือเรื่อง อิสรภาพในค่ายกักกัน (Men’s Search for Meaning) ที่เขียนโดยจิตแพทย์ วิคเตอร์ แฟรงเคิล หนึ่งในเชลยในค่ายเอาชวิตช์ ได้เขียนเล่าประสบการณ์ภายในค่ายกักกันว่า เชลยอยู่รอดได้เพราะตระหนักรู้ความหมายของชีวิตว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร

สำหรับตัว ดร.แฟรงเคิล เมื่อแรกมาถึงค่ายกักกันเชลย เจ้าหน้าที่ได้ยึดต้นฉบับหนังสือที่เขาอุตส่าห์เขียนและพร้อมตีพิมพ์ไป เขาตั้งใจที่จะอยู่รอดเพื่อเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่ นี่คือความหมายของชีวิตในเวลานั้น และที่สุด จิตแพทย์ผู้นี้ก็อดทนฟันฝ่าความทุกข์และความโหดร้ายในค่ายนาซี ทั้งยังได้เขียนหนังสือเล่มนี้และอีกหลายเล่มในเวลาต่อมา

แม้กระทั่งการตายก็มีความหมายได้ ดร.แฟรงเคิล ยังเล่าด้วยว่า หลายคนยินดีที่จะตายเพื่ออะไรสักอย่าง พวกเขายอมตายเพื่อความหมายของชีวิต ผดุงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และคุณความดีบางอย่าง

การเห็นความหมายในชีวิตให้พลังความมุ่งมั่นที่จะอยู่ต่อและพลังที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า

มนุษย์ที่ตีกรอบตัวเองเป็นปัจเจกสูง ไม่ยุ่งเกี่ยวสัมพันธ์กับใครและสิ่งใดเลยจะรู้สึกโดดเดี่ยว และเป็นไปได้ว่ายากที่จะเห็นความหมายของตัวเอง เพราะความหมายเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่พ้นไปจากตัวเอง เช่น ชีวิตของพ่อแม่มีความหมายเพื่อลูก ครูมีความหมายต่อนักเรียน การประหยัดพลังงานมีความหมายต่อโลกและการอยู่รอดของทุกชีวิต การผลิตของใช้ดีๆ ให้ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุข การนำเสนอเรื่องราวดีๆ เป็นประโยชน์ ทำให้สังคมตื่นรู้มีปัญญาไปด้วยกัน

ดิฉันชื่นชมอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ท่านเห็นความเจ็บป่วยของท่านเป็น บทเรียนมีชีวิต ที่สอนนักเรียนแพทย์ได้ ท่านยกระดับความเป็นครูของท่านจากตำรา การปฏิบัติ มาสู่ความท้าทายจริงในชีวิต สอนจนลมหายใจสุดท้ายของความเป็นครู ดิฉันเห็นว่าท่านมีความสุขมากในภาวะเจ็บป่วยเพราะมันมีความหมายบางอย่าง

ความหมายอันยิ่งใหญ่นำพลังมหาศาลตามมาด้วย ยิ่งเราเห็นความหมายของสิ่งที่ทำเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ และเกิดประโยชน์พ้นตัวตนไปมากเท่าไร พลังในการสร้างสรรค์และความอึดต่ออุปสรรคปัญหาก็มากขึ้นเท่านั้น

หัวใจมนุษย์จะพองโตเมื่อรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวตน แต่น่าเสียดาย ปัจจุบัน น้อยคนที่จะหยุดวิ่งแล้วตั้งคำถามสำคัญนี้กับตัวเอง

ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายหลายคนเคยสะท้อนว่าในห้วงเวลานั้น เขารู้สึกสิ้นหวังในชีวิต คิดว่าชีวิตไร้ค่าและปราศจากความหมาย หรือคนที่ไม่เคยตั้งคำถามว่า สิ่งที่ตนทำนั้นมีคุณค่าและความหมายอย่างไร อาจเกิดผลในทางที่ไม่ใส่ใจทำ ประเภททำงานเช้าชามเย็นชาม หรือนักเรียนที่เรียนไปวันๆ เพราะไม่รู้ความหมายว่า การเรียนมีความหมายหรือก่อประโยชน์อย่างไรบ้าง

หากเด็กและเยาวชนหรือผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่ค่อยน่ารัก เห็นความหมายของตัวเอง ท่าทีนิสัยจะเปลี่ยนไป นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในยุคนี้มีการรณรงค์ให้หนุ่มสาวหันมาทำงานอาสาเพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ความหมาย และทำประโยชน์ให้ผู้อื่น

คราวหนึ่ง ดิฉันเคยถามเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งว่า เราจำเป็นต้องค้นหาความหมายชีวิตและสิ่งที่ทำด้วยหรือ เราทำชีวิตให้ยุ่งยากไปหรือเปล่าพี่ชายคนนั้นไม่ตอบ บอกให้ดิฉันค้นหาคำตอบกันเอาเอง

ดิฉันขบคิดหาคำตอบ ทั้งจากการคิดๆ การอ่านหนังสือ แต่แล้วก็ไม่ได้คำตอบที่ตรงใจ ในที่สุด ดิฉันก็ทิ้งความพยายามที่จะคิดเอาคำตอบ จนวันหนึ่ง รุ่นน้องที่ทำงานบ่นเรื่องการทำงานให้ฟัง เธอรู้สึกว่างานซ้ำๆ ไม่มีอะไรใหม่ และก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร นอกจากมีเงินเลี้ยงดูชีวิตไปวันๆ

ดิฉันฟังแล้วรู้สึกเศร้าไปด้วยกับเธอ สำหรับการทำงานในภาวะจิตแบบนี้ มนุษย์ก็ไม่ต่างไปจากหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิตชีวา

ความหมายคงไม่ใช่สิ่งที่จะตอบให้กันได้ และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปคำตอบเดียว ความหมายสัมพันธ์โดยตรงกับความรู้สึกลึกๆ ภายในใจ ไม่ใช่การขบคิดเชิงตรรกะ

การเป็นแพทย์มีความหมายอย่างไร

หากนักการตลาดถาม คุณค่าและความหมาย ของสิ่งที่ทำ การโฆษณาจะเป็นรูปแบบใด

หากนักการเมืองถาม ความหมาย ของการงานที่ตนพึงทำ พวกเขาจะเป็นอย่างไร

ลองถามใจตนเองอย่างจริงจังว่า ความหมายของงานที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร

คำตอบล้วนอยู่ที่ใจคุณเอง



โพสต์ทูเดย์ // ชีวิตรื่นรมย์ // 16 ตค 50

กรรณจริยา สุขรุ่ง
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
media4joy@hotmail.com

วันพฤหัสบดี, กันยายน 27, 2550

ชีวิตที่ ‘มีชีวิต’ อีกครั้ง *


ท้องฟ้าที่เคยมืดมิด
พลันสว่างสดใสขึ้นทันตา
เมื่อลมหายใจฉันกลับคืนมา
ปาฏิหารย์เกินฝันกลายเป็นจริง
= = = = = = = = =
ฉัน...ผู้ซึ่งความตายอยู่ชิดใกล้
บัดนี้ ได้รับชีวิตใหม่อีกครั้ง
พร้อมลมหายใจที่ยังดำรงอยู่
สู่ชีวิตที่ดำเนินต่ออย่างแท้จริง
= = = = = = = = =
มองดูฉัน มองดูฉันสิ
คนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคง
คนที่ก้าวเดินอย่างมั่นใจ
สง่างามดุจอินทรีกลางเวหา
นำพาชีวิตตัวเองสู่ความปรีดา
สู่สายธาราความสุขของผู้คน


สิ่งที่ฉันอยากแบ่งปันในวันนี้คือ บทเพลงสะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ของคนอีกกลุ่มที่ไม่เคยได้รับความสนใจและความเข้าใจอย่างแท้จริง แต่คุณรู้ไหม บางครั้งชีวิตของพวกเขาเข้มแข็ง สง่างามและมีคุณค่ามากกว่าพวกเราหลายคนเสียอีก ขอแนะนำให้รู้จัก “ผู้เปลี่ยนอวัยวะ” ด้วยความยินดียิ่ง
ผู้เปลี่ยนอวัยวะคนแรกที่ฉันรู้จักคือ แด๊ด เพื่อนรักที่มิตรภาพของเรายาวนานกว่า 15 ปีแต่เขาเพิ่งมาเป็นผู้เปลี่ยนอวัยวะประมาณ 8 ปีที่แล้ว เริ่มจากอาการปวดหัวรุนแรง ความดันสูง กลายเป็นโรคไตวายโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน หลังจากที่รับรู้อาการป่วย เรื่องที่เราสองคนคุยกันส่วนใหญ่คืออาการของผู้ท้อแท้ในชีวิต
ฉันได้ยินแต่เรื่องที่แด๊ดเล่าถึงการใช้ชีวิตอย่างทรมาน เบื่อหน่าย และท้อแท้ ตารางประจำวันเป็นเพียงการนั่งดูนาฬิกา ทำงานไม่ได้ เพราะต้องฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ออกจากบ้านแต่เช้า เดินทางด้วยรถเมล์คนเดียวไปนั่งฟอกเลือดหนึ่งวันเต็มๆ และเฝ้าคอยรถเมล์ว่างๆ เพื่อจะได้นั่งกลับบ้านหลังจากอ่อนเพลียจากการบำบัด
สำหรับแด๊ด เงินทุกบาทหมายถึงค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดรักษาลมหายใจ วันไหนโชคดีมีเงินมากหน่อยถึงนั่งแท็กซี่ได้ ฉันทำได้เพียงพูดปลอบใจ นานวันเข้า ฉันก็ทอดทิ้งเพื่อนที่กลายเป็นผู้ป่วยทั้งกายที่ทรุดโทรมและใจที่เจ็บปวด บางครั้งฉันอดนึกไม่ได้ว่า โรคร้ายนี้ทำให้คนที่ฉันรักกลายเป็นคนอ่อนแอที่สุดและฉันก็กลายเป็นคนใจร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำให้เราค่อยๆ ห่างกันไป
สองปีต่อมา ฉันย้อนกลับมาหาแด๊ดอีกครั้ง เมื่อรู้ข่าวว่าแด๊ดกำลังผ่าตัดเปลี่ยนไตที่น้องชายเสียสละให้ ครั้งนี้ ฉันได้เห็นแววตาแห่งความหวังของเพื่อนรักกลับมาอีกครั้งก่อนเข้าห้องผ่าตัด และเมื่อฟื้นจากการผ่าตัดไม่นาน ฉันได้เห็นอาการช๊อคและดิ้นอย่างทุรนทุราย พร้อมเสียงร้องโหยหวนของเขา
ฉันไม่รู้ว่าแด๊ดได้มอร์ฟีนไปเท่าไหร่เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ฉันรู้เพียงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันร้องไห้ด้วยเห็นปฏิกิริยาทรมานทุรนทุรายของร่างกายที่ต่อต้านไตใหม่
ผู้เปลี่ยนอวัยวะจำเป็นต้องทานยาเพื่อกดภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ร่างกายตนปฏิเสธอวัยวะใหม่นั้น และพวกเขาต้องมีวินัยในการทานยาทุกวันตลอดไป
ตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่เราพบกัน ฉันเลี่ยงที่จะไม่ถามที่มาที่ไปของไตใหม่ของเขา ฉันกลัวว่าเพื่อนอาจจะอายหรืออาจเข้าใจผิดคิดว่าฉันรังเกียจ ทั้งๆ ที่ยังมีคำถามคาใจฉันมาตลอดว่า ทำไมต้องรอนานถึงสองปีเต็มกว่าที่น้องชายของเขาจะตัดสินใจสละไตข้างหนึ่งให้เขา เพราะชีวิตอาจจบลงก่อนที่เขาจะได้ผ่าตัดเปลี่ยนไตด้วยซ้ำ
เมื่อความกล้าและโอกาสถามมาถึง คำตอบจากเพื่อนรักคนนี้ก็คือ เพราะตอนนั้น ไม่มีใครในครอบครัวเข้าใจเรื่องการรักษาโรคไตวาย ไม่มั่นใจในวิธีการรักษาด้วยการเปลี่ยนอวัยวะ เขาเล่าว่ามีคนใกล้ชิดเสนอตัวจะบริจาคไตให้เมื่อรู้ข่าว แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธ ไม่ยอมแม้แต่จะตรวจเนื้อเยื่อว่าตรงกัน สามารถให้อวัยวะแก่กันได้หรือไม่
“เรากลัวว่า ถ้าเราเอาไตเขามา เราอาจหายป่วย แต่คนที่ให้จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ไปตลอด เราไม่อยากรบกวนชีวิตใครขนาดนั้น” ถ้อยคำของแด๊ดอาจเป็นคำตอบเดียวกับของผู้ป่วยโรคไตอีกหลายคน
หลังจากที่แด๊ดได้ไตจากน้องชาย เขาไม่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดอีกแล้ว และทุกวันนี้ เขามีร่างกายแข็งแรง ทำงานอยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์อย่างที่ตัวเองใฝ่ฝัน ได้แต่งงาน มีครอบครัวที่อบอุ่นและลูกสาวที่น่ารัก ส่วนน้องชายก็มีสุขภาพดีและทำงานออกแบบในบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพี่น้องคู่นี้มีไตคนละข้าง ใครจะรู้ว่า ถ้าไม่มีไตของน้องชาย ชีวิตของแด๊ดวันนี้จะเป็นอย่างไร
แล้วชีวิตของผู้ป่วยคนอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องใช้วิธีรักษาด้วยการเปลี่ยนอวัยวะล่ะ
พวกเราทุกคนรู้ดีว่า วิธีรักษาโรคแตกต่างกันไปตามอาการ วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ขึ้นเรื่อยๆ โรคที่ร้ายแรงหลายโรค เราป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคบางอย่าง ร่างกายของเรารักษาได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง บางอาการต้องทานยา ทายา ฉีดหรือฉายรังสี ส่วนโรคภัยที่รุนแรงอาจต้องตัดบางอวัยวะทิ้งเพื่อรักษาชีวิตที่เหลือ
คนไข้บางรายที่อวัยวะในร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำงานผิดปรกติอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เราจะละเลยและบอกว่าพวกเขาโชคร้ายหรือ หากการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนอวัยวะคือคำตอบเดียวของพวกเขา
เมื่อฉันมีโอกาสร่วมงานในการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกที่ผ่านมา ฉันจึงรู้จักชีวิตของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นรู้ว่าโรคร้ายที่รักษาได้ด้วยการเปลี่ยนอวัยวะคือ โรคที่เกี่ยวข้องกับเยื่อแก้วตาทั้งสองข้าง ตับ หัวใจ ปอด ไต และไขกระดูก ซึ่งสองอย่างหลัง สามารถรับได้จากผู้ให้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จากญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เนื้อเยื่ออาจตรงกันมากที่สุด
ส่วนที่เหลือ ผู้ป่วยต้องลงชื่อรอรับบริจาคอวัยวะที่สภากาชาดไทย รอรับจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือจากเด็กและวัยรุ่นที่ประสบอุบัติเหตุจนสมองตายและผู้ปกครองยินดีบริจาคให้ ซึ่งแพทย์จะนำมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วยในบัญชีที่มีเนื้อเยื่อตรงกันและร่างกายที่พร้อมรับโดยเร็วที่สุด
ด้วยขั้นตอนและเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรอนานแรมปี บางราย ร่างกายทนรอไม่ไหว เสียชีวิตไปก่อนก็มี เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้ มักไม่มีใครอยากพูดถึงหรือได้รับการเล่าขานในพื้นที่สาธารณะ หากเปรียบอวัยวะใหม่เป็นดั่งโอสถ ไตของน้องชายแด๊ดที่สละให้พี่ชาย คือยาขนานเดียวที่ใช้รักษาอีกชีวิตที่ต่อให้โลกแห่งเทคโนโลยีก้าวล้ำแค่ไหนก็ไม่อาจสร้างขึ้นแทนกันได้
“การให้” อวัยวะเท่านั้นคือคุณค่าอันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต
ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเป็นสุข และเห็นคุณค่าที่งดงามของ “การให้” และ “การมีชีวิต”

* แปลจากเนื้อร้องภาษาอังกฤษโดยป้าเกรน เศรษฐพันธ์ ฝรั่งใจงาม เพื่อใช้ในระหว่างการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลก 2550 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนคำร้องและทำนอง แต่งโดยศิลปินชั้นเยี่ยมนาม ว.วัชญาน์ หรือพี่บ่วย หนึ่งในนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะทีมชาติไทยที่ฉันเคารพรักในน้ำใจ
สนใจรับข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ กรุณาติดต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
โทร.1666 หรือ สมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย โทร.0–2411–3776


ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 25 กันยายน 2550
วรภา เตชะสุริยวรกุล
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com

วันพุธ, กันยายน 05, 2550

เริ่มต้นจากโลกที่เราไม่คุ้นเคย



สุดสัปดาห์ของต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเราชาวสื่อสร้างสรรค์ (Happy Media) ได้มีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการกับกระบวนกรหนุ่มใจใสที่พนาศรม แถวศาลายา จังหวัดนครปฐม “ณัฐฬส วังวิญญู” สมาชิกแห่งสถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนโรปะ สหรัฐฯ
ณัฐฬส วังวิญญู ผู้นี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม HOST (Human Oasis Spiritual Transformation) ที่แตกแขนงมาจากสถาบันขวัญเมืองอีกทอดหนึ่งด้วย
การอบรมครั้งนี้เริ่มต้นด้วยลีลาของบัณฑิตหนุ่มที่ชวนพวกเราสนทนาด้วยหัวใจที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” (dialogue) จากนั้น จึงเริ่มร่ายความกระบวนการทำงานของสมองและการเรียนรู้ของคนเราว่าเป็นอย่างไร
คำแรกที่เราเรียนรู้คือ “โหมด” (MODE) ที่อธิบายถึง “พลังชีวิต” ของเราที่มีความไหลลื่นอยู่ตลอดเวลา หากพูดด้วยภาษาและไวยกรณ์ของวิชาชีวฟิสิกส์จะหมายถึง “การรับรู้” หรือ “การมองโลก” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สภาวะ ได้แก่ สภาวะปรกติ (normal mode) และสภาวะของการปกป้อง (defensive mode)
ณัฐฬส บอกกับเราว่า สภาวะแรก เป็นคุณลักษณะปรกติธรรมดาที่เราๆ ท่านๆ ปรารถนา นั่นคือ มีความปลอดภัย เติบโตและเรียนรู้ไปตามกาลเวลา หากเจ็บปวด ร่างกายและจิตใจก็จะทำการซ่อมแซม ฟื้นพลังด้วยตัวเองตามธรรมชาติ
ขณะที่อีกสภาวะ เซลล์จะทำหน้าที่ในการปกป้องตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ไม่กังวลหรือหวงความรู้ เป็นสภาวะของการแบ่งปันข้อมูลตลอดเวลา ยิ่งเราคิดเร็วเท่าไหร่ เร่งรีบเท่าใด เซลล์นี้ก็ยิ่งระแวดระวังเพื่อปกป้องตัวเองเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
นั่นหมายความว่า หากเราคิดและตีความเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเร็วเกินไป สำนึกแห่งการปกป้องที่ว่านี้ก็จะยิ่งรวดเร็วตามไปด้วย ทั้งนี้ อาจเพื่อต้องการเอาตัวรอด ซึ่งหากหวาดระแวงมากเกินไป บางทีก็อาจกลายเป็นอาการคิดมาก เป็นสภาวะแห่งการ “ปกป้องเก๊” ที่ติดแน่นกับกับดักทางความคิดในจินตนาการของตัวเราเอง
กระดานถัดมา เป็นเรื่องของ “สมองสามชั้น” ได้แก่ สมองชั้นในสุด (ฐานกาย) ซึ่งเป็นส่วนของสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในสัตว์เลื้อยคลานที่หลงเหลือตกทอดมาสู่มนุษย์เรา คงเป็นเพราะเหตุนี้ “ลิ้น” จึงเป็นประสาทสัมผัสแห่งความสุขที่สุด กระตุ้นให้เราเกิดความอยาก เช่น ความสุขที่ได้ทานอาหาร ลิ้มรสความหวาน ความเอร็ดอร่อย
สมองชั้นนี้ กระบวนกรเล่าว่า แทนตำแหน่งของ “ตัวกู” ที่กำหนดพฤติกรรมเด่นชัดตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ ของคนเรา ซึ่งเป็นช่วงอายุของการสร้างวินัย เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรม และทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยติดตัวเรา
สมองชั้นในสุดยังมีความละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยสังเกตจาก ปกติ หากเราเหนื่อย เราก็จะยิ่งเอาจริงเอาจัง แต่ทว่ากลับคิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะอารมณ์ความรู้สึกติดลบ ซ้ำยังควานหาข้ออ้างสารพัดเข้าข้างตัวเองว่าเป็นความจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆ นานา
สมองชั้นต่อมา คือสมองส่วนกลาง (ฐานอารมณ์) ที่เริ่มพัฒนาในช่วงอายุ 7-14 ปี มนุษย์วัยนี้จะเริ่มเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในมิติของอารมณ์เป็นพิเศษ ณัฐฬสว่า นี่คือคุณสมบัติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยคนเราจะสนใจศิลปะ ความงาม เห็นและเล่าเรื่องเป็นภาษาภาพ รู้จักแยกแยะว่าใครเป็นพวกใคร ทั้งรักชอบและเกลียดชัง นั่นคือ เริ่มมีสำนึกในพวกพ้อง หรือการ “อยู่ร่วม” เริ่มอ่อนไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึก การมีสำนึกเรื่อง “คุณธรรม” ก็อยู่ในสมองชั้นนี้ สัตว์เลี้ยงอย่างเช่น สุนัข และแมว ก็มีความจำจากอารมณ์ความรู้สึกด้วยเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งหล่อเลี้ยงสมองซีกนี้คือ ความรัก ความชื่นชม และการให้อภัย หากใครตกอยู่ในสภาวะปกป้องก็จะสร้างวังวนหรือ “ร่องอารมณ์” เชิงลบ เช่น อาการรังเกียจ และความอิจฉาริษยา ซึ่งลึกๆ แล้วก็อยากสัมพันธ์กับผู้คน แต่ไม่กล้า ส่วนสัมผัสที่ทำงานกับสมองส่วนนี้คือ “จมูก” ที่รับรู้กลิ่น และ “หู” ที่ได้ยินเสียง
สมองชั้นสุดท้ายนอกสุด (ฐานความคิด) จะทำงานในเรื่องของ “ความคิด” และ “ตัวรู้” (ซึ่งเป็นคนละตัวกัน) ตัวรู้คือ “ตาที่สาม” ในคติพุทธ-วัชรยานที่คอยสังเกตหรือเฝ้าติดตามความคิดอีกทอดหนึ่ง ตัวรู้จะประมวลผลข้อมูลที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ในทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าอยู่บริเวณสมองส่วนหน้าผาก (Pre-frontal) ถ้าหากจิตของเราว้าวุ่น เราก็จะไม่ได้ยินเสียงญาณทัศน์ของเราในส่วนนี้
คำสำคัญของสมองชั้นนอกคือการ “อยู่อย่างมีความหมาย” การรับรู้สัมผัสผ่านสายตาคือจักษุทรรศน์ที่คอยเก็บรายละเอียดและแสดงความคิดเห็น การจับโกหกจึงสังเกตได้ทางสายตา เช่น หากเหลือบมองขึ้นด้านบนซ้ายคือกำลังโกหก มองขึ้นด้านขวาคือการดึงความจำออกมา
สภาวะปรกติ เมื่อร่างกายผ่อนคลาย ได้พักผ่อน ความสุขก็จะสดชื่น ความคิดจะแจ่มใส ปัญญาก็จะปรากฏ บางคน มักมีอารมณ์แจ่มใสเป็นประจำทุกๆ เช้า บางคนจะกลับรู้สึกสบายใจในยามเย็น ต่างกันไป
เราๆ ท่านๆ เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า ในแต่ละวัน ต้องเริ่มต้นด้วยการกระทำอะไร ผมเอง หากไม่ได้ดื่มกาแฟสักถ้วยก่อนเริ่มงาน วันนั้นทั้งวันก็จะอึดอัด หัวสมองไม่แล่น อ้างสารพัดเหตุผล
ณัฐฬสเสริมด้วยว่า การเดินของ กฤษณะ มูรติ วันละครึ่งชั่งโมงเป็นประจำทุกวันของเขา คือตัวอย่างของวินัยมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเจตจำนง (will) หรือจิตที่รับรู้ ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล
บทเรียนสุดท้ายสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่าด้วย “กระบวนการเรียนรู้” ของคนเราที่ณัฐฬสขยายความเพิ่มเติมว่า อาจเปรียบได้กับรูปตัวยู (U) ที่ขาลงหมายถึง การเริ่มจากภาวะปกติที่เต็มไปด้วยความปลอดภัย ปฏิบัติตนตามความคุ้นเคย ใช้ความรู้เดิมๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ วิทยากรเรียกลักษณะนี้ว่าเป็นการ download ข้อมูลจากอดีต ภาษาเฉพาะของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์บางกลุ่มอาจเรียกว่า “กินของเก่า”
หากใครปรารถนาที่จะเรียนรู้เพื่อ “การเปลี่ยนแปลง” จำเป็นต้องละทิ้งความคุ้นเคย รวมทั้งความรู้เดิมๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่สภาวะของ “ความไม่รู้” จากจังหวะการดำเนินชีวิตที่รวดเร็ว ก็ต้องเริ่มช้าลงๆ ควบคู่ไปกับการ “เปิดใจ” เปิดรับโลกที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เป็นต้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง จุดที่อยู่ ณ ก้นบึ้งของรูปตัวยู อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ความมุ่งมั่นหรือเจตจำนงภายในก็จะปรากฏให้เห็น เราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงคุณลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการภาวนา ต้องเขย่าหัวใจเราเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนกรหนุ่มเน้นเช่นนั้น
ทำได้ดั่งนี้ หนทางต่อไปคือ “การโอบกอด” รับญาณทัศนะใหม่อย่างพินิจ ซึ่งจะไม่ปรากฏ หากเรายังยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยกรอบคิดเก่าๆ ให้เป็นอิสระ ทั้งนี้ ญาณทัศนะดังกล่าวอาจมาในรูปของ “โคตรแบบ” (prototype) ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นวิถีการดำเนินชีวิตใหม่หรือวัฒนธรรม (culture) ในอนาคต
โอกาสหน้า พวกเรากลุ่มสื่อสร้างสรรค์ หรือ Happy Media จะนำบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจตัวเองดีๆ มาแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันฟังเช่นนี้อีกนะครับ





ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 4 กันยายน 2550
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์

แอนน์ วรภา “อาชีพไหนก็อาสาได้”



แอนน์ เป็นสาวร่างเล็ก หัวกลม ยิ้มหวาน ร่าเริง ตาเป็นประกาย และมีมนุษย์สัมพันธ์ระดับยอด เธอเป็นสาวนักประชาสัมพันธ์ นักบริหารภาพลักษณ์องค์กรที่เติบโตในสายงานมากว่า 7 ปี งานลักษณะนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ เงินและงานเวียนเข้ามาไม่ให้หยุด จนเธอเปรียบว่าทำงานอย่างกับ “แมลงวัน” (แมลงวันหัวเขียวหรือเปล่า ฮาๆ)

ทว่าความกระตือรือร้นกลับเปล่งประกายแห่งความสุขมากขึ้น เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครสื่อมวลชนสัมพันธ์ให้กับงานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” การมาถึงของ ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัมซึ่งมาเยือนไทยช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันเธอเป็นนักประชาสัมพันธ์อิสระ ทำงานให้กับโครงการ GNH และ การแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ชีวิตคนทำงานอิสระ เธอบอกว่าทำให้เธออิสระจาก “เงินตรา การโกหก และงานที่รัดตัว”

สิ่งที่เธอได้ คือ “เวลา ความสุข และมิตรภาพ”

ลองมาฟังเสียงคุณค่าของคนๆ หนึ่งเสียหน่อยเป็นไร อาสาสมัครผู้สร้างสัมพันธภาพ แอนน์ วรภา เตชะสุริยวรกุล

เส้นทางของเด็กไฮเปอร์

พี่แอนน์เป็นสาวตัวเล็กแต่ไฮเปอร์ยิ่ง เสียงเล็กๆ ของเธอเล่ารัวยาว ตั้งแต่ครั้งเธอเป็นเด็ก เธอชอบการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ชื่อ “ตากล้องที่รัก” เป็นเรื่องราวของเด็ก ชื่อ “มิยะ” ที่ชอบถ่ายภาพและได้ทำงานนบริษัทโฆษณา มักได้คิด สร้างสรรค์และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เสมอ จนสุดท้ายที่งานโฆษณาที่ออกมาได้กลายเป็นสิ่งภาคภูมิใจ อีกทั้งมีน้าชายที่ทำงานบริษัทโฆษณา ทำให้เธอบอกกับตัวเองว่า “นี่แหละอาชีพของฉัน” เล่าย้อนจากวันนั้นถึงวันนี้ พี่แอนน์ยังแอบขำในความแบ๊วบ๊องของตัวเอง

“ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นผลงานของสมาชิกในครอบครัวได้ออกทีวี เห็นทีไรมีเรื่องหัวเราะกันตลอด”

พอเริ่มเรียนชั้นประถมตอนปลาย ได้อ่านหนังสือของกลุ่มดินสอสี รู้สึกชอบ จึงเข้าไปหาพี่ๆ พร้อมหิ้วน้องชายตัวน้อยไปด้วย กลายเป็นน้องเล็กของสำนักงาน นอกจากกลุ่มดินสอสี เธอพบพี่ๆ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งทำสื่อวาดการ์ตูน “ตาวิเศษ” กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจวัยเด็กเกี่ยวกับงานสื่อสารมวลชน

พอจบมัธยมปลาย เธอกลับสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะผิด เนื่องจากเข้าใจว่า คณะศิลปศาสตร์ เรียนเหมือน คณะนิเทศศาสตร์ ขึ้นปีที่สองเธอจึงตัดสินใจย่องไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ในฝัน แอบเรียนไปๆ มาๆจนอาจารย์ประจำวิชาจับได้และถูกเชิญออกจากห้อง แต่จนแล้วจนรอด ไฟในตัวก็ไม่เคยมอด ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเธอทำกิจกรรมสารพัด อีกทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์อาสาให้กลุ่มเบญจรงค์ ทำงานสัมภาษณ์ให้นิตยสาร “บ้านเด็ก” ได้เรียนรู้จากการสัมภาษณ์มากมาย จนหนังสือปิดตัวไปนะแหละเธอจึงหยุด

เมื่ออยู่ปี 3 เพื่อนคนอื่นยังไม่ทันได้ฝึกงาน พี่แอนน์กลับไปอ้อนวอนขอเข้าฝึกงานกับบริษัทโฆษณา JWT พร้อมเรียนรู้งานทุกอย่าง ทุกฝ่าย ทุกรูปแบบ โดยไม่มีเกี่ยงงอน แต่นานวันเข้า เธอก็พบว่าชีวิตนักโฆษณาซึ่งเต็มไปด้วยแฟชั่น ของหรู และความโก๋เก๋ ไม่ใช่แนวเลยสิให้ตาย

“รู้นิสัยตัวเองว่าชอบลุยงาน มอมแมม คงไม่เหมาะใช้ชีวิตแบบสาวสวย ตอนนี้รู้ตัวแล้วว่าชอบงานสื่อสารมวลชนแล้วล่ะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร ถ้าไม่ใช่งานโฆษณา”

เมื่อเรียนจบ เธอกรอกใบสมัครกับ บริษัทตรีเพชรอีซูซุ และเริ่มทำงานนักประชาสัมพันธ์ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้เธอสนุกและรักงานนี้อย่างมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนหมุนเวียนงานไปหลายที่ก็ตามที

จุดเริ่มอยู่ที่ครอบครัว

ทว่าในทุกๆ วันที่ทำงานอย่างสนุกสนาน พี่แอนน์กลับพบว่านับวันยิ่งห่างเหินครอบครัว วันหนึ่งขณะหยุดพักอยู่บ้าน นั่งมองหน้าพ่อและแม่ เธอสะกิดในใจว่า “ทำไมพ่อแม่ถึงได้แก่อย่างนี้??”

แรงคิดนี้เองทำให้เธอตระหนักได้ว่า ชีวิตมันสั้นจริงๆ

“มัวแต่กลุ้มใจเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน ปัญหาร้อยแปด แต่เราไม่เคยหยุดทำงานและใช้เวลาร่วมกับคนในบ้านเลย”

เธอจึงตัดสินใจลาออก หยุดทำงานแบบแมลงวันวิ่งไปนู้นมานี่อย่างไม่รู้ทิศทาง ออกมาช่วยรุ่นพี่ที่ตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ แต่ก็ยังเจอนายจ้างที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อลูกจ้าง ต่อลูกค้า จนไม่สามารถยอมรับได้

“เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเราแล้ว แม้ว่าจะเห็นว่ามีเงิน เราก็ไม่สนใจแล้ว นาทีนี้ เรารู้สึกอึดอัด เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราภาคภูมิใจมาที่สุดช่วงไหนในชีวิต มีความสุขกับการทำงานแบบไหน รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเวลาทำงานอะไร เราไม่อยากเปลืองตัว เสียเครดิตและเครือข่ายด้านบวกที่เราได้รับความเมตตาที่ผ่านมา วิชาชีพที่เราได้เรียนรู้จากอาจารย์ คนรอบข้างที่เอื้อเฟื้อเรา กลับถูกเราเอามาใช้ประโยชน์แบบเห็นแก่ได้”

ตั้งแต่นั้น เธอก็พยายามหาเลี้ยงชีพอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เลือกงานที่เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แม้จะมีรายได้น้อยลง แต่ก็มีความสุขมากกว่าเดิม

“อันนี้เงินเป็นล้านก็ซื้อไม่ได้นะ เศรษฐีเขาอาจซื้อนาฬิการาคาหลายล้านบาท ถูกชื่นชม มีความสุข มีคนอิจฉา แต่เขาก็ซื้อเวลาไม่ได้ และโชคดีด้วยที่พี่ไม่มีภาระทางบ้านอะไรมาก เลยสามารถทำได้” พี่แอนน์เล่ายิ้ม

ด้วยความที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ เธอจึงมีเพื่อนมากมาย หนึ่งในเพื่อนของเธอนั้นอยู่ในกลุ่ม Happy Media ซึ่งกำลังหาคนช่วยงานประชาสัมพันธ์งานภาวนาหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จึงทำให้เธอพบเจอที่ทางการทำดี

“พี่บอกว่าแต่แรกเลยว่า พี่ไม่รู้เรื่องอะไรของหลวงปู่เลยนะ พี่เคยได้ยินชื่ออย่างเดียว แต่พี่อยากช่วย เพราะเป็นสิ่งที่ดี และอยู่ในวัยที่สนใจเรื่องปฏิบัติธรรมด้วย ส่วนเรื่องค่าตอบแทน พี่ที่ดูแลบอกตั้งแต่แรกเลย ไม่มีงบให้นะ พี่โอเค ยินดีทำ”

พี่แอนน์บอกว่าเมื่อทำงานนี้ เธอมีความสุข ได้ทำงานที่รัก ได้ช่วยสื่อสารสิ่งที่ดีงาม ได้เรียนรู้ธรรมะ อีกทั้งยังได้พาเพื่อนสื่อมวลชนมาสัมผัสประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน

สิ่งที่เธอได้คือ “เวลา ความสุขและมิตรภาพ” ซึ่งมากมายเกินพอความคาดหวังใดๆ


อาชีพไหนก็อาสาได้

ทุกวันนี้ความสุขของพี่แอนน์ คือ การทำงานที่สามารถช่วยคนอื่น ช่วยทีมงาน ช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่ ให้มีกินมีใช้ มีของอร่อยกินบ้าง มีของใช้ตามอัตภาพ มีความสุขกับการใช้เวลาร่วมกัน

สำหรับคนที่อยากนำความสามารถของตัวเองออกมาช่วยเหลือผู้อื่นบ้างอย่างพี่แอนน์ เธอแนะนำว่า


อันดับแรก คือ รู้ตัวเองก่อนว่าความถนัดและความสามารถอะไร, สอง คือ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีความสุขใจ เมื่อทำงานอะไร ภาคภูมิใจกับงานชิ้นไหน และคำตอบนี้จะช่วยบอกเราเองว่า เราจะเอาอาชีพของเรามาสร้างสรรค์อะไรต่อไป ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องออกจากงานเพื่อมาทำงานอาสา ในเมื่อการอาสาสามารถทำได้ตลอดเวลา ในที่ทำงาน ในครอบครัวของเราเอง

“ถ้าเราทำงานดี ขยันขันแข็ง ช่วยงานพี่ๆ น้องๆ ในที่ทำงาน สร้างสรรค์งานที่ดีในขอบเขตความรับผิดชอบของเรา บรรยากาศการทำงานที่ดี ก็ช่วยสังคมได้ คนทำงานร่วมกันก็จะมีความสุข ถ้าสนิทกันมากๆ มีอะไรปัญหาที่บ้านมาแชร์กัน เราช่วยสังคมกลุ่มย่อยตลอด แบบนี้พี่ตีว่าแบบนี้เราได้ทำงานอาสาแล้วนะ พี่ว่าเราอาสากันได้ตลอดเวลา อาชีพไหนก็อาสาได้ แถมยังทำงานเต็มเวลามากกว่าฟรีแลนซ์อย่างพี่เสียอีก”

หากมีเวลาเหลือ นัดกันไปทำบุญ สร้างบ้าน เลี้ยงน้อง อ่านหนังสือ ฯลฯ ก็ได้ หรือเห็นงานที่องค์กรเพื่อสังคมที่ไหนมี และสิ่งที่เรามีอยู่ช่วยงานได้ก็เข้าไปเลย แต่ต้องบอกก่อนว่าเราเข้าไปทำงานอาสา อย่าลืมงานที่เราต้องดูแลตัวเราเองด้วย ถ้าลาออกไปทำงานอาสาแล้วอยู่ไม่ได้ เบียดเบียนคนที่บ้าน อันนี้พี่ว่าอาสาช่วยคนอื่นจนลืมช่วยตัวเอง แต่ถ้าคุณพร้อมที่จะทุ่มเท มาเลยลงเต็มตัว คุณไม่ลำบากครอบครัวสบาย ที่เหลือมาช่วยสังคมกัน”

ถึงตรงนี้ หากแม้คุณเป็นนักบัญชี แม่บ้าน หรือ อาชีพใดก็ตามในสากลโลกใบนี้ โปรดรู้ งานอาสาอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว ทุกลมหายใจจริงเชียว ขอให้คุณสัมผัสมัน

พรรัตน์ วชิราชัย
เครือข่ายจิตอาสา
Website : http://www.volunteerspirit.org
Email : volunteersipirit@gmail.com

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 30, 2550

สุขใจท่ามกลางทางเลือก


ทุกๆ วันที่เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางทางเลือกที่หลากหลาย ความรวดเร็วและสะดวกสบาย ทุกอย่างเลือกได้ สั่งได้ เพียงคลิกหรือกดปุ่ม ซึ่งในไม่ช้า สิ่งนั้นก็ปรากฎ
แต่บนทางเลือกที่มีอยู่ดาษดื่นนี้ หลายครั้ง ดิฉันลังเล ไม่แน่ใจ เหมือนต้องเดาว่าตรงไหนบ้างที่อาจมีกับดักแอบซ่อนอยู่
การมีตัวเลือกมากขึ้นอาจบั่นทอนคุณภาพชีวิตของเราได้ หากตั้งหลักไม่ดีพอ
นั่นไม่ได้หมายความว่า ดิฉันมองข้าม “คุณค่า” ของความแตกต่างหลากหลาย เพียงขอย้ำว่า เมื่อมีตัวเลือกมากขึ้น ต้นทุนที่ตามมาย่อมมากขึ้นตามไปด้วย
ทักษะการบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี
ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ขาดทักษะเรื่องเหล่านี้ ตัดสินใจสิ่งใดๆ อย่างยากเย็น ทั้งต้องหาข้อมูลเพิ่มและเร่งมือให้เร็วขึ้น ทำให้น้อยครั้งที่ดิฉันจะได้อยู่นิ่งๆ เพื่อที่จะอิ่มเอมกับสิ่งตรงหน้า ไม่มีเวลาสำรวจดูซอกเล็กซอกน้อยของชีวิต ไม่มีจังหวะที่จะหันกลับมาทบทวนตรวจสอบแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว
ดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่จะรีบรุดไปข้างหน้า โดยคิดว่าตนจะได้เลือก ได้ลิ้มลองสิ่งใหม่ๆ ก่อนใคร อย่างเช่นสินค้าที่ออกมาให้เราได้เลือกมากมายหลายดีไซน์ ใช้เวลาผลิตไม่นาน แต่คุณภาพก็บอบบาง ไม่คงทน แตกหักง่าย โดยมิพักต้องพูดถึงความประณีต
ฤาหัวใจคนวันนี้ได้ถูกหลอมแบบเดียวกับคุณภาพของสินค้าไปแล้ว
วิถีชีวิตผู้คนวันนี้ขาดความดื่มด่ำล้ำลึก หากเปรียบกับการเดินทางก็เหมือนเรากำลังเดินไปบนทางราบ คุ้นเคยกับทางเรียบ วิตกเมื่อพบหน้าผาหรือทางดิ่ง เรามีแต่ทักษะที่จะมุ่งหน้ามากกว่าดำดิ่งซึ่งหลายครั้ง เราก็จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญในการเดินทางแนวดิ่งเช่นเดียวกัน
ทันทีที่ต้องเผชิญกับโขดภูเขา เราจะได้รู้ว่าจะป่ายปีนหรือไต่ลงอย่างไรให้ปลอดภัย
การแสวงหาความสุขจากภายในก็เช่นกัน
บนทางเลือกที่มีอยู่มากมาย หลายคนมักคิดว่า “ความสุข” เป็นหนึ่งเดียวกับการบริโภค มีความหมายใกล้เคียงกับความพึงพอใจที่ได้เสพ เป็นอาการเดียวกับความสนุกสนานตื่นเต้น หรือมีสีสันชีวิตที่แปลกแตกต่างไปจากคนธรรมดา
ที่จริง การแสวงหาความสุขของชีวิต อาจไม่จำเป็นต้องออกเดินไปไหน ไม่จำเป็นต้องเดินทางเสมอไป เพียงหยุดนิ่งเพื่อดำดิ่ง พินิจตัวเราด้วยสติ เห็นความสำคัญของ “ความธรรมดา” ในชีวิตประจำวันอย่างใส่ใจ เพลิดเพลินกับความเรียบง่าย ยิ้มได้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยวางให้เป็นปกติ
เพียงเท่านี้ ภาวะขณะเผชิญหน้าผาชันก็ไม่ต่างอะไรกับทางราบเรียบ ไม่ว่าจะเดินหน้าและนิ่งสงบ ต่างเป็นภาวะปรกติธรรมดาที่เป็นสุข
ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่นิ่งและดิ่งลึก ซึมซับและรับรู้ความสุขที่อยู่ภายในหัวใจ เท่านี้ก็สุขแล้ว
อย่างไรก็ดี นอกจาก “วิถี” แห่งความสุขที่ว่ามาแล้ว ความมุ่งมั่นและอดทนก็สำคัญไม่แพ้กัน
หนทางของใครหลายคน แม้จะมาถูกทาง แต่ไม่ช้า พวกเขากลับเลิกล้มความตั้งใจ เพียงเพราะกังวลว่าจะไม่ถึงเป้าหมาย ห่วงว่าจะเปลืองตัวระหว่างเดินไป คิดเพียงก้าวให้ถึงที่หมายจนลืมแวะชมความงามสองข้างทาง
มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ผ่านการใช้ชีวิตมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หรูหราฟู่ฟ่า เป็นอยู่อย่างสนุกสนานไปวันๆ ชอบการผจญภัยโลดโผน ทั้งตามกระแสและไม่ตามกระแส แต่สุดท้าย พวกเขาก็ลงเอยด้วยความพอใจชีวิตที่เรียบง่าย
ท่ามกลางความหลากหลาย และความเร่งรีบที่สังคมพาเราไป ดิฉันเชื่อว่า เราสามารถเลือกวิถีแห่งความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตได้ เพียงหวนกลับมาหาความเรียบง่าย จากความสุขภายในหัวใจและจิตวิญญาณ
โดยส่วนตัวดิฉันแล้ว การมีเวลาอ่านหนังสือ ค่อยๆ เก็บรับสัมผัสอรรถรสจากการอ่าน จากหนังสือที่ถูกใจ เพียงเท่านี้ก็ปีติสุขได้แล้ว
การได้เห็นหน่ออ่อนของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะไว้ภายในบริเวณบ้านโผล่ขึ้นจากผืนดิน รอยยิ้มน้อยๆ บนใบหน้าก็พลอยผุดขึ้นตาม
เมื่อหน่อผุดขึ้น เราก็ต้องบ่มเพาะหล่อเลี้ยงให้มันเติบโตต่อไป เฝ้าดู รดน้ำ และพรวนดิน ดูแลให้หน่ออ่อนเล็กๆ เหล่านั้นโตขึ้น ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรีบ ไม่หวังผลใดๆ
เพียงเท่านี้ก็สุขใจแล้ว
ที่เหลือ เช่น การได้ออกกำลัง ได้ช่วยเติมก๊าซออกซิเจนให้แก่โลก ล้วนเป็นผลพลอยได้
ดิฉันตั้งข้อสังเกตกับตัวเองถึงสิ่งที่นำพาเอาความรื่นรมย์ใจมาให้และพบว่า การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ใช้เวลากับลมหายใจ จดจ่อกับกิจกรรมที่กำลังทำ ค่อยๆ ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกในใจทยอยละลาย ลื่นไหลตามลมหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ เท่านี้ก็รื่นรมย์ใจได้แล้ว
สำหรับดิฉัน การเร่งรีบรังแต่จะนำความรู้สึกอึดอัดมาสู่เรา เพิ่มน้ำหนักความเครียดและปริมาณความกดดันมาให้ การได้อ่านหนังสือธรรมะสักเล่ม ประทับใจกับถ้อยคำสอนของพระนักบวชอย่างหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ ก็สุขใจยิ่งแล้ว
ท่านใช้คำว่า “รีบเย็น” นับตั้งแต่ได้รู้จักคำนี้ ดิฉันรู้สึกยินดีและมีความสุขมาก เป็นคำง่ายๆ ที่นำมาใช้ได้ผลจริงในเวลาที่ต้องเผชิญกับความเร่งรีบ
ท่านหมายถึงให้เราทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความว่องไวอย่างที่คุ้นเคย เพียงแต่ทำด้วยจิตใจที่เยือกเย็นเป็นปกติ ไม่ใช่ทำด้วยจิตใจที่เร้าร้อน
เพียงเท่านี้ก็ช่วย “เคาะ” ให้ดิฉันตาสว่าง มีทางออก ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาหลังจากที่รู้สึกอึดอัดขัดข้องมาตลอด
คำว่า “ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม” ถึงแม้จะเป็นวลีที่ออกจะเชยและตกยุคไปแล้ว เพราะตกมาถึงรุ่นเราไม่ต้องมานั่งละเมียดบรรจงตีเหล็กเพื่อทำมีดพร้าไว้ใช้งานอย่างคนรุ่นก่อนๆ แต่ดิฉันก็เชื่อแน่ว่า ในแต่ละวัน ท่ามกลางความหลากหลาย ถ้าเราสามารถทำทุกเรื่องให้ช้าลงได้ เราก็จะรู้สึกเบาสบายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องง่ายๆ อย่าง “การหายใจ”
ลองหายใจเข้าอย่างช้าๆ ลึกๆ พอสุดแล้วก็ให้กลั้นลมหายไว้สัก 5 ถึง10 วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ หมั่นทำบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเครียดๆ จะช่วยให้หายเครียดได้
นอกจากนี้ ลองฝึกทำทุกอย่างด้วยจิตที่มีสติและใจที่เป็นสุขไม่ร้อนรน ที่สุด ความอึดอัดคับข้อง ความวุ่นวายสับสน จากทางเลือกที่มีอยู่เยอะจนน่าใจหายก็จะเปลี่ยนเป็นความปลอดโปร่งโล่งหัวใจแทน
ใครที่กำลังอยู่ระหว่างเผชิญทางเลือก ลองทำทุกอย่างให้ช้าลงอีกสักนิด ผ่อนลมหายใจเข้าออกให้ยาวขึ้นอีกหน่อย แล้วโลกที่น่ารื่นรมย์ก็จะปรากฏภายในไม่กี่ลมหายใจ

ชีวิตรื่นรมย์ / โพสต์ทูเดย์ / 21 สค 50
ศิริวรรณ สุขวิเศษ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)