เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสไปร่วมงานอบรม “กระบวนการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบผู้คนจากนานาประเทศ หลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม ในจำนวนนี้ ผู้ที่ให้แง่มุมวัฒนธรรมแห่งความเคารพ การให้เกียรติกันคือ เพื่อนที่มาจากวัฒนธรรมชนเผ่าเมารี (ชื่อกลุ่ม whale rider) จากประเทศนิวซีแลนด์ และชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกา
พวกเขาทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า “ประชาธิไตย” ไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่ระบบ แต่เป็นจิตสำนึก และวิถีการดำเนินชีวิต
แลรี่ หมอยาผู้นำชนเผ่าอินเดียนแดงกล่าวว่า โลกทั้งใบคือสายใยแห่งความสัมพันธ์ เชี่อมโยงกัน วิธีคิดนี้แสดงออกมาทางพิธีกรรม ภาษา และ วัฒนธรรมที่ให้ความเคารพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกับธรรมชาติ สัตว์ ต้นไม้ และมนุษย์
ก่อนเริ่มการประชุม ชาวอินเดียนแดงจะเอ่ยเชิญจิตวิญญาณจากธรรมชาติที่พวกเขาสัมพันธ์ บรรบุรุษ สรรพชีวิต และเพื่อนร่วมโลก มาอยู่ในที่ประชุมด้วย เพื่อหลอมจิตให้เป็นหนึ่ง และเมื่อจบการประชุม พวกเขาก็จะกล่าวให้พลังความสุข การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวงประชุมนั้น กลับไปให้แก่สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ และสรรพวิญญาณทั้งหลาย
“พิธีกรรม” และ “ภาษา” ที่พวกเขาใช้ในการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งกับความรู้สึกเชื่อมโยงที่เขามีต่อสรรพสิ่ง และตระหนักรู้ว่า ตนเองเป็นคนล่องลอยหรือไร้รากขึ้นมาทันที
ข้าพเจ้ารู้สึกถึงชีวิตตนเองที่ตัดขาดจากสิ่งรอบตัวมาตลอด
ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่างๆ มีความสำคัญมาก สำหรับวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ ทัศนะนี้กำหนดรูปแบบและวิถีชีวิตของพวกเขา ในภาษาของชาวอินเดียนแดง ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กัน โยงใยด้วยระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
แลรี่ ยกตัวอย่างว่า หากใจเราเห็นโต๊ะและเก้าอี้เป็นเพียงวัตถุ วิถีความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งนั้นก็จะเป็นในลักษณะวัตถุ ไม่มีความหมายอะไร ไม่ต้องรักษาดูแล เก่าหรือพังก็เปลี่ยนใหม่ ไม่มีความผูกพัน ไม่มีการเชื่อมโยง ปราศจากความเคารพต่อสิ่งนั้นๆ
แต่หากเราปรับใจ เลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับโต๊ะและเก้าอี้เล่า? อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ลองดูว่า หากเราเลือกที่จะมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องความสัมพันธ์แล้ว ใจของเรา มุมมองของเราจะเปลี่ยนไปหรือไม่
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ทัศนะนี้เป็นโลกทัศน์ใหม่ก็ว่าได้
ในระดับความสัมพันธ์ โต๊ะและเก้าอี้ต่างเป็นอุปกรณ์ที่เอื้อประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเรา เรารู้สึกขอบคุณที่ได้รับความสะดวกสบายจากสิ่งเหล่านี้ นี่คือการสร้างความสัมพันธ์ และเมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งใดแล้ว เรามักมีแนวโน้มที่จะดูแลรักษาสิ่งนั้นมากขึ้น
สำหรับวิถีชนเผ่า ทุกชีวิตคือความสัมพันธ์ ดังนั้น แนวคิดการจับจองเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดถือเป็นเรื่องที่เกินไปจากจินตนาการ
“แผ่นดิน ไม่ใช่สิ่งที่เราจะครอบครองหรือจับจองเป็นเจ้าของได้ มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็น “ทรัพย์ของแผ่นดิน” แลรี่ กล่าว
ด้วยทัศนะเช่นนี้ ชาวชนเผ่าจะรักษาความสัมพันธ์กับผืนดินที่โอบอุ้มชีวิตของเขา รักษาสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตและสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก
ชาวตะวันตกและตะวันออกที่เปลี่ยนวิถีจิตไปรับเอาทุนนิยม มองเห็นทุกอย่างเป็นวัตถุไร้วิญญาณ เป็นสมบัติที่อาจครอบครอง เราขายภูเขา ระเบิดทิ้งเพื่อทำถนน ทิ้งของเสียลงน้ำ ทำลายผืนดิน ตัดต้นไม้รุ่นปู่ทวดของเราไปอย่างไม่ใยดี
วิบากจากการตัดขาดความสัมพันธ์นี้คือภาวะโลกร้อนที่เราทั้งหลายกำลังเผชิญอยู่ และมีแนวโน้มว่า ภัยธรรมชาติจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
นอกจากธรรมชาติแล้ว มนุษย์ซึ่งถือเป็นสัตว์สังคมยังตัดขาดความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ยิ่งชีวิตในเมืองแล้ว ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เราใส่ใจน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบครัว เพื่อน และชุมชน
ในสภาพตัดขาดไร้รากเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจหากเราหลายคนจะรู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว และหาทางออกจากการพึ่งพาสิ่งที่ไม่ช่วยอะไรเราเลย เช่น ยาเสพติด จับจ่ายใช้สอยอย่างไร้จุดหมาย
เราคุยกันอย่างธุรกิจ ทำงานอย่างมืออาชีพ คำถามคือ มนุษย์เราจะพูดคุย เจรจาธุรกิจ ประสานงาน ติดต่องาน สัมพันธ์กันด้วยความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ หรือเราขาดความสามารถในเรื่องนี้ไปแล้ว
บางครั้ง เมื่อรู้สึกว่ามีใครทำอะไรบางอย่างที่ขัดใจเรา แล้วเราเริ่มรู้สึกโกรธ คิดที่จะโต้ตอบด้วยวาจาและการกระทำที่แข็งกระด้าง วางท่าทีต่อกันอย่างเป็น “ทางการ” แบบเจ้านายกับลูกน้อง หรือ “อย่างมืออาชีพ” แบบนักธุรกิจกับลูกค้า หรือหากมีความขัดแย้งกันรุนแรง เราอาจเลือกใช้อำนาจเข้าข่มเหงกัน พูดดูถูกดูหมิ่นกันเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของอีกฝ่าย
การเลือกทำเช่นนั้นคือ เราเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายและตัวเราเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของที่ไม่มีคุณค่า ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือวิถีที่เราเลือก และชีวิตที่ตัดขาดก็เป็นผลจากสิ่งนี้
แต่หากเราหยุด พิจารณา และถามตัวเองว่า เราจะสร้างความสัมพันธ์กับคนต่างๆ อย่างไร ถ้าจะโต้แย้งกัน มนุษย์จะโต้แย้งกันอย่างไร โดยไม่ถอดถอนความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ท่านรัฐมนตรี จิ๊กมี ธินเลย์ แห่งภูฏาน ได้กล่าวในการพูดคุยกับสื่อเรี่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่บ้านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่า “หากเราหันมามองความหมายของชีวิตใหม่ ให้คุณค่ากับชีวิต เราอาจเห็นว่า ความสัมพันธ์ นั่นแหละคือชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้คน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ หากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งต่างๆ เราก็เป็นคนที่มีความสุขและร่ำรวย”
คนที่มีความสุขในครอบครัว มีเพื่อนดี ๆ ที่รักเรามากมาย การมีเพื่อนร่วมงานที่กลมเกลียวกัน นั่นอาจเป็นความรุ่มรวยที่แท้จริง สิ่งนี้ไม่อาจแลกได้ด้วยเงิน แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับมาจากใจ
การเริ่มต้นง่ายๆ คือการใส่ใจและตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งต่าง ๆ น่าจะเป็นอย่างไร
คำตอบจากหัวใจเราเท่านั้นที่จะนำทางให้แก่เรา
ชีวิตรื่นรมย์ // ฉบับ อังคาร 24 กค 50
กรรณจริยา สุขรุ่ง
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 26, 2550
คำตอบจากหัวใจ
วันพุธ, กรกฎาคม 18, 2550
โลกของวัฒนา
ช่วงเวลาที่ผมเข้ารับการผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่อันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ลืมไม่ลงนั้น เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมใกล้จะเรียนจบชั้นประถมศึกษา เป็นรอยต่อแห่งวัยที่จดจำรายละเอียดได้ไม่มาก ตรงข้ามกับความรู้สึกที่ยากจะลืมเลือน
ด้วยฐานะของครอบครัว ผมไม่มีโอกาสพอจะอยู่ในห้องพักส่วนตัว ผมจึงต้องนำร่างกายผ่ายผอมของตัวเองเข้าไปจมปลักอยู่ในห้องผู้ป่วยรวม เพื่อรอการผ่าตัดเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จนทำให้ผมได้เห็นภาพแห่งความจริงที่แสนจะเป็นจริง
ทุกแววตาอันเศร้าโศกของผู้ร่วมชะตากรรมในห้องผู้ป่วยรวม เป็นภาพคล้ายการจองจำราวกับถูกติดคุกติดตาราง แววตาของพวกเขาตกอยู่ในสถานะ ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งกำลังตั้งคำถามว่าพวกเขาทำผิดอะไรที่ต้องมารับโทษทัณฑ์ในสถานที่ที่ไม่ควรอยู่ นอกเหนือเสียงร้องไห้คร่ำครวญจากอาการคิดถึงบ้าน ยังมีกลิ่นคาวเลือด กลิ่นยาฆ่าเชื้อ รวมถึงกลิ่นแห่งความตายที่เยี่ยมเยียนเวียนแวะใครบางคนที่เคยนอนอยู่เตียงข้างๆ
แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่น่าจะเป็นโลกมนุษย์ ผมกลับเห็นแววตาใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็กหญิงวัย 6 ขวบคนหนึ่ง ที่ยังร่าเริงเติบโตภายใต้ ‘โลกร้าย’ เพราะเธอคือหนึ่งในผู้ป่วยเด็กที่ต้องประสพพบกรรมอยู่ในโรงพยาบาลนับตั้งแต่เกิด
นับแต่แม่ของเธอให้กำเนิด พร้อมกับลาจากลูกสาวของตัวเอง
ผมเคยได้ยินคุณพยาบาลหลายคนพูดกันปากต่อปากว่า หลังจากคุณแม่ของเธอรับรู้ว่าลูกสาวจะไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ แม่ของเธอก็รีบหนีออกจากโรงพยาบาล ทิ้งขว้างก้อนเนื้อแบเบาะให้เป็นภาระกับคนที่นี่
แววตาร่าเริงของเธอคือภาพงดงามที่ผมขอยืนยัน แต่เมื่อคนอื่นๆ ได้ประสบพบเห็น ทุกคนต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอคือ ‘เด็กปัญญาอ่อน’
ไม่เพียงพิการด้านสติปัญญา ร่างกายของเธอก็ผิดเพี้ยนไปจากความพอดี หน้าท้องเธอยื่นยาวจากร่างกายด้วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง ราวกับเธอเป็นหญิงสาวตัวเล็กที่กำลังอุ้มท้องแก่ๆ กอปรกับใบหน้าและดวงตาที่ดูอย่างไรก็ไม่ครบบาท ผู้เคยพบเห็นเธอจึงอาจนึกขำในใจ
ช่วงเวลาที่ผมพักรักษาตัว ความเครียดของเด็กประถมเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนขี้โรคอย่างผม ด้วยสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล ไม่ว่ามันจะได้รับการทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่อง ได้รับการปกป้องดูแลจากคณะแพทย์ แต่คนที่ถูกจองจำย่อมต้องการอิสรภาพจากโรคร้ายที่เป็นสาเหตุให้ต้องถูกกักขังตัวเอง ภาวะตึงเครียดของผมจึงยิ่งพุ่งสูงเมื่อเจ้าเด็กปัญญาอ่อนย่างกรายเข้าใกล้
ทุกห้วงเวลาที่ผมอยู่ในโรงพยาบาล ผมเดินเหินไปไหนมาไหนไม่สะดวกเพราะติดสายน้ำเกลือ ตรงข้ามกับเจ้าเด็กหญิงวัฒนาที่เป็นอิสระจากพันธนาการ เธอชอบทำมือทำไม้ล้อเลียนผมด้วยท่าทีกวนๆ ราวกับผมเป็นตุ๊กตาที่เธอจะกลั่นแกล้งผมอย่างไรก็ได้ ยิ่งหากคุณแม่ของผมมาเยี่ยมคราใด เจ้าวัฒนาก็จะเข้ามาออเซาะคุณแม่
จากความคิดแบบเด็กยังอ่านหนังสือไม่แตก ผมจึงหมั่นไส้เจ้าเด็กหญิงทุกครั้งเมื่อร่างเงาของเธอสะกิดความสนใจของแม่ ผมคิดว่าเธอคือเจ้าเด็กพุงโรไม่เจียมสังขาร สร้างความรำคาญให้คนอื่นไปทั่วเนื่องเพราะเธอก็ชอบทำทียียวนกับเพื่อนๆ ทั้งยังประจบผู้ปกครองของผู้ป่วยเด็กจนได้ผลลัพธ์เป็นขนมรสอร่อยสองสามชิ้น และเมื่อเธอได้ขนมจากผู้ผลักผู้ใหญ่ เธอจะค่อยๆ หยิบขนมใส่ปาก เคี้ยวเอื้องอย่างเชื่องช้าเพื่อให้คู่กรณีของเธอคอยหมั่นไส้
เด็กหญิงวัฒนาชอบเรียกคุณแม่ของผมว่า ‘ยาย’ เธอมีความสุขทุกครั้งเมื่อคนที่เธออุปโลกน์ว่าเป็นคุณยายของเธอมาหาผมที่โรงพยาบาลราวกับเธอเป็นหลานสาวคนโปรด เธอชอบเดินไปรับแม่ของผมที่ประตูทางเข้าในขณะที่ผมกลับต้องมาติดสายน้ำเกลืออยู่บนเตียงนอน แววตาเธอสุขล้นคล้ายชีวิตไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากคุณยายที่ชอบพูดคุยกับเธอ อยู่เคียงข้างเธอ เป็นมิตรกับเธอในทุกลมหายใจ
แต่เมื่อผมใช้วิธีคิดแบบคนอายุ 27 เช่นในปัจจุบัน ย้อนมองเด็กหญิงวัฒนาในครั้งกระนั้น ความเศร้าแสนสาหัสก็เริ่มสะกิดต่อมสำนึก
จะเป็นอย่างไรถ้าเด็กหญิงคนหนึ่ง อยู่ในโรงพยาบาลภายในห้องผู้ป่วยรวมนับตั้งแต่เกิด
จะเป็นอย่างไรถ้าเด็กหญิงคนหนึ่ง ไม่เคยพบหน้าพ่อแม่ ไร้ญาติขาดมิตร
จะเป็นอย่างไรถ้าเด็กหญิงคนหนึ่ง มีสภาพร่ายกายผิดปกติ เรียกความสนใจให้คนทั้งหลายจับจ้องราวกับเป็นตัวประหลาด
หากสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขในโลกใบน้อย คงเพราะอาการปัญญาอ่อนของเธอนี่เองที่ทำให้ความคิดของเธอไม่อาจตกอยู่ในหลุมหล่มแห่งห้วงกังวล ด้วยทุกแห่งหนในโรงพยาบาลอันเป็นที่พักถาวรของเธอ เธอคงวาดฝันว่าเป็นวิมานม่านฟ้า มีเพื่อนเล่นหน้าเก่าหน้าใหม่ให้เธอเดินไปทักทายตลอดเวลา แม้เพื่อนของเธอจะคร่ำเครียดกับบรรยากาศแห่งแดนสนธยา และพยายามผลักดันตัวเองออกไปให้พ้นๆ
แต่เธอก็ยังสนุกกับชีวิต ไม่คิดวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น
คุณแม่ของผมเคยพูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับอนาคตของเด็กหญิงวัฒนาให้ผมได้ยิน คุณหมอกล่าวว่าเธอคงต้องได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาลไปอีกยาวไกล เพราะโรคเบาหวานขั้นรุนแรงที่ครอบครองตัวเธอยังตามราวีไม่ยอมเลิกง่ายๆ โอกาสที่เธอจะได้รับอุปการะจากผู้ใจบุญจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
หลังจากผมเข้ารับการรักษา ก่อนจะออกมาร่ำเรียน เติบโต และใช้ชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไป นับจากวันนั้นกาลเวลาก็ลุล่วงมาเกือบ 20 ปีแล้ว ภาพของการเข้ารับการรักษาเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำ เว้นเพียงความคิดที่ยังหวนระลึกถึงเด็กหญิงตัวน้อยคนนั้น ซึ่งปัจจุบันร่ายกายของเธอคงเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ผมไม่รู้ว่าในปัจจุบัน อาการโรคเบาหวานขั้นรุนแรงของเธอทุเลาลงบ้างหรือไม่ รู้เพียงกาลเวลาไม่อาจทำให้เธอเติบโตทางความคิดมากไปกว่าเด็ก 6 ขวบ และภายใต้ดวงตาแห่งความสุขเจือเศร้าหมองของ ‘นางสาววัฒนา’ ก็คงไม่หลงเหลือความทรงจำเก็บไว้มากมาย เธอคงจดจำผม คุณแม่ของผม เพื่อนที่เคยวิ่งเล่น หรือเพื่อนบางคนที่เคยถูกห่อหุ้มด้วยผ้าดิบแล้วนำไปเก็บไว้ในห้องหับมิดชิดไม่ได้ กระนั้นเรื่องราวของเธอก็ทำให้ผมพยายามเข้าใจโลกของคนปัญญาอ่อน โลกที่มีเหตุมีผลเป็นของตนเอง โลกที่หัวจิตหัวใจของเธอยังคงแบ่งปันเก็บไว้ให้คนอื่นๆ
ตรงข้ามกับโลกของคนสติปัญญาบริบูรณ์ที่ทอดทิ้งเธอนับตั้งแต่เกิด
ผมเชื่อว่าในโลกใบเล็กของเด็กหญิงวัฒนา รวมถึงเด็กปัญญาอ่อนที่ถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล ยังมีความต้องการความห่วงหาอาทรจากผู้อื่น แม้เด็กเหล่านั้นอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองผิดปกติ และคนในสังคมอาจนึกไปเองว่าเด็กปัญญาอ่อนคงไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘กำลังใจ’ แต่ผมกลับเชื่อว่าหากเรายื่นดอกไม้ที่เต็มด้วยกลิ่นหอมของจิตใจที่ดีงาม เด็กๆ เหล่านั้นย่อม ‘เข้าถึง’ ความหมายของชีวิตและสังคมรอบข้าง
เพราะเด็กเหล่านั้นก็มีหัวใจที่เต้นระบำเริงร่า...เช่นเดียวกับหัวใจของพวกเราทุกคน
ชีวิตรื่นรมย์ ฉบับอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2550
โมน สวัสดิ์ศรี
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 05, 2550
Be Free Wherever You Are
หลังจากที่ตั้งท่าอยู่หลายปี ในที่สุด ผู้เขียนก็ได้โอกาสเห็นพระราชวังโปตาลา และสัมผัสกับชีวิตของคนธิเบตในธิเบตอย่างที่หมายมั่นตั้งใจไว้
เกือบ 50 ปีแล้วที่องค์ดาไลลามะที่ 14 ยังคงวิงวอน ขอให้ชาวธิเบตได้ปกครองตนเอง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาธิเบต แม้จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ก็ตาม
ธิเบตวันนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ธิเบตภายใต้การปกครองของจีน ชวนให้หดหู่อย่างไร้คำใดมาอธิบาย
Free Tibet
บางคนที่เคยเห็นการเคลื่อนไหวหรือได้ยินคำรณรงค์ “Free Tibet” อาจสงสัยว่า ทำไมอิสรภาพของชาวธิเบตถึงเป็นเรื่องใหญ่ ทำไมธิเบตจึงต้องการดูแลตัวเอง มันเลวร้ายอะไรมากมายนักเมื่อรัฐบาลจีนก็ได้พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อนำความเจริญต่างๆ มายังธิเบต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่ หรือร้านค้าย่อย สาธารณูปโภค รวมทั้งเส้นทางรถไฟสายจีน-ธิเบตที่บรรลือโลกกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่อยู่สูงที่สุดในโลก ทำให้การเดินทางสู่ธิเบตสะดวกขึ้น เหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของธิเบตดีขึ้น
หากแต่สิ่งก่อสร้างทันสมัยที่จัดสรรไว้อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามานั้น กลับทำให้กรุงลาซาดูเสื่อมโทรมอย่างน่าเศร้า ร้านรวงที่รายล้อมจนแน่นขนัดรอบพระราชวังโปตาลา อดีตที่พำนักขององค์ดาไลลามะ ได้บดบังความงามสง่าของสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์แห่งธิเบต
คนที่ค้าขายเก่งและมีเงินทุนมากกว่า ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักเป็นชาวจีน ขณะที่ความเป็นอยู่ของคนธิเบตพื้นถิ่นกลับยากจน ซ้ำยังเป็นคนกลุ่มน้อย (ประมาณว่า ประชากรทุกๆ 10 คนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนราว 9 คน ที่เหลืออีก 1 คนคือชาวธิเบต)
ความลำบากด้านเศรษฐกิจนั้นเล็กน้อยมากหากเทียบกับการถูกลิดรอนทางจิตวิญญาณ
บางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า ไม่ว่าใครในธิเบตก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีรูปองค์ดาไลลามะที่ 14 ไว้ในครอบครองได้ ใครที่มีรูปของพระองค์ต้องเก็บไว้ให้มิดชิด อีกทั้งจำนวนพระนักบวชผู้เป็นส่วนประกอบสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมก็ลดลงอย่างมาก ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานการคุกคามและการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนอย่างโจ่งแจ้งก็ตามที
วัดเซราคือตัวอย่าง จากที่เคยมีพระจำวัดกว่า 5,000 รูป ปัจจุบัน เหลือเพียงไม่กี่ร้อยรูปเท่านั้น
อิสระจากความโกรธด้วยศรัทราและความรัก
แม้จะถูกครอบงำทางเศรษฐกิจและถูกลิดรอนสิทธิในการแสวงหาความสุขทางจิตวิญญาณสักแค่ไหน นั่นไม่ได้ทำให้ชาวธิเบตอ่อนแอลงแต่อย่างใด พวกเขายังคงมั่นในศรัทธาที่มีต่อพระพุทธองค์ พระโพธิสัตว์ และเพื่อนร่วมโลก ทั้งยังยืนหยัดที่จะไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่นัยน์ตาปรากฏร่องรอยแห่งความบอบช้ำ
ความปรารถนาที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความหมายและความดีงามของพวกเขาไม่เคยจืดจาง ผู้คนที่นั่นยังคงสวดภาวนา หมุนกระบอกมนต์ ให้มนต์ “โอม มะ นี ปัท เม หุม” ปกป้องและคุ้มครองทุกสรรพชีวิต
อิสระมีได้ แม้ไร้อิสระ
แม้ไร้อิสรภาพที่จะปกครองตนเอง แต่ฆราวาสชาวธิเบตกลับไม่ลืมอิสรภาพที่จะศรัทธา ที่จะรักทุกชีวิต พวกเขามีอิสรภาพมากพอที่จะเลือกการไม่เบียดเบียนใคร ไม่นิยมความรุนแรง เป็นอิสระจากความโกรธเคือง นี่เองมิใช่หรือคือ “อิสรภาพที่แท้”
อิสระทางใจนี่แหละที่ยิ่งใหญ่และสำคัญนัก
อิสระมีได้ แม้กายถูกจองจำ
หนังสือของพระอาจารย์ปสันโนชื่อ ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ รวมบทสัมภาษณ์ของท่านจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปอยู่ในคุกและสนทนากับ เจย์ -- จาตุรันต์ ศิริพงษ์ สามวันก่อนที่เขาจะถูกประหารในเรือนจำ ซาน เควนติน เมื่อปี 2542
เจย์ถูกจับในสหรัฐฯ ด้วยข้อหาปล้นฆ่าเจ้าของร้านและผู้ช่วย ชายหนุ่มผู้โชคร้ายสารภาพว่า ตนร่วมปล้นก็จริง แต่ไม่ได้ฆ่าใคร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขาไม่ยอมซัดทอดให้ผู้อื่น ศาลจึงมีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต
เจย์ใช้เวลาที่เหลือ 16 ปีสุดท้ายในเรือนจำด้วยการปล่อยวาง และหมดลมหายใจอย่างมีที่พึ่งทางจิตวิญญาณ
ในหนังสือเล่มนี้ พระอาจารย์ปสันโน ได้กล่าวถึงการปฏิบัติของเขาไว้ดังนี้
“ในแปดปีสุดท้ายของชีวิตเป็นช่วงที่การปฏิบัติของเจย์เริ่มปรากฏผลเป็นความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของเขาอย่างชัดเจน เจย์ได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ และได้เรียนรู้ว่า หากรู้จักปฏิบัติอย่างถูกต้อง การติดคุกก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว เจย์ยอมรับว่า ถ้าไม่ได้เผชิญความยากลำบากและความทุกข์แสนสาหัสอย่างที่ได้รับระหว่างต้องโทษในเรือนจำ เขาคงไม่อาจพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ถึงระดับนี้”
อิสระมีได้ แม้ถูกจองจำในกาย
หนังสืออีกเล่มที่ชื่อ The Diving Bell & The Butterfly หรือ ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ โดย ฌอง-โดมินิก โบบี้ (เป็นภาพยนตร์แล้ว) แต่งขึ้นหลังจากเป็นอัมพาตทั้งตัว ทำได้อย่างมากก็เพียงกะพริบตาข้างซ้ายเท่านั้น โดยให้ผู้ช่วยอ่านอักษรให้ฟังทีละตัว แล้วเลือกอักษรทีละตัวประกอบจนเป็นคำ ทีละคำๆ เรียงร้อยจนเป็นประโยคกระทั่งจบเล่ม
ฌอง-โดมินิก โบบี้ เปรียบร่ายกายที่เจ็บป่วยเคลือนไหวไม่ได้ของตนดั่งระฆังเหล็กที่นักดำน้ำใช้เพื่อป้องกันความดันน้ำใต้ท้องทะเล และจิตวิญญาณของตัวเองที่อิสระเหมือนผีเสื้อ แม้ต้องถูกจองจำในร่างกายที่นิ่งราวไร้ชีวิต โดยไม่ย่อท้อ
องค์ดาไลลามะที่ 14 ได้อรรถาธิบายในหนังสือ Generous Wisdom หรือ ปัญญาแห่งความเอื้อเฟื้อ ไว้อย่างน่าสนใจ จับใจความได้ว่า คนที่รวยและมีอำนาจนั้น ใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป ในขณะที่คนยากจนบางคนกลับใช้ชีวิตอย่างสงบ มีความสุขกับความพอเพียง
สภาวะจิตของเราทำให้เราเป็นสุขหรือทุกข์ การยึดติด ความโลภ ความโกรธ คือเหตุแห่งทุกข์ที่เราต้องรู้จักละ ตรงกันข้าม เราควรบ่มเพาะและรักษาจิตใจของเราให้เต็มเปี่ยมด้วยความรักความเมตตา อันนำความสงบ ความอิ่มเอิบ และความสุข มาสู่ใจเรา
ถ้าสังเกต เราจะเห็นตัวอย่างเช่นนี้ได้ไม่ยากในสังคม คนร่ำรวยที่ให้ใครไม่เป็น ยิ่งมี... ใจยิ่งจน ยิ่งอยาก... ยิ่งขาดมากขึ้น เขาเหล่านั้นกำลังถูกจองจำด้วยความโลภของตนเอง
ยังมีอีกหลายอย่างที่จองจำคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความยึดมั่นสำคัญในตัวตน
ไม่ว่าจะอยู่ไหนในสถานการณ์ใดก็มีอิสระได้เมื่อเรารู้เท่าทัน
เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติองค์ดาไลลามะที่ 14 ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2550
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ชีวิตรื่นรมย์ ฉบับอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2550
จิตร์ ตัณฑเสถียร
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันอาทิตย์, กรกฎาคม 01, 2550
Wisdom TODAY
ท่าน เชอเกียม ตรุงปะ เคยกล่าวในทำนองว่า
“โลกนี้เต็มไปด้วยใบมีดโกน
เรารู้ตัวกันหรือไม่ว่า กำลังเลื่อนโล้อยู่กลางทะเลแห่งคมมีดโกน”
เช่นนั้น เราจะรักษากาย และใจอย่างไร ให้ถูกเถือ ถูกบาด น้อยที่สุด
วันนี้ ท่านจะมีชีวิต บนใบมีดโกนอย่างไร
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)