วันพฤหัสบดี, กันยายน 27, 2550

ชีวิตที่ ‘มีชีวิต’ อีกครั้ง *


ท้องฟ้าที่เคยมืดมิด
พลันสว่างสดใสขึ้นทันตา
เมื่อลมหายใจฉันกลับคืนมา
ปาฏิหารย์เกินฝันกลายเป็นจริง
= = = = = = = = =
ฉัน...ผู้ซึ่งความตายอยู่ชิดใกล้
บัดนี้ ได้รับชีวิตใหม่อีกครั้ง
พร้อมลมหายใจที่ยังดำรงอยู่
สู่ชีวิตที่ดำเนินต่ออย่างแท้จริง
= = = = = = = = =
มองดูฉัน มองดูฉันสิ
คนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคง
คนที่ก้าวเดินอย่างมั่นใจ
สง่างามดุจอินทรีกลางเวหา
นำพาชีวิตตัวเองสู่ความปรีดา
สู่สายธาราความสุขของผู้คน


สิ่งที่ฉันอยากแบ่งปันในวันนี้คือ บทเพลงสะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ของคนอีกกลุ่มที่ไม่เคยได้รับความสนใจและความเข้าใจอย่างแท้จริง แต่คุณรู้ไหม บางครั้งชีวิตของพวกเขาเข้มแข็ง สง่างามและมีคุณค่ามากกว่าพวกเราหลายคนเสียอีก ขอแนะนำให้รู้จัก “ผู้เปลี่ยนอวัยวะ” ด้วยความยินดียิ่ง
ผู้เปลี่ยนอวัยวะคนแรกที่ฉันรู้จักคือ แด๊ด เพื่อนรักที่มิตรภาพของเรายาวนานกว่า 15 ปีแต่เขาเพิ่งมาเป็นผู้เปลี่ยนอวัยวะประมาณ 8 ปีที่แล้ว เริ่มจากอาการปวดหัวรุนแรง ความดันสูง กลายเป็นโรคไตวายโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน หลังจากที่รับรู้อาการป่วย เรื่องที่เราสองคนคุยกันส่วนใหญ่คืออาการของผู้ท้อแท้ในชีวิต
ฉันได้ยินแต่เรื่องที่แด๊ดเล่าถึงการใช้ชีวิตอย่างทรมาน เบื่อหน่าย และท้อแท้ ตารางประจำวันเป็นเพียงการนั่งดูนาฬิกา ทำงานไม่ได้ เพราะต้องฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ออกจากบ้านแต่เช้า เดินทางด้วยรถเมล์คนเดียวไปนั่งฟอกเลือดหนึ่งวันเต็มๆ และเฝ้าคอยรถเมล์ว่างๆ เพื่อจะได้นั่งกลับบ้านหลังจากอ่อนเพลียจากการบำบัด
สำหรับแด๊ด เงินทุกบาทหมายถึงค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดรักษาลมหายใจ วันไหนโชคดีมีเงินมากหน่อยถึงนั่งแท็กซี่ได้ ฉันทำได้เพียงพูดปลอบใจ นานวันเข้า ฉันก็ทอดทิ้งเพื่อนที่กลายเป็นผู้ป่วยทั้งกายที่ทรุดโทรมและใจที่เจ็บปวด บางครั้งฉันอดนึกไม่ได้ว่า โรคร้ายนี้ทำให้คนที่ฉันรักกลายเป็นคนอ่อนแอที่สุดและฉันก็กลายเป็นคนใจร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำให้เราค่อยๆ ห่างกันไป
สองปีต่อมา ฉันย้อนกลับมาหาแด๊ดอีกครั้ง เมื่อรู้ข่าวว่าแด๊ดกำลังผ่าตัดเปลี่ยนไตที่น้องชายเสียสละให้ ครั้งนี้ ฉันได้เห็นแววตาแห่งความหวังของเพื่อนรักกลับมาอีกครั้งก่อนเข้าห้องผ่าตัด และเมื่อฟื้นจากการผ่าตัดไม่นาน ฉันได้เห็นอาการช๊อคและดิ้นอย่างทุรนทุราย พร้อมเสียงร้องโหยหวนของเขา
ฉันไม่รู้ว่าแด๊ดได้มอร์ฟีนไปเท่าไหร่เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ฉันรู้เพียงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันร้องไห้ด้วยเห็นปฏิกิริยาทรมานทุรนทุรายของร่างกายที่ต่อต้านไตใหม่
ผู้เปลี่ยนอวัยวะจำเป็นต้องทานยาเพื่อกดภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ร่างกายตนปฏิเสธอวัยวะใหม่นั้น และพวกเขาต้องมีวินัยในการทานยาทุกวันตลอดไป
ตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่เราพบกัน ฉันเลี่ยงที่จะไม่ถามที่มาที่ไปของไตใหม่ของเขา ฉันกลัวว่าเพื่อนอาจจะอายหรืออาจเข้าใจผิดคิดว่าฉันรังเกียจ ทั้งๆ ที่ยังมีคำถามคาใจฉันมาตลอดว่า ทำไมต้องรอนานถึงสองปีเต็มกว่าที่น้องชายของเขาจะตัดสินใจสละไตข้างหนึ่งให้เขา เพราะชีวิตอาจจบลงก่อนที่เขาจะได้ผ่าตัดเปลี่ยนไตด้วยซ้ำ
เมื่อความกล้าและโอกาสถามมาถึง คำตอบจากเพื่อนรักคนนี้ก็คือ เพราะตอนนั้น ไม่มีใครในครอบครัวเข้าใจเรื่องการรักษาโรคไตวาย ไม่มั่นใจในวิธีการรักษาด้วยการเปลี่ยนอวัยวะ เขาเล่าว่ามีคนใกล้ชิดเสนอตัวจะบริจาคไตให้เมื่อรู้ข่าว แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธ ไม่ยอมแม้แต่จะตรวจเนื้อเยื่อว่าตรงกัน สามารถให้อวัยวะแก่กันได้หรือไม่
“เรากลัวว่า ถ้าเราเอาไตเขามา เราอาจหายป่วย แต่คนที่ให้จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ไปตลอด เราไม่อยากรบกวนชีวิตใครขนาดนั้น” ถ้อยคำของแด๊ดอาจเป็นคำตอบเดียวกับของผู้ป่วยโรคไตอีกหลายคน
หลังจากที่แด๊ดได้ไตจากน้องชาย เขาไม่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดอีกแล้ว และทุกวันนี้ เขามีร่างกายแข็งแรง ทำงานอยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์อย่างที่ตัวเองใฝ่ฝัน ได้แต่งงาน มีครอบครัวที่อบอุ่นและลูกสาวที่น่ารัก ส่วนน้องชายก็มีสุขภาพดีและทำงานออกแบบในบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพี่น้องคู่นี้มีไตคนละข้าง ใครจะรู้ว่า ถ้าไม่มีไตของน้องชาย ชีวิตของแด๊ดวันนี้จะเป็นอย่างไร
แล้วชีวิตของผู้ป่วยคนอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องใช้วิธีรักษาด้วยการเปลี่ยนอวัยวะล่ะ
พวกเราทุกคนรู้ดีว่า วิธีรักษาโรคแตกต่างกันไปตามอาการ วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ขึ้นเรื่อยๆ โรคที่ร้ายแรงหลายโรค เราป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคบางอย่าง ร่างกายของเรารักษาได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง บางอาการต้องทานยา ทายา ฉีดหรือฉายรังสี ส่วนโรคภัยที่รุนแรงอาจต้องตัดบางอวัยวะทิ้งเพื่อรักษาชีวิตที่เหลือ
คนไข้บางรายที่อวัยวะในร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำงานผิดปรกติอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เราจะละเลยและบอกว่าพวกเขาโชคร้ายหรือ หากการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนอวัยวะคือคำตอบเดียวของพวกเขา
เมื่อฉันมีโอกาสร่วมงานในการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกที่ผ่านมา ฉันจึงรู้จักชีวิตของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นรู้ว่าโรคร้ายที่รักษาได้ด้วยการเปลี่ยนอวัยวะคือ โรคที่เกี่ยวข้องกับเยื่อแก้วตาทั้งสองข้าง ตับ หัวใจ ปอด ไต และไขกระดูก ซึ่งสองอย่างหลัง สามารถรับได้จากผู้ให้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จากญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เนื้อเยื่ออาจตรงกันมากที่สุด
ส่วนที่เหลือ ผู้ป่วยต้องลงชื่อรอรับบริจาคอวัยวะที่สภากาชาดไทย รอรับจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือจากเด็กและวัยรุ่นที่ประสบอุบัติเหตุจนสมองตายและผู้ปกครองยินดีบริจาคให้ ซึ่งแพทย์จะนำมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วยในบัญชีที่มีเนื้อเยื่อตรงกันและร่างกายที่พร้อมรับโดยเร็วที่สุด
ด้วยขั้นตอนและเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรอนานแรมปี บางราย ร่างกายทนรอไม่ไหว เสียชีวิตไปก่อนก็มี เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้ มักไม่มีใครอยากพูดถึงหรือได้รับการเล่าขานในพื้นที่สาธารณะ หากเปรียบอวัยวะใหม่เป็นดั่งโอสถ ไตของน้องชายแด๊ดที่สละให้พี่ชาย คือยาขนานเดียวที่ใช้รักษาอีกชีวิตที่ต่อให้โลกแห่งเทคโนโลยีก้าวล้ำแค่ไหนก็ไม่อาจสร้างขึ้นแทนกันได้
“การให้” อวัยวะเท่านั้นคือคุณค่าอันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต
ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเป็นสุข และเห็นคุณค่าที่งดงามของ “การให้” และ “การมีชีวิต”

* แปลจากเนื้อร้องภาษาอังกฤษโดยป้าเกรน เศรษฐพันธ์ ฝรั่งใจงาม เพื่อใช้ในระหว่างการแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลก 2550 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนคำร้องและทำนอง แต่งโดยศิลปินชั้นเยี่ยมนาม ว.วัชญาน์ หรือพี่บ่วย หนึ่งในนักกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะทีมชาติไทยที่ฉันเคารพรักในน้ำใจ
สนใจรับข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ กรุณาติดต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
โทร.1666 หรือ สมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย โทร.0–2411–3776


ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 25 กันยายน 2550
วรภา เตชะสุริยวรกุล
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com

วันพุธ, กันยายน 05, 2550

เริ่มต้นจากโลกที่เราไม่คุ้นเคย



สุดสัปดาห์ของต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเราชาวสื่อสร้างสรรค์ (Happy Media) ได้มีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการกับกระบวนกรหนุ่มใจใสที่พนาศรม แถวศาลายา จังหวัดนครปฐม “ณัฐฬส วังวิญญู” สมาชิกแห่งสถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนโรปะ สหรัฐฯ
ณัฐฬส วังวิญญู ผู้นี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม HOST (Human Oasis Spiritual Transformation) ที่แตกแขนงมาจากสถาบันขวัญเมืองอีกทอดหนึ่งด้วย
การอบรมครั้งนี้เริ่มต้นด้วยลีลาของบัณฑิตหนุ่มที่ชวนพวกเราสนทนาด้วยหัวใจที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” (dialogue) จากนั้น จึงเริ่มร่ายความกระบวนการทำงานของสมองและการเรียนรู้ของคนเราว่าเป็นอย่างไร
คำแรกที่เราเรียนรู้คือ “โหมด” (MODE) ที่อธิบายถึง “พลังชีวิต” ของเราที่มีความไหลลื่นอยู่ตลอดเวลา หากพูดด้วยภาษาและไวยกรณ์ของวิชาชีวฟิสิกส์จะหมายถึง “การรับรู้” หรือ “การมองโลก” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สภาวะ ได้แก่ สภาวะปรกติ (normal mode) และสภาวะของการปกป้อง (defensive mode)
ณัฐฬส บอกกับเราว่า สภาวะแรก เป็นคุณลักษณะปรกติธรรมดาที่เราๆ ท่านๆ ปรารถนา นั่นคือ มีความปลอดภัย เติบโตและเรียนรู้ไปตามกาลเวลา หากเจ็บปวด ร่างกายและจิตใจก็จะทำการซ่อมแซม ฟื้นพลังด้วยตัวเองตามธรรมชาติ
ขณะที่อีกสภาวะ เซลล์จะทำหน้าที่ในการปกป้องตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ไม่กังวลหรือหวงความรู้ เป็นสภาวะของการแบ่งปันข้อมูลตลอดเวลา ยิ่งเราคิดเร็วเท่าไหร่ เร่งรีบเท่าใด เซลล์นี้ก็ยิ่งระแวดระวังเพื่อปกป้องตัวเองเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
นั่นหมายความว่า หากเราคิดและตีความเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเร็วเกินไป สำนึกแห่งการปกป้องที่ว่านี้ก็จะยิ่งรวดเร็วตามไปด้วย ทั้งนี้ อาจเพื่อต้องการเอาตัวรอด ซึ่งหากหวาดระแวงมากเกินไป บางทีก็อาจกลายเป็นอาการคิดมาก เป็นสภาวะแห่งการ “ปกป้องเก๊” ที่ติดแน่นกับกับดักทางความคิดในจินตนาการของตัวเราเอง
กระดานถัดมา เป็นเรื่องของ “สมองสามชั้น” ได้แก่ สมองชั้นในสุด (ฐานกาย) ซึ่งเป็นส่วนของสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในสัตว์เลื้อยคลานที่หลงเหลือตกทอดมาสู่มนุษย์เรา คงเป็นเพราะเหตุนี้ “ลิ้น” จึงเป็นประสาทสัมผัสแห่งความสุขที่สุด กระตุ้นให้เราเกิดความอยาก เช่น ความสุขที่ได้ทานอาหาร ลิ้มรสความหวาน ความเอร็ดอร่อย
สมองชั้นนี้ กระบวนกรเล่าว่า แทนตำแหน่งของ “ตัวกู” ที่กำหนดพฤติกรรมเด่นชัดตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ ของคนเรา ซึ่งเป็นช่วงอายุของการสร้างวินัย เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรม และทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยติดตัวเรา
สมองชั้นในสุดยังมีความละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยสังเกตจาก ปกติ หากเราเหนื่อย เราก็จะยิ่งเอาจริงเอาจัง แต่ทว่ากลับคิดอะไรไม่ค่อยออก เพราะอารมณ์ความรู้สึกติดลบ ซ้ำยังควานหาข้ออ้างสารพัดเข้าข้างตัวเองว่าเป็นความจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่างๆ นานา
สมองชั้นต่อมา คือสมองส่วนกลาง (ฐานอารมณ์) ที่เริ่มพัฒนาในช่วงอายุ 7-14 ปี มนุษย์วัยนี้จะเริ่มเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในมิติของอารมณ์เป็นพิเศษ ณัฐฬสว่า นี่คือคุณสมบัติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยคนเราจะสนใจศิลปะ ความงาม เห็นและเล่าเรื่องเป็นภาษาภาพ รู้จักแยกแยะว่าใครเป็นพวกใคร ทั้งรักชอบและเกลียดชัง นั่นคือ เริ่มมีสำนึกในพวกพ้อง หรือการ “อยู่ร่วม” เริ่มอ่อนไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึก การมีสำนึกเรื่อง “คุณธรรม” ก็อยู่ในสมองชั้นนี้ สัตว์เลี้ยงอย่างเช่น สุนัข และแมว ก็มีความจำจากอารมณ์ความรู้สึกด้วยเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งหล่อเลี้ยงสมองซีกนี้คือ ความรัก ความชื่นชม และการให้อภัย หากใครตกอยู่ในสภาวะปกป้องก็จะสร้างวังวนหรือ “ร่องอารมณ์” เชิงลบ เช่น อาการรังเกียจ และความอิจฉาริษยา ซึ่งลึกๆ แล้วก็อยากสัมพันธ์กับผู้คน แต่ไม่กล้า ส่วนสัมผัสที่ทำงานกับสมองส่วนนี้คือ “จมูก” ที่รับรู้กลิ่น และ “หู” ที่ได้ยินเสียง
สมองชั้นสุดท้ายนอกสุด (ฐานความคิด) จะทำงานในเรื่องของ “ความคิด” และ “ตัวรู้” (ซึ่งเป็นคนละตัวกัน) ตัวรู้คือ “ตาที่สาม” ในคติพุทธ-วัชรยานที่คอยสังเกตหรือเฝ้าติดตามความคิดอีกทอดหนึ่ง ตัวรู้จะประมวลผลข้อมูลที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ในทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าอยู่บริเวณสมองส่วนหน้าผาก (Pre-frontal) ถ้าหากจิตของเราว้าวุ่น เราก็จะไม่ได้ยินเสียงญาณทัศน์ของเราในส่วนนี้
คำสำคัญของสมองชั้นนอกคือการ “อยู่อย่างมีความหมาย” การรับรู้สัมผัสผ่านสายตาคือจักษุทรรศน์ที่คอยเก็บรายละเอียดและแสดงความคิดเห็น การจับโกหกจึงสังเกตได้ทางสายตา เช่น หากเหลือบมองขึ้นด้านบนซ้ายคือกำลังโกหก มองขึ้นด้านขวาคือการดึงความจำออกมา
สภาวะปรกติ เมื่อร่างกายผ่อนคลาย ได้พักผ่อน ความสุขก็จะสดชื่น ความคิดจะแจ่มใส ปัญญาก็จะปรากฏ บางคน มักมีอารมณ์แจ่มใสเป็นประจำทุกๆ เช้า บางคนจะกลับรู้สึกสบายใจในยามเย็น ต่างกันไป
เราๆ ท่านๆ เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า ในแต่ละวัน ต้องเริ่มต้นด้วยการกระทำอะไร ผมเอง หากไม่ได้ดื่มกาแฟสักถ้วยก่อนเริ่มงาน วันนั้นทั้งวันก็จะอึดอัด หัวสมองไม่แล่น อ้างสารพัดเหตุผล
ณัฐฬสเสริมด้วยว่า การเดินของ กฤษณะ มูรติ วันละครึ่งชั่งโมงเป็นประจำทุกวันของเขา คือตัวอย่างของวินัยมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเจตจำนง (will) หรือจิตที่รับรู้ ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล
บทเรียนสุดท้ายสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่าด้วย “กระบวนการเรียนรู้” ของคนเราที่ณัฐฬสขยายความเพิ่มเติมว่า อาจเปรียบได้กับรูปตัวยู (U) ที่ขาลงหมายถึง การเริ่มจากภาวะปกติที่เต็มไปด้วยความปลอดภัย ปฏิบัติตนตามความคุ้นเคย ใช้ความรู้เดิมๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่มีอะไรใหม่ วิทยากรเรียกลักษณะนี้ว่าเป็นการ download ข้อมูลจากอดีต ภาษาเฉพาะของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์บางกลุ่มอาจเรียกว่า “กินของเก่า”
หากใครปรารถนาที่จะเรียนรู้เพื่อ “การเปลี่ยนแปลง” จำเป็นต้องละทิ้งความคุ้นเคย รวมทั้งความรู้เดิมๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่สภาวะของ “ความไม่รู้” จากจังหวะการดำเนินชีวิตที่รวดเร็ว ก็ต้องเริ่มช้าลงๆ ควบคู่ไปกับการ “เปิดใจ” เปิดรับโลกที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เป็นต้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง จุดที่อยู่ ณ ก้นบึ้งของรูปตัวยู อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ความมุ่งมั่นหรือเจตจำนงภายในก็จะปรากฏให้เห็น เราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงคุณลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการภาวนา ต้องเขย่าหัวใจเราเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนกรหนุ่มเน้นเช่นนั้น
ทำได้ดั่งนี้ หนทางต่อไปคือ “การโอบกอด” รับญาณทัศนะใหม่อย่างพินิจ ซึ่งจะไม่ปรากฏ หากเรายังยึดมั่นถือมั่น ไม่ปล่อยกรอบคิดเก่าๆ ให้เป็นอิสระ ทั้งนี้ ญาณทัศนะดังกล่าวอาจมาในรูปของ “โคตรแบบ” (prototype) ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นวิถีการดำเนินชีวิตใหม่หรือวัฒนธรรม (culture) ในอนาคต
โอกาสหน้า พวกเรากลุ่มสื่อสร้างสรรค์ หรือ Happy Media จะนำบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจตัวเองดีๆ มาแลกเปลี่ยน เล่าสู่กันฟังเช่นนี้อีกนะครับ





ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 4 กันยายน 2550
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์

แอนน์ วรภา “อาชีพไหนก็อาสาได้”



แอนน์ เป็นสาวร่างเล็ก หัวกลม ยิ้มหวาน ร่าเริง ตาเป็นประกาย และมีมนุษย์สัมพันธ์ระดับยอด เธอเป็นสาวนักประชาสัมพันธ์ นักบริหารภาพลักษณ์องค์กรที่เติบโตในสายงานมากว่า 7 ปี งานลักษณะนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ เงินและงานเวียนเข้ามาไม่ให้หยุด จนเธอเปรียบว่าทำงานอย่างกับ “แมลงวัน” (แมลงวันหัวเขียวหรือเปล่า ฮาๆ)

ทว่าความกระตือรือร้นกลับเปล่งประกายแห่งความสุขมากขึ้น เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครสื่อมวลชนสัมพันธ์ให้กับงานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” การมาถึงของ ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัมซึ่งมาเยือนไทยช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันเธอเป็นนักประชาสัมพันธ์อิสระ ทำงานให้กับโครงการ GNH และ การแข่งขันกีฬาผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ชีวิตคนทำงานอิสระ เธอบอกว่าทำให้เธออิสระจาก “เงินตรา การโกหก และงานที่รัดตัว”

สิ่งที่เธอได้ คือ “เวลา ความสุข และมิตรภาพ”

ลองมาฟังเสียงคุณค่าของคนๆ หนึ่งเสียหน่อยเป็นไร อาสาสมัครผู้สร้างสัมพันธภาพ แอนน์ วรภา เตชะสุริยวรกุล

เส้นทางของเด็กไฮเปอร์

พี่แอนน์เป็นสาวตัวเล็กแต่ไฮเปอร์ยิ่ง เสียงเล็กๆ ของเธอเล่ารัวยาว ตั้งแต่ครั้งเธอเป็นเด็ก เธอชอบการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ชื่อ “ตากล้องที่รัก” เป็นเรื่องราวของเด็ก ชื่อ “มิยะ” ที่ชอบถ่ายภาพและได้ทำงานนบริษัทโฆษณา มักได้คิด สร้างสรรค์และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เสมอ จนสุดท้ายที่งานโฆษณาที่ออกมาได้กลายเป็นสิ่งภาคภูมิใจ อีกทั้งมีน้าชายที่ทำงานบริษัทโฆษณา ทำให้เธอบอกกับตัวเองว่า “นี่แหละอาชีพของฉัน” เล่าย้อนจากวันนั้นถึงวันนี้ พี่แอนน์ยังแอบขำในความแบ๊วบ๊องของตัวเอง

“ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นที่เห็นผลงานของสมาชิกในครอบครัวได้ออกทีวี เห็นทีไรมีเรื่องหัวเราะกันตลอด”

พอเริ่มเรียนชั้นประถมตอนปลาย ได้อ่านหนังสือของกลุ่มดินสอสี รู้สึกชอบ จึงเข้าไปหาพี่ๆ พร้อมหิ้วน้องชายตัวน้อยไปด้วย กลายเป็นน้องเล็กของสำนักงาน นอกจากกลุ่มดินสอสี เธอพบพี่ๆ กลุ่มเบญจรงค์ ซึ่งทำสื่อวาดการ์ตูน “ตาวิเศษ” กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจวัยเด็กเกี่ยวกับงานสื่อสารมวลชน

พอจบมัธยมปลาย เธอกลับสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะผิด เนื่องจากเข้าใจว่า คณะศิลปศาสตร์ เรียนเหมือน คณะนิเทศศาสตร์ ขึ้นปีที่สองเธอจึงตัดสินใจย่องไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ในฝัน แอบเรียนไปๆ มาๆจนอาจารย์ประจำวิชาจับได้และถูกเชิญออกจากห้อง แต่จนแล้วจนรอด ไฟในตัวก็ไม่เคยมอด ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเธอทำกิจกรรมสารพัด อีกทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์อาสาให้กลุ่มเบญจรงค์ ทำงานสัมภาษณ์ให้นิตยสาร “บ้านเด็ก” ได้เรียนรู้จากการสัมภาษณ์มากมาย จนหนังสือปิดตัวไปนะแหละเธอจึงหยุด

เมื่ออยู่ปี 3 เพื่อนคนอื่นยังไม่ทันได้ฝึกงาน พี่แอนน์กลับไปอ้อนวอนขอเข้าฝึกงานกับบริษัทโฆษณา JWT พร้อมเรียนรู้งานทุกอย่าง ทุกฝ่าย ทุกรูปแบบ โดยไม่มีเกี่ยงงอน แต่นานวันเข้า เธอก็พบว่าชีวิตนักโฆษณาซึ่งเต็มไปด้วยแฟชั่น ของหรู และความโก๋เก๋ ไม่ใช่แนวเลยสิให้ตาย

“รู้นิสัยตัวเองว่าชอบลุยงาน มอมแมม คงไม่เหมาะใช้ชีวิตแบบสาวสวย ตอนนี้รู้ตัวแล้วว่าชอบงานสื่อสารมวลชนแล้วล่ะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร ถ้าไม่ใช่งานโฆษณา”

เมื่อเรียนจบ เธอกรอกใบสมัครกับ บริษัทตรีเพชรอีซูซุ และเริ่มทำงานนักประชาสัมพันธ์ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้เธอสนุกและรักงานนี้อย่างมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนหมุนเวียนงานไปหลายที่ก็ตามที

จุดเริ่มอยู่ที่ครอบครัว

ทว่าในทุกๆ วันที่ทำงานอย่างสนุกสนาน พี่แอนน์กลับพบว่านับวันยิ่งห่างเหินครอบครัว วันหนึ่งขณะหยุดพักอยู่บ้าน นั่งมองหน้าพ่อและแม่ เธอสะกิดในใจว่า “ทำไมพ่อแม่ถึงได้แก่อย่างนี้??”

แรงคิดนี้เองทำให้เธอตระหนักได้ว่า ชีวิตมันสั้นจริงๆ

“มัวแต่กลุ้มใจเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน ปัญหาร้อยแปด แต่เราไม่เคยหยุดทำงานและใช้เวลาร่วมกับคนในบ้านเลย”

เธอจึงตัดสินใจลาออก หยุดทำงานแบบแมลงวันวิ่งไปนู้นมานี่อย่างไม่รู้ทิศทาง ออกมาช่วยรุ่นพี่ที่ตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ แต่ก็ยังเจอนายจ้างที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อลูกจ้าง ต่อลูกค้า จนไม่สามารถยอมรับได้

“เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเราแล้ว แม้ว่าจะเห็นว่ามีเงิน เราก็ไม่สนใจแล้ว นาทีนี้ เรารู้สึกอึดอัด เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราภาคภูมิใจมาที่สุดช่วงไหนในชีวิต มีความสุขกับการทำงานแบบไหน รู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเวลาทำงานอะไร เราไม่อยากเปลืองตัว เสียเครดิตและเครือข่ายด้านบวกที่เราได้รับความเมตตาที่ผ่านมา วิชาชีพที่เราได้เรียนรู้จากอาจารย์ คนรอบข้างที่เอื้อเฟื้อเรา กลับถูกเราเอามาใช้ประโยชน์แบบเห็นแก่ได้”

ตั้งแต่นั้น เธอก็พยายามหาเลี้ยงชีพอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เลือกงานที่เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แม้จะมีรายได้น้อยลง แต่ก็มีความสุขมากกว่าเดิม

“อันนี้เงินเป็นล้านก็ซื้อไม่ได้นะ เศรษฐีเขาอาจซื้อนาฬิการาคาหลายล้านบาท ถูกชื่นชม มีความสุข มีคนอิจฉา แต่เขาก็ซื้อเวลาไม่ได้ และโชคดีด้วยที่พี่ไม่มีภาระทางบ้านอะไรมาก เลยสามารถทำได้” พี่แอนน์เล่ายิ้ม

ด้วยความที่เป็นนักประชาสัมพันธ์ เธอจึงมีเพื่อนมากมาย หนึ่งในเพื่อนของเธอนั้นอยู่ในกลุ่ม Happy Media ซึ่งกำลังหาคนช่วยงานประชาสัมพันธ์งานภาวนาหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จึงทำให้เธอพบเจอที่ทางการทำดี

“พี่บอกว่าแต่แรกเลยว่า พี่ไม่รู้เรื่องอะไรของหลวงปู่เลยนะ พี่เคยได้ยินชื่ออย่างเดียว แต่พี่อยากช่วย เพราะเป็นสิ่งที่ดี และอยู่ในวัยที่สนใจเรื่องปฏิบัติธรรมด้วย ส่วนเรื่องค่าตอบแทน พี่ที่ดูแลบอกตั้งแต่แรกเลย ไม่มีงบให้นะ พี่โอเค ยินดีทำ”

พี่แอนน์บอกว่าเมื่อทำงานนี้ เธอมีความสุข ได้ทำงานที่รัก ได้ช่วยสื่อสารสิ่งที่ดีงาม ได้เรียนรู้ธรรมะ อีกทั้งยังได้พาเพื่อนสื่อมวลชนมาสัมผัสประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน

สิ่งที่เธอได้คือ “เวลา ความสุขและมิตรภาพ” ซึ่งมากมายเกินพอความคาดหวังใดๆ


อาชีพไหนก็อาสาได้

ทุกวันนี้ความสุขของพี่แอนน์ คือ การทำงานที่สามารถช่วยคนอื่น ช่วยทีมงาน ช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่ ให้มีกินมีใช้ มีของอร่อยกินบ้าง มีของใช้ตามอัตภาพ มีความสุขกับการใช้เวลาร่วมกัน

สำหรับคนที่อยากนำความสามารถของตัวเองออกมาช่วยเหลือผู้อื่นบ้างอย่างพี่แอนน์ เธอแนะนำว่า


อันดับแรก คือ รู้ตัวเองก่อนว่าความถนัดและความสามารถอะไร, สอง คือ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เรามีความสุขใจ เมื่อทำงานอะไร ภาคภูมิใจกับงานชิ้นไหน และคำตอบนี้จะช่วยบอกเราเองว่า เราจะเอาอาชีพของเรามาสร้างสรรค์อะไรต่อไป ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องออกจากงานเพื่อมาทำงานอาสา ในเมื่อการอาสาสามารถทำได้ตลอดเวลา ในที่ทำงาน ในครอบครัวของเราเอง

“ถ้าเราทำงานดี ขยันขันแข็ง ช่วยงานพี่ๆ น้องๆ ในที่ทำงาน สร้างสรรค์งานที่ดีในขอบเขตความรับผิดชอบของเรา บรรยากาศการทำงานที่ดี ก็ช่วยสังคมได้ คนทำงานร่วมกันก็จะมีความสุข ถ้าสนิทกันมากๆ มีอะไรปัญหาที่บ้านมาแชร์กัน เราช่วยสังคมกลุ่มย่อยตลอด แบบนี้พี่ตีว่าแบบนี้เราได้ทำงานอาสาแล้วนะ พี่ว่าเราอาสากันได้ตลอดเวลา อาชีพไหนก็อาสาได้ แถมยังทำงานเต็มเวลามากกว่าฟรีแลนซ์อย่างพี่เสียอีก”

หากมีเวลาเหลือ นัดกันไปทำบุญ สร้างบ้าน เลี้ยงน้อง อ่านหนังสือ ฯลฯ ก็ได้ หรือเห็นงานที่องค์กรเพื่อสังคมที่ไหนมี และสิ่งที่เรามีอยู่ช่วยงานได้ก็เข้าไปเลย แต่ต้องบอกก่อนว่าเราเข้าไปทำงานอาสา อย่าลืมงานที่เราต้องดูแลตัวเราเองด้วย ถ้าลาออกไปทำงานอาสาแล้วอยู่ไม่ได้ เบียดเบียนคนที่บ้าน อันนี้พี่ว่าอาสาช่วยคนอื่นจนลืมช่วยตัวเอง แต่ถ้าคุณพร้อมที่จะทุ่มเท มาเลยลงเต็มตัว คุณไม่ลำบากครอบครัวสบาย ที่เหลือมาช่วยสังคมกัน”

ถึงตรงนี้ หากแม้คุณเป็นนักบัญชี แม่บ้าน หรือ อาชีพใดก็ตามในสากลโลกใบนี้ โปรดรู้ งานอาสาอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว ทุกลมหายใจจริงเชียว ขอให้คุณสัมผัสมัน

พรรัตน์ วชิราชัย
เครือข่ายจิตอาสา
Website : http://www.volunteerspirit.org
Email : volunteersipirit@gmail.com