วันอังคาร, พฤษภาคม 29, 2550

Not Always So


“It may be so. But not always so.”
“ก็อาจจะใช่ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป”
คำพูดสั้นๆ จากหนังสือ “Not Always So” ของท่านชุนเรียว ซูซูกิ โรชิ อาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่นที่ทำให้เซ็นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศอเมริกา ยังคงสดใหม่อยู่เสมอ
ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราจะยึดติดกับสิ่งที่เราเชื่อว่าใช่จนทำให้ตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมเดือดร้อน บ่อยครั้งที่เห็นคนโต้เถียงกันจนหน้าดำคร่ำเครียดในที่ประชุม บ้างก็โกรธเคืองกันแบบปล่อยวางไม่ลง ให้อภัยกันไม่ได้
เบื้องหลังฉากของละครชีวิตที่เราทุกคนกำลังร่วมแสดงกันอยู่นี้ มีผู้กำกับมือทองที่ชื่อว่า “คุณความเชื่อ” หรือ “คุณความคิดเห็น” อยู่ที่นั่นเสมอโดยไม่ต้องเชื้อเชิญ เพียงผู้กำกับกระซิบเบาๆ ผ่านความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น ใครต่อใครก็พร้อมตีบทให้แตกกระจุยได้ทันที โดยไม่เคยตั้งคำถามกับบทที่ได้รับ
มันคุ้มแค่ไหนที่พลีใจพลีกายให้กับ “คุณความเชื่อ” ในเมื่อสิ่งที่เราเชื่อหรือความเข้าใจของเรานั้นก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป
ท่านชุนเรียว ซูซูกิ กล่าวถึงการยึดติดในนิยาม ความรู้ และความหมายเดิมๆ ที่ทำให้เราไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง
ท่านยกตัวอย่างของน้ำ คนส่วนใหญ่ย่อมคิดว่า “น้ำก็คือน้ำ” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ทั้งถูกและไม่ถูกในขณะเดียวกัน
สิ่งๆ หนึ่งอาจมีความหมายที่แตกต่างกันได้มากเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกัน สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นน้ำนั้น คือบ้านของปลา คืออาหารของต้นไม้ และอาจจะหมายถึงชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งกันดาร
ผมยังจำได้ถึงความทุกข์ของเด็กหญิงชั้นประถม 4 ที่เกิดขึ้นจากความรักและความหวังดีของคุณแม่เธอเอง
ในการสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้มสดใสของเด็กนับสิบคน มีเด็กหญิงตัวจ้ำม่ำมากระซิบข้างหูผมว่า “พี่คะ... หนูอยากตาย”
ด้วยความไม่แน่ใจว่าเธอหมายความเช่นนั้นจริงๆ หรือแค่ล้อผมเล่น เมื่อสอบถามกับคุณครูก็ได้ความว่าเด็กกำลังเครียด และคงอยากระบายความในใจกับใครสักคน
เธอเล่าให้ผมฟังถึงตารางเรียนพิเศษในแต่ละวันที่หนักหนาเอาการสำหรับเด็กชั้นประถม 4 เธอเข้าใจถึงความจำเป็นเพราะคุณแม่จะบอกอยู่เสมอๆ ว่าสมัยนี้การแข่งขันสูง ต้องทุ่มเทให้มาก
ขณะที่ผมกำลังรู้สึกว่าตัวเองกำลังคุยอยู่กับผู้ใหญ่ตัวน้อยที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ เธอก็ร้องไห้โฮออกมาซะเฉยๆ เธอพูดด้วยเสียงสะอื้นแบบเด็กๆ “หนูไม่อยากเรียนเปียนโน หนูเหนื่อยจริงๆ” เธออยากบอกให้คุณแม่รู้แต่ก็ห่วงว่าจะทำให้คุณแม่เสียใจ แม่บอกเธออยู่เรื่อยว่าแม่รักเธอแค่ไหน ลำบากแค่ไหนก็ยอมเพื่อให้เธอได้มีโอกาสที่ดี
ความรักและหวังดีของเราอาจสร้างความทุกข์ให้คนที่เรารักได้เมื่อเราไม่รู้เท่าทัน จริงอยู่ว่าความรักนำมาซึ่งความสุข แต่ก็ไม่แน่เสมอไป
บางครั้งสิ่งที่ใช่ก็กลายเป็นไม่ใช่ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นน้ำในขณะนี้ อาจกลายเป็นไอ เป็นเมฆ ในวันพรุ่ง
น้ำอาจเป็นน้ำ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นน้ำเสมอไป สิ่งที่เราเห็นเป็นความสุขอาจแปลเปลี่ยนเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
บ่อยครั้งที่เห็นพ่อแม่จัดสรรความสะดวกต่างๆ ให้ลูกจนเกินงาม โดยไม่คิดว่าสิ่งๆ นั้นจะสร้างผลอะไรในระยะยาว ถ้าโชคดีเด็กเข้าใจก็แล้วไป ถ้าโชคดีเด็กโตขึ้นแล้วหาเงินได้มากเพียงพอโดยไม่ต้องเบียดเบียนใครก็แล้วไป
แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากลูกหลานของเราไม่โชคดีเช่นนั้น ความรักอาจกลายเป็นยาพิษหากเราไม่ตระหนักรู้ถึงผลระยะยาว
“It may be so. But not always so.”
“ก็อาจจะใช่ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป” ทำให้เราคลายความยึดติดกับความเชื่อต่างๆ จนเป็นทุกข์ หรือสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น หากแต่พึงรักษาความสดใหม่ในใจเราไว้อยู่เสมอ ด้วยการมองโลกด้วยสายตาที่สดใสไร้อคติ ฟังเสียงด้วยหูที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ รับรู้ด้วยใจที่เปิดกว้างจากหลากหลายมุมมอง เพียงเท่านี้เราก็เริ่มมีจิตแบบเซ็นอย่างที่ท่านชุนเรียว ซูซูกิ มักกล่าวถึงอยู่เสมอว่า “Zen Mind, Beginner’s Mind” หรือ “จิตแบบเซ็น จิตที่ไม่ยึดติดกับความรู้เดิมๆ” แต่พร้อมเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ เสมอ
ในการขับรถเรายังต้องมองกระจกถึง 3 – 4 บาน เพื่อให้เห็นได้หลากทิศทาง ลองจินตนาการการขับรถที่ไม่มีกระจกส่องหลังและไม่มีกระจกส่องข้าง เราคงต้องขับไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ
แล้วทำไมเรากลับด่วนตัดสินเรื่องอื่นๆ ในชีวิตด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว
การเปลี่ยนที่ยืนและมองดูสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองใหม่อาจให้อะไรมากกว่าที่เราคิด
เร็วๆ นี้ได้อ่านบทสัมภาษณ์นักบินอวกาศที่มีโอกาสเห็นโลกจากระยะไกล มีคำพูดที่น่าสนใจอยู่หลายชิ้น
จิม โลเวลล์ นักบินอวกาศในยานอพอลโล่ 8 และ 13 กล่าวว่า “ที่ระยะห่าง 240,000 ไมล์ (หรือ 384,000 กิโลเมตร) จากโลก ผมได้ตระหนักว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีร่างกายเพื่อชื่นชมท้องฟ้า ต้นไม้และน้ำ ... นี่เป็นอะไรที่เราส่วนใหญ่มักละเลย เพราะเราเกิดและโตบนโลก เราเลยไม่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เรามี ผมเองก็คิดเช่นนั้น จนถึงวันที่ผมได้เดินทางออกจากโลก”
อานูเช่ อันซารี นักท่องเที่ยวอวกาศลูกครึ่งอิหร่านอเมริกันที่เพิ่งเดินทางเมื่อปีที่แล้วได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน “โลกที่ฉันเห็นนั้น ไร้ซึ่งเขตชายแดน ไร้ซึ่งความแบ่งแยกทางเผ่าพันธุ์และศาสนา เธอจะไม่แบ่งแยกว่านี่คือบ้านฉันหรือประเทศของฉัน เพราะสิ่งที่เธอเห็นคือภาพของโลกที่เป็นหนึ่งเดียว”
จริงอยู่ที่ความรู้และความเชื่อต่างๆ ทำให้รู้สึกหนักแน่น มั่นคง ไม่เคว้งคว้าง แต่ “ก็ไม่แน่เสมอไป” เมื่อเราปล่อยวางและไม่ยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ จนเกินไป จิตใจเราก็สดใสเป็นอิสระ พร้อมที่จะเห็นโลกในมุมใหม่ๆ แม้จะไม่มีโอกาสได้ออกไปไกลถึงนอกโลกก็ตาม

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 8 พ.ค. 2550
จิตร์ ตัณฑเสถียร media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันจันทร์, พฤษภาคม 28, 2550

สื่อสร้างสรรค์สัญจรประจำเดือนมิถุนายน ชวนเยี่ยมบ้านนักเขียน “ศรีดาวเรือง”


“ศรีดาวเรือง” เป็นชื่อนามปากกาของคุณวรรณา ทรรปนานนท์ นักเขียนสตรีวัย 64 ผู้สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องบนถนนน้ำหมึกตลอดสามสิบปี
ตัวอย่างผลงานของเธอ อาทิ
เรื่องสั้น: แก้วหยดเดียว (2526) บัตรประชาชน (2526) มัทรี (2529) ภาพลวงตา (2532) แม่สาลู (2536)
นิยาย: เนินมะเฟือง (2530) เจ้ากาเหว่าเอย (2531) บุหงา (2549)
งานแปล: การผจญภัยของลุงป๋วย (2522) สมุดปกเขียว (2522) ดอนกิโฮเต้ ฉบับอนุบาล (2522) นิทานฮาวาย (2530) แม่ถ้อยน้ำคำ (2537) ลึกมั้ยนะ (2544) แม่ไม้ (2544) ยุคสมัยไวกิ้ง (2544) ผืนดินออกลูกเป็นเสื้อ (2545) เด็กข้างทางรถไฟ (2547) ความลับในห้องหมายเลข 342 (2547) นิทานของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ่น (2548) นิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (2548)
ทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ความมุมานะ และปัจจุบันของเธอ คืออีกตัวอย่างของชีวิตที่ได้พิสูจน์แล้วว่า “การเขียน” คือวิถีชีวิต คือลมหายใจของชีวิต คือการดำเนินชีวิตที่หล่อเลี้ยงทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ
ยิ่งหากได้ฟังเรื่องเล่าในชีวิตของเธอจะพบว่า หัวใจของเธอไม่ได้เล็กอย่างร่างที่เราเห็นเพียงภายนอกเลย
ขอชวนเพื่อนๆ สื่อฯ เยี่ยมบ้านคุณศรีดาวเรืองช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน ศกนี้ เวลา 10.30 น. และนำกับข้าวกับปลาไปแบ่งกันทานที่นั่นตามอัธยาศัย


ที่ตั้ง: ดูแผนที่ข้างล่าง


เริ่มต้นที่ปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก (ซ.เมืองเอก หรือ ซ.พหลโยธิน 87) ขับรถเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานข้ามทางรถไฟสายเหนือ แต่เราจะไม่ขึ้นสะพาน แต่เบี่ยงซ้ายแล้วลอดใต้สะพานซึ่งบริเวณดังกล่าวจะเป็นหมู่บ้านสลัม ขับรถขนานไปกับทางรถไฟประมาณ 300 เมตร ขอให้สังเกตประตูอัลลอยด์ทางด้านซ้ายมือซึ่งจะอยู่เยื้องกับสะพานรถไฟเล็กๆ เมื่อขับถึงประตูอัลลอยด์ โทร.บอกให้ผมไปรับได้เลย

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “คนดีไม่มีวันตาย”

     
ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อาจทำให้ข้าพเจ้าเศร้าใจ แต่ก็เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะท่านกลับมามีชีวิตอีกครั้งในความทรงจำ และในหัวใจของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้พบท่านผู้หญิงเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ครั้งเป็นผู้สื่อข่าวหน้า outlook หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
แม้จะได้มีโอกาสพูดคุยกับท่าน เพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่หญิงชรากิริยาสงบและ สง่า มีเมตตาผู้นี้ ได้ฝากรอยแห่งความประทับใจที่ข้าพเจ้าไม่รู้ลืม
สำหรับข้าพเจ้า ท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ได้เป็นเพียงภริยาของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส แต่ท่านผู้หญิงยังเป็นวีรสตรีที่มีคุณงามความดีอยู่ในเนื้อตัวของท่านเองอย่างเพียบพร้อม
ข้าพเจ้าพบท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เป็นวันแรกของอาชีพการเป็นนักข่าว ข้าพเจ้าถูกมอบหมายให้รายงานข่าว วันทำบุญรำลึก วันเสรีไทย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่โรงพยาบาลจุฬา
ที่นั่น ข้าพเจ้าได้พบกับวีรบุรุษ วีรสตรีที่อยู่เบื้องหลังขบวนการช่วยประเทศไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เราไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในสงครามอย่างมหาศาล หรือถูกยึดครองโดยประเทศที่ชนะสงคราม
พิธีการทำบุญเป็นไปอย่างเงียบๆ และเรียบง่าย มีชายและหญิงชรา อดีตเสรีไทย พร้อมลูกหลาน ประมาณ 50 คนมาร่วมงาน บรรยากาศในงานเหมือนงานเลี้ยงในหมู่ญาติมิตรอย่างเป็นกันเอง
ท่านผู้หญิงเป็นคนง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตรอง ให้เกียรติคนทุกคนเสมอกัน ท่านให้ความเอ็นดูข้าพเจ้าเสมือนลูกหลานของท่านคนหนึ่ง ท่านตอบคำถาม ชวนข้าพเจ้ามาร่วมพิธีการทำบุญ
ท่านผู้หญิงพูนศุขมาเป็นประธานในพิธี ไม่ใช่เพราะท่านเป็นภริยารัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งขบวนการนี้ หากแต่ตัวท่านเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกเสรีไทยเช่นกัน
ท่านผู้หญิงเล่าว่า ท่านทำหน้าที่ส่งรหัสข่าวสารทางวิทยุให้ฝ่ายพันธมิตร “ฉันกลัวมาก ถ้าหากพวกเราถูกจับได้ คงต้องตายกันหมด”
คนเหล่านี้ทำความดีในที่ลับ คนมองไม่เห็นและไม่ต้องการป่าวประกาศ
คนที่ปิดทองหลังพระได้ต้องมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ และคนที่เรียบง่ายนั้น แท้จริงแล้ว เป็นคนที่มีความพิเศษในตัวอย่างล้นเหลือ และด้วยความพิเศษของท่าน ข้าพเจ้าจึงอยากรู้จักท่านให้มากขึ้น
2 ปีต่อมา ข้าพเจ้าจึงได้โอกาสเข้าพบและสัมภาษณ์ท่านที่บ้านย่านสาธร
สุภาพสตรีผมสีดอกเลาเดินมาทักทายข้าพเจ้าด้วยรอยยิ้ม ทำให้ข้าพเจ้าหายเกร็งไปบ้าง ท่านแต่งตัวเรียบง่าย นุ่งผ้าถุงและเสื้อสีสันสดใส ไม่มีเครื่องประดับใดนอกจากแว่นตา นาฬิกา และ แหวนที่นิ้วนางข้างซ้าย
ในขณะนั้น แม้ท่านจะอายุ 84 ปีแล้ว แต่ความทรงจำของท่านก็ยังกระจ่างชัด ไม่มีวี่แววของการหลงลืมแต่อย่างใด ท่านเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของท่านให้ข้าพเจ้าฟัง ตั้งแต่สมัยยังเยาว์จนกระทั่งชีวิตในวัยชรา
ท่านผู้หญิงเกิดและเติบโตในตระกูลขุนนาง ณ ป้อมเพชร พ่อของท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ แม้จะเกิดในครอบครัวคหบดี แต่ท่านถูกสอนให้ดูแลช่วยเหลือตัวเอง ต้องทำงานบ้านโดยเฉพาะห้องนอนของตัวเอง พ่อของท่านผู้หญิงบอกว่า “เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้า จะมีความสุขสบาย หรือ ยากลำบากรอเราอยู่ เราต้องเตรียมตัว”
ท่านผู้หญิงทำอะไรเองมาตลอด แม้ตอนที่ข้าพเจ้าสัมภาษณ์ ก็จะสังเกตเห็นว่า ท่านไม่ได้ร้องเรียกคนมาช่วยให้หยิบโน่นนี่ หรือทำอะไรให้ หากท่านสามารถทำเองได้
ท่านได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนกระทั่งอายุ 16 ปี ก็ลาออกมาแต่งงานกับท่านอาจารย์ ปรีดี หนุ่มนักเรียนนอกจากฝรั่งเศส อนาคตไกล สิ่งที่ท่านประทับใจใน “นายปรีดี” คือ “ฉันประทับใจที่เขาเป็นมีความรู้ ความประพฤติดี และ ขยันขันแข็ง”
ท่านผู้หญิงช่วยงาน อาจารย์ปรีดี หลายอย่างตั้งแต่การเตรียมการบรรยายการสอน หรือ การพิสูจน์อักษรหนังสือต่างๆ ที่โรงพิมพ์
ในขณะที่พ่อบ้าน ทุ่มเทเวลา และ แรงกายให้กับบ้านเมือง ท่านผู้หญิงก็เป็นทั้งพ่อและแม่บ้านที่ดูแลจัดการธุระภายในบ้าน โดยไม่ได้เรียกร้อง หรือน้อยใจที่สามีไม่มีเวลาทานข้าว หรือ สนุกสนานกับครอบครัว
“งานของนายปรีดี เป็นไปเพื่อบ้านเมือง มีความสำคัญมากกว่าธุระในครอบครัว ถ้าบ้านเมืองดี มีความสุข เราเองก็จะมีความสุขเช่นกัน ดังนั้น เราจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เอาแต่ความสุขลำพังไม่ได้”
“ฉันโชคดีที่มีสามีที่ดี อุทิศตัวเพื่อประเทศชาติ”
ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข และครอบครัวพลิกผันไปตามกระแสการเมืองของโลก และ ภายในประเทศ ไม่ว่าภาวะสงคราม การถูกกล่าวหาด้วยข้อหาร้ายแรงต่างๆ จนต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ และ ความรุ่งเรืองทางการเมืองของท่านอาจารย์ปรีดี ที่ทำงานเป็นเจ้ากระทรวงต่างๆ มากมาย ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง จนกระทั่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และท่านผู้หญิงทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่สามีในฐานะ สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ ในขณะนั้น
ความรุ่งเรือง และ ความยากลำบากในชีวิต ไม่ได้ทำให้ท่านผู้หญิงหวั่นไหวเท่าใดนัก อาจเป็นเพราะท่านเป็นสุภาพสตรีที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และพื้นเพทางครอบครัว ที่ปลูกฝังธรรมให้ท่านตั้งแต่ยังเล็ก
“ฉันไม่ได้เป็นคนทะเยอทะยาน ไม่ตื่นเต้นกับเกียรติยศชื่อเสียง ฉันใช้ชีวิตอย่างที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเราดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง จะมีหรือไม่มี เราก็ไม่หวั่นไหว” ท่านกล่าว
คราวที่ท่านอาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ในปีที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ท่านผู้หญิงพูนศุขต้องยืนหยัดฝ่าวิกฤตชีวิตอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ
ท่านถูกควบคุมตัวด้วย ข้อหา ทรยศต่อราชอาณาจักร คราวนั้น สาววัย 40 ปี ไม่หนี ไม่ถอย แต่รอการมาเชิญตัวของเจ้าหน้าที่อย่างสงบ ในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เราจะเห็นสุภาพสตรีเดินอย่างองอาจ สง่างามท่ามกลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธ
แม่ของท่านผู้หญิง บอกว่ารู้จักเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในสมัยนั้น และจะขอให้ช่วย แต่ท่านผู้หญิงปฏิเสธ “ฉันบริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร และจะไม่คุกเข่าร้องขอความเมตตาจากใคร”
ท่านอยู่ในห้องคุมขังเป็นเวลา 84 วัน ในนั้นมีเพียงเสื่อนอน และ โต๊ะ 1 ตัว และทุกวัน ญาติๆจะมาเยี่ยมพร้อมข้าวปลาอาหาร ลูกชายคนโตของท่านก็ถูกจับกุมเช่นกัน และในฐานะผู้เป็นแม่ ท่านก็ไม่ได้แสดงความหวั่นไหวอันใด ในวิกฤตเช่นนี้
ข้อกล่าวหาทั้งหลายมีอันต้องตกไป เพราะขาดหลักฐาน ไม่กี่เดือนต่อมา ท่านก็เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ จนท้ายที่สุด ทั้งท่านและ อาจารย์ ปรีดี ก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบที่ประเทศฝรั่งเศส กว่า 30 ปี จนกระทั่งอาจารย์ปรีดีเสียชีวิต ท่านจึงกลับมาอยู่เมืองไทยแดนเกิดและแผ่นดินแม่ที่ท่านปรารถนาจะจบชีวิตลง
ในบั้นปลายของชีวิต ท่านผู้หญิงเล่าให้ฟังว่า ท่านมีชีวิตสงบ ออกกำลังกายเบาๆ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ฟังธรรมอยู่กับลูกหลาน ไปร่วมงานต่างๆ ที่เนื่องกับท่านอาจารย์ปรีดีบ้างและวันเสรีไทย
ข้าพเจ้าได้ตระหนักว่า การได้สนทนากับคนดีนั้น เป็นมงคลชีวิตจริงๆ สิ่งที่ท่านเล่า เป็นบทเรียนให้ข้าพเจ้าเรียนรู้ และที่สำคัญ บุคลิกภาพ ท่าทีของท่าน เป็นสิ่งที่ฝังแนบเข้าในใจของข้าพเจ้า
นี่คือการสอนโดยไม่สอน เป็นวิธีที่ทั้งท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงใช้สอนลูกหลานของท่าน การทำให้ดูเป็นตัวอย่างสำคัญมากกว่าการพูดสอน
จวบวาระสุดท้าย ท่านก็สอนโดยการแสดงให้เห็นวิถีของผู้ดีที่แม้ตายก็ยังสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป ท่านอุทิศร่างกายให้เป็นครูแก่นักเรียนแพทย์ ผู้ซึ่งจะช่วยดูแลรักษาชีวิตคนอีกมากมายต่อไป ท่านยังระบุให้ลูกหลาน ทำพิธีศพและรำลึกถึงท่านอย่างเรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง หรือรบกวนผู้ใด
ความยิ่งใหญ่ของท่านคือความเรียบง่ายและชีวิตที่ครองธรรมอยู่เสมอ
ไม่ว่าชีวิตจะขึ้นหรือลงทั้งอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขยึดถือสัจจธรรมข้อเดียวกัน
“ธรรมจะคุ้มครองผู้ที่ปฏิบัติธรรม ความดีงามที่เราทำไม่มีวันจางหาย” ท่านผู้หญิงพูนศุขบอกข้าพเจ้า
คนดีไม่มีวันตาย ความดีของท่านผูหญิงพูนศุขยังดำรงอยู่ในโลก ในหัวใจของใครหลายคนที่ยังมีชีวิตและสานต่อความดีงามต่อไป

คำสั่งถึงลูกๆทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
1)นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
2)ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
3)ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
4)ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
5)มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
6)ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
7)เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
8)ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ๆแม่เกิด
9)หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
10)ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ
พูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ 172 สาธร 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541
แม่มีอายุครบ 86 ปี 9 เดือน

ชีวิตรื่นรมย์ 22 พค 50
กรรณจริยา สุขรุ่ง media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com


วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 17, 2550

ถึงเพื่อนผู้กำลังเจ็บป่วย

     
เช้านี้ ข้าพเจ้าตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกสบายใจ เบิกบาน ตั้งใจว่าวันนี้ เราจะทำงานอย่างรื่นรมย์ ไม่เร่งรีบ ไม่เร่าร้อน แม้จะมีงานเต็มมือ เราก็จะทยอยทำไปทีละเรื่องทีละอย่าง ทำไปพักไป หาความสุข สนุกเล่นให้กับชีวิตคั่นกับการทำงาน
อาจด้วยใจที่สบายๆ เช่นนี้กระมังที่ทำให้ข้าพเจ้ากล้ากดโทรศัพท์ไปหาเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งหมายมั่นไว้ในใจนานแล้วว่าต้องโทรไปพูดคุยด้วย
และการพูดคุยครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็น “เงา” ที่แอบซ่อนตัวอย่างเร้นลับที่สุดอันหนึ่งในใจ
กว่าหนึ่งเดือนแล้วที่ข้าพเจ้ารู้ข่าวความเจ็บป่วยของเพื่อนคนหนึ่ง หมอวินิจฉัยว่าเธอมีก้อนมะเร็งในมดลูก
ตอนนั้น ใจของข้าพเจ้าหนักอึ้งมึนชา
แม้จะรู้ว่า มะเร็งเป็นความเจ็บป่วยที่รักษาให้หายได้ แต่ก็อดรู้สึกเป็นห่วงเพื่อนไม่ได้ อยากส่งกำลังใจ หรือหากทำอะไรได้มากกว่านั้นก็ยินดี ทว่าข้าพเจ้ากลับไม่ได้พยายามที่จะติดต่อเพื่อนคนนี้ ไม่ว่าจะทางโทรศัพท์หรืออีเมล์
ที่ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าเพิ่งมาตระหนักในวันนี้เองว่า การที่เราไม่ทำอะไรเลยที่ผ่านมานั้น เป็นความพยายามของใจที่อยากลืมเลือนเรื่องนี้ไปเสีย ไม่อยากรับรู้ว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้นจริง
เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ ความกังวล และความกลัวของตัวเอง
เรากลัวเพื่อนเป็นทุกข์ เรากลัวเพื่อนต้องจากเราไป และเมื่อลองเข้าไปค้นใจให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิด ยิ่งพบอีกว่า ที่แท้แล้ว เรากลัวความเจ็บป่วยและความตายของเราเองต่างหาก
สถานการณ์ที่เพื่อนเผชิญอยู่ คือเงาสะท้อนให้เราเห็นอนาคตของเราเอง
สักวัน เราก็อาจต้องพบพานเรื่องทำนองเดียวกันนี้ คือความเจ็บป่วยที่เราไม่ปรารถนา
คุณก้อนมะเร็งของเพื่อนดึงให้เรากลับมาสู่ความเป็นจริงอีกครั้งว่า เราทุกคนต่างมีชะตากรรมเดียวกัน เราเป็นทั้งเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเจ็บ ร่วมตาย อย่างแท้จริง
เห็นเช่นนี้แล้ว ทำให้ไม่อยากโกรธเกลียดใครเลย เพราะเราอยู่ในเรือที่กำลังจะล่มอยู่รอมร่อเหมือนๆ กัน
ในยามวิกฤตเช่นนี้ เราจะทะเลาะกัน ยึดมั่นความถูกผิดในความเห็นของตน กอบโกยเอาประโยชน์ใส่ตัวและโยนชั่วใส่คนอื่น จมดิ่งหายตามกันไปทั้งหมด หรือเราจะช่วยกันหาทางรอด ประคับประคองให้พ้นทุกข์ไปด้วยกันทั้งหมด
น่าสนใจว่า เมื่อเราเริ่มรู้สึกยอมรับความกลัว น้อมรับเรื่องที่เราไม่อาจควบคุมได้ เรากลับมีพลัง ความกล้า ความเข้มแข็งที่จะเผชิญกับชะตากรรมที่เป็นไปร่วมกัน
ข้าพเจ้าอาจจะไม่ได้เจ็บป่วยไปกับเธอ แต่ เราจะดูแลชีวิตร่วมกัน
ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความถึงชีวิตของเพื่อนคนนี้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงชีวิตของข้าพเจ้า และ ชีวิตอื่นๆ ในโลกใบนี้ด้วย ทั้งปัจจุบันและอนาคต
ชีวิตเป็นเหมือนไข่ที่เปราะบาง อาจแตกสลาย ล้มตายได้ทุกเมื่อ
ชีวิตเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในเส้นลากของกาลเวลาที่โลกและจักรวาลดำรงอยู่
แต่จุดเปราะบางของชีวิตนี้เองที่ให้พลังในการสร้างสรรค์อย่างมหาศาลกับตัวของมันเอง
ชีวิตทั้งหลายในปัจจุบัน เกิดและดำเนินไปได้ก็เพราะชีวิตทั้งหลายในอดีต
ชีวิตโลกสมัยใหม่สนุกสนานได้เพราะบุคคลในอดีตที่คิดค้นไฟฟ้า หลอดไฟ โทรศัพท์ และพลังงาน
เรามีอากาศที่หายใจได้ น้ำที่ดื่มได้ ทั้งยังสามารถผ่อนคลาย ชื่นชมธรรมชาติได้ นั่นก็เพราะบรรพบุรุษของมนุษยชาติผู้ดูแลรักษาป่าไม้ สายน้ำ และมหาสมุทรให้แก่เรา
และชีวิตทั้งหลายอันจะเกิดขึ้นในอนาคต ลูกหลานของเรา พวกเขาก็จะดำรงอยู่ตามปัจจัยและ สภาพแวดล้อมที่เราทุกคนในปัจจุบันช่วยกันสร้างและทำลายเหลือไว้ให้
เพื่อนคนนี้ทำงานด้านพัฒนา สร้างสรรค์ความดีงามให้สังคม ครอบครัว เด็ก และเยาวชน แม้เป็นเพียงคนเล็กๆ แต่ชีวิตของเธอคือพลังการสร้างสรรค์สำคัญ เฉกเช่นทุกชีวิตบนโลก กระทั่งความท้าทายที่เธอกำลังเผชิญก็เป็นสิ่งที่เราหลายคนร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันได้
หมอแนะนำให้เธอใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพทางอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์เครียดที่ควรหลีกเลี่ยง
งานวิจัยมากมายชี้ว่า ภาวะความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆ รวมทั้ง ก้อนมะเร็งด้วย แต่เธอกลับบอกว่า ภาระหน้าที่ที่เธอต้องทำและยังละทิ้งไม่ได้นั้น อาจทำให้เกิดความเครียดได้ เลยไม่รู้ว่าจะทำงานโดยไม่ให้เกิดความเครียดได้อย่างไร
โจทย์ของเธอคือโจทย์ของข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน
ข้าพเจ้ากลับมาทบทวนการทำงานและการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างจริงจังว่า ตัวเองได้สร้างปัญหาอะไรให้กับตัวเองบ้าง ข้าพเจ้าสะสมความเครียด อารมณ์ทางลบไว้กี่มากน้อย และกำลังบ่มเพาะก้อนมะเร็งไว้กี่ก้อนแล้ว
แน่นอนว่า เราอาจต้องทำงาน สัมพันธ์กับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามปรารถนา เราจะประคองใจไม่ให้เกิดความเครียดหรือสร้างความเจ็บป่วยให้แก่ตัวเองได้อย่างไร
หากเราแบ่งเวลาสักช่วงเพื่ออยู่เงียบๆ ตามลำพัง ให้ใจได้ใคร่ครวญวิถีที่เราทำงานและดำเนินชีวิตในแต่ละวันว่าเรากำลังบั่นทอนสุขภาพ ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเราเอง รวมทั้งคนรอบข้างแค่ไหน เราอาจจะปรับเปลี่ยน/ปรับปรุงชีวิตใหม่เสียก่อนที่โอกาสนั้นจะริบหรี่ลง
หากเราเพิ่มพื้นที่ความสุขในหัวใจ เพิ่มในตารางเวลาของแต่ละวันได้ พื้นที่ความเครียดก็อาจถูกเบียดให้เหลือน้อยลงได้
หากใครรู้ตัวว่ากำลังเครียด โปรดเมตตาและกรุณาตัวเองให้มากๆ ทำอะไรก็ได้ให้ความรู้สึกนั้นคลายตัวลง เช่น ร้องเพลงไปด้วย ฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ อยู่กับต้นไม้ เล่นกีฬา ดูหนัง ไปเที่ยว พักบ้าง เป็นต้น
และท้ายที่สุด เราอาจจะต้องเข้าไปสืบค้นความเครียดว่ามาจากอะไร เราเครียดเรื่องอะไร ทำไมจึงเครียด สำหรับข้าพเจ้า ความเครียดของตังเองเกิดจากความคาดหวัง ความกลัว ความวิตกกังวล ความอยาก ความอิจฉา หรือแม้กระทั่งความรู้สึกโดดเดี่ยว และอีกมากมาย
ถามคำถามกับตัวเอง สาวไส้เรื่องราวของความเครียด แล้วเราอาจค้นพบในที่สุดว่า ภายในปล้องไผ่ที่เรายึดถือ เห็นว่าจริงนั้น สุดท้ายก็เป็นเพียงความว่างเปล่า
ขอบคุณความเจ็บป่วยของเพื่อนที่เอื้อเฟื้อให้ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ได้ทบทวนสารัตถะแห่งชีวิต และเห็นแนวทางที่จะก้าวเดินต่อไปอย่างมีความหวังและความหมาย
เมื่อมีมิตรภาพและการร่วมทุกข์ ความสุขก็จะเบ่งบาน

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2550
กรรณจริยา สุขรุ่ง media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันอังคาร, พฤษภาคม 15, 2550

ฝังเธอที่ปลายฟ้า

ฝังเธอที่ปลายฟ้า
เขียนโดย ซินหรัน
นิลุบล พรพิทักษ์พันธุ์ แปล
โดย สำนักพิมพ์สันสกฤต


หากท่านกำลังหลงไหลเรื่องราวการเดินทางของอาจารย์ประมวลผู้วิจัยชีวิตด้วยฝ่าเท้า ท่านอาจสนใจเรื่องจริง ของหญิงชาวจีนคนนี้ ผู้ที่ท่องไปในดินแดนสูงกันดารบนหลังคาโลก กว่า 30 ปี เพื่อตามหาสามีที่สูญหาย และสิ่งที่เธอได้ในการค้นหาครั้งนี้ คืออะไร


ร่วมสัมผัสชีวิตของเธอในหนังสือ ฝังเธอที่ปลายฟ้า ผลงานแปลเล่มล่าสุดของ นักแปลฝีมือเยี่ยม นิลุบล พรพิทักษ์พันธุ์


“ฝังเธอที่ปลายฟ้า” (Sky Burial) เป็นเรื่องจริงของ “ซูเหวิน” แพทย์หญิงชาวจีนที่ออกตามหา คนรักที่หายสาบสูญไปในปฏิบัติการรบระหว่างจีนกับทิเบต


เธอใช้เวลา 30 ปี เดินทางไปกับครอบครัว ชนเผ่าเร่ร่อน ข้ามภูเขาสูงชันและฝ่าธรรมชาติอันโหดร้ายในดินแดนทิเบตจนกระทั่งได้พบคำตอบที่เธอ ดั้นด้นหามาตลอดครึ่งชีวิต


“ฝังเธอที่ปลายฟ้า” ไม่เพียงเล่าเรื่องราวความรัก ความกล้าหาญ และ ความเด็ดเดี่ยวของผู้หญิงจีนตัวเล็กๆ ที่ถูกผลักดันไปตามกระแสความสับสนทางการเมือง แต่ยังพา ผู้อ่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมทิเบตผ่านชีวิตครอบครัวเล็กๆ ที่ต้องดิ้นรนอยู่รอดท่ามกลางความทุรกันดารของดินแดนที่เรียกขานกันว่าหลังคาโลก และน้ำใจที่ชนเผ่าเร่ร่อนมีให้กับคนแปลกหน้า


“คนทิเบตเขาจะหั่นศพเป็นชิ้นๆ เพื่อให้อีแร้งกิน”.......
“อะไรกัน แค่ฆ่าอีแร้งตัวหนึ่ง
ทหารเราต้องสละชีวิตชดใช้ให้ศพหนึ่งเชียวหรอ”

...เรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายของแพทย์หญิงชาวจีน “ซูเหวิน”
ตามหาสามีผู้เป็นแพทย์ “เคอจุน” ซึ่งสูญหายไปในปฏิบัติการ
ระหว่างจีนและทิเบต เธอใช้เวลาสามสิบปีเดินทางไปกับ
ครอบครัวชนเผ่าเร่ร่อนชาวทิเบต ข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า
อาบความเหงาโดดเดี่ยวในทุ่งหญ้าเวิ้งว้างที่ปราศจากกาลเวลา
ผ่านความงดงามที่แสนโหดร้ายของธรรมชาติ
ในดินแดนที่เรียกขานกันว่าหลังคาโลก
ในที่สุดเธอก็พบคำตอบที่เธอใช้เวลาดั้นด้นค้นหามาครึ่งชีวิต....
คำตอบที่ทำให้เธอต้องหมอบกราบลงแทบพื้นพร้อมเปล่งถ้อยคำ ......
“โอม มณี ปัทเม หุม” ออกมา

ประสบการณ์ยิ่งใหญ่จากหนังสือเล็กๆ ชื่อ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ”

ประสบการณ์ยิ่งใหญ่จากหนังสือเล็กๆ ชื่อ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ”

“บ้านนอกของเรามีบางสิ่งที่เมืองใหญ่ทำหายไป เราต้องสร้างบ้านนอกขึ้นด้วยการสนับสนุนข้อดีของเราเอง”

คุณอุ๊บอกมาหลายที (แสดงว่าค่อนข้างนานแล้ว) ว่าอยากให้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้เพื่อนๆได้รู้จัก แบ่งรับแบ่งสู้และไม่ได้ลงมือจัดการเสียทีเพราะนึกว่ายังต้องพูดถึงหนังสือเล่มนี้อยู่อีกหรือ ก็เขาออกจะ “ดัง” ทีเดียว ในแวดวงเราๆส่วนใหญ่คงได้อ่านกันเยอะแล้ว


แต่อีกใจคิดว่าไหนๆก็รับปากไปแล้ว และเอาเข้าจริงๆนะถ้าจะสามารถบอกต่อให้ใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพิ่มขึ้นแม้เพียงอีกสักคนเดียว ก็คุ้มค่าละ


“ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ” เขียนโดยมาซาฮิโกะ โอโตชิ แปลโดยมุทิตา พานิช สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาจัดพิมพ์

เรื่องราวที่นักเขียนผู้หนึ่งได้สัมผัสเมื่อเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง กลางหุบเขาในจังหวัดโคจิ บนเกาะชิโกกุ หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากความศิวิไลซ์นี้ชื่อ “อูมะจิ” ที่แปลว่าทางม้า หมายถึงครั้งหนึ่งหนทางที่จะเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้ได้จะต้องอาศัยขี่ม้าเข้าไปเท่านั้น

หมู่บ้านอูมะจิ ก็เหมือนๆหมู่บ้านตามบ้านนอกทั่วไปไม่ว่าจะในญี่ปุ่น หรือเมืองไทย คือ แทบจะรกร้าง ผู้คนทิ้งถิ่น หนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่และเด็กน้อยเพียงบางเบา หมู่บ้านแบบนี้มักต้องพึ่งพาอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐ ประชาชนจึงขาดอิสระ มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองน้อย ชุมชนอ่อนแอ

แต่สิ่งที่ทำให้หมู่บ้านอูมะจิไม่เหมือนหมู่บ้านไหนๆก็คือ ที่นี่มีคนเข้มแข็ง ซึ่งผู้เขียนใช้คำว่า “ชายผู้แต่งงานกับหมู่บ้าน” คุณลุงโมจิฟูมิ โตทานิ ผู้เกิดและเติบโตในอูมะจิ ทีแรกนั้นเขาเป็นเพียงหัวหน้าแผนกธรรมดาๆในสหกรณ์การเกษตรของหมู่บ้าน แต่ที่ไม่ธรรมดาคือเขามีความบ้าเป็นที่ตั้ง บ้าขนาดที่ว่าไม่ยอมนอนรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ เขามองเห็นศักยภาพที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆของหมู่บ้าน ลุงโตทานิรู้ดีว่าไม่มีใครจะรู้จักหมู่บ้านอูมะจิมากไปกว่าชาวอูมะจิ และเขาเชื่อมั่นว่าหากทุกคนรวมตัวกัน หมู่บ้านอูมะจิจะพัฒนาไปไกลโลดอย่างเป็นตัวของตัวเองแน่นอน

บนเกาะชิโกกุเป็นแหล่งที่ปลูกส้มยูสุกันมาก หมู่บ้านอูมะจิก็เช่นกัน แต่เพราะความที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขาดแรงงาน ส้มยูสุของอูมะจิจึงไม่ได้รับการดูแล ทำให้กลายเป็นยูสุป่าที่ปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิง ผลที่ออกมาจึงไม่สวย ถ้านำมาขายสดๆก็จะได้ราคาต่ำมาก ทางออกจึงอยู่ที่การแปรรูปส้มยูสุออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ลุงโตทานิ คือ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่กระตุ้นให้ชาวบ้านที่มีฝีมือมาช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วลุงก็เร่ออกร้านขายตามงานต่างๆ เหนื่อยยากและต้องฝ่าฟันสารพันอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า จนที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าน่าจะใช้วิธีขายตรงจากหมู่บ้าน ซึ่งนั่นก็ไม่ได้แปลว่าหนทางจะสะดวกสบายง่ายดายไปกว่ากันหรอกนะ แต่ทางสู้ของคนไม่มีทางสู้ เมื่อไม่อยากหยุดนิ่งอยู่กับที่ วิธีเดียวก็คือทำด้วยความมุ่งมั่นศรัทธาและเดินหน้า...ลุย!

ปรัชญาของลุงโตทานิคือ ทำงานด้วยความจริงใจ ผลิตแต่สินค้าที่มีคุณภาพ และบริการลูกค้าอย่างดีเยี่ยม พยายามสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เปรียบเสมือนผู้มีพระคุณทุกคน ลุงโตทานิใช้ความเป็นคนมีอารมณ์ขัน (แม้จะแฝงอยู่ในท่าทีสงบเสงี่ยม) และหัวการตลาดแบบบ้านๆที่เข้าถึงจิตใจคนได้อย่างดี ลองผิดลองถูกอย่างไม่ย่อท้อเรื่อยมา

ทั้งหมดทั้งปวงรวมกับพลังความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ทำให้สิบเจ็ดปีต่อมา (ค.ศ.1997) โรงงานแปรรูปยูสุของอูมะจิมียอดขายผลิตภัณฑ์ถึงเกือบ 2 ล้านเยน มีลูกค้าสั่งของส่งถึงบ้านมากกว่า 2 แสนราย ชื่อเสียงและเรื่องราวของหมู่บ้านอูมะจิก็พลอยขจรขจายสร้างปรากฏการณ์ไปทั่ว จนนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนอูมะจิไม่ขาดสาย

ในหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดกว่าจะมาเป็นผลิตภํณฑ์ดีเด่น ด้วยสำนวนการเขียนเหมือนเล่าที่อ่านสบาย แถมด้วยภาพประกอบจากฉลากผลิตภัณฑ์ที่แสนจะน่ารักน่าขัน อ่านเพลินแต่ได้ข้อคิดเพียบเลย จนอยากให้บรรดาผู้นำหมู่บ้านแต่ละแห่งของบ้านเราได้ใช้เป็นกรณีศึกษา

ความรู้สึกอีกสองอย่างที่เกิดขึ้นขณะอ่านหนังสือเล่มนี้คือ หนึ่ง อยากกินน้ำส้มยูสุ (เอื๊อก!) และโชคดีที่ได้ลองชิมแล้วด้วย อร่อยมาก กับสองคือ เกิดสำนึกรักบ้านเกิด อันที่จริงในเมืองไทยมีปราชญ์เดินดินหรือคนเก่งๆอย่างลุงโตทานิไม่น้อยเลย เราสมควรต้องเรียนรู้จากท่านเหล่านั้นและช่วยๆกันเผยแพร่แง่คิดคุณงามความดี เป็นกำลังใจให้ชุมชนมีความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง มีความเป็นอยู่อันพอเพียง อันจะนำไปสู่สภาพชุมชนเข้มแข็ง หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ความยากจน และการแทรกแซงแสวงหาผลประโยชน์กับท้องถิ่นจากบรรดานักการเมืองน้ำเน่า

หมู่บ้านเล็กๆที่ยิ่งใหญ่หลายๆแห่งรวมกันเท่านั้น ถึงจะสร้างประเทศชาติที่มั่นคงยิ่งใหญ่ได้ ...ไม่ใช่มาจากการมีรัฐบาลยิ่งใหญ่สักหน่อย

ขอเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมฝึกอบรม“ภาวนา: สู่ศานติ สมานฉันท์”

ขอเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมฝึกอบรมภาวนา
“ภาวนา: สู่ศานติ สมานฉันท์”
ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2550
ณ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนา อ.สันกำแพง เชียงใหม่


เนื่องในโอกาสอันดีที่พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางจาริกธรรมมายังประเทศทางแถบภูมิภาคอุษาคเนย์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาโลก และเผยแผ่วิถีการปฎิบัติธรรมในประเทศไทย เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2550 นี้


ศูนย์คุณธรรม ในฐานะหนึ่งในผู้สนับสนุนกิจกรรมภาวนา และ วันแห่งสติ มีความยินดีขอเชิญสื่อมวลชนไปร่วมงานภาวนา “สู่ศานติสมานฉันท์” เพื่อให้สื่อที่มีความสนใจในหนทางการปฏิบัติ ได้มีโอกาส เรียนรู้ สัมผัส ฝึกการกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีความสุข และนำคำสอนตามแนวทางหมู่บ้านพลัมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานที่ดีสู่สังคมต่อไป
ระหว่างงานภาวนา 5 วันนี้ ทุกคนจะได้ฟังธรรมบรรยายจากพระอาจารย์เซน ติช นัท ฮันห์ ผู้ซึ่งมีความลึกซึ้งในข้อธรรมทั้งภาคทฤษฏี และ ปฏิบัติ และท่านจะได้ร่วมสัมผัสรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการประยุกต์พุทธธรรม วิถีการปฏิบัติธรรม เข้ามาประสานกลมกลืนในวิถีชีวิตประจำวัน

กำหนดกิจกรรมในแต่ละวันมีดังต่อไปนี้
05.00 น. ตื่นนอน นั่งสมาธิ สวดมนต์ ออกกำลังกาย เช่นโยคะ หรือ รำกระบองตามแนวหมู่บ้านพลัม
อาหารเช้าในความเงียบ
บรรยายธรรม โดย พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์
11.30 น. อาหารกลางวันร่วมกันเป็นสังฆะ พักตามอัธยาศัย
13.30 น. ผ่อนพักตระหนักรู้ *
นำเสนอ : ข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการ
วิธีเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์
สวดเพลง ; เดินวิถีแห่งสติ
กราบสัมผัสพื้นดิน
การสร้างสังฆะ
17.30 น. น้ำปานะ/อาหารเบายามเย็นในกลุ่มย่อย
19.30 น. สนทนาธรรมในกลุ่มย่อย นั่งสมาธิ สวดมนต์
22.00 น. สัมผัสความนิ่งเงียบภายในและภายนอก เข้านอน

* อ่านเนื้อหากิจกรรมเพิ่มเติม ในไฟล์ Retreat activity*

การเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมภาวนา
· แต่งกายสุภาพ ตามสบาย (ไม่จำเป็นต้องสวมชุดขาว) เสื้อผ้าใส่สบาย นั่งสมาธิได้สะดวก
· อาหารมังสวิรัติ
· กรุณาเตรียมไฟฉาย เครื่องใช้ส่วนตัว ผ้าเช็ดตัว นาฬิกาปลุก ไฟฉาย รองเท้าแตะ และยารักษาโรคประจำตัวมาด้วย
· เนื่องจากเราต้องใช้ห้องน้ำรวม จึงขอให้ท่านนำผ้าถุง ผ้าขาวม้ามาด้วย
· สำหรับอากาศในช่วงนี้ กรุณาเตรียมร่วมมาด้วย

กำหนดการการเดินทาง
เราจะออกเดินทางจากกรุงเทพ ไปเชียงใหม่ เย็นวันอังคารที่ 22 พค. โดยรถไฟด่วนพิเศษ ขบวนที่ 1 ออกจากหัวลำโพงเวลา 18.00 น. ถึงเชียงใหม่ 7.15 น.
ขอให้ทุกท่านที่จะเดินทางไปด้วยกัน พบกันที่สถานที่รถไฟหัวลำโพง เวลา 17.30
การเดินทางกลับ เราจะเดินทางจากเชียงใหม่ กลับกรุงเทพ โดยรถไฟด่วนพิเศษ ขบวนที่ 14 ในวันอาทิตย์ที่ 27 พค. ออกเดินทาง เวลา 16.30 น. และถึงกรุงเทพวันจันทร์ที่ 28 พค. เวลาประมาณ 6.40 น.

สำหรับผู้ที่เดินทางไปเอง
ทางทีมงานที่เชียงใหม่ จัดจุดบริการ รับท่านตามที่ต่างๆ ในวันที่ 23 พค. ตามรายละเอียด ดังนี้
ทางเครื่องบิน
พบกันที่บริเวณ taxi call ด้านนอกอาคารสนามบิน รอบเวลา 9.30 น. / 10.30 น. และ 12.00 น.
รถยนต์ส่วนตัว
ท่านที่อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่อยู่แล้ว หรือ ท่านที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ท่านสามารถไปรอจุดนัดพบที่หน้าวัดพระสิงห์ เวลา 6.30 น. / 9.00 น.และ 10.00 น.
ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนาได้ที่
เอ 089-429-1571 และ ต้อมแต้ม 089-700-6165 (ตั้งแต่วันนี้ ถึง 22 พค.)
พี่จุก 086-992-5411 (ผู้ประสานงานการเดินทางในวันที่ 23 พค.)


สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการจะบันทึกภาพ หรือรายงานกิจกรรมภาวนา
หมู่บ้านพลัม มีความยินดีที่ท่านให้ความสนใจ และ ศรัทธาเข้าร่วมกิจกรรม จึงอยากจะขอความร่วมมือจากท่านในการรักษาบรรยากาศแห่งความสงบเรียบร้อยในงานภาวนา ดังต่อไปนี้
ท่านสามารบันทึกภาพ หรือ ถ่ายภาพในระหว่างกิจกรรมงานภาวนาได้ หากแต่ขอให้ท่านระมัดระวัง และกรุณาต่อเพื่อนผู้ต้องการภาวนาอย่างสงบและไม่ต้องการถูกรบกวน และงดถ่ายภาพช่วงธรรมบรรยายตอนเช้า
สำหรับการสัมภาษณ์ผู้มาร่วมงานภาวนา ก็ขอให้ท่านทำเมื่อกิจกรรมภาวนาเสร็จสิ้นแล้ว
หากท่านต้องการสัมภาษณ์ กับพระภิกษุ พระภิกษุณี ก็ขอให้ติดต่อทางทีมงานได้

สำหรับสื่อมวลชนที่สนใจและต้องการยืนยันการเข้าร่วม หรือ ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อุ๊ กรรณจริยา 086-789-7070
นิ้ง พรรัตน์ 086 668 3722
แอน วรภา 081-586-4755

“ปาฐกถามธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก"

“ปาฐกถามธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก"
โดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์”
วันที่ 29 พฤษภาคม 2550
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถ.วิภาวดี-รังสิต กรุงเทพฯ


เนื่องในโอกาสอันดีที่พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางจาริกธรรมมายังประเทศทางแถบภูมิภาคอุษาคเนย์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาโลก และเผยแผ่วิถีการปฎิบัติธรรมในประเทศไทย เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2550 นี้

กลุ่มสังฆะแห่งสติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิโกมลคีมทอง และ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย มีความยินดีขอเชิญสื่อมวลชนทุกท่าน เข้าร่วมฟัง ปาฐกถาธรรม จาก พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ในวัน 29 พฤษภาคม 2550 โดยมีรายละเอียดดังนี้

กำหนดการ
18.00 น. เริ่มกิจกรรม
18.15 น. คณะสงฆ์หมู่บ้านพลัมขับขานบทเพลงภาวนา
18.25 น. คณะสงฆ์หมู่บ้านพลัมนำนั่งสมาธิ
18.50 น. อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวต้อนรับและแนะนำพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์
19.00 น. พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เริ่มแสดงปาฐกถา "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก"
และเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสนทนาถาม-ตอบปัญหา
21.00 น. ปิดปาฐกถาธรรม

หมายเหตุ
· ขอความร่วมมือจากทุกๆ ท่านรักษาเวลา มาก่อนเวลา 18.00 น. เพื่อรักษาความสงบระหว่างการภาวนา
· กรุณาปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดในระหว่างร่วมกิจกรรม

ข้อขอความร่วมมือสื่อมวลชน ในงานปาฐกถาธรรมของพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์

ข้อแนะนำทั่วไป

กรุณาช่วยรักษาบรรยากาศแห่งความสงบในงานปาฐกถาธรรมและกิจกรรมต่างๆ
หากท่านมีคำถามถึงท่าน ติช นัท ฮันห์ ท่านสามารถส่งคำถามล่วงหน้าได้ทาง
plum.pr@gmail.com โดยเราจะส่งคำถามให้พระอาจารย์ก่อนการดำเนินกิจกรรมทั้งหมด ท่านอาจได้รับคำตอบเหล่านั้นระหว่างที่ท่าน ติช นัท ฮันห์ แสดงธรรม
ท่านสามารถใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงได้ และเพื่อความสะดวกในการอัดเสียงที่ชัดเจน ทีมงานจะช่วยอำนวยความสะดวกวางอุปกรณ์บันทึกเสียงใกล้เครื่องขยายเสียง กรุณาติดต่อล่วงหน้า


ข้อแนะนำสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง
กรุณางดใช้แฟลช ตลอดการปาฐกถาธรรม เพราะจะเป็นการรบกวนพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ในช่วงการบรรยายธรรม
กรุณาถ่ายรูปอยู่ภายในพื้นที่ที่จัดให้ ขอความกรุณาไม่เดินไปมา เพราะจะเป็นการรบกวนการบรรยายธรรม
แนะนำให้ท่านถ่ายรูปพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ได้ ในช่วงก่อนเริ่มการบรรยายและท้ายการบรรยายธรรมที่จะเปิดให้มีการถาม-ตอบ หากท่านต้องการถ่ายภาพระหว่างการบรรยายธรรม โปรดใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นการรบกวนท่าน ติช นัท ฮันห์และผู้ร่วมฟังการบรรยายธรรมทั้งหลาย
หากสำนักข่าวใดต้องการภาพกิจกรรมต่างๆ ทางทีมทางสามารถจัดหาให้ได้ กรุณาแจ้งล่วงหน้า เพื่อจัดส่งให้ได้ทันทีหลังจบงาน

ข้อแนะนำในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว (กล้องวีดีโอและกล้องบันทึกเทป)
· เพื่อเป็นการไม่รบกวนผู้ฟังการบรรยายธรรม ทีมงานสามารถอำนวยความสะดวกให้กล้องเพียง 5 ตัว ดังนั้นตุงขอความกรุณาแจ้งความประสงค์ความต้องการถ่ายภาพล่วงหน้าเพื่อเราจะได้จัดเตรียมสถานที่ก่อนงานเริ่ม
* สำหรับภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเราจะจัดพื้นที่ที่เหมาะสมให้กับท่าน ขอความกรุณาให้ท่านอยู่ในพื้นที่ที่จัดให้ตลอดการบรรยายเพื่อรักษาบรรยากาศแห่งความสงบ
* นอกเหนือจากช่วงเวลาบรรยายธรรม ท่านสามารถบันทึกภาพต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม

สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม กรุณาติดต่อ
อุ๊ กรรณจริยา 086-789-7070
แอน วรภา 081-586-4755
E-mail : plum.pr@gmail.com

“วันแห่งสติ” วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 เวลา14.00 - 20.00 น.

“วันแห่งสติ”
วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 เวลา14.00 - 20.00 น.
ณ อาคารสวนลุมพินีสถาน สวนลุมพินี

เนื่องในโอกาสอันดีที่พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ ภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางจาริกธรรมมายังประเทศทางแถบภูมิภาคอุษาคเนย์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาโลก และเผยแผ่วิถีการปฎิบัติธรรมในประเทศไทย เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2550 นี้
กลุ่มสังฆะแห่งสติ กรุงเทพมหานคร และ ศูนย์คุณธรรม ในฐานะหนึ่งในผู้สนับสนุนกิจกรรม วันแห่งสติ มีความยินดีขอเชิญผู้สนใจทั่วไปทุกท่าน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรม “วันแห่งสติ” ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ร่วมนั่งสมาธิ ฟังปาฐกถาธรรม "สู่สันติสมานฉันท์: ความสุขอันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัวและสังคม" และร่วม “เดินวิถีแห่งสติ” รอบสวนลุมพินี

กำหนดการกิจกรรม “วันแห่งสติ”

เวลา ๑๓.๓๐ น. - เปิดประตูอาคารลุมพินีสถาน
เวลา ๑๔.๐๐ น.– ๑๔.๓๐น. - พิธีเปิดการแสดงปาฐกถาธรรม
- ประธาน(คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์)เดินทางมาถึง
- พิธีกรกล่าวต้อนรับ และกล่าวเชิญประธาน
- กล่าวรายงาน
โดย ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
(ศาสตราจารย์ อภินันท์ โปษะยานนท์)
- กล่าวเปิดการแสดงปาฐกถาธรรม
โดย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
( คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ )
เวลา ๑๔.๓๐น.-๑๗.๐๐น. - นำนั่งสมาธิ และแสดงปาฐกถาธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความสุขอันเป็นหนึ่งเดียวในครอบครัวและสังคม" โดย พระภิกษุ ติช นัท ฮันห์
เวลา ๑๗.๐๐น.-๑๘.๐๐น. - พักผ่อนอิริยาบถ และเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมเดิน วิถีแห่งสติ
เวลา ๑๘.๐๐น.-๒๐.๐๐น. - เดิน วิถีแห่งสติ (Peace Walk) รอบสวนลุมพินี

หมายเหตุ
· คณะผู้จัดมีความจำเป็นต้องปิดประตูอาคารในเวลา 14.30 น. ตรง เพื่อรักษาความสงบระหว่างการภาวนา จึงขอความร่วมมือจากทุกๆ ท่าน ในการรักษาเวลา
· กรุณาปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดในระหว่างร่วมกิจกรรม

ข้อขอความร่วมมือสื่อมวลชน ในงานปาฐกถาธรรมของพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์


ข้อแนะนำทั่วไป

· กรุณาช่วยรักษาบรรยากาศแห่งความสงบในงานปาฐกถาธรรมและกิจกรรมต่างๆ
· หากท่านมีคำถามถึงท่าน ติช นัท ฮันห์ ท่านสามารถส่งคำถามล่วงหน้าได้ทาง plum.pr@gmail.com โดยเราจะส่งคำถามให้พระอาจารย์ก่อนการดำเนินกิจกรรมทั้งหมด ท่านอาจได้รับคำตอบเหล่านั้นระหว่างที่ท่าน ติช นัท ฮันห์ แสดงธรรม
· ท่านสามารถใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงได้ และเพื่อความสะดวกในการอัดเสียงที่ชัดเจน ทีมงานจะช่วยอำนวยความสะดวกวางอุปกรณ์บันทึกเสียงใกล้เครื่องขยายเสียง กรุณาติดต่อล่วงหน้า

ข้อแนะนำสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง
· กรุณางดใช้แฟลช ตลอดการปาฐกถาธรรม เพราะจะเป็นการรบกวนพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ในช่วงการบรรยายธรรม
· กรุณาถ่ายรูปอยู่ภายในพื้นที่ที่จัดให้ ขอความกรุณาไม่เดินไปมา เพราะจะเป็นการรบกวนการบรรยายธรรม
· แนะนำให้ท่านถ่ายรูปพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ได้ ในช่วงก่อนเริ่มการบรรยายและท้ายการบรรยายธรรมที่จะเปิดให้มีการถาม-ตอบ หากท่านต้องการถ่ายภาพระหว่างการบรรยายธรรม โปรดใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นการรบกวนท่าน ติช นัท ฮันห์และผู้ร่วมฟังการบรรยายธรรมทั้งหลาย
· หากสำนักข่าวใดต้องการภาพกิจกรรมต่างๆ ทางทีมทางสามารถจัดหาให้ได้ กรุณาแจ้งล่วงหน้า เพื่อจัดส่งให้ได้ทันทีหลังจบงาน

ข้อแนะนำในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว (กล้องวีดีโอและกล้องบันทึกเทป)
· เพื่อเป็นการไม่รบกวนผู้ฟังการบรรยายธรรม ทีมงานสามารถอำนวยความสะดวกให้กล้องเพียง 5 ตัว ดังนั้นตุงขอความกรุณาแจ้งความประสงค์ความต้องการถ่ายภาพล่วงหน้าเพื่อเราจะได้จัดเตรียมสถานที่ก่อนงานเริ่ม
* สำหรับภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเราจะจัดพื้นที่ที่เหมาะสมให้กับท่าน ขอความกรุณาให้ท่านอยู่ในพื้นที่ที่จัดให้ตลอดการบรรยายเพื่อรักษาบรรยากาศแห่งความสงบ
* นอกเหนือจากช่วงเวลาบรรยายธรรม ท่านสามารถบันทึกภาพต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม


สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม กรุณาติดต่อ
อุ๊ กรรณจริยา 086-789-7070
นิ้ง พรรัตน์ วชิราชัย 086 668 3722
แอน วรภา 081-586-4755

----------------------------------------------------------------------------

“วันแห่งสติ” เปี่ยมพร้อมไปด้วยพลังแห่งปัจจุบันขณะ

“เราควรฝึกสติทุกๆ วันและทุกๆ ชั่วโมง ประโยคนี้ดูจะพูดง่าย แต่ตอนปฏิบัติจริงไม่ใช่ของง่ายเลย ด้วยเหตุนี้ครูจึงเสนอแนะผู้ที่มาเรียนฝึกสมาธิกับครูว่าให้หาวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เพื่ออุทิศให้กับการฝึกสติทั้งวันโดยเฉพาะ”

หนังสือ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ”
ติช นัท ฮันห์


ในการดำรงชีวิตประจำวัน ใช่หรือไม่ที่เรามักหลงลืม “สติ” อยู่เสมอ เรามักรู้สึกว่า การงาน ชีวิตครอบครัว และสังคม ขโมยเวลาทั้งหมดของเราไปหมดสิ้น เราลืมแม้กระทั่งว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นขณะเดียวเท่านั้นที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้


ท่านติช นัท ฮันห์ได้นำเสนอวีถีทางที่เราจะกลับเข้าหาตัวเอง ด้วยการให้เวลา 1 วันในสัปดาห์กับตัวเองอย่างเต็มที่ โดยถือว่าวันนั้นเป็น “วันแห่งสติ” ตั้งแต่ตื่นนอนในยามเช้าจนกระทั่งหมดวัน วันนั้นเราจะกลับมาตามลมหายใจในทุกอิริยาบถ ทุกๆ เวลาและการกระทำถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ และเมื่อเรามีสติเปี่ยมพร้อมในวันแห่งสติเช่นนี้บ่อยๆ วันที่เหลือก็จะเป็นวันแห่งสติด้วยเช่นกัน การฝึกเช่นนี้จะทำให้เรารู้สึกมีพลังในชีวิตประจำวัน เวลาแห่งการทำงาน เวลาของครอบครัวและสังคม ล้วนเป็นเวลาของเรา


ในวันแห่งสติเช่นนี้ เราอาจเข้าพึ่ง “สังฆะ” (กลุ่มเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติธรรมด้วยกัน) หรือ “ครูทางจิตวิญญาณ” ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น นั่งสมาธิ สนทนาธรรม ทานอาหารอย่างมีสติ หรือเดินวิถีแห่งสติ


การเดินวิถีแห่งสติ เป็นหนึ่งกิจกรรมภาวนาของหมู่บ้านพลัม ซึ่งมิใช่การ “เดินจงกรม” อย่างที่เราคุ้นชิน


การเดินวิถีแห่งสติ คือการ “เดินสมาธิ” ที่เราจะเดินอย่างช้าๆ แต่ละก้าวอย่างอิสระและมั่นคง ไม่ใช่เดินก้าวยาวๆ ด้วยความรีบเร่ง ทุกย่างก้าวที่เราสัมผัสพื้นดิน คือการสัมผัสแผ่นดินแม่ผู้ให้กำเนิด


ขณะที่เราเดิน เราตระหนักรู้ถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เดินอยู่ข้างเรา ต้นไม้ นกน้อย ลมพัดเย็น หมู่เมฆสีขาว และผืนฟ้าอันกว้างใหญ่ไม่มีขีดจำกัด การเดินเช่นนี้ทำให้เรามองเห็นความมหัศจรรย์แห่งชีวิต เปี่ยมพลัง มีสุขภาพดี และสามารถมีสันติภาพในทุกย่างก้าว


เราอาจจะใช้บทกลอนท่องควบคู่ไปด้วยก็ได้ โดยกำหนดสองหรือสามย่างก้าวในแต่ละลมหายใจเข้าออก


หายใจเข้า "ฉันมาถึง" หายใจออก "ฉันถึงบ้าน"
หายใจเข้า "ฉันอยู่ที่นี่" หายใจออก "ฉันดำรงอยู่ในปัจจุบัน"
หายใจเข้า "ฉันสงบระงับ" หายใจออก "ฉันเป็นอิสระ"
หายใจเข้า "ปัจจุบันขณะอันประเสริฐ" หายใจออก "สถิตอยู่กับฉัน"


ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaiplumvillage.org
องค์กรร่วมจัด
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
กลุ่มสังฆะแห่งสติ

วันอังคาร, พฤษภาคม 08, 2550

คุณค่าของการสะสม

ส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนทั่วไปมักมีสิ่งรื่นรมย์เป็นของตนเอง แต่คนส่วนใหญ่ชอบตีความคำว่า ‘สิ่งรื่นรมย์’ ไปกับการเที่ยวเตร่ เข้าผับเข้าบาร์ หรือชอปปิ้งสินค้าเพื่อความสะใจ
ผมภูมิใจที่ไม่ได้ใช้ชีวิตเช่นนั้น มิใช่มองว่าไร้ค่าเสียทั้งหมด แต่เพราะการเที่ยวเตร่ไปวันๆ ไม่ถือเป็นการใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิ แม้ไม่อาจปฏิเสธว่าชีวิตควรสรรหาความสุขใส่ตัวพอเป็นกับแกล้มให้กับลมหายใจ เพียงแต่ผมพอใจจะคลุกคลีกับบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะของสะสมที่ผมครอบครอง
รถไฟเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบ ผมสะสมสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับรถไฟมาตั้งแต่เด็ก อาทิ ถ้วยน้ำวาดลายสถานีหัวลำโพง รูปถ่ายรถไฟ แสตมป์รถไฟ จนถึงตั๋วรถไฟชนิดที่เป็นกระดาษแข็ง
แต่ของสะสมเกี่ยวกับรถไฟที่ผมมักนำไปโอ้อวดคนอื่นมากที่สุด...คือรถไฟจำลอง
พื้นฐานของคนเล่นรถไฟจำลองคือคนชอบรถไฟ และพื้นฐานของคนชอบรถไฟคือการครอบครองรถไฟ น่าเสียดายที่คนรักรถไฟไม่อาจซื้อรถไฟจริงมาประดับไว้หน้าบ้าน หรืออุตริไปขับรถไฟเล่น อย่างมากเพียงนั่งรถไฟชมวิวทิวทัศน์
การสะสมรถไฟจำลองจึงเป็นความฝันอันสูงสุดของคนรักรถไฟ ซึ่งเป็นความสุขยากจะหาใดเปรียบ
รถไฟจำลองเป็นของเล่นผู้ใหญ่ และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตผมมาเกือบ 20 ปี จำได้ว่าเมื่อครั้งอายุเพียง 7 ขวบ ชาวต่างชาติท่านหนึ่งซึ่งเคยมีพระคุณกับพ่อแม่ของผมในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้หอบหิ้วรถไฟจำลองจากสหรัฐฯ มาฝากผม
จวบจนปัจจุบัน ผมมีรถจักรในครอบครองหลายสิบคัน ตู้รถไฟเกือบสามสิบตู้ แต่ยังถือว่าน้อยกว่าเซียนรถไฟจำลองอีกหลายสิบคน
รวมถึงเซียนรถไฟจำลองที่ชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่สะสมรถจักรและตู้โดยสารมากกว่าผมหลายสิบเท่า
ถึงจะดูน้อยกว่าท่านนายกฯ แต่หากนำไปเทียบกับคนที่เพิ่งจะเริ่มเล่นก็ถือว่าผมมีมาก แต่กระนั้น ผมก็ยังไม่ยอมยุติจำนวนของสะสมให้เพิ่มปริมาณ และทั้งๆ ที่ช่องทางหารายได้ของผมไม่อาจทำเงินได้มากนัก แต่ผมก็ยังมุ่งมั่นซื้อเก็บเพื่อความรื่นรมย์ของผมเสมอ
รถไฟจำลองของผมส่วนใหญ่ผลิตในยุโรป ยี่ห้อที่ผมครอบครอง ได้แก่ Marklin, Trix, Roco, Lima, Piko, ส่วนระบบรางรถไฟ ผมเลือกใช้ของยี่ห้อ Bachmann ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่ท่านนายกฯ เลือกใช้เป็นระบบรางในเมืองจำลองของท่าน
ส่วนการวาง Lay-out (เมืองจำลอง) ของผมมีเพียงบ้านและอาคารสถานที่ไม่กี่หลัง นอกนั้นเป็นรางรถและต้นไม้จำลองประดับพอสวยงาม
ความสุขของคนทำรถไฟจำลองคือ การประกอบสร้างเมืองจำลอง
บางครั้งหากออกแบบไม่สวยงาม หรือทำให้รถไฟตกราง ผู้เล่นก็ต้องผจญกับความเครียดอยู่บ้าง ผมเองก็ค่อนข้างเครียดหากรถไฟจำลองตกราง แต่อุปสรรคดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิคที่สามารถแก้ไขได้
แต่สิ่งที่เครียดยิ่งกว่าคือการคร่ำคิดล่วงหน้าว่าหากผมมีอายุมากขึ้น มีรถไฟจำลองไว้ในครอบครองมากขึ้น ใครจะสนับสนุนรถไฟจำลองของผม
หลายครั้งที่ผมนั่งมองรถไฟแล่นผ่านเมืองจำลองที่มีขนาดใหญ่กว่าเตียงนอนเล็กน้อย หากเผลอมองถึงอนาคตเมื่อใดก็คล้ายความคิดด้านลบกำลังเล่นงาน
ความรู้สึกหวงแหนรถไฟจำลองเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เนื่องเพราะวัตถุดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สิน บ้านเรือน หรือที่ดินมรดกที่ใครก็สามารถส่งต่อถึงลูกหลาน
สิ่งดังกล่าวเป็นเพียง ‘ของเล่น’ ที่บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ
และถ้าผมมีคนรัก เธอคนนั้นจะสนับสนุนให้ผมเล่นรถไฟจำลองหรือไม่ หรือหากผมมีลูก ถ้าเป็นลูกสาวก็อาจเสี่ยงกับการขายเป็นเศษเหล็ก
ด้วยเหตุและผลดังกล่าว กลายเป็นต่อมกระตุ้นว่า ถ้าไม่มีโอกาสเล่นในอนาคต ผมก็ต้องซื้อเก็บให้มากเข้าไว้ก่อนจะอดเล่น ความกระสันอยากในของสะสมจึงพอกพูน ทั้งที่ราคาของรถไฟจำลองก็ใช่ย่อย (หัวรถจักรหนึ่งคันตกราคาประมาณ 6,000 – 10,000 บาท)
มนต์สะกดที่ต้องการเพิ่มปริมาณทำให้ผมซื้อสะสมไว้เรื่อยๆ กระทั่งห้องนอนของผมเริ่มจะกลายเป็นหัวลำโพงขนาดย่อม
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่ผมเปิดหนังสือเกี่ยวกับรถไฟจำลอง เมื่อเห็นภาพเมืองจำลองที่ตกแต่งไว้สวยงาม กิเลสตันหาเกี่ยวกับของสะสมก็พวยพุ่งจนบางครั้งถึงกับตัวสั่นงันงก อยากได้หัวรถจักรคันนั้นคันนี้
ความรู้สึกของผมเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก หลังจากวงการรถไฟจำลองเกิดการขยายตัว มีการเปิดหน้าร้าน มีเวบไซต์ มีชมรมผู้เล่นรถไฟจำลอง โดยต้นเหตุเกิดจากกระแสของนายกรัฐมนตรีที่เล่นรถไฟจำลอง รวมถึงสังคมออนไลน์ที่ทำให้ผู้ชอบสะสมรถไฟจำลองหลายคนเกาะกลุ่มร่วมตัวตั้งเป็นสมาคม นัดพบปะสังสรรค์ในบางวาระ
มิติแรกถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะหากผู้นำเข้ารถไฟจำลองรับรู้ว่าลูกค้ามีความต้องการสูง สินค้าย่อมถูกลงตามกฎของอุปสงค์อุปทาน ทว่าในอีกมิติ ส่วนหนึ่งของการรวมตัวของคนชอบรถไฟจำลอง มักแฝงด้วยการอวดร่ำอวดรวย หยิบโชว์ของสะสมของตนว่าเป็นของมีระดับ
ผมเคยจดจ้องรถจักรของผู้เล่นคนหนึ่งที่นำหัวรถของตัวเองมาอวด รถจักรของเขาราคาเหยียบแสนบาท กระตุ้นความกระสันให้ผมไขว่คว้าเป็นเจ้าของ ความหมายของราคาที่ตีตราวัตถุ ลุกลามถึงจิตใจอย่างไม่อาจหยุดยั้ง
แต่ในบ่ายแก่ๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะจำใจวิ่งรถไฟจำลองคันเก่า ผมก็ถามตัวเองว่า...อะไรคือความหมายของการสะสม
ตริตรองอยู่เป็นนานจึงพบว่า จุดหมายของการสะสม...มิใช่แค่การสะสม
เพราะการเล่นรถไฟจำลองนั้น ถ้าจิตใจยังเปี่ยมด้วยความทะยานอยาก หมกมุ่นจนยอมให้กิเลสแห่งการไขว่คว้าเข้าสิงสู่ ย่อมรู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมช่างน้อยนิด
แต่ถ้าลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าหากต้องการสะสมเพียงเท่านี้ หรือในช่วงเวลานี้จะซื้อเก็บเพียงเท่านี้ ย่อมมองเห็นคุณค่าของสิ่งสะสม จนกลายเป็นมิติเวลาแห่งความสุข เป็นการพักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานมาทั้งวัน แถมยังเป็นสิ่งชักชวนให้รับรู้ประวัติความเป็นมาของกิจการรถไฟ ซึ่งคนรักรถไฟส่วนใหญ่มักชอบค้นคว้าเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว
หลังจากทดลองเปลี่ยนวิธีคิด ความสุขในการสะสมรถไฟจำลองเริ่มกลับมาหาผมอีกครั้ง แม้จะยังยืนยันว่าชีวิตนี้คงจะเล่นรถไฟจำลองไปตลอด กระนั้นก็ต้องพยายามตั้งรับกิเลสที่ถามหาอยู่เป็นระยะ ซ้ำต้องท่องจำอีกด้วยว่า ของสะสมคือวัตถุอันเย้ายวนที่กำลังทดสอบจิตใจเราว่าจะจัดการกับความต้องการไม่สิ้นสุด มิให้ล่วงเกินความพอดีได้อย่างไร
เพราะหากจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ ‘ความพอดี’ กับ ‘ของสะสม’ ย่อมอยู่ร่วมกันได้

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2550
โมน สวัสดิ์ศรี media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันศุกร์, พฤษภาคม 04, 2550

บ้านเมืองปลอดกิเลส


ข่าวคราวแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศวัฒนธรรมชื่อดังอย่างตลาดน้ำอัมพวา คงเป็นที่คุ้นหูของใครหลายคนดีอยู่แล้ว และอาจมีสักครั้งหรือมากกว่าที่คุณมีโอกาสได้ไปเยือนที่นี่ ติดใจ ประทับใจ และอยากชักชวนต่อให้คนรู้จักได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตไทยๆดั้งเดิมที่หาดูได้ยากยิ่งอย่างนี้

สภาพของช่วงสามวันแห่งการเปิดตลาดสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์ ไปดูเอาเถิดว่าคลื่นมหาชนหลั่งไหลในลำน้ำสายเล็กๆนั้นเป็นอย่างไร สิ่งนี้คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเราๆ ไม่ว่าจะมาจากกรุงเทพฯ หรือเมืองต่างจังหวัดใกล้ไกลอื่นๆ ล้วนแต่คิดเหมือนๆกัน ล้วนแต่ “โหยหา” วิถีแห่งอดีตอันงดงามเหมือนๆกัน



อดีตที่อัมพวาไม่ได้หมายเฉพาะสถาปัตยกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ แต่ที่วิเศษที่สุดก็คือ ผู้คน การดำรงชีวิต และทัศนคติวิธีคิด

บ้านเมืองในสังคมเกษตรกรรม พึ่งพาอาศัย มีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน และอยู่บนรากฐานของความพอเพียง

ทั้งหมดไม่ได้ถูกเซ็ทให้เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด หรือรณรงค์ไปตามเทรนด์เมื่อเราหันมาฮิตเรื่องดัชนีชี้วัดความสุข หากนั่นเป็นวิถีชีวิตเดิมๆของคนไทยเรา เป็นเรื่องเก่า เรื่องปกติ ที่เราบริหารประเทศกันอีท่าไหนไม่รู้ เรื่องเหล่านี้ถึงกลายเป็นแค่เรื่องเล่าจากอดีตไปในเวลาแค่ชั่วคนเดียว

และโดยเหตุที่สภาพชุมชนของอัมพวา หรือจะว่าไปก็ของเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงครามทั้งเมืองนั่นแหละ มีความเข้มแข็ง (หรือโชคดี) ที่รักษาลักษณะดั้งเดิมนี้ไว้ได้ ในขณะที่เมืองอื่นเกือบทั้งประเทศกลายพันธุ์เป็นสังคมอุตสาหกรรมกระหน่ำบริโภคนิยมกันไปหมดแล้ว นี้จึงกลายเป็นจุดขายที่ทำให้อัมพวาได้รับความสนใจท่วมท้นแทบจะทันทีที่ถูกเปิดตัว

แต่มีข้อสังเกตที่สวนทางอย่างน่าแปลกใจและน่าเสียดาย คือ
ในขณะที่เราหลงใหลและอยากกลับไปสัมผัสวิถีเดิมแท้ เราส่วนใหญ่กลับช่วยๆกันสร้างความแปลกปลอม ซ้ำร้ายบางอย่างกลายเป็นการทำลายบรรยากาศไปเสียได้แม้ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

เราอยากเปลี่ยนบรรยากาศมาอยู่อย่างเรียบง่ายสไตล์โฮมสเตย์ แต่จะดีมากกว่าหากที่พักถูกจัดสรรอย่างสะดวกสบาย มีแอร์ด้วยไหม อาหารเช้าอย่างไร ยิ่งตึกใหม่ๆใหญ่โตสวยหรู ติดไฟสว่างไสวยิ่งดูน่าดึงดูดใจ

เราอยากชมหิ่งห้อย แมลงตัวน้อยๆที่เปล่งแสงสดใสตามต้นลำพู แต่กลับสะดวกใจที่ได้ใช้บริการเรือหางยาวเครื่องแรงลำเล็กปราดเปรียว ที่สามารถซอกซอนพาเราเข้าไปใกล้ชิดชนิดจับต้องกันได้กับเจ้าหิ่งห้อย เราหัวเราะส่งเสียงร้องเรียกชี้ชวนกันดูหิ่งห้อย เรายิ้มเริงร่าที่จะได้ชักภาพโดยใช้ไฟแฟลชช่วยเก็บรูปคู่กับเจ้าหิ่งห้อยได้ชัดๆ เรายินดีที่คนขับเรือช่วยส่องสปอร์ตไลท์นำสายตาไปตามต้นลำพูและตามต้นไม้ที่นกยางเกาะคอนหลับสงบอยู่ เราเอาแต่นึกว่านี่คุ้มกับค่าเรือนำชม 60 บาทที่จ่ายไปแล้วหรือยัง

จะมีเพียงบางอึดใจไหมที่เราได้ลองนึกสังเกตว่า สภาพทั้งหมดนี้จะกระทบกระเทือนวิถีชีวิตอันอ่อนไหวของแมลงหิ่งห้อย ซึ่งเปราะบางเหลือเกิน ซึ่งชอบอาศัยอยู่กับธรรมชาติสะอาดและสงบ ซึ่งหาไม่ได้แล้วในที่ไหนๆ ซึ่งเราเลยต้องถ่อมาดูแมลงบ้านๆไกลถึงที่นี่ เพราะมันมีเยอะที่สุดที่นี่เป็นที่สุดท้ายแล้ว ซึ่งทุกวันนี้แมลงเหล่านี้ก็หลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งในสิบเสียแล้ว
ฯลฯ

2-3 ปีก่อน เรือนแถวไม้ริมน้ำคลองอัมพวายังถูกทิ้งร้างนับมาตั้งแต่การตัดถนนเส้นทางสัญจรทางบกสะดวกสบาย ผู้คนทิ้งถิ่น เลิกอาชีพทำสวนทำประมงพื้นบ้านที่แสนเหนื่อยยาก เข้าไปทำงานในเมืองหลวงและตามแหล่งอุตสาหกรรม มาวันนี้ที่กระแสนักท่องเที่ยวหลั่งไหล อัมพวาคึกคักขึ้นก็จริง แต่หลายๆพื้นที่ถูกแปรสภาพตัดต้นไม้ถมที่ทำรีสอร์ทโฮมสเตย์ เรือนำเที่ยวจากต่างถิ่นมุ่งเข้ามาขุดทอง วิถีชีวิตเจือจานเกื้อกูลถูกครอบงำทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นของมี “ราคา” เป็นสินค้า มีไว้ซื้อขาย ซ้ำสิ่งแวดล้อมตามสภาพธรรมชาติก็รังแต่จะถูกรบกวนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

ไม่อยากมองโลกแง่ร้ายนึกไปถึงว่า จุดจบของชุมชนเก่ากี่แห่งต่อกี่แห่งที่เจอ “ททท – ท่องเที่ยวทำลายไทย” พังระนาวไปตามๆกัน หวั่นใจว่าอัมพวาจะกลายเป็นน้องใหม่ล่าสุดไหม ทั้งๆที่รักษาตัวตนมาได้ยาวนาน แต่การยืนต้านกระแส ใครก็รู้ว่ามันยากขนาดไหน ยิ่งในความเชี่ยวกรากของเม็ดเงินสะพัด การยืนหยัดโดยไม่ล้ม โค่น หรือถูกซัดเซพเนจรยิ่งยากขึ้นเท่าทวีคูณ

ชุมชนคนอัมพวารู้ไม่ใช่ไม่รู้ ช้าแต่ไม่ใช่เฉื่อย ซื่อแต่ไม่ใช่เซ่อ เขาพยายามรวมตัวกัน เขายืนยันที่จะเปิดตลาดทำเป็นเมืองท่องเที่ยวแค่สามวัน และขอดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขตามเดิมในสี่วันที่เหลือ คนอัมพวารุ่นเก่าเคยรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนอย่างไร บัดนี้ความรู้สึกนั้นกำลังค่อยๆกลับคืนมาอีกครั้งในคนรุ่นใหม่ เมื่อมีคนที่อื่นที่ไกลจะเข้ามากอบโกยทำลายบ้านเขา เขาพยายามช่วยๆกันส่งเสียงร้องเตือนเท่าที่กำลังเล็กๆปราศจากอาวุธกฎหมายคุ้มครองจะพอทำได้

จุดสังเกตง่ายๆคือ ในจังหวัดนี้คุณจะเห็นมีเซเว่นอีเลฟเว่นท์น้อยที่สุด ขณะที่โชห่วยแบบบ้านๆยังกระจัดกระจายอยู่ทุกหัวระแหงแม้ตามซอกซอยเล็กๆ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเพราะเศรษฐกิจชุมชนไม่ดี แต่เพราะคนที่นี่เขาช่วยๆกันยันไม่ให้มินิมาร์ทแฟรนไชส์รุกล้ำกล้ำเกินมากไป

ยังมีคนจังหวัดไหนคิดเรื่องแบบนี้บ้าง?

และหากว่าจะมีสักครั้งที่คุณคิดอยากให้รางวัลกับชีวิต หลบไปท่องเที่ยวใกล้ๆกรุงฯ แล้วคุณเลือกอัมพวา อย่ามัวเอาแต่ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวตามกระแสให้เสียเที่ยว

ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสกับเนื้อแท้ตัวตนของชุมชน (ซึ่งอาจไม่ได้เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก) ด้วยเนื้อแท้ตัวตนแห่งจิตวิญญาณความเป็นไทยที่คุณมีอยู่เต็มเปี่ยมไม่ว่าจะโดยสัญชาติหรือศาสนาใด

ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด บ้านนี้เมืองนี้ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯแค่เจ็ดสิบกว่ากิโลเมตรถึงยังคงสภาพสังคมอบอุ่นอ่อนโยนไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งๆที่เมืองคู่แฝดอย่างมหาชัยกลายสภาพเป็นดงโรงงานไปนานแล้ว

(คำตอบที่ขอให้ไว้พอสังเขปคือ ด้วยสภาพพิเศษของระบบนิเวศเมืองสามน้ำ คือ น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะอาชีพและการดำเนินชีวิต คนแม่กลองไม่ทำสวนก็ทำประมงเป็นหลัก ทั้งสองอาชีพเหมือนกันตรงที่ต้องอาศัยความเพียรและละมุนละม่อม พิถีพิถันเอาใจใส่และช่างสังเกต ชาวสวนวันๆต้องขึ้นต้นมะพร้าวเอาน้ำตาลวันละสองรอบตลอดแปดเดือนในหนึ่งปี คนประมงพื้นบ้านกินนอนออกเรืออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ขนาดทำรายได้ให้ไม่ขัดสน แต่เวล่ำเวลาที่จะไปใช้เงินเที่ยวเตร่ไม่มี ทำงานเหนื่อยค่ำลงก็นอน เช้าตื่นมาขยันต่อ ช่องทางจะเข้าไปเฉียดใกล้อบายมุขน้อย ช่องทางก่อหนี้สินรุงรังน้อย ผู้คนก็มีอิสระ พึ่งพาตัวเองได้ หยิ่งในศักดิ์ศรี และอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน จึงไม่จำเป็นต้องวิ่งเปลี่ยนตัวเองตามกระแสโลก)

ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองไปกิน-ไปนอน-ไปอยู่ ในบ้านเมืองที่โมงยามตามเข็มยาวสั้นของนาฬิกาไม่ได้มีความหมายไปกว่าเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ที่นี่ความเร่งรีบรวดเร็วไม่ใช่สรณะ สิ่งบันเทิงไม่ใช่อยู่ในจอทีวี หากแต่เป็นจินตลีลาระบำในน้ำของปลาเสือปลาตะเพียน ทำบุญใส่บาตรพระพายเรือก่อนตะวันขึ้น กินขนมกินผลไม้กินอาหารรสชาติบ้านๆที่ทำใหม่ๆจากในครัวไม่ใช่พะยี่ห้อของโรงงาน เสพบรรยากาศพระอาทิตย์ตกลับทิวยอดมะพร้าวยามโพล้เพล้ที่งามจับใจ พระจันทร์ทั้งข้างขึ้นข้างแรมก็สวยทั้งนั้นเมื่อไม่มีมุมตึกมาบดบัง และหลับสบายไปในค่ำคืนแสนสงบที่แสงดาวกับแสงหิ่งห้อยสุกสกาวเท่าๆกัน

นี่ไม่ใช่บทพร่ำพรรณนาของนิยายโรแมนติก ทั้งหลายทั้งปวงมีอยู่จริง และนี้แหละคือ “ชีวิตรื่นรมย์” ที่แท้ มนุษย์เราจะปรารถนาสิ่งใดมากไปกว่านี้ เงินทองหน้าที่การงานยังไม่จีรังเท่า แล้วจะเข้าใจว่าคนที่ดำรงตนอยู่ในสภาพบ้านเมืองปลอดกิเลสตัณหานั้นมีชีวิตที่มีคุณภาพอย่างไร กิเลสตัณหาที่ก่อตัวอยู่ทุกวันในใจเราก็พลอยได้เสื่อมสลายบางเบาลงไปด้วย

สุดท้ายของการไปเยือนในฐานะแขก เราควรมีส่วนช่วยเจ้าบ้านดูแลบ้าน ด้วยความสำนึกที่เขาสู้อุตส่าห์รักษาสภาพสังคมงามๆให้วันนี้เราได้มาชื่นชม โดยการไม่อุดหนุนกิจการหากำไร (เป็นต้นว่าเรือหางยาวนำเที่ยวซึ่งอันตรายและสร้างความเดือดร้อนรำคาญ) อันก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์จากการท่องเที่ยว หรือการไม่ยัดเยียดค่านิยมน่ารังเกียจที่เรานำติดตัวไปจากเมืองใหญ่

เที่ยวอัมพวาอาจไม่สนุกแบบเที่ยวในเมืองหลวง แต่รับรองได้ว่ามีความสุข ไม่เชื่อลองปล่อยให้ลมหายใจของเราดำเนินไปกับสรรพชีวิต ธรรมชาติ และสายน้ำอย่างสอดคล้องด้วยจิตคารวะเถิด แล้วจะซึ้งว่า...

ที่ใดไม่มีกิเลสหนา ที่นั่นเราจักได้อยู่เย็นเป็นสุข



เรื่อง ภัทรพร อภิชิต media4joy@hotmail.com
ภาพ วีรวุฒิ กังวานนวกุล