วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 30, 2550

สุขใจท่ามกลางทางเลือก


ทุกๆ วันที่เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางทางเลือกที่หลากหลาย ความรวดเร็วและสะดวกสบาย ทุกอย่างเลือกได้ สั่งได้ เพียงคลิกหรือกดปุ่ม ซึ่งในไม่ช้า สิ่งนั้นก็ปรากฎ
แต่บนทางเลือกที่มีอยู่ดาษดื่นนี้ หลายครั้ง ดิฉันลังเล ไม่แน่ใจ เหมือนต้องเดาว่าตรงไหนบ้างที่อาจมีกับดักแอบซ่อนอยู่
การมีตัวเลือกมากขึ้นอาจบั่นทอนคุณภาพชีวิตของเราได้ หากตั้งหลักไม่ดีพอ
นั่นไม่ได้หมายความว่า ดิฉันมองข้าม “คุณค่า” ของความแตกต่างหลากหลาย เพียงขอย้ำว่า เมื่อมีตัวเลือกมากขึ้น ต้นทุนที่ตามมาย่อมมากขึ้นตามไปด้วย
ทักษะการบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี
ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ขาดทักษะเรื่องเหล่านี้ ตัดสินใจสิ่งใดๆ อย่างยากเย็น ทั้งต้องหาข้อมูลเพิ่มและเร่งมือให้เร็วขึ้น ทำให้น้อยครั้งที่ดิฉันจะได้อยู่นิ่งๆ เพื่อที่จะอิ่มเอมกับสิ่งตรงหน้า ไม่มีเวลาสำรวจดูซอกเล็กซอกน้อยของชีวิต ไม่มีจังหวะที่จะหันกลับมาทบทวนตรวจสอบแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว
ดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่จะรีบรุดไปข้างหน้า โดยคิดว่าตนจะได้เลือก ได้ลิ้มลองสิ่งใหม่ๆ ก่อนใคร อย่างเช่นสินค้าที่ออกมาให้เราได้เลือกมากมายหลายดีไซน์ ใช้เวลาผลิตไม่นาน แต่คุณภาพก็บอบบาง ไม่คงทน แตกหักง่าย โดยมิพักต้องพูดถึงความประณีต
ฤาหัวใจคนวันนี้ได้ถูกหลอมแบบเดียวกับคุณภาพของสินค้าไปแล้ว
วิถีชีวิตผู้คนวันนี้ขาดความดื่มด่ำล้ำลึก หากเปรียบกับการเดินทางก็เหมือนเรากำลังเดินไปบนทางราบ คุ้นเคยกับทางเรียบ วิตกเมื่อพบหน้าผาหรือทางดิ่ง เรามีแต่ทักษะที่จะมุ่งหน้ามากกว่าดำดิ่งซึ่งหลายครั้ง เราก็จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญในการเดินทางแนวดิ่งเช่นเดียวกัน
ทันทีที่ต้องเผชิญกับโขดภูเขา เราจะได้รู้ว่าจะป่ายปีนหรือไต่ลงอย่างไรให้ปลอดภัย
การแสวงหาความสุขจากภายในก็เช่นกัน
บนทางเลือกที่มีอยู่มากมาย หลายคนมักคิดว่า “ความสุข” เป็นหนึ่งเดียวกับการบริโภค มีความหมายใกล้เคียงกับความพึงพอใจที่ได้เสพ เป็นอาการเดียวกับความสนุกสนานตื่นเต้น หรือมีสีสันชีวิตที่แปลกแตกต่างไปจากคนธรรมดา
ที่จริง การแสวงหาความสุขของชีวิต อาจไม่จำเป็นต้องออกเดินไปไหน ไม่จำเป็นต้องเดินทางเสมอไป เพียงหยุดนิ่งเพื่อดำดิ่ง พินิจตัวเราด้วยสติ เห็นความสำคัญของ “ความธรรมดา” ในชีวิตประจำวันอย่างใส่ใจ เพลิดเพลินกับความเรียบง่าย ยิ้มได้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยวางให้เป็นปกติ
เพียงเท่านี้ ภาวะขณะเผชิญหน้าผาชันก็ไม่ต่างอะไรกับทางราบเรียบ ไม่ว่าจะเดินหน้าและนิ่งสงบ ต่างเป็นภาวะปรกติธรรมดาที่เป็นสุข
ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่นิ่งและดิ่งลึก ซึมซับและรับรู้ความสุขที่อยู่ภายในหัวใจ เท่านี้ก็สุขแล้ว
อย่างไรก็ดี นอกจาก “วิถี” แห่งความสุขที่ว่ามาแล้ว ความมุ่งมั่นและอดทนก็สำคัญไม่แพ้กัน
หนทางของใครหลายคน แม้จะมาถูกทาง แต่ไม่ช้า พวกเขากลับเลิกล้มความตั้งใจ เพียงเพราะกังวลว่าจะไม่ถึงเป้าหมาย ห่วงว่าจะเปลืองตัวระหว่างเดินไป คิดเพียงก้าวให้ถึงที่หมายจนลืมแวะชมความงามสองข้างทาง
มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ผ่านการใช้ชีวิตมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หรูหราฟู่ฟ่า เป็นอยู่อย่างสนุกสนานไปวันๆ ชอบการผจญภัยโลดโผน ทั้งตามกระแสและไม่ตามกระแส แต่สุดท้าย พวกเขาก็ลงเอยด้วยความพอใจชีวิตที่เรียบง่าย
ท่ามกลางความหลากหลาย และความเร่งรีบที่สังคมพาเราไป ดิฉันเชื่อว่า เราสามารถเลือกวิถีแห่งความสุขและความรื่นรมย์ในชีวิตได้ เพียงหวนกลับมาหาความเรียบง่าย จากความสุขภายในหัวใจและจิตวิญญาณ
โดยส่วนตัวดิฉันแล้ว การมีเวลาอ่านหนังสือ ค่อยๆ เก็บรับสัมผัสอรรถรสจากการอ่าน จากหนังสือที่ถูกใจ เพียงเท่านี้ก็ปีติสุขได้แล้ว
การได้เห็นหน่ออ่อนของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะไว้ภายในบริเวณบ้านโผล่ขึ้นจากผืนดิน รอยยิ้มน้อยๆ บนใบหน้าก็พลอยผุดขึ้นตาม
เมื่อหน่อผุดขึ้น เราก็ต้องบ่มเพาะหล่อเลี้ยงให้มันเติบโตต่อไป เฝ้าดู รดน้ำ และพรวนดิน ดูแลให้หน่ออ่อนเล็กๆ เหล่านั้นโตขึ้น ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรีบ ไม่หวังผลใดๆ
เพียงเท่านี้ก็สุขใจแล้ว
ที่เหลือ เช่น การได้ออกกำลัง ได้ช่วยเติมก๊าซออกซิเจนให้แก่โลก ล้วนเป็นผลพลอยได้
ดิฉันตั้งข้อสังเกตกับตัวเองถึงสิ่งที่นำพาเอาความรื่นรมย์ใจมาให้และพบว่า การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ใช้เวลากับลมหายใจ จดจ่อกับกิจกรรมที่กำลังทำ ค่อยๆ ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกในใจทยอยละลาย ลื่นไหลตามลมหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ เท่านี้ก็รื่นรมย์ใจได้แล้ว
สำหรับดิฉัน การเร่งรีบรังแต่จะนำความรู้สึกอึดอัดมาสู่เรา เพิ่มน้ำหนักความเครียดและปริมาณความกดดันมาให้ การได้อ่านหนังสือธรรมะสักเล่ม ประทับใจกับถ้อยคำสอนของพระนักบวชอย่างหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ ก็สุขใจยิ่งแล้ว
ท่านใช้คำว่า “รีบเย็น” นับตั้งแต่ได้รู้จักคำนี้ ดิฉันรู้สึกยินดีและมีความสุขมาก เป็นคำง่ายๆ ที่นำมาใช้ได้ผลจริงในเวลาที่ต้องเผชิญกับความเร่งรีบ
ท่านหมายถึงให้เราทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความว่องไวอย่างที่คุ้นเคย เพียงแต่ทำด้วยจิตใจที่เยือกเย็นเป็นปกติ ไม่ใช่ทำด้วยจิตใจที่เร้าร้อน
เพียงเท่านี้ก็ช่วย “เคาะ” ให้ดิฉันตาสว่าง มีทางออก ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาหลังจากที่รู้สึกอึดอัดขัดข้องมาตลอด
คำว่า “ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม” ถึงแม้จะเป็นวลีที่ออกจะเชยและตกยุคไปแล้ว เพราะตกมาถึงรุ่นเราไม่ต้องมานั่งละเมียดบรรจงตีเหล็กเพื่อทำมีดพร้าไว้ใช้งานอย่างคนรุ่นก่อนๆ แต่ดิฉันก็เชื่อแน่ว่า ในแต่ละวัน ท่ามกลางความหลากหลาย ถ้าเราสามารถทำทุกเรื่องให้ช้าลงได้ เราก็จะรู้สึกเบาสบายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องง่ายๆ อย่าง “การหายใจ”
ลองหายใจเข้าอย่างช้าๆ ลึกๆ พอสุดแล้วก็ให้กลั้นลมหายไว้สัก 5 ถึง10 วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ หมั่นทำบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเครียดๆ จะช่วยให้หายเครียดได้
นอกจากนี้ ลองฝึกทำทุกอย่างด้วยจิตที่มีสติและใจที่เป็นสุขไม่ร้อนรน ที่สุด ความอึดอัดคับข้อง ความวุ่นวายสับสน จากทางเลือกที่มีอยู่เยอะจนน่าใจหายก็จะเปลี่ยนเป็นความปลอดโปร่งโล่งหัวใจแทน
ใครที่กำลังอยู่ระหว่างเผชิญทางเลือก ลองทำทุกอย่างให้ช้าลงอีกสักนิด ผ่อนลมหายใจเข้าออกให้ยาวขึ้นอีกหน่อย แล้วโลกที่น่ารื่นรมย์ก็จะปรากฏภายในไม่กี่ลมหายใจ

ชีวิตรื่นรมย์ / โพสต์ทูเดย์ / 21 สค 50
ศิริวรรณ สุขวิเศษ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันศุกร์, สิงหาคม 10, 2550

ระหว่างบรรทัดกับศรีดาวเรือง



เมื่อไม่นานมานี้ พวกเราชาวสื่อสร้างสรรค์ (Happy Media) ได้ถือโอกาสไปเยี่ยมนักเขียนหญิงรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งที่หลายคนรู้จักกันทั่วไปในชื่อนามปากกา “ศรีดาวเรือง” (นามจริงคือ วรรณา ทรรปนานนท์)
มีคนเคยบอกว่า เธอคือนักเขียนตัวจริงที่นำประสบการณ์ชีวิตจริงๆ ที่แสนยากของตัวเธอเองมาถ่ายทอดให้เราอ่านในรูปของงานประพันธ์
ผมเชื่อว่า ระหว่างบรรทัดของบันทึกชีวิตนักเขียนท่านนี้ก็รันทดและงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องแต่งใดในบรรณพิภพนี้
คณะของเราตั้งใจไปเยี่ยมเธอถึงบ้านพักย่านรังสิต และเมื่อเราไปถึง บรรยากาศแมกไม้ที่เงียบสงัดก็สะกดหัวใจของเราจนรู้สึกผ่อนคลาย ใจลอยเลือนหายไปกับธรรมชาติรอบตัวโดยฉับพลัน
ด้วยพบกันครั้งแรก บทสนทนาเริ่มต้นจึงดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ ไม่มุ่งตั้งประเด็น พูดคุยด้วยอัธยาศัยตามประสาเพื่อนมนุษย์ที่มีไมตรีจิตต่อกัน และถึงแม้ผู้ใหญ่ของเราในวันนั้นจะเป็นนักเขียน แต่เรากลับไม่คิดว่าต้องปักธง มุ่งถกเถียงเพียงเรื่องวรรณกรรมแต่อย่างใด
สื่อสร้างสรรค์ชวนเธอคุยสารทุกข์สุขดิบ ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ ความสุข ความใฝ่ฝัน และงานอื่นๆ นอกเหนือจากที่เราๆ ท่านๆ พอรู้กันแล้ว
“นักเขียนบางคนบอกว่า เขาต้องเขียน เขาหยุดไม่ได้ แต่ชีวิตเราไม่ใช่อย่างนั้น...” ภาพและเสียงสดๆ เบื้องหน้าจากนักเขียนหญิงเริ่มต้น “ชีวิตคนเราจะสุขได้ ไม่ใช่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวหรอก เขียนหนังสือ มีความสุข ใช่! แต่ไม่ใช่อย่างเดียวหรอก และเราก็เป็นคนหนึ่งในโลกนี้ที่มีหน้าที่อย่างอื่น จากหน้าที่ในบ้าน นอกบ้านกับคนอื่นๆ กับเพื่อนบ้าน กับคนในชุมชนและสังคม แม้แต่กับผลหมากรากไม้...ถ้ามัวแต่เขียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ได้หรอก เหมือนกินอาหารอย่างเดียว มันก็ไม่ได้”
เพียงคำสนทนาเบาๆ ในบรรยากาศสบายๆ พวกเราก็ได้เรียนรู้จากทัศนะดังกล่าวแล้วว่า ลำพังชีวิตของเราคนเดียว ไม่อาจดำรงอยู่ได้เลย หากปราศจากผู้อื่นและสิ่งอื่นๆ ความเป็นตัวเราจะไร้ความหมาย ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น คำของคุณวรรณาชี้ว่า คุณค่าของคนเราจะปรากฏก็ต่อเมื่อได้รับการประกอบสร้างจากสิ่งอื่นๆ จากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งของและคนรอบข้าง รวมทั้งสถานที่และบรรยากาศแวดล้อม อดีตและสถานการณ์ ฯลฯ
คุณค่าของนักเขียนรุ่นใหญ่อย่างศรีดาวเรืองก็เช่นกัน
ทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์ชุมชนขนาดแท็บลอยด์ชื่อ “มือทำ” ที่เธอและลูกชาย (โมน สวัสดิ์ศรี) ช่วยกันลงมือทำแจกตามร้านค้าภายในละแวกบ้าน คืองานที่พวกเขาสมัครใจทำโดยหวังให้เป็นสื่อกลาง เป็นกระบอกเสียงของคนในชุมชน และรูปธรรมของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ากับตัวเองและผู้อื่นด้วยวิธีง่ายๆ
ถึงตรงนี้ รอยยิ้มของพวกเราก็ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง
หนังสือพิมพ์ “มือทำ” คือตัวอย่างการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับผู้อื่น ตั้งแต่การวางแผนงานกับลูกชายในบ้าน เริ่มหาข้อมูลมาขีดเขียน จัดหน้า และพิมพ์แจกจ่ายภายในชุมชน
อีกบุคคลที่มีส่วนในความเป็นศรีดาวเรืองทุกวันนี้คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี คู่คิดเครางาม คู่ชีวิตของเธอ ศรีดาวเรืองเล่าว่า คุณสุชาติยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการส่วนตัวของเธอ และผู้คัดกรองหนังสือให้เธออ่านในช่วงแรกๆ ของการฝึกฝนงานเขียนของตัวเอง
สุชาติ สวัสดิ์ศรี คือผู้นำ “ความมั่นใจ” มาให้เธอ คุณสมบัติสำคัญของนักเขียน
“คนที่ชอบเขียนหนังสือส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านก่อน” ซึ่งผมเดาว่าทุกคนก็เชื่อเช่นนั้น แต่ที่สำคัญคือ สำหรับงานเขียนที่ดีนั้นน่าจะมาจากแหล่งทรัพยากรหรือฐานข้อมูลที่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ชีวิต
บทสนทนาช่วงหนึ่ง เธอได้เปรียบตนเองเหมือนผู้กระหายในความรู้รอบตัว ด้วยมองตัวเองเป็น “เด็กบ้านนอก” ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่รักเรียน รักที่จะใฝ่หาความรู้
“สมัยก่อน ตนเองได้ไขว่คว้าหาความรู้ใส่ตัวสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิชาพิมพ์ดีด เย็บปักถักร้อย ขับขี่รถ เรียนภาษาอังกฤษเบื้องต้น แม้กระทั่งการยิงปืน และที่เรียนก็เพราะอยากรู้ โดยไม่กังวลว่าจะได้ใช้วิชาที่เรียนมาหรือไม่ ไม่สนใจว่าพฤติกรรมของตนเองจะถูกดูถูกจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันมากน้อยเพียงใด”
สื่อสร้างสรรค์อย่างพวกเราก็พยายามทำเช่นนั้น คืออยากรู้อะไรก็ลงมือทำ ใช้เวลากับมัน หาความรู้จากประสบการณ์จริง เดินทางไปพูดคุยขอความรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า การหาความรู้ของคนเรามีได้หลากแบบหลายวิธี ทั้ง “ครูพักลักจำ” จากประสบการณ์ชีวิต ฝึกฝนการวิเคราะห์ข่าวสารจากสื่อสารมวลชน เก็บรับจากภาพยนตร์สารคดี บริโภควิทยุโทรทัศน์ อ่านสมุดบันทึกของนักเดินทาง นิตยสารและหนังสือเล่ม ตลอดจนดูแผนที่ ชมภาพร่าง ภาพถ่าย และภาพเขียน เรื่อยไปจนถึงการนั่งวิปัสสนา ภาวนาเพื่อหา “ความรู้ด้านใน”
นอกเหนือจากที่ยกมานี้ ความรู้จากบทสนทนาดีๆ มีสาระ ไม่ว่าจะพูดคุยกับมิตรสหาย ผู้คนผ่านทาง หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนก็ล้วนเป็นวิธีการหาความรู้ด้วยกันทั้งนั้น
แต่ดูเหมือนวิธีการอย่างหลังสุดกำลังจางหายไปจากความนึกคิดในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ โดยเฉพาะสังคมเมือง วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่มีสื่อสารพัดแวดล้อมตัวเรามากมาย ทั้งที่ให้เราเลือกเสพและยัดเยียดให้เราบริโภค คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เข้ามาเบียดขับการแสวงหาความรู้จากผู้สูงวัยออกไปจากเรา
โลกสมัยใหม่มักแยกผู้คนให้หนีห่างออกจากกัน เด็กรุ่นใหม่ไม่เคารพผู้อาวุโส วัยชราเข้าไม่ได้กับโลกของคนหนุ่มสาว อีกทั้ง การเรียนที่จำกัดนิยาม “ความรู้” ส่วนใหญ่แต่เฉพาะในรั้วสถานศึกษา หรือการงานที่แย่งเวลาของเราไปตลอดทั้งวัน ตลอดสัปดาห์ ก็ล้วนเป็นมูลเหตุให้การหาความรู้จากผู้ใหญ่หายไปจากสารบัญชีวิต
เสน่ห์ของวิธีการหาความรู้แต่ละแบบก็แตกต่างกัน เฉพาะการเดินทางไปหาความรู้ผ่านการพูดและฟังนั้น นอกจากความรู้แล้ว เรายังได้สร้างความคุ้นเคยกับคู่สนทนา และได้สัมผัสกับ “ความมีชีวิตชีวา” ของเขาตลอดช่วงเวลาที่การพูดคุยดำเนินไป เฉพาะอย่างยิ่ง การพูดคุยกับผู้สูงวัยกว่าจะทำให้เราได้รับข้อคิดสอนชีวิตดีๆ ระหว่างคนต่างวัยด้วย
จินตนาการของผู้คนในสังคมเมืองสมัยใหม่ทุกวันนี้เริ่มพร่อง ส่วนหนึ่งคงมาจากการพึ่งความรู้จากสื่อสารมวลชนมากเกินไป
หากพวกเราลองหันมามองผู้สูงวัย นึกถึงพวกเขา และพูดคุยด้วยความผ่อนคลายด้วยบรรยากาศคล้ายการเล่านิทานสู่กันในวงสนทนาเล็กๆ ของหมู่บ้าน บางทีก็อาจเป็นวิธีง่ายๆ ที่เรียกจินตนาการของพวกเรากลับคืนมาอีกครั้ง
คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง ลองเริ่มชวนท่านคุยก่อนสิครับ

หมายเหตุ
ที่มาของชื่อ “ศรีดาวเรือง” คุณวรรณากรุณาเล่าให้พวกเราฟังว่ามาจากคุณสุชาติ โดยนำคำว่า “ศรี” มาผสมกับคำว่า “ดาวเรือง” ซึ่งเป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งมีสีเหลือง แต่เหตุที่ทำไมต้องเป็นดอกนี้ก็เพราะรูปลักษณ์ของดอกดาวเรืองคล้ายคลึงกับดอกไม้สีเหลืองอีกชนิดที่คุณวรรณาเก็บได้และประทับใจ จดจำมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อของเธอตั้งชื่อให้ดอกสีเหลืองช่อนั้นว่า “yellow star” (แปลว่าดาวสีเหลือง)

ชีวิตรื่นรมย์ // 14 ส.ค. 50
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันศุกร์, สิงหาคม 03, 2550

ต่างกันตั้งแต่เริ่มต้น


“..............กรี๊งงงงงงง” เสียงโทรศัพท์บนโต๊ะทำงานดึงสมาธิของผู้เขียนจากการอ่านจดหมายกองพะเนินที่วางอยู่บนโต๊ะ เสียงจากปลายสายคือเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานฝ่ายการตลาดของบริษัทผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เธอขอให้ผู้เขียนช่วยหาเพลง “ใจจะขาด” ของศรเพชร ศรสุพรรณ เนื่องจากเห็นว่าผู้เขียนจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่งที่ FM 95 ลูกทุ่งมหานคร โดยขอให้ตัดเอาเฉพาะท่อนสำคัญของเพลง ดังนี้

“ใจจะขาด แล้วเอ๊ย ใจจะขาด แล้วเอย
นอนไม่หลับ จับใจ
เต้นไว เหมือนมีใครเฆี่ยนตี
มองอีกครั้ง เห็นเขานั่ง จู๋จี๋
โอ้ยใครกันนี่ ช้ำอย่างนี้มีบ้างไหม
ใจจะขาด แล้วเอ๊ย ใจจะขาด แล้วเอย”

คู่สนทนาแจ้งจุดประสงค์ของการใช้เพลงลูกทุ่งนี้ว่า ต้องการนำไปประกอบการทำ Presentation ทางด้านการตลาด!!!!
ใช่แล้วค่ะ ท่านผู้อ่านไม่ได้ตาฝาดและผู้เขียนไม่ได้พิมพ์ผิด แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักการตลาดคนนี้ สนใจใช้เพลงลูกทุ่งที่ชื่อ “ใจจะขาด” สำหรับ Presentation นำเสนอลูกค้า
คำตอบที่ได้รับก็คือ...
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปิดกิจการของบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด มูลค่า 300 กว่าล้านบาท ซึ่งเจ้าของบริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้เพื่อพยุงกิจการได้ และจำต้องต่อสู้กับผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้
เมื่อสายป่านขาด ว่าวที่เคยทะยานติดลมบนอย่างโรงงานไทยศิลป์ เป็นต้องหลุดลอยเคว้งคว้างกลางอากาศ ก่อนที่จะร่วงหัวปัก ตกลงสู่พื้นดินอย่างไม่มีจุดหมาย นั่นหมายถึงอนาคตของคนงานอีกราว 6,000 คน ที่ถูกลอยแพไปพร้อมกับว่าวตัวนี้
ข้อมูลที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้เป็นเพียงท่อน intro ของเพลง ยังไม่ถึงท่อน hook และ solo ที่จะกระหึ่มถล่มเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้
กรณีปิดโรงงานขนาดยักษ์ของบริษัทไทยศิลป์ฯ ว่าไปแล้วก็เป็นเสมือนสัญญาณอันตรายสำหรับธุรกิจอีกหลายประเภทที่กำลังจ่อคิวถูกตัดสายป่านให้ร่วงกราวอีกนับไม่ถ้วน จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที
เพื่อนนักการตลาดรายนี้เชื่อว่า ชั่วโมงนี้ ไม่มีเพลงไหนที่จะเข้าถึงหัวใจของลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจได้ดีกว่าเพลง “ใจจะขาด” อีกแล้ว

อีกเรื่องเกิดขึ้นขณะที่ผู้เขียนกำลังฟังคำอธิบายประกอบการขอรับความช่วยเหลือ ผู้เขียนได้กวาดสายตาอ่านจดหมายกองพะเนินบนโต๊ะทำงาน เป็นข้อความแสดงความรู้สึกของผู้ฟังคลื่นความคิด FM 96.5 ที่ได้ไปร่วมกิจกรรม “ตามรอยพ่อ พอเพียง ครั้งที่ 2” ซึ่งเดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวงที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ผู้ฟังแต่ละท่านบรรยายถึงความประทับใจต่อแนวความคิดและวิธีการที่ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตผู้อำนวยการกองสำนักโครงการพระราชดำริ นำมาเผยแพร่และปฏิบัติให้เห็น
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์วิวัฒน์ทิ้งชีวิตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อกลับไปเป็นชาวนาที่บ้านเกิด (บ้านมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี)
ความตั้งใจของท่านที่ใหญ่คับหัวใจคือ การพิสูจน์ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันลอยๆ และทฤษฎีใหม่ของในหลวงนั้น เป็นความรู้ที่ยั่งยืนสำหรับชาวไทยและชาวโลก
ท่านเริ่มพลิกฟื้นผืนดินที่แตกระแหงจากการปลูกไร่มันสำปะหลังเป็นระยะเวลายาวนานจนกระทั่งทำลายความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินด้วยเงินบำนาญราชการที่มีอยู่จำกัด
เพียงจุดเริ่มต้นก็เห็นความต่างอย่างเด่นชัดแล้วว่า แนวทางการแก้ปัญหาของอาจารย์วิวัฒน์สวนทางกับแนวทางของบริษัทไทยศิลป์อย่างไร
หลักการทำธุรกิจสมัยใหม่มักเริ่มต้นด้วยการหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินตั้งแต่เริ่มประกอบการ เริ่มสะสมหนี้สินตั้งแต่ตั้งไข่ ฟูมฟักธุรกิจให้เติบโตบนกองหนี้ที่พอกพูนขึ้นตามการขยายตัวของกิจการ
กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องได้กลายเป็นชุมชนของวิถีการเกษตรปลอดสารพิษที่มั่นคง พื้นที่กว่า 40 ไร่ของศูนย์ฯ กลายเปลี่ยนเป็นท้องทุ่งเขียวขจีทุกตารางนิ้ว เป็นไปตามทฤษฎีการปลูกพืชแบบผสมผสาน และชาวมาบเอื้องเองก็มั่นใจในตัวเองมากขึ้น พร้อมกล้าประกาศตัวต่อสาธารณะว่าเป็นชุมชน “คนรวย” ของประเทศนี้ โดยไม่เกรงต่อการตรวจสอบจาก คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ)
ความรวยที่ว่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่อาจารย์วิวัฒน์มักปล่อยมุกตลกด้วยการอวดสกุลเงินตราต่างประเทศที่ท่านพกไว้ในกระเป๋าสตางค์ราวกว่า 20 ล้าน (เช่น สกุลเงินพม่า และตุรกี) เรียกอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะเป็นที่โปกฮา
ความรวยที่ว่าเกิดจากคำว่า “พอ”
พอใจที่จะนอนกระต๊อบในสายตาคนอื่น แต่เป็นคฤหาสน์ในความรู้สึกของอาจารย์
พอใจที่จะเดินด้วยเท้าเปล่าบนพื้นดินภายในศูนย์ฯ เพราะดินที่นั่นปราศจากสารเคมีเจือปน
และพอใจที่จะทำงานด้วยความคึกคัก คล่องแคล่ว และครื้นเครง คาถาที่อาจารย์จดจำจนขึ้นใจเมื่อครั้งตามเสด็จถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำหน้าที่จดบันทึกพระราชดำริต่างๆ

การสนทนาทางโทรศัพท์ของผู้เขียนนั้นจบไปแล้ว แต่การอ่านข้อความในจดหมายจากผู้ฟังที่ซาบซึ้งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังคงทำให้ผู้เขียนยิ่งเข้าถึงความลึกซึ้งของคำว่า “พอ” มากขึ้นในเวลาต่อมา
เสร็จจากการอ่านจดหมาย ผู้เขียนจัดการทำธุระให้ตามที่เพื่อนนักการตลาดรายนี้ต้องการ โดยนอกจากจะจัดส่งเพลง “ใจจะขาด” ไปให้แล้ว ยังแถมเพลง “อย่า อยู่ อย่าง อยาก” ของ P2 Warship ไปให้ด้วย
ไม่รู้เหมือนกันว่า Presentation ของเขาจะได้ผลตอบรับเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ หากใครได้ฟังเพลงหลังก็น่าจะได้ข้อคิดบางอย่างกลับไปบ้าง ไม่มากก็น้อย

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // 31 กรกฎาคม 2550
กนกวรรณ กนกวนาวงศ์
kanok44@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)