วันอังคาร, พฤศจิกายน 27, 2550

ฟัง ‘คำขอ’ จากหัวใจ




หากเปรียบชีวิตมนุษย์เป็นเสมือนการเดินทาง ต่อให้พวกเขาไปไกลแค่ไหน ก็มิอาจห่างหายไปจากธรรมชาติได้ แม้เขาจะเดินมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง มนุษย์ก็ต้องการธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นจุดแวะพักจิตใจ เป็นพื้นที่ผ่อนคลายอารมณ์และหามุมสงบระหว่างการเดินทาง

เหลียวมองไปรอบๆ ป่าคอนกรีต ทิวแถวต้นไม้ริมทางเท้า พุ่มไม้สีเขียวบนเกาะกลางถนน พร้อมช่อดอกสวยที่ต้องแสงแดด ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต


ช่อดอกไม้ธรรมดาๆ สักช่อในแจกัน หรือต้นไม้เล็กๆ สักต้นในกระถาง ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ข้างจอคอมพิวเตอร์หรือริมหน้าต่างกระจกใสบานโตในออฟฟิศ คือการปลูกที่พักใจด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระให้หนักใจ

ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของชีวิตและธรรมชาติ ข้อนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แม้ผู้ที่ต้องทำงานบนท้องถนน เช่น ขับรถประจำทางเพื่อบริการผู้คน พวกเขาก็รู้จักปลูกต้นไม้และดูแลที่พักใจของเขา พร้อมเผื่อแผ่ให้แก่ผู้โดยสารด้านหลัง พวงมาลัยสวยหน้ารถตู้โดยสารหรือรถบรรทุกทั่วไปก็อาจเป็นพื้นที่พักผ่อนคลายสบายอารมณ์ได้ในความหมายนี้

พระไพศาล วิสาโล ได้แสดงธรรมบรรยายไว้ตอนหนึ่งถึง “พลังของธรรมชาติ” ว่า ความงามของดอกไม้และต้นไม้นั้น มีส่วนช่วยขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ได้หลายประการ ประการแรกคือ การช่วยให้มนุษย์เกิด “ความชื่นบาน” อารมณ์เบิกบาน จิตแจ่มใส เป็นความรู้สึกยินดีที่ได้ชมดอกไม้สวย ประการที่สองคือ การดลใจของเราให้สงบ ก้าวพ้นความตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ได้พบเห็น เกิดความรู้สึกปล่อยวาง ลดความเร่งรีบของชีวิต แล้วเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของธรรมชาติ ช้าลงๆ

หลวงพี่เทศน์ไว้อีกว่า เนื่องจากธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องให้ใครชม เราจึงไม่รู้สึกถูกเรียกร้องขณะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เมื่อไม่ถูกเรียกร้อง ความกังวลของเราจึงผ่อนคลาย กลายเป็นความรู้สึกที่ได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับ “การรู้” ตัว และหากพินิจให้ลึกซึ้งก็จะพบคุณูปการที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติอีกอย่าง นั่นคือ ธรรมชาติยังแสดง “สัจธรรม” แก่เราด้วย

“สัจธรรมเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักมองหรือเปิดใจรับ เราจะเกิดปัญญา เห็นความไม่เที่ยงของฤดูกาล เห็นความไม่เที่ยงของวันเวลา เห็นความผันแปรของสิ่งต่างๆ รวมทั้งความไม่เที่ยงของตัวเราด้วย”

พลังธรรมชาติประการท้ายสุด สำหรับพระไพศาลจึงหมายถึง “ความจริง” ที่มนุษย์ควรเรียนรู้จากธรรมชาติ เมื่อเราตระหนักในสัจธรรมดังกล่าว ใจของเราก็จะวางเฉย ยอมรับกับทุกเหตุการณ์ทุกความรู้สึกด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่หยุดนิ่งหรือติดยึดกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ไม่ว่านั่นจะทุกข์หรือสุข เพราะทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย

ธรรมชาติและต้นไม้จึงเป็นแหล่งพลังที่มนุษย์ไม่อาจไกลห่าง ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในองค์กรที่ปฏิเสธความสดชื่นของสีเขียวในสำนักงาน หมกมุ่นแต่การงานและการแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง ย่อมเหินห่างจากโอกาสในการแสวงหาความหมายที่แท้จริงของ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งถึงที่สุด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป หัวใจของมนุษย์ในอาคารคอนกรีตที่ปราศจากต้นไม้ย่อมเหี่ยวเฉา ไม่เห็นผู้อื่นนอกจากตัวเอง เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใจหยาบและยโส เพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของสังคม ไม่เป็นเดือดเป็นร้อนตราบเท่าที่ตนยังคงเสพความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจ

หากไม่ปรารถนาเป็นมนุษย์ที่ไร้หัวใจดังกล่าว เพียงการออกเดินพักผ่อนอย่างช้าๆ ในสวนอันร่มรื่นใกล้บ้าน หรือพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วมองไปยังมุมเล็กๆ สีเขียวข้างโต๊ะทำงาน หรือแม้แต่แขวนพวงดอกไม้แห้งที่เคยสดและส่งกลิ่นหอมหน้ารถ กิจกรรมที่แสนปกติธรรมดาและเรียบง่ายแบบนี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เราเริ่มต้นเข้าถึงความจริงของชีวิต ขอเพียงต้องพิจารณา เล็งให้เห็นนัยของธรรมชาติรอบตัว และหมั่นฝึกฝนปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตใจภายใน ขจัดอัตตาให้พร่องหาย แทนที่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในหัวใจ

นอกจากนี้ พระไพศาล ยังแนะนำให้เรารู้จักกล่าวคำขอบคุณแสดงความซาบซึ้งใจที่ผู้อื่นปฏิบัติแก่เรา และแสดงความชื่นชมกับสิ่งดีๆ ที่เขาทำ ขณะเดียวกันก็พร้อมให้อภัยในความพลั้งเผลอระหว่างเพื่อนมนุษย์

ที่สำคัญคือ “คำขอโทษ” ที่เราพึงเอ่ยเมื่อประพฤติผิด ทั้งนี้ มิใช่เป็นการแสดงความเสียหน้าหรืออ่อนแอ หากแต่เป็นวิถีแห่งการขัดเกลาจิตใจ มิให้สำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษแต่อย่างใด

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากล้าที่จะขอโทษ มันจะช่วยทำให้เรากลับกลายมาเป็นมนุษย์ หลุดพ้นจากหัวโขนเหล่านั้น เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับคนอื่น และตรงนี้แหละที่ทำให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้อื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม และทำให้ใจของเราโปร่งโล่ง เบา อิสระ”

การใช้ชีวิตให้ช้าลง ปล่อยให้ความคิดและกิจกรรมประจำวันดำเนินไปพร้อมๆ กับจังหวะการลื่นไหลในธรรมชาติ ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรีบ อยู่กับปัจจุบันขณะปราศจากความกังวล ฝึกการอ่อนน้อมถ่อมตนจากหัวใจ ไม่ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท เพียงเท่านี้ ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเริ่มกลับมาอีกครั้ง

การปลูกและดูแลต้นไม้จึงเปรียบได้กับการปลูกธรรมะและรักษาไว้ให้อยู่ภายในใจเรา ธรรมะและต้นไม้ดอกไม้ต่างมีคุณูปการต่อเรา หากรู้จักเรียนรู้และพิจารณา แต่จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ต้องเริ่มที่การให้โอกาสและเวลาแก่ตัวเอง ดังที่พระไพศาลได้ขอไว้ในหนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่”

“อยากให้เราได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง เพ่งพินิจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองบ้าง เพราะว่าเวลานี้ เราไม่มีเวลากับสิ่งเหล่านี้เลย ชีวิตที่เร่งรีบและชีวิตที่พะรุงพะรัง ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง และสุดท้าย เราก็ไม่มีเวลาให้แก่คนอื่นด้วย

“...เร่งรีบจนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวเราเอง เราพะรุงพุรังไปด้วยงานการ สิ่งเสพ จนกระทั่งไม่มีเวลาให้แก่ตนเอง ไม่มีกำลังที่จะทำสิ่งดีงามให้แก่ผู้อื่น...

“อาตมาขอให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เพ่งพินิจตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อะไรคือความสุขที่แท้จริง หากทำได้มากกว่านั้น ขอให้เราพร้อมที่จะเรียนรู้ หาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ไม่ใช่จากความสุขเท่านั้น แต่จากความทุกข์ด้วย

“ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นกิเลสที่ทุกข์ เป็นการถือตัวหรือมานะที่ทุกข์ บางทีการมองความทุกข์ในแง่นี้กลายเป็นของดี ช่วยให้เราไม่ทุกข์ไปตามอำนาจของกิเลส ตามอำนาจของอัตตา เราควรทำให้อัตตาหรือมานะ หรือตัวกิเลสนี้อ่อนน้อมถ่อมตนลง”

ขอเชิญแวะอ่าน พิจารณาธรรมชาติและธรรมะร่วมสมัยในหนังสือ “คำขอที่ยิ่งใหญ่” โดย พระไพศาล วิสาโล และ “อาทิตย์ยามเช้า” (นามปากกา) ได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ media4joy@hotmail.com กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com

วันอังคาร, พฤศจิกายน 20, 2550

พีอาร์เบอร์หนึ่ง


เรื่องราวของเพื่อนนักข่าว/พีอาร์ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อยในแง่ของความสับสนในบทบาทบน เส้นแบ่ง ระหว่างหน้าที่ในการงานกับความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน ความคลุมเครือระหว่างจรรยาบรรณกับความเป็นจริงในแวดวงพีอาร์ วิชาชีพผู้สร้างสรรค์งานสื่อสารประชาสัมพันธ์ (Public Relations) ที่มีอิทธิพลในสังคมไม่น้อยไปกว่าวิชาชีพสื่อสารมวลชน

ว่าไปแล้ว คนเหล่านี้ นับวันยิ่งถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขามีหน้าที่หลักในการสร้างและประคอง อุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภค มิให้ลดหรือพร่องลงตามโจทย์ของลูกค้าบริษัทห้างร้าน ทั้งนี้ หากผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักคำว่า พอ พากันเลือกเดินบนวิถีชีวิตที่พอเพียงเมื่อไหร่ นั่นย่อมหมายถึงสัญญาณอันตรายกำลังมาถึงความมั่นคงในอาชีพและความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา

นอกจากงานบริการให้คำปรึกษาการสร้างและรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรแล้ว อีกหนึ่งภารกิจหลักของพวกเขาคือการเสาะแสวงหา ยุทธวิธีในการปลุกเสกและเพิ่มพูน ความต้องการ การบริโภค บ้างเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิต เป็นปัจจัยที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายและราบรื่นขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หลายอย่างก็ล้นเกิน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบสนองโจทย์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

เพราะเมื่อลูกค้าพอใจและจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการและ ผลกำไรย่อมปรากฏตามมา เป็นสายเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงธุรกิจและคนพีอาร์ ยิ่งหากได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนพีอาร์รายนี้แล้ว ดูเหมือนความเป็น พีอาร์เบอร์หนึ่งของประเทศ จะไปด้วยกันไม่ได้เลยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เพื่อนของผมคนนี้ เขาเคยเป็นนักข่าวที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทพีอาร์แห่งหนึ่ง (เขาบอกว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการ) เขาเล่าต่อ คำสำคัญ (key words) ที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ การเพิ่มอุปสงค์ (demand) เงิน (money) ความคิด (ทั้ง thought และ idea) การบริการ (service) ดีที่สุด (the best) การท้าทาย” (challenge) “การสร้างสรรค์ (creativity) และอีกสารพัดในคลังศัพท์ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระตุ้นพลังให้แก่พนักงาน ทุ่มเทศักยภาพให้แก่ภารกิจเบื้องหน้า

ไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าแรงกระตุ้นดังกล่าวได้ผลเพียงใด ที่แน่ๆ หากต้องการร่วมงานและเงินเดือนจากบริษัทพีอาร์แห่งนี้ พนักงานหลายคน โดยเฉพาะเพื่อนคนนี้ จำเป็นต้องเพิกเฉยต่อจริยธรรมภายในใจ แขวนพักคุณธรรมชั่วคราวทิ้งไว้ที่บ้าน แสร้งเป็นไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน ไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ขณะอยู่ที่ออฟฟิศ

และเป็นที่รู้กันในวงการพีอาร์ว่า คอนเนคชั่น (connection) คือองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะกับ นักข่าว และพื้นที่บนสื่อ ล้วนเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งสำหรับคนพีอาร์

ปริมาณเนื้อข่าว (Coverage) ที่ปรากฏสู่สาธารณะคือดัชนีชี้วัดผลงาน หากทำงานหนัก แต่ไม่มีข่าวของตนได้รับการประชาสัมพันธ์หรือตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ความทุ่มเททั้งหมดย่อมไร้ความหมาย เพราะไม่อาจสร้างความพึงใจให้แก่ลูกค้า อันอาจนำมาซึ่งการสูญเสียลูกค้าและรายได้ รวมทั้งชีวิตการงานในอนาคตของคุณด้วย

ด้วยความบังเอิญ เพื่อนคนนี้คืออดีตนักข่าวคนเดียวในบริษัท เขาจึงมักถูกเรียกตัวบ่อยๆ ในภารกิจลับที่ต้องอาศัยคอนเนคชั่นส่วนตัวเป็นประตูสู่ข้อมูล ดังเช่น การล้วงความลับของความสัมพันธ์ระหว่างคู่แข่งของลูกค้ากับหนังสือพิมพ์บางฉบับ การสืบเสาะเจาะหาข้อมูลเฉพาะด้าน หรือขอความคิดเห็นจากเพื่อนนักข่าวด้วยกันเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ลูกค้าธนาคารข้ามชาติ (ที่นี่เรียก การวิจัย) รวมทั้งการแอบหลอกถามความในใจของเพื่อนๆ นักข่าวด้วยกัน เพื่อนำไปรายงานสรุปคาดการณ์ข่าวที่น่าจะปรากฏในพื้นที่สื่อ

เสร็จภารกิจยังต้องรายงานวันเวลาการติดต่อเพื่อนนักข่าว ชื่อ-นามสกุล พร้อมประเด็นที่พูดคุยกัน ส่งออนไลน์ตรงไปยังหน้าจอของลูกค้าต่างประเทศ ทำเช่นนี้เป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ ราวกับว่าลูกค้าจะโล่งอกที่ได้ล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า พร้อมมีรายชื่อผู้สื่อข่าวและเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออยู่ในมือ

สำหรับคนพีอาร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า นับเป็นงานบริการอย่างหนึ่ง ยิ่งเป็นพีอาร์เบอร์หนึ่ง ลำพังเพียงทักษะการชวนสนทนาปราศรัยกับผู้สื่อข่าวไม่ใช่ปัญหาใหญ่หรือเรื่องหนักใจแต่อย่างใด

ความกระอักกระอ่วนใจในบทบาทระหว่างเพื่อนกับพีอาร์จึงเริ่มปรากฏ บางครั้งบางคราว เขาเองก็จำต้องแปลงกายจากพนักงานพีอาร์เป็นผู้สื่อข่าวตัวปลอม สวมรอยจำแลงเป็น นักข่าวจำเป็น ในงานแถลงข่าวของลูกค้าบริษัท เป็นกระทั่งหน้าม้าในการตั้งคำถามเพื่อสร้างบรรยากาศ (เรียกกันสั้นๆ ว่า ผี) ขอเพียงลูกค้ารายนั้นไม่เคยเห็นใบหน้าของเขาในที่ทำงานมาก่อนเป็นพอ นี่ยังไม่นับรวมผีสางไร้ศาลอีกหลายตัวที่ถูกจ้างมาเฉพาะกิจ ซึ่งทำให้ผมนึกถึงการจ้างผู้ชุมนุมและจ่ายเงินซื้อเสียงอย่างที่เราๆ ท่านๆ เคยได้ยินกันมา

และหากเป็นไปได้ ไหนๆ ก็แสร้งไปทำข่าวแล้ว การเขียนเรื่องส่งไปฝากตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางสำนักย่อมถือเป็นการจุนเจือช่วยเหลือบริษัทเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเป็นดอกผลที่บริษัทและลูกค้าปรารถนา

คนพีอาร์บางรายที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเข้ากับคุณสมบัติที่เกริ่นมา พวกเขาจะปราศจากความรู้สึกผิดใดๆ ต่อพฤติกรรมดังกล่าว ซ้ำยังเชื่อด้วยว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หากผิดไปจากนี้ ไม่ใช่คนพีอาร์ ทำราวกับว่า มิติของงานประชาสัมพันธ์มีได้แบบเดียว ไม่มีอื่น

ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกับนักข่าวและลูกค้า ภาษาที่ฟังดูไพเราะเสนาะหู น้ำเสียงซึ้งหวาน เสียงหัวเราะที่เรียกอารมณ์ขันได้เป็นอัตโนมัติ และหมดลงทันทีที่จบคำสนทนา

การชวนพูดคุยวกไปวนมา แลดูเอาอกเอาใจอยู่ในที คือลักษณะทั่วไปของคนพีอาร์ประเภทนี้ ซึ่งนานวันเข้า บุคลิกภาพดังกล่าวได้กลายเป็นมาตรฐานวิชาชีพ เป็นภาพลักษณ์ที่คนพีอาร์รุ่นใหม่เห็นและเชื่อว่านี่คือ คนพีอาร์ ที่หากพวกเขาอยากจะเป็น ต้องปรับตัวให้กลมกลืนเข้าไปในเนื้อตัว

คนอาชีพพีอาร์หลายคนปรับตัวได้สำเร็จจนแยกไม่ออกระหว่าง การแสดง (performance) ในช่วงเวลาทำงาน กับ ตัวตน ของเขาในชีวิตจริง

สงสารก็แต่พวกที่ปรับตัวไม่ได้อย่างเพื่อนของผมรายนี้ ตัวเขาถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาในหมู่คนพีอาร์ ถูกกล่าวหาด้วยคำล้าสมัยว่าเป็นพวก ต่อต้านทุนนิยม” (anti-capitalism) ด้วยไม่มีทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งทุกประการ

ก่อนหน้านี้ ความตั้งใจของเขาคือการเข้ามาเปลี่ยนทัศนคติการทำงานประชาสัมพันธ์ให้มีมิติที่หลากหลายและกว้างขวาง เป็นพีอาร์อาชีพที่มีศักดิ์ศรี ไม่เห็นแก่ตัว

ผมเห็นใจเพื่อน และมองเห็นหลุมพรางที่คนพีอาร์สร้างขึ้น พีอาร์คือช่างผู้ชำนัญการในการสร้างภาพลักษณ์ รวมทั้งผู้อุปโลกน์ข่าวและมายาคติได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ขัดเขิน คุณสมบัติข้อนี้ ไม่มีใครปฏิเสธ แต่คนพีอาร์ผู้ปราดเปรื่องก็สามารถปันน้ำใจ แบ่งความสุขและความเจริญรุ่งเรืองของตนออกสู่สังคมที่ตนประกอบธุรกิจได้

ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจหลายแห่งเริ่มขยายบทบาทจากการเป็นผู้บริจาคมาเป็นผู้ประกอบธุรกิจกับสังคมมากขึ้น บริษัทแวดวงคนพีอาร์ย่อมเคยได้ยินคำนี้ หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) เพราะเป็นกระแสที่มาแรงและทรงพลังในการสื่อสารการตลาด ที่จริง คนพีอาร์เองก็ใช้คำนี้อยู่เรื่อยๆ ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ถึงแม้พวกเขาอาจเข้าใจความหมายของ CSR คลาดเคลื่อนไปบ้างก็ตามที

น่าเสียดายที่คำตอบจากพีอาร์เบอร์หนึ่ง ทัศนคติของผู้นำในอุตสาหกรรมธุรกิจสื่อสารประชาสัมพันธ์ในสังคมไทยจะตอบรับกระแสข้างต้นด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น ต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่าการให้สังคม การทำธุรกิจกับสังคม สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่บริษัทพอๆ กับที่ได้จากการทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่... หากพิสูจน์ได้ เมื่อนั้น เราถึงค่อยมาคุยกัน”…


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ


วันจันทร์, พฤศจิกายน 12, 2550

ในยุคมืด







เวลาดูหนังประเภทซุปเปอร์ฮีโร่ ดิฉันรู้สึกสนุกเพลิดเพลินไปกับจินตนาการ เครื่องไม้เครื่องมือ และความสามารถพิเศษล้ำโลก ที่เหล่ายอดมนุษย์ทั้งหลายนำออกมาใช้แก้ปัญหาสังคม และกู้วิกฤตโลก

ในภาคล่าสุดดิฉันประทับใจซุปเปอร์แมนที่ช่วยแบกเครื่องบินโดยสารที่กำลังจะตก เพราะถูกวางระเบิดวินาศกรรม หลายชีวิตรอดจากโศกนาฏกรรมนี้ หรือในคราวที่สไปเดอร์แมน และแบทแมนที่ช่วยจัดการกับเหล่าอาชญากรสติเฟื่องที่หาทางบ่อนทำลายความสุขสงบของมหานคร
เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเผชิญในตอนนี้และอนาคตอันใกล้ ดิฉันอดฝันไม่ได้ว่า จะดีเพียงใดหากเราจะมียอดมนุษย์ขึ้นมาจริงๆ

โลกของเรากำลังต้องการยอดมนุษย์ ทั้งหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่มากมาย ที่จะช่วยกันกอบกู้และสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่กว่านี้

ข่าวคราวภัยพิบัติโลกร้อนระอุขึ้นทุกที เปลือกโลกเคลื่อนไหวถี่ขึ้น ชาวไทยรู้สึกได้บ่อยขึ้นทุกวันโดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เพิ่มปริมาณระดับน้ำทะเล อากาศแปรปรวนผิดฤดู โรคระบาดหวนคืน เชื้อโรคแข็งแรงขึ้นในขณะที่ภูมิคุ้นกันของมนุษย์ถดถอยลง

ปัญหาปากท้องก็บีบคั้นหัวใจ ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นจนรายได้ไล่ตามไม่ทัน น้ำมันราคาสูงขึ้น ราคาน้ำดื่มก็แพงพอๆกัน มาม่าอาหารคนยากก็เขยิบราคา ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น

สังคมโลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงของสงคราม นิวเคลียร์ ความรุนแรงการก่อการร้าย การเข่นฆ่ากันทั่วหัวระแหง พระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า โลกปัจจุบันเป็นยุคแห่งความเกลียดชัง มนุษย์พร้อมที่จะทำลายล้างกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

ถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มหดหู่ใจถึงสิ้นหวัง แต่ดิฉันยังขอยืนยันว่า ในภาวะอึมครึมเช่นนี้ ชีวิตยังรื่นรมย์ได้และยังอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมรื่นรมย์กับชีวิตต่อไป

บางทีความท้าทายและปัญหาในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นแง่งามและความรื่นรมย์ของชีวิต

ในวงประชุมจิตวิวัฒน์เรื่อง “จิตวิญญาณกับการเมืองไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ผู้ที่ปวารณาตัวว่าเป็นนักอภิวัฒน์สังคม อย่างอาจารย์ ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์ พยากรณ์ว่ายุคมืดกำลังคืบคลานเข้ามาแล้ว แสงไฟเริ่มสลัว และอาจจะดับลงในไม่ช้า เราจำเป็นต้องตื่นขึ้นมารับรู้และยอมรับความจริงให้เร็วที่สุด เพื่อปรับตัวตั้งรับปัญหาความท้าทายต่างๆให้ทันท่วงที และถ้าเราทำได้ สิ่งนี้จะเป็นตะเกียงแห่งความหวังของเรา

อันที่จริง ความมืดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นความธรรมดาของโลก มีมืด ย่อมมีสว่าง เมื่อสว่างแล้วก็มืด หากเราตระหนักรู้กฎธรรมชาติธรรมดานี้ เราจะไม่โวยวายตื่นกลัวมากนักในคราวที่ความมืดมาเยือน หากจะสามารถยืนหยัดเผชิญกับรัตติกาลอย่างกล้าหาญและเปี่ยมด้วยความหวัง ว่าอีกไม่นานก็จะถึงคราวสว่างฟ้าแจ้ง และเมื่อคราวฟ้าใสเราก็ไม่ประมาทหลงระเริงใจ

ในประวัติศาสตร์โลก เมื่อยุโรปผ่านยุคมืดก็เกิดยุค Enlightenment คือยุคแห่งแสงสว่างและความรู้ ช่วงแห่งความมืดจะสั้น-ยาว จะหนักหน่วงหรือเบาคลาย ก็ขึ้นอยู่กับผู้คนในยุคนั้นว่า จะปรับตัว ปรับใจ และเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อขจัดความมืดออกไปโดยเร็วและสร้างสรรค์สิ่งดีกว่าในอนาคต หรือในทางตรงกันข้ามทำให้ความมืดนั้นเย็นเยือกยาวนานออกไปอีก

ความเจริญทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์บีบให้โลกใบนี้เล็กลง เกิดปัญหาเหลื่อมทับ ซับซ้อนมากขึ้นโยงใยไปทั่วโลก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราทั้งหมดต้องเผชิญร่วมกัน
ในสถานการณ์เช่นนี้ มนุษย์ธรรมดาไม่อาจแก้ปัญหาได้ แต่เราต้องการมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ จำพวกยอดมนุษย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาอันหนักหน่วงนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์เสนอ
และเราไม่ต้องร้องเรียก รอคอย ซุปเปอร์ฮีโร่จากที่ไหนเลย ยอดมนุษย์อยู่ในตัวเรานี่เอง

ความหมายของ “ยอดมนุษย์” ในที่นี้เป็นเรื่องเดียวกับ “ความเป็นมนุษย์ที่แท้” ที่ท่านพุทธทาสกล่าวถึงเสมอ มนุษย์ที่แท้สามารถผันชะตากรรมของโลกได้
มนุษย์คือผู้สร้างปัญหาและนักแก้ปัญหา คือผู้สร้างชะตากรรม และแปรเปลี่ยนชะตากรรม

พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวนำแสงแห่งปัญญาให้หลายชีวิตมากว่า 2500 ปี ธรรมที่ท่านนำมาสอนบอกกล่าว ทำให้ล้านๆชีวิตเข้าถึงศานติสุขภายในและรังสรรค์สันติภาพภายนอก อิทธิพลของท่านจะยังคงสืบเนื่องผ่านห้วงเวลาและสถานที่ต่อไป

คานธี ชายอินเดียร่างเล็ก ไร้อาวุธและตำแหน่งทางการเมือง สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าจักรวรรดินิยม และนำอิสรภาพสู่อินเดีย นำกระแสกระบวนการทางสังคมคือ อหิงสา จวบจนทุกวันนี้
ด้วยความเชื่อที่ว่า “เราต้องทำสิ่งเล็กๆด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่”

แม่ชีเทเรซานำความหวังมาสู่ชีวิตนับแสนในอินเดีย ท่านจัดหาอาหาร โรงเรียน สถานพยาบาล ศูนย์เด็กกำพร้า ที่พักพิงผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น
โลกของเราไม่เคยว่างเว้นจากยอดมนุษย์ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเราเพียงแต่พวกท่านยกระดับจิตใจตัวเองให้เป็นยอดมนุษย์ได้ และนี่คือหนทางแห่งความรอดของทั้งโลก และในเวลานี้เราจำเป็นต้องการเพิ่มขึ้นอีก

ท่านคานธีเคยกล่าวว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงโลก เราจำต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน อาจารย์ชัยวัฒน์ ขยายความต่อว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจ สภาวะภายใน ด้วยพลังสติ ความรักและกรุณา ความกล้าหาญ และพลังกลุ่ม

เราต้องตระหนักรู้ศักยภาพภายในว่า เราสามารถเป็นยอดมนุษย์ได้ และมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพิ่มพูนพลังแห่งสติ คือการรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไปทำไม เราคือใคร และอยู่ไปเพื่ออะไร

บ่มเพาะความรักและกรุณา ขยายใจเราให้ใหญ่ขึ้นไปไกลกว่าขอบเขตของตัวตน ปัญหาหลายอย่างที่เราเผชิญมาจากการที่คนเราโดยมากเห็นแก่ตัวเองเป็นหลัก คำนึงถึงผู้อื่นและส่วนรวมน้อย
เราเห็นแก่ความสะดวกสบาย บริโภคถุงพลาสติก “ไม่เป็นไร ไม่แพง” แต่เรากำลังทิ้งภาระให้โลกข้างหน้าเป็นร้อยๆปี เราเห็นแก่ความร่ำรวยมากเกินพิกัด เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สังคมเป็นทุกข์ ถ้าหากเราต้องการรอด เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด หันมาเห็นข่ายใยความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงชีวิตของเรากับสิ่งอื่นๆ เราสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร เราสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างไร เราสัมพันธ์กับครอบครัว เราสัมพันธ์กับสังคมชุมชนอย่างไร เราสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร
คำตอบ คำนิยามที่เราให้ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งต่างๆ รวมทั้งท่าที วิถีปฏิบัติของเราจะกำหนดรูปแบบของชีวิต ทางแก้หรือ ทางตันของปัญหา

ความกล้าหาญและอดทนที่จะน้อมรับความจริงและเผชิญหน้ากับความท้าทายของปัญหา และลงมือปฏิบัติการ ความคิดและคำพูดเป็นความเชื่อ จินตนาการที่รอคอยการพิสูจน์ การเรียนรู้ที่แท้เกิดจากการลงมือทำ ลงมือปฏิบัติจนเห็นแจ้ง

ยิ่งเรายอมรับความจริงเร็วเท่าไร เราจะปรับตัวเพื่อเผชิญกับปัญหาได้เร็วและดีขึ้นเท่านั้น ระยะเวลาความมืดจะสั้นลง แต่ถ้าเราหนีปัญหา ไม่ยอมมองหรือหลอกตัวเองว่าเรายังอยู่ในยุคทอง ซึ่งจะอยู่ยั้งยืนยง เราอาจเป็นเหมือนไดโนเสาร์ที่ปรับตัวได้ช้าและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ที่สำคัญ ยอดมนุษย์เพียงคนใดคนหนึ่งไม่สามารถช่วยเราได้ เราไม่อาจทิ้งความรับผิดชอบของเรา แล้วโยนภาระการกอบกู้โลกไปให้ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเรายกให้เป็นวีรบุรุษ นั่นเป็นความหวังที่ไม่ยั่งยืนเท่าไร เราต้องอาศัยการผนึกกำลังของยอดมนุษย์หลายๆคน หลายๆศักยภาพที่แตกต่างหลากหลาย
และนี่หมายความว่า เราต้องยกระดับตัวเองขึ้นเป็นยอดมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวตน แต่เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิต สังคมและโลกที่ให้เราได้อาศัย

มีคำกล่าวว่า “ทางเกิดขึ้นเมื่อเราออกเดิน” ถึงเวลาแล้วกระมังที่เราแต่ละคนต้องเริ่มเดิน เพื่อสร้างทางให้ตัวเราและลูกหลานในอนาคต ให้พวกเขามีโลกและชีวิตที่น่ารื่นรมย์


กรรณจริยา สุขรุ่ง

วันพุธ, พฤศจิกายน 07, 2550

ดูนก ย้อนดูใจคน

ช่วงปลายฝนต้นหนาว สายลมเย็นโชยทุกยามเช้า ชวนให้ผมคิดถึงการเดินดูนกในป่าเขากับอาจารย์ผู้ใหญ่ใจดี “บัณฑิต ผดุงวิเชียร”
ท่านเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ครูผู้สอนผมดูนก หัดวาดเขียน และดูหัวใจตนเอง

ภาพของชายวัยเกษียณคล้องกล้องส่องทางไกลขนาดกระชับมือเดินย่างในป่าเขาในความสงัด สายตาที่มองทอดไกลบนยอดไม้ ลึกเข้าไปในพงพุ่ม พร้อมประทับกล้องคู่กายขึ้นส่องทุกวินาที ยังคงเป็นภาพที่ติดตรึงภายในใจ
เรามักเดินทางเป็นกลุ่มคณะที่ไม่ใหญ่นักเพื่อความคล่องตัวและไม่เป็นการรบกวนหมู่นกมากนัก ทุกคนมีจุดหมายร่วมกัน นั่นคือ การได้ทักทายเพื่อนร่วมโลก ทั้งผู้ผ่านทางและเจ้าบ้าน ได้ฟังเสียงใสๆ ไพเราะ ซึ่งบ่อยครั้งก็แปลกหู รวมทั้งยังได้ชมสีสันความงามของพวกมันใกล้ๆ รวมทั้งท่าทางและลีลาการโบยบินที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์
คณะของพวกเรามีทั้งช่างภาพและจิตรกร คุณครูและนักเรียน มืออาชีพและสมัครเล่น ทุกเช้าก่อนอาหารมื้อแรก พวกเราจะออกกำลังเบาๆ ด้วยการเดินช้าๆ และเงียบเสียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากใครพบเห็นนกก็จะเรียกเพื่อนๆ ด้วยเสียงกระซิบ ด้วยอาการสงบ บอกตำแหน่งเทียบกับเข็มนาฬิกาแทนการชี้นิ้ว (ซึ่งมักทำไม่ได้ง่ายนัก ด้วยตื่นเต้นเมื่อได้พบเห็น)
อาจารย์สอนว่า หากเรายกแขนขึ้นชี้นิ้ว เพื่อนเราบนพุ่มไม้อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นลำกล้องปืนไฟ สัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายและการจากพราก
เวลาผ่านไปพอเหงื่อซึม แสงแดดเริ่มแผดกล้า นกน้อยเริ่มกลับรัง พวกเราจึงรู้ว่าได้เวลาอาหารมื้อเช้า
ช่วงเวลาดูนกที่ดีที่สุดคือ รุ่งเช้าและยามเย็น ที่เหลือคือ “บทสนทนา” และอื่นๆ
ที่จริง การดูนกคือเป้าหมายของเรา ไม่มีใครปฏิเสธ แต่บทสนทนาหลังจากกิจกรรมดูนกกับอาจารย์บัณฑิตและมิตรสหายร่วมคณะก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
หลังอาหารมื้อเช้า “อาจารย์ดูนก” เริ่มชวนคุยตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระ ข่าวสารบ้านเมือง ผสมคำคมและหยอกด้วยอารมณ์ขัน ช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยของอาหารที่เพิ่งทานเข้าไปได้ไม่น้อย
หากหมดเรื่องคุย หมดมุข หรือหัวเราะจนพอใจแล้ว สมาชิกบางรายก็จะเริ่มปลีกตัว จับปากกา เหลาดินสอมาขีดเขียน ทั้งรูปนกและบรรยากาศรอบๆ ที่พัก ขณะที่บางรายขอตัวไปนอนต่ออีกนิด ด้วยอาการง่วงซึมยังคงรุมเร้าร่างกายไม่หาย
หันไปเห็นอีกรายเดินกลับไปที่เต้นของตัวเองเพื่อหยิบสมุดบันทึกประสบการณ์มาจดจารอย่างตั้งใจ คงเกรงว่าจะลืมถ้อยคำสอนและข้อคิดที่ผุดขึ้นภายในระหว่างการเดินทาง หนึ่งในนั้นก็คือตัวผมเอง
หรือบางรายที่อุตส่าห์แบกสัมภาระสะพายกล้องถ่ายภาพลำโตมาเต็มกระเป๋า กลุ่มช่างภาพเหล่านี้มักปลีกตัวแยกออกไปเข้าป่าลึก โดยหวังจะได้เก็บภาพถ่ายนกน่ารักๆ ไม่ก็ชนิดที่ใจหมายมั่นนำภาพกลับบ้านแทนความทรงจำ
การมาดูนกกับอาจารย์บัณฑิตและคนรักธรรมชาติเหล่านี้น่าสนใจ พวกเราไม่เกร็งกับการดูนก ไม่คาดหวังจนกังวล ไม่วิตกกับภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาในพงไพร หากไปไม่ถึงที่หมายด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ถนนเสียหาย และฝนตกหนักจนไปต่อไม่ได้ เราก็พอใจกับจุดที่เราอยู่ กับสถานการณ์และเงื่อนไขที่อำนวย ณ ขณะนั้น
ว่าไปแล้ว ผมเองเริ่มจับดินสอมาวาดเขียนอีกครั้งก็ได้แรงยุมาจากการดูนกกับผู้เฒ่าท่านนี้ ครูสอนวาดภาพให้วิทยาทานแก่ผมมากมาย อาทิเช่นบทเรียนที่ว่าการวาดเขียนจะทำให้เราฝึกฝนที่จะจดจำในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ การดูนกก็เช่นกัน ทุกครั้งที่เห็น ขอให้เราฝึกสังเกตรูปร่างหน้าตา ขนาดลำตัว จงอยปาก สีขน จำนวนขา กิริยาอาการ ท่าทางการเดิน การกระโดด การเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งแต่ละตัวจะมีบุคลิกนิสัยเฉพาะไม่เหมือนกัน แม้ว่ามันจะเป็นชนิดหรือสายพันธุ์เดียวกัน
คำสอนดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงข้อคิดที่ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า ความจริงแล้ว ศักยภาพความจำของคนเรามีอยู่สูงมาก เพียงแต่เราละเลย ไม่ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงสูญเสียศักยภาพในส่วนนี้ไป ซึ่งศิลปินหรือนักเขียนอาชีพมักมีคุณลักษณะข้อนี้เด่นชัดกว่าคนทั่วไป
อาจารย์บัณฑิตเองที่เติบโตมาในวัฒนธรรมการศึกษาจากรั้วศิลปากรก็เคยผ่านการเรียนรู้ทำนองนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งครูสอนศิลปะในดวงใจของท่านก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก “อาจารย์ศิลป” ของลูกศิษย์นั่นเอง
นกแต่ละชนิดจะมีแหล่งพักพิงต่างกันไป บางชนิดอาศัยอยู่บนยอดไม้ บางพันธุ์หากินตามพื้นดิน ริมน้ำ ในป่าชายเลน และทะเลสาบ กระจายแหล่งอาหารและที่พักพิง ไม่เบียดเบียนกันและกัน แต่พึ่งพิงกัน
คงเคยได้ยินเรื่องราวของนกเงือกใช่ไหมครับที่ว่า หากนกตัวผู้ที่ไปหาอาหารตายไป ลูกนกและแม่นกที่ทำรังอยู่ในโพรงไม้ยอดสูงก็จะต้องตายตาม เพราะขาดอาหารจากพ่อนก เรื่องราวของนกแพนกวินจักรพรรดิที่ขั้วโลกเหนือก็คล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะของเรายังบอกด้วยว่า ไม่ใช่คนเราเท่านั้นที่คิดว่าได้ดูนก บ่อยครั้งทีเดียวที่นกก็พากันมาดูพวกเราเช่นกัน ผมเองจำได้แม่น คราวไปพักที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อเราไปถึงที่พักในเวลาเย็น เราไม่เห็นอะไรเลย ซึ่งต่างจากเช้าวันต่อมาที่หมู่ปักษาพากันส่งเสียงเจื้อยแจ้วระงมหน้าเต้นที่พัก พวกมันต่างบินมาดูพวกเรา พวกมันคงสงสัยในพฤติกรรมแปลกๆ ของมนุษย์ แต่อย่างน้อย การมาปรากฏกายของฝูงนกสารพัดชนิดนับว่าไม่ได้ทำให้พวกเราเสียเที่ยวหรือผิดหวัง เพราะถือว่าได้เห็นพวกมันมาอวดโฉมความงามให้เราได้ชมสมปรารถนา เก็บภาพและบันทึกความทรงจำไว้แล้ว
การดูนกเพื่อย้อนดูใจตนจึงควรมองให้ไกลด้วยหัวใจเปิดกว้าง มองให้เห็นการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตอย่างลึกซึ้ง สัมผัสธรรมชาติรอบข้างไปพร้อมๆ กับนกน้อยที่เราเห็น หากดูนกได้ดั่งนี้ จิตใจของเราจึงจะสงบ ได้นิ่งเงียบ เพื่อฟังเสียงภายในของใจเรา
ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตามุ่งหน้าแต่เพียงดูนก สิ่งที่เราเห็น อย่างมากก็เพียงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิชาสัตว์ปีก พิสูจน์ความจริงที่ระบุไว้ในตำราที่มีคำบรรยายวงจรชีวิตและพฤติกรรมไว้เบ็ดเสร็จ โดยที่เราจะไม่ได้เรียนรู้ส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ไม่เข้าใจบริบทและสภาพแวดล้อมของชีวิตนก ขาดญาณทัศน์ มองไม่เห็นองค์ประกอบแวดล้อมของชีวิตอื่นและตัวเราเอง
หากเราดูนก แต่เห็นมากกว่าตัวนก เราก็จะเห็นการเชื่อมโยงของชีวิต ไม่เขินอายหากต้องกลับมาย้อนถามเพื่อตรวจสอบความนึกคิดของตัวเราเอง
การพักผ่อนหย่อนใจไปกับกิจกรรมการดูนกและบทสนทนาอย่างผ่อนคลาย นอกจากจะได้พักกายแล้ว เรายังได้รับความรู้ความเข้าใจในชีวิตของสัตว์โลกตัวน้อย ได้รับประสบการณ์ที่แบ่งปันกัน ผ่านมุมมองและความคิดความเห็นระหว่างการเดินทาง
ผมนึกถึงคำของศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตและสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ท่านอาจารย์เคยรจนาไว้ทำนองว่า
ชีวิตนกต้องการแค่เพียงที่เกาะบนยอดไม้ แล้วทำไมมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ จึงต้องการอะไรมากกว่านั่น...


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

ศิลปะสร้างสุขในชีวิตประจำวัน


เย็นวันหนึ่งขณะกำลังนั่งๆนอนๆในห้องคอนโดชั้น ๔ ข้าพเจ้าเหลือบมองออกไปนอกห้องผ่านประตูกระจกบานใหญ่ เห็นท้องฟ้ายามเย็นงามจับใจ แสงส้มขลิบขอบเมฆเป็นเส้นสายดูบางเบา บางที่แสงสีแสดป้ายระบายเมฆเป็นคลื่นบนฟ้า ข้าพเจ้าไม่อาจละสายตาจากความงามเบื้องหน้าได้ ต้องวางภาระกิจการงานทุกอย่างลง เปิดประตูออกไปนั่งแช่ตรงระเบียงเพื่อชื่นชมสีสันของสนทยายามเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆจนความมืดเข้าครอบคลุม
ความงามและสุนทรีภาพสะกดตาและใจมนุษย์ได้เสมอ ความงามในธรรมชาติทำให้ใจสงบสุขโดยง่ายไร้การบังคับ ข้าพเจ้านึกถึงคำของวิปัสสนาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยกล่าวว่า “ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ” ธรรมชาติมีกลวิธีเชื้อเชิญเราเข้าสู่สภาวะสมาธิได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพยายามให้มากเลย เพียงแต่เราต้องหยุดตัวเองบ้าง ช้าลงหน่อยเพื่อชื่นชมความงามเล็กๆน้อยๆในชีวิต
เมื่อมองความงามภายนอกแล้วหันกลับมาดูใจนิดหนึ่งว่าเรารู้สึกอย่างไร ใจของเราเป็นอย่างไร เราคิดอะไรอยู่หรือไม่ สำรวจกายและใจว่าสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่เรากำลังชื่นชมอยู่อย่างไร บางทีเราอาจจะเห็นภาพอันสวยงามนั้นปรากฏในใจเราเหมือนภาพถ่ายและภาพวีดีโอ
ข้าพเจ้าคิดเล่นๆว่า การเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างเนิ่นนานนี้เป็นกระบวนการทางศิลปะอย่างหนึ่งด้วย คือ งานถ่ายภาพด้วยเลนส์ใจนั่นเอง
ในแต่ละวัน เราน่าจะให้เวลา“ตื่นตาตื่นใจ”กับธรรมชาติอย่างน้อยวันละหนึ่งอย่าง เมื่อเห็นดอกไม้เราอาจจะหยุดและใส่ใจมองดอกไม้นั้นอย่างเต็มที่สักระยะ ลอกสีสันดอกไม้ไว้ในใจ หรือเมื่อเห็นเม็ดฝนตกกระทบบานหน้าต่าง เราจะนั่งมองลายเส้นใสๆที่ไหลย้อยลงมาเป็นลายที่มิอาจคาดเดา เพื่อนคนหนึ่งเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยว่า เขาเคยเฝ้ามองใบไม้ที่ปลิดปลิวจากกิ่ง ค่อยๆลิ้วลู่ตามลม แฉลบไปมาอย่างช้าๆจนกระทบพื้น ในขณะนั้นเอง เวลาดูเหมือนจะหยุดนิ่งและทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง
เปิดตา เปิดใจแล้วเราจะสัมผัสศิลปะแห่งความสุขเช่นนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา ยิ่งทำบ่อยยิ่งเกิดสุข สุนทรียภาพ และสมาธิในใจ
กระบวนการศิลปะแบบนี้คงกระตุ้นให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาลองรังสรรค์ “ศิลปะในใจ” ดูบ้าง อันนี้เหมาะกับหลายคนที่คิดว่าตนไม่มีพรสวรรค์หรือทักษะทางศิลปะที่ทางโรงเรียนโดยมากให้คุณค่า แต่กระนั้น การสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อการพัฒนาความสุขและคุณภาพของจิตใจก็ใช่เป็นสิ่งยากเกินเอื้อม โดยเฉพาะหากเราให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าผลงานที่แล้วเสร็จ
แค่การลากเส้นก็ทำให้เกิดความสุขได้แล้ว
วันหนึ่งข้าพเจ้าพบกับนักศิลปะบำบัดจากประเทศฮอลแลนด์ชื่อ ซาบีน่า เธอบอกให้ข้าพเจ้าหยิบสีเครยอนขึ้นมาหนึ่งแท่ง ลากเส้นเป็นรูปตัวยูประมาณกึ่งหนึ่งของหน้ากระดาษ ส่วนเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามก็ทำเช่นเดียวกันแต่บนพื้นที่อีกครึ่งของกระดาษที่เหลือ จากนั้นเราลากเส้นซ้ำรูปตัวยูทวนเข็มนาฬิกาในขณะที่เพื่อนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามก็ทำเช่นเดียวกัน เราต้องขยายเส้นวาดรูปตัวยูของเราไปจนถึงอีกฝั่งของกระดาษ และต้องระวังไม่ให้มือของเราชนกัน
ภาพที่เห็นไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปตัวยูเป็นวงชั้นๆ ไม่ได้วิจิตรพิศดาลอะไร แต่ที่สำคัญคือช่วงที่เราลากเส้นไปมานั้น เรารู้สึกอย่างไร สำหรับคู่ของข้าพเจ้า เราสามารถวาดเส้นตัวยูไปตามมือ ตามใจของเราโดยไม่ชนกัน สำหรับข้าพเจ้ายิ่งลากเส้นยาวขึ้น ยิ่งรู้สึกสนุก อิสระและผ่อนคลาย ความเครียดกังวลที่มีอยู่สลายไปเลย ข้าพเจ้าค้นพบว่าบางทีในเวลาเครียดกังวล หยิบดินสอหรือสีมาสักแท่งแล้วลากไปเรื่อยๆ หรือลากยาวจากปลายกระดาษหนึ่งถึงอีกฝั่ง ก็อาจช่วยคลายเกลียวความวิตกได้บ้าง
กิจกรรมลากเส้นนี้ยังทำให้เราได้รู้จักตัวตนภายในอีกด้วย ชายคนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมนี้สะท้อนว่า “ผมลากเส้นไปโดยไม่ดูเลยว่าอีกฝ่ายอยู่ตรงไหนแล้ว ผมนำไปก่อนเลยเพราะต้องการทำให้ได้ตามที่ได้รับคำสั่ง อีกฝ่ายดูเหมือนต้องตามผมเอง แต่พอแขนเราชนกัน ติดขัดบ่อยขึ้น ผมเรียนรู้ที่จะช้าลง และดูจังหวะของคู่ทำงานของผมด้วย”
ภาพที่ปรากฏบนบนกระดาษบวกกับการหวนระลึกถึงความรู้สึกในขณะที่ทำ สะท้อนความโน้มเอียงของบุคลิกภาพภายในและพฤติกรรมที่เราอาจไม่เคยรับรู้หรือตระหนักชัดมาก่อน และการรู้จักตัวเองเช่นนี้เองที่จะนำเราไปสู่หนทางแห่งการแปรเปลี่ยน
ในการทำงานศิลปะแบบเน้นกระบวนการนี้ มือเป็นจุดเชื่อมไปถึงใจ ข้าพเจ้านึกถึงการทำงานปั้นครั้งหนึ่ง นักศิลปะบำบัดบอกให้ข้าพเจ้าปั้นดินน้ำมันในมือให้เป็นลูกกลมๆ จากนั้นบิออกเป็นเม็ดกลมเล็กๆ แล้วเอาเม็ดกลมเล็กๆนั้นมาแปะ ปะ เชื่อมเป็นอะไรก็ได้ที่มือและใจพาไป ทำไปเรื่อยๆจนกว่าดินน้ำมันลูกกลมใหญ่จะหายไปหมด ที่สำคัญห้ามใช้การวางแผน ขบคิด วาดภาพไว้ก่อนในการทำงาน
“การปั้นโดยไม่ใช้สมอง” ในครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเห็นก้อนทุกข์ที่ข้าพเจ้าฝังกลบอย่างมิดชิดในใจ ระหว่างนั่งบิดินน้ำมันและปะติดปะต่อเป็นรูปร่างอื่น ข้าพเจ้าหยุดชะงักเมื่อเห็นก้อนงานคล้ายลูกน้อยหน่า ตาของข้าพเจ้าเปียกแฉะ ก้อนที่จิตสำนึกดาดๆในสังคมทั่วไปต้องตัดสินว่าเป็นงานโง่งมไร้ความงามอย่างสิ้นเชิง ทำให้ข้าพเจ้านึกถึง “ก้อนมะเร็ง” ในเสี้ยววินาทีนั้นข้าพเจ้ารู้ทันทีว่าความเครียด ความหดหู่โดยไม่รู้สาเหตุในระยะสองอาทิตย์นั้นมาจากไหน เพื่อนของข้าพเจ้ากำลังป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายและเธอชื่อน้อยหน่า
อีกคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ได้โจทย์ให้ปั้นดินไปเรื่อยๆ โดยไม่คิด ให้ใจขึ้นรูปดินไปเรื่อยๆ สักพักดินที่อยู่ในมือข้าพเจ้าดูละม้ายคล้ายมดลูก สำหรับนักศิลปะบำบัดแล้ว รูปร่างที่ปรากฏไม่สำคัญเท่ากับว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น งานที่ปรากฏนำประสบการณ์ ความทรงจำ เรื่องราวและความรู้สึกอะไรมาให้ข้าพเจ้า สำหรับก้อนมดลูกนี้สะท้อนความกังวลของตนเองต่ออวัยวะที่เป็นปัญหาสุขภาพของข้าพเจ้าในเวลานั้น
การปั้นโดยไม่คิดหรือวางแผนผลงานไว้ก่อนทำให้บางอย่างที่เราเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกผุดปรากฏออกมา เมื่อเห็นปัญหา เราก็หาทางแก้ได้ตรงจุด
การทำงานทางศิลปะในลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่อยู่ในภาวะไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นักศิลปะบำบัดนำเอาการทำงานทางศิลปะให้ผู้ป่วยและเด็กที่ป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเพลิดเพลินและเยียวยาความทุกข์บางอย่าง อีกทั้งเราจะทราบถึงปมปัญหาบางอย่างที่เด็กหรือผู้ป่วยไม่บอกเรา
หญิงคนหนึ่งเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวและหดหู่ซึ่งอาจจะมาจากการที่เธอเป็นมะเร็ง เมื่อแรกที่มาเข้าร่วมกระบวนการศิลปะบำบัด เธอระบายสีน้ำด้วยสีสดใสแต่รูปทรงทุกอย่างมีเส้นกรอบชัดเจน นักศิลปะบำบัดช่วยแนะให้เธอผสมสีและป้ายสีผสมกันบ้าง เช่นท้องฟ้าก็ใช้สีหลายเฉดที่เกลื่อนๆกลืนๆกันก็ได้ หลายครั้งผ่านไป ภาพของเธอเปลี่ยน เส้นกรอบวางเขตแดนของสิ่งต่างๆเริ่มจางลง มีสีผสมมากขึ้น บุคลิกภาพเธอก็เปลี่ยนเช่นกัน เธอเริ่มเปิดตัวเองและสดชื่นมากขึ้น
ถ้าเรามองศิลปะเป็นเรื่องของวิธีการและกระบวนการหนึ่งเพื่อการพัฒนาจิตใจ สติ สมาธิ สรรสร้างความสุขและบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ หรือเยียวยาความเจ็บปวดทางกายและใจ เราสามารถเลือกกลวิธีทางศิลปะได้หลากหลาย ไม่ว่าจะลากเส้น ทำจุด ปั้น แปะกระดาษ ระบายสี แต้มพู่กัน คัดตัวอักษร เป็นต้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การปล่อยให้ใจและมือนำพาการสร้างสรรค์ไป ใช้การคิดวางแผนให้น้อย และในขณะสร้างสรรค์งานหมั่นสำรวจใจว่า รู้สึกอย่างไร งานนั้นกำลังบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราเอง

กรรณจริยา สุขรุ่ง
จากสารเพื่อนเสม