วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 27, 2550

เวลาและรอยยิ้ม



วันหนึ่งขณะทีข้าพเจ้ากำลังขับรถเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เหลือบเห็นรถสามล้อถีบ (ซาเล้ง) สนิมเครอะตลอดคัน ลมยางทุกล้อแบนแฟบ รถเอียงเอนเค้เก้ จอดนิ่งอยู่ใกล้ๆ กับชายที่กำลังง่วนอยู่กับการถอนตะปูทีละดอกออกจากแผ่นไม้เก่าที่ถูกโยนทิ้งขว้างไว้ข้างทาง

ในรถเศษเหล็กคันนั้น หญิงสาวคนหนึ่งกำลังนั่งเล่นอยู่กับเด็กชายวัย 2-3 ขวบ ส่วนของเล่น คือเศษวัสดุสารพัดที่เก็บได้ระหว่างทาง

ภาพที่ข้าพเจ้าเห็นทำให้รู้สึกอุ่นในหัวใจ เพราะในความแร้นแค้น ครอบครัวเล็กๆ กลับแลดูมีความสุข พวกเขาเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยกันตราบเท่าที่เจ้าเศษเหล็กและกำลังขาของผู้เป็นพ่อจะปั่นพาไป

การงาน การเล่น และความสัมพันธ์ในครอบครัว ล้วนดำรงอยู่ร่วมกันในทุกๆ หนแห่ง

ข้าพเจ้าหยุดรถและส่งรอยยิ้มให้ หวังว่าพวกเขาคงรู้ว่า รอยยิ้ม นั้น คือคำขอบคุณที่ชีวิตของพวกเขาได้ให้ ความรู้สึกที่ดี แก่ข้าพเจ้า และหญิงในรถคันนั้นก็ยิ้มตอบข้าพเจ้าด้วยรอยยิ้มอันเบิกบาน เป็นสุขทั้งแววตาและหัวใจ

แค่เสี้ยวเวลาสั้นๆ นี้ กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็พอที่จะพาหัวใจของข้าพเจ้าให้อิ่มเอิบไปตลอดทั้งวัน

รอยยิ้มและความสุข เราหาซื้อที่ไหนไม่ได้ และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องดั้นด้นแสวงหา ความสุขง่ายๆ ผุดขึ้นในใจเรา หากเราพอมีเวลาที่จะสังเกต เฝ้ามองสิ่งรอบตัว และชื่นชมกับชีวิตเหล่านั้น

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความสุขตกอยู่กลาดเกลื่อนทุกที่ ซึ่งไม่ยากเลยที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกนั้น

ช่วงเทศกาลแห่งความสุขและการให้นี้ เราหลายคนมักนึกถึงของขวัญและการ์ดอวยพรที่จะมอบให้แก่คนที่เรารักและเคารพ ซึ่งหลายครั้ง เรากลับกระอักกระอ่วนด้วยความรู้สึกว่า ต้องให้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

หากรายชื่อผู้รับความสุขจากเรายาวเหยียดอาจทำให้เงินในกระเป๋าและในบัญชีธนาคารพร่องลง ถึงตอนนั้น รอยยิ้มของเราอาจแปรเปลี่ยนเป็น รอยยับ เพราะต้องแบกรับความเครียดและความทุกข์ที่เกิดจากการทนอด บางรายอาจถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสิน พาเอาหัวใจหม่นหมอง ไม่มีความสุขไปพร้อมๆ กับผู้รับของขวัญจากเรา

สังคมทุนและบริโภคนิยมอาจทำให้เรามอง การให้ ในมิติของวัตถุ ของขวัญและการ์ดอวยพรเป็นเพียงสิ่งแสดงแทนความรู้สึกจากใจผู้ให้ อย่างของเล่นที่พ่อแม่ให้แก่เราในช่วงนี้ย่อมแสดงความรักที่ท่านมีต่อลูกๆ แหวนเพชรที่สามีให้แก่คู่ชีวิตของเขาคือสัญลักษณ์ยืนยันความรักที่ชายผู้นั้นมีต่อภรรยา

แต่สำหรับครอบครัวซาเล้ง ความรักและความสุขของพวกเขากลับปราศจากประจักษ์พยานทางวัตถุ ไม่มีของขวัญหรือการ์ดใดๆ เป็นหลายชีวิตที่ยินดีคล้องใจกันโดยไม่ยินดียินร้ายกับวัตถุพยานเหล่านั้น

เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่งบอกว่า สำหรับเขาแล้ว เวลาคือชีวิต เราให้เวลาแก่ใครย่อมหมายถึงเราได้ให้ ชีวิต แก่คนๆ นั้นด้วย

เวลาที่พ่อแม่ให้แก่ลูกๆ ก็คือการให้ชีวิตพวกเขาแก่ลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความสัมพันธ์ พลังใจ และประสบการณ์ความรู้ ซึ่งช่วยให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้

เด็กหลายคนที่อยู่ในสถานพินิจเคยสะท้อนว่า เขาเหงามาก พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ พวกผู้ใหญ่มัวแต่ทำงานหาเงิน บ้างเล่นไพ่ ติดการพนันและเหล้า

ที่โรงเรียน ครูเองไม่มีเวลาพูดคุยหรืออบรมศิษย์ ช่องว่างภายในใจไกลห่าง เด็กหมดหนทาง ไม่รู้จะปรึกษาใครหรือจะเรียนการฝึกหัวใจให้แข็งแกร่งท่ามกลางสิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่รายล้อมชีวิตพวกเขาได้อย่างไร ท้ายสุดมักลงเอยที่การทำร้ายตัวเองด้วยการกระทำผิด

เด็กที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายคนหนึ่งเคยสะท้อนความในใจออกมาว่า ดีใจที่ป่วยหนัก เพราะทำให้พ่อมีเวลาให้เขามากขึ้น

ชีวิตของเด็กๆ ต้องการเวลาจากผู้ใหญ่ที่เขาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีชีวิตที่งดงามต่อไป เราให้เวลาเพียงพอหรือไม่กับเด็กของเรา เราให้เวลาแก่พวกเขาอย่างไร

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มักอิงแอบอยู่กับ ความสัมพันธ์ ที่ดีต่อกัน หากความสัมพันธ์บกพร่อง สงครามใหญ่น้อยทั้งในบ้าน นอกบ้าน และภายในใจเราย่อมปรากฏ

ที่สำคัญ ความสัมพันธ์อันดีต้องลงทุนด้วยการให้เวลาและหัวใจแก่กันและกัน

เราทุกคนต่างโหยหากันและกัน ในยามทุกข์ หากมีเพื่อนให้เวลานั่งเคียงข้าง เรารู้สึกอุ่นใจขึ้น ยามที่เราตั้งใจทำงานดีๆ หากมีเพื่อนสนับสนุนให้เวลานั่งคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน เราก็มีพลังในการเดินหน้าทำงานต่อไปเช่นกัน

น่าตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีเวลาให้คนรอบข้าง คนสำคัญในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ เพียงพอแล้วหรือ และให้แบบใดแก่กัน

เราให้เวลากับสิ่งใด เรากำลังให้ชีวิตกับสิ่งนั้น

เวลาที่ให้ลูกสุนัข เวลาที่ให้แก่ต้นไม้ที่ปลูกรอบบ้าน เวลาในการทำงานอาสา เช่น การดูแลผู้สูงอายุ เวลาในการดูแลปะการังเสื่อมโทรม แม้กระทั่งการให้เวลาในการทำงาน

การให้เวลากินความถึงการใส่หัวใจลงไปในเวลานั้นด้วย

หากเราให้เวลากับงานอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ใส่หัวใจและจิตวิญญาณลงไปในงานที่เราทำ ย่อมเป็นเสมือนกับ การให้ชีวิต แก่งานนั้นๆ

และไม่ว่าเราจะให้เวลากับใครหรือสิ่งใด สำคัญที่สุดคือ การให้เวลาและชีวิตแก่ตัวเอง

พระไพศาล วิสาโล เคยให้พรปีใหม่แก่เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย และทุกๆ คนว่า ชีวิตปัจจุบันของเราเร่งรีบ พะรุงพะรังไปด้วยการงาน สมุดตารางเวลาของเราเต็มไปด้วยนัดหมาย การประชุม งานที่ต้องทำมากมาย ทำให้เราไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง และเมื่อไม่มีเวลาให้ตัวเอง เราก็ไม่อาจมีเวลาให้แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริงได้

ขอให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เพ่งพินิจตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อะไรคือความสุขที่แท้จริงของเรา

เราไม่มีเวลาที่จะดูและรักษากายและใจตัวเอง หลายคนไม่มีเวลารับประทานอาหารอย่างเบิกบานมีความสุข ต้องร้อนรนเร่งรีบ ไม่ซาบซึ้งกับรสชาติและสิ่งดีๆ ที่อาหารนำสู่ร่างกาย รีบทานจนอาหารไม่ย่อย หมักหมมจนกลายเป็นโรคต่างๆ ตามมา

นอกจากนี้ เรายังไม่มีเวลาออกกำลังกายและปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในหัวใจ พร้อมรับความไม่แน่นอนในชีวิต

ในยามที่พูดคุยกับผู้อื่น เราไม่อาจให้เวลาและหัวใจรับฟังผู้อื่นได้เต็มร้อย เพราะในหัวของเรามีเรื่องสำคัญต้องคิดก่อนมากมาย เราพะวงกับเรื่องที่ต้องทำต่อไปจนไม่มีเวลาฟังผู้อื่น หรือแม้แต่พูดคุยกันเต็มเวลา สุดท้าย ความเข้าอกเข้าใจกันย่อมเกิดยาก ความสัมพันธ์ที่ดีกลับขาดวิ่นร้าวฉาน

สำหรับช่วงส่งท้ายปีใหม่นี้ เราน่าจะได้ให้ของขวัญแก่ชีวิตเรา คือให้เวลากับตัวเอง หยุดพัก ทบทวนชีวิตในปีที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นทิศทางในการเดินทางต่อชัดเข้มยิ่งขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุด หากเราตระหนักว่า ทุกเวลาที่ผ่านเข้ามาล้วนเป็นเวลาแห่งการให้ เราย่อมมอบของขวัญ เป็นรางวัลแห่งชีวิตอันวิเศษให้แก่ทุกคน ทุกเมื่อ รวมทั้งตัวเราเองด้วย.



กรรณจริยา สุขรุ่ง
เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย
media4joy@hotmail.com