ชีวิตช่วงนี้ของดิฉันกำลังหมุนเวียนรอบ “โลกแห่งทุน”
ดิฉันมักได้ยินเรื่องราว คำรำพึงรำพันเรื่องนี้จากหลายคน ซึ่งบ่อยครั้งก็สะท้อนออกมาในเนื้อข่าว เช่น จะทำอะไรก็ต้องเริ่มต้นที่ทุน
คนที่อยากทำโครงการดีๆบ่นว่า หาผู้สนับสนุนไม่ได้หรือไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดดีๆ เพื่อสังคมเกิดขึ้น แล้วก็มักลงเอยด้วยการนั่งทับโครงการดีๆ รอคอยให้ทุนมาหล่นทับเอง
หากจำกันได้ เคยมีข่าวเรื่องการจะซ่อมแซมโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งคนใจบุญหัวแหลมได้ความคิดที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อระดมทุน แต่พอไม่มีเงินเข้ามา ผลกระทบจึงตกมาที่นักเรียนและโรงเรียนที่จำต้องเฝ้ารออย่างไร้จุดหมาย ข่าวนี้ชวนให้ดิฉันสงสัยว่า ฤาจะมี “ทุน” ในลักษณะอื่นอีกไหมที่พอจะช่วยเหลือโรงเรียนแห่งนี้ได้
ที่จริง หากเรามองเห็นทุนเพียงมิติของเงินตรา ทรัพย์สินและสิ่งของ บ้านและที่ดิน เรื่อยไปจนถึงจำนวนหุ้นที่ตีมูลค่าเป็นราคาและค่าเงินได้ ชีวิตของเรานี้ดูช่างขาดแคลนนัก
คนเบี้ยน้อยอย่างดิฉันจึงต้องดิ้นรนแสวงหาความหมายของ “ทุน” ในมิติอื่นๆ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าชีวิตมี “สภาพคล่อง” ขึ้นมาบ้าง
เรามี “ทุน” อะไรบ้างในชีวิต?
(1)
ทุนแรกที่นึกถึงคือ ทุนทางกาย เราทุกคนมีทุนประเดิมนี้ในการตั้งต้นชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น และหากเรายังคงหายใจอยู่เราก็สามารถใช้ทุนนี้ในการดำเนินชีวิต ทำงาน และสร้างทุนอื่นๆ ให้แก่ตัวเองได้เสมอ
ผู้ที่มีรูปเป็นทรัพย์ย่อมตระหนักถึงทุนนัยยะนี้เป็นอย่างดี
ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาที่ยุคสมัยให้คุณค่าว่าสวยงาม เขาและเธอเหล่านี้ใช้รูปกายเป็นต้นทุนในการแสวงหาทรัพย์สิน ความร่ำรวย และชื่อเสียง ซึ่งความงามเพียงร่างกายนี้มีวันหมดอายุตามสภาพการใช้งานและวัย
เราจึงเห็นดาราจำนวนหนึ่งยอมเสียเงิน ทรมานร่างกายเพื่อประคองความงามนี้ให้ยาวนานที่สุด
แรงกายก็เป็นทุนที่หาทรัพย์ได้มากโดยเฉพาะในยุคนี้ที่การกีฬากลายเป็นเรื่องการค้า
นักกีฬาหลายคนเป็นเศรษฐี เช่น นักค้าแข้ง นักหวดลูกสักหลาด และนักมวย ในขณะที่แรงงานบางประเภท อย่างเช่นกรรมกรและชาวนา กลับไม่ได้รับการเพิ่มค่าเพิ่มราคา
แม้ดิฉันจะไม่มีรูปและแรงเป็นทรัพย์อย่างคนอื่นๆ แต่ดิฉันกลับพอใจที่เรายังมีกายที่แข็งแรง ซึ่งเพียงเท่านี้ ดิฉันรู้สึกว่าตนรวยมากแล้ว
ดิฉันไม่เคยลืมประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน บิลค่ารักษาและค่ายาราว 1,000 บาท ได้ทำให้ไข้หวัดหมดฤทธิ์อย่างปาฏิหาริย์
สุภาษิตที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ผุดขึ้นในใจ “นี่หากไม่เป็นหวัด ไม่ต้องไปหาหมอ เท่ากับว่าเรามีเงินอยู่ 1,000 บาท อยู่กับตัวทีเดียว”
ตั้งแต่นั้นมา ดิฉันตั้งใจว่าจะรักษาเงินในร่างกายไม่ให้รั่วไหลง่ายๆ อีกต่อไป
ดิฉันเคยได้ยินพระอาจารย์ท่านหนึ่งพูดด้วยว่า “การบำรุงหล่อเลี้ยงทุนทางร่างกายนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพื่อบำรุงบำเรอตามอำนาจความอยาก แต่เป็นการดูแลอย่างสมควรของธรรมชาติเพื่อให้กายนี้ช่วยเราในการทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ได้เต็มที่และยาวนานที่สุดเพื่อประโยชน์ของสรรพชีวิตทั้งมวล”
(2)
ทุนอีกลักษณะที่เราทุกคนต่างมีคือทุนการศึกษา ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเงินส่งเสียค่าเรียนที่ได้รับจากใคร แต่เป็น ทุนความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ ที่ช่วยให้เราแปรเปลี่ยนไปสร้างทุนทรัพย์อื่นๆ ได้ ดังสุภาษิตที่ว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน”
วิชาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความรู้ตามระบบการศึกษาที่มีใบประกาศเท่านั้น แต่รวมถึงความรู้ที่ได้จากการอ่าน การถ่ายทอดจากครู การทำงาน ประสบการณ์ตรงในชีวิต รวมทั้งความรู้จากการสังเกต ตลอดจนความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้เรามีชีวิตรอดในแต่ละวัน เช่น การรู้วิธีการเดินข้ามถนนให้ปลอดภัย รู้วิธีการทำอาหาร รู้จักการดูแลตัวเอง รู้วิธีทำมาหากิน รู้วิธีสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับผู้อื่น
สังคมปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับความรู้และความคิดสร้างสรรค์ กระทั่งผลักให้คนจำนวนหนึ่งไล่ล่าใบประกาศทางการศึกษาเพื่อไต่บันไดแห่งความฝันทั้งทางการงานและการเงิน โดยปราศจากการถามตัวเองว่า เราสร้างสมทุนความรู้และความสามารถไปเพื่ออะไรกัน เพื่อตัวเองหรือผู้อื่น
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดิฉันยังนึกถึงความประทับใจในเรื่องราวของดร.อัมเบดการ์ (Dr.Bhimrao Ramji Ambedkar) ปราชญ์ผู้ได้รับการยกย่องบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย
ท่านถือกำเนิดในชนชั้นจัณฑาลที่ยากจนและขาดโอกาสทางสังคมอย่างมาก ในสมัยนั้น (พ.ศ.2434 – 2499) เด็กจัณฑาลไม่มีโอกาสนั่งในชั้นเรียนเหมือนเด็กในวรรณะอื่น พาให้เด็กชายอัมเบดการ์ไม่มีทางเลือก จำต้องนั่งเรียนอยู่นอกห้อง และไม่ได้รับการเอาใจใส่จากครูผู้สอน
แต่เนื่องจากเด็กคนนี้ตั้งใจเรียนและผ่านการสอบสำคัญๆ ต่อมาจึงมีผู้แนะนำให้เปลี่ยนนามสกุลและได้รับการส่งเสียให้เรียนต่อ ซึ่งที่สุด นับว่า ดร.อัมเบดการ์ คือจัณฑาลคนแรกที่ได้รับการศึกษาสูงที่สุดในช่วงเวลานั้น
ท่านได้รับใช้ชาวอินเดียหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการร่างกฎหมาย การรื้อฟื้นพุทธศาสนาในอินเดีย รวมทั้งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้แก่คนในวรรณะจัณฑาล
ความรู้ของท่านจึงเป็นปัญญาที่มีประโยชน์และมากความหมายต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อทุนชีวิตของชาวอินเดียอีกหลายล้านคน โดยเฉพาะผู้คนจากวรรณะดังกล่าว
(3)
ทุนสำคัญอีกอย่าง คือ ทุนทางความสัมพันธ์ จากครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชน
สำหรับเด็ก ครอบครัวและพ่อแม่คือแหล่งทุนสำคัญของพวกเขาทั้งทางกาย ใจ ความคิด และการเงิน ทุกวันนี้ คนทำงานจำนวนไม่น้อยยังพึ่งแหล่งทุนลักษณะนี้อยู่
คนรวยเพื่อน (ดี) นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นบุญเช่นกัน เพราะเพื่อนที่ดีย่อมจุนเจือเราได้สารพัด ในยามมีปัญหาการงาน ขัดสนทางการเงิน ปัญหาหัวใจ แม้กระทั่งยามเจ็บป่วยหรือใกล้จะจากไป
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวบั่นปลายชีวิตของ “สุภาพร พงศ์พฤกษ์” ขณะป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
เรื่องของเธอคือแรงบันดาลใจให้แก่ชีวิตของดิฉัน
เธอไม่จำเป็นต้องจ้างพยาบาลพิเศษมาคอยดูแล เพราะเธอมีเพื่อนๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้กำลังใจ เล่นดนตรีและอ่านหนังสือให้ฟัง รวมทั้งทำความสะอาดและปรุงอาหารให้เธอ
สุภาพรไม่ได้ป่วยโดยลำพัง แม้ยามหมดลมหายใจ เพื่อนๆ ก็ยังล้อมวงสวดมนต์และนั่งสมาธิเพื่อให้เธอจากไปอย่างสงบ
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะได้รับทุนรอนประเภทนี้ เราก็ต้องลงทุนด้วย นั่นคือ การลงทุนด้วยเวลาและหัวใจ
จิตใจที่ซื่อตรง ความจริงใจที่ปรากฏ และมิตรภาพอันประเสริฐเท่านั้นที่จะหยั่งรากและผลิบาน
ประเทศชาติและธรรมชาติก็เป็นทุนในการดำรงชีวิตของเราเช่นกัน
ลองคิดดูว่า หากเราอยู่ในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง ทรัพยากรขาดแคลน เราคงไม่รู้สึกผ่อนคลาย ด้วยต้องกระเสือกกระสนหาหนทางเอาชีวิตรอด มิพักต้องเอยถึงการสร้างสรรค์ความงามใดๆ ในชีวิต
(4)
สำหรับดิฉัน ทุนสำคัญที่สุดคือ ทุนทางจิตวิญญาณ มโนสำนึก และคุณธรรม เพราะเป็นต้นทุนที่ประคับประคองชีวิตสู่ความสมบูรณ์ เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย ต่อยอดสู่ทุนทางปัญญา ความสัมพันธ์ และสังคมได้
ชีวิตที่ขาดทุนประเภทนี้ ทำให้เราทุกข์ง่ายและนาน ทั้งยังอาจก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย
ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่อุดมด้วยทุนทางจิตวิญญาณ แม้จะพร่องทุนทางการเงิน ชีวิตก็จะกลับเต็ม
ดังตัวอย่างท่านคานธี ชายร่างเล็กสวมผ้าทอผืนเดียว พักอาศัยอย่างสมถะในบ้านหลังเล็กๆ ไร้ทรัพย์สมบัติใดๆ แต่กลับทรงอิทธิพลทางปัญญาและความศรัทธาในอหิงสา เป็นสัจจะแห่งชีวิต ย่อมไม่มีผู้ใดปฏิเสธ
ดิฉันเห็นตนเองมีทุนชีวิตอยู่มากโขแล้ว ท่านล่ะ มีทุนอะไรบ้างในชีวิต จะใช้ทุนเหล่านั้นอย่างไรและใช้เพื่ออะไร โปรดเล่าสู่กันฟัง...
กรรณจริยา สุขรุ่ง
เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย
media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com