ขณะนี้ ฉันกำลังทำงานเกี่ยวกับการให้และอาสาสมัคร หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “จิตอาสา” จิตใจที่พร้อมจะให้ด้วยแรงกาย ใจ ทรัพย์ ตามกำลังจะมี สิ่งเหล่านี้เรียกร้องให้ฉันกลับมาคิดถึงเรื่อง “การให้” มากขึ้น
ฉันสารภาพตามตรงว่าฉันไม่ใช่แม่พระผู้ใจบุญ ในทางกลับกัน ฉันต่างหากที่เป็น “ผู้รับ”
ฉันเชื่อว่า ก่อนที่เราจะให้อะไรใครสักคนได้ เราต่างเคยได้รับมาก่อนทั้งนั้น เรารับน้ำนมอุ่นๆ จากอกแม่ รับเงินค่าขนมจากมือพ่อ รับสมุดจากครู รับมิตรภาพจากเพื่อน รับความสุขจากการหัวเราะ รับความรักจากแฟน ไปจนถึงรับเงินจากองค์กร
ความจริงก็คือ มันเยอะมากเสียจนไม่อยากร่ายยาวมากไปกว่านี้
บางที ฉันคิดว่า เราอาจเกิดมาเป็นฝ่ายรับ เพื่อเรียนรู้ที่จะเป็น “ผู้ให้”
ครั้นเมื่อกลับมาคิดทบทวนถึงชีวิตน้อยๆ ของตนเอง ฉันก็พบว่า เรา “ได้รับ” อะไรมามากมายเหลือเกิน บ้างเป็นวัตถุสิ่งของ บ้างเป็นเวลาและโอกาส บรรยากาศ ความรู้สึก บางทีก็เป็นสิ่งที่เรียกไม่ถูก บอกไม่ได้ เช่นเดียวกับคำว่า “ให้” ที่บางทีเราไม่ทันรู้ตัวว่าได้ให้ จนกระทั่งคนที่ได้รับเขาบอกนั่นแหละถึงจะรู้
“การให้” และ “การรับ” จึงเป็นดั่งกันและกัน หากขาดสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งย่อมเปล่าดาย ถึงมีความหมายก็ไม่สมบูรณ์
(1)
ในขณะที่ “การให้” ทำให้เราได้รับความรัก ได้รับการยอมรับ “การรับ” ก็คือการน้อมรับความรู้สึกดังกล่าว
ตัวฉันเองได้รับโอกาส ความรู้ ความเมตตา และอื่นๆ อีกมากมายจากพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนพ้อง ครูบาอาจารย์ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ตระหนักกับการให้ของพวกเขาเหล่านั้น หนำซ้ำกลับยิ่งออกขวนขวาย ไปคว้าเอาโดยหลงทางนึกว่าสักวันคงจะเต็ม
ทว่ายิ่งฉันร้องขอก็ดูเหมือนไม่รู้อิ่ม ไม่ต่างอะไรกับเด็กงอแงที่เอาแต่ใจ
พลันเมื่อมีโอกาสได้ “ให้” บ้าง ฉันจึงเริ่มตาสว่างราวกับเป็นนิมิตที่กระซิบให้ฉันลืมตาขึ้น พร้อมมองออกไปรอบๆ ตัว ชั่วขณะนั้น ฉันรู้สึกอิ่มเอิบได้เอง ไม่เรียกร้องให้ใครมาเติมเต็ม ทุกสิ่งรอบกายกลายเปลี่ยนจนน่าค้นหา รวมทั้งพลังในเนื้อในตัวของฉันเองและสภาพอากาศภายนอก
ไปๆ มาๆ การให้กลับกลายเป็นการได้รับไปโดยปริยาย ดั่งคำของพระไพศาล วิสาโล ที่เขียนไว้ในบทความ “อาสาสมัครบนเส้นทางของมนุษย์”
“ชีวิตมิได้อยู่ด้วยการรับเข้าตัวเท่านั้น แต่อยู่ได้เพราะการให้ผู้อื่นด้วย ต้นไม้ที่ดูดน้ำจากพื้นดินอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักคายน้ำคืนสู่โลกย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นนั้นมิใช่เป็นเรื่องของการเสียสละอย่างเดียว หากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของตนเองให้สมบูรณ์ ดุจเดียวกับต้นไม้ซึ่งจะถือว่าเติบใหญ่อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาและเป็นที่พึ่งพิงของสรรพสัตว์
“คนที่เอาแต่รับเข้าตัวอย่างเดียวย่อมแสดงถึงความว่างเปล่าภายใน จำเพาะคนที่มี “สาระ” อยู่ภายในเท่านั้นจึงสามารถที่จะให้แ ก่ผู้อื่นได้ ยิ่งจิตใจมีความเต็มอิ่มมากเท่าไหร่ก็สามารถแบ่งปันให้ผู้คนได้มากเท่านั้น สาระที่ว่าก็คือความสุข รวมถึงความซาบซึ้งในคุณค่าและความหมายของชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความเต็มอิ่มภายใน
“เมื่อเราให้ เราก็เป็นฝ่ายรับด้วยในเวลาเดียวกัน หนึ่งในสิ่งที่เราได้รับคือความสุข แม้การให้ของเราอาจเกิดจากการฝืนใจในทีแรก แต่รอยยิ้มและความซาบซึ้งของผู้รับก็สามารถทำให้เราพลอยเป็นสุขไปกับเขาด้วย ยิ่งการให้นั้นทำไปด้วยความปรารถนาดี ความสุขและความภาคภูมิใจก็ยิ่งทบทวี ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข”
สำหรับตัวฉันเอง อุปมาเหมือนต้นไม้ผู้เยาว์ที่กำลังเริ่มหัดที่จะคายอากาศบริสุทธิ์ให้แก่โลก และกำลังเริ่มเรียนรู้ที่จะแตกกิ่งก้าน เติบใหญ่ด้วยการแบ่งปัน
(2)
ในยุคสมัยที่ “การให้” กลายเป็นเรื่องยุ่งยากใจสำหรับผู้คน คุณคิดว่า “การให้” อะไรที่ทำได้ง่ายที่สุด เป็นคำถามจากคณะละครเวที “อาสา” โดยเพื่อนๆ จากบ้านกาญจนาภิเษก สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
พวกเขาถามเราในฐานะผู้ชม บางคนตอบว่า “ให้รอยยิ้ม” ง่ายที่สุด เสียงจากเก้าอี้ข้างๆ ตอบว่า “ให้ความรักและอ้อมกอด” ง่ายที่สุด เสียงจากด้านหลังดังก้องมาว่า “ให้น้ำใจ”
แล้ว “การให้” อะไรที่ยากที่สุด
ผู้ชมบางรายอาจคิดถึงการให้ทรัพย์สินเงินทอง หรือไม่ก็เป็นของรักของหวง บางคนอาจนึกไปถึงการให้ชีวิต แต่คำตอบหนึ่งที่ชวนให้หลายคนถึงกับชะงัก (รวมทั้งตัวฉันด้วย) สะดุดใจและต้องฉุกคิดที่สุดคือ “การให้อภัย”
ลองจินตนาการว่าเราสามารถยิ้มให้คนที่เราโกรธเกลียดหรือเหม็นขี้หน้าได้อย่างจริงใจแค่ไหน บางที การให้รอยยิ้มจากใจที่ว่าง่ายที่สุดแล้วก็อาจเป็นการให้ที่ยากแสนยากในบางเวลา
การเรียกร้องให้ตนเองใคร่ครวญความหมายเรื่อง “การให้” บ่อยๆ ทำให้ฉันพบว่า การได้รับที่มีพลังมากที่สุดคือ “การได้รับแรงบันดาลใจ” ไม่ว่าจะมาจากการเห็นครูอาจารย์ทางจิตวิญญาณ พี่ๆ หรือแม้แต่เพื่อนๆ ผู้กระทำในสิ่งที่เขาเชื่อ ปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านั้นด้วยหัวใจเต็มเปี่ยม ด้วยพลังใจของพวกเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย
สิ่งเหล่านี้ชวนให้ฉันคิดถึงข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ “ปรัชญาชีวิต” โดยคาลิล ยิบราน
“จงดูตนเองเสียก่อนว่า เธอนั้นควรแก่การเป็นผู้ให้และเป็นเครื่องมือแห่งการให้ เพราะโดยแท้จริงแล้ว ชีวิตเป็นผู้ให้แก่ชีวิต ส่วนเธอผู้คิดเอาว่าตนเป็นผู้ให้นั้น เป็นเพียงพยานผู้รู้เห็น
“…สำหรับเธอที่เป็นผู้รับ และเธอทั้งหลายก็คือผู้รับ อย่าได้คิดกังวลเรื่องบุญคุณนัก เพราะจะเป็นการสวมขื่อคาเข้ากับตัวเองและผู้ให้ด้วย แต่ขอให้ลอยขึ้นพร้อมกับผู้ให้ โดยของขวัญนั้นเป็นปีก
“เพราะความรู้สึกเรื่องหนี้บุญคุณมากไปนั้น คือการข้องใจในความอารีของเขา ผู้มีพื้นพิภพเป็นมารดาและพระผู้เป็นเจ้าเป็นบิดา”
พรรัตน์ วชิรชัย
เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ – แฮปปี้มีเดีย
media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com
ขอเชิญเพื่อนๆ ร่วมปันรอยยิ้มในสวนดอกไม้แห่งการให้ในนิทรรศการ CRACK 2 : ศิลปะในสวน (แห่งการให้) สาธารณะ Artistic Flowers in the Park ลานความรักจากใจสู่ฝีมือของบุคคลสำคัญ ศิลปิน และ “ผู้ให้” อีกร้อยชีวิต นำขบวนโดยท่านติช นัท ฮันห์, พระไพศาล วิสาโล (วัดป่าสุคะโต), ศ.ระพี สาคริก, อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง, อุดม อุดมศรีอนันต์, ชลิต นาคพะวัน, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ภัทรีดา ประสานทอง, ตรัย ภูมิรัตน และเสริมคุณ คุนาวงศ์ โดยนิทรรศการครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 14 มีนาคม 2551 ภายในอุทยานเบญจสิริ ริมถนนสุขุมวิทระหว่างซอย 22 – 24 (เปิดนิทรรศการยามเย็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 15.00 เป็นต้นไป)