ดิฉันได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมศิลปะเพื่อการเข้าใจตนเมื่อไม่นานมานี้พร้อมๆกับ
สหายชาวสื่อสร้างสรรค์
เราได้ทำกิจกรรมวาดรูประบายสีน้ำและปั้นดิน
ซึ่งนักศิลปะบำบัดบอกว่าจะช่วยสะท้อนให้เราเห็นภาพเงาชีวิตภายในของตัวเอง โลกทัศน์และแนวโน้มทางพฤติกรรม
ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านั้นทำให้ดิฉันเห็นปมที่สร้างความยุ่งยากให้ชีวิตเรื่อยมา ชิ้นงานทางศิลปะขั้นอนุบาลของดิฉันสะท้อนความกลัว ความคาดหวัง และความคิดที่เข้ามาจัดแจงเกือบทุกฝีแปรงและลายเส้น จะวาดภาพอะไรดี จะสื่ออะไรออกมา จะใช้สีอะไร ในหัวมีแต่ความคิด คำถาม การวางแผนจัดการ ความลังเล ตัดสินและประเมินค่าตัวเองและชิ้นงาน จนทำให้ศิลปะเป็นยาขมมากกว่าของหวานฉ่ำใจ
นักศิลปะบำบัดใจดีปลอบดิฉันว่า อาการช่างคิด ช่างวางแผน สับสน ลังเล เป็นลักษณะของคนในสมัยนี้โดยมาก ดิฉันไม่ต้องคิดกังวลไป
เธออธิบายต่อว่า ตอนเราเป็นเด็กเราเล่นสนุกกับสิ่งต่างๆโดยปราศจากความกลัว ไม่ว่าจะกลัวผิด กลัวพลาด หรือแม้แต่กลัวหลงในเขาวงกต หากเด็กเดินเลี้ยวผิดในเขาวงกต เด็กก็จะรีบวิ่งหาเส้นทางใหม่ทันที ด้วยความสนุกสนาน เด็กไม่กลัวที่จะหลงทาง และสนุกกับการเดินหาทางไปเรื่อยๆ
แต่คุณสมบัติการผจญภัย เปิดกว้างสู่การเรียนรู้ และกล้าลองผิดลองถูกเช่นนี้หายไปเมื่อเราโตขึ้น ความถูกต้อง สมบูรณ์แบบ มาตรฐานบางประการที่เราเรียนรู้จากสังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้เรากลัว เกร็ง และมีความคาดหวัง(และกลัวความผิดหวัง) เหล่านี้เป็นอุปสรรคในการที่เราจะทดลองทำอะไรบางอย่าง หรือหากจะทำอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก จนบางครั้งไม่ได้ทำเพราะมัวแต่คิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ
เรากลัวผิด อายที่จะผิด ซึ่งอาจแสดงอาการข้างเคียงคือ เครียดกับการทำงาน เรียนหนังสือและสอบมากจนไม่มีความสุขกับการทำสิ่งนั้นๆ หรือหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ไม่ยอมรับผิด หรือป้ายโยนความผิดไปเลย
ความกลัวทำให้เราต้องปกป้องตัวเองในรูปแบบต่างๆ เช่นโกหกเพื่อปิดบังความผิด ทำลายคู่แข่งที่เรากลัวด้วยการใส่ความ หาวิธีการโกงข้อสอบ เจ้านายบางคนกลัวลูกน้องจะเก่งกว่าเลยต้องกดข่มไม่ยอมรับผลงานของลูกน้องและทำให้รู้สึกแย่เข้าไว้
ความกลัวมากมายในชีวิตของเรามากจากไหน รัฐบาล เจ้านาย สังคม? หรือจากความคิดของเราเอง
“เด็กๆกลัวน้อย เพราะคิดน้อยกระมัง” นักศิลปะบำบัดเปรย “ผู้ใหญ่กลัวมากเพราะคิดมากเกินไป เด็กมักทำอะไรด้วยใจ” เธอเสริม
การปรุงแต่งทางจิตและกระบวนการทางความคิดหลายต่อหลายครั้ง สร้างความคาดหวัง เสริมส่งความกลัว เกร็งความผิดพลาด สร้างความแตกแยกแตกต่าง แบ่งเขาแบ่งเรา ความรู้สึกทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ล้วนๆ
ดิฉันไม่ปฏิเสธความคิดและการคิด เพียงแต่เห็นว่าเราจำเป็นต้องตระหนักรู้ว่าความคิดกำลังพาเราไปในทิศทางใด เราหลงไปในความคิดอยู่หรือไม่ และบางทีสำหรับบางเรื่องเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้สมองคิด แต่ให้ใจช่วยชี้นำแทน
ดิฉันได้ยินน้องและเพื่อนๆเล่าถึงการตัดสินใจหรือเลือกทางในการเรียน การทำงาน ความรัก การแต่งงาน และโอกาสต่างๆในชีวิต เขาอธิบายความคิด ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียอย่างมีเหตุมีผล
แต่ยิ่งคิดมากดูเหมือนจะยิ่งไกลจากคำตอบ เพราะความคิดมักจะให้ทางเลือก ความเป็นไปได้ ความหวาดวิตก ภาพอคติมากมาย หลายคนที่อยู่บนแพร่งของการตัดสินใจจึงมีอาการยืนค้างอยู่บนแยกนั่นเอง ก้าวเท้าไปทางไหนไม่ออก เพราะมัวแต่คิดวิเคราะห์ และไม่อาจตัดสินใจได้ กลัวผิด กลัวพลาด รักพี่เสียดายน้อง
ความสับสนในตัวเองที่ความคิดมอบให้ทำให้หลายคนเป็นทุกข์ นอนไม่หลับ คิดไม่ตก กังวล ความลังเลสงสัยนี้เองที่ทางพุทธศาสนาบอกไว้ว่าเป็นเหตุที่ทำลายสมาธิ ซึ่งเป็นขุมพลังในการกระทำต่างๆ สมาธิคือการที่จิตตั้งมั่น ตั่งใจแน่วแน่เป็นหนึ่ง ในภาวะจิตเช่นนี้ การกระทำใดๆจะมีพลังและมีโอกาสประสบผล
บางทีเรื่องราวทั้งหมดอาจจะง่ายเข้าถ้าเราหันมาฟังเสียงหัวใจอย่างจริงจัง โยนคำถามเข้าในใจและปล่อยไว้ ทำชีวิตให้ช้าลง หาช่วงเวลาที่เราจะอยู่ลำพัง สงบเงียบโดยเฉพาะเงียบจากเสียงความคิดภายใน
หากเราถามหัวใจอย่างจริงจังว่าต้องการอะไรจากชีวิต ต้องการเรียนอะไร ทำงานอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร นี่คือชีวิตที่เราปรารถนาหรือไม่ หรือคำถามอื่นๆ
ในภาวะเช่นนี้เราจะได้ยินเสียงภายในใจ และโดยมากคำตอบจากใจจะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น เหลืออยู่ที่เราจะรับฟังและเชื่อเสียงจากหัวใจของเราหรือไม่
ในที่นี้ ใจคือกระแสเสียงแห่งจิตสำนึก ความรู้ที่มีอยู่สมบูรณ์ครบถ้วนในตัวเอง
ดิฉันได้พบเจอหลายคนที่เงียบฟังเสียงหัวใจและกล้าใช้ชีวิตตามเสียงภายในนั้น
เพื่อนคนหนึ่งลาออกจากงานประจำเงินเดือนเฉียดแสนบาทเพื่อมาดูแลแม่และทำงานพัฒนาชุมชนที่เธออยู่ในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพิษขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมในละแวกบ้าน
ชายหนุ่มอีกคนละทิ้งงานบริษัทมาทำงานอาสาสมัครดูแลเด็กป่วยและสอนโยคะ ได้เงินพออยู่ได้แต่ความพอใจในชีวิตเปี่ยมล้น “นี่คือชีวิตที่ผมใฝ่ฝันอยากจะมี นี่แหละคือชีวิต”
คนเหล่านี้อาจไม่ร่ำรวย แต่พวกเขามีประกายความสุขในชีวิต มีพลังในการใช้ชีวิตและสร้างสรรค์งาน ผิดกับหลายคนที่ดิฉันเห็นว่ามีงานประจำและเงินมาก แต่ทำงานอย่างไร้เรี่ยวแรง ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
ความกล้าหาญในการเลือกทางชีวิตมาจากพลังของหัวใจมากกว่าความคิดหาเหตุผลในสิ่งที่ทำ เมื่อได้คุยกับคนเหล่านี้ สิ่งที่สัมผัสคือพลังความรู้สึกแรงบันดาลใจ พวกเขาเหล่านี้ไม่ค่อยมีเหตุผลอะไรมาอธิบายมากมาย เขาแค่รู้สึกว่าหัวใจบอกให้เขาทำ
แต่ใจเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญน้อยมากในปัจจุบัน ระบบการศึกษาและสังคมสมัยนี้หล่อหลอมให้เราเป็นนักสมองนิยม ให้ค่ากับปัญญาจากสมองมากกว่าปัญญาจากกายและหัวใจ จึงไม่น่าแปลกหากเราจะทะเลาะกันจะเป็นจะตายเพราะความคิดไม่พ้องกัน เราใช้ความคิดมาพูดกันมากแต่ไม่คุยกันจากใจและด้วยใจ
เราจะเห็นมนุษย์ที่ไม่นำใจมาปฏิบัติหน้าที่เกลื่อนเมือง เจ้าหน้าที่ให้บริการของรัฐที่ดูเฉยชา ครูที่สอนเด็กไม่เต็มเวลาแต่สอนพิเศษเต็มที่ หมอที่รักษาเชื้อโรคมากกว่าเยียวยาคน พระทุนนิยมที่ละโมบมีบัญชีธนาคาร นักธุรกิจที่เอาแต่ได้ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ นักการเมืองที่ลมหายใจอบอวลด้วยคำลวง
หากเราทำงานด้วยหัวใจ ฟังเสียงจากหัวใจกันมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่าสังคมเราจะมีความสุข นักการเมืองหลายคนจะออกมาสารภาพบาป หมอหลายคนจะใส่ใจคนไข้ในฐานะที่พวกเขาเป็นคนไม่ใช่โรค ครูจะใส่ใจดูแลทุกข์และสุขของลูกศิษย์ สื่อมวลชนจะใส่หัวใจลงไปในการนำเสนอข่าวสาร พระจะตระหนักรู้ในการเกื้อกูลของฆราวาส
เสียงสำนึกในหัวใจพูดกับเราอยู่เสมอ หากเราสามารถหยุดความคิดปรุงแต่งได้บ้างเราจะได้ยินเสียงกระซิบนั้นนำทางเราสู่ความสุข
ขอให้ท่านพบหัวใจตนเอง สวัสดีค่ะ
กรรณจริยา สุขรุ่ง