วันพฤหัสบดี, กันยายน 11, 2551

พุทธวิธีเพื่อการสื่อสารอย่างเป็นกลาง

โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง

“เรากำลังอยู่ในกลียุคแห่งข้อมูลข่าวสาร” รสนา โตสิตระกูล

เมื่อสิ่งที่เห็นอาจไม่จริง และสิ่งที่จริงอาจยังมองไม่เห็น เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่เสมือนจริงเช่นนี้

ผู้เขียนได้รับรู้จากแหล่งข่าวหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวของสื่อที่ให้ข้อมูลไม่เป็นจริง หรือบิดเบือนไป จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผลกระทบก็ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกล่าวถึง และผู้รับสารที่เชื่อความที่ได้อ่าน ได้ฟังไป เพิ่มพูนความชิงชัง แยกขั้วกันมากขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงแบ่งขั้วในบ้านเมืองปัจจุบัน สื่อสารมวลชนได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมาก บ้างก็ขอให้สื่อเลือกข้าง บ้างก็ว่าน้ำเสียงของสื่อเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ผู้คนเรียกร้องความเป็นกลางและความรับผิดชอบจากสื่อ แต่ดูเหมือนว่าความเป็นกลางเป็นสิ่งที่เป็นและทำได้ยากยิ่งสำหรับปุถุชนที่เต็มไปด้วยอคติ

การนำเสนอข่าวทั้งสองด้าน ในปริมาณเท่าๆกัน ถือว่าเป็นกลางแล้วหรือไม่ ?
ความจริงมีเพียงสองด้านหรือ? ความเป็นกลางขึ้นอยู่กับปริมาณชิ้นข่าวที่รายงานหรือ?
ความเป็นกลางคือการไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หรือ?

ไม่ว่าสื่อจะพยายามนำเสนอข่าวสารให้สมดุลทั้งสองข้าง เป็นกลางตามความเห็นของตนสักเพียงใด ก็อาจเป็นกลางได้ยากเพราะใจผู้รับสาร ถ้าเอนเอียงเสียแล้วก็อาจจะฟัง และอ่านสารนั้นด้วยอคติ

ความเป็นกลางในปัจจุบันดูจะเป็นเรื่องความถูกใจ ความพอใจเสียมาก และหลายครั้งก็หมายถึงความไม่ออกความเห็น ไม่ข้องแวะยุ่งเกี่ยวไปเสียเลย

กฎหมาย และระบบโครงสร้างทางสังคมสมัยใหม่ ประกอบกับความเจริญทางเทคโนโลยีให้โอกาสและเสรีภาพในการสื่อสาร แต่จะมีเครื่องมืออะไรที่จะกำกับความรับผิดชอบให้การสื่อสารสร้างสรรค์ความเป็นธรรมและสันติภาพให้สังคม

“เรามีข้อมูลมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วบิดเบี้ยว เป็น ข่าวสารพิษ เราโกหกกันมากที่สุดในยุคที่เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารก้าวไกล” รสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพให้ความเห็น

ประเมินอย่างต่ำ ๆ ปัจจุบันเรามีโทรทัศน์ให้ดูมากกว่า 100 ช่อง
มีหนังสือพิมพ์ให้ได้อ่านทุกวัน กว่า 20 ฉบับ
มีนิตยสารรายสัปดาห์และรายเดือน รายปักษ์ รวมกันกว่า 100 หัว
มีเว็บไซด์ต่างๆ ให้ท่องไปหาข้อมูล ความเห็น ความบันเทิง กว่าหมื่นเวบ
มีช่องรายการวิทยุ ทั้ง FM AM กว่า 100 สถานี

“เรากำลังอยู่ในกลียุคแห่งข้อมูลข่าวสาร” รสนาสรุปและอธิบายความต่อถึงคติพราหมณ์ที่แบ่งยุคต่างๆ เป็น 4 ยุค
1. สัตยยุค เป็นยุคแห่งสัจธรรม เป็นยุคของคนดี ผู้คนต่างมีศีลมีธรรมมั่นคง ซื่อตรง มีจิตใจผ่องใส ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง ทุกคนจึงอยู่อย่างมีความสุขเต็มที่
2. ไตรดายุค เป็นยุคที่ความดีเหลือ 3 ส่วน มีความจริง 75 เปอร์เซ็นต์ เริ่มมีคนชั่วประมาณ ๑ ใน ๔ ส่วน มนุษย์จึงเริ่มมีความทุกข์
3. ทวาปรยุค เป็นยุคที่ความดีเหลือครึ่งเดียว เหลือความจริง 50 เปอร์เซ็นต์ คนชั่วเพิ่มมากขึ้นจนมีจำนวนเท่ากับคนดี เรียกว่า มีคนดีครึ่งหนึ่งคนชั่วครึ่งหนึ่ง
4. กลียุค คือ ยุคที่มีความจริงเหลือเพียงเสี้ยว คือ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในยุคนี้ คนชั่วมีถึง ๓ ใน ๔ ส่วน มีคนดีเพียงส่วนเดียว ชีวิตจึงมีความลำบากมาก โจรผู้ร้ายมีมาก มีการฆ่ากัน ทำร้ายกัน โกงกัน หลอกลวงเอารัดเอาเปรียบกัน

เนื่องจากตำราโบราณว่าพวกเรากำลังอยู่ในกลียุค ลองมาดูกันหน่อยว่าลักษณะของกลียุคเป็นอย่างไรบ้าง (อ้างอิงจาก wikipedia)

ผู้ปกครองบ้านเมืองในกลียุคจะเป็นผู้เหลวไหลไม่มีเหตุผล และจัดเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ปกครองจะไม่เห็นว่าการส่งเสริมทางด้านจิตวิญญาณเป็นหน้าที่อีกต่อไป ผู้ปกครองจะทำตัวเป็นอันตรายต่อโลก ผู้คนจะเริ่มค้นหาและอพยพไปยังประเทศที่มีข้าวสาลีและข้าวบาเล่ย์เป็นอาหารหลัก

ความโลภและความโกรธแค้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ผู้คนจะแสดงความเกลียดชังต่อผู้อื่นอย่างเปิดเผย

สำหรับสภาพอากาศและธรรมชาติ เมื่อดอกไม้ออกในดอกไม้ ผลไม้ออกในผลไม้ (จะหมายถึงการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือเปล่าไม่รู้---ผู้เขียน) เมื่อนั้นกลียุคมาถึงกาลอวสาน และเมื่อเมฆเทฝนลงมาอย่างไม่มีฤดูกาล เมื่อนั้นจุดจบของกลียุคมาใกล้แล้ว

ไม่ยึดถือสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน
หากจะถือตามคติพราหมณ์ในแง่ที่ว่า โชคชะตากำหนดไว้แล้วโดยพระพรหมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราคงไม่ต้องทำอะไร นอกจาก “ทำใจ” ยอมรับชะตากรรมว่ากำลังอยู่ในโลกแห่งเศษเสี้ยวความจริง ก็มีแง่ดีเหมือนกัน เราอาจใช้เป็นมาตรฐานในการชั่งน้ำหนักสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน เช่น ใครบอกว่ารักเราเท่าชีวิต ก็ให้คิดไว้เลยว่า เขารักเราเพียงแค่เสี้ยวชีวิตเขาเท่านั้น อย่างนี้แล้วจะได้พิจารณาว่าจะให้ใจกันแค่ไหน
หรือเวลาที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้อ่านอะไร ก็ตระหนักในใจไว้ว่า มีความจริงเพียงเสี้ยว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก เราอาจต้องเปลี่ยนจากคำพูดที่ว่า “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” มาเป็น “เชื่อเพียงเสี้ยว สงสัยเป็นส่วนใหญ่”

ศีลข้อ 4 และ 5 เพื่อการสื่อสารด้วยรักและสันติ
หากใครจะสมาทานความคิดแนวพุทธ ก็ให้มองเรื่องนี้ในแง่ความประพฤติของศีล อาจจะจริงที่เรากำลังอยู่ในกลียุค แต่เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ คนเราไม่ประพฤติศีล ดังนั้นหากเราเปลี่ยนเงื่อนไขปัจจัยเสีย โลกที่เราอยู่ก็จะเปลี่ยนไปด้วย อาจย้อนกลับไปเป็นสัตยุคก็ได้
ศีลที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโดยตรง คือ ศีลข้อที่ 4 และ ข้อที่ 5 ซึ่งการตีความนั้นครอบคลุม กว้างขวางมากกว่าการพูดปด ให้ทันสมัยก็อาจบอกได้ว่า ดูตามเจตนารมณ์ของศีลแล้ว หมายถึงการสื่อสารทั้งหมด รวมทั้งการเขียนด้วย

“พูดแต่ความจริง ด้วยถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความมั่นใจ ความเบิกบานและความหวัง โดยไม่กระพือข่าวที่ตนเองไม่รู้แน่ชัด รวมทั้งไม่วิพากษ์หรือกล่าวโทษในสิ่งที่ตนเองไม่แน่ใจ ตลอดจนละเว้นจากการกล่าววาจาที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ปรองดองกัน หรือทำให้ครอบครัวและชุมชนต้องแตกแยกร้าวฉาน...” ---บางตอนของศีลข้อที่ 4 จาก ติช นัท ฮันห์

ส่วนศีลข้อที่ 5 เป็นเรื่องของการรู้จักบริโภคด้วยสติและปัญญา ซึ่งนับการบริโภคข่าวสารเข้าไปด้วย คือเราจะไม่บริโภคข่าวสารที่เป็นพิษ ที่ทำลายสติปัญญา ศีลธรรมอันดีในใจ

“ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นว่าจะไมใช้แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติดอื่นใด หรือการรับอาหารและสิ่งให้โทษ อย่างเช่น รายการโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนาบางประเภท เพราะตระหนักรู้ว่าการทำร้ายร่างกายและวิญญาณของตนเองด้วยสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเหล่านี้เท่ากับเป็นการทรยศต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่ สังคม และลูกหลานของตนเอง
ข้าพเจ้าจะพยายามแปรเปลี่ยนความรุนแรง ความกลัว ความโกรธ รวมทั้งความสับสนในตนเองและสังคม โดยละเว้นจากการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษภัย เพื่อตัวเองและสังคม ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่าการบริโภคอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม” ---บางตอนของศีลข้อที่ 5 จาก ติช นัท ฮันห์

หากเชื่อเรื่องกรรม คือผลของการกระทำแล้ว การกระทำผิดศีลขอที่ 4 และ 5 บ่อยๆ อาจมีผลทำให้สติฟั่นเฟือนได้ เพราะโกหกจนแยกไม่ออกว่าอย่างไหนจริงอย่างไหนลวง หรือ คนอื่นจับได้เสียชื่อเสียเครดิต เสียความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเพื่อน หรือแฟน ส่วนผลกรรมหลังการตายนั้น ไปดูกันเอาเองแล้วกัน ตัวใครตัวมัน

ยุคมิคสัญญี
ช่วงกลียุคของข้อมูลข่าวสารนั้นยังนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิด มิคสัญญี คือ การสำคัญมั่นหมายว่าคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ผู้ที่เราชิงชัง เป็นเหมือนเนื้อสมันที่เราสามารถฆ่าได้โดยไม่บาป ไม่เป็นไร ตัวอย่างเคยเกิดขึ้นแล้วจากคำพูดเล่าขานครั้ง 6 ตุลาที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
ครั้งนี้ ขออย่าให้เกิดคำพูดที่ว่า ฆ่าพันธมิตร ฆ่านปช. ฆ่ารัฐบาล หรือ ฆ่าคนชั่ว ไม่บาปเลย

หน้าที่ทางศีลธรรมของสื่อ
การทำหน้าที่ของสี่อมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสริมปัญญา รักษาสันติภาพในสังคม หากสื่อตระหนักในหน้าที่ คุณค่า และความสำคัญของสิ่งที่ทำ ระมัดระวังในการนำเสนอรายงานข้อมูล และสืบค้นเพื่อเข้าใกล้ความเป็นจริงให้มากขึ้น อาจช่วยลดคลายปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

การเป็นกลาง มีความหมายลึกซึ้งไปกว่าการไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่คือความเป็นกลางภายใน
สิ่งที่สื่อต้องตระหนักให้มากไม่ใช่โลกภายนอก แต่เป็นโลกภายในใจตน คนทุกคนล้วนมีอคติ ความเชื่อ ความเห็น ทำอย่างไรให้ความเห็นของเราเป็นสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นตรง ความเห็นถูก ทำอย่างไรให้การทำงานมีความเป็นกลาง?

เราอาจใช้หลักอคติ 4 มาสำรวจตัวเองอยู่เนืองๆ
อคติ 4 คือ ฐานะอันไม่พึงถึงทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียงเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ
1.
ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าว หรือละเว้นการทำข่าว เพราะใจเอนเอียงชอบ รักใคร่ ต่อสิ่งๆนั้น คนๆ นั้นหรือความคิดนั้นๆ หรือไม่ เช่นการรายงานข่าวเพราะผู้นั้นเป็นเพื่อน เป็นผู้ให้ของกำนัล อาจทำให้ส่วนรวมสูญเสียประโยชน์บางอย่างที่ควรจะได้จากพื้นที่และเวลาในการนำเสนอข่าวสาร หรือหากคนที่เราชอบกระทำการไม่ดี เราละเว้นการรายงานนั้นเสีย
2.
โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าว หรือละเว้นการทำข่าว เพราะใจรังเกียจ ชิงชัง ต่อสิ่งๆนั้น คนๆนั้นความเห็นนั้น ๆ หรือไม่ เช่น หากคนที่เราไม่ชอบ เราหาเรื่องแง่ไม่ดีมาพูดรายงานสม่ำเสมอ หากเวลาคนที่เราไม่ชอบทำดี เราก็ละเว้นการรายงานเรื่องของเขาเสีย
3.
โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง หรือเขลา
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าวด้วยความไม่รู้หรือเปล่า หากไม่รู้ก็ทำให้รู้ขึ้นมาด้วยการค้นคว้า สอบค้น และตรวจสอบความจริงให้ถ้วนถี่
4.
ภยคติ ลำเอียงเพราะกลัว
ลองสำรวจดูว่าเรากำลังทำข่าว หรือละเว้นการทำข่าว เพราะความกลัวต่อสิ่งต่างๆ คนต่างๆ ความเห็นต่างๆ หรือไม่ เช่น กลัวต่ออิทธิพลมืด อาจทำให้นักข่าวที่เห็นการกระทำผิด ละเว้นการรายงานนั้น เกิดผลกระทบต่อส่วนรวมได้ (แต่ก็เห็นใจนะกลัวตายนี่) หรือกลัวว่าโฆษณาไม่ลงสื่อของเรา จะขาดรายได้ ทำให้เราต้องรายงานข่าวบางข่าวที่อาจเอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจมากกว่าสังคมโดยรวม

หากเราสามารถตระหนักรู้ ก็อาจวางอคติลง และเข้าถึงความเป็นกลางได้ ซึ่งหมายถึงใจที่ไม่แบ่งแยก แบ่งขั้ว แบ่งข้าง ขาว-ดำ เลว-ดี ผิด-ถูก ชอบ-ชัง
แต่ใช่ว่าผู้ที่เป็นกลางจะไม่ยี่หระต่อความชอบธรรม สัจจะในโลก ตรงกันข้ามคนที่เป็นกลางโดยแท้ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงมาก

เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษ ท่านคานธีนำผู้ประท้วงเดินธรรมยาตราไปทะเลเพื่อต่อต้านภาษีเกลือและเรียกร้องสิทธิในการทำเกลือของชาวอินเดีย ผู้ประท้วงคนแล้วคนเล่าถูกทุบตีร่วงลงกับพื้น เสียงร้องครวญคราง แต่ไม่มีใครลุกขึ้นสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มาปราบปรามเลย

เนลสัน เมนเดลา ต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในสังคมของทั้งคนดำและคนขาว ท่านต่อสู้การเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ จนถูกจองจำในคุก 27 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1990 ท่านยังทำงานเรื่องนี้ต่อโดยใช้กระบวนการเจรจาและหันหน้าเข้าหากัน ทำให้แอฟริกใต้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยบนพื้นฐานการเคารพความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ท่านทั้งหลายเหล่านี้ต่อสู้กับ ความไม่ชอบธรรมและฉ้อฉลในสังคมด้วยจิตที่ปราศจากความโกรธ และความเกลียดชังต่อทุกฝ่าย

เราทุกคนก็สามารถเป็นกลางได้อย่างท่านที่ทำให้เป็นตัวอย่างในอดีตแล้ว
ขึ้นกับว่า เราตั้งใจจะก้าวข้ามอคติในใจ และเข้าถึงความเป็นกลางหรือเปล่า

จิตวิญญาณความเป็นไท

โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง

เร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสกลับไปดูภาพยนตร์เรื่อง Amistad ซึ่งกำกับโดย สตีเฟน สปิลเบิร์ก เมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษที่แล้ว รู้สึกประหลาดใจว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอเมริกาในยุคก่อนสงครามกลางเมืองเมื่อราว ค.ศ. 1839 คล้ายคลึงกับไทยในยุคดิจิตอล 2008 ทีเดียว เรื่องราวชวนติดตาม และคำพูดเด็ด ๆ ของตัวละครในเรื่อง สะท้อนให้เห็นหลายประเด็นที่อาจนำมาใคร่ครวญและเรียนรู้ได้ กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา

Amistad พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณของชาติ การเมืองและการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม บรรยากาศความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมระหว่างคนเหนือกับคนใต้ของสหรัฐอเมริกา

ชนวนของเรื่องเริ่มจากเรือเดินสมุทรสัญชาติสเปนชื่อ La Amistad ซึ่งแปลว่า มิตรภาพไร้พรมแดน Friendships without borders

ชื่อเรือช่างเย้ยหยันความจริงที่เกิดขึ้นเสียเหลือเกิน เนื่องด้วยเรือลำนี้บรรทุกชาวแอฟริกันที่ถูกลักลอบจับมาเพื่อไปขายต่อนายทาส ระหว่างทางที่รอนแรมในทะเล ทาสหลายคนถูกเฆี่ยนตีจนตาย ทาสสาวถูกล่วงละเมิดทางเพศ และทาสกว่า 50 ชีวิตถูกทิ้งถ่วงน้ำเพื่อลดภาระน้ำหนักของเรือและเพื่อคลายภาวะอาหารขาดแคลานบนเรือ

คืนฝนตกวันหนึ่ง ทาส ชื่อ ซินเค ใช้นิ้วแคะเอาตะปูจากแผ่นไม้ของเรือออกมาและใช้ตะปูไขทำลายโซ่ตรวนที่ล่ามอิสรภาพเขาไว้ เขาและพวก ฆ่าลูกเรือคนขาวเกือบหมดลำ เหลือเพียงผู้ที่สามารถเดินเรือได้ เพื่อให้นำเขากับพวกกลับกาฬทวีป

แต่เรือกลับไปขึ้นฝั่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทาสทุกคนบนเรือถูกจับในข้อหาฆ่าคน (ขาว) และรัฐบาลภายใต้การนำของพระราชินียิสซาเบลที่ 2 ของสเปนเรียกร้องให้สหรัฐส่งเรือพร้อมสินค้าทั้งหมดกลับสเปน ซึ่งสินค้าที่ว่านี้ก็ คือ มนุษย์ที่เรียกว่าทาส

ในช่วงปี ค.ศ. 1839 หลายประเทศยังมองทาสเป็น มนุษย์ชั้นสอง ไม่มีสิทธิอะไรนอกจากเป็นสินค้า และแรงงาน

ประเทศอเมริกาก็เช่นกัน รัฐทางใต้ของอเมริกามีฐานทางเศรษฐกิจทางเกษตรกรรม คือ ไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ซึ่ง “จำเป็นต้อง” ใช้แรงงานทาสจำนวนมาก ส่วนรัฐทางเหนือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรเป็นหลัก

ทาสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งความคิดและวิถีชีวิตที่แตกต่างระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ของอเมริกา
ดังนั้น ความรอดหรือความตายของคนที่ถูกทำให้เป็นทาส กลายเป็นเรื่องชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงมีความพยายามจากฝ่ายต่างๆ ที่จะทำให้ตนได้รับชัยชนะ บ้างอ้างความชอบธรรมจริยธรรม บ้างอ้างวิถีชีวิตตามครรลองของพื้นถิ่น บ้างอ้างศาสนาและไบเบิลที่ว่าแม้อดัมส์และอีฟยังมีศักดิ์ไม่เท่ากันเลย คือฝ่ายหญิงอยู่ในฐานะต่ำกว่า และบ้างก็อ้างว่าทำเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง

ความพยายามที่ว่านี้ยังหมายถึงการพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ด้วยหวังว่าผู้พิพากษาหนุ่มผู้มีอนาคตอีกยาวไกลจะตัดสินคดีนี้โดยให้โทษแก่ชาวแอฟริกันในข้อหาฆ่าคนขาว และ/หรือส่งเรือสินค้าทาสนี้กลับสเปน

การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้พิพากษาหนุ่มเห็นความทุกข์ที่ทาสเหล่านี้เผชิญและตัดสินความให้ทาสได้รับอิสระ ส่วนผู้ค้าทาสถูกคุมขังรับโทษ

คำตัดสินนี้ทำให้การเมืองขั้วใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง และอุทธรณ์เรื่องนี้สู่ศาลสูงสุดของอเมริกา มี นักการเมือง วุฒิสมาชิก ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ผู้ที่กำลังรับสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และอดีตประธานาธิบดีเข้ามาเกี่ยวข้อง

อดีตประธานาธิบดีคนที่ 6 ของอเมริกา คือ นาย John Quincy Adams (ดำรงตำแหน่งปี 1825-1829) เข้ามาช่วยว่าความให้จำเลย ท่านเป็นลูกชายของอดีตประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐอเมริกา John Adams ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบิดาผู้วางรากฐานจิตวิญญาณของอเมริกันชน และมีส่วนร่วมในการเขียนคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา Declaration of Independence เมื่อวันที่ 4 July ค.ศ. 1776 ร่วมกับ เบนจามิน แฟรงคลิน โรเบิร์ต ลิฟวิงสตัน โทมัส เจฟเฟอสัน และอีกกว่า 50 congressmen ที่ร่วมลงชื่อ

จอห์น ควินซี อดัมส์ ไม่เห็นด้วยกับการมีทาสอยู่แล้ว ท่านเคยให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจในการทำสงครามเพื่อหยุดยั้งการค้าและใช้แรงงานทาส (ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ผู้รับใช้ประเทศระหว่างปี 1861-1865)

ในภาพยนตร์ มีบทสนทนาสะกิดใจ กระตุกความคิดหลายตอน ซึ่งตอนที่จะยกมาคือ ตอนที่ท่านประธานาธิบดี อดัมส์พูดกับชายผิวดำชื่อ ซินเค

“เราจะไม่ได้ขึ้นศาลโดยลำพังหรอก” ซินเคพูด

อดีตประธานาธิบดีอดัมส์ ส่ายหัวพร้อมกล่าวว่า “ไม่หรอก เรามีสิทธิ และความถูกต้องอยู่ด้วยกับเรา”

“เปล่า ผมไม่ได้หมายความอย่างนั้น” ซินเคตอบ “ในยามวิกฤตคับขัน พวกเราชาวเมนเดจะเรียกหาวิญญาณเหล่าบรรพบุรุษให้มาช่วย ให้นำปัญญาญาณจากอดีตมากอบกู้สถานการณ์ในปัจจุบันอันมืดมน บรรพบุรุษต้องมาตามเสียงเรียกของผม เพราะว่า ในเวลาเช่นนี้ ผมคือเหตุผลทั้งหมดที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกท่านทั้งหลายเคยมีอยู่จริง”

คำพูดง่าย ๆ เช่นนี้ ทำให้อดัมส์เห็นทางที่จะพูดในศาลก่อนคำตัดสิน “ถ้าทาสเหล่านี้สมควรตาย เราจะทำอย่างไรกับเอกสารคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่บรรพชนร่วมกันร่างขึ้น ที่ว่า “All men are created equal...”

“ข้อเสนอแนะของผม ก็คือ" อดัมส์ฉีกกระดาษที่อยู่ในมือ หากเราทำลายจิตวิญญาณของบรรพชนที่ให้กำเนิดประเทศนี้ไปแล้ว นั่นก็เท่ากับพวกท่านไม่เคยดำรงอยู่เลย จิตวิญญาณที่สร้างชาติและความเป็นอเมริกันนั้นได้ถูกทำลายและไม่มีอยู่จริง
คำประกาศอิสรภาพของบิดาผู้วางรากฐานจิตวิญญาณประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกามีเนื้อความน่าสนใจ โดยขอยกตัวอย่างที่ประทับใจมากตอนหนึ่ง คือ

" ทุกคนเกิดมา เท่าเทียมกัน ต่างได้รับสิทธิ บางอย่าง ที่จะโอนให้แก่กันมิได้ สิทธิเหล่านี้ ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข และเพื่อที่จะให้ได้มา ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้ มนุษย์ จึงได้ตั้งรัฐบาลขึ้น และรัฐบาลนี้ ได้รับมอบอำนาจ จากความยินยอม ของผู้ที่อยู่ในปกครอง ของรัฐบาลนั้น

และเมื่อใด รูปการปกครองใด มุ่งทำลายหลักการสำคัญเหล่านี้แล้ว ประชาชน ก็มีสิทธิ ที่จะเปลี่ยนรัฐบาลนั้น หรือยุบเลิก รัฐบาลนั้นเสีย แล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทน ซึ่งวางรากฐาน อยู่บนหลักการ และจัดระเบียบ การใช้อำนาจ ตามรูปดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดผล ในการพิทักษ์ ความปลอดภัย และความผาสุก ของประชาชน"

อ่านถึงตรงนี้แล้ว ย้อนกลับมามองสภาพบ้านเมืองของเรา เรื่องที่เราถกเถียงกันในปัจจุบัน คือ อะไร รูปแบบการปกครอง หรือ จิตวิญญาณที่เป็นหัวใจในการปกครองบ้านเมือง

จิตวิญญาณอเมริกาคือสิทธิ เสรีภาพของทุกคน ซึ่งไม่ว่ากฎหมาย กฎระเบียบ วิถีชีวิต แม้แต่รัฐบาล ก็จะทำลายหรือละเมิดมิได้
จิตวิญญาณไม่ใช่บุคคล ระบบ โครงสร้าง แม้แต่รูปแบบใดๆ ของสังคม ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตวิญญาณ เป็นความจริงสากลที่มนุษย์โดยทั่วไปน่าจะปรารถนาและปฏิบัติได้ร่วมกัน

ประเทศอังกฤษยึดหลักจารีต ประเพณี สามัญสำนึกแบบอังกฤษ ๆ (conscience)

ประเทศเยอรมนีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยึดหลักศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์

แล้วจิตวิญญาณของเมืองไทย สยามประเทศ คืออะไร?

เพื่อนที่อยู่ในแดนอีสานคนหนึ่งแลกเปลี่ยนว่า “สมัยก่อนคนรุ่นปู่ย่าตาทวดอยู่ร่วมกันหลากเชื้อชาติ เมื่อมีคนจากต่างถิ่น เช่น ญวน ลาว เขมร มาในพื้นที่ เราก็แบ่งกันอยู่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นเพื่อนกัน ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย”

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี หรือเปล่าที่เป็นหัวใจของชนแถบนี้ หากจะลองใช้ศัพท์แสงแบบตะวันตก จะพอพูดได้ไหมว่า บรรพบุรุษของเราเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ?

การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สยามทำให้เห็นว่า อาณาจักรสยามนี้เปิดประตูรับคนต่างเชื้อชาติมากมาย จนกระทั่งความเป็นไทย หมายถึง ความหลากหลาย (melting pot)

คนสยามค่อนข้างใจกว้าง ยอมรับผู้อื่นได้ พร้อมเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ เล่นแร่แปรธาตุได้เสมอ มีความสามารถอย่างยิ่งในการหลอมรวม ผสมผสาน และประยุกต์ดัดแปลงสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับจริต ความคุ้นเคยของตน เห็นได้ชัดจากการดัดแปลงอาหารต่างๆให้มีเอกลักษณ์เป็นแบบฉบับของตน

จิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้อยู่ได้จนปัจจุบัน ยังมีอยู่หรือไม่

ในภาพยนตร์ อดีตประธานาธิบดี อดัมส์ ยังกล่าวต่อไปว่า บางทีการที่คนเราไม่หวนกลับไปรื้อฟื้นภูมิปัญญาในอดีต ไม่กลับไปสู่รากเหง้าของตนอาจเป็นเพราะความกลัวที่จะเผชิญกับความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว เราไม่ได้เก่งกาจอะไร แท้จริงแล้วเราคือผลสืบเนื่องของอดีต แท้จริงแล้วเราไม่ได้เป็นปัจเจกชนอย่างที่เราคิดและหวงแหน

“เราถูกทำให้เข้าใจ และยอมที่จะโอบกอกความเข้าใจนั้นว่า สิ่งที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ คือสิ่งที่เราเป็นมาแต่อดีต เราต้องการความเข้มแข็งจากบรรพชน ปัญญาที่จะช่วยเราก้าวข้ามความกลัวและอคติของตัวเอง โปรดให้พลังแก่เราที่จะกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และถ้าหากสิ่งนั้นหมายถึง สงครามกลางเมืองแล้วละก็ ขอให้มันมา และเมื่อสงครามกลางเมืองมาถึง ก็ขอให้มันเป็นการปฏิรูปครั้งสุดท้ายของอเมริกาเทิด” อดัมส์กล่าวถึง

ในที่สุด องค์คณะของศาลสูง 8 ใน 9 ก็ตัดสินให้ ส่งเรือสินค้าคืนสเปน หากแต่ชาวแอฟริกันมีศักด์ สิทธิ เสรีภาพความเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยม และเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง ว่า จะกลับบ้านที่แอฟริกาหรือไม่
ความขัดแย้งทางความคิดเรื่องทาส รวมกับเรื่องอื่น ๆ ระหว่างชาวเหนือและชาวใต้ก็ทวีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี 1861 สงครามกลางเมืองก็ระเบิดขึ้น ในช่วงสมัยประธานาธิบดี ลินคอล์น

สงครามกลางเมืองระหว่างเหนือและใต้จบลงเมื่อปี 1865 ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศอิสรภาพของทาส และ สถาปนาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในดินแดนอเมริกา แต่สงครามกลางเมืองนี้ก็ได้คร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 620,000 นาย และ พลเรือนได้รับบาดเจ็บอีกมาก ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การลอบสังหารประธานาธิบดี ลินคอล์น ในปีเดียวกันนั่นเอง

หวังว่าประวัติศาสตร์ของชาติหนึ่ง จะไม่เป็นอนาคตของอีกชาติหนึ่งที่อยู่ไกลกว่าครึ่งโลก แต่ก็นั่นแหละกิเลสที่ครองใจคนเหมือนกันทุกชาติ ดำรงอยู่ทุกสมัย เหตุการณ์เดิม ๆ ในประวัติศาสตร์สามารถซ้ำรอย ซ้ำซากได้เสมอ จนกว่าเราจะเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจ

บางทีหนึ่งในหนทางที่เราจะเปลี่ยนจิตใจได้ คือ การกลับไปมองอดีต เรียนรู้จากความผิดพลาด ค้นหารากเหง้าของตน เรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายอย่างที่บรรพบุรุษเราอยู่กันมา

บางทีหากเรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่า เราเป็นใคร แก่นแกนคุณค่าความเป็นเราอยู่ที่ตรงไหน เราอาจจะเห็นความจริงมากขึ้น เห็นทางเดินของชีวิตได้ดีขึ้น

บรรพบุรุษฟากหนึ่งของผู้เขียนเป็นคนจีนล่องเรือมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ อีกฟากเป็นแขกอินเดียอิสลามที่อาศัยในอยุธยา อีกส่วนถือได้ว่าเป็นคนสยาม และชาวเล นี่เพียงแค่สาวบรรพบุรุษในรุ่นรัตนโกสินทร์ตอนต้นค่อนกลาง จะมีเชื้อชาติอื่นที่อยู่ในยีนอีกไหมไม่รู้ อาจด้วยเหตุนี้กระมัง คำเชิงดูหมิ่นว่า “เจ๊ก” หรือวลี “ตีแขกก่อนตีงู” จึงไม่เคยหลุดจากปากเราเลย

จริง ๆ แล้วเราใกล้กันกว่าที่คิด เป็นมิตรกันมากกว่าศัตรู

What is your story? Who are you? Let’s talk about it and share.

หมายเหตุ หากใครสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีจำหน่ายทั่วไป น่าประทับใจมาก ส่วนถ้าไม่มีเวลามากพอ สามารถเลือกฟังคำพูดน่าประทับใจของ ประธานาธิบดี ควินซี อดัมส์ได้จาก www.youtube.com โดยพิมพ์คำว่า Amistad

วันอังคาร, กันยายน 09, 2551

การวาดภาพแบบทิเบตเพื่อสมาธิอย่างผ่อนคลาย

ภาพพระโพธิสัตว์ปางต่าง ๆ ที่ปรากฏบนทังกา ผ้าปักหรือพิมพ์ที่มีสีสันสดใส ลวดลายแปลกตาทำให้เรารู้สึกมานานว่าอยากจะวาดรูปต่างๆเหล่านั้นให้ได้บ้าง ยิ่งเมื่อมูลนิธิพันดาราจัดบรรยายเรื่องความหมายและสัญลักษณ์บนทังกานั้น เรายิ่งให้รู้สึกทึ่งในทุกสีสัน ภาพและองค์ประกอบที่ปราชญ์โบราณสรรสร้างบนงานพุทธศิลป์นี้ ทุกสิ่งล้วนมีความหมายเพื่อให้จิตระลึกถึงพุทธธรรม และพุทธคุณ


วันนี้เป็นโอกาสดียิ่งที่ มูลนิธิพันดารา โดย อ. ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะทิเบตจะจัดการอบรม การวาดภาพทังกาแบบทิเบต ให้กับผู้สนใจทั่วไป


การอบรมนี้ จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2551 เวลา 9.00-16.00 น. ที่บ้านมูลนิธิพันดารา เลขที่ 695 ซอยลาดพร้าว 11 (บ้านสีเหลือง หลังสุดท้ายของซอย มีประตูรั้วสีขาวกั้นอยู่)


ค่าอบรม: 700 บาท รวมอาหารว่าง อาหารกลางวัน และวัสดุในการวาดภาพ


การวาดภาพเป็นการรวมสมาธิอย่างหนึ่ง การวาดภาพเพื่อสมาธิอย่างผ่อนคลายจึงเป็นการประสานการวาดภาพ การฝึกสมาธิ และการผ่อนคลายไปพร้อมกัน


การอบรมนี้ไม่ได้เน้นว่าผลงานที่วาดนั้นจะต้องถูกต้องตามแบบแผน ไม่มีการประเมินถึงความสวย เพียงวาดด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นการเจริญสติอย่างหนึ่ง


ดังนั้น ผู้เข้าอบรมจึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางการวาดภาพ ขอเพียงมีคุณสมบัติแห่งการเรียนรู้และจิตที่เปิดกว้าง


การวาดภาพและสมาธิ

ศิลปินผู้วาดภาพพระพุทธเจ้า ไม่อาจจะวาดได้โดยการคัดลอก หรือเพียงทำตามรูปแบบภายนอกหรือแม้ว่าจะกระทำเช่นนั้นได้ ก็ไม่อาจแสดงภาวะของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งได้ เพราะรูปแบบ เป็นเพียงการพัฒนาของศิลปะต่างๆ ตามท้องถิ่น แต่สาระภายใน คือคุณลักษณะของความเป็นพระพุทธเจ้า พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ เป็นสิ่งสำคัญที่ศิลปินต้องสื่อออกมา


ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถแสดงภาวะของพระพุทธเจ้าได้ในภาพวาด ศิลปินจึงมีวิธีการต่างกันไปตามแต่ประเพณี เช่น ศิลปินญี่ปุ่นใช้การทำสมาธิปล่อยวางจากความยึดมั่นทั้งปวง ศิลปินทิเบตใช้การตรึกภาพพระพุทธเจ้าหรือ พระโพธิสัตว์องค์นั้น เป็นต้น


เนื้อหาการอบรม

วาดแบบทิเบต: การประยุกต์การวาดภาพให้สัมพันธ์กับสมาธิและการตั้งนิมิต

วาดแบบอิสระ: การวาดด้วยความปล่อยวาง ไร้ความคาดหวังในผล


สนใจติดต่อ คุณวรวรรณา เพ็ชรกิจ 1000tara@gmail.com

อาจารย์ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา โทร 081 7200 645 โทรสาร 02 528 5308



คำขอบิณฑบาตอาวุธและความรุนแรง

ด้วยขณะนี้สังคมไทยบางส่วนกำลังมีความขัดแย้งอย่างหนักถึงขั้นเผชิญหน้ากัน และเริ่มมีการใช้ความรุนแรงต่อกันจนมีการสูญเสียชีวิตบ้างแล้ว ในสภาพที่ต่างฝ่ายต่างยืนกรานในข้อเรียกร้องของตน ไม่ยอมโอนอ่อนเข้าหากัน การแยกข้างแบ่งขั้วจึงมีแนวโน้มที่จะลุกลามขยายตัวเป็นความรุนแรงรอบใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายยิ่งกว่าเดิม หากถึงจุดนั้นเมื่อใดความหายนะอย่างใหญ่หลวงก็จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยทั้งประเทศอย่างยากจะเยียวยาได้ และจะกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจของคนทั้งชาติไปชั่วกาลนาน


ในยามที่ความขัดแย้งยังไม่มีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และยังไม่มีฝ่ายใดยอมหันหน้าเข้าหากัน อย่างน้อยมีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายน่าจะทำได้และน่าจะเห็นพ้องต้องกัน ได้แก่การจำกัดขอบเขตความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามจนถึงขั้นใช้กำลังต่อกัน เพราะหากเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย รวมทั้งประเทศชาติอันเป็นที่รักของทุกคน ด้วยเหตุนี้พวกเราในฐานะบรรพชิตที่ปรารถนาให้สันติสุขเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย จึงขอบิณฑบาตต่อทุกฝ่ายโปรดงดใช้ความรุนแรง รวมทั้งพยายามป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นจากฝ่ายของตนทั้งโดยวาจาและการกระทำ อันเป็นข้อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์


มาตรการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ ก็คือการไม่มีอาวุธหรืออุปกรณ์ที่ใช้เป็นอาวุธได้อยู่ในครอบครอง แม้ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลว่าเพื่อป้องกันตัวเองก็ตาม แต่การที่แต่ละฝ่ายมีอาวุธอยู่ในมือย่อมก่อความระแวงให้อีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ต้องหาอาวุธมาไว้ป้องกันตนเองบ้าง ยิ่งสะสมมากเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันให้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพวกเราจึงขอบิณฑบาตอาวุธจากทุกฝ่ายด้วย หากแต่ละฝ่ายแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าฝ่ายของตนปลอดอาวุธอย่างสิ้นเชิง ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธี อันเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการเห็น


ความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาได้ มีแต่จะสร้างปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ทุกฝ่ายมีความอดกลั้นต่ออารมณ์ ไม่ลุแก่โทสะ อย่าปล่อยให้ความโกรธ ความเกลียด และความกลัวครอบงำใจจนเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่ต้องทำร้ายให้พินาศ พึงมีเมตตาและปรองดองต่อกันโดยระลึกเสมอว่าคนไทยทุกคนล้วนเป็นพี่น้องภายใต้พระบรมโพธิสมภารเดียวกัน

พระศรีญาณโสภณ

พระไพศาล วิสาโล

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

๙ กันยายน ๒๕๕๑

องค์กรร่วมสนับสนุน : องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, ยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก,

พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย, ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, เสถียรธรรมสถาน,

สถาบันวิมุตตยาลัย, เครือข่ายพุทธิกา



วันศุกร์, กันยายน 05, 2551

ตัวตนสลาย พึ่งได้ในธรรมะ


พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ... วินัย ที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้น ๆ แล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย”

หากใคร่ครวญพุทธพจน์นี้ให้ดี จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ยึดติดกับตัวบุคคล ผู้ซึ่งแม้จะมีธรรมสูงส่งเพียงใดก็มีอันต้องเสื่อมสลายดับไปทั้งสิ้น

สิ่งที่เราทั้งหลายควรใช้เป็นหลักยึดในการประคองชีวิตที่ดีนั้น คือ หลักธรรม หลักจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งเป็นสากล ไร้กาละและเทศะ หากเราสามารคถือหลักที่ดีได้ แม้บุคคลใดจะผ่านมาและผ่านไป หลักที่ดีนั้นก็จะยังช่วยเราให้มีชีวิตที่ถูกที่งาม ดังเช่นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วนั้น ยังคงช่วยเหลือผู้คนมากมายกว่า 2500 ปี และแผ่ขยายไปทั่วโลก

หากท่านให้ยึดถือในตัวพระพุทธองค์ ธรรมคงสูญสลายไปด้วยภายหลังการปรินิพพานของพระองค์

ที่ยกเรื่องนี้มาเปิดประเด็นชวนคุย เพราะเห็นว่าบางทีพวกเราอาจจะยึดติด หลงใหลในบุคคลที่เป็นที่น่าเคารพ ศรัทธา และบูชา จนเราผูกใจไว้กับบุคคลมากกว่าผูกกับธรรมะที่อยู่ในเนื้อในตัวของคนผู้นั้น ละเลยที่จะน้อมนำเอาธรรมมาปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์แก่ใจของตนเอง

พระพุทธองค์ไม่สรรเสริญความรักและการเคารพบูชาเช่นนี้

หนทางอันประเสริฐ คือ รักและเคารพใครก็ให้ปฏิบัติบูชา ทำความดีเอาเยี่ยงท่านอย่างเธอ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่ดีงาม หากรักและเคารพได้เช่นนี้ บุคคลที่เราเคารพบูชาก็จะอยู่ในกาย ในใจเราตลอดไป ไม่ว่าชีวิตของเขาจะยังมีลมหายใจอยู่หรือไม่มีแล้วก็ตาม

บรรพบุรุษของชนชาวสยามรุ่นแล้วรุ่นเล่า ได้ฝากธรรม และ จิตวิญญาณใดไว้ให้ลูกหลาน เรามองย้อนดูบ้างหรือไม่
และเรา...บรรพบุรุษของลูกหลานในอนาคต จะส่งต่อธรรมและจิตวิญญาณเช่นไรให้กับพวกเขา ได้มีชีวิตและระลึกถึง


กรรณจริยา สุขรุ่ง