วันอังคาร, พฤศจิกายน 04, 2551

มิตรภาพแห่งป่าสีเสียด

ถึงขทิรวรรณแล้ว นั่งและนอนมา 3 ชั่วโมง เหนื่อยจัง ขอพักร้อน นั่งกินก่อนทำงาน
พ่อเอก แม่เก๋ กินอาหารไม่ลืมที่จะเผื่อลูก แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่พ่อกินเกี่ยวอะไรกับลูกในท้องแม่ด้วยนะเนี่ย
พี่หน่อย หมวกส้ม กำลังขนถ่าย (ดูท่านั่ง แล้วจะรู้ว่า หนักหรือเบา) กล้าไม้สีเสียดลงมา อุ๊ได้สัมผัสรู้จักกับต้นสีเสียดครั้งแรก
ปิ่น จ๋า และเพื่อน ๆ พากันเรียงแถว ลำเลียงกล้าไม้จากรถกระบะ ลงมาวาง พร้อมปลูก เย้

นุ่นภาคสนาม กับกล้าต้นสีเสียด เธอเดินลำเลียงกล้าไปให้เพื่อน ๆ ปลูกกัน
เอก กำลังขุดดิน ลงกล้าไม้อย่างขมีขมัน ไม่กลัวความร้อน โดยมีเก๋ ภรรยาแสนน่ารักและลูกน้อยในท้องคุ้มหัวและเป็นกำลังใจให้
3 ออ ท้าแดด อุ๋ย ออม (น้องอุ๊) และ อลีน กำลังปลูกต้นไม้กันอย่างเบิกบาน

มุมพระสถูปมนต์ ถ่ายเรือนรับรองหลังคาแดง ที่เอกกับเก๋ และพี่หน่อยก้างขวางคอ เข้าพำนัก

ในตอนสาย หลังจากทำสมาธิ สวดมนต์แล้ว เราได้รับแจกธงมนต์คนละผืนให้ร่วมกันผูกรอบสถูปมนต์ ธงมนต์นี้ให้ความร่วมเย็นกับเรามาตลอดช่วงเวลาพำนัก

อากาศข้างนอกอาจจะร้อน แต่หลายคนแปลกใจว่าเมื่ออยู่ในร่มของธงมนต์ กลับได้รับความเย็นสบายอย่างประหลาด สายลมที่พัดทำให้ธงโบกสะบัด เกิดท่วงทำนองอันไพเราะ พาจิตให้เป็นสมาธิได้ง่าย เงาของธงที่ปลิวไหวทอดลงบนพื้นเสื่อที่นั่ง เกิดเป็นริ้วภาพ พาให้เห็นใจที่ขยับตามแรงลม

ก้าวย่างของมิตรภาพ
ขอให้มิตรภาพยั่งยืน ดั่งไม้ยืนต้น
ขอให้มิตรภาพให้ร่มเงา แก่ใจเพื่อน
ขอให้มิตรภาพงอกงาม ดั่งขทิร ที่จะเติบโต
(ใครแต่งกลอนได้ดีกว่านี้ เชิญจ๊ะ)

ดูภาพและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ http://krisadawan.wordpress.com

อุ๊

มิตรภาพแห่งป่าสีเสียด

โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง


ภาพ: ด้วยรอยยิ้มท้าแดด
พวกเรายืนถือธงมนตร์พร้อมผูกร่วมกันทำพระสถูป








เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 1-2 พฤศจิกายน พวกเรา 11 คน ชาวแฮปปี้มีเดีย ได้ไปร่วมกฐินปลูกป่าที่ขทิรวรรณ หัวหิน ของมูลนิธิพันดารา

สำหรับเราแล้ว กิจกรรม 2 วัน 1 คืน มีความหมาย คุณค่าสำหรับตัวเอง และสำหรับมิตรภาพรวมหมู่ของพวกเราอย่างยิ่ง

ความทรงจำรายละเอียดของเราพร่าเลือน สิ่งที่ตราตรึงใจกลับไม่ใช่รายละเอียดของเหตุการณ์ ลำดับความที่เกิดขึ้น หากแต่เป็นความรู้สึก ความหมาย คุณค่า และความประทับใจในเรื่องราว ผู้คนที่พบเจอ จึงขอเล่าความรู้สึก ความประทับใจที่มี

เราตื่นเต้นนับแต่วันที่รู้ว่าจิ๊กรับเป็นแม่งานการปลูกป่าที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้
ความตื่นเต้นมีเหตุมาจากความเชื่อที่ว่า การปลูกต้นไม้ เป็น การทำบุญใหญ่ บุญในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบุญที่จะตักตวง สะสมกันเอาไว้ทวงถามหลังความตาย หรือชาติภาพหน้า แต่เป็นบุญที่จะเบิกบานงอกงามในใจเราในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นบุญที่ทำให้ยิ้มได้เรื่อยๆ พร้อมๆ กับต้นไม้ที่จะเติบโต

ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ การให้ชีวิต การปลูกและหล่อเลี้ยงชีวิต มันเป็นความรู้สึกที่วิเศษ
ในยามที่เราขุดดิน ลงต้นไม้ เรานึกด้วยว่ากำลังเป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ และทุกชีวิต ร่วมกันปลูกความดีงามบนพื้นโลก และเราจะได้รับประโยชน์สุขนี้ร่วมกัน

ลองคิดดูสิว่า ต้นไม้ยืนต้นมีอายุนานเท่าไร ระหว่างช่วงอายุของเขานั้น ต้นไม้จะทำคุณประโยชน์ให้โลก และสรรพชีวิตมากเพียงไร และประโยชน์ที่ต้นไม้จะรังสรรค์นั้นไม่แบ่งแยก ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง คาร์บอนไดออกไซด์ที่แปรรูปเป็นออกซิเจนก็จะขจรกระจายให้แก่สรรพสัตว์และมนุษย์ อากาศอันร่มเย็นก็ให้แก่ทุกอย่างที่ขอมาพักพิงอาศัย ไม่ว่าจะคนดี คนยังไม่ดีนัก

ยิ่งพอได้ทราบว่าต้นสีเสียด มีฤทธิ์และสรรพคุณทางยา ก็ยิ่งพาให้ใจเบิกบาน ตามพุทธตำนาน เล่าขานว่า พระพุทธองค์เสด็จมาที่ป่าสีเสียด แล้วพระอาการประชวรทุเลา อันนี้หมายความว่า แม้จะไม่ได้กิน การที่อยู่ในบรรยากาศของป่าสีเสียด ก็สามารถเยียวยาทุกข์ทางกายและทางใจได้

ด้วยความงดงามของต้นไม้นี้ ทำให้เรารู้สึกดีที่จะได้ปลูกต้นขทิรบนพื้นที่ที่เราเห็นว่าเป็นเนื้อนาบุญด้วย ดังที่อาจารย์กฤษดาวรรณ ตั้งใจให้ ขทิรวรรณ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ปลีกวิวเกของเหล่าศาสนิกชนทุกความเชื่อมาใช้ในการแสวงหาความสงบ สันติภาพในใจ เราจึงเห็นว่าการที่เราทุกคนมาร่วมกันปลูกต้นไม้ อย่างที่ทำไปแล้ว นับว่าจะให้คุณประโยชน์แก่คนทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นี่เอง ที่เราว่าเป็นบุญ คือ การนึกถึงผู้อื่น การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นโดยรวม
โดยเฉพาะเพื่อนๆ ทุกคนทำงานกันอย่างแข็งขัน ท้าแดด และความเหนื่อยยาก เราได้เห็นพลังของความตั้งใจ ความรัก เอื้ออาทร และมิตรภาพ เราไม่ได้เพียงปลูกต้นไม้ เรากำลังปลูกกล้าแห่งธรรมลงไปในใจของเราด้วย เรากำลังปลูกต้นรักและมิตรภาพลงไปในใจของเราด้วย
เราเชื่อมั่นว่า กล้าไม้แห่งคุณงามความดีนี้จะปกป้องคุ้มครอง ดูแลตาน้ำแห่งความสุข สงบ สันติ ให้กับเพื่อน ๆทุกคน

ยามใดที่เห็นต้นไม้ เห็นต้นไม้ที่เราร่วมกันปลูก ภาวนาให้ต้นไม้งอกงาม เป็นที่พึ่งพิง พักผ่อนแก่คนทั้งหลาย
และถ้ามีโอกาส เราต้องหาโอกาสปลูกต้นไม้ให้งอกงามให้มากที่สุด
ต้นไม้ทีพลังเยียวยากาย และ ใจ
ต้นไม้นำพาความร่มรื่นทั้งกาย และ ใจ
ต้นไม้คือสิ่งที่โลกกำลังต้องการ
หากเราคิดจะทำบุญ ลงมือปลูกต้นไม้กันเถอะ ในบ้านของเรา และทุกที่ที่เราอยู่ หากเห็นต้นไม้สาธารณะกำลังเหี่ยวแห้งเฉา ขอยื่นมือเข้าไปหล่อเลี้ยงชีวิตอันประเสริฐนั้นด้วย

วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11180 มติชนรายวัน
ก่อนพุทธศาสนาอายุครบ 26 ศตวรรษ
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
โดย พระไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา http://budnet.info

พุทธศาสนากำลังได้รับความนิยมอย่างมากในซีกโลกตะวันตก ในสหรัฐอเมริกา พุทธศาสนาจัดว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในหมู่คนพื้นเมืองผิวขาว โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาชั้นสูง (ผิดกับแต่ก่อนที่การขยายตัวของพุทธศาสนาเกิดจากการอพยพของคนเอเชีย) สมาธิภาวนาแบบพุทธได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไม่จำเพาะในหมู่ชาวพุทธ หากยังขยายไปสู่แวดวงอื่นๆ รวมทั้งแวดวงการแพทย์และจิตเวช จนคำว่า "วิปัสสนา" กลายเป็นคำที่คุ้นปากผู้คน ร้านหนังสือชั้นนำทุกแห่งทั่วประเทศต้องมีชั้นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาวางขายโดยเฉพาะ และหลายเล่มเป็นหนังสือขายดี

ในเวลาเดียวกัน แนวคิดทางพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมก็ได้รับความสนใจจากคนในวงการต่างๆ มากขึ้น ในฐานะที่อาจเป็นคำตอบให้แก่โลกทางด้านนิเวศวิทยาและสันติภาพ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความรุ่มรวยลุ่มลึกให้แก่องค์ความรู้ในหลายสาขาทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ จิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์ ดังเห็นได้จากการเสวนาวิสาสะระหว่างชาวพุทธชั้นนำกับนักคิดในวงการและสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างคึกคักตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้มีแนวโน้มขยายตัวแต่ในที่สุดก็อาจจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงส่วนน้อยของชาวพุทธ อาทิ ในหมู่ชนชั้นนำหรือผู้มีการศึกษา จนกลายเป็นรูปแบบการใช้ชีวิต หรือ "ไลฟ์สไตล์" ของคนเฉพาะกลุ่ม (ดังโยคะซึ่งเป็นที่นิยมจนแทบจะกลายเป็น "แฟชั่น" ในหมู่ชนชั้นกลางหรือผู้มีอันจะกินที่มีการศึกษา) อย่างดีก็ทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของคนที่ต้องการหลุดพ้นเฉพาะตน ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้เช่นกันว่าพุทธศาสนากระแสใหม่ซึ่งแพร่หลายในกลุ่มคนเหล่านี้จะหดแคบเรียวลงจนเป็นแค่เทคนิคจิตบำบัดหรือวิธีการผ่อนคลายจิตใจอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น ในกรณีเช่นนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงภาพสะท้อนการแปรเปลี่ยนพุทธศาสนาให้เป็นสินค้าเพื่อการบริโภคอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น มิพักต้องกล่าวว่าแนวคิดใหม่ๆ ที่พุทธศาสนาจะให้แก่โลกนั้น ในที่สุดก็อาจเป็นเพียงแค่ประเด็นสำหรับการถกเถียงทางวิชาการหรือกลายเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่จำเพาะผู้คนในแวดวงมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่สนใจ

จะข้ามพ้นจากกับดักดังกล่าวไปได้ การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับโลกสมัยใหม่และวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างรู้เท่าทัน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวพุทธ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรพอใจกับการอ้าแขนต้อนรับของวงการต่างๆ โดยยอมให้มีการนำเอาบางแง่บางด้านไปใช้ประโยชน์ แต่ละทิ้งสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา (ได้แก่ การลดความเห็นแก่ตัวจนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน) เพราะนั่นอาจกลายเป็นการยอมตนให้ถูกกลืนอีกแบบหนึ่ง แต่ชาวพุทธควรก้าวไปมากกว่านั้น นั่นคือ พยายามผลักดันให้แนวโน้มด้านบวกต่างๆ ที่กล่าวมาขยายตัวในทุกปริมณฑลและผสานเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนจนกลายเป็น "วัฒนธรรม" เราอาจเรียกวัฒนธรรมดังกล่าวว่า "วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้" กล่าวคือ เป็นไปเพื่อการตื่นจากความหลงในวัตถุนิยม และจากความยึดติดถือมั่นในเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว อันนำไปสู่การเบียดเบียนทำร้ายกัน

ในยามที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตจนใกล้ลุกเป็นไฟ (ทั้งด้วยเพลิงสงครามและปรากฏการณ์โลกร้อน) อันเป็นผลจากวัฒนธรรมหลัก ๒ กระแส คือ วัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียด โดยมีกระแสโลกาภิวัตน์เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและกระตุ้นเร้า วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะ "ช่วยโลก" ให้ปลอดพ้นจากวิกฤตการณ์ได้อย่างแท้จริง ทั้งโดยการทัดทานถ่วงดุลวัฒนธรรม 2 กระแสดังกล่าว และด้วยการเสนอทางเลือกของชีวิตและสังคมที่ดีกว่า

ไม่ใช่แต่อนาคตของโลกเท่านั้น แต่รวมถึงอนาคตของพุทธศาสนาด้วย ล้วนขึ้นอยู่กับว่าพุทธศาสนาจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ได้หรือไม่ เป็นที่ยอมรับกันว่า พุทธศาสนาเป็นระบบการปฏิบัติที่ช่วยให้บุคคลเกิดความตื่นรู้จนเป็นอิสระจากความทุกข์ แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านหนึ่งของพุทธศาสนา หากการนำพาบุคคลให้รู้จักมองตนจนประจักษ์แจ้งในสัจธรรม เป็นมิติด้านลึกของพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็ยังมีมิติหนึ่งคือมิติด้านกว้าง ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือมหาชนให้พ้นทุกข์และเกื้อกูลสังคมให้เกิดสันติสุข คำสอนทางพุทธศาสนาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อชักนำผู้คนให้เข้าถึงปรมัตถธรรมเท่านั้น หากยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุข วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากชาวพุทธมุ่งแต่ความหลุดพ้นเฉพาะตน หากจำต้องออกไปสร้างสรรค์สังคมเพื่อให้เกื้อกูลต่อความตื่นรู้ของผู้คนในวงกว้างด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ลำพังจิตที่ตื่นรู้เฉพาะตนนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องขยายผลให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ด้วย

ทุกวันนี้พุทธศาสนาถูกตีความให้แคบจนเหลือแต่ด้านเดียวคือมิติด้านลึก (หรือยิ่งกว่านั้นคือเหลือแต่เพียงประเพณีพิธีกรรม ซึ่งเป็นความตื้นอย่างยิ่ง) การตีความเช่นนั้นเป็นการตีกรอบพุทธศาสนาให้มีบทบาทแคบลง คือไม่สนใจชะตากรรมของสังคม การจำกัดตัวเช่นนี้นอกจากจะทำให้วัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดเฟื่องฟูและซึมลึกแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อพุทธศาสนาเอง เพราะสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดนั้น ย่อมบั่นทอนพลังของพุทธศาสนาเอง และทำให้พื้นที่ในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธแคบลง จนแม้แต่การรักษาตนให้มีคุณธรรมก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น ดังทุกวันนี้ผู้คนพบว่าตนยากที่จะครองตนให้มีความซื่อสัตย์สุจริตได้ในเวลาทำงาน เพียงแค่อยู่บนท้องถนนก็ยากจะมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นได้ แต่ต้องเห็นแก่ตัวจึงจะอยู่รอดได้ กลายเป็นว่าจะเป็นคนดีได้ก็เฉพาะเวลาอยู่ในบ้านเท่านั้น และนับวันการทำความดีหรือมีน้ำใจแม้แต่ในบ้านก็เป็นเรื่องยาก เพราะต่างแสวงหาประโยชน์จากกันและกัน การเอาเปรียบและใช้ความรุนแรงในบ้านจึงมีแนวโน้มมากขึ้น สิ่งที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เตือนไว้เกือบ 3 ทศวรรษมาแล้ว จึงใกล้จะเป็นความจริงขึ้นทุกที กล่าวคือ ชาวพุทธกำลังอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นไปเรื่อยๆ "เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชาวมนุษย์อื่น" และต่อไปอาจถึงขั้นว่า "การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย"

การเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จนกลายเป็นวิถีชีวิตของมหาชน จะทำให้พุทธศาสนาพ้นจากการเป็นวิถีปฏิบัติของคนเฉพาะกลุ่มที่มุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน (โดยกระจุกตัวอยู่ในวัดป่าหรือสำนักปฏิบัติต่างๆ) และมีความหมายต่อผู้คนทุกหมู่เหล่า เปรียบเสมือนสระน้ำอันกว้างใหญ่ที่คนทุกประเภทได้ใช้สอย ไม่จำเพาะนักปฏิบัติธรรมหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากลำพังของพุทธคาสนาเอง แต่จำเป็นต้องร่วมมือกับขบวนการอื่นๆ ที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมให้เกิดสันติสุขในด้านต่างๆ เช่น ขบวนการสิ่งแวดล้อม ขบวนการสันติภาพ ขบวนการพัฒนา ตลอดจนองค์กรศาสนาอื่นๆ ที่มีจุดร่วมคล้ายกัน โดยเฉพาะที่เห็นโทษภัยของบริโภคนิยม และอุดมการณ์ที่ปลุกให้เกิดความโกรธเกลียดไม่ว่าด้วยสาเหตุทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว

พุทธศาสนาแม้จะมีจุดเด่นในด้านวิถีแห่งการปฏิบัติเพื่อความตื่นรู้เฉพาะตนซึ่งใช้ได้กับผู้คนทุกยุคทุกสมัยเพราะธรรมชาติของคนนั้นเป็นสากล แต่ในด้านการสร้างสรรค์สังคมนั้น พุทธศาสนามีข้อจำกัดตรงที่มีเพียงหลักการกว้างๆ สำหรับการจัดวางสังคมที่ดีงาม แต่ไม่มีคำตอบหรือวิถีทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสำหรับการแก้ปัญหาของสังคมยุคปัจจุบัน (หรือยุคใดก็ตาม) เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น ในการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ไปทั่วทั้งสังคมนั้น จึงต้องร่วมมือขบวนการทางสังคมเหล่านี้ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มียุทธศาสตร์ทางสังคมและการเมืองที่ชัดเจนและสอดคล้องกับบริบททางสังคมมากกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่พุทธศาสนาจะช่วยได้ก็คือการเสริมสร้างมิติทางจิตวิญญาณให้แก่ขบวนการเหล่านี้ เพื่อให้เป็นขบวนการที่ไม่เพียงมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมเท่านั้น หากมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในด้วย นอกจากการมุ่งช่วยให้ผู้คนเป็นอิสระจากการเอารัดเอาเปรียบและการบีบคั้นทางสังคมแล้ว ยังมุ่งให้ผู้คนเป็นอิสระจากความบีบคั้นของกิเลส ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ทั้งปวง หาไม่แล้วการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจลงเอยด้วยการเปลี่ยนกลุ่มคนและรูปแบบการเอารัดเอาเปรียบกันเท่านั้น

ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเสรีภาพจากความบีบคั้นทางสังคม (รวมทั้งจากการเอาเปรียบผ่านกลไกทางเศรษฐกิจและการเมือง) พุทธศาสนาจะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อนำเอาจุดเน้นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาควบคู่กับเสรีภาพจากความทุกข์ภายใน การเน้นเสรีภาพทั้งสองมิติ คือ เสรีภาพทางจิตวิญญาณ และเสรีภาพทางสังคม จะทำให้พุทธศาสนากลับมามีพลังและเป็นความหวังของโลกได้

จะทำเช่นนั้นได้ พุทธศาสนาต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูมิติทางจิตวิญญาณที่เลือนหายไปให้กลับมามีพลัง โดยไม่ติดยึดกับประเพณีหรือค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงปรมัตถธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องออกมาสัมพันธ์กับโลกให้มากขึ้น เปิดมิติทางสังคมให้กว้าง เพื่อลดทอนความทุกข์ของผู้คน นอกจากการฟื้นฟูในทางหลักธรรมแล้ว การปฏิรูปสถาบันก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในสภาพที่คณะสงฆ์นับวันจะเสื่อมถอยและปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การผลักดันจากภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามความสำคัญได้ ขณะเดียวกันก็จำต้องคิดถึงการสร้างชุมชนแห่งความตื่นรู้ชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากคณะสงฆ์หรือวัดด้วย ความตื่นตัวของชาวพุทธที่อยู่นอกวัดหรือไม่อิงกับวัด และเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยก็ได้

ปี 2555 พุทธศาสนาจะมีอายุครบ 26 ศตวรรษ (หากเริ่มนับตั้งแต่ปฐมเทศนา หรือ ๔๕ ปีก่อนพุทธปรินิพพาน) พุทธศาสนาจะยังมีชีวิตชีวาและพลังในการปลุกความตื่นรู้ให้แก่สังคมไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าสามารถปรับตัวไปในทิศทางที่กล่าวข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด หากการปรับตัวดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ ก็น่าเป็นห่วงว่าพุทธศาสนาไทยในศตวรรษที่ 27 จะเป็นได้อย่างมากเพียงแค่ร่างทรงของบริโภคนิยมและวัตถุนิยมเท่านั้น