วันอังคาร, มกราคม 29, 2551

ชีวิตไม่มีขาด “ทุน”


ชีวิตช่วงนี้ของดิฉันกำลังหมุนเวียนรอบ โลกแห่งทุน

ดิฉันมักได้ยินเรื่องราว คำรำพึงรำพันเรื่องนี้จากหลายคน ซึ่งบ่อยครั้งก็สะท้อนออกมาในเนื้อข่าว เช่น จะทำอะไรก็ต้องเริ่มต้นที่ทุน

คนที่อยากทำโครงการดีๆบ่นว่า หาผู้สนับสนุนไม่ได้หรือไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดดีๆ เพื่อสังคมเกิดขึ้น แล้วก็มักลงเอยด้วยการนั่งทับโครงการดีๆ รอคอยให้ทุนมาหล่นทับเอง

หากจำกันได้ เคยมีข่าวเรื่องการจะซ่อมแซมโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งคนใจบุญหัวแหลมได้ความคิดที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อระดมทุน แต่พอไม่มีเงินเข้ามา ผลกระทบจึงตกมาที่นักเรียนและโรงเรียนที่จำต้องเฝ้ารออย่างไร้จุดหมาย ข่าวนี้ชวนให้ดิฉันสงสัยว่า ฤาจะมี ทุน ในลักษณะอื่นอีกไหมที่พอจะช่วยเหลือโรงเรียนแห่งนี้ได้

ที่จริง หากเรามองเห็นทุนเพียงมิติของเงินตรา ทรัพย์สินและสิ่งของ บ้านและที่ดิน เรื่อยไปจนถึงจำนวนหุ้นที่ตีมูลค่าเป็นราคาและค่าเงินได้ ชีวิตของเรานี้ดูช่างขาดแคลนนัก

คนเบี้ยน้อยอย่างดิฉันจึงต้องดิ้นรนแสวงหาความหมายของ ทุน ในมิติอื่นๆ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าชีวิตมี สภาพคล่อง ขึ้นมาบ้าง

เรามี ทุน อะไรบ้างในชีวิต?

(1)

ทุนแรกที่นึกถึงคือ ทุนทางกาย เราทุกคนมีทุนประเดิมนี้ในการตั้งต้นชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น และหากเรายังคงหายใจอยู่เราก็สามารถใช้ทุนนี้ในการดำเนินชีวิต ทำงาน และสร้างทุนอื่นๆ ให้แก่ตัวเองได้เสมอ

ผู้ที่มีรูปเป็นทรัพย์ย่อมตระหนักถึงทุนนัยยะนี้เป็นอย่างดี

ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาที่ยุคสมัยให้คุณค่าว่าสวยงาม เขาและเธอเหล่านี้ใช้รูปกายเป็นต้นทุนในการแสวงหาทรัพย์สิน ความร่ำรวย และชื่อเสียง ซึ่งความงามเพียงร่างกายนี้มีวันหมดอายุตามสภาพการใช้งานและวัย

เราจึงเห็นดาราจำนวนหนึ่งยอมเสียเงิน ทรมานร่างกายเพื่อประคองความงามนี้ให้ยาวนานที่สุด

แรงกายก็เป็นทุนที่หาทรัพย์ได้มากโดยเฉพาะในยุคนี้ที่การกีฬากลายเป็นเรื่องการค้า

นักกีฬาหลายคนเป็นเศรษฐี เช่น นักค้าแข้ง นักหวดลูกสักหลาด และนักมวย ในขณะที่แรงงานบางประเภท อย่างเช่นกรรมกรและชาวนา กลับไม่ได้รับการเพิ่มค่าเพิ่มราคา

แม้ดิฉันจะไม่มีรูปและแรงเป็นทรัพย์อย่างคนอื่นๆ แต่ดิฉันกลับพอใจที่เรายังมีกายที่แข็งแรง ซึ่งเพียงเท่านี้ ดิฉันรู้สึกว่าตนรวยมากแล้ว

ดิฉันไม่เคยลืมประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน บิลค่ารักษาและค่ายาราว 1,000 บาท ได้ทำให้ไข้หวัดหมดฤทธิ์อย่างปาฏิหาริย์

สุภาษิตที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ผุดขึ้นในใจ นี่หากไม่เป็นหวัด ไม่ต้องไปหาหมอ เท่ากับว่าเรามีเงินอยู่ 1,000 บาท อยู่กับตัวทีเดียว

ตั้งแต่นั้นมา ดิฉันตั้งใจว่าจะรักษาเงินในร่างกายไม่ให้รั่วไหลง่ายๆ อีกต่อไป

ดิฉันเคยได้ยินพระอาจารย์ท่านหนึ่งพูดด้วยว่า การบำรุงหล่อเลี้ยงทุนทางร่างกายนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพื่อบำรุงบำเรอตามอำนาจความอยาก แต่เป็นการดูแลอย่างสมควรของธรรมชาติเพื่อให้กายนี้ช่วยเราในการทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ได้เต็มที่และยาวนานที่สุดเพื่อประโยชน์ของสรรพชีวิตทั้งมวล

(2)

ทุนอีกลักษณะที่เราทุกคนต่างมีคือทุนการศึกษา ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเงินส่งเสียค่าเรียนที่ได้รับจากใคร แต่เป็น ทุนความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ ที่ช่วยให้เราแปรเปลี่ยนไปสร้างทุนทรัพย์อื่นๆ ได้ ดังสุภาษิตที่ว่า มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน

วิชาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความรู้ตามระบบการศึกษาที่มีใบประกาศเท่านั้น แต่รวมถึงความรู้ที่ได้จากการอ่าน การถ่ายทอดจากครู การทำงาน ประสบการณ์ตรงในชีวิต รวมทั้งความรู้จากการสังเกต ตลอดจนความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้เรามีชีวิตรอดในแต่ละวัน เช่น การรู้วิธีการเดินข้ามถนนให้ปลอดภัย รู้วิธีการทำอาหาร รู้จักการดูแลตัวเอง รู้วิธีทำมาหากิน รู้วิธีสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับผู้อื่น

สังคมปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับความรู้และความคิดสร้างสรรค์ กระทั่งผลักให้คนจำนวนหนึ่งไล่ล่าใบประกาศทางการศึกษาเพื่อไต่บันไดแห่งความฝันทั้งทางการงานและการเงิน โดยปราศจากการถามตัวเองว่า เราสร้างสมทุนความรู้และความสามารถไปเพื่ออะไรกัน เพื่อตัวเองหรือผู้อื่น

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดิฉันยังนึกถึงความประทับใจในเรื่องราวของดร.อัมเบดการ์ (Dr.Bhimrao Ramji Ambedkar) ปราชญ์ผู้ได้รับการยกย่องบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย

ท่านถือกำเนิดในชนชั้นจัณฑาลที่ยากจนและขาดโอกาสทางสังคมอย่างมาก ในสมัยนั้น (พ.ศ.2434 2499) เด็กจัณฑาลไม่มีโอกาสนั่งในชั้นเรียนเหมือนเด็กในวรรณะอื่น พาให้เด็กชายอัมเบดการ์ไม่มีทางเลือก จำต้องนั่งเรียนอยู่นอกห้อง และไม่ได้รับการเอาใจใส่จากครูผู้สอน

แต่เนื่องจากเด็กคนนี้ตั้งใจเรียนและผ่านการสอบสำคัญๆ ต่อมาจึงมีผู้แนะนำให้เปลี่ยนนามสกุลและได้รับการส่งเสียให้เรียนต่อ ซึ่งที่สุด นับว่า ดร.อัมเบดการ์ คือจัณฑาลคนแรกที่ได้รับการศึกษาสูงที่สุดในช่วงเวลานั้น

ท่านได้รับใช้ชาวอินเดียหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการร่างกฎหมาย การรื้อฟื้นพุทธศาสนาในอินเดีย รวมทั้งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้แก่คนในวรรณะจัณฑาล

ความรู้ของท่านจึงเป็นปัญญาที่มีประโยชน์และมากความหมายต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อทุนชีวิตของชาวอินเดียอีกหลายล้านคน โดยเฉพาะผู้คนจากวรรณะดังกล่าว

(3)

ทุนสำคัญอีกอย่าง คือ ทุนทางความสัมพันธ์ จากครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชน

สำหรับเด็ก ครอบครัวและพ่อแม่คือแหล่งทุนสำคัญของพวกเขาทั้งทางกาย ใจ ความคิด และการเงิน ทุกวันนี้ คนทำงานจำนวนไม่น้อยยังพึ่งแหล่งทุนลักษณะนี้อยู่

คนรวยเพื่อน (ดี) นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นบุญเช่นกัน เพราะเพื่อนที่ดีย่อมจุนเจือเราได้สารพัด ในยามมีปัญหาการงาน ขัดสนทางการเงิน ปัญหาหัวใจ แม้กระทั่งยามเจ็บป่วยหรือใกล้จะจากไป

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวบั่นปลายชีวิตของ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ ขณะป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

เรื่องของเธอคือแรงบันดาลใจให้แก่ชีวิตของดิฉัน

เธอไม่จำเป็นต้องจ้างพยาบาลพิเศษมาคอยดูแล เพราะเธอมีเพื่อนๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้กำลังใจ เล่นดนตรีและอ่านหนังสือให้ฟัง รวมทั้งทำความสะอาดและปรุงอาหารให้เธอ

สุภาพรไม่ได้ป่วยโดยลำพัง แม้ยามหมดลมหายใจ เพื่อนๆ ก็ยังล้อมวงสวดมนต์และนั่งสมาธิเพื่อให้เธอจากไปอย่างสงบ

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะได้รับทุนรอนประเภทนี้ เราก็ต้องลงทุนด้วย นั่นคือ การลงทุนด้วยเวลาและหัวใจ

จิตใจที่ซื่อตรง ความจริงใจที่ปรากฏ และมิตรภาพอันประเสริฐเท่านั้นที่จะหยั่งรากและผลิบาน

ประเทศชาติและธรรมชาติก็เป็นทุนในการดำรงชีวิตของเราเช่นกัน

ลองคิดดูว่า หากเราอยู่ในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง ทรัพยากรขาดแคลน เราคงไม่รู้สึกผ่อนคลาย ด้วยต้องกระเสือกกระสนหาหนทางเอาชีวิตรอด มิพักต้องเอยถึงการสร้างสรรค์ความงามใดๆ ในชีวิต

(4)

สำหรับดิฉัน ทุนสำคัญที่สุดคือ ทุนทางจิตวิญญาณ มโนสำนึก และคุณธรรม เพราะเป็นต้นทุนที่ประคับประคองชีวิตสู่ความสมบูรณ์ เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย ต่อยอดสู่ทุนทางปัญญา ความสัมพันธ์ และสังคมได้

ชีวิตที่ขาดทุนประเภทนี้ ทำให้เราทุกข์ง่ายและนาน ทั้งยังอาจก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่อุดมด้วยทุนทางจิตวิญญาณ แม้จะพร่องทุนทางการเงิน ชีวิตก็จะกลับเต็ม

ดังตัวอย่างท่านคานธี ชายร่างเล็กสวมผ้าทอผืนเดียว พักอาศัยอย่างสมถะในบ้านหลังเล็กๆ ไร้ทรัพย์สมบัติใดๆ แต่กลับทรงอิทธิพลทางปัญญาและความศรัทธาในอหิงสา เป็นสัจจะแห่งชีวิต ย่อมไม่มีผู้ใดปฏิเสธ

ดิฉันเห็นตนเองมีทุนชีวิตอยู่มากโขแล้ว ท่านล่ะ มีทุนอะไรบ้างในชีวิต จะใช้ทุนเหล่านั้นอย่างไรและใช้เพื่ออะไร โปรดเล่าสู่กันฟัง...

กรรณจริยา สุขรุ่ง

เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย

media4joy@hotmail.com

www.happymedia.blogspot.com

สุรา กาแฟ และส้มสีทอง










ตั้งแต่ปลายปีกลาย หลายจังหวัดต่างสนุกสนานเพลิดเพลินกับเทศกาลฤดูหนาว ไม่ก็งานประเพณีรื่นเริงประจำจังหวัด เสมือนพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาลในใจเรา เป็นโอกาสให้เราได้ผ่อนพักเพื่อนิ่งสงบ และสรุปผลงานจากความพยายามในปีที่ผ่านมา

หากล้มเหลวก็เรียนรู้ สำเร็จก็ส่งยิ้ม ให้รางวัลแก่ตนเองและเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น

ตัวผมเองก็เช่นกัน ด้วยเกรงว่าลมหนาวจะจากไปเร็ว จึงรีบเก็บเสื้อผ้าบึ่งขึ้นเหนือ แวะพักระหว่างทางไม่บ่อยนัก เพื่อไปให้ถึงจังหวัดที่ไม่ใช่ทางผ่าน หากแต่ต้องตั้งใจมาเท่านั้น

และเรื่องราวที่ผมได้พบเจอที่จังหวัดน่านก็เป็นอีกบทเรียนชีวิตที่สอนให้ผมเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง จากกาแฟหอมกรุ่นเพียงถ้วยเดียวสำหรับคนเมืองก็อาจกระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนพื้นถิ่นโดยไม่ทันรู้ตัว

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้บอกกล่าวกับผมว่า ความจริงแล้ว กาแฟเด่นชัย ที่ใครๆ ต่างพูดถึงในกลิ่นที่หอมหวล รสชาติก็ดีนั้น มีถิ่นกำเนิดมาจากน่าน เช่นที่บ้านสันต์เจริญ อำเภอท่าวังผา ซึ่งทางจังหวัดเล็งเห็นว่าหากมีการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้คนน่านนิยมดื่มกาแฟแทนสุรา ผลที่ได้รับจะเท่าทวี นั่นคือ การได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเกิดจากการดื่มแล้วขับ ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดที่หันมาปลูกกาแฟป้อนตลาดแทนพืชผลที่ให้ผลตอบแทนต่ำ

พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดน่านเป็นป่าไม้และภูเขาซึ่งปัจจุบันถูกชาวเขาและคนพื้นราบค่อยๆ รุกทำไร่เลื่อนลอย ทั้งปลูกข้าวไร่และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราว 3-4 แสนไร่ โดยเฉพาะช่วงนี้ขายได้ราคาดี ซึ่งการทำพืชไร่แบบนี้ทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทำลายดิน ปัญหาสำคัญคือการลดลงของพื้นที่ต้นน้ำ ดังนั้น ทางจังหวัดจึงพยายามหาพืชชนิดอื่นที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ามาให้พวกเขาปลูกทดแทน เช่น ชา และกาแฟ ซึ่งปลูกกันมากที่บ้านสันต์เจริญ ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา นายสมพงษ์ เท้าความถึงที่มาของการปลูกกาแฟเมืองน่าน

ว่าไปแล้ว สุรายาเมากับงานเลี้ยงหรืองานรื่นเริงนับว่าเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะในสังคมไทยหรือชาติไหนๆ

หากนิ่งทบทวน หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง อาทิ เหล้า คือบทโหมโรงแห่งมิตรภาพ คือน้ำเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรม ยิ่งใครเคยเดินทางท่องเที่ยวยังพื้นที่ของ คนไท ตั้งแต่แหลมอินโดจีนข้ามไปถึงประเทศพม่า เรื่อยเลยไปถึงแคว้นอัสสัมของอินเดียย่อมนึกภาพทำนองนี้ออกเป็นแน่

ในแง่นี้ ความหมายของสุราจึงไม่ใช่น้ำพิษหรือน้ำอำมหิต ตรงกันข้าม กลับเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมลบเส้นแบ่งระหว่างคนพื้นถิ่นกับแขกผู้ผ่านทาง เป็นเสมือนน้ำมนต์ที่เริ่มอารัมภบทให้แก่วงสนทนา สร้างสรรค์รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ก่อนจะไปถึงบทตอนต่อไปในกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวัฒนธรรม

สำหรับสังคมไทยสมัยใหม่ โดยภาพรวม นัยยะที่ดีของสุราดังกล่าวได้ถูกกลบเกลื่อน เบียดบังจนเลือนหายไปแล้ว คงเหลือไว้เพียงภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจ้าวายร้าย ต้นเรื่องของพิษภัยทางสังคม ต้นเหตุแห่งปัญหาสารพัด

อย่างไรก็ตาม ภาพเชิงลบของสุราย่อมเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติภัยบนท้องถนนจากการดื่มแล้วขับ หรือเหตุทะเลาะวิวาทหากดื่มเหล้าจนขาดสติ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเนื่องที่ตามมา ทั้งต่อสถาบันครอบครัว ความมั่นคงในชีวิตและจิตใจ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนและประเทศ

และน่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ การรณรงค์ให้งดและเลิกการดื่มสุราในสังคมไทยจึงเริ่มแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่บทบาทภาคสังคมของมูลนิธิ เมาไม่ขับ ต่อด้วยโครงการเกี่ยวเนื่องอีกมากจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนงานเทศกาลประจำปี งานกาชาดจังหวัด ตลอดจนเทศกาลฤดูหนาวต่างๆ ในระยะนี้ ไม่เว้นแม้แต่งานเทศกาลกาแฟเมืองน่านและงานกาชาดประจำปีของจังหวัด

การจัดเทศกาลกาแฟเมืองน่านจึงเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีในกระบวนการสร้างกระแสให้คนน่านหันมาดื่มกาแฟแทนสุรา เป็นทางเลือกที่น่าลิ้มลอง เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักดื่ม เปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาในเรื่อง ความสนุก โดยไม่ต้องพึ่งสุรา ซึ่งเริ่มต้นกันตั้งแต่การห้ามนำเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เข้ามาในบริเวณงานเลยทีเดียว

การคงรักษางานประเพณีท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับการช่วยลดปัญหาสังคมในเวลาเดียวกันจึงสมควรได้รับการส่งเสริมและชื่นชม

และถึงแม้จะมีเสียงบ่นจากพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งแขกที่เข้ามาดูงานอยู่บ้างว่า บรรยากาศเทศกาลฤดูหนาวที่ขาดเหล้าย่อมไม่ครึกครื้น หนำซ้ำยังไม่อาจห้ามเหตุทะเลาะวิวาทได้ ด้วยบางรายแอบดื่มเหล้ามาก่อนที่จะเข้างาน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของงานที่ปลอดเหล้าในปีแรก เพียงยอดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ลดลงอย่างมากย่อมถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ไม่น้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลกระทบเป็นธรรมดา เทศกาลกาแฟเมืองน่านก็เช่นกัน เมื่อทางจังหวัดและผลผลิตเมล็ดกาแฟถูกจับตามองว่ากำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของจังหวัดแทนส้มสีทอง ผลไม้ถิ่นน่านดั้งเดิม




อันที่จริง ก่อนหน้านี้ เทศกาลฤดูหนาวประจำจังหวัดน่านเองก็ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ หากแต่ใช้ชื่อว่า งานส้มสีทองเมืองน่านซึ่งทางจังหวัดตัดสินใจเปลี่ยน ด้วยต้องการส่งเสริมกาแฟดังเหตุผลนานับประการที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งส้มสีทองก็กำลังถูกลดความนิยมเมื่อตลาดหันมาบริโภคส้มสายน้ำผึ้งจากถิ่นอื่นแทน

เอกลักษณ์ของส้มสีทองที่ได้มาตรฐาน นอกจากมีรสหวานแล้ว สีผลก็ต้องมีสีเหลืองทองทั้งใบ ผิวเปลือกก็ต้องบาง ไม่เกาะติดกับกลีบส้มเมื่อแกะเปลือกออก รวมทั้งขนาดของกลีบส้มทุกกลีบก็ต้องเท่ากันเสมอ

แต่เนื่องจากการดูแลเพื่อให้ได้คุณภาพของผลส้มดังกล่าวนับว่าเป็นภาระที่ต้องอาศัยต้นทุนสูงในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ เกษตรกรสวนส้มรายย่อยจึงทยอยหันหลังให้กับอาชีพของตนเอง เมื่อเห็นว่าหนทางข้างหน้าย่อมได้ไม่คุ้มเสีย

ด้านนายนามโรจน์ ศรีวรรณนุสรณ์ นายกเทศมนตรีคนถิ่นน่านโดยกำเนิดเล่าว่า มูลเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อจากงานส้มสีทองเป็นงานเทศกาลกาแฟอาจเป็นเพราะทางจังหวัดเห็นทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของกาแฟสดใสกว่าอนาคตของส้ม ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ารสหวานของส้มน่านไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ผู้บริโภคสมัยนี้นิยมรสหวานอมเปรี้ยวๆ ของส้มสายพันธุ์อื่นอย่างเช่นพันธุ์สายน้ำผึ้งจากเชียงใหม่และเชียงรายซึ่งมีรสชาติถูกปากผู้บริโภคมากกว่า

ส้มสีทองที่ได้คุณภาพจะไม่มีสีเขียวปนบนเปลือกเลย เนื่องจากเติบโตบนที่สูง จึงได้รับความชื่นจากน้ำค้างเกาะนอกผิวส้มและแสงแดดอุ่นอบผิวให้สวยในช่วงสาย และจะหวานตอนฤดูหนาวเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์เท่านั้นนายนามโรจน์กล่าวย้ำถึงเอกลักษณ์ของส้มพันธุ์ท้องถิ่นที่กลับกลายมาเป็นข้อจำกัดสำหรับการแข่งขันในตลาด ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัญหาด้านเงินทุนในการทำเกษตรและการเคลื่อนย้ายขนส่งผลผลิตจากที่สูง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ส้มสีทองไม่อาจยันกระแสความนิยมที่มาแรงของส้มสายน้ำผึ้งได้

เกษตรกรสวนส้มเมืองน่านจึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปโดยปริยาย

ขณะที่เราๆ ท่านๆ กำลังนั่งดื่มกาแฟรสดีมีกลิ่นหอมที่บ้านหรือในร้านสวย เกษตรกรสวนส้มสีทองเมืองน่านกลับไม่รู้แน่ว่าจะทำอย่างไรต่อ เมื่อส้มจากไร่ขายไม่ออก ถึงขายออกก็ไม่ได้ราคา

คนติดกาแฟอาจดีกว่าติดเหล้าในทัศนะของใครหลายคน แต่สำหรับเกษตรกรสวนส้ม ยิ่งมีคนติดกาแฟมากเท่าไหร่ นั่นอาจหมายถึงดีกรีของความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น

เช้านี้ หากคุณดื่มกาแฟเสร็จแล้ว อย่าลืมนึกถึงส้มสีทองหวานอร่อยของคนน่าน เตรียมไว้ทานหลังอาหารด้วยนะครับ...

----------------------------//

เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ แฮปปี้มีเดีย

media4joy@hotmail.com

www.happymedia.blogspot.com

วันอังคาร, มกราคม 22, 2551

เด็กไทย พ.ศ.นี้

สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ยังคงเอกลักษณ์ความคล้องจองและวนเวียนอยู่กับคำที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นคำ สามัคคี ก็ดี วินัย ก็ดี รวมทั้งคำสุดท้าย คุณธรรม ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นคำที่เพิ่งได้รับความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีมานี้

วลีอื่นๆ อย่าง ความรู้คู่คุณธรรมเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เราเห็นว่าสังคมไทยกำลังวิตกอะไรอยู่ ลำพังการเป็นบัณฑิตผู้รู้ เป็นผู้มีการศึกษาไม่เพียงพออีกต่อไป

ทำไมคนเก่งยุคนี้จำต้องมีคุณธรรมมากำกับ หากสังคมเต็มไปด้วยคนเก่งที่ปราศจากคุณธรรมในการดำเนินชีวิต สังคมจะเป็นเช่นไรต่อไป และลำพังการสอนคุณธรรมถ่ายเดียวจะเพียงพอไหมสำหรับการพัฒนาคนให้เท่าทันการพลิกผันของการเมืองไทย

(1)

ค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้ชมรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่เชิญเด็กๆ จากชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ มาออกรายการให้สัมภาษณ์ ซึ่งแขกรับเชิญตัวน้อยในรายการได้ตอบคำถามพิธีกรหญิงถึงอนาคตในชีวิต

เด็กชายตอบคำถามด้วยเสียงดังฟังชัดว่า เขาต้องการเป็นคนเก่งทางด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร (ไอที) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนของตน ขณะที่เด็กหญิงอีกรายตอบว่า เธอใฝ่ฝันจะเป็นคุณครูนักพัฒนา โดยปรารถนาที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าของชุมชนที่ตนพำนัก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ชุมชนของตนน้อยหน้ากว่าชุมชนอื่นใด

ครั้นพิธีกรถามกลับไปยังเด็กชายรายแรกว่า เหตุใดจึงต้องการนำความรู้เรื่องไอทีเข้ามาในชุมชน เด็กชายเงียบเสียงและนิ่งคิดไปชั่วขณะก่อนจะออกมาตอบว่า เป็นเพราะตนไม่ต้องการเห็นชุมชนของตนน้อยหน้ากว่าที่อื่นๆ

กรณีตัวอย่างที่ผมยกมาพูดถึงนี้ คงไม่ใช่ความฝันของเด็กทุกคนเป็นแน่ แต่ถึงกระนั้น คำตอบของพวกเขาก็ชวนให้เราคิดต่ออีกนิดว่า โลก ของผู้คนวันข้างหน้าในจินตนาการของเด็กยุคนี้จะเป็นเช่นไร หรือภาพลักษณ์ของไอทีในชุมชนจะมีประโยชน์อะไรได้อีกนอกจาก หน้าตา ในสังคม

จะว่าไปแล้ว คำตอบของเด็กชายในรายการอาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด ชุมชนและโรงเรียนไหนที่มีห้องคอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วนโดยเฉพาะย่อมดูดีและดูทันสมัยกว่าชุมชนที่ไม่มี ด้วยเหตุนี้ ไอทีในนัยยะข้างต้นจึงไม่ได้มีความหมายใดอื่นนอกเสียจากการเป็นหน้าตาอาภรณ์ของชุมชน เป็นชุมชนที่เจริญ ทันสมัย และล้ำหน้ากว่าที่อื่นๆ

ในชั้นนี้ ความสนใจของเด็กทั้งสองจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องคุณธรรมความดี หากแต่โน้มเอียงมาที่สัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าและรูปธรรมการพัฒนาสังคมร่วมสมัย ในที่นี้ก็คือไอที

ถ้าเช่นนั้น ใครกันที่สนใจคุณธรรม จริยธรรม

สำหรับผม คำขวัญวันเด็กเหล่านี้น่าจะสะท้อนความเป็นไปในสังคมร่วมสมัยอย่างมีนัยยะสำคัญ

บริบทของสถานการณ์การเมืองและสังคมน่าจะมีส่วนในการกำหนดคำขวัญวันเด็กในแต่ละปี ทั้งการจำลองความในใจของผู้ใหญ่อย่างนายกรัฐมนตรี ไม่ก็เป็นการย่นย่อความปรารถนาดีของรัฐที่มีต่อพลเมือง

หากเป็นเช่นนั้น นัยยะของคำขวัญวันเด็กเรื่องคุณธรรมน่าจะมุ่งสะกิดใจผู้ใหญ่มากกว่าที่จะหวังเพียงสอนสั่งกันในหมู่เด็ก เป็นคำขวัญวันเด็กที่อาจกระทบใจผู้ใหญ่หลายคนเข้าอย่างจัง

(2)

เด็กนักเรียนในโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ล้วนได้รับการสั่งสอนให้เป็น คนดี ก่อนที่จะเป็น คนเก่ง ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เคยบรรยายความว่า หากเด็กๆ เรียนรู้ที่จะเป็นคนเก่งก่อน เขาอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นคนมีนิสัยเห็นแก่ตัว พวกเขาอาจกลายเป็นคนที่แล้งน้ำใจผู้ไม่รู้จักการแบ่งปัน มุ่งหวังเพื่อเป็นที่หนึ่งไม่สำคัญว่าจะต้องใช้วิธีการใดให้ได้มาก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม หากฝึกให้พวกเขาเป็นคนดีที่รู้จักเอื้ออารีต่อผู้อื่นตั้งแต่เด็ก เขาก็จะรู้จักใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขและไม่เบียดเบียนใคร

ศ.ดร.อาจอง บอกว่า เมื่อเด็กๆ เป็นคนดีมีหัวใจและมีความสุข สติปัญญาของพวกเขาก็จะตามมาเองโดยปริยาย

ผู้คนทุกวันนี้ ต่างเล็งผลเลิศในชีวิต ต้องการเป็น ที่หนึ่ง เหนือใคร ซึ่งมีปรากฏให้เห็นในทุกสังคมและวงการ

หากพิจารณาคำตอบของเด็กน้อยในรายการโทรทัศน์ข้างต้นย่อมเห็นลำดับการจัดเรียงสิ่งสำคัญในชีวิตของพวกเขาอย่างชัดเจน นั่นคือ ลำดับแรก ความรู้ความสามารถย่อมสำคัญกว่าคุณธรรม

เด็กชายรักที่จะเรียนรู้เรื่องไอทีให้เก่งกาจ แต่กลับไม่รู้ว่าตนจะเรียนรู้ให้เก่งไปเพื่ออะไร ตอบคำถามพิธีกรรายการไม่ได้ว่าจะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนอย่างไรให้เกิดประโยชน์

ส่วนเด็กหญิงใฝ่ฝันที่จะเป็นครูนักพัฒนา แต่ยังไม่รู้ว่าควรพัฒนาอะไรก่อนหลัง คนหรืออาคาร ระบบการศึกษาหรือสาธารณูปโภค เธอคงตอบแต่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกของการพัฒนา ผิวเผิน ปราศจากมิติการพัฒนาคนและจิตวิญญาณ ความสงบสุขภายในจิตใจ

(3)

การเมืองไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นวุฒิภาวะของคนไทยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นฝากทหารหรือพลเรือน ชาวบ้านหรือชนชั้นกลาง ข้าราชการหรือนักการเมือง คนเหล่านี้ได้ชี้ให้เราเห็นว่า ความไม่แน่นอน เป็นเช่นไรในโลกแห่งความเป็นจริง

เริ่มต้นด้วยความไม่ไว้วางใจว่าประชาชนจะคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองได้เอง และจบลงด้วยการตัดสินใจก่อรัฐประหารในพ.ศ.ที่พลโลกต่างส่ายหน้ากับการกระทำดังกล่าว

น่าถามคณะผู้ก่อการในวันนั้นว่า หากพวกเขารู้ว่าผลสุดท้ายจะลงเอยเช่นนี้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พวกเขาจะก่อการดังกล่าวหรือไม่

นักการเมืองหลายรายที่ถูกปลดออกจากเวทีวันนั้น ได้หวนกลับมาสู่เวทีการเมืองนี้อีกครั้ง และการกลับมาครั้งนี้ก็เป็นการกลับมาอย่างงามสง่าด้วยการชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เป็นเสมือนการยืนยันความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่อีกครา ไม่ว่าจะโดยชอบหรือไม่ก็ตาม

คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยคงรู้สึกถึงสภาวะที่ไร้คำตอบ ไม่มีความคิดเห็น คงมีก็แต่ความเงียบงันเท่านั้นที่เริ่มคืบคลานเข้ามาในห้วงคำนึงเป็นระยะๆ

คำตอบของหนูน้อยทั้งสองน่าจะช่วยให้เราเข้าใจอะไรได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งสองไม่ผิดหรือถูก คำตอบของเขาได้กระซิบข้างหูเราให้ตระหนักว่า หลักไมล์ของการพัฒนาคน พลเมืองของรัฐ คืบหน้าไปไม่ถึงไหนนัก

ไม่ใช่เพราะเขาตอบคำถามไม่ตรงใจ ไม่ใช่เพราะเขาเบาปัญญา และไม่ใช่เพราะเขาไม่ตอกย้ำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมดั่งคำขวัญจากนายกฯ

แต่เป็นเพราะนักเรียนทั้งสองไม่ได้ถูกสอนให้มองเห็นการเชื่อมโยงระหว่างหลักคิดกับการปฏิบัติ ความฝันกับความเป็นจริง

พวกเขาอาจมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง การให้ กับความต้องการของผู้รับ ไม่เห็นคำตอบทางเลือกอื่นๆ ที่ก้าวพ้นไปจากภาษาและวิธีคิดเดิมๆ ของผู้ใหญ่

ที่สุด พวกเขาอาจเป็นคนเก่งในวันหน้า แต่อาจเป็นนักพัฒนาที่มองข้ามคนและหัวใจของพวกเขา

เด็กชายอาจเป็นนักไอทีชื่อดังที่นำนวัตกรรมที่ฟุ่มเฟือยเข้ามาในหมู่บ้าน

เด็กหญิงอาจเป็นครูนักพัฒนาที่ย้ำคิดย้ำทำ ย่ำรอยแนวทางการพัฒนาสังคมไทยแบบเดิมๆ พร้อมด้วยความเชื่อมั่นว่านั่นเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญ โดยไม่เคยเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป

วันนี้ยังไม่สายที่รัฐจะคิดให้ลึกไปกว่าคำขวัญวันเด็กประจำปี เรายังมีเวลาที่จะหันมาพิจารณาความก้าวหน้าของระบบการเรียนการสอน และสารัตถะของระบบการศึกษา

คุณธรรม เป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคล แต่สำหรับการพัฒนาคน เราคงต้องการองค์ประกอบหรือส่วนผสมมากกว่านี้

คุณคิดเห็นอย่างไร...


เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ แฮปปี้มีเดีย

media4joy@hotmail.com

www.happymedia.blogspot.com

วันพฤหัสบดี, มกราคม 10, 2551

คำถามปีใหม่

“ปีใหม่ทำอะไรบ้าง?” - เมื่อหลายปีก่อนกัลยาณมิตรผู้หนึ่งถามผ่านโทรศัพท์
และ – ข้าพเจ้าตอบโดยความคุ้นชิน – “ฉลอง”
เมื่อถามกลับ – “แล้วพี่ล่ะ?”
“พี่อยากปลีกวิเวก อยู่นิ่งๆ และทบทวนตัวเองในปีที่ผ่านมา”
เป็นครั้งแรกที่ปีใหม่เริ่มมีความหมายต่อข้าพเจ้ามากกว่าการสนุกเริงใจไปกับการฉลอง
ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถาม - คนเราประเมินตัวเองอย่างไรได้บ้าง? และมักจะแลกเปลี่ยนสนทนากับมิตรรอบข้างในช่วงปีใหม่ด้วยคำถามข้างต้น โดยถือว่าการให้เวลาเพื่อตอบคำถามดังกล่าว คือ “ของขวัญปีใหม่” สำหรับตัวเองในแต่ละปี
ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินคำตอบในรูปแบบของคำถามที่น่าสนใจ “เรากล่าวคำขอโทษหรือขอบคุณกันกี่ครั้งในปีที่ผ่านมา?”
คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ “คนที่เรากล่าวคำขอโทษหรือขอบคุณด้วยนั้น มีฐานะสูงหรือต่ำกว่าเรา อายุมากหรือน้อยกว่าเรา?”
เพียงเท่านี้ เราก็ได้รับวิธีการประเมินตนเองอย่างง่ายๆ ผ่านถ้อยคำสำคัญสองคำ นั่นคือ “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ”

- ๒ -

“ความสำเร็จในปีที่ผ่านมาคืออะไร?” – ข้าพเจ้าบ่นในใจท่ามกลางความเงียบช่วงรอยต่อระหว่างปี
ทุกวันนี้ สังคมมักจะประเมินคนจากภาพที่เห็น จาก “รูปแบบ” ชีวิตเท่าที่เห็น วัดความสำเร็จของชีวิตคนเพียงแค่ภายนอก อาจเริ่มตั้งแต่วุฒิการศึกษา หน้าที่การงาน ตำแหน่งบนนามบัตร แบรนด์พาหนะ เครื่องประดับกายและเสื้อผ้าที่สวมใส่ เรื่อยไปถึงทำเลบ้านพักอาศัย ฐานะการเงินที่มั่งคั่งและมั่นคง โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ตัวชี้วัด” มาตรฐานความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากเป็นสิ่งที่วัดค่าได้ มองเห็นได้ สัมผัสจับต้องได้

อารมณ์ความประทับใจในวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของใครสักคน หรือความรู้สึกอยากชื่นชมผู้มีน้ำใจสักราย เริ่มพร่องหายในความนึกคิดของเรา กระทั่งบางครั้งก็พลั้งเผลอคิดเห็นและพูดจาตามประสา ไม่ต่างไปจากรูปแบบชีวิตที่ว่ามา
หลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน” (Charles Darwin) ได้รับการตีความจากนักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองสัญชาติเดียวกันอีกท่าน “เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์” (Herbert Spencer) ว่าเป็นเรื่องของผู้ที่ “เหมาะสมที่สุด” เท่านั้นที่สมควรมีชีวิตรอด (Survival of the Fittest)
แนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างมากนับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 และหลายครั้งคำว่า “เหมาะสมที่สุด” ได้รับการตีความว่ามีนัยยะหรือเป็นสิ่งเดียวกันกับ “แข็งแรงที่สุด” หรือ “เก่งที่สุด” ซึ่งเป็นที่มาของโลกทัศน์ที่มนุษย์ต้องชิงชัย ห้ำหั่น แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเป็น “หมายเลขหนึ่ง”
ในวัยเด็ก แววตาทุกคู่เริ่มต้นจับจ้องไปที่รางวัลของ “ที่หนึ่ง” โตขึ้น เริ่มประชันสู่ตำแหน่งผู้นำหนึ่งเดียว บางรายยอมทำทุกวิถีทางเพื่อมุ่งไปสู่หัวขบวน หากใครขัดขวาง ทัดทาน วิพากษ์วิจารณ์ อาจเจ็บตัว ผู้เข้าแข่งขันบนถนนสายนี้ มักเพิกเฉยต่อชะตากรรมของผู้อื่น เมินความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสรรพสิ่งรอบตัว
พลันพิจารณาเฉพาะ “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” เรากลับรู้สึกดีกับผู้มีนิสัยใจคอเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อผู้อื่น ต่อบุคคลทั่วไป มากกว่าคนกล้ามใหญ่วางโต อารมณ์กราดเกรี้ยว ฉุนเฉียว ไม่ไว้หน้าใคร ด้วยเหตุนี้เอง คำว่า “เหมาะสมที่สุด” จึงไม่เท่ากับ “แข็งแรงที่สุด” ไม่ได้มีความหมายว่า “เก่งที่สุด” แต่ประการใด หากน่าจะหมายถึงผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง เปิดรับความแตกต่าง เอื้ออารีต่อผู้คนและสรรพสิ่ง เอาใจใส่และไม่ดูเบาต่อความรู้สึกคน

- ๓ -

“ชีวิตตนเองในปีที่ผ่านมา เป็นอย่างไร?” – คำถามสุดท้ายของปีใหม่นี้ ดังกึกก้องภายในหัว
หนังสือจิตวิทยาที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดหลายเล่ม เมื่อข้าพเจ้าอ่านแล้ว แทนที่จะทำความเข้าใจตนเอง กลับไผลไปเพ่งพินิจที่คนอื่น
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันน่าจะเป็นต้นเหตุประการหนึ่ง
คุณครูมักสอนนักเรียนให้เปิดหูเปิดตา เรียนรู้โลกผ่านหนังสือ การออกไปทัศนศึกษา และสื่อการสอนทันสมัย จนมองเลยข้ามออกไปไกลพ้นจากตัวตน ไม่มีที่ว่างให้กับการมองและเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณภายใน
อันที่จริง การเปิดโลกทัศน์สู่ภายนอกอาจทำให้เรารู้จักโลกสีฟ้าใบนี้มากขึ้น เห็นพื้นผิวบนดวงจันทร์ผ่านภาพบนหน้าจอโทรทัศน์ ไม่ก็บนจอคอมพิวเตอร์ในห้องทำงาน
เราอาจท่องจำชีวิตสัตว์โลกใต้ท้องทะเลได้พอใช้ เริ่มเห็นโลกของไวรัสผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เริ่มคุ้นเคยกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทุกวี่วัน อาจสนใจหุ่นสวยและความสูงของดาราภาพยนตร์บ้างเป็นความบันเทิง
ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนเราจะรู้จักโลกมากขึ้นตามลำดับ ทว่าเรากลับไม่รู้จักตนเองมากขึ้นตามไปด้วยแต่อย่างใด

ช่วงปีที่ผ่านมา เราอาจใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบเร่งรัดเป็นปกติวิสัย ไม่เป็นไร ยังไม่สาย หากวันนี้ เรายังพอแบ่งเวลาเป็นของขวัญแก่ตัวเอง คิดทบทวน ใคร่ครวญ หรือตั้งคำถามดีๆ กับตนเอง เป็นต้นว่า เรายังยินดีกับเส้นทางเดิม บนเป้าหมายเดิมๆ อยู่หรือไม่
ถามตนเองเกี่ยวกับเป้าหมายของชีวิตว่าเป็นสิ่งเดียวกับความสุขหรือไม่
ความสุขของเราหมายรวมถึงความสุขของผู้อื่นมากน้อยเพียงใด ถามตนเองถึงความผิดพลาดที่เคยเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหง เบียดเบียนผู้อื่น
สิ่งที่สำคัญกว่าการตอบคำถามเหล่านี้ก็คือ การได้พยายามรวบรวมพลังจากหัวและใจ และตั้งคำถามดีๆ ให้แก่ตนเอง
หากเราซื่อสัตย์และเป็นกัลยาณมิตรกับตนเองโดยแท้ เราย่อมตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก

ชลนภา อนุกูล

เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์-แฮปปี้มีเดีย

media4joy@hotmail.com

www.happymedia.blogspot.com