วันพฤหัสบดี, มีนาคม 20, 2551

หรี่เสียงความคิด

ดิฉันได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมศิลปะเพื่อการเข้าใจตนเมื่อไม่นานมานี้พร้อมๆกับ

สหายชาวสื่อสร้างสรรค์

เราได้ทำกิจกรรมวาดรูประบายสีน้ำและปั้นดิน
ซึ่งนักศิลปะบำบัดบอกว่าจะช่วยสะท้อนให้เราเห็นภาพเงาชีวิตภายในของตัวเอง โลกทัศน์และแนวโน้มทางพฤติกรรม

ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านั้นทำให้ดิฉันเห็นปมที่สร้างความยุ่งยากให้ชีวิตเรื่อยมา ชิ้นงานทางศิลปะขั้นอนุบาลของดิฉันสะท้อนความกลัว ความคาดหวัง และความคิดที่เข้ามาจัดแจงเกือบทุกฝีแปรงและลายเส้น จะวาดภาพอะไรดี จะสื่ออะไรออกมา จะใช้สีอะไร ในหัวมีแต่ความคิด คำถาม การวางแผนจัดการ ความลังเล ตัดสินและประเมินค่าตัวเองและชิ้นงาน จนทำให้ศิลปะเป็นยาขมมากกว่าของหวานฉ่ำใจ

นักศิลปะบำบัดใจดีปลอบดิฉันว่า อาการช่างคิด ช่างวางแผน สับสน ลังเล เป็นลักษณะของคนในสมัยนี้โดยมาก ดิฉันไม่ต้องคิดกังวลไป

เธออธิบายต่อว่า ตอนเราเป็นเด็กเราเล่นสนุกกับสิ่งต่างๆโดยปราศจากความกลัว ไม่ว่าจะกลัวผิด กลัวพลาด หรือแม้แต่กลัวหลงในเขาวงกต หากเด็กเดินเลี้ยวผิดในเขาวงกต เด็กก็จะรีบวิ่งหาเส้นทางใหม่ทันที ด้วยความสนุกสนาน เด็กไม่กลัวที่จะหลงทาง และสนุกกับการเดินหาทางไปเรื่อยๆ

แต่คุณสมบัติการผจญภัย เปิดกว้างสู่การเรียนรู้ และกล้าลองผิดลองถูกเช่นนี้หายไปเมื่อเราโตขึ้น ความถูกต้อง สมบูรณ์แบบ มาตรฐานบางประการที่เราเรียนรู้จากสังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้เรากลัว เกร็ง และมีความคาดหวัง(และกลัวความผิดหวัง) เหล่านี้เป็นอุปสรรคในการที่เราจะทดลองทำอะไรบางอย่าง หรือหากจะทำอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก จนบางครั้งไม่ได้ทำเพราะมัวแต่คิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ

เรากลัวผิด อายที่จะผิด ซึ่งอาจแสดงอาการข้างเคียงคือ เครียดกับการทำงาน เรียนหนังสือและสอบมากจนไม่มีความสุขกับการทำสิ่งนั้นๆ หรือหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ไม่ยอมรับผิด หรือป้ายโยนความผิดไปเลย

ความกลัวทำให้เราต้องปกป้องตัวเองในรูปแบบต่างๆ เช่นโกหกเพื่อปิดบังความผิด ทำลายคู่แข่งที่เรากลัวด้วยการใส่ความ หาวิธีการโกงข้อสอบ เจ้านายบางคนกลัวลูกน้องจะเก่งกว่าเลยต้องกดข่มไม่ยอมรับผลงานของลูกน้องและทำให้รู้สึกแย่เข้าไว้

ความกลัวมากมายในชีวิตของเรามากจากไหน รัฐบาล เจ้านาย สังคม? หรือจากความคิดของเราเอง

เด็กๆกลัวน้อย เพราะคิดน้อยกระมัง นักศิลปะบำบัดเปรย ผู้ใหญ่กลัวมากเพราะคิดมากเกินไป เด็กมักทำอะไรด้วยใจเธอเสริม

การปรุงแต่งทางจิตและกระบวนการทางความคิดหลายต่อหลายครั้ง สร้างความคาดหวัง เสริมส่งความกลัว เกร็งความผิดพลาด สร้างความแตกแยกแตกต่าง แบ่งเขาแบ่งเรา ความรู้สึกทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ล้วนๆ

ดิฉันไม่ปฏิเสธความคิดและการคิด เพียงแต่เห็นว่าเราจำเป็นต้องตระหนักรู้ว่าความคิดกำลังพาเราไปในทิศทางใด เราหลงไปในความคิดอยู่หรือไม่ และบางทีสำหรับบางเรื่องเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้สมองคิด แต่ให้ใจช่วยชี้นำแทน

ดิฉันได้ยินน้องและเพื่อนๆเล่าถึงการตัดสินใจหรือเลือกทางในการเรียน การทำงาน ความรัก การแต่งงาน และโอกาสต่างๆในชีวิต เขาอธิบายความคิด ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียอย่างมีเหตุมีผล

แต่ยิ่งคิดมากดูเหมือนจะยิ่งไกลจากคำตอบ เพราะความคิดมักจะให้ทางเลือก ความเป็นไปได้ ความหวาดวิตก ภาพอคติมากมาย หลายคนที่อยู่บนแพร่งของการตัดสินใจจึงมีอาการยืนค้างอยู่บนแยกนั่นเอง ก้าวเท้าไปทางไหนไม่ออก เพราะมัวแต่คิดวิเคราะห์ และไม่อาจตัดสินใจได้ กลัวผิด กลัวพลาด รักพี่เสียดายน้อง

ความสับสนในตัวเองที่ความคิดมอบให้ทำให้หลายคนเป็นทุกข์ นอนไม่หลับ คิดไม่ตก กังวล ความลังเลสงสัยนี้เองที่ทางพุทธศาสนาบอกไว้ว่าเป็นเหตุที่ทำลายสมาธิ ซึ่งเป็นขุมพลังในการกระทำต่างๆ สมาธิคือการที่จิตตั้งมั่น ตั่งใจแน่วแน่เป็นหนึ่ง ในภาวะจิตเช่นนี้ การกระทำใดๆจะมีพลังและมีโอกาสประสบผล

บางทีเรื่องราวทั้งหมดอาจจะง่ายเข้าถ้าเราหันมาฟังเสียงหัวใจอย่างจริงจัง โยนคำถามเข้าในใจและปล่อยไว้ ทำชีวิตให้ช้าลง หาช่วงเวลาที่เราจะอยู่ลำพัง สงบเงียบโดยเฉพาะเงียบจากเสียงความคิดภายใน

หากเราถามหัวใจอย่างจริงจังว่าต้องการอะไรจากชีวิต ต้องการเรียนอะไร ทำงานอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร นี่คือชีวิตที่เราปรารถนาหรือไม่ หรือคำถามอื่นๆ

ในภาวะเช่นนี้เราจะได้ยินเสียงภายในใจ และโดยมากคำตอบจากใจจะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น เหลืออยู่ที่เราจะรับฟังและเชื่อเสียงจากหัวใจของเราหรือไม่

ในที่นี้ ใจคือกระแสเสียงแห่งจิตสำนึก ความรู้ที่มีอยู่สมบูรณ์ครบถ้วนในตัวเอง

ดิฉันได้พบเจอหลายคนที่เงียบฟังเสียงหัวใจและกล้าใช้ชีวิตตามเสียงภายในนั้น

เพื่อนคนหนึ่งลาออกจากงานประจำเงินเดือนเฉียดแสนบาทเพื่อมาดูแลแม่และทำงานพัฒนาชุมชนที่เธออยู่ในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพิษขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมในละแวกบ้าน

ชายหนุ่มอีกคนละทิ้งงานบริษัทมาทำงานอาสาสมัครดูแลเด็กป่วยและสอนโยคะ ได้เงินพออยู่ได้แต่ความพอใจในชีวิตเปี่ยมล้น นี่คือชีวิตที่ผมใฝ่ฝันอยากจะมี นี่แหละคือชีวิต

คนเหล่านี้อาจไม่ร่ำรวย แต่พวกเขามีประกายความสุขในชีวิต มีพลังในการใช้ชีวิตและสร้างสรรค์งาน ผิดกับหลายคนที่ดิฉันเห็นว่ามีงานประจำและเงินมาก แต่ทำงานอย่างไร้เรี่ยวแรง ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

ความกล้าหาญในการเลือกทางชีวิตมาจากพลังของหัวใจมากกว่าความคิดหาเหตุผลในสิ่งที่ทำ เมื่อได้คุยกับคนเหล่านี้ สิ่งที่สัมผัสคือพลังความรู้สึกแรงบันดาลใจ พวกเขาเหล่านี้ไม่ค่อยมีเหตุผลอะไรมาอธิบายมากมาย เขาแค่รู้สึกว่าหัวใจบอกให้เขาทำ

แต่ใจเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญน้อยมากในปัจจุบัน ระบบการศึกษาและสังคมสมัยนี้หล่อหลอมให้เราเป็นนักสมองนิยม ให้ค่ากับปัญญาจากสมองมากกว่าปัญญาจากกายและหัวใจ จึงไม่น่าแปลกหากเราจะทะเลาะกันจะเป็นจะตายเพราะความคิดไม่พ้องกัน เราใช้ความคิดมาพูดกันมากแต่ไม่คุยกันจากใจและด้วยใจ

เราจะเห็นมนุษย์ที่ไม่นำใจมาปฏิบัติหน้าที่เกลื่อนเมือง เจ้าหน้าที่ให้บริการของรัฐที่ดูเฉยชา ครูที่สอนเด็กไม่เต็มเวลาแต่สอนพิเศษเต็มที่ หมอที่รักษาเชื้อโรคมากกว่าเยียวยาคน พระทุนนิยมที่ละโมบมีบัญชีธนาคาร นักธุรกิจที่เอาแต่ได้ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ นักการเมืองที่ลมหายใจอบอวลด้วยคำลวง

หากเราทำงานด้วยหัวใจ ฟังเสียงจากหัวใจกันมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่าสังคมเราจะมีความสุข นักการเมืองหลายคนจะออกมาสารภาพบาป หมอหลายคนจะใส่ใจคนไข้ในฐานะที่พวกเขาเป็นคนไม่ใช่โรค ครูจะใส่ใจดูแลทุกข์และสุขของลูกศิษย์ สื่อมวลชนจะใส่หัวใจลงไปในการนำเสนอข่าวสาร พระจะตระหนักรู้ในการเกื้อกูลของฆราวาส

เสียงสำนึกในหัวใจพูดกับเราอยู่เสมอ หากเราสามารถหยุดความคิดปรุงแต่งได้บ้างเราจะได้ยินเสียงกระซิบนั้นนำทางเราสู่ความสุข

ขอให้ท่านพบหัวใจตนเอง สวัสดีค่ะ



กรรณจริยา สุขรุ่ง

วันอังคาร, มีนาคม 04, 2551

ศิลปะแห่งการให้

ในหนังเกาหลีเรื่อง อิมซังอ๊ก พ่อค้าหัวใจทรนง เมื่อเหม่ยหลิงสาวน้อยผู้ที่อิมซังอ๊กช่วยเหลือไถ่ตัวมาจากหอคณิกาได้ดิบได้ดี
ไปเป็นภรรยาเอกของพ่อค้าอันดับหนึ่งของเมืองจีนก็ระลึกถึงบุญคุณของอิมซังอ๊ก
อยากจะตอบแทนพระคุณ หากแต่อิมซังอ๊กกลับมิได้ร้องขอสิ่งตอบแทนใดใด แม้ยามนั้น เขาและเพื่อนพ้องกำลังตกอยู่ในภาวะถังแตกไม่รู้ว่าจะกอบกู้ฐานะเกียรติภูมิของกลุ่มการค้าตนอย่างไร

บางคนด่าว่าอิมซังอ๊กโง่เขลา ไม่รู้จักใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์กับตน
อิมซังอ๊กกล่าวสั้นๆ แต่เพียงว่า ในขณะที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือ ก็ไม่เคยที่จะหวังสิ่งตอบแทนใดใด

ผลแห่งการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนี้ มิได้นำอิมซังอ๊กไปสู่ความรุ่มรวยมากขึ้น ในนัยยะแห่งความสำเร็จของพ่อค้า หากแต่นำไปสู่การเป็นผู้มีเกียรติ ความเป็นผู้มีใจสูง ได้รับความเคารพนับถือและเป็นที่ไว้วางใจจากคนทั่วไป

แล้วการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นเพียงพอแล้วล่ะหรือ?

ก็ไม่แน่นัก กิ่งมะพร้าวนอกหน้าต่างส่ายไหวแทนคำตอบ

เพราะการให้ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการกระทำที่ดีงาม ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีกด้วย ความเมตตากรุณาที่แท้จริงย่อมมีปัญญากำกับอยู่เสมอ

การให้ที่แท้จริงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเบียดเบียนต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้รับ หรือตัวผู้ให้เอง

ลองนึกดูภาพที่มีการยัดเยียดให้กับคนที่ไม่พร้อมที่จะรับ ไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งของ แรงงาน ความรู้ คำแนะนำ ฯลฯ การให้นั้นก็คงเปล่าประโยชน์ไร้ความหมาย โดยนัยยะนี้ เราจำต้องคำนึงถึงวาระของผู้รับให้มาก ว่าเขาหรือเธอมีความพร้อมที่จะรับเพียงพอหรือไม่
ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการให้ที่สนองความอยากให้ของเรามากกว่าความต้องการรับของเขาหรือเธอ

หรือหากผู้ให้หลังจากให้ไปแล้ว กลับมีความรู้สึกยะโสทะนงตน คิดว่าตนเองอยู่สูงกว่าเหนือกว่าผู้รับ การให้นั้นย่อมนำไปสู่ความโง่ เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ คนหนุ่มสาวมักจะตกหลุมพรางนี้
พอริหัดที่จะให้ คิ้วกลับเลิกสูงแทนอาการอ่อนน้อม หากทำจนติดอยู่ในนิสสัยสันดาน นอกจากจะเป็นเด็กไม่น่ารัก เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่น่ารักอยู่นั่นเอง

จะว่าไปแล้วจุดมุ่งหมายของการให้จึงอยู่ที่การส่งเสริมขัดเกลาจิตใจของผู้ให้เป็นหลักใหญ่ใจความ รองลงไปก็เป็นเรื่องของสิ่งที่ให้ ว่ามีคุณประโยชน์มากน้อยเพียงไร

คนรุ่นเราทุกวันนี้เข้าใจว่าเรื่องของการให้หรือการทำทานเป็นเรื่องที่ต้องไปทำบุญกับพระที่วัด ไปปล่อยนกปล่อยปลา บริจาคเงินสร้างโบสถ์ ทำอะไรเพื่อพ่อ ทำอะไรให้แม่ ฯลฯ - การให้ในลักษณะนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะทำได้ถ้ามีเงิน ทำได้ถ้ามีเวลา ทำได้ถ้ามี...

ทำไมการให้จึงเป็นเรื่องแปลกแยกจากการดำเนินชีวิตของเรา? ทำไมเราต้องมีต้นทุนบางอย่างในการให้? ทำไมการให้จึงไม่ได้อยู่ในชีวิตการงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน?
ทำไมการให้จึงไม่ได้อยู่ในการกิน การนอน การเดินทาง และแม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำ?

หากมองจากอีกมุมหนึ่ง การทำงานของเราทุกวันนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นล่ะหรือ? อาหารที่เรากิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานของ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนครัว แรงงานต่างชาติ และของคนอีกหลายๆ คน ล่ะหรือ? การกิน การนอน การเดินทาง ของเราไม่ได้เป็นไปเพื่อจะยังชีพอันเป็นประโยชน์ต่อโลกต่อคนอื่นล่ะหรือ? ฯลฯ

โดยเหตุนี้ การประกอบสัมมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการรับราชการ การทำงานเอกชน
หรือการรับจ้างทำงานส่วนตัว หากเป็นไปเพื่อเลี้ยงชีพด้วยงานอันเป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความเกื้อกูลต่อตนเองและผู้อื่นแล้ว ก็ถือว่าเป็นการใหยังความสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างอีกเล่า การให้การยอมรับ การพร้อมที่จะเข้าใจ การรับฟังอย่างลึกซึ้งต่อความทุกข์ของเพื่อนร่วมงาน
เพื่อนฝูง และคนในครอบครัว หรือการให้อภัยต่อศัตรู ก็เป็นการให้ที่ละเอียดอ่อนโยนมาก

การรดน้ำต้นไม้ สิ่งมีชีวิตร่วมโลกที่แลกเปลี่ยนลมหายใจกับเรา ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่ทำงาน ก็ถือเป็นการให้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยากกับการวิ่งไปซื้อของทำบุญตักบาตรพระที่นิมนต์ขึ้นรถมาถึงที่ทำงานโดยเฉพาะด้วยซ้ำ

การประหยัดไฟฟ้า น้ำ กระดาษพิมพ์เอกสาร ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ห้องอาหาร โรงแรม สปา ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยคำนึงถึงความทุกข์ความเบียดเบียนอันเกิดกับป่าไม้ ระบบนิเวศน์ ชาวบ้าน ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าน้ำค่าไฟหรือมีเงินพอที่จะจ่ายก็ตามนั้นถือเป็นการให้ที่ต้องฝึกฝน
การใช้ปัญญาในการมองให้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้งมากทีเดียว

จะเห็นว่า คุณประโยชน์ของสิ่งที่ให้นั้นมีความละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกันออกไป
แต่การให้อันเป็นธรรมชาติ เป็นของแท้ ก็คือการให้จากหัวใจ จากเนื้อจากตัวของผู้ให้ อยู่ในวิถีชีวิตของผู้ให้จริงๆ ไม่ได้อยู่เฉพาะนอกเวลาทำงาน หรือเฉพาะเวลาว่าง หรือเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น

ดังนั้นเองเมื่อจิตของผู้ให้เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และการทำให้ชีวิตของเราเป็นเรื่องราวเดียวกันกับการให้
นี้แหละ คือศิลปะของการให้อย่างแท้จริง


ชลนภา อนุกูล