วันพุธ, สิงหาคม 27, 2551

ปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งของสังคมไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือบทสะท้อนพัฒนาการที่ไม่สมดุลของสังคมไทยในทุกๆด้าน ทุกๆทาง คือสิ่งประจานความล้มเหลวของนักวิชาการและชนชั้นนำของสังคมนี้อย่างล่อนจ้อน ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่มีข้อเสนอแนะที่ดีอย่างทันท่วงทีจากนักวิชาการและชน ชั้นนำของสังคมก่อนที่กระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนจะล้มครืนลงมาอีกหน นักวิชาการและชนชั้นนำก็ควรต้องตรวจสอบตัวเองว่าท่านเห็นจุดยืนของความเป็น วิชาการว่าคือสิ่งใด และรับใช้คุณค่าใด

การโจมตีการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ของนักวิชาการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาขาสื่อสารมวลชน ทำให้เกิดคำถามว่า นักวิชาการเหล่านี้เข้าใจ"การสื่อสารมวลชน"อย่างไร จึงได้สื่อสารออกมาเช่นนั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการยื่นดาบให้แก่ฝ่ายที่กำลังเงื้อแขนขึ้นเพื่อฟันฝ่ายตรงกันข้าม แน่นอนว่าความผิดความถูกตามหลักการต่างๆนั้นต้องไม่ถูกละเมิด แต่นักสื่อสารมวลชนก็น่าจะต้องทราบว่าสารที่ท่านกำลังสื่อออกไปนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง

มองกลับ มาที่ตัวเองพบว่า มุมมองของตัวเองที่มีต่อกลุ่มพันธมิตรฯเปลี่ยนไปจากเดิมพอควร จากที่เคยมองอย่างไม่เชื่อถือ มาสู่มองอย่างไม่แน่ใจ มาสู่การมองเห็นข้อดี หากทักษิณให้บทเรียนแก่สังคมไทยในเรื่องของการละทิ้งคนจนโดยทำให้คนจนรู้ว่า ตัวเองมีอำนาจหรือราคาต่อรองอย่างไร เวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯก็ให้บทเรียนแก่สังคมไทยในเรื่องมิติของผล ประโยชน์ที่อำนาจการเมืองสามารถมีได้ มีได้ลึกและไกลเกินกว่าการโกงหรือคอร์รัปชั่นที่สังคมไทยเคยคิดว่าเข้าใจ นับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองภายหลังการเปลี่ยน แปลงการปกครองหรือการถ่ายโอนอำนาจจากกษัตริย์และแวดวงของกษัตริย์มาสู่กลุ่ม นักเรียนนอกและทหาร (และกลุ่มทุนในที่สุด) ก็คงจะเป็นครั้งนี้แหละที่สังคมไทยมีที่เรียนวิชาการเมืองของไทย

ความยืนยาวของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯคือสิ่งสะท้อน "ความเขลา" ของอำนาจรัฐ นายสมัครเรียกความเขลาของตัวเอง ว่าความอดทน สิ่งอันใดที่ควรได้กระทำ เพื่อคลี่คลายปมของสังคม ก็ไม่ได้ดำเนินการเลย สิ่งอันใดที่ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการผูกเงื่อนเพิ่มหรือดึงเงื่อนให้แน่นขึ้น ก็ได้ถูกริเริ่มหรือดำเนินการอย่างไม่รีรอ

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้บอกว่า "สังคมนี้ไม่มีที่พึ่งทางปัญญา ไม่มีวิชาการใดในสังคมนี้ไม่ว่าจะแยกมาเป็นส่วนหรือร่วมกันที่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ สังคมนี้ไม่มีทางออก นอกจากทะลุกำแพงออกไป"

โดยนักฟิสิกส์จากกลุ่มวงล้อ

เหตุที่คนเราทำเลาะกัน

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า คนเราทะเลาะและขัดแย้งกัน ด้วย 2 สาเหตุ คือ ตัณหา และ ทิฐิ กล่าวเป็นภาษาร่วมสมัยคือ เรื่องผลประโยชน์ และความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน


คำสอนแต่โบราณนี้ร่วมสมัยทีเดียว ช่วยให้ทบทวนตัวเองในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดือดปะทุไม่น้อย เราหันเข้ามาสำรวจใจตัวเองดู เห็นว่าเรานี้ก็ขัดแย้งกับเพื่อนกับคนอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตนไม่น้อยเลย มันต้องเป็นอย่างนี้ เขาควรจะเป็นอย่างนั้น หลักการมันคืออย่างนี้ ... ไม่ว่าจะคิด จะพูดอะไรออกมา ตัวของเราใหญ่คับโลก ไม่เหลือที่ให้ได้ยินความเห็นอื่น โลกทัศน์อื่น เสียงของเพื่อนอันอ่อนโยน


อย่างนี้แล้วไม่รู้ว่าปัญญา หลักการ เหตุผล จะมีประโยชน์อะไร หากทำให้เราต้องแตกแยกกัน ใส่ร้ายกัน เอาชนะกัน เกลียดกัน


หนวก บอด ใบ้ แต่มีหัวใจให้ผู้อื่น จะดีกว่าไหม


ความทุกข์ในห้วงเวลานี้ของเรา คือ ความมืดบอดทางปัญญาและความไร้หัวใจของหลายคนในสังคม การเอาตนเป็นใหญ่ ประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งไร้ชีวิต ไร้ค่าปราศจากความหมาย


ยังดีที่ความทุกข์นี้นำปัญญาอันยิ่งมาสู่หัวใจของเราด้วย

มันทำให้เราเห็นภารกิจและหน้าที่ของชีวิตอย่างคมชัดขึ้น


ชีวิตแสนสั้น นับวันเวลาหายใจลดน้อยลงทุกที ชีวิตของเรามีความหมายต่อเมื่อทำสิ่งที่พ้นไปจากตัวตนเท่านั้น เราตั้งใจจะอุทิศชีวิตเพื่อบ่มเพาะสติ ปัญญา ความกรุณา และ ขันติ ในใจตนและผู้คน เพื่อนๆคนไหนอยากร่วมปณิธานนี้กับเราบ้าง? เราช่วยกัน เกื้อกูลกัน เราไม่จำเป็นต้องทำงานเหมือนกัน หากแต่เดินไปในทิศทางเดียวกันแค่นั้นก็พอ และขอให้มีความมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหวบนหนทางนี้ เราก็ไม่เหงา ไม่อ้างว้างหากมีอุปสรรค


พุทธศาสนาสอนเรื่อง เหตุและปัจจัย ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการระเบิดของฝีหนอง อันเกิดจากเชื้อโรค หรือ ความผิดปรกติบางอย่างในสังคม หากเราไม่สาวไปถึงเหตุเราจะไม่มีวันแก้ไข เปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากเรายังคงแก้ปัญหาในระดับปรากฏการณ์ เหตุการณ์คล้ายๆกัน อย่าง 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ และ สิงหานี้ ก็จะวนเข้ามาในสังคมอีกในอนาคต ดูpattern วงจรของมันสิ ราว 10-15 ปีเห็นจะได้


เราลองคิดเร็วๆ คร่าวๆ เห็นว่า ปัญหาที่แท้อย่างหนึ่ง คือ สภาวะจิตของคนในสังคม ความเห็น ความคิด รูปแบบนิสัยพฤติกรรม เช่นที่อยากยกมาแลกเปลี่ยนตอนนี้ คือ การเรียกร้องสิทธิมากกว่าการตั้งใจทำตามหน้าที่ของตน หลายคนในสังคมขาดความตระหนักเรื่องสาธารณะ คือ ไม่มีจิตสาธารณะนั่นเอง


สื่อสารมวลชนเองก็เช่นกัน เราเรียกร้องให้สังคม กฎหมายพิทักษ์สิทธิในการเสนอข้อมูลข่าวสารของเรา แต่เราเคยมานั่งใคร่ครวญตรวจสอบตัวเองไหมว่า เราได้ทำตามหน้าที่อย่างสุจริต เป็นธรรม และ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน


สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมาก แต่สื่อเองก็เป็นคน มีอคติ มีทิฐิ ตัณหา (ผลประโยชน์) เราจะรายงาน ทำข่าว วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องต่างๆด้วยความตระหนักรู้ในตน และผลที่จะเกิดจากการกระทำของเราได้มากน้อยแค่ไหน


เหตุอันนำไปสู่การบุก NBT มาจากอะไร เราเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องในการทำหน้าที่สื่อ การขาดการตรวจสอบกันเองในวิชาชีพ และอำนาจเงิน บวกอำนาจรัฐที่กุมสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน

ความเร่งรีบในงานและวิถีชีวิต การทำงานอย่างหนูถีบจักร การขาดการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ขาดการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ทำให้สื่อไม่สามารถตั้งคำถามใหม่ๆที่นำไปสู่มุมมองใหม่ๆ ทางออกทางแก้ให้แก่สังคม ไม่อาจนำเสนอมุมมองที่ยังมองไม่เห็น คิดไม่ถึง พวกเราทั้งหลายจึงต้องมีชีวิตวนเวียนในเรื่องเดิมๆ ความเห็นเดิมๆ การแก้ปัญหาเดิมๆ วิธีการพูดเดิมๆ ที่เคยได้ยินมาแต่โบราณ


นักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ ไม่ว่าจะอาชีพใด ก็เหมือนกัน มีตัณหาและทิฐิทั้งสิ้น ใครจะยึดมั่นมากน้อยกว่ากันก็เท่านั้น หากเราหันทวนกลับมาสำรวจตัวเองให้มาก อาจเห็นอะไรดีๆในตัวผู้อื่นมากขึ้น เห็นชั่วในตนมากขึ้นด้วย


ไม่อยากอ้างคำพูดของไอน์สไตน์ที่ใช้กันเกร่อเลย แต่คงต้องยอม เราไม่อาจใช้วิธีคิดเดิมๆแก้ปัญหาที่เกิดจากวิธีคิดนั้นได้


แล้วอะไรเล่าคือวิธีคิดใหม่ สำคัญกว่านั้น เราจะคิดใหม่ได้อย่างไร อะไรจะช่วยให้เราเกิดความคิดใหม่ได้ ที่สำคัญเราปรารถนาที่จะคิดใหม่ ทำใหม่หรือเปล่า บางทีความเก่า ความเคยชินมันก็ง่าย และปลอดภัยดี

การไม่ทำอะไร คือ การกระทำเช่นกัน


เราชอบที่เพื่อนอิสลามคนหนึ่งเคยพูดว่า หากเราปล่อยให้เกิดความอยุติธรรม เราก็คือคนหนึ่งที่ช่วยสร้างให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นด้วย


เราจะทำอะไรเพื่อยับยั้งความอยุติธรรม หรือ บ่มเพาะความยุติธรรมในสังคมอันนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้สติและปัญญาพิจารณา


ส่วนตัวแล้ว เราว่าทุกคนทำอะไรได้มากมายในวิถีทางของเรา หมอ พยาบาล สื่อ นักธุรกิจ ทำอะไรก็ทำไป ขอเพียงแต่มีความตระหนักรู้ในทิฐิของตน มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความกรุณาต่อผู้อื่น คิดถึงตัวเองให้น้อยลง แค่นี้เราว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้นมาก คนไข้จะได้ไม่ฟ้องหมอมากขึ้นทุกวัน คนไม่เกลียดสื่อ นักธุรกิจไม่ทำลายธรรมชาติและจิตรักสันโดษของคน ครูไม่รังแกเด็ก และนักการเมืองเลิกพูดซ้ำซากว่า มาจากการเลือกตั้งและทำเพื่อประชาชนได้แล้ว หาวาทะกรรมใหม่เหอะ พูดจากใจอย่างสุจริต ไม่น่ายากนะ

วันจันทร์, สิงหาคม 25, 2551

ผิดเพื่อรู้ อยู่เพื่อเยียวยา


ภาพและเรื่องโดย กรรณจริยา สุขรุ่ง

ได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งและรู้ว่าเพื่อนกำลังมีความทุกข์ เรารู้สึกเป็นทุกข์เช่นกัน และอยากจะเรียนรู้จากทุกข์นี้ด้วยว่าเราจะมีทางออกหรือเยียวยามันได้อย่างไร

ความทุกข์ที่ว่านั้นคือ ความรู้สึกผิด แน่ใจว่าคงมีหลายคนที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตคงรู้สึกผิด ได้ทำความผิด พลาด พลั้ง เผลอกับใครหรือในเรื่องบางเรื่อง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง

เราเลยลองค้นคว้าว่าในมุมมองของพุทธศาสนาและการปฏิบัติ พูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ที่จะเขียนนี้ไม่ได้มาจากตัวเองนะ จำเขามาบอกต่ออีกที

ความรู้สึกผิดเป็นความรู้สึก ความคิดในแง่ลบ และที่สำคัญในทางพุทธศาสนามันมีรากมาจากความสำคัญมั่นหมายว่า มีเรา มีเขา คืออัตตานั่นเอง ความรู้สึกผิดยึดมั่นเอาตัวเราเป็นผู้กระทำการบางอย่างที่เราเห็นว่าผิด พลาดไป และเราก็รู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง ขาดความมั่นใจ ถึงขั้นเกลียดชังตัวเองได้เลยในบางกรณี

การรับรู้ ตระหนักรู้ว่าเรากำลังรู้สึกผิดนั้น ถือเป็นต้นทางได้เหมือนกัน แต่ต้องเป็นการรับรู้แบบรับทราบ สังเกต อย่าได้จมแช่อยู่ในความรู้สึกนั้น เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการเรียนรู้ หมายความว่า มนุษย์ย่อมทำพลาดกันได้ สิ่งสำคัญคือความสามารถที่จะเรียนรู้ แก้ไขและยกระดับจิตใจ ความรู้สึกผิดนั้นถือได้ว่าเป็นประตูที่เปิดช่องให้เราเห็นทางที่จะเรียนรู้และแก้ไขตัวเอง

พุทธศาสนายกย่องการรู้สึกสำนึกผิดอย่างจริงใจ จริงแท้ ดังมีตัวอย่างคลาสสิก เช่น องคุลีมาลเป็นต้น
ขอให้ตั้งใจขออภัยกับผู้ที่เรากระทำความผิดหรือพลาดไปจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ขอให้นึกขออภัยอย่างจริงจัง และลึกซึ้ง จะต่อหน้าก็ได้หรือทำในใจก็ได้ ทำได้ตลอดกาลแม้ผู้นั้นจะไม่อยู่หรืออยู่ไกลก็ได้ การขอขมาไม่มีกาละและเทศะ ทำได้ทุกครั้งที่รู้สึก เมื่อทำเช่นนี้จะทำให้การสำนึกผิดและการขอโทษมีความหมายอย่างมากในระดับจิต ทั้งจากผู้ที่ขอโทษและผู้ที่เราส่งใจไปขอโทษ

ที่สำคัญในการขอโทษนั้นคือ ความตั้งใจอธิษฐานที่จะตั้งต้นใหม่ในการแก้ความผิดนั้น จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำ แก้ไขใหม่ในทางใดทางหนึ่ง

หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งมีชายสูงวัยกลางคนคนหนึ่งมาร่วมการภาวนา เขาร้องไห้ รู้สึกผิดที่เคยเอาระเบิดไปใส่ในอาหารและทำให้เด็กที่ไม่รู้เรื่องกินเข้าไปและเสียชีวิต เขาทนทุกข์กับเรื่องนี้อยู่ตลอดชีวิตของเขา ไม่อาจลืมหรือให้อภัยตัวเองได้เลย

หลวงปู่บอกว่าเด็กเหล่านั้นได้ตายไปแล้ว แต่เขายังมีโอกาสช่วยชีวิตเด็กอีกตั้งมากมายในโลกที่กำลังลำบาก อดตาย ถูกทำร้าย ทำไมไม่เอาพลังชีวิต ความคิด และจิตใจไปช่วยเหลือเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่และรอคอยความช่วยเหลือ

ชายคนนั้นได้คิดและคิดได้ เขาเริ่มตั้งต้นใหม่ ช่วยเหลือเด็กมากมาย นี่คือวิธีการที่ประเสริฐในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป

เราไม่สามารถย้อนเวลาเพื่อแก้ไขอดีต และเราไม่อาจล่วงรู้อนาคตล่วงหน้าเพื่อที่จะป้องกันสิ่งที่เราไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุด คงเป็น การดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท และหากพลั้งพลาดไปแล้ว ขอเพื่อนจงรีบลุกขึ้นมาแปรเปลี่ยนความทุกข์ในใจให้เป็นพลังสร้างสรรค์

เรายังมีโอกาสอยู่ทุกลมหายใจ คนอื่นก็เช่นกัน หาโอกาสที่จะทำดีในปัจจุบันกันเถอะ ขอให้อดีตเป็นครูและบทเรียน

วันอาทิตย์, สิงหาคม 10, 2551

เทคโนโลยีเพื่อหัวใจสะอาด

เรามักได้ยินบ่อยๆว่าเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าโทรศัพท์ที่ช่วยให้เราติดต่อพูดกันแม้ไม่เห็นหน้า โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต พัดลม ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีชั้นสูงเช่น นิวเคลียร์ การดัดแปลงทางพันธุกรรม

แต่นั่นเป็นประโยชน์ทางกายภาพของเทคโนโลยีเท่านั้น เทคโนโลยีที่ดูแข็ง ๆ เป็นกลไก ไร้ชีวิต อาจช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นมนุษย์ เข้าถึงความรู้สึกอันสูงส่งที่เรียกว่าความกรุณาและปัญญาได้เช่นกัน

เมื่อเสาร์ที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เราไปเที่ยวงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รู้สึกตื่นตาตื่นใจและกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเมื่อได้อยู่ท่ามกลางวัยรุ่นที่แห่แหนกันมาชมงาน (ตามคำสั่งของโรงเรียนมั้ง)

ในงานมีบูทการแสดงงานมากมายหลากหลายด้านในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทดแทน ธรณีวิทยา กายวิภาค ปรมาณู ดาราศาสตร์ เป็นต้น นอกจากการให้ข้อมูลความรู้แบบแห้ง ๆ แล้ว มีความพยายามนำเสนองานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นแบบ interactive เพื่อที่ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (edutainment)

ในบูท 4 D animation มีการจำลองเหตุการณ์จริง 2 แบบ คือ พายุและแผ่นดินไหว โจทย์คือ “เมื่อพายุกระหน่ำ น้ำท่วม เราจะรับมืออย่างไร”

ผู้เข้าร่วมลองประสบการณ์ทั้งสองแบบบางคนพูดว่า “แปลกดี สนุก ตื่นเต้น เหมือนจริงจังเลย ตอนต้นไม้ทำท่าจะล้มนะ เรารีบกระโดดหนี มีeffect น้ำกระเด็นด้วย เราต้องรีบหนีเลยเพราะใส่กางเกงสีขาว กลัวเลอะ”

เราสงสัยว่า หากมีพายุระดับนากีสเกิดขึ้นจริงๆ หรือแผ่นดินไหวแบบเมืองจีน ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ หรือกลัวเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนจะมีอยู่ในใจไหมนะ

นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เช่นนี้ เป็นไปเพื่ออะไร ความสนุก เพื่อแสดงความสามารถทางการประดิษฐ์เทคโนโลยีการเรียนรู้หรือ
และหากเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ ผู้เข้าชมได้เรียนรู้อะไร

จิต ซึ่งเป็นเครื่องไทม์แมชีนประจำตัวของเรา พาเราย้อนกลับไปในอดีตครั้งยังเป็นสาวรุ่นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราไปเที่ยวที่ Universal Studio ที่เมือง Florida อเมริกา ได้ลองเครื่องเล่นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Earthquake ซึ่งเป็นฉากจำลองในหนังเรื่องเดียวกับชื่อ ฉากนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ อย่าง นิวยอร์ก

ผู้เข้าชมต้องนั่งในรถที่เป็นเหมือนตู้ขบวนรถไฟใต้ดิน เมื่อรถเคลื่อนไปสักครู่ก็หยุด แล้วเริ่มรู้สึกว่าทั้งตู้ขบวนสั่นอย่างรุนแรง ตัวเราเอนไปมา เพดานด้านบนของสถานีรถแยกออก เห็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่แล่นอยู่บนถนน ค่อยๆร่วงลงมา ไถลเรื่อยๆจะชนกับตู้ขบวนที่เรานั่ง แต่ก็กระแทกเข้ากับเสาคาน มีน้ำที่ดูเหมือนน้ำมันหยดติ๋งๆ แล้วเกิดประกายไฟระเบิด ยังไม่หมด ท่อน้ำประปาแตกน้ำทะลักไหลบ่าเข้ามาในสถานี เหมือนจะกลืนกินรถทั้งขบวนที่เรานั่ง

เสียงกรีดร้องสนั่นหวั่นไหว เหมือนจริงเอามากๆ ตอนนั้นจำได้ว่า ยืนตาโต มองทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น หัวใจสั่นระรัว รู้อย่างเดียวว่าไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากรอความตาย

ทุกอย่างสิ้นสุดที่จุด climax นี้ แล้วค่อยๆย้อนกลับสุ่สภาพเดิมเหมือนกรอเทปกลับ เราเดินออกมาขาสั่น โชคดีเหลือเกินที่มันเป็นเพียงเครื่องเล่น แต่นั่นก็ทำให้เราสะท้อนใจว่า หากเราอยู่ในเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ผู้ที่เจอหายนะเช่นนี้เขาคงรู้สึกไม่ต่างจากเรา อาจมากกว่าหลายเท่านัก มันไม่ใช่ความตื้นเต้นเร้าใจ แต่กลัวสุดขีด ทุกข์ใจสุดๆ

การเข้าชมหรือเรียกว่าเข้าเล่น Earthquake ช่วยรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นอกเห็นใจ ความกรุณาในหัวใจเรา เราได้เห็นทุกข์โดยที่ทุกข์ยังไม่เกิด และเมื่อเห็นแล้วหากเราได้ทำอะไรต่อไป นั่นน่าจะถือได้ว่า เป็นปัญญา

เมื่อเราสามารถรับรู้ทุกข์ผู้อื่นเฉกเช่นทุกข์ตน เราก็เต็มที่กับการช่วยเหลือในยามทุกข์นั้นเกิด ไม่ว่าจะกับใคร ชาติไหน ศาสนาใด
และเมื่อเรารู้ว่าภัยพิบัตินั้นนำทุกข์เช่นใดมาให้เราได้บ้าง หนทางแห่งความกรุณาจะน้อมนำให้เราเดินไปบนเส้นทางแห่งปัญญาเพื่อหาทางออกว่า เราจะช่วยเหลือกันได้อย่างไรในเวลาวิกฤตเช่นนั้น และจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อป้องกันภัยเหล่านั้นให้ไม่เกิดหรือลดความรุนแรงลง

ที่สำคัญที่สุด คือ เราจำเป็นที่ต้องฝึกฝนอบรมจิตใจ เรียนรู้ที่จะเผชิญความตายอย่างสง่างามและสงบ และช่วยเกื้อกูลให้เพื่อนๆ ญาติพี่น้องที่ต้องตายกันสักวันให้เตรียมตัวกันไว้ด้วย

เห็นได้ว่า เทคโนโลยีทำได้มากกว่าอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตแบบโลกๆ เทคโนโลยีสามารถกล่อมเกลาจิตใจคนได้
แต่จะทำเช่นนั้นได้ ผู้ผลิตคงต้องใส่หัวใจของตนลงไปในเทคโนโลยีนั้น และผู้ใช้เทคโนโลยีเองก็เช่นกัน เราสามารถสร้างเทคโนโลยีเพื่อหัวใจสะอาดได้ เมื่อเรา “ใส่” ใจ

เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ราคาแพงเสมอไป เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ กระบวนการต่างๆ มาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หรือแก้ปัญหา เราจะเห็นเทคโนโลยีของชาวบ้านที่ เอาไม้ไผ่มาปักลงทะเล เป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทำได้ผลดีและราคาถูกไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบมากมาย ระเบิดภูเขาเอาหินมาทำแนวทำนบ
นี่เป็นตัวอย่างเทคโนโลยีง่ายๆ หัวใจสะอาดที่นำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์

ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์นี้ เราก็ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีแห่งหัวใจ ใช้ต้นทุนต่ำ นั่นคือ งานนิทรรศการ “สนทนาในความมืด” Dialogue in the Dark
งานนี้เป็นนิทรรศการ experiential installation ผู้เข้าร่วมจะได้เข้าไปเรียนรู้สัมผัสโลกแห่งความมืดประมาณ 20 นาที สัมผัสโลกธรรมชาติ โลกในเมือง โลกในร้านอาหาร เป็นต้น แล้วจะได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากมาย เรารู้จักร่างกายตัวเองมากขึ้น รู้ถึงศักยภาพของประสาทสัมผัสต่างๆที่มี การทำงานและความสัมพันธ์ของการรับรู้ของประสาทสัมผัสต่างๆ รู้จักใจตัวเอง เห็นความกลัวในใจ และเห็นงดงามและความแกร่งของคนตาบอด รู้จักชื่นชมดวงตาที่ยังเห็นได้อยู่ซึ่งควรค่าแก่การรักษาไว้ด้วย เป็นต้น ที่สำคัญเราได้เห็นว่า สังคมของเราขาดความกรุณาต่อเพื่อนร่วมสังคมอย่างไรบ้าง เราคิดถึงผู้อื่นน้อยมากๆ

การเรียนรู้เช่นนี้ เหนือการบอกเล่า เหนือการอ่านวิจัย ค้นคว้า นี่เอง คือ ความงดงามของ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การทำจริง
ลองทำดู เปิดใจเรียนรู้ แล้วจะได้รู้

งานนิทรรศการนี้ไม่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่สามารถช่วยให้ผู้เข้าชมมีใจสูงขึ้นได้ เลยอยากชวนเพื่อนๆไปเข้าลองประสบการณ์ แต่ถ้าพลาดตอนนี้ไม่เป็นไร เพราะทาง อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติเข้าเช่าลิขสิทธิ์งานนิทรรศการนี้มาจัดถาวร เป็นเวลา 1 ปี ที่จามจุรีสแควร์ โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมปีหน้า 2552 สำหรับนิทรรศการถาวร ผู้เข้างานจะได้ลองใช้ชีวิตในความมืดถึง หนึ่งชั่วโมง หรือกว่านั้น

งานนี้ทำให้เห็นเหมือนที่ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี เขียนไว้ตอนหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของโลก เจ้าชายน้อย ว่า "สิ่งที่งดงามที่สุดไม่อาจเห็นได้ด้วยตา"

งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์จะมีไปจนถึง 22 สิงหาคม ที่ ไบเทค บางนา

โดย กรรณจริยา สุขรุ่ง