วันศุกร์, มกราคม 30, 2552

You Walk, the Country Walks




คลิปวีดีโอของรัฐบาลอินเดีย ดูแล้วน่าทึ่งมากในวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนของเขา

วันอังคาร, มกราคม 20, 2552

เตือน! มลพิษกรุงเทพเกินมาตรฐาน


มลพิษกรุงเทพเกินมาตรฐาน
(โปรดเลี่ยงการหายใจนอกอาคาร - อุ๊ )


ดร. วนิสา สุรพิพิธ แห่ง ศูนย์ข้อมูลระบบเครือข่ายคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งข่าวมาเตือนชาวกรุงเทพว่า
"ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีมลพิษทางอากาศเกินระดับมาตรฐานถึง 6 สถานี โดยเฉพาะในเขตดินแดง และพระประแดง กรมควบคุมมลพิษจึงขอเตือนประชาชนให้ระวัง ดังนี้
บุคคลทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังภายนอกอาคาร
ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจควรอยู่ในอาคาร
เด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคาร
ขอความร่วมมือประชาชน งดการเผาในที่โล่ง
ลดการขับขี่ยวดยานพาหนะส่วนบุคคล ร่วมกันใช้รถสาธารณะ เพื่อบรรเทาปัญหา"


"Today Bangkok Air Quality is exceeding Thailand National Ambient Air
Quality Standard for 6 stations across the area, particularly Din-deang and Pra-bradaeng, Samutprakarn.
We advise the public to avoid outdoor exercise, elderly and people with respiratory problems are particularly at risk and should stay indoor.
We ask open burning to be banned completely.
Please, consider use public transport,
instead of driving private vehicles where possible."

วันจันทร์, มกราคม 19, 2552

พุทธธรรมสำหรับวัยรุ่น

สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองขอแนะนำหนังสือ พุทธธรรมสำหรับวัยรุ่น ชื่อ ชีวิตตื่นรู้ โลกเบิกบาน [Wide Awake]เขียนโดย ไดอาน่า วินสตัน และแปลโดย นุชจรีย์ ชลคุป

หนังสือเล่มนี้แม้จะเขียนให้วัยรุ่นอเมริกันเป็นสำคัญ แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับวัยรุ่นไทยด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นพ่อแม่และครูบาอาจารย์ที่มีลูกและศิษย์เป็นวัยรุ่น จึงควรศึกษาหาประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน อย่างน้อยก็อาจให้แนวทางในการอธิบาย และชักนำให้เขาเหล่านั้นรู้จักตนเอง ค้นพบสาระที่แท้ของชีวิต และเข้าถึงความสุขที่ประณีต ซึ่งไม่เพียงนำไปสู่ชีวิตตื่นรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนให้โลกเบิกบานด้วย --- พระไพศาล วิสาโล

พิเศษ ! สำหรับแฟนหนังสือโกมล ซื้อหนังสือที่ร้านโกมลหรือสั่งซื้อทางไปรษณีย์

ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ ถึง วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๒

สมาชิกได้รับส่วนลดพิเศษถึง ๓๐%

การ์ตูนโทรทัศน์ : พื้นที่สื่อ พื้นที่เสี่ยงของเด็กไทย

การ์ตูนเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่เหมาะกับเด็กก่อนวัยเรียน นอกนั้นพบ ความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ รวมถึงมีเรื่องเพศในเนื้อหาการ์ตูนแทบทุกเรื่อง


ผลการศึกษาของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) พบว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของเดือนตุลาคม ในฟรีทีวีทุกช่อง พบการ์ตูน 35 เรื่อง รวมเวลาออกอากาศ 1,052 นาที / สัปดาห์ หรือเฉลี่ยเพียง 1.74% ของรายการโทรทัศน์ทั้งหมดรวมกัน

ทว่าสัดส่วนตัวเลขเพียงเล็กน้อยนี้ กลับพบความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจและวัตถุ ภาษาลามก หยาบโลน รวมถึงมีเรื่องเพศในเนื้อหาการ์ตูนแทบทุกเรื่อง โดยพบว่ามีการ์ตูนเพียง 3 เรื่องเท่านั้น ที่เหมาะกับเด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 3-6 ขวบ

“การ์ตูนบางเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สร้างนิสัยการใช้ความรุนแรงให้เด็กผู้ชาย จากการเลียนแบบฮีโร่ของพวกเขา ส่วนตัวการ์ตูนบางเรื่องมีการแต่งกายวาบหวิว ทำให้เด็กสนใจเรื่องเพศก่อนวัยอันควร รวมถึงการ์ตูนทางทีวีจากต่างประเทศ มีบทแปลภาพยนตร์คำพูดที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นคำธรรมดา ที่เด็กสามารถพูดได้ ส่วนหนึ่งเพราะจำมาจากการ์ตูนนั่นเอง เมื่อการ์ตูนมีอิทธิพลต่อเด็กมาก แต่หากพิจารณาจากพัฒนาการ จะเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถแยกแยะอะไรดี ไม่ดี ควรจดจำหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาการ์ตูนเด็ก ของมีเดียมอนิเตอร์” นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าว

สำหรับการศึกษานั้นใช้การบันทึกเทปออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงของฟรีทีวีทุกช่อง ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2551 จากนั้นศึกษาเนื้อหารายการด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยใช้ระเบียบวิธีศึกษาที่ออกแบบไว้ พร้อมทั้งศึกษาผ่านกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับ 8 สถาบันการศึกษา และ 5 เครือข่ายด้านเด็ก จากนั้นจึงวิเคราะห์และสรุปผล

การ์ตูนที่ดีเป็นอย่างไร
คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้ศึกษาเมื่อ พ.ศ.2532 ถึงลักษณะการ์ตูนที่ดีว่าควรมีลักษณะสำคัญดังนี้
1) ส่งเสริมการค้นคว้า และความคิดที่เป็นที่เป็นวิทยาศาสตร์
2) การหลีกเลี่ยงเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ วิญญาณ โชคลาง อันหาเหตุผลที่จะพิสูจน์ความจริงมิได้
3) เนื้อหาการ์ตูนควรมีลักษณะใฝ่สัมฤทธิ์ หมายถึง ตัวเอกของเรื่องมีชีวิตที่ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จในบั้นปลายท้ายเรื่อง
4) มีเนื้อหาธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม การนำเสนอในลักษณะนี้ ไม่ควรจะใช้วิธีการสอนโดยตรง เพราะจะทำให้น่าเบื่อ แต่ควรแทรกไว้ในพฤติกรรมของตัวละครต่าง ๆ ไม่ว่าจะตัวเอกหรือตัวร้าย
5) ส่งเสริมให้เป็นคนมีเมตตา ปราณี รักธรรมชาติ เคารพในสิทธิหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคน
6) นำเสนอเรื่องที่เป็นจริง มิใช่เรื่องชวนฝัน

ยังมีข้อมูลบางส่วนจากนักวิชาการที่ศึกษาถึงความสำคัญและความทรงพลัง ของโทรทัศน์ และสื่อที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก โดย ดร.ดิมิทรี คริสทาคิส นักวิจัยชาวสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องนี้ในเว็บไซต์สถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็กซีแอตเติล (www.seattlechildrens.org) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549

จากการศึกษากับเด็กชาย 184 คน อายุประมาณ 2-5 ปีที่ดูโทรทัศน์รายการที่มีความรุนแรงวันละ 1 ชั่วโมง จะมีโอกาสการเป็นคนก้าวร้าวเพิ่มขึ้น 3 เท่า มากกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ดูรายการที่มีความรุนแรง แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ปรากฏกับเพศหญิง

ดร.ดิมิทรี คริสทาคิส พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ละเลยการดูเนื้อหารายการโทรทัศน์ว่ามีความเหมาะสมกับกลุ่ม อายุของเด็กหรือไม่ เด็กในช่วงนั้นไม่สามารถแยกแยะเรื่องที่เป็นแฟนตาซีออกจากความจริงได้ และจำเป็นต้องมีคนอธิบายให้ฟัง

ความรุนแรงในการ์ตูนสอนเด็กว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสนุก โดยไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมา ซึ่งต่างจากความเป็นจริงที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นหลังจากโดนกระทำรุนแรง

โครงเรื่องหลวม ลักษณะเด่นบนความด้อยของการ์ตูนไทย ผลจากการศึกษาในการ์ตูนทางฟรีทีวีไทย 35 เรื่อง พบว่ามีการวางโครงเรื่อง (Plot) จำแนกเป็น 8 ประเภท คือ การผจญภัย, เรื่องราวในโรงเรียน ชุมชน และสังคม, เรื่องราวในครอบครัว, เรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนฆาตกรรม, นิยายปรัมปราและนิทานพื้นบ้านไทย, ต่อสู้, มุ่งเน้นให้ความรู้เฉพาะเรื่อง และประเภทสุดท้ายเรื่องราวชีวิตประจำวันของเด็ก

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการ์ตูนไทยนั้นจะให้ความสำคัญในการวางโครงเรื่อง น้อยมา
ก เห็นได้จากการ์ตูนบางเรื่องมักมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับแก่นเรื่อง (Theme) เช่น การ์ตูนประเภทจบในตอนจะมีการนำเสนอเนื้อหาแต่ละตอนไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรืออาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะใช้ตัวละครหลักชุดเดียวกันก็ตาม

นอกจากนี้ในการ์ตูนเรื่องยาวบางเรื่องยังให้ความสำคัญกับประเด็นปลีกย่อย มากกว่าการดำเนินเนื้อหาตามแก่นเรื่องที่วางไว้ เช่น การ์ตูนที่เกี่ยวกับวรรณคดีไทย จะให้ความสำคัญกับเรื่องความรัก เพศ มุขตลก มากกว่าเรื่องคุณงามความดีหรือความสามารถของตัวละครในวรรณคดี ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า การ์ตูนไทยยังมีลักษณะของละครไทยอยู่นั่นเอง

หากมองตามหลักการ์ตูนที่ดี ด้านเนื้อหาการ์ตูนควรมีลักษณะใฝ่สัมฤทธิ์ จะพบว่าเป็นจุดเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่น และการ์ตูนตะวันตกที่ตัวละครหลักมีความตั้งใจจะประสบความสำเร็จอย่างใดอย่าง หนึ่งให้ได้ แต่ในการ์ตูนไทยกลับไม่พบเลยตลอด 1 เดือนของการศึกษา

• ความรุนแรง อคติ เพศ ภาษา เป็นเรื่องธรรมดาในการ์ตูน ?

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสื่อสำหรับเด็ก แต่การ์ตูนก็มีเรื่องเพศแฝงอยู่เช่นกัน โดยถูกเสนอผ่านการแต่งตัวที่วาบหวิว เน้นสัดส่วนของผู้หญิง ทั้งยังมีลักษณะการพากย์ที่ส่อในทางเพศ ลามก สัปดน รวมถึงมีการตอกย้ำเรื่องภาพตัวแทนของเพศหญิง ชาย กับบทบาทหน้าที่ตายตัว ผ่านภาพที่นำเสนอซ้ำ ๆ ได้แก่
ความเป็นพ่อต้องสุขุม ใจเย็น
ขณะที่แม่จะเป็นพวกเจ้าระเบียบ จู้จี้ ขี้บ่น หรือหากเป็นเด็กหญิงจะขี้แย
ส่วนเด็กชายจะห้าว สนุกสนาน เกเร สิ่งสำคัญอีกประการที่แฝงอยู่ในการ์ตูนแทบทุกเรื่องก็คือ

ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้กำลัง การต่อสู้ด้วยอาวุธ อุปกรณ์ กระทั่งทำให้ได้รับบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิต ซึ่งอาการบาดเจ็บนั้นแยกออกเป็นลักษณะการเจ็บจริง – เสียชีวิตจริง และบาดเจ็บแบบแฟนตาซี คือเจ็บแล้วหายได้ หรือถูกกระทำอย่างรุนแรงแต่ไม่ตาย หรือตายแล้วฟื้นในที่สุด โดยพบว่ามีการ์ตูนเรื่องเดียวที่ไม่มีความรุนแรง นั่นคือ ไอน์สไตน์จิ๋ว (ช่อง 7)

รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า ความรุนแรงไม่ควรมีในการ์ตูน เพราะเป็นสื่อสำหรับเด็กซึ่งยังไม่มีวิจารณญาณในการรับชมที่ดีพอ และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะนั่งดูโทรทัศน์กับเด็กเป็นประจำ การ์ตูนจึงควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงาม

เด็กควรเสพงานศิลป์เพื่อความอ่อนโยนของจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนที่เป็นหนังสือหรือว่าโทรทัศน์ผู้ผลิตก็ต้องคำนึงถึง ด้านนี้

“หลานเคยถามว่า ที่การ์ตูนใช้พลังต่อสู้กัน หรือใช้อาวุธแทงฝ่ายตรงข้ามจนทะลุทำไมไม่ตาย แล้วถ้าทำตามแบบนั้นจะตายไหม หรืออยากกระโดดจากที่สูงๆ แล้วเหาะเหมือนการ์ตูนจะได้ไหม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความพร้อมของเด็กแต่ละช่วงอายุไม่เหมาะกับการรับชมความรุนแรง ไม่ได้ห้าม หรือต่อต้านการดูการ์ตูน แต่ทำอย่างไรให้เด็กได้ดูอย่างพอดี และได้ดูในสิ่งที่ดีพอ ผู้ปกครองต้องรอให้ฐานสติปัญญาของเด็กมั่นคงเสียก่อน ให้เจริญเติบโตพร้อมสิ่งดีๆ เมื่อถึงวัยที่สมควรก็สามารถดูทีวีได้” รศ.กุลวรา กล่าว

• มองเชิงบวก จะเห็นด้านดีนั้นมีอยู่ ใช่ว่าจะเห็นเฉพาะด้านลบเท่านั้น ผลการศึกษายังสะท้อนด้านดีทั้งการ์ตูนไทย – เทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของการ์ตูนไทยนั้นถือว่ามีความโดดเด่น ซึ่งหากมองในภาพรวม จะพบด้านดีของการ์ตูนอยู่หลายด้าน อาทิ การช่วยเหลือผู้อื่น, การเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีมิตรภาพ, รักการเรียนรู้, มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน, ขยันหมั่นเพียร, รักสิ่งแวดล้อม, มีความสามัคคี, มีความกล้าหาญ, รู้จักสำนึกผิด และยึดมั่นในความดี

นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าการ์ตูนมีด้านร้าย ความรุนแรงเสมอไป เพราะการ์ตูนดีๆ นั้นมีอยู่ และพฤติกรรมการเลียนแบบการ์ตูนที่เข้ามาในชีวิตของเด็กแต่ละคนนั้น สักวันหนึ่งจะหายไปตามวัยและวุฒิภาวะที่มากขึ้น และเชื่อว่าไม่มีใครที่จะเลียนแบบการ์ตูนเสมอไป

“ความรุนแรงในการ์ตูนที่เป็นแบบธรรมะชนะอธรรมนั้นก็มีด้านดี และแน่นอนคือทำให้เด็กเป็นคนดีมากกว่าคนไม่ดี เพราะใครๆ ก็อยากเป็นพระเอก” นายอรุณฉัตร กล่าว

โมเดลการ์ตูนดี ทางออกที่ต้องคิดและทำร่วมกัน นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้ความเห็นว่า ควรหาโมเดลหรือชุดความรู้เกี่ยวกับการ์ตูนที่ดีมาเป็นแนวทางในการทำงานของผู้ผลิตการ์ตูน เพื่อตอบสนองความต้องการและการรับรู้ให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย “การ์ตูนดีที่ดูแล้วพอใจคืออะไร อยากให้นำการ์ตูนที่บอกว่าดี หรือไม่ดีนั้นมาให้เด็กดูแล้วเปิดเวทีวิจารณ์ว่าเด็กต้องการอะไร

เราควรมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นในการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ช่อง NBT สามารถส่งเสริมคนทำการ์ตูนด้วยการให้เวลาในการฉายฟรี เพราะเป็นช่องของรัฐ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน เพื่อเปิดช่องทางให้คนทำการ์ตูน ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นธุรกิจ” นายวัลลภ กล่าว

ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล นักจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า ผู้ผลิตการ์ตูนควรคำนึงถึงการรับรู้ของเด็กในแต่ละวัย เพราะจะทำให้แก่นเรื่องมีความชัดเจน อีกทั้งการสร้างความรู้ต้องสอดคล้องตรงกับประสบการณ์การเรียนรู้และวัยของ เด็ก เพราะความสนุกของเด็ก 3 ขวบ กับเด็ก 10 ขวบนั้นแตกต่างกัน

ขณะที่ข้อเสนอแนะจากวิทยากรตลอดจนผู้เข้าร่วมสัมมนายังเห็นว่า การ์ตูนที่จะนำมาออกอากาศ ควรมีการศึกษาข้อมูลและสำรวจผู้ชมก่อน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้อย่างเหมาะสม คำนึงถึงพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ยัดเยียดเนื้อหาจนเกินไป

นอกจากนี้ ไม่ควรมีโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายหรือจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ ปรากฏในรายการการ์ตูนเด็ก เช่น โฆษณาถุงยางอนามัย โฆษณาเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ รายการการ์ตูนจะต้องมีการกำหนดเรตติ้งที่ถูกต้องตรงกับเนื้อหาที่ออกอากาศ อย่างแท้จริงไม่ใช่มุ่งกำหนดเรตติ้งเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดเท่านั้น

ข้อมูลมาจาก การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“รายการการ์ตูนเด็กในฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9, NBT และ TPBS)” เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เพื่อร่วมศึกษาเนื้อหาและค่านิยมที่ปรากฏในรายการการ์ตูนเด็ก
โดยมีอาจารย์และนิสิต นักศึกษา 8 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต นอกจากนี้มีเครือข่ายองค์กรด้านเด็กอีก 5 องค์กร คือ กลุ่มระบัดใบ จังหวัดระนอง, โครงการบริโภคสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กลุ่มไม้ขีดไฟ จังหวัดนครราชสีมา, เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ประสานงานสำนักข่าวเด็ก จังหวัดพะเยา

โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)
เลขที่ 31 อาคารพญาไท ชั้น 5 ห้อง 517-518 ถนนพญาไท
เขตราชเทวี กทม. 10400 โทรศัพท์ 02-246-7440,
โทรสาร 02-246-7441 website: www.mediamonitor. in.th
e-mail: mediamonitorth@ gmail.com

วันอังคาร, มกราคม 06, 2552

ทุกคำถาม มีที่มา

Quality questions create a quality life. Successful people ask better questions, and as a result, they get better answers. ~ Anthony Robbins

คำถามสร้างอนาคตได้
คำถามเป็นเข็มทิศให้เราแสวงหาคำตอบ
คำถามสำคัญอย่าง เราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ได้นำให้ เจ้าชายสิทธัตถะ แสวงหาคำตอบจนบรรลุเป้าหมาย และ แสดงธรรมสั่งสอนต่อพวกเราได้ผ่านกาลเวลา
คำถาม สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมได้
เราจะตั้งคำถามอะไร และมีชีวิตอยู่กับคำถามเช่นไร
................................
วันก่อน ได้นั่งชมรายการโทรทัศน์ เป็นการสัมภาษณ์คนในรัฐบาลเรื่องเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง
ผู้ีู่้ดำเนินรายการถาม แขกรับเชิญว่า "ประเทศไหนๆ ระบบใดๆ ก็มีการคอร์รัปชั่นด้วยกันทั้งสิ้น แล้วมันจะเป็นไปได้หรือที่เราจะกำจัดการคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไป?"
........
เรานั่งนิ่งอยู่กับคำถามของผู้ดำเนินรายการคนนี้ ไม่ใช่เพื่อพยายามหาคำตอบให้ แต่เพื่อเข้าใจมูลเหตุของการถามคำถามนี้
ผู้ดำเนินรายการดูเหมือนจะมีสมมติฐานในใจอยู่แล้วว่า การคอร์รัปชั่นไม่อาจแก้ไขได้ เป็นไปได้ยากด้วยซ้ำที่ใคร รัฐบาลชุดใดจะทำอะไรกับความชั่วร้ายฝังลึกนี้ได้
ถ้าผู้ดำเนินรายการนั้น ๆ มีสมมติฐานอย่างว่าจริง ๆ คำถามของเราคือ แล้วจะถามเพื่อให้ได้อะไรขึ้นมาจ๊ะ ก็ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ต้องถาม ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไร

หลายครั้งเราขาดการสำรวจคำถามของตนเอง ว่ามาจากพื้นความคิดอะไร เป้าหมายของการถามเป็นไปเพื่ออะไร เจตนาในการถามคืออะไร เมื่อขาดการใคร่ครวญต่อคำถามของตนเอง เราจึงมีอาการถามแบบอัตโนมัติ แบบละเมอ ๆ ซึ่งอาการอย่างนี้ เป็นอาการระบาดของคนปัจจุบันที่ขาดโอกาสและเวลาในการนิ่งเงียบ ใคร่ครวญ ไม่มีช่องว่างทางความคิด จึงไม่สามารถเห็นความคิด คำถามอะไรใหม่ๆ ได้ จึงต้องเอาของเก่ามาผลิตซ้ำ เปิดเทปม้วนเก่าไปมา
คำถามที่ย่ำซ้ำรอยเกวียนที่เราต่างเดินมาแล้วกับโลกทัศน์เดิม ๆ กระบวนทัศน์เดิมๆ จึงไม่อาจก่อให้เกิดดอกผลอะไร ซ้ำยังพาลให้หมดหวังไปเสียอีก

.....
เราจึงมีคำถามชวนกันคิดต่อว่า

หากเรารู้อยู่ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ แก้ไขยากและซับซ้อนเหลือเกิน
และ่เราก็ตระหนักว่า ปัญหานี้สมควรได้รับการแก้ไข บรรเทา เยียวยา

เราจะถามคำถามอะไร ที่ให้ทุกคนตระหนักรู้และเห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และน่าจะหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดแนวทางที่เป็นไปได้

คำถามอะไรที่จะชวนให้คนเห็นความหวังและเกิดแรงบันดาลใจที่จะช่วยกันแก้ปัญหานี้

คำถามอะไรที่จะก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ต่อสังคม

การปฏิบัติเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต (Integral Life Practice)

การปฏิบัติเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต (Integral Life Practice)

เสาร์ที่ 17 มกราคม 2552 เวลา 07.00-12.00น.

สวนหลวง ร.9 บริเวณศาลาริมตระพังแก้ว ข้างสวนเชิงผา

ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม


จัดโดย เอ๋ ดร. พงษธร ตันติฤทธิ์ศักดิ์ หนึ่งในผู้สนใจสร้างชุมชนแห่งการปฏิบัติใหม่ โดยใช้ชื่อว่า SILP หรือ Sangha of Integral Life Practice ซึ่งอาจารย์หนุ่มคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก กูรุ เคน วิลเบอร์ นักปรัชญา นักจิตวิทยา และนักทฤษฎีคนสำคัญของโลก ผู้พัฒนาทฤษฎีบูรณาการ

กลุ่ม SILP ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของยุคสมัยปัจจุบันที่คนแยกขาดจากการปฏิบัติ แม้ปฏิบัติก็แยกขาดจากชีวิต ชีวิตที่มีอยู่ก็แยกขาดจากผู้คนอาจารย์เอ๋กล่าว

ชีวิตโดยตัวมันเองแล้วมีอิสรภาพและความเต็ม (Freedom & Fullness) เพียงแต่ยุคสมัยพาเราหลงลืมมันไปเท่านั้น การปฏิบัติของ SILP จึงเป็นการคืนกลับสู่อิสรภาพและความเต็ม อันมีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน

อาจารย์เอ๋ เชิญชวนให้เรามาร่วมกันปฏิบัติโดยถือหลัก 3C คือ

Commitment --- ใจของผู้เข้าร่วม มีความมุ่งมั่นเอาจริงกับการปฏิบัติ

Continuity --- การปฏิบัติมีความต่อเนื่อง ทำซ้ำ และสม่ำเสมอ

Community --- กัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในหนทางแห่งการปฏิบัติ

กำหนดการ

07.00-08.00 Check-in และแนะนำการปฏิบัติเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต (ILP)

08.00-09.00 Body Module

09.00-09.15 พัก

09.15-10.00 Spirit Module

10.00-10.45 Shadow Module

10.45-11.45 Open Dialogue (Mind & Relationship Module)

11.45-12.00 Check-out และอุทิศส่วนกุศล

การเตรียมตัว:

1. สวมเสื้อ กางเกง และรองเท้าที่สบายและสามารถออกกำลังกายได้ เช่น วิ่งจ๊อกกี่ ชี่กง โยคะ

2. ถ้ามีเสื่อ หรือเสื่อโยคะ ให้นำมาด้วย

3. ขวดน้ำดื่ม (บริเวณนัดพบมีร้านขายน้ำและขนมด้วยเช่นกัน)