วันพุธ, กุมภาพันธ์ 21, 2550

เพื่อนริมระเบียง


ามว่างช่วงหลังมานี้ แทนที่จะเข้าร้านหนังสือ ข้าพเจ้ากลับนิยมเดินชมต้นไม้ แล้ววันหนึ่งก็พบว่า – เป็นไปได้อย่างไร ที่เรารู้จักต้นไม้อยู่ไม่กี่ต้น และไม่เคยแยกความแตกต่างระหว่างใบกระเพรากับโหระพาได้เลย สหายร่วมทางของข้าพเจ้าช่วยเลือก โมก ชบา พุด และกล้วยไม้จำพวกหวาย เป็นต้นไม้ประเดิมสำหรับมือใหม่หัดปลูก หลังจากจัดใส่กระถางเรียงไว้บนระเบียงห้องพัก พิธีกรรมใหม่ของทุกเช้าและเย็นคือ การรดน้ำต้นไม้และเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลง ทุกวันมีดอกและใบร่วงเหลืองโรย ทุกวันมีกิ่งตาและหน่อใหม่แทงยอด และทุกวัน ลมฟ้าอากาศก็ไม่เหมือนกัน บางกระถางต้องขยับที่วางใหม่ให้เหมาะกับปริมาณแสง บางกระถางต้องลิดกิ่งใบให้แตกใหม่ บางกระถางต้องคอยดูเพลี้ย ไม่ให้มีมากเกินจำนวนมด ภาวะสมดุลตลอดกาลนานคงไม่เคยมี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย คงต้องอาศัยการใส่ใจเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อก่อให้เกิดการปรับตัวที่เหมาะสมทันการณ์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนเลี้ยงต้นไม้ส่วนใหญ่พูดคุยกับต้นไม้ และไม่คิดว่าการพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตร่วมโลกที่สวยงามน่ารักอย่างต้นไม้เป็นเรื่องบ้า สำหรับคนในเมืองใหญ่และใช้ชีวิตอยู่ในห้องพักคนเดียว การมีเพื่อนเป็นสิ่งมีชีวิตลำตัวเขียวและมีอวัยวะสืบพันธุ์ (ดอก)สีต่างๆ ช่างเป็นเรื่องอันน่ารื่นรมย์เสียนี่กระไร เช้าวันที่ชบาดอกแรกคลี่กลีบซ้อนออกมาทักทายโลก ข้าพเจ้าก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทกลอนบทนี้

๏ ชบายิ้มหยอกเย้าแต่เช้าตรู่ ชื่นชมพูชูช่อจีบกลีบแก้มสวย
แย้มยั่วยิ้มพริ้มพรมลมระรวย ช่วยให้รู้ใช่อยู่เพียงเดียวดาย ฯ
๏เจ้าเบิกเจ้าบานแล้วหล่นร่วง หอมแห่งห้วงดวงชีวาใช่ขาดหาย
เจ้าร่วงเพื่อบานใช่วางวาย พิณกรีดสายร่ายบรรเลงเพลงนิรันดร์ ฯ


ยามเย็นย่ำค่ำดึก โมกพวงก็ส่งกลิ่นหอมอวลตลบไปทั้งระเบียง คนขายต้นไม้ย้ำนักย้ำหนาว่าให้ตัดกิ่งทิ้งก้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กิ่งก้านใหม่ได้แตกออก กิ่งก้านยิ่งมาก ดอกก็ยิ่งมาก สงสัยจริงว่าชีวิตคนเราต้องตัดอะไรออกไปบ้าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งดีงามใหม่ ๆ เช่นเดียวกับต้นโมก ในเวลาที่เห็นดอกไม้ ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอม และดูเหมือนจะซาบซึ้งมากขึ้นกับคำกล่าวของ ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามที่ว่า “เมื่อมองไปที่ดอกไม้ เราย่อมมองเห็นปุ๋ยคอก น้ำ เมฆ แสงแดด และแรงงานของคนสวนที่ขันแข็ง” ติช นัท ฮันห์ยังกล่าวอีกว่า “เมื่อเห็นดอกไม้ร่วงโรย เราไม่เคยเสียใจ แต่เมื่อประสบกับความตายหรือความพลัดพรากสูญเสีย เรากลับโศกเศร้า”
ข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่ก็หวั่นใจปนโศกเศร้า ในเมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดใบเหลืองขึ้นมาทั้งต้น ข้าพเจ้าก็มือไม้สั่น ไม่รู้จะช่วยชีวิตเพื่อนต้นไม้ อย่างไร นอกจากถอดออกจากกระถางมาผึ่งแดดไม่ให้รากเน่า และภาวนาให้หายป่วยในเร็ววัน เพื่อนริมระเบียงอีกตัวเป็นเจ้านกตัวใหญ่ที่บินมาเกาะขอบระเบียงเป็นประจำ ซึ่งต่อให้ข้าพเจ้ารู้จักนกเพียงไม่กี่ชนิดก็พอยันได้ว่า นกตัวนั้นไม่ใช่นกเอี้ยงหรือนกพิราบ นกตัวนั้นอาจประหลาดใจที่มีต้นไม้สีเขียวโผล่ขึ้นมาบนแท่งตึกสูง มันคงแวะมาดูว่ามีอะไรให้กินบ้าง ทั้งข้าพเจ้าเองก็ประหลาดใจไม่น้อยว่า เหตุใด ระเบียงเล็กๆ กับต้นไม้เพียงไม่กี่ต้นจึงเชื้อเชิญให้นกตัวนั้นเข้ามาแวะเวียนได้ นอกจากนกตัวใหญ่แล้วก็ยังมีเพื่อนมดตัวน้อย ช่วงหลังๆ เจ้ามดตัวจ้อยเริ่มทยอยหายไปจากห้องพัก ไม่มาตอมอาหารในถังขยะเหมือนเคย เพิ่งมารู้ภายหลังว่า ที่แท้ เพื่อนๆ ก็พากันไปทำรังอยู่ในกระถางนั่นเอง ว่าไปแล้ว หลังจากซื้อต้นไม้มาปลูกได้ไม่กี่สัปดาห์ ดูเหมือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเลยทีเดียว
ระเบียงดูเขียวสดใส อากาศเริ่มเย็นสบาย ห้องพักดูน่าอยู่ มีชีวิตชีวา และที่สำคัญคือมีกติกาเพิ่มขึ้น เป็นต้นว่าเจ้าของห้องจะต้องไม่หายหัวไปจากห้องพักนานเกินสองวัน และแล้ว ห้องพักที่มีคนอยู่ถี่ขึ้นจึงกลายเป็นห้องที่ “มีชีวิต” ขึ้นกว่าเดิม บางครั้ง พอนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ การผ่อนพักสายตากับสีเขียวของต้นไม้ หรือพักดื่มชา เดินชมชื่นช่อดอกใหม่ ก็เป็นของขวัญพิเศษระหว่างวันได้เช่นกัน น่าสนใจว่าทำไมต้นไม้จึงช่วยให้ใจของเราเบิกบานได้ และปรากฏด้วยว่า มนุษย์ทุกแห่งบนโลก ต่างรู้สึกเกี่ยวข้องและผูกพันกับต้นไม้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นอาจเป็นเพราะต้นไม้มี “พลังชีวิต” ที่ไหลเวียนอยู่ภายในตัวเช่นเดียวกับเราอย่างนั้นหรือ อาจารย์สอนรำมวยจีนท่านหนึ่งแนะนำข้าพเจ้าว่า “ในภาวะที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย พลังชี่หรือพลังชีวิตในตัวจะแผ่วเบา ให้ลองเอามือไปสัมผัสกับไม้ใหญ่แล้วโคจรลมปราณ พลังชี่จากต้นไม้จะถ่ายเทเข้ามาในตัวเรา ซึ่งช่วยให้เราสดชื่นหรือเบิกบานขึ้นได้” ข้าพเจ้าเชื่อแม้ยังไม่ได้ทดลอง เพราะเพียงแค่มองเห็นต้นไม้ก็รู้สึกสบายตาสบายใจแล้ว อย่าว่าแต่สัมผัสเลย ต้นไม้เป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจหลายอย่าง เด็กๆ หลายคนฝันใฝ่จะมีบ้านบนต้นไม้ แต่ผู้ใหญ่อย่างวิลเลียม แม็กโดนาฟ และมิคาเอล บราวน์การ์ต หนึ่งสถาปนิกและหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ กลับเลือกเนรมิตต้นไม้ไว้ในบ้านแทน ทั้งคู่เขียนหนังสือชื่อ From Cradle To Cradle: remaking the way we make thingsจนมีชื่อเสียงเป็นที่ลือลั่น พลิกวิธีคิดในวงการออกแบบอุตสาหกรรมอย่างถึงรากถึงโคน พวกเขาเสนอให้สร้างอาคารที่มีคุณลักษณะเหมือนต้นไม้คือ “ให้พลังงานมากกว่าที่ใช้ไป” หลังคาปูด้วยผืนหญ้าเพื่อเก็บซับน้ำและกันความร้อน ทั้งยังดึงดูดให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้ามาอาศัยกลายเป็นสวนธรรมชาติขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย ระเบียงห้องพักของข้าพเจ้ายังไม่มีพื้นหญ้า แต่ก็คิดว่าคงเป็นการดีไม่น้อยหากห้องพักทุกแห่งในเมืองได้รับการออกแบบให้มีสวนเล็กๆ ภายในเช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์จำเป็นอื่นๆ พูดถึงสวนในบ้าน ข้าพเจ้านึกได้ว่าเมื่อคราวเป็นเด็ก ได้มีโอกาสอาศัยอยู่กับยายที่ต่างจังหวัด บ้านเรือนแต่ละหลังล้วนรายล้อมไปด้วยต้นไม้ “ต้นไม้เป็นของกำนัลแลกเปลี่ยนมากกว่าไว้ซื้อขาย” ทว่าทุกวันนี้ หากคิดจะปลูกต้นไม้ทั้งที ดินก็ต้องซื้อ แถมยังต้องซื้อคู่มือปลูกต้นไม้มาอ่านประกอบอีก ภาวะแปลกแยกระหว่างวิถีชีวิตปัจจุบันกับธรรมชาติคงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงรู้จักต้นไม้น้อยต้นเหลือเกิน และทั้งที่หยิบจับหนังสืออ่านวันละหลายเล่ม แต่ข้าพเจ้ากลับไม่รู้สึกหรือสนใจเลยว่า หนังสือที่กำลังถืออ่านอยู่นั้น ทำมาจากไม้ต้นอะไร?

ชีวิตรื่นรมย์ / โพสต์ทูเดย์ / ฉบับ 30 ม.ค.50
ชลนภา อนุกูล
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: