วันพุธ, เมษายน 25, 2550

วิถีแห่งเป้าหมาย


พระอาจารย์เซน ติช นัท ฮันห์ แนะวิถีแห่งความเบิกบานและความสุขในชีวิตประจำวัน ว่าให้เราหัดที่จะ “ล้างจานเพื่อล้างจาน” และ “เดินเพื่อเดิน”
หลายคนที่ได้อ่านแนวทางนี้ในหนังสือ “ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” อดฉงนสงสัยไม่ได้ว่า เราไม่ได้ล้างจานเพื่อให้จานสะอาด หรือเราไม่ได้เดินเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ใดที่หนึ่งหรอกหรือ
สำหรับพระอาจารย์เซน การล้างจานเป็นไปเพื่อการล้างจานเท่านั้น เป็นการใส่ใจอย่างเต็มที่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบัน
เมื่อเราทำสิ่งนั้นด้วยความใส่ใจ จิตใจเบิกบานแล้ว กระบวนการหรือการกระทำนั้นก็จะส่งผลตามเหตุที่กระทำเอง
เมื่อคราวที่ข้าพเจ้าไปฝึกปฏิบัติในสำนักของท่านที่ชื่อว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ประเทศฝรั่งเศส ท่านให้เราทำความรู้สึกขณะล้างจานเหมือนกับว่าเรากำลังสรงน้ำพระพุทธรูป เราประคองจานอย่างนุ่มนวล กวาดล้างเศษอาหารออกจากจานอย่างประณีต ชโลมน้ำ ใช้มือลูบล้างจานอย่างอ่อนโยน เนิ่นนาน และในน้ำสุดท้าย เราจะแช่ภาชนะในน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ท่านก็ให้เรานับลมหายใจสามรอบแทนการจับเวลาตามนาฬิกา
เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ จานที่ล้างก็สะอาด ไม่มีเสียงดังเนื่องจากจานชามกระทบกันขณะล้าง ไม่มีสิ่งใดตกแตก และที่สำคัญผู้ล้างจานก็มีความเบิกบานอยู่กับการล้างจานและลมหายใจ
ในชีวิตประจำวัน เราเคยล้างจานอย่างนี้กันหรือไม่ โดยมาก เราพูดว่าล้างจานเพื่อให้จานสะอาด และการล้างจานเป็นภารกิจเล็กๆ แสนน่าเบื่อ ที่ต้องรีบๆ ทำให้เสร็จๆ ไป แล้วจะได้ไปทำอย่างอื่นต่อ หรือในระหว่างล้างจาน เราก็ไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ
เมื่อลองสำรวจกิจกรรม การงานต่างๆ ในชีวิต เราคงพบแบบแผนเดียวกันนี้อยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าถูกตักเตือนเสมอว่า “ไม่ค่อยกินข้าว เอาแต่กินความคิด คำพูด และรายการโทรทัศน์ที่ดูไปด้วยระหว่างนั้น”
พระอาจารย์ยังบอกให้เราหัดเดินอย่างมีความสุขทุกย่างก้าว สัมผัสความหนักแน่นของผืนดินที่รองรับเรา ชื่นชมเส้นทางที่เราก้าวผ่าน คนที่ร่วมเดินทาง ต้นไม้ริมถนนที่ให้ร่มเงา อย่ามัวแต่เดินพุ่งไปข้างหน้า เพื่อไปให้ถึงที่ที่มุ่งหมายเท่านั้น
ส่วนใหญ่ เราไม่อาจเบิกบานกับการกระทำในปัจจุบันวิถีของเราได้ เพราะเราห่วงหน้า พะวงหลัง คิดล่วงไปถึงปลายทางของงาน ผล เป้าหมาย และเลื่อนลอยไปกับเรื่องอื่นๆ ในอดีต
นี่อาจเป็นผลพวงของการอยู่ในยุคสมัยทุนนิยมอุตสาหกรรม แนวคิดที่เป็นกลไกเครื่องจักร และการทำกำไรสูงสุดทางด้านเศรษฐกิจ เข้าครอบงำมิติอื่นๆ ในชีวิตและวิธีคิดของเรา
ในโครงการ แผนงาน หรือธุรกิจต่างๆ สิ่งสำคัญที่เราคำนึงถึงคือ “เป้าหมาย” ผลที่เราคาดว่าจะได้รับ และปลายทางที่เราปรารถนาจะไปถึง แต่เรากลับไม่ใส่ใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับ “วิธีการ” วิถีแห่งการงานมากนัก
หลายคนคงคุ้นหูกับถ้อยคำทำนองว่า “จะทำอย่างไรก็ได้ที่ให้ผลออกมาตามเป้าหมาย”
เราเห็นคนเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย จึงเอา “งาน” และ “ผลงาน” เป็นตัวตั้ง โดยละเลย “ความสัมพันธ์ระหว่างคน” ด้วยกัน
หากใครไม่สามารถสร้างงานได้ดังคาด คนผู้นั้นก็จะถูกผลักออกนอกวงไป
เมื่อ “เป้าหมาย” คือ “ความสำเร็จ” หรือกำไรสูงสุด แรงกดดันก็ปรากฏ ผลักดันให้คนทำงานมากๆ งานล้นมือ มีการให้รางวัลแก่ผู้บรรลุเป้าหมาย และลงโทษผู้ที่ไปไม่ถึง
สุดท้าย คนก็เครียด เมื่อต้องแข่งขันกันทั้งในและนอกองค์กร
ยิ่งไปกว่านั้น หากจำต้องวัดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยแล้ว หน่วยวัดตัวเลขเชิงประจักษ์จับต้องได้ก็อาจถูกนำมาใช้ เช่น การวัดคุณภาพนักเรียนจากคะแนนเฉลี่ย หรือวัดฐานะความรวยจนจากตัวเลขในบัญชีทรัพย์สิน
บางองค์กรที่ดำรงอยู่เพื่อสร้างสรรค์ความสุข สร้างเสริมสุขภาพและความดีงาม ทว่าคนในองค์กรกลับเคร่งเครียด ไม่มีความสุข เนื่องจากกำลังทำให้เรื่องความสุข ความดี ความงาม กลายเป็น “ตัวงาน” ไม่ใช่วิถีแห่งการงานและชีวิตของผู้คน
การมีเป้าหมาย การคาดหมายผล ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมว่าเราไม่อาจแยก “เป้าหมาย” ออกจาก “วิถี” ได้
เพื่อนคนหนึ่งให้แง่คิดแก่ข้าพเจ้าว่า เรามัวแต่เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ¬หรือกฎหมายที่ดีที่สุด แต่กลับไม่ช่วยกันเสริมสร้างวิถีแห่งประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
น่าตั้งคำถามต่ออีกนิดว่า ในครอบครัว บริษัท องค์กร ไปจนถึงภาคการเมืองนั้น เอาเข้าจริง เราเปิดพื้นที่ให้แก่คนเล็กคนน้อยในสังคมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแค่ไหน หรือเราเรียนรู้ที่จะเคารพและยอมรับว่าพวกเขาคิดต่างจากเราได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ หากเราตั้งเป้าหมายที่จะมีวิถีแห่ง “ประชาธิปไตย” ในใจ แต่เรากลับมุ่งหน้าไปบนหนทางแห่งความไม่เสมอภาค หรือเผลอผูกขาดทางความคิด ต่อให้ไปถึงหลักชัย หมุดหายนั้นก็ไร้ความหมาย
พูดให้ชัดก็คือ หากเราปรารถนาที่จะสร้างสังคมอุดมปัญญา ผู้คนเรียนรู้ที่จะพอ แต่เรากลับส่งเสริมการผลิตเครื่องรางของขลังที่สร้างเม็ดเงินนับพันล้าน ปล่อยให้เมก้าช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ผุดขึ้นมากกว่าจำนวนห้องสมุด สนามกีฬา และสวนสาธารณะ เกิดการใช้งบประมาณมากมายเพื่อจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ผู้คนรู้จักความพอเพียง นั่นแสดงว่าเรายังเห็น “เป้าหมาย” แยกขาดจาก “วิถี”

ในกรณีนี้ แม้ผู้คนในสังคมจะสะกดคำ “ความพอเพียง” ได้ถูกหลักไวยกรณ์ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณภาพทางปัญญาของพวกเขาจะอุดม
“วิถี” จึงเป็น “เป้าหมาย” ในตัวเอง เป็นเป้าหมายที่อยู่ที่นี่ ตรงนี้แล้ว เราทำให้เกิดขึ้นในตัวได้ตลอดเวลา เป็นวิถีกำหนดชีวิตของผู้เดินไปในวิถีนั้น
แต่ละวิถีจะนำไปสู่หนทางและผลของมันเอง บางวิถี มีผลปรากฏในทันที ผลเกิดมากน้อย ดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับเหตุที่ก่อ
บางวิถีใช้เวลานาน กว่าผลจะปรากฏ โดยมาก วิถีไหนที่ผลปรากฏช้าแบบนี้ ผลของมันก็มักมีพลัง ก่อเป็นกำลังค่อนข้างแรงทั้งในทางบวกและทางลบ
คนที่สูบบุหรี่มักไม่รู้สึกว่าวิถีแห่งการสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดปัญ¬หาสุขภาพ กระทั่งสิบปีล่วงเลยจึงพบว่าตนเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ปอดเสื่อมเกินการเยียวยา
การเข้าถึงวิถีจึงหมายถึงการเข้าถึงหัวใจ แก่นแกน และจิตวิญญาณของสิ่งนั้นๆ เราจะเข้าถึงวิถีนั้นได้ก็ด้วยการใส่ใจกับการกระทำอย่างเต็มเปี่ยม หมั่นตรวจสอบวิถีว่าเรายังเดินอยู่บนวิถีนั้นหรือไม่ หลงทางหรือออกนอกเส้นทางแห่งวิถีนั้นไปไกลแล้วหรือยัง
หากนักเรียนเข้าถึงวิถีการเรียนรู้ เขาจะเรียนหนังสืออย่างไร ผลที่จะเกิดกับเขาคืออะไร
หากผู้สื่อข่าวเข้าถึงวิถีแห่งการทำข่าว เขาจะนำเสนอข่าวอะไร และวิธีการนำเสนอจะเป็นอย่างไร
ครูที่เข้าถึงวิถีแห่งการสอน จะสอนอย่างไร และปฏิบัติอย่างไรกับนักเรียนหรือลูกศิษย์ของเขา
ผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิต คุณภาพใจของผู้คน พวกเขาจะมีวิถีการทำงาน วิถีการปฏิบัติตนในงานและในชีวิตของตนอย่างไร

เราเห็นวิถีแห่งการกิน การเดิน วิถีแห่งการขับยวดยานพาหนะ วิถีแห่งการอ่านการเขียน วิถีการนอน การกวาดถนน วิถีแห่งการประกอบธุรกิจ การทำงานเพื่อสังคม และอื่นๆ แล้วเราจะมีวิถีชีวิตเช่นไร
หากย้อนกลับไปอ่านทบทวนคำสอนที่พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ ที่แนะเราข้างต้น ให้เข้าถึงวิถีของการล้างจานอีกครั้ง นั่นคือ การล้างจานเพื่อล้างจาน บางที เราอาจได้คำตอบ ซึ่งเป็นคำตอบเดิมๆ ที่เราเคยตระหนัก ทว่าหลงลืมหรือทำตกหล่นหายระหว่างทาง

กรรณจริยา สุขรุ่ง
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันศุกร์, เมษายน 20, 2550

คนหลายใจ?


เมื่อพูดถึง คนหลายใจ ก่อนอื่นถ้าจะถามว่า หมายถึงอะไร? หากจะให้เดาใจ ผู้เขียนคิดว่าคนส่วนใหญ่คงตอบว่า หมายถึงผู้หญิงหรือผู้ชายก็แล้วแต่ที่มีคู่ครองหรือคนรักหลายคน ถ้าเป็นผู้ชายก็คงหมายถึงผู้ที่มีภรรยาหลายคน เช่นนี้ใช่หรือเปล่า?
ถ้าจะให้ผู้เขียนอธิบายความหมายเกี่ยวกับคำตอบที่กล่าวแล้ว มันน่าจะเป็นเพียงลักษณะหนึ่ง ภายในภาพรูปเรื่องนี้เท่านั้น แต่คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักสะท้อนความคิดให้เห็นว่ามีรากฐานจิตใจ ซึ่งตกอยู่ในสภาพตื้นเขิน
ไม่เช่นนั้นแล้ว หลายครั้งหลายหน หลังจากรับฟังผู้เขียนพูดหรือไม่ก็อ่านจากข้อเขียนคงไม่บ่นว่า มันลึกเกินไปสำหรับการรับฟังแล้ว คงเข้าใจได้ยาก บางคนก็บ่นว่า ผู้เขียนพูดเป็นนามธรรมเหตุไฉนจึงไม่บอกออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อเขาจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจได้ไม่ยาก
คำปรารภที่ได้กล่าวมาแล้วทำให้ผู้เขียนมีโอกาสรู้และเข้าใจถึงความจริงภายในจิตใจของผู้พูดดังกล่าวแล้วว่า บุคคลเหล่านั้น มีความสับสนระหว่างความหมายของรูปธรรมกับรูปแบบ ทั้งนี้และทั้งนั้น ยังรู้ต่อไปอีกว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักตกอยู่ในสภาพยึดติดรูปแบบ ทำให้ก่อความเสียหายแก่การพัฒนาสังคมอย่างหนัก
ถ้าอย่างนั้น น่าจะมีคำถามใหม่ว่า หากเกิดปัญหาดังกล่าว เราควรปฏิบัติอย่างไร? หากผู้เขียนมีผู้คนถามหารูปแบบตนก็คงไม่ตอบ เนื่องจากอธิบายได้ว่า รูปธรรมซึ่งบุคคลผู้หนึ่งเป็นคนกำหนดจากรากฐานตัวเอง สำหรับการรับฟังจากอีกคนหนึ่ง ย่อมตกอยู่ในสภาพที่เป็นรูปแบบ
ส่วนความหมายของรูปธรรมควรคิดและกำหนดจากใจตนเอง ถ้าบุคคลใดนำมาบอกผู้อื่น น่าจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ก็เป็นเพราะผู้บอกมีนิสัยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งสภาพดังกล่าว ย่อมมีผลสร้างความเสียหายให้แก่ตนเองและสังคมเป็นสัจธรรม
อนึ่ง ความหมายของ “คนหลายใจ”ถ้าสามารถมองเห็นได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่ง น่าจะหมายถึงคนที่มีรากฐานจิตใจหยั่งลงไม่ถึงจุดซึ่งมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง รวมเป็นหนึ่งเดียวกันหมด
แม้ผลจากการจัดการศึกษาที่ควรจะทำให้แต่ละคน ซึ่งผ่านพ้นกระบวนการมาแล้ว ทุกวันนี้ส่วนใหญ่มองเห็นศาสตร์สาขาต่างๆ แยกออกจากกันเป็นคนละเรื่อง แต่ไม่สามารถมองหวนกลับมาถึงสภาพที่เชื่อมโยงระหว่างกันและกันอย่างมีเหตุมีผล แม้แต่ความจริงในขณะนี้ที่เราอ้างถึงคำว่า บูรณาการณ์ แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจนก็ไม่เป็นไปตามนั้น เปรียบเสมือนปากว่าตาขยิบโดยไม่เจตนา หากเป็นไปเพราะความไม่รู้
มีตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันขณะนี้ สิ่งนั้นก็คือ การมองเห็นความหมายของ การอนุรักษ์กับพัฒนาว่าเป็นคนละเรื่อง แท้จริงแล้วทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นเรื่องที่อยู่ในวัฎจักรเดียวกันภายในรากฐานจิตใจของมนุษย์แต่ละคน
การอนุรักษ์ควรหมายถึงจิตใต้สำนึกที่หยั่งรู้คุณค่าของสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งปรากฏเป็นความจริงอยู่ในสภาพแวดล้อมของจิตใจแต่ละคน ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนควรใช้ประโยชน์ในด้านการรักษาความมั่นคงเอาไว้ให้เป็นที่พึงในการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคนในระยะยาว
ส่วนการพัฒนาควรหมายถึง ความคิดในการกำหนดวิถีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำสิ่งต่างๆมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและรู้ซาบซึ้งถึงความหมายโดยใช้สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน ไม่เช่นนั้นแล้วการพัฒนาสิ่งทั้งหลายทั้งมวลอาจมีผลนำไปสู่การทำลายปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นที่พึ่งพาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เอง
หากสามารถมองเห็นได้ว่า การอนุรักษ์ร่วมกับการพัฒนา คือวิถีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมจักร โดยมีศูนย์รวมอยู่ในรากฐานจิตใจของมนุษย์แต่ละคนอย่างเป็นธรรมชาติ หากชีวิตใครเข้าถึงสภาพดังกล่าว วิถีการดำเนินชีวิตของผู้นั้น ย่อมนำไปสู่การสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์แก่จิตใจตนเองร่วมกับสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ
คำว่า คนหลายใจ ถ้าสามารถมองเห็นความจริงได้ลึกซึ้งถึงระดับหนึ่ง ควรจะรู้ได้ว่า การจัดการศึกษา ซึ่งดำเนินมาแล้วจนถึงช่วงนี้มีผลทำลายรากฐานจิตใจคนให้ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอยิ่งขึ้นทุกวันจนกระทั่งไม่อาจสามารถพึ่งพาความจริงซึ่งอยู่ในใจของแต่ละคนอย่างเป็นธรรมชาติได้
จากประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนที่กล่าวเข้ามาสนใจอนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้ตนได้พบความจริงจากจุดดังกล่าวว่า ความเข้มแข็งภายในรากฐานจิตใจตนเองร่วมกับการปฏิบัติสามารถนำไปสู่การหยั่งรู้ความจริงของศาสตร์สาขาต่างๆที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้
แม้ในขณะนี้ ตนก็ยังสนใจที่จะค้นหาความจริงจากความแตกต่างระหว่างศาสนา ซึ่งผลจากการเรียนรู้เรื่องนี้ น่าจะช่วยให้ตนสามารถยืนหยัดขึ้นบนขาตัวเอง ซึ่งหมายถึงสัจธรรมในการดำเนินชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจ นอกจากนั้น ผลจากความจริงที่อยู่ในศูนย์รวมจากทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำให้กล้วยไม้ของไทย ซึ่งเริ่มต้นจากแทบไม่มีอะไรเลย นอกจากแรงต่อต้านของกลุ่มผู้มีอำนาจในช่วงเริ่มต้น กลับทำให้กล้วยไม้ของไทยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งถึงนานาชาติ
อนึ่ง ผลจากการปฏิบัติเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้ว มีบางคน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับพื้นดินอย่างเป็นธรรมชาติที่ชายแดนระหว่างไทยกับเขมรได้ปรารภว่า ผู้เขียนเป็นคนมีศาสตร์ทุกสาขาอยู่ภายในรากฐานจิตใจตนเอง ภาพสะท้อนดังกล่าวสอดคล้องกันกับปรัชญาของวิชาสถิติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปรัชญาธรรมชาติ ซึ่งชี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ มีทิศทางของการหมุนวนเป็นวัฎจักร ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะสูญเสียไปทั้งหมด อย่างน้อยย่อมมีหนึ่งเดียวที่ยังคงอยู่ได้ ซึ่งสัญลักษณ์ภายในวิชาสถิติเรียกว่า Degree of freedom (n-1)
ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้เขียนได้นำปรัชญานี้มาใช้ในการอนุรักษ์และพัฒนากล้วยไม้ของเมืองไทย ไม่เช่นนั้นวงการกล้วยไม้คงไม่สามารถก้าวมาได้จนกระทั่งถึงจุดนี้
ดังนั้น บุคคลผู้เห็นความจริงเรื่องนี้จากจิตใจผู้เขียน แม้จะเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง ย่อมมีผลสอนให้รู้ว่า เราไม่ควรดูถูกชีวิตและสิ่งต่างๆที่อยู่ต่ำกว่าเราเมื่อไม่คิดดุถูกก็ย่อมคิดยกย่องเป็นธรรมดา

๔ เมษายน ๒๕๕๐
ระพี สาคริก

ชายหนุ่มผู้แต่งงานกับหมู่บ้าน


หมู่บ้านอุมะจิเป็นหมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาในประเทศญี่ปุ่น ด้วยระยะทางอันไกลโพ้น แม้แต่กรมทางหลวงก็ยังเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะทำถนนตัดผ่าน เมื่อเกิดปัญหาส้มยูสุล้นตลาด หมู่บ้านแห่งนี้จึงถูกทิ้งไว้เบื้องหลังให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง
“ตัวเลขการย้ายออกของคนในหมู่บ้านเริ่มสูงขึ้นทุกที หากเป็นอย่างนี้ หมู่บ้านต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้างที่มีแต่เด็กและคนแก่แน่ๆ ทำยังไงนะ เราถึงจะยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องตามเมืองใหญ่”
ชายหนุ่มคนหนึ่งเริ่มเสาะหาหนทางที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อฟื้นความมีชีวิตชีวาของหมู่บ้านกลับคืนมาให้ได้ เมื่อลองกลับมาทบทวนและใคร่ครวญอย่างช้าๆ เขาพบว่าในชุมชนมีของดีอยู่มากมาย เพียงแต่ยังไม่ได้บอกกล่าวให้คนนอกหมู่บ้านได้รับรู้เท่านั้นเอง
ที่นี่ปลูกส้มยูสุเป็นจำนวนมาก และด้วยความที่ภูมิประเทศเต็มไปด้วยพื้นที่สูงชัน การปลูกส้มจึงไม่ได้อยู่บนพื้นราบเท่านั้น และส้มยูสุเป็นผลไม้ที่มีหนามแหลม บางต้น หนามอาจยาวถึง 4 เซนติเมตรทีเดียว
ที่สำคัญ ในหมู่บ้านมีแต่คนแก่และเด็กจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปดูแลต้นส้มได้ทุกวี่วัน
เพราะเหตุผลอย่างนี้แหละที่ทำให้ส้มยูสุของหมู่บ้านอุมะจิหน้าตาไม่สวย กระดำกระด่าง จะเก็บผลไปขายสดๆ ก็คงไม่มีใครอยากซื้อ
“แต่ก็เพราะการไม่ได้ดูแลใส่ปุ๋ยอย่างนี้หรอกไม่ใช่หรือที่ทำให้ส้มของหมู่บ้านเรามีจุดเด่น” ชายหนุ่มคนเดิมนึก “ส้มยูสุของเราโตมาท่ามกลางอากาศเชิงเขาที่ดี ใกล้แหล่งต้นน้ำ แถมยังไม่มีสารเคมีอีกต่างหาก นี่เป็นความอร่อยที่คนในเมืองคนไม่ได้สัมผัสมานานแล้วแน่ๆ”
คิดได้ดังนั้น เขาก็เริ่มชักชวนเพื่อนบ้านบางคนลงมือทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์ คิดค้น ลองผิดลองถูกอย่างไม่จักเหน็ดเหนื่อย จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน
เริ่มจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ ชาวบ้านอุมะจิสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้หลายสิบรายการ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ชนิดที่ติดอันดับ 10 ผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัดถึง 6 รายการ มียอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามาไม่ได้ขาด ซึ่งเพิ่มมากกว่าวันเริ่มต้นถึง 10 เท่า แถมยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวให้ทั้งคนญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศที่คิดจะสร้างสรรค์ชุมชนยั่งยืนมาพูดคุยเรียนรู้กันด้วย
ชายหนุ่มลองย้อนนึกถึงวันที่ต้องขับรถออกจากหมู่บ้านไปกลางดึกเพื่อจะไปถึงในเมืองตอนรุ่งเช้าด้วยเหตุผลว่าจะได้ประหยัดค่าโรงแรม แถมยังต้องตะโกนขายของแทบทั้งวันแต่ก็ไม่มีใครสนใจแล้ว เขาก็อดยิ้มภูมิใจกับวันดีๆ อย่างนี้ไม่ได้
ยิ่งวันที่หมู่บ้านได้รับรางวัลอาซาฮี ซึ่งเป็นเหมือนโนเบลสำหรับเกษตรกรแล้ว ความตื้นตันยิ่งทบทวีมากขึ้นไปใหญ่ หลายคนถึงกับร้องออกมาว่า “ฉันดีใจที่ได้เกิดมาในหมู่บ้านนี้” เล่นเอาคนที่ได้ยิน น้ำตาซึมด้วยความซาบซึ้งไปตามๆ กัน
คุณลุงโมจิฟูมิ โตทานิ คือชายหนุ่มผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนที่ว่า เขาไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใหญ่โตอะไรเลย อาศัยแค่เพียง “หัวใจที่รักบ้านเกิด” ทุ่มเททำทุกอย่างแบบไม่คิดชีวิตเท่านั้นเอง
จนผู้คนแอบเรียกขานเขาว่า “ชายผู้แต่งงานกับหมู่บ้าน”
เมื่อหมู่บ้านอุมะจิกลายเป็นต้นแบบความสำเร็จ ผู้คนต่างหลั่งไหลไปเรียนรู้ จากชาวบ้านธรรมดาผู้ลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเองก็กลายเป็นวิทยากรผู้คล่องแคล่ว
ทุกครั้งที่คุณลุงโตทานิบอกกล่าวเรื่องราวของหมู่บ้าน แววตาของเขาจะเปล่งประกายเปี่ยมสุขอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้ถูกเล่าซ้ำๆ เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ แต่เขาก็ไม่เคยเบื่อ
แวบหนึ่งของความรู้สึก ฉันถามตัวเองว่า เราได้ทำสิ่งดีงามให้ชุมชนบ้านเกิดของเราอย่างนี้บ้างหรือเปล่า
“บ้านนอกเรามีบางสิ่งบางอย่างที่เมืองใหญ่ทำหายไป เราต้องสร้างบ้านนอกขึ้นด้วยการสนับสนุนข้อดีของเราเอง ความเป็นบ้านนอกก็เป็นจุดขายได้เหมือนกัน“ นั่นเป็นหัวใจสำคัญที่คุณลุงผู้ซึ่งแต่งงานกับหมู่บ้านพยายามบอกกับเราทุกคน
ประสบการณ์การต่อสู้และทำทุกอย่างด้วยพลังของชาวบ้านอุมะจิ ทำให้แรงไฟในใจขนาดเท่าปลายไม้ขีดของฉันพลันสว่างไสวและลุกโชนขึ้น
“เมืองจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง” คำพูดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก้องในความคำนึง
ท่านย้ำเสมอว่า ประชาชนทุกคนมีพลังในตัวของตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการหรือตัวแทนกลุ่มผู้นำความเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ประเด็นก็คือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้แสดงพลังผ่าน “อะไรบางอย่าง” ร่วมกันได้
“การมีส่วนร่วมไม่ใช่การรักษาสิ่งที่ตนชอบเอาไว้ แต่เป็นการทำให้คนท้องถิ่นมีอำนาจ (empower)ขึ้นมาให้ได้” อาจารย์นิธิย้ำ
แต่ปัญหาสำคัญของเมืองอยู่ตรงที่การมี “วัฒนธรรมต่างคนต่างอยู่” ทำให้เกิด “ธุระเธอ-ไม่ใช่ธุระฉัน” หรือที่เคยมีการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า NIMBY (Not In My Backyard) คือจะเกิดอะไรกับคนอื่นก็ช่าง ขอให้ฉันไม่เป็นไรก็พอ ขยะจะอยู่หน้าบ้านคุณก็ไม่เป็นไร ขอแค่อย่าอยู่ในสนามบ้านฉันก็พอ
การเปลี่ยนแปลงหรือความรู้สึกมีส่วนร่วมคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีกระบวนการทำให้เกิด “ธุระเรา” ขึ้นมาเสียก่อน
แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่การเริ่มต้นนั้นจำเป็นเสมอ ดังเช่น เภสัชกรหญิงสุภาภรณ์ ปิติพร แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร์ ผู้นำการพัฒนาชุมชนสมุนไพร ”หมู่บ้านดงบัง” ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้กล่าวว่า การเริ่มต้นคือการกลับไปค้นหารากเหง้าที่แท้จริง เมื่อทุกคนต่างเห็นข้อดีร่วมกัน “พลังของการร่วมกัน” จะเกิดขึ้นมาเอง
ก่อนทิ้งท้ายว่า “การที่ชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้นก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว ไม่ว่างานจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม”
เช่นเดียวกับที่ สุรจิต ชิรเวทย์ แกนประชาคมคนรักแม่กลองและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งจิตใจอันมุ่งมั่นโดยระบุไว้ในหนังสือ “คนแม่กลอง” ว่า
“การที่พวกเราชาวแม่กลองได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อดูแลท้องถิ่นบ้านเมืองของเรา สร้างความตระหนักรู้ และร่วมแก้ไขโชคชะตาของเรา แม้เราจะตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของกระแสการพัฒนาแบบตะวันตก แต่เราชาวแม่กลองก็อาจสร้างความหวังและลงมือแก้ไขปัญหาในส่วนของเรา พร้อมกับสื่อสารให้คนภายนอกได้ทราบว่า คนแม่กลองพึงพอใจที่จะให้บ้านเมืองของตนเต็มไปด้วยต้นไม้ สายน้ำ อากาศบริสุทธิ์ และดำรงรักษาเอกลักษณ์ไว้ให้เป็นเมืองสงบ น่าอยู่ มีแก่นสารของตนเอง ให้ดำรงความเป็น ‘เวนิสตะวันออกแห่งสุดท้ายของประเทศนี้’ เอาไว้ให้ได้ ด้วยการทวนกระแสโลก ตามกระแสธรรม”
ขอเพียงเราต่างกลับไป “ทำความรู้จักบ้านของตัวเอง” ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เราอาจได้พบ “วิธีเริ่มต้น” ในแบบของตนเอง
จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม และคงมีวันที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอเพียงบอกตัวเองว่าอย่าเหนื่อยล้าไปเสียก่อน
ฉันกำลังจะแต่งงานแล้วนะ แล้วคุณล่ะ พร้อมแล้วหรือยัง

หมายเหตุ : อ่านเรื่องราวของหมู่บ้านอุมะจิเพิ่มเติมได้ใน
หนังสือ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ” โดยสนพ.สวนเงินมีมา


ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 10 เมษายน 2550
วิรตี ศรีอ่อน media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)