หมู่บ้านอุมะจิเป็นหมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาในประเทศญี่ปุ่น ด้วยระยะทางอันไกลโพ้น แม้แต่กรมทางหลวงก็ยังเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะทำถนนตัดผ่าน เมื่อเกิดปัญหาส้มยูสุล้นตลาด หมู่บ้านแห่งนี้จึงถูกทิ้งไว้เบื้องหลังให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง
“ตัวเลขการย้ายออกของคนในหมู่บ้านเริ่มสูงขึ้นทุกที หากเป็นอย่างนี้ หมู่บ้านต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้างที่มีแต่เด็กและคนแก่แน่ๆ ทำยังไงนะ เราถึงจะยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องตามเมืองใหญ่”
ชายหนุ่มคนหนึ่งเริ่มเสาะหาหนทางที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อฟื้นความมีชีวิตชีวาของหมู่บ้านกลับคืนมาให้ได้ เมื่อลองกลับมาทบทวนและใคร่ครวญอย่างช้าๆ เขาพบว่าในชุมชนมีของดีอยู่มากมาย เพียงแต่ยังไม่ได้บอกกล่าวให้คนนอกหมู่บ้านได้รับรู้เท่านั้นเอง
ที่นี่ปลูกส้มยูสุเป็นจำนวนมาก และด้วยความที่ภูมิประเทศเต็มไปด้วยพื้นที่สูงชัน การปลูกส้มจึงไม่ได้อยู่บนพื้นราบเท่านั้น และส้มยูสุเป็นผลไม้ที่มีหนามแหลม บางต้น หนามอาจยาวถึง 4 เซนติเมตรทีเดียว
ที่สำคัญ ในหมู่บ้านมีแต่คนแก่และเด็กจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปดูแลต้นส้มได้ทุกวี่วัน
เพราะเหตุผลอย่างนี้แหละที่ทำให้ส้มยูสุของหมู่บ้านอุมะจิหน้าตาไม่สวย กระดำกระด่าง จะเก็บผลไปขายสดๆ ก็คงไม่มีใครอยากซื้อ
“แต่ก็เพราะการไม่ได้ดูแลใส่ปุ๋ยอย่างนี้หรอกไม่ใช่หรือที่ทำให้ส้มของหมู่บ้านเรามีจุดเด่น” ชายหนุ่มคนเดิมนึก “ส้มยูสุของเราโตมาท่ามกลางอากาศเชิงเขาที่ดี ใกล้แหล่งต้นน้ำ แถมยังไม่มีสารเคมีอีกต่างหาก นี่เป็นความอร่อยที่คนในเมืองคนไม่ได้สัมผัสมานานแล้วแน่ๆ”
คิดได้ดังนั้น เขาก็เริ่มชักชวนเพื่อนบ้านบางคนลงมือทดลองแปรรูปผลิตภัณฑ์ คิดค้น ลองผิดลองถูกอย่างไม่จักเหน็ดเหนื่อย จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน
เริ่มจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ ชาวบ้านอุมะจิสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้หลายสิบรายการ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ชนิดที่ติดอันดับ 10 ผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัดถึง 6 รายการ มียอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามาไม่ได้ขาด ซึ่งเพิ่มมากกว่าวันเริ่มต้นถึง 10 เท่า แถมยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวให้ทั้งคนญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศที่คิดจะสร้างสรรค์ชุมชนยั่งยืนมาพูดคุยเรียนรู้กันด้วย
ชายหนุ่มลองย้อนนึกถึงวันที่ต้องขับรถออกจากหมู่บ้านไปกลางดึกเพื่อจะไปถึงในเมืองตอนรุ่งเช้าด้วยเหตุผลว่าจะได้ประหยัดค่าโรงแรม แถมยังต้องตะโกนขายของแทบทั้งวันแต่ก็ไม่มีใครสนใจแล้ว เขาก็อดยิ้มภูมิใจกับวันดีๆ อย่างนี้ไม่ได้
ยิ่งวันที่หมู่บ้านได้รับรางวัลอาซาฮี ซึ่งเป็นเหมือนโนเบลสำหรับเกษตรกรแล้ว ความตื้นตันยิ่งทบทวีมากขึ้นไปใหญ่ หลายคนถึงกับร้องออกมาว่า “ฉันดีใจที่ได้เกิดมาในหมู่บ้านนี้” เล่นเอาคนที่ได้ยิน น้ำตาซึมด้วยความซาบซึ้งไปตามๆ กัน
คุณลุงโมจิฟูมิ โตทานิ คือชายหนุ่มผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนที่ว่า เขาไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใหญ่โตอะไรเลย อาศัยแค่เพียง “หัวใจที่รักบ้านเกิด” ทุ่มเททำทุกอย่างแบบไม่คิดชีวิตเท่านั้นเอง
จนผู้คนแอบเรียกขานเขาว่า “ชายผู้แต่งงานกับหมู่บ้าน”
เมื่อหมู่บ้านอุมะจิกลายเป็นต้นแบบความสำเร็จ ผู้คนต่างหลั่งไหลไปเรียนรู้ จากชาวบ้านธรรมดาผู้ลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเองก็กลายเป็นวิทยากรผู้คล่องแคล่ว
ทุกครั้งที่คุณลุงโตทานิบอกกล่าวเรื่องราวของหมู่บ้าน แววตาของเขาจะเปล่งประกายเปี่ยมสุขอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้ถูกเล่าซ้ำๆ เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วไม่รู้ แต่เขาก็ไม่เคยเบื่อ
แวบหนึ่งของความรู้สึก ฉันถามตัวเองว่า เราได้ทำสิ่งดีงามให้ชุมชนบ้านเกิดของเราอย่างนี้บ้างหรือเปล่า
“บ้านนอกเรามีบางสิ่งบางอย่างที่เมืองใหญ่ทำหายไป เราต้องสร้างบ้านนอกขึ้นด้วยการสนับสนุนข้อดีของเราเอง ความเป็นบ้านนอกก็เป็นจุดขายได้เหมือนกัน“ นั่นเป็นหัวใจสำคัญที่คุณลุงผู้ซึ่งแต่งงานกับหมู่บ้านพยายามบอกกับเราทุกคน
ประสบการณ์การต่อสู้และทำทุกอย่างด้วยพลังของชาวบ้านอุมะจิ ทำให้แรงไฟในใจขนาดเท่าปลายไม้ขีดของฉันพลันสว่างไสวและลุกโชนขึ้น
“เมืองจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง” คำพูดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก้องในความคำนึง
ท่านย้ำเสมอว่า ประชาชนทุกคนมีพลังในตัวของตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการหรือตัวแทนกลุ่มผู้นำความเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ประเด็นก็คือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้แสดงพลังผ่าน “อะไรบางอย่าง” ร่วมกันได้
“การมีส่วนร่วมไม่ใช่การรักษาสิ่งที่ตนชอบเอาไว้ แต่เป็นการทำให้คนท้องถิ่นมีอำนาจ (empower)ขึ้นมาให้ได้” อาจารย์นิธิย้ำ
แต่ปัญหาสำคัญของเมืองอยู่ตรงที่การมี “วัฒนธรรมต่างคนต่างอยู่” ทำให้เกิด “ธุระเธอ-ไม่ใช่ธุระฉัน” หรือที่เคยมีการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า NIMBY (Not In My Backyard) คือจะเกิดอะไรกับคนอื่นก็ช่าง ขอให้ฉันไม่เป็นไรก็พอ ขยะจะอยู่หน้าบ้านคุณก็ไม่เป็นไร ขอแค่อย่าอยู่ในสนามบ้านฉันก็พอ
การเปลี่ยนแปลงหรือความรู้สึกมีส่วนร่วมคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีกระบวนการทำให้เกิด “ธุระเรา” ขึ้นมาเสียก่อน
แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่การเริ่มต้นนั้นจำเป็นเสมอ ดังเช่น เภสัชกรหญิงสุภาภรณ์ ปิติพร แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร์ ผู้นำการพัฒนาชุมชนสมุนไพร ”หมู่บ้านดงบัง” ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้กล่าวว่า การเริ่มต้นคือการกลับไปค้นหารากเหง้าที่แท้จริง เมื่อทุกคนต่างเห็นข้อดีร่วมกัน “พลังของการร่วมกัน” จะเกิดขึ้นมาเอง
ก่อนทิ้งท้ายว่า “การที่ชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้นก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว ไม่ว่างานจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม”
เช่นเดียวกับที่ สุรจิต ชิรเวทย์ แกนประชาคมคนรักแม่กลองและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งจิตใจอันมุ่งมั่นโดยระบุไว้ในหนังสือ “คนแม่กลอง” ว่า
“การที่พวกเราชาวแม่กลองได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อดูแลท้องถิ่นบ้านเมืองของเรา สร้างความตระหนักรู้ และร่วมแก้ไขโชคชะตาของเรา แม้เราจะตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของกระแสการพัฒนาแบบตะวันตก แต่เราชาวแม่กลองก็อาจสร้างความหวังและลงมือแก้ไขปัญหาในส่วนของเรา พร้อมกับสื่อสารให้คนภายนอกได้ทราบว่า คนแม่กลองพึงพอใจที่จะให้บ้านเมืองของตนเต็มไปด้วยต้นไม้ สายน้ำ อากาศบริสุทธิ์ และดำรงรักษาเอกลักษณ์ไว้ให้เป็นเมืองสงบ น่าอยู่ มีแก่นสารของตนเอง ให้ดำรงความเป็น ‘เวนิสตะวันออกแห่งสุดท้ายของประเทศนี้’ เอาไว้ให้ได้ ด้วยการทวนกระแสโลก ตามกระแสธรรม”
ขอเพียงเราต่างกลับไป “ทำความรู้จักบ้านของตัวเอง” ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เราอาจได้พบ “วิธีเริ่มต้น” ในแบบของตนเอง
จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม และคงมีวันที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอเพียงบอกตัวเองว่าอย่าเหนื่อยล้าไปเสียก่อน
ฉันกำลังจะแต่งงานแล้วนะ แล้วคุณล่ะ พร้อมแล้วหรือยัง
หมายเหตุ : อ่านเรื่องราวของหมู่บ้านอุมะจิเพิ่มเติมได้ใน
หนังสือ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ” โดยสนพ.สวนเงินมีมา
ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 10 เมษายน 2550
วิรตี ศรีอ่อน media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
วันศุกร์, เมษายน 20, 2550
ชายหนุ่มผู้แต่งงานกับหมู่บ้าน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น