วันศุกร์, เมษายน 04, 2551

ความสอดรู้ที่เป็นประโยชน์ของสื่อ


"ใครก็ตามที่ทำงานกับสื่อจะมีบทบาทสำคัญมากที่จะกำหนดจิตใจของสังคม พวกเขาควรพัฒนาความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นกว่าการไปสนใจแต่เพียงเรื่องราวในแง่ธุรกิจเท่านั้น

ทุกครั้งในการประชุมนักข่าวฉันพูดเสมอว่า ฉันชื่นชมนักข่าวที่ชอบยื่นจมูกสอดรู้สอดเห็นเรื่องต่างๆด้วยความใคร่รู้
ในประเทศประชาธิปไตย พวกเขามักจะเป็นพวกเดียวที่ตรวจสอบว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นจริงๆ
ไม่มีพวกเขาแล้ว พวกเจ้าเล่ห์ก็จะหลบเลี่ยงกฏหมายและก่อความเลวร้ายมากมาย"

ท่านทาไล ลามะ
หนังสือ กล้าฝันเพื่อมนุษยชาติ Imagine All the People

เสวนาเรื่อง "จิตวิญญาณแบบทิเบตกับการดูแลผู้ป่วย"

การเสวนาเรื่อง "จิตวิญญาณแบบทิเบตกับการดูแลผู้ป่วย"

หอประชุม โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์

วันที่ 25มษายน 2551

จัดโดยกลุ่มมูลนิธิพันดาราสุรินทร์และกลุ่มสนทนาพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์พันดารา มูลนิธิพันดารา และชมรมพุทธศาสตร์ โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์

ชาวทิเบตสอนให้เราไม่เพียงแต่รักเพื่อนมนุษย์แต่ยังสอนให้เรารักสัตว์ทั้งหลาย แม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น มด หรือแมลง และสัตว์โลกจากภพภูมิอื่น

ปัญญาของพวกเขานำเราไปสู่การพูดคุยเกี่ยวกับความตาย
ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องของการดำรงชีวิตอยู่เราได้อะไรบ้างจากจิตวิญญาณแบบทิเบต เราจะนำจิตวิญญาณแบบนี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเราดูแลและให้การรักษาผู้ป่วย เราควรจะมองมะเร็งอย่างไร ทำอย่างไรผู้ป่วยจึงจะอยู่กับมะเร็งและโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอย่างศานติและ
อย่างผู้ปราศจากความกลัว ความวิตกกังวล และอารมณ์บ่อนทำลาย

กำหนดการ

13.00-16.00 การเสวนาเรื่อง "จิตวิญญาณแบบทิเบตกับการดูแลผู้ป่วย"

13.00-13.10 กล่าวนำและแนะนำวิทยากร โดย นพ. บัณฑิต ธนบุญสมบัติ (ประธานกลุ่มพันดาราสุรินทร์)

13.10-14.00 บรรยายเรื่อง จิตวิญญาณแบบทิเบตกับการให้กำลังใจและความรักแก่ผู้

ป่วยโดย รศ. ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ (ประธานมูลนิธิพันดารา)

14.00-14.30 บรรยายเรื่อง "อยู่กับมะเร็งอย่างศานติ" โดย คุณ วรวรรณา เพ็ชรกิจ

( ผู้ประสานงานมูลนิธิพันดาราและนิสิตดุษฎีบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

14.30-15.00 การบรรยายประกอบการสาธิต "วัชระกับระฆัง: การประสานระหว่างอุบาย

กับปัญญาโดยคุณมิว เยินเต็น ทงเทรอ (Mr. Meu Yontan Tongdrol) ผู้ประสานงานโครงการชาวทิเบต มูลนิธิพันดารา

15.00-15.30 รู้จักพระแม่ตารา พระโพธิสัตว์ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งมูลนิธิพันดารา (ฉายภาพยนตร์ประกอบ)

15.30-16.00 การแสดงนาฏศิลป์ตันตระ 'พระพุทธเจ้าแห่งการบำบัดรักษาและการมีอายุยืนยาว" โดยคุณธนพล วิรุฬหกุล (ศิลปินและกลุ่ม Open Space)

16.00 ปิดการประชุม

การเดินทางไปสุรินทร์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการไปเสวนาและเยี่ยมกลุ่มมูลนิธิพันดาราสุรินทร์แล้ว ยังเป็นการเดินทางไปกราบพระที่วัดบูรพาราม (วัดหลวงปู่ดุลย์)และเยี่ยมชมสถานที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัด ผู้สนใจเดินทางไปด้วย กรุณาติดต่อวรวรรณาที่ worawora@gmail.com

เวทีเสวนา “สู่โอลิมปิคเพื่อสันติภาพ ด้วยการเมืองที่เป็นธรรม”

สู่โอลิมปิคเพื่อสันติภาพ ด้วยการเมืองที่เป็นธรรม

วันพุธที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ๑๗.๐๐ น.

ห้องประชุม ๒๒๒ ชั้น ๒ ตึกคณะนิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

ธิเบต คุณูปการที่มีต่อโลก

แม้ว่าภาพของการลุกฮือขึ้นเรียกร้องสิทธิของชนชาติธิเบตดูเป็นการจลาจล
ด้วยความรุนแรงจากรายงานที่เสนอผ่านสื่อต่างๆ แต่ความรุนแรงดังกล่าวย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไร้ที่มาของปัญหา นับตั้งแต่กองทัพประชาชนของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ ได้ยาตราทัพเข้าไปในดินแดนธิเบต ด้วยข้ออ้างถึงการปลดปล่อยธิเบต ในปีพ.ศ.๒๔๙๓(ค.ศ.๑๙๕๐)นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชนชาติธิเบต การลี้ภัยออกนอกประเทศของทะไลลามะและคุรุคนสำคัญอื่นๆ กลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนต่อจิตวิญญาณของมนุษยชาติอย่างมาก เพราะกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ภูมิปัญญาซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ขุนเขาหิมาลัย ได้สำแดงคุณค่าให้โลกประจักษ์ชัดพุทธศาสนาแบบวัชรยานของธิเบตกลายเป็น
หัวหอกที่สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่โลกตะวันตกอย่างกว้างขวาง

จีนกับการเจริญเติบโตทางวัตถุ

ในทางกลับกัน วิถีชีวิตและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ของธิเบตที่โลกได้รับรู้กลับถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีน ความพอใจกับสมบัติที่แม้ไม่มากมาย ความพึงใจกับการสะสมบุญและอุทิศตนเพื่อธรรมมะถูกมองเป็นความยากจนและล้าหลัง รัฐบาลจีนต้องการสร้างความเจริญทางวัตถุและหาประโยชน์จากธิเบต วิธีการหนึ่งที่รับบาลจีนนำมาใช้คือการพยายามสนับสนุนให้คนต่างถิ่นอพยพเข้ามา
ตั้งรกรากและทำมาหากินในธิเบตจนกลายเป็นความแปลกแยกกับคนท้องถิ่น เนื่องมาจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันรวมไปถึงความไม่เท่าเทียมกัน
ในการกระจายรายได้และทรัพยากร ปัญหาดังกล่าวค่อยๆก่อตัวสะสมมาอย่างยาว บวกกับการที่รัฐบาลจีนได้จำกัดสิทธิในด้านต่างๆของชาวธิเบตโดยเฉพาะเสรีภาพ
ในทางศาสนามีการจับกุมคุมขังนักบวชปิดวัด อยู่เป็นระยะตลอดเวลาห้าสิบกว่าปีที่เข้ายึดครองธิเบต ทำให้ความไม่พอใจที่สั่งสมมาถึงจุดแตกหักดังเหตุการณ์ที่กำลังที่เกิดขึ้น


การเจรจา หนทางสู่สันติภาพ? (dialogue?)

รัฐบาลจีนกล่าวโทษไปยังประมุขของทิเบตคือ องค์ทะไลลามะและรัฐบาลพลัดถิ่นของธิเบตณเมืองธรรมศาลาว่า อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ไม่ว่าข้อกล่าวหานี้จะเท็จจริงประการใดก็ตามแต่นโยบายและการกระทำของจีน
ที่มีต่อธิเบตตลอดห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมาย่อมเป็นประจักษ์พยานว่า รัฐบาลจีนเป็นส่วนสำคัญของปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้จะถูกบดบังด้วยภาพความรุนแรงของการจราจล แต่การเคลื่อนไหวของพระภิกษุสงฆ์ชาวธิเบตตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงลาซาขณะนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนร่วมเจรจาวิสาสะ(
Dialogue) ถึงเสรีภาพอันพึงมีทางศาสนาและวัฒนธรรมความเชื่อแต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากจีนเสมอมา

ความเป็นธรรมกับการค้า

อีกทั้งนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจีนในระยะหลังเลือกที่จะละเลย
ความถูกต้องชอบธรรมต่างๆในการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในดินแดน
ที่มีความขัดแย้งและถูกตั้งคำถามต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็น กรณีดาร์ฟูร์ในซูดานหรือต่อเหตุการณ์ในพม่าเป็นต้น รัฐบาลจีนเลือกใช้อำนาจและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่กับนานาประเทศ เป็นเครื่องมือในการยุติการวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความชอบธรรมจากนานาชาติ ในกรณีของธิเบตก็ไม่ต่างออกไปนัก การใช้มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นเสมือนตัวประกันต่อนานาชาติ ในการเรียกร้องให้ยุติปัญหาโดยเร็วอย่างปราศจาการแก้ปัญหาอย่างถึงราก

กำหนดการ

๑๔.๐๐ น. ลงทะเบียน

๑๔.๓๐ น.- ๑๕.๐๐ น. ฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับธิเบต

๑๕.๐๐น.-๑๗.๐๐น.เสวนาสู่โอลิมปิคเพื่อสันติภาพด้วยการเมืองที่เป็นธรรม


วิทยากร

๑. ภิกษุณี ธัมมนันทา

๒.รสนา โตสิตระกูล

๓.ดร. สุรพงษ์ ชัยนาม

๔.Dorothy Guerrero*

* อยู่ระหว่างการติดต่อ

พร้อมชมนิทรรศการและหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมธิเบตและพุทธศาสนานิกายวัชรยาน และการเปิดตัวหนังสือ ปัญญาญาณแห่งการอภัย (Wisdom of Forgiveness) ของท่านทะไลลามะและวิกเตอร์ ชาน(นักหนังสือพิมพ์ชาวจีน)

องค์กรร่วมจัด : เครือข่ายพุทธิกา สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา โครงการสตรีและเยาวชนศึกษามหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อาศรมวงศ์สนิท INEB (International Network for Engage Buddhist) เสมสิกขาลัย โฟกัส

สำรองที่นั่งเข้าร่วมกิจกรรมฟรี :

เครือข่ายพุทธิกา โทรฯ ๐๒-๘๘๖๙๘๘๑, ๐๒-๘๘๓๐๕๙๒

E-mail: b_netmail@yahoo.com

สนพ.สวนเงินมีมา โทรฯ ๐๒-๒๒๒๕๖๙๘ ๐๒-๖๒๒๐๙๕๕ ๐๒-๖๒๒๐๙๖๖

E-mail: publishers@suan-spirit.com เว็บไซต์: www.suan-spirit.com

เสวนาเรื่อง“สังคมสร้างสรรค์ด้วยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอย่างไร”

ราชวิถีฟอรั่ม เวทีภาคประชาสังคม
เสวนาเรื่อง“สังคมสร้างสรรค์ด้วยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอย่างไร”
13.00-17.00 น. วันพุธ ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551
ชั้น 3 ตึก60ปี บ้านราชวิถี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ราชวิถีฟอรั่ม เป็นการสร้างกลุ่มวงสนทนาสร้างสรรสังคม ในประเด็นต่างๆ และเป็นการสร้างพี้นที่ เครื่องมือ และหนทางที่จะร่วมกัน สร้าง “ต้นธารแห่งความเข้าใจ และ ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ
ภาคประชาสังคม และภาครัฐ” สู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและ สิ่งแวดล้อม ที่ยั่งยืนจากฐาน
หน่วยย่อยขององค์กรตนเอง

สำหรับวันพุธที่ 23 เมษายน 2551 เวลา 13.00-17.00 น. เวทีราชวิถีฟอรั่ม หัวข้อ“สังคมสร้างสรรค์ด้วยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอย่างไร” หวังจะเป็นเวทีเสวนา เพื่อค้นหาแนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินกลยุทธ์ทางการสื่อสารและ
การตลาดที่สร้างคุณค่าต่อสังคม และ ร่วมสร้างทางเลือกที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาค
ประชาสังคมไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ องค์กรประชาสังคม และภาครัฐในการพัฒนาสังคมของประเทศ
ไทยให้สร้างสรรค์อย่างไร ตลอดจนเกิดการสร้างความเข้าใจในการพัฒนางานด้านสื่อสาร
รณรงค์ และการเชื่อมโยงทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ร่วมระดมความเห็นร่วมกันจาก
นักวิชาการ ผู้ที่มีประสบการณ์เคยทำงานกับภาคธุรกิจ และภาคธุรกิจมาร่วมแลกเปลี่ยน
ประสบการณ์ร่วมกัน

กำหนดการ
12.30 ลงทะเบียน
13.00 กล่าวต้อนรับ และเปิดงาน
13.10 กล่าวแนะนำผู้ร่วมบรรยาย
13.20-15.00 สถานการณ์การสื่อสารการตลาดและการสื่อสารในสังคมไทย
1. ผศ ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. รศ. ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 กรณีศึกษา : การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องความสะอาดของคนไทย “อะ อะ ... ตาวิเศษเห็นนะ” คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย
15.00 พัก
15.30-17.00 เวทีระดมความเห็น—“สังคมสร้างสรรค์ด้วยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดอย่างไร”
ดำเนินรายการ โดยคุณมาโนช พุฒตาล นักจัดรายการวิทยุ และนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง
17.00 กล่าวปิดรายการ

สอบถามเพิ่มเติมที่คุณ ปารีณา 081-657-3520 เครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่นั่งยืน

วันพฤหัสบดี, เมษายน 03, 2551

ปัญญาญาณแห่งการอภัย

ปัญญาญาณแห่งการอภัย : บทสนทนาและการเดินทางเปี่ยมมิตรภาพ (The Wisdom of Forgiveness)
ทะไลลามะ และวิกเตอร์ ชาน เขียน / สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี แปล
สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
๒๕๒ หน้า ราคา: ๒๒๐ บาท
ชลนภา อนุกูล เขียนแนะนำ

ออกจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะสามารถรักษาความร่าเริงแจ่มใส มีอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยความกรุณาแม้แต่ผู้ที่เป็นศัตรูของตน ตลอดเวลาที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองมารดรของตนมากว่า ๔๕ ปี แต่ทะไล ลามะ ผู้นำทางการเมืองและจิตวิญญาณของชาวทิเบต ก็เป็นพยานยืนยันอย่างดีต่อโลก ว่ามีแต่หนทางของสันติวิธีเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า แม้ความรู้ยิ่งใหญ่มหาศาลก็อาจนำมนุษยชาติไปสู่หายนะได้หากปราศจากหัวใจที่ดีงาม ดังที่เหตุการณ์ ๑๑ กันยา และสงครามทั้งหลายแหล่ ก็เป็นประจักษ์พยานของการใช้ความรู้ในการประหัตประหารสรรพชีวิตอย่างไร้หัวจิตหัวใจ
หนังสือ The Wisdom of Forgiveness : Intimate Conversations and Journeys เป็นความพยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของปัญญาญาณในพุทธศาสนา ที่นำไปสู่การไม่ถือโกรธและให้อภัย จากตัวอย่างที่มีชีวิตในยุคสมัยของเรา – ทะไล ลามะ - ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. ๑๙๘๙
วิกเตอร์ ชาน นักเขียนเชื้อสายจีนมีความสนิทสนมชิดเชื้อกับทะไล ลามะ มากว่าสามสิบปี เขาเริ่มสัมภาษณ์พระองค์ท่านตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ได้เข้าพบใกล้ชิด และเดินทางร่วมกับพระองค์ไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปี กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นหนังสือเล่มนี้
เนื้อหาหนังสือแบ่งเป็น ๒๐ บท แต่ละบทไม่ยาวนัก เน้นการเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์และบทสนทนาต่างๆ ผ่านมุมมองอันหลากหลาย เพื่ออธิบายบุคลิกและลักษณะนิสัยใจคอของผู้นำทางจิตวิญญาณท่านนี้ ตลอดจนแง่มุมความคิดและการฝึกฝนปฏิบัติของพระองค์ ที่นำไปสู่ความไม่โกรธและการให้อภัย
ในบทเริ่มต้นของหนังสือ ชานบรรยายภาพของทะไล ลามะ เมื่อปรากฎต่อฝูงชน ทั้งกองทัพนักข่าวและผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาหลากชาติพันธุ์จำนวนมหาศาล ว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและความเมตตา ครั้นถามถึงเหตุที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นนิยมชมชื่นในตัวท่าน ทะไล ลามะก็ให้คำอธิบายว่า อาจจะเป็นเพราะท่านมองโลกในแง่ดี และมองเห็นผู้อื่นเป็นมนุษย์ร่วมเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกัน ตัวท่านเองนั้นแม้จะหัวเราะเสียงดังบ่อยครั้ง แต่ก็มีอารมณ์เศร้าได้บ้างในบางที หากก็อยู่ไม่นานนัก เปรียบกับมหาสมุทร ที่มีคลื่นกระเพื่อมอยู่ด้านบน แต่ภายในข้างใต้กลับสงบนิ่ง และคุณสมบัติในข้อนี้เองก็ได้รับการยืนยันจากสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ซึ่งกล่าวว่า ทะไล ลามะทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกยินดีต่อการเป็นมนุษย์
ชานเองก็มีความประทับใจในตัวทะไล ลามะมาก นับตั้งแต่พบกันครั้งแรกเมื่อเขายังเป็นคนหนุ่ม เพิ่งทุลักทุเลจากการถูกจับเป็นตัวประกันที่เมืองคาบุล อัฟกานิสถาน หลังจากหนีออกมาได้พร้อมเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกสองคน หนึ่งในนั้นสมาทานพุทธทิเบต เขาจึงได้มีโอกาสเข้าพบท่าน และตั้งคำถามอันอาจหาญ “ท่านเกลียดคนจีนไหม?”
ทะไล ลามะ ในวัย ๓๗ ปี ขณะนั้น ยังหนุ่มคะนองนัก ทั้งยังหัวเราะไม่หยุด ตั้งแต่เห็นชานในเครื่องแต่งกายเป็นฮิปปี้มาเข้าพบ ครั้นได้ยินคำถามดังกล่าวก็จ้องมองหน้าชานเขม็งก่อนตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่” ก่อนขยายความว่า แม้ชาวทิเบตจะถูกกระทำย่ำยี ชาวจีนก็ยังเป็นเพื่อนอยู่เสมอ ทิเบตมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลจีนคอมนิวนิสต์เท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลจีนกระทำนั้น เป็นสิ่งที่ชาวทิเบตอภัยให้ได้
คำตอบที่ได้รับในครั้งนั้นประทับจิตประทับใจชานอยู่เสมอ เขาเริ่มสนใจทิเบตมากขึ้น จากเดิมที่เกิดและโตในฮ่องกง ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แต่รู้เรื่องทิเบตน้อยมาก รู้จักแต่เพียงลามะทิเบตที่เก่งกล้าสามารถจากนิยายของกิมย้งเท่านั้น ทั้งนิยายกำลังภายในก็เต็มไปด้วยเรื่องของการแก้แค้น ชานกลายเป็นนักวิจัยเรื่องทิเบต ใช้เวลาเดินทางไปทิเบตนับสิบครั้ง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับทิเบตเล่มหนาเตอะ
ในการเขียนหนังสือร่วมกับทะไล ลามะ เล่มนี้ เขาได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าพบทะไล ลามะ ในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมทั้งการตื่นขึ้นมาภาวนาเพื่อนั่งสมาธิและทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ในตำหนักส่วนพระองค์ ชานได้บรรยายกิจวัตรประจำวันของทะไล ลามะไว้ค่อนข้างละเอียด ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีชั่วโมงทำงานค่อนข้างรัดตัวและต้องเดินทางบ่อยครั้ง ทะไล ลามะกลับมีใบหน้าอ่อนเยาว์ ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการบำเพ็ญภาวนาไม่ยึดติดในอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนการละเว้นจากความโกรธ อันมีพื้นฐานมาจากการตระหนักรู้ในโทษของอารมณ์ด้านลบ ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้
จากนั้น ชานได้นำพาเราไปพบกับเรื่องราวของผู้คนที่ดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีที่พ้นไปจากความโกรธแค้น ไม่ว่าจะเป็น โลปอน-ลา พระทิเบตที่ถูกเจ้าหน้าที่จีนจับไปทรมานและอยู่ในคุกยี่สิบปี ริชาร์ด มัวร์ เด็กหนุ่มที่ตาบอดตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เพราะถูกยิงด้วยกระสุนยางจากทหารควบคุมจราจลเข้าที่ตาขวา และสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ผู้เคยรับฟังเรื่องราวจากเหยื่อของการเหยียดผิวสองหมื่นกว่าคน เพื่อเยียวยาและสมานฉันท์บาดแผลในประเทศอาฟริกาใต้ และแม้กระทั่งทะไล ลามะเอง ก็ต้องฝึกปฏิบัติภาวนาอย่างหนักหน่วงเพื่อลดความโกรธเกลียด และเพิ่มพูนความกรุณา
เรื่องเล่าแห่งความกรุณาของทะไล ลามะ ที่โดดเด่นยิ่ง เห็นจะเป็นเรื่องแถลงการณ์ประนามรัฐบาลจีนต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เทียน อัน เหมิน ซึ่งนักศึกษาจีนถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ณ เวลานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กำลังจะมีการเจรจาระหว่างจีนและทิเบต ในโอกาสอันงามที่หาได้ยากเช่นนี้ ทะไล ลามะได้เลือกที่จะปกป้องรักษาสิทธิในอิสรภาพและประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนมากกว่าความหวังของชนชาติทิเบตเอง และแม้ในการเดินทางมายุโรปครั้งแรก ในการพูดปาฐกถาต่างๆ ก็มีถ้อยคำน้อยมากที่กล่าวถึงทิเบต หากพูดถึงแต่เรื่องของความกรุณา การมีหัวใจดีงาม และความรู้สึกรับผิดชอบโดยรวม ครั้นถูกที่ปรึกษาติติง ท่านก็ให้เหตุผลว่า ผู้คนเหล่านี้ล้วนมีปัญหาของตนเองหนักหนาพออยู่แล้ว และก็หวังว่าท่านจะช่วยได้ ท่านจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเพิ่มภาระของท่านให้กับผู้อื่นได้อีก
ความกรุณาของอวตารแห่งองค์พระโพธิสัตว์อันปราศจากขอบเขตนี้ดูเหมือนจะเป็นภาพพจน์ที่ผิดไปจากความเข้าใจของชาวจีนโดยมากทีเดียว จะมีข้อยกเว้นก็แต่ปัญญาชนจีนที่ปราศจากอคติและได้มีโอกาสได้พบปะกับทะไล ลามะโดยตรง ซึ่งต่างก็ยกย่องให้ความเป็นผู้มีกรุณาของพระองค์
เรื่องที่ว่าด้วยความกรุณาอีกเรื่องก็คือ ชายหนุ่มตาบอดผู้หนึ่งได้ขายบ้านเรือนเดินทางมากับแม่ผู้ชรา ผ่านทิเบต เนปาล อินเดีย เพื่อมาเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ในพิธีกาลจักร ท่านมองเห็นชายหนุ่มผู้นี้กับแม่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ก็ได้เข้าไปทักทายไต่ถาม เมื่อทราบเรื่องก็ให้อยู่ในความดูแลของแพทย์หลวง และในเวลาไม่นานก็ได้รับทราบว่ามีพระทิเบตอีกรูปได้แสดงความประสงค์ที่จะอุทิศดวงตาให้อีกข้าง โดยพร้อมที่จะผ่าตัดมอบดวงตาให้ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ชานค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจกับน้ำใจไมตรีดังกล่าวมากทีเดียว
การปฏิบัติภาวนาของทะไล ลามะ ที่นำไปสู่การให้อภัยนั้นตั้งอยู่บนฐานของความกรุณาและการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งผ่านการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
ท่านเล่าว่า เริ่มฝึกปฏิบัติความกรุณาบนวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ตั้งแต่อายุสามสิบสองปี และมองว่าความกรุณานั้นเป็นวิธีการ ซึ่งเปรียบได้กับการนวดดินเหนียวให้นุ่ม ส่วนการพิจารณาเรื่องความว่างนั้นนำไปสู่ปัญญา เปรียบได้กับการขึ้นรูปดิน การปฏิบัติภาวนาสองเรื่องควบคู่กันไปนี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลอย่างยิ่งยวด
ในวิถีพุทธนั้นเชื่อว่าสรรพสิ่งต่างถูกร้อยโยงเข้าไว้ด้วยกัน ประดุจดังตาข่ายของอินทรเทพ การกระทำหนึ่งย่อมส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีก หากเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ย่อมเข้าใจเหตุแห่งความรุนแรงต่างๆ ในโลกได้ ว่าทุกคนก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การขจัดความรุนแรงบนโลกก็คือการหลีกเลี่ยงความรุนแรงภายในตัวเรานั่นเอง
เรื่องที่ออกจะดูยุ่งยากสำหรับชาวตะวันตกเห็นจะเป็นการทำความเข้าใจเรื่องความว่าง หรือ อนัตตา ชานก็ยอมรับว่าเขาไม่อาจเป็นลูกศิษย์ที่ดีนักของทะไล ลามะในเรื่องนี้
ปรกติแล้วผู้ปฏิบัติธรรมมักไม่ค่อยเล่าประสบการณ์การภาวนาให้ผู้อื่นฟังนัก ดังกรณีที่นักภาวนาสายขงจื๊อได้เอ่ยถามทะไล ลามะขึ้นมาครั้งหนึ่ง หากแต่ท่านก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบ อย่างไรก็ดีชานก็มีโอกาสรับฟังจากทะไล ลามะ ถึงภาวะในการภาวนาครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดค่อนข้างมาก และน่าสนใจทีเดียว
ในช่วงสุดท้ายของการเดินทางร่วมกัน ชานได้ติดตามทะไล ลามะไปร่วมประกอบพิธีกาลจักรที่เมืองโพธิคยา ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญของชาวพุทธทิเบต แต่การณ์กลับเป็นว่า ท่านเกิดป่วยขึ้นมากระทันหัน และป่วยหนักเสียจนไม่อาจทำพิธิได้ ชานไม่ได้พบท่านอีกเลยถึงสองเดือนหลังจากนั้น เมื่อพบกันในภายหลัง ท่านก็เล่าว่าขณะที่ป่วยนั้น ระหว่างที่เดินทางไปโรงพยาบาล ท่านเห็นภาพผู้คนที่ทุกข์ยากอยู่ข้างทางไม่ได้รับการเหลียวแล ต่างจากท่านอย่างมาก ดังนั้น แม้จะมีความทรมานทางกาย แต่ท่านก็มีความเบิกบานทางธรรมมาก และมองว่าความเจ็บป่วยเป็นครูทางจิตวิญญาณที่ดี
ก่อนสิ้นสุดการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย ทะไล ลามะได้เปลี่ยนบทจากผู้ถูกถามมาเป็นผู้ถามบ้าง โดยถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของชาน ซึ่งเขาก็ตอบอย่างซื่อๆ ว่า อย่างน้อยเขารู้สึกว่าตัวเองน่าจะเป็นตัวแบบที่ดีให้กับลูกได้บ้าง
ในตอนท้ายของหนังสือ ชานได้ชี้ให้เห็นภาวะทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับทางกายอย่างเด่นชัด ซึ่งก็คือสุขภาพหัวใจของทะไล ลามะ ที่แข็งแรงเหมือนกับเด็กหนุ่มอายุยี่สิบปี ซึ่งเป็นผลจากการใช้ชีวิตเรียบง่ายและการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งจนเข้าถึงความสงบทางใจ และแม้แต่ความโกรธก็ไม่อาจเข้ามากร้ำกรายทำลายความสงบภายในได้เลย
หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอวิถีการปฏิบัติแบบพุทธที่นำไปสู่การให้อภัย แม้จะไม่ใช่ลักษณะของคู่มือการให้อภัยแบบสำเร็จรูป แต่ก็ประสบผลสำเร็จในการนำเสนอเรื่องนามธรรมผ่านรูปธรรมของเหตุการณ์และเรื่องเล่าต่างๆ
เรื่องเล่าว่าด้วยความกรุณาทั้งหลาย ทั้งของทะไล ลามะเอง หรือของผู้อื่น นั้นดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยปัจจุบัน ลำดับขั้นของความกรุณาก็ดูจะแตกต่างกันไป ทำให้เห็นว่าความกรุณาอันล้นพ้นประมาณปราศจากขอบเขตนั้นย่อมอยู่เหนือตัวตนออกไป
ประเด็นหลักของหนังสือนั้นอยู่ที่มรรควิธีที่นำไปสู่การให้อภัย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกรุณาและการพิจารณามองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง วิธีปฏิบัติที่นำไปสู่จุดหมายทั้งสองประการนั้นปรากฎอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตอย่างค่อนข้างเด่นชัด หนังสือไม่ได้เสนอภาพของวีรบุรุษผู้อาจหาญ หรือความเคร่งครัดสำรวมของนักบวช หากแต่เสนอความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เป็นความติดดินอันแสนธรรมดา และนี่เอง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ปุถุชนอย่างเราท่านรู้สึกและเชื่อมั่นในตนเองได้มากขึ้น ว่าหนทางที่ปราศจากความโกรธเกลียด พ้นไปจากอารมณ์ด้านลบ เข้าถึงความสุขที่แท้ มีความสงบทางใจ ด้วยการอุทิศตนเพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน
.........................................................................................
วิกเตอร์ ชาน เกิดและเติบโตในฮ่องกง ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อที่แคนาดาสาขาฟิสิกส์ แต่ชีวิตก็หักเหไปเมื่อถูกลักพาตัวที่คาบุล พร้อมกับเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน เมื่อหนีออกมาได้ ก็มีโอกาสพบกับทะไล ลามะ ความประทับใจที่เกิดขึ้นครั้งนั้นเป็นเครื่องเร้าให้เขาสนใจทิเบต และเขียนหนังสือ Tibetan Handbook: A Pilgrimage Guide ซึ่งหนากว่าพันหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างชานและทะไล ลามะนั้นถือว่าอยู่ในระดับใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเริ่มเขียน The Wisdom of Forgiveness: Intimate Conversations and Journeys ซึ่งนอกจากจะบรรยายภาพทะไล ลามะอย่างค่อนข้างละเอียดชัดเจนแล้ว ยังทำให้เห็นมิตรภาพระหว่างเขากับผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตที่น่าสนใจยิ่ง
ปัจจุบันเขาประจำอยู่ที่สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย