วันจันทร์, มกราคม 19, 2552

การ์ตูนโทรทัศน์ : พื้นที่สื่อ พื้นที่เสี่ยงของเด็กไทย

การ์ตูนเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่เหมาะกับเด็กก่อนวัยเรียน นอกนั้นพบ ความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ รวมถึงมีเรื่องเพศในเนื้อหาการ์ตูนแทบทุกเรื่อง


ผลการศึกษาของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) พบว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของเดือนตุลาคม ในฟรีทีวีทุกช่อง พบการ์ตูน 35 เรื่อง รวมเวลาออกอากาศ 1,052 นาที / สัปดาห์ หรือเฉลี่ยเพียง 1.74% ของรายการโทรทัศน์ทั้งหมดรวมกัน

ทว่าสัดส่วนตัวเลขเพียงเล็กน้อยนี้ กลับพบความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจและวัตถุ ภาษาลามก หยาบโลน รวมถึงมีเรื่องเพศในเนื้อหาการ์ตูนแทบทุกเรื่อง โดยพบว่ามีการ์ตูนเพียง 3 เรื่องเท่านั้น ที่เหมาะกับเด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 3-6 ขวบ

“การ์ตูนบางเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สร้างนิสัยการใช้ความรุนแรงให้เด็กผู้ชาย จากการเลียนแบบฮีโร่ของพวกเขา ส่วนตัวการ์ตูนบางเรื่องมีการแต่งกายวาบหวิว ทำให้เด็กสนใจเรื่องเพศก่อนวัยอันควร รวมถึงการ์ตูนทางทีวีจากต่างประเทศ มีบทแปลภาพยนตร์คำพูดที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นคำธรรมดา ที่เด็กสามารถพูดได้ ส่วนหนึ่งเพราะจำมาจากการ์ตูนนั่นเอง เมื่อการ์ตูนมีอิทธิพลต่อเด็กมาก แต่หากพิจารณาจากพัฒนาการ จะเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถแยกแยะอะไรดี ไม่ดี ควรจดจำหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาการ์ตูนเด็ก ของมีเดียมอนิเตอร์” นายธาม เชื้อสถาปนาศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าว

สำหรับการศึกษานั้นใช้การบันทึกเทปออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมงของฟรีทีวีทุกช่อง ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2551 จากนั้นศึกษาเนื้อหารายการด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยใช้ระเบียบวิธีศึกษาที่ออกแบบไว้ พร้อมทั้งศึกษาผ่านกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับ 8 สถาบันการศึกษา และ 5 เครือข่ายด้านเด็ก จากนั้นจึงวิเคราะห์และสรุปผล

การ์ตูนที่ดีเป็นอย่างไร
คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้ศึกษาเมื่อ พ.ศ.2532 ถึงลักษณะการ์ตูนที่ดีว่าควรมีลักษณะสำคัญดังนี้
1) ส่งเสริมการค้นคว้า และความคิดที่เป็นที่เป็นวิทยาศาสตร์
2) การหลีกเลี่ยงเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ วิญญาณ โชคลาง อันหาเหตุผลที่จะพิสูจน์ความจริงมิได้
3) เนื้อหาการ์ตูนควรมีลักษณะใฝ่สัมฤทธิ์ หมายถึง ตัวเอกของเรื่องมีชีวิตที่ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จในบั้นปลายท้ายเรื่อง
4) มีเนื้อหาธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม การนำเสนอในลักษณะนี้ ไม่ควรจะใช้วิธีการสอนโดยตรง เพราะจะทำให้น่าเบื่อ แต่ควรแทรกไว้ในพฤติกรรมของตัวละครต่าง ๆ ไม่ว่าจะตัวเอกหรือตัวร้าย
5) ส่งเสริมให้เป็นคนมีเมตตา ปราณี รักธรรมชาติ เคารพในสิทธิหน้าที่ของมนุษย์แต่ละคน
6) นำเสนอเรื่องที่เป็นจริง มิใช่เรื่องชวนฝัน

ยังมีข้อมูลบางส่วนจากนักวิชาการที่ศึกษาถึงความสำคัญและความทรงพลัง ของโทรทัศน์ และสื่อที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก โดย ดร.ดิมิทรี คริสทาคิส นักวิจัยชาวสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องนี้ในเว็บไซต์สถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็กซีแอตเติล (www.seattlechildrens.org) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549

จากการศึกษากับเด็กชาย 184 คน อายุประมาณ 2-5 ปีที่ดูโทรทัศน์รายการที่มีความรุนแรงวันละ 1 ชั่วโมง จะมีโอกาสการเป็นคนก้าวร้าวเพิ่มขึ้น 3 เท่า มากกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ดูรายการที่มีความรุนแรง แต่พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ปรากฏกับเพศหญิง

ดร.ดิมิทรี คริสทาคิส พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ละเลยการดูเนื้อหารายการโทรทัศน์ว่ามีความเหมาะสมกับกลุ่ม อายุของเด็กหรือไม่ เด็กในช่วงนั้นไม่สามารถแยกแยะเรื่องที่เป็นแฟนตาซีออกจากความจริงได้ และจำเป็นต้องมีคนอธิบายให้ฟัง

ความรุนแรงในการ์ตูนสอนเด็กว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสนุก โดยไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมา ซึ่งต่างจากความเป็นจริงที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นหลังจากโดนกระทำรุนแรง

โครงเรื่องหลวม ลักษณะเด่นบนความด้อยของการ์ตูนไทย ผลจากการศึกษาในการ์ตูนทางฟรีทีวีไทย 35 เรื่อง พบว่ามีการวางโครงเรื่อง (Plot) จำแนกเป็น 8 ประเภท คือ การผจญภัย, เรื่องราวในโรงเรียน ชุมชน และสังคม, เรื่องราวในครอบครัว, เรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนฆาตกรรม, นิยายปรัมปราและนิทานพื้นบ้านไทย, ต่อสู้, มุ่งเน้นให้ความรู้เฉพาะเรื่อง และประเภทสุดท้ายเรื่องราวชีวิตประจำวันของเด็ก

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการ์ตูนไทยนั้นจะให้ความสำคัญในการวางโครงเรื่อง น้อยมา
ก เห็นได้จากการ์ตูนบางเรื่องมักมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับแก่นเรื่อง (Theme) เช่น การ์ตูนประเภทจบในตอนจะมีการนำเสนอเนื้อหาแต่ละตอนไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรืออาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้จะใช้ตัวละครหลักชุดเดียวกันก็ตาม

นอกจากนี้ในการ์ตูนเรื่องยาวบางเรื่องยังให้ความสำคัญกับประเด็นปลีกย่อย มากกว่าการดำเนินเนื้อหาตามแก่นเรื่องที่วางไว้ เช่น การ์ตูนที่เกี่ยวกับวรรณคดีไทย จะให้ความสำคัญกับเรื่องความรัก เพศ มุขตลก มากกว่าเรื่องคุณงามความดีหรือความสามารถของตัวละครในวรรณคดี ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า การ์ตูนไทยยังมีลักษณะของละครไทยอยู่นั่นเอง

หากมองตามหลักการ์ตูนที่ดี ด้านเนื้อหาการ์ตูนควรมีลักษณะใฝ่สัมฤทธิ์ จะพบว่าเป็นจุดเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่น และการ์ตูนตะวันตกที่ตัวละครหลักมีความตั้งใจจะประสบความสำเร็จอย่างใดอย่าง หนึ่งให้ได้ แต่ในการ์ตูนไทยกลับไม่พบเลยตลอด 1 เดือนของการศึกษา

• ความรุนแรง อคติ เพศ ภาษา เป็นเรื่องธรรมดาในการ์ตูน ?

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสื่อสำหรับเด็ก แต่การ์ตูนก็มีเรื่องเพศแฝงอยู่เช่นกัน โดยถูกเสนอผ่านการแต่งตัวที่วาบหวิว เน้นสัดส่วนของผู้หญิง ทั้งยังมีลักษณะการพากย์ที่ส่อในทางเพศ ลามก สัปดน รวมถึงมีการตอกย้ำเรื่องภาพตัวแทนของเพศหญิง ชาย กับบทบาทหน้าที่ตายตัว ผ่านภาพที่นำเสนอซ้ำ ๆ ได้แก่
ความเป็นพ่อต้องสุขุม ใจเย็น
ขณะที่แม่จะเป็นพวกเจ้าระเบียบ จู้จี้ ขี้บ่น หรือหากเป็นเด็กหญิงจะขี้แย
ส่วนเด็กชายจะห้าว สนุกสนาน เกเร สิ่งสำคัญอีกประการที่แฝงอยู่ในการ์ตูนแทบทุกเรื่องก็คือ

ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้กำลัง การต่อสู้ด้วยอาวุธ อุปกรณ์ กระทั่งทำให้ได้รับบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิต ซึ่งอาการบาดเจ็บนั้นแยกออกเป็นลักษณะการเจ็บจริง – เสียชีวิตจริง และบาดเจ็บแบบแฟนตาซี คือเจ็บแล้วหายได้ หรือถูกกระทำอย่างรุนแรงแต่ไม่ตาย หรือตายแล้วฟื้นในที่สุด โดยพบว่ามีการ์ตูนเรื่องเดียวที่ไม่มีความรุนแรง นั่นคือ ไอน์สไตน์จิ๋ว (ช่อง 7)

รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า ความรุนแรงไม่ควรมีในการ์ตูน เพราะเป็นสื่อสำหรับเด็กซึ่งยังไม่มีวิจารณญาณในการรับชมที่ดีพอ และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะนั่งดูโทรทัศน์กับเด็กเป็นประจำ การ์ตูนจึงควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงาม

เด็กควรเสพงานศิลป์เพื่อความอ่อนโยนของจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนที่เป็นหนังสือหรือว่าโทรทัศน์ผู้ผลิตก็ต้องคำนึงถึง ด้านนี้

“หลานเคยถามว่า ที่การ์ตูนใช้พลังต่อสู้กัน หรือใช้อาวุธแทงฝ่ายตรงข้ามจนทะลุทำไมไม่ตาย แล้วถ้าทำตามแบบนั้นจะตายไหม หรืออยากกระโดดจากที่สูงๆ แล้วเหาะเหมือนการ์ตูนจะได้ไหม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความพร้อมของเด็กแต่ละช่วงอายุไม่เหมาะกับการรับชมความรุนแรง ไม่ได้ห้าม หรือต่อต้านการดูการ์ตูน แต่ทำอย่างไรให้เด็กได้ดูอย่างพอดี และได้ดูในสิ่งที่ดีพอ ผู้ปกครองต้องรอให้ฐานสติปัญญาของเด็กมั่นคงเสียก่อน ให้เจริญเติบโตพร้อมสิ่งดีๆ เมื่อถึงวัยที่สมควรก็สามารถดูทีวีได้” รศ.กุลวรา กล่าว

• มองเชิงบวก จะเห็นด้านดีนั้นมีอยู่ ใช่ว่าจะเห็นเฉพาะด้านลบเท่านั้น ผลการศึกษายังสะท้อนด้านดีทั้งการ์ตูนไทย – เทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของการ์ตูนไทยนั้นถือว่ามีความโดดเด่น ซึ่งหากมองในภาพรวม จะพบด้านดีของการ์ตูนอยู่หลายด้าน อาทิ การช่วยเหลือผู้อื่น, การเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีมิตรภาพ, รักการเรียนรู้, มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน, ขยันหมั่นเพียร, รักสิ่งแวดล้อม, มีความสามัคคี, มีความกล้าหาญ, รู้จักสำนึกผิด และยึดมั่นในความดี

นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าการ์ตูนมีด้านร้าย ความรุนแรงเสมอไป เพราะการ์ตูนดีๆ นั้นมีอยู่ และพฤติกรรมการเลียนแบบการ์ตูนที่เข้ามาในชีวิตของเด็กแต่ละคนนั้น สักวันหนึ่งจะหายไปตามวัยและวุฒิภาวะที่มากขึ้น และเชื่อว่าไม่มีใครที่จะเลียนแบบการ์ตูนเสมอไป

“ความรุนแรงในการ์ตูนที่เป็นแบบธรรมะชนะอธรรมนั้นก็มีด้านดี และแน่นอนคือทำให้เด็กเป็นคนดีมากกว่าคนไม่ดี เพราะใครๆ ก็อยากเป็นพระเอก” นายอรุณฉัตร กล่าว

โมเดลการ์ตูนดี ทางออกที่ต้องคิดและทำร่วมกัน นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้ความเห็นว่า ควรหาโมเดลหรือชุดความรู้เกี่ยวกับการ์ตูนที่ดีมาเป็นแนวทางในการทำงานของผู้ผลิตการ์ตูน เพื่อตอบสนองความต้องการและการรับรู้ให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย “การ์ตูนดีที่ดูแล้วพอใจคืออะไร อยากให้นำการ์ตูนที่บอกว่าดี หรือไม่ดีนั้นมาให้เด็กดูแล้วเปิดเวทีวิจารณ์ว่าเด็กต้องการอะไร

เราควรมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นในการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ช่อง NBT สามารถส่งเสริมคนทำการ์ตูนด้วยการให้เวลาในการฉายฟรี เพราะเป็นช่องของรัฐ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน เพื่อเปิดช่องทางให้คนทำการ์ตูน ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นธุรกิจ” นายวัลลภ กล่าว

ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล นักจิตวิทยาเด็ก กล่าวว่า ผู้ผลิตการ์ตูนควรคำนึงถึงการรับรู้ของเด็กในแต่ละวัย เพราะจะทำให้แก่นเรื่องมีความชัดเจน อีกทั้งการสร้างความรู้ต้องสอดคล้องตรงกับประสบการณ์การเรียนรู้และวัยของ เด็ก เพราะความสนุกของเด็ก 3 ขวบ กับเด็ก 10 ขวบนั้นแตกต่างกัน

ขณะที่ข้อเสนอแนะจากวิทยากรตลอดจนผู้เข้าร่วมสัมมนายังเห็นว่า การ์ตูนที่จะนำมาออกอากาศ ควรมีการศึกษาข้อมูลและสำรวจผู้ชมก่อน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้อย่างเหมาะสม คำนึงถึงพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ยัดเยียดเนื้อหาจนเกินไป

นอกจากนี้ ไม่ควรมีโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายหรือจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ ปรากฏในรายการการ์ตูนเด็ก เช่น โฆษณาถุงยางอนามัย โฆษณาเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ รายการการ์ตูนจะต้องมีการกำหนดเรตติ้งที่ถูกต้องตรงกับเนื้อหาที่ออกอากาศ อย่างแท้จริงไม่ใช่มุ่งกำหนดเรตติ้งเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดเท่านั้น

ข้อมูลมาจาก การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“รายการการ์ตูนเด็กในฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9, NBT และ TPBS)” เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เพื่อร่วมศึกษาเนื้อหาและค่านิยมที่ปรากฏในรายการการ์ตูนเด็ก
โดยมีอาจารย์และนิสิต นักศึกษา 8 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต นอกจากนี้มีเครือข่ายองค์กรด้านเด็กอีก 5 องค์กร คือ กลุ่มระบัดใบ จังหวัดระนอง, โครงการบริโภคสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กลุ่มไม้ขีดไฟ จังหวัดนครราชสีมา, เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ประสานงานสำนักข่าวเด็ก จังหวัดพะเยา

โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)
เลขที่ 31 อาคารพญาไท ชั้น 5 ห้อง 517-518 ถนนพญาไท
เขตราชเทวี กทม. 10400 โทรศัพท์ 02-246-7440,
โทรสาร 02-246-7441 website: www.mediamonitor. in.th
e-mail: mediamonitorth@ gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: