วันจันทร์, มีนาคม 09, 2552
ตลาดเขียวบนตึกสูง
"เราเป็นสิ่งที่เรากินเข้าไป" และอยากขอเติมว่า เราเป็นดังวิธีการที่เรากินด้วย
You are what you eat (and how you eat it).
ถ้าเช่นนั้น คนเมืองอย่างเรา ๆ คงเป็นสารพิษและขยะ เพราะสิ่งที่เรากิน ดื่ม เจือปนด้วยสารพิษนานาชนิด และวิถีชีวิตแบบเร่งรีบทำให้เราจำต้องด่วนแดกเป็นประจำ
จะหาอาหารที่ปลอดภัยได้ที่ไหน จะหาคนปรุงอาหารจะใส่ใจกับสุขภาพผู้ซื้อกินได้จากไหน และเราจะหาเวลาค่อย ๆ ละเลียดลิ้มรสอาหารเพื่อสุขภาวะของเราได้อย่างไร
เวทีสร้างสุข สสส.จับมือกับเครือข่ายตลาดสีเขียว เปิดตัวกิจกรรม “ตลาดสีเขียวบนตึกสูง” ที่จะจัดขึ้นทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ ๑ และ ๓ ของเดือน ณ ลานกิจกรรม ชั้น ๓๕ อาคารเอส. เอ็ม.ทาวเวอร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป
ในวันทำการ ตลาดสีเขียวบนตึกสูงเริ่มเปิดเวลา ๑๑.๐๐ น. และตลาดวายตอน ๑๗.๓๐ น. ซึ่งผู้สนใจสามารถเลือกซื้อหาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเครือข่ายตลาดสีเขียวได้ รวมทั้งยังเป้นโอกาสให้ผู้บริโภคได้รู้จักกับผู้ปลิตโดยตรงด้วย เพื่อเพิ่มสายใยสัมพันธ์ของความห่วงใยกันและกัน
และในช่วงกิจกรรมเปิดตลาดในวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมา เวทีสร้างสุขหาสาระมาเติมสมองของเราด้วยการเสวนา “ตลาดเขียว เกษตรอินทรีย์ กับวิถีผู้บริโภคคนเมือง”
คุณพฤติ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัทแดรี่โฮม เจ้าของผลิตภัณฑ์นมอินทรีย์ตราแดรี่โฮม ในฐานะตัวแทนเครือข่ายตลาดสีเขียว เล่าถึงความเป็นมาของการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตนมอินทรีย์ว่า เป็นการแสวงหาทางเลือกเพื่อลดแรงกระทบจากธุรกิจนำเข้านมจากต่างประเทศ หลายปีที่ผ่านมานมนำเข้ามีราคาถูกกว่านมที่ผลิตในประเทศ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาด้านการจำหน่ายเพราะไม่สามารถผลิตนมที่มีราคาต่ำกว่าได้
ในมุมมองของคุณพฤติ ทางรอดของเกษตรกรจึงไม่ใช่การแข่งขันด้านราคา แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพให้ดีกว่า จึงเป็นที่มาของนมอินทรีย์ ที่งดเว้นการใช้เคมีทุกชนิดในฟาร์ม เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโคนมให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ เลี้ยงวัวให้เป็นวัวไม่ใช่เครื่องจักรผลิตนม ที่ต้องควบคุมการผลิตหรือฉีดสารเร่ง แน่นอนว่าผลผลิตย่อมลดลง แต่ผลดีที่ตามมาถือว่าเกินคุ้ม ดังที่ คุณพฤติ กล่าวไว้ว่า
“หลังจาก ๓ เดือนผ่านไปเกษตรกรบอกว่าดี ทำงานน้อยลง มีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น วัวที่เคยเจ็บป่วยบ่อยๆ ก็ไม่ป่วย ผู้เลี้ยงก็มีสุขภาพจิตดีขึ้น รายได้น้อยลงแต่เหลือเก็บมากขึ้น จากเดิมได้เดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เหลือเก็บ ๑๐,๐๐๐ – ๒๐,๐๐๐ บาท บางเดือนก็ไม่เหลือเพราะต้องจ่ายค่ายา ค่ารักษาวัวป่วย แต่พอเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบตามธรรมชาติ วัวไม่เคยป่วย ถึงแม้จะได้แค่เดือนละ ๘๐,๐๐๐ บาท แต่รายจ่ายก็ไม่ค่อยจะมี”
ส่วนกิจกรรมขับเคลื่อนตลาดเกษตรอินทรีย์คุณพฤติบอกว่า สิ่งที่ทำอยู่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่คุ้มค่าทางธุรกิจแต่ต้องช่วยกันทำ ทำแ ล้วต้องไม่เลิก เพื่อจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ทางด้านคุณธวัชชัย โตสิตระกูล รองประธานกรรมการมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคคนเมือง ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานกว่า ๑๖ ปี ในการทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ ทั้งในบทบาทผู้จำหน่ายและส่งเสริมการผลิต เล่าถึงสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในสังคมไทยว่า ปี ๒๕๓๖ ที่เริ่มทำตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์นั้น มีคนจำนวนน้อยมากที่เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร และยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างคำว่าปลอดสารพิษ ไร้สาร และเกษตรอินทรีย์ บางคนเข้าใจว่า ปลอดภัยจากสารพิษดีที่สุด ซึ่งในความเป็นจริง คำว่า “ปลอดสาร” หรือ “ไร้สาร” เป็นเพียงการไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ในกระบวนการปลูกยังคงใช้ปุ๋ยเคมีอยู่
ปัจจุบันการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กว้างขวางมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงองค์กรพัฒนาภาคเอกชน แต่ยังมีภาคธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย เช่น สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งมีองค์กรธุรกิจเป็นสมาชิกเกือบ ๑๐ องค์กร ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีในแง่ของการขยายตัวของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ทำให้คนเข้าใจเกษตรอินทรีย์กว้างขวางขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ส่วนสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ คุณธวัชชัยเล่าจากประสบการณ์ในอดีตถึงปัจจุบันว่า
“หลังจากมูลนิธิฯ ทำงานส่งเสริมเกษตรกรประมาณ ๑๓ กลุ่ม ใน ๑๘ จังหวัด ผลผลิตที่ได้มูลนิธิฯ จะมีการรับประกันและรับซื้อในนามของสหกรณ์กรีนเนท เพื่อนำมาจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยสัดส่วนการส่งออกจะสูงกว่าการขายในประเทศ คือส่งออก ๘๐% ขายในประเทศ ๒๐% ตลาดในต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและโตเร็วกว่าการเกษตรทั่วไป ยกเว้นปีนี้ที่กำลังซื้อลดลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ”
จากสถานการณ์ที่ตลาดรับซื้อในต่างประเทศลดลงในปีนี้ จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการหันมาส่งเสริมการทำตลาดภายในประเทศ ให้คนไทยนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มากขึ้น
คุณธวัชชัยยังมีข้อเสนอต่อการดำเนินงานด้านการตลาดที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคคนเมืองว่า ควรติดต่อให้หน่วยงานในระดับนโยบายรับซื้อผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายโดยตรงแล้วจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าตามจำนวนที่มีการสั่งซื้อ เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตไม่ต้องลงทุนมาเร่ขายเอง และควรเปิดร้านอาหารของเครือข่าย โดยใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ล้วนๆ แม้ต้นทุนจะสูงก็ต้องยอมรับกำไรที่น้อยลง เพื่อให้คนสนใจบริโภคมากขึ้น
ในส่วนภาครัฐ คุณสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงานสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ก็ให้ความสำคัญต่อเกษตรอินทรีย์ในแง่ที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Green” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเกษตรอินทรีย์ได้ ผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหลายโครงการ อาทิ สวนลอยฟ้า ที่มีการปลูกพืชผักสวนครัวโดยใช้ปุ๋ยหมักจากขยะ ซึ่งเติบโตดีมากจนสามารถส่งขายให้เลมอนฟาร์มได้ การรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้ว และการส่งเสริมให้โรงเรียนหมักเศษขยะอาหาร แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์โดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนเมืองที่ควรสื่อสารไปยังคนเมืองเพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักให้มากขึ้น
“เครือข่ายตลาดสีเขียวพยายามจะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย แต่บางทีผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจเลือกก็ไม่มีความรู้ประกอบการตัดสินใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสื่อสารให้มากขึ้น องค์กรภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ และที่สำคัญคือการรวมตัวกันให้เข้มแข็ง”
ฝ่ายนักวิชาการ ผศ.ดร.โอปอลล์ สุวรรณเมฆ จากภาควิชาบริหารธุรกิจเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวถึงคำว่า “green product” ใน ๒ แนวทาง คือ green product ที่เป็นตัวผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เช่น นมแดรี่โฮม กับ green product ในรูปแบบของการประหยัดพลังงาน เช่น การมุ่งลดภาวะโลกร้อน
จากการทำงานวิจัย ผศ.ดร.โอปอลล์ กล่าวว่า หลักวิชาการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ปลอดภัยจากสารเคมีนั้น ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อผลผลิตโตเต็มที่เกษตรกรจะต้องรีบเก็บทันทีก่อนที่แมลงจะมากัดกิน ไม่สามารถรอจนถึงระยะที่ผลผลิตจะสะอาดปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงที่ใส่ไปแล้วได้ ผลผลิตที่นำมาขายในตลาดจึงแฝงไว้ด้วยยาฆ่าแมลงและสารฟอร์มาลีน ซึ่งในเมืองไทยไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ ผู้บริโภคต้องระมัดระวังด้วยตนเอง การหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่า
“วิถีชีวิตการบริโภคของคนในสังคมเปลี่ยนไปมาก การจัดตลาดนัดก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น ถึงแม้จะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการมาออกร้านแต่ละครั้ง แต่ก็ช่วยในแง่ของการประชาสัมพันธ์ได้ดี เป็นรูปแบบที่มีชีวิตชีวาและมีสีสัน จุดสำคัญคือต้องดึงกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาหาให้ได้ ซึ่งคิดว่าลูกค้าของตลาดเขียวมีอยู่ ๔ กลุ่มคือ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนชั้นกลาง” ผศ.ดร.โอปอลล์ แสดงทัศนะต่อตลาดเขียวบนตึกสูง
อย่างไรก็ตาม ในวิถีทางของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก เพียงแต่ต้องไม่ลืมที่จะทำตลาดภายในประเทศด้วย ดังที่ ผศ.ดร.โอปอลล์ กล่าวว่า
“ในระยะสั้นและระยะกลางการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จะยังอยู่ในระดับดี แต่ในระยะยาวก็ต้องหันมามองสังคมเราด้วย เพราะมาตรฐานการส่งออกต่างประเทศจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาชนะบรรจุต้องทำให้ย่อยสลายได้ง่ายในช่วงเวลาสั้นๆ”
แม้การสร้างตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเป็นเรื่องยาก แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์กลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ดังนั้นความพยายามของเครือข่ายตลาดสีเขียวที่จะนำผู้ผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยมาพบกับผู้บริโภค จะเป็นหนทางที่ช่วยเพิ่มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยได้ ซึ่งจะย้อนกลับไปสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ผลิต ให้หันมาผลิตตามแนวทางนี้ได้มากขึ้นด้วย
ทางเครือข่ายตลาดสีเขียวจึงยังคงมุ่งมั่นจะดำเนินการตามวิถีตลาดสีเขียวต่อไป เพราะเชื่อว่า วิถีนี้คือความยั่งยืนของการดูแลสุขภาพ ไม่เฉพาะมิติทางกายเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณด้วย
...........................
กิจกรรมตลาดสีเขียวบนตึกสูง
จะจัดขึ้นทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ ๑ และ ๓ ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ชั้น ๓๕ ตึกเอส.เอ็ม.ทาวเวอร์ (ตรงข้าม ททบ.๕ สนามเป้า) เริ่มเปิดตลาดตั้งแต่ ๑๑.๐๐ น. และปิดตลาดในเวลา ๑๗.๓๐ น.
หากผู้บริโภคท่านใดสนใจ หรือ ผู้ประกอบตึกสูงในกรุงเทพฯ สนใจให้เครือข่ายตลาดสีเขียวไปร่วมออกร้าน
สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒-๒๒๒๕๖๙๘ , ๐๒-๖๒๒๐๙๕๕ , ๐๘๙-๘๙๒๑๗๙๑
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น