วันพุธ, มกราคม 31, 2550

การ์ดอวยพรจากผู้ป่วยมะเร็ง


ช่วงปีใหม่ หลายคนคงได้รับการ์ดอวยพรมากมายตามธรรมเนียมปฏิบัติ การ์ดแต่ละใบอาจมีข้อความไม่ต่างกันนัก คือปรารถนาให้ผู้รับมีความสุขตลอดปี นับเป็นการส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงให้แก่กัน แต่การ์ดใบหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รับในปีนี้ให้มากกว่าความรู้สึกดีๆ เหล่านั้น การ์ดเล็กๆ ธรรมดาๆ ใบนี้ส่งมาจากผู้ป่วยโรคมะเร็งท่านหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าน่าจะเหลือเวลาของชีวิตอยู่อีกไม่เกิน 2 ปี เขาคือ นายแพทย์คมสรรค์ พงษ์ภักดี คนที่ข้าพเจ้ารู้จักและคุ้นเคย พบกันเสมอตามเวที งานเสวนาเกี่ยวกับความตาย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการอบรมภาวนาเผชิญความตายด้วยใจสงบ เนื้อความในการ์ดมีเพียง 3 ประโยคสั้นๆ แต่ไม่ใช่ประโยคเดิมๆ ที่เราเขียนเหมือนๆ กันในการ์ดจำนวนเป็นโหลๆ เนื่องจากไม่มีเวลาสรรหาถ้อยคำอวยพรให้เป็นรายบุคคล สิ่งที่คุณหมอเขียนมีใจความถึงข้าพเจ้าโดยตรง ให้ทั้งกำลังใจในเรื่องงานเขียนหนังสือที่เคยทำและที่กำลังจะทำต่อไป อดคิดไม่ได้ว่าการจะทำเช่นนี้ได้ คุณหมอต้องให้เวลากับการนึกถึงข้าพเจ้า คิดเลือกสรรคำอวยพรที่ให้กำลังใจ
ดูเหมือนว่า ผู้ที่มีเวลาชีวิตไม่มากกลับมีเวลาทำในสิ่งที่ข้าพเจ้าและใครหลายคนบอกว่า “ไม่มีเวลา” ที่สำคัญ การได้รับความปรารถนาดีจากคนป่วย ช่วยให้ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแต่ใจห่อเหี่ยวเศร้าเซ็งกับอุปสรรคในชีวิต กลับมีกำลังใจ มีความสุข และมีพลังขึ้นอย่างมาก ในขณะที่เราหลายคนรำพึงรำพันกร่นว่าชีวิต ว่าเต็มไปด้วยความทุกข์ ปัญหา แต่เพื่อนผู้นี้ ผู้ที่โรคร้ายกำลังลิดรอนพลังทางกายและอาจคร่าชีวิตเขาได้ทุกเมื่อ กลับมีรอยยิ้ม ความสุข ความรัก และกำลังใจเปี่ยมล้น พร้อมที่จะแบ่งปันให้ทุกคน ซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้ายิ้มได้และมีสติรู้ในการดำเนินชีวิตตลอดปีใหม่นี้มากขึ้น
ย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 2 ปีก่อน ด้วยวัยราวปลายสามสิบ คุณหมอคมสรรค์ ได้รับรู้ว่าตนเป็นมะเร็งชนิดไร้ทางรักษาและอาจสิ้นลมหายใจได้ทุกโอกาส อาการของมะเร็งชนิดนี้จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ระบบประสาทล้มเหลวและหยุดทำงานได้ทุกเมื่อ ตามสถิติแล้ว ผู้ที่เป็นโรคนี้จะอยู่ได้ไม่เกิน 36 เดือน เมื่อหนีความตายไม่พ้น คุณหมอจึงเลือกที่จะเผชิญกับมันอย่างกล้าหาญ ทบทวนถามตัวเองว่า “ในเวลาที่เหลือ จะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า และตายอย่างสง่างาม” ด้วยตระหนักว่า การตายอย่างมีสติด้วยใจสงบนั้นสำคัญ คุณหมอจึงหันเข้าหาศาสนธรรม ฝึกฝนวิธีการภาวนารักษาใจและเจริญสติอย่างจริงจัง
หนทางหนึ่งที่หลายคน รวมทั้งคุณหมอคมสรรค์ เห็นว่าน่าจะช่วยให้ใจคลายจากความทรมานทางกายได้บ้างคือ การภาวนาเจริญสติ
“การภาวนา” เป็นหนทางที่ท่านเลือกเพื่อช่วยเตรียมใจถ้าห้วงเวลาสุดท้ายมาเยือน ความเจ็บปวดทรมานทางกายและความตายนั้น เดินทางด้วยกันเสมอๆ ถ้ากายเจ็บ ใจก็มักจะเจ็บกว่าหลายเท่าทวี นอกจากการเตรียมใจตายแล้ว การภาวนายังเอื้อให้ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบานด้วย
หลายครั้งที่เราได้พูดคุยกันในงานเสวนา งานประชุม และทำกิจกรรมต่างๆ คุณหมอจะมีรอยยิ้ม ความเบิกบานให้เราเห็นเสมอ
ครั้งหนึ่งท่านแอบบอกเราว่า “กำลังเจ็บปวดและเหนื่อยมาก แต่ใจยังสบายดีอยู่” ได้ยินเช่นนี้ ถึงกับทำให้เราเกิดความละอายเมื่อเวลาที่เราเจ็บป่วยเพียงเล็กๆ น้อยๆ แล้วตีโพยตีพาย รำพันให้คนดูแลเอาใจใส่ เมื่อเวลาเริ่มเหลือน้อยลง คุณหมอจึงใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด ท่านทำงานน้อยลง เนื่องด้วยสภาพทางกาย แต่เหตุผลสำคัญอีกประการคือ ท่านต้องการให้เวลากับความสัมพันธ์และงานแห่งชีวิตเพิ่มขึ้น ท่านให้เวลากับครอบครัว ดูแลลูกและภรรยา ท่านรับคำเชิญไปบรรยายอยู่เสมอ เช่น เรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์เฉียดตาย อานิสงส์ของการภาวนาในการรักษาใจเมื่อเผชิญความทุกข์กายทุกข์ใจ และยังริเริ่มงานดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐมด้วย ใบหน้าของคุณหมอผ่องใสขึ้นทุกครั้งที่ได้พบ รอยยิ้มของท่านส่งความสุขให้แก่ทุกคนที่พบเจออยู่เสมอ ซึ่งดูแล้วไม่เหมือนผู้ป่วยเลย ทุกวันนี้ ท่านบอกว่ามีความสุขมากกว่าตอนที่ไม่ป่วยหลายเท่า และใครที่ได้เห็นท่านก็จะได้รับพลังความเบิกบานผ่านรอยยิ้มของท่านเสมอ คุณหมอบอกเราด้วยว่า “จะตายเร็วหรือช้ากว่ากำหนดนั้น ไม่สำคัญ แค่มีความสุขสงบ ทุกๆ ขณะที่ยังมีลมหายใจก็เพียงพอแล้ว”
น่าสนใจว่า ความตายเปิดพื้นที่ให้เรามีชีวิตให้เป็น มีโอกาสกลับมาทบทวน ค้นหาความหมาย แสวงหาแก่นแท้และคุณค่าของชีวิต
ที่จริง ยังมีผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายแบบเดียวกับคุณหมอคมสรรค์อีกมากมายที่มีชีวิตอย่างมีความสุข เครียดหรือกังวลน้อย ไม่เสียเวลาที่จะรำพันถึงอดีตหรือเฝ้าฝันถึงอนาคต เวลาปัจจุบันเท่านั้นคือเวลาที่มีชีวิต โดยมาก ความตายไม่อยู่ในความคิดคำนึงของเราๆ ท่านๆ ที่เห็นว่าตนยังสุขภาพดีอยู่ ความตายอยู่ปลายทางอันห่างไกล ไม่แน่ว่าด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้เราปล่อยเวลาไปจ่อมจมกับความทุกข์ ความกังวล ความเครียด ความเสียใจ และความผิดหวังสารพัด
เราจะมีความสุขและใช้ชีวิตที่มีความหมายโดยไม่ต้องรอให้ความตายและความเจ็บป่วยมาถึงได้หรือไม่ จะเป็นอย่างไร หากเราถามตัวเองอย่างจริงจังว่า “ถ้าเรากำลังจะตาย เราจะใช้ชีวิตและเวลาที่เหลืออยู่อย่างไรและเพื่ออะไร”
มีคนเคยพูดว่า “การให้เวลากับผู้อื่นนั้น เป็นของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง” อาจจะจริง นั่นคือ เวลาเป็นสิ่งที่ผ่านแล้วผ่านเลย เวลาคือชีวิตของเรา ถ้าหากเราให้เวลากับใครหรือสิ่งใดนั้นก็คือเรากำลังให้ชีวิตของเรากับสิ่งนั้นๆ
แล้วตอนนี้ เราให้ชีวิตและเวลากับใคร รวมทั้งให้สิ่งใดไปบ้าง? งาน เงิน สะสมทรัพย์สิน ชื่อเสียง ลูก ครอบครัว พ่อแม่ เพื่อน เกมคอมพิวเตอร์ สุขภาพ การเรียนรู้ การปฏิบัติศาสนธรรม ความทุกข์ ความสุข ความโกรธ ความเกลียด การสู้รบและการแข่งขัน
หลายครั้งเราให้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่อาจมีความสำคัญน้อย จนทำให้เหลือเวลาน้อยเพื่อทำในสิ่งที่สำคัญมากกว่า จะหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมนี้ได้ คงต้องมีเวลาสบายๆ นั่งคิดทบทวนชีวิตดูบ้าง
ในการอบรมชีวิตกับพุทธธรรม ซึ่งนำโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านแนะนำให้เราลองทบทวนว่าชีวิตประกอบด้วยมิติอะไรบ้าง กาย ใจ ความสัมพันธ์ การเลี้ยงชีพ ปัจจัย4 สังคม สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้และจิตวิญญาณ
การมีชีวิตคือการดูแล จัดสรรเวลาให้แก่มิติต่างๆ ของชีวิตเหล่านี้อย่างรอบด้านและสมดุลเท่าที่จะเป็นไปได้
บางคนให้ความสำคัญกับมิติการทำมาหากินและหาเก็บสะสมปัจจัยมาก จนละเลยความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว การดูแลกาย และเรียนรู้เพื่อพัฒนาสติปัญญา รวมทั้งจิตใจ
มีตัวอย่างของผู้ที่ดำเนินชีวิตคล้ายๆ อย่างนี้ เมื่อล้มหมอนนอนเสื่อหรือเจียนตายขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้น คือลูกๆ ญาติๆ ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาไป ไม่ค่อยสนใจมาเยี่ยมเยียนดูแล
และเพราะไม่เคยฝึกฝนกายใจมาก่อนเลย พวกเขาจึงรู้สึกทุกข์มากกับความเจ็บปวดทางกายและใจ ท้ายที่สุดก็ตายไปอย่างโดดเดี่ยวและทุรนทุราย
ขอบคุณการ์ดใบเล็กจากผู้ป่วยกายแต่ใจสบายท่านนี้ นับว่าเป็นของขวัญปีใหม่ 2550 ที่ดีที่สุด ช่วยให้ข้าพเจ้าได้หยุดคิดและทบทวน ความหมาย แง่งามของชีวิต เพื่อที่จะใช้ชีวิตที่ยังมีอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 ม.ค.50
เรื่อง: กรรณจริยา สุขรุ่ง
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ชีวิตและความผูกพัน



ใครก็ตามที่มีจิตใจดีงาม แม้กาลเวลาผ่านไป...ผู้คนก็ยังจดจำ
เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2549 ผมได้เดินทางไปร่วมพิธีศพของคนๆ หนึ่ง เย็นวันนั้นฟ้าหลัวแต่บ่ายอ่อน กระทั่งตกหนักชนิดไม่อาจแหงนมองน้ำฟ้าที่ถั่งโถมโน้มตัวลงมา คล้ายจะบอกคนทุกผู้ที่เดินทางยังงานศพว่า อย่าเพิ่งทำลายร่างของใครคนหนึ่งที่นอนนิ่งอยู่ในโลง ด้วยความอาลัยอาวรณ์ของใครบางคนไม่อยากให้เขาจากโลกนี้ไป ผมรู้จักคนที่นอนสงบในโลงไม้เป็นอย่างดี...เขาชื่อคุณสนิท เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของครอบครัวเรา กว่าสิบปี หลังจากผมกับพ่อและแม่ตัดสินใจปลูกบ้านแถวรังสิต เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดติดกันมากที่สุดก็คือบ้านของคุณสนิท ชุมชนแถบนั้นอยู่เยื้องป้ายหยุดรถไฟคลองรังสิต ซึ่งเป็นธรรมดาที่คนทำงานรถไฟเช่นคุณสนิทจะปักปลูกเรือนไม้ใกล้วิถีแห่งงานการของตัวเอง
คนทำงานกับพาหนะระบบรางคนนี้ เคยออกจากบ้านไปทำงานยังสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นประจำ เล่าขานว่าก่อนจะเป็นหัวหน้าหน่วยสื่อสารของการรถไฟแห่งประเทศไทย เขาต้องตระเวนไปตามต่างจังหวัดมานักต่อนักเพื่อจัดการให้ระบบการเดินรถของเจ้าม้าเหล็กสะดวกปลอดภัย จนแทบจำไม่หวัดไม่ไหวว่าเคยไปเยี่ยมเยือนท้องถิ่นใดบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ลาออกจากงานประจำ กลับมาปักหลักอยู่กินกับเงินบำเหน็จก่อนวัยเกษียณ เนื่องเพราะภรรยาล้มป่วยด้วยหลายโรคที่รุมเร้า
นับครั้งไม่ถ้วนที่ผมเดินผ่านหน้าบ้านของคุณสนิทแล้วได้ยินเสียงเอะอะโวยวายเล็ดลอดออกมาจากบ้านไม้สองชั้นของเขา เป็นเสียงกรีดร้องของหญิงวัยกลางคนที่แทบจับใจความไม่ออก เมื่อเผลอมองภายในบ้านก็แทบตะลึงงัน หลังจากเห็นภรรยาของคุณสนิทควงมีดดาบเล่มใหญ่กวัดแกว่งอาละวาดไปทั่ว เหมือนจะไปรบทัพจับศึก ทั้งที่คนตรงหน้าก็คือ สามีผู้ใจงาม...
...ใจงามตรงที่นอกจากจะลาออกจากงานเพื่อดูแลภรรยาอันเป็นที่รักแทนลูกทั้งสองคนแล้ว เขาไม่เคยนึกรังเกียจภรรยา หรือหายหน้าไม่พานพบยามเมื่ออาการทางประสาทของเธอกำเริบ แต่กลับเกลี้ยกล่อมให้ใจเย็น รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
นอกจากอาการทางประสาทแล้ว ภรรยาของเขายังป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง จนฝ่าเท้าสองข้างปูดบวมเป็นแผลแตกยากจะขยับก้าว ตรงข้ามกับสุขภาพของคุณสนิทที่เอาใจใส่ดูแลตัวเองนับแต่ยังหนุ่มๆ เขาไม่เคยทำตัวสำมะเลเทเมา ดื่มสุราเหล้าขาวเหมือนชาวบ้านในแถบถิ่นเดียวกัน
อาการทางประสาทของภรรยานับเป็นเรื่องสุดวิสัย ยากจะทำให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ภาวะดังเดิม ทว่าคุณสนิทก็ยังไม่เลิกล้มความพยายามที่จะทำให้เธอกลับมาเป็นปกติ เขายืนยันหนักแน่นว่าในยามที่เธอครองสติได้ เธอก็รักเขามาก รักจนไม่ยอมให้เขาอยู่ไกล เขาเคยเล่าให้ผมฟังว่าหลายหนที่เขานำตัวภรรยาไปส่งห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเพราะความดันกำเริบ ภรรยาของคุณสนิทมักจะร้องหาเขาเมื่อต้องห่างกัน แม้จะเป็นเวลาชั่วขณะก็ตาม การเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ทำให้ใครต่อใครมักกล่าวอยู่ร่ำเรื่อยว่า ภรรยาของเขาคงจะเป็นฝ่ายลาโลกไปก่อน
แต่แล้ว...วันแห่งต้นเหตุที่ทำให้ผมต้องไปงานศพของคุณสนิทก็เดินทางมาถึง
คืนก่อนที่คุณสนิทจะลาจาก อาการทางประสาทของภรรยาได้กำเริบอย่างหนัก ผมไม่รู้ต้นสายปลายเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น ทราบเพียงว่าคุณสนิทนำตัวภรรยาส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แม้จะเป็นช่วงเวลาประมาณตีสาม แต่เขาก็ต้องฝ่าความมืดออกไปตระเวนหารถรับจ้าง เนื่องจากครอบครัวของเขาไม่มีรถส่วนตัว หลังจากได้รถเช่า เขารีบนำตัวภรรยาขึ้นรถไปยังโรงพยาบาล ระหว่างนั้น เจ้าของรถเช่าสังเกตอาการหืดหอบของคุณสนิทปรากฏเป็นระยะ จนเมื่อรถเช่าวิ่งเข้าสู่ประตูรั้วโรงพยาบาล ภรรยาของคุณสนิทจึงเข้ารับการรักษาอย่างปลอดภัย
แต่ใครจะเชื่อว่าหลังจากผู้เป็นที่รักเข้าห้องฉุกเฉินได้เรียบร้อย คุณสนิทก็ล้มลง ห้องไอซียูที่เต็มด้วยผู้ป่วยปางตายจึงเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งราย นอกเหนือจากภรรยาของคุณสนิทที่นอนพักอยู่ในมุมหนึ่งของห้อง ร่างของคุณสนิทก็นอนแน่นิ่งอยู่อีกมุมหนึ่งเช่นกัน โดยเธอไม่อาจรับรู้ว่าสามีของตนกำลังเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายยิ่งกว่า จวบเช้าวันพรุ่ง คุณสนิทก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เป็นการจากไปที่เร็วมาก เร็วเสียจนจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว โชคชะตาจะเล่นตลกอะไรกับครอบครัวนี้อีก
ทันทีที่ลูกทั้งสองของคุณสนิทได้รับทราบข่าวร้าย พวกเขาจึงปิดเรื่องการตายของคุณพ่อไม่ให้ผู้เป็นแม่ทราบเพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัย ลูกทุกคนร่ำไห้เสียใจเมื่อรับทราบว่าพ่อจากไป ทว่าฉับพลันก็ต้องเช็ดน้ำตาแล้วแสร้งพูดคุยกับแม่อย่างปกติที่สุดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาบอกแม่ว่าพ่อเดินทางมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลไม่ได้เพราะติดธุระ ทั้งที่ความจริง ญาติมิตรอีกกลุ่มกำลังแอบนำร่างของคุณสนิทออกจากห้องผู้ป่วยฉุกเฉินห้องเดียวกัน นำไปใส่โลงแล้วตั้งวางเพื่อรอสวดอภิธรรมบนศาลาวัด
วันสุดท้ายของร่างในโลง ผมได้เข้าร่วมงานฌาปนกิจศพ ท่ามกลางห่าฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่เกรงใจ วัดแห่งนั้นเป็นวัดเล็กๆ อยู่ห่างจากตัวเทศบาลเมืองพอสมควร วันนั้นมีผู้เข้าร่วมงานศพอย่างมืดฟ้ามัวดิน ทั้งชาวบ้านละแวกใกล้ และคนทำงานรถไฟผู้เป็นเพื่อนร่วมงานของคุณสนิท
ระหว่างที่ศพกำลังทำพิธีเผา พลังเพลิงของเปลวไฟพุ่งพวยขึ้นจากเตาเผาศพเก่าๆ จนเห็นควันดำลอยคว้างบนทะเลฟ้า เมฆหนาก่อตัวเป็นหย่อมใหญ่ก่อนที่ห่าฝนอีกระลอกจะซัดโถมเหมือนจงใจทำลายพิธีศพ คล้ายฟ้าดินต้องการให้คนดีเช่นคุณสนิทยังมีชีวิตอยู่บนโลก ขัดแย้งกับสัปเหร่อที่เร่งไฟให้เร้ารุมร่างคนดีในโลงไม้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ผมขอไม่บอกว่าหลังจากร่างของคุณสนิทเหลือเพียงเถ้ากระดูก ลูกๆ ของคุณสนิทได้บอกข่าวการเสียชีวิตให้ผู้เป็นแม่ได้ทราบหรือไม่ เพราะประเด็นใหญ่ของเรื่องทั้งหมด คือ “สิ่งกระตุ้นและเน้นย้ำให้ทุกคนรำลึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต”
ดังตัวอย่างของผู้ที่ไม่เคยป่วยไข้ กลับต้องจากไปอย่างกะทันหัน ตรงข้ามกับผู้ที่เจ็บออดๆ แอดๆ เต็มทั้งโรคกายโรคใจ แต่สุดท้ายกลับต้องลืมตามองโลก เพื่อซึมซับความเศร้าของตัวเองเรื่อยไป
คล้ายว่าธรรมชาติมักจะเล่นตลกกับชีวิต หากที่แท้...ชีวิตต่างหากที่เล่นตลกกับธรรมชาติ
ด้วยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ซื่อตรงต่อคนทุกผู้ ด้วยหน้าที่หลักของธรรมชาติคือการมอบสิทธิให้มนุษย์ได้เติบโตบนโลก
โลกที่มีความไม่แน่นอนเป็นสัจธรรม
ทว่าชีวิตที่เต็มด้วยความไม่แน่นอนนั้น กลับต้องพ่ายแพ้แก่ความรักความผูกพัน ซึ่งจีรังยั่งยืนกว่าร่างรูปที่มอดไหม้นับร้อยนับพันทวี

ชีวิตรื่นรมย์ // ฉบับ 9 ม.ค. 50
โมน สวัสดิ์ศรี
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่แข็งตึง ไม่หย่อนยาน


ทั้งการบริโภคจนล้นเกินและการปฏิเสธการบริโภคเสียทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ล้วนเป็นหนทางการใช้ชีวิตที่สุดโต่งด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้น หากใครเชื่อใน “ความพอดี” ศรัทธาในปรัชญา “ความพอเพียง” การบริโภคเท่าที่จำเป็น ใช้เท่าที่มี หรือบริโภคอย่างรู้เท่าทัน น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองหลวง

ตัวอย่างในเรื่องนี้ อาจดูจากการปรับตัวในการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของนักเขียนสาวชาวพุทธคนหนึ่งในสหรัฐฯ เธอคือ ซูมิ เลานดอน (Sumi Loundon 1975 ~ ) ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บาร์พุทธศึกษา (Barre Center of Buddhist Studies) ที่เมืองบาร์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร tricycle และอีกมากมายหลายฉบับ
ซูมิเล่าถึงประสบการณ์ความกระอักกระอ่วนใจของเธอบางอย่างในการดำเนินชีวิตประจำวันของเธอไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือชื่อ Hooked! : Buddhist Writings on Greed, Desire, and the Urge to Consume มี Stephanie Kaza เป็นบรรณาธิการ (สำนักพิมพ์ Shambhala ปี 2548 หน้า 49 – 62)
เรื่องของเธอน่าพิจารณาตรงที่ถึงแม้เธอจะเกิดและเติบโตมาในบรรยากาศทางสังคมและการศึกษาจากโลกตะวันตก (เธอสำเร็จการศึกษาจาก Harvard Divinity School สหรัฐฯ) แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวของเธอที่เคยผิดหวัง หมดศรัทธาใน “ความเป็นมนุษย์” ของชาวโลกที่เข่นฆ่ากันเองอย่างโหดเหี้ยมภายหลังสงครามโลกครั้งสอง (พุทธทศวรรษที่ 2480) และเลือกปักใจในวิถีแห่งธรรมชาติ ยึดมั่นในคำสอนของนิกายเซน
ครอบครัวของเธอศรัทธาในวิถีแห่งเซนมาก ถึงขนาดหันหลังให้กับการพัฒนาที่เราๆ ท่านๆ รู้จักดี เพิกเฉยต่อชีวิตที่ทันสมัย แล้วร่วมเป็นครอบครัวหนึ่งในสมาชิกชุมชนชาวเซนที่สมาทานในการดำเนินชีวิตที่แบ่งปันกัน โดยตั้งหลักปักฐานอาศัยอยู่ในเขตชนบทของรัฐนิวแฮมเชียร์
“การบริโภค” อย่างที่เราคุ้นเคยจึงกลายเป็นปมปัญหาขึ้นมาสำหรับเธอ
ในความทรงจำที่เธอเล่า ลักษณะการดำเนินชีวิตของชุมชนชาวเซนแห่งนั้นนิยมบริโภคด้วยการนำของที่ใช้แล้วนำกลับมาซ่อมแซมและใช้ใหม่อีกครั้ง พวกเขาสุขใจที่ได้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักผลไม้ทานกันเองในชุมชน จนแทบไม่ได้แตะต้องสินค้าร่วมสมัยจากในเมืองเลย
ซูมิจำได้ว่า สมาชิกในชุมชน รวมทั้งครอบครัวของเธอยินดีที่จะเลือกใช้ของเก่าเก็บสารพัดอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่นอนหมอนมุ้ง ของใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน แม้กระทั่งเบาะรองนั่งสำหรับนั่งวิปัสสนาก็ยังใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อัดแน่นแทนนุ่นสีขาว
หลายปีผันผ่าน เธอไม่แน่ใจว่าชุมชนแห่งนี้ยังคงดำรงอยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ พ่อและแม่ของเธอไม่ได้อยู่อาศัยที่นั่นแล้ว มิหนำซ้ำ ลักษณะการใช้ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว อย่างเช่นแม่ของเธอทุกวันนี้ กลับกลายเป็นผู้ชื่นชอบบริโภคแต่ของดีๆ และขับรถยนต์หรูราคาแพงเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนซูมิ เมื่อเธอเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เธอกลับค่อนข้างหนักอกหนักใจเกือบทุกครั้งในระยะแรกที่ต้องเข้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ (Modern Trade)
เธอสารภาพถึงความขับข้องใจบ่อยๆ ดังตัวอย่างที่เธอยกมาในข้อเขียนของเธอ เป็นความสับสนวุ่นวายใจระหว่างพื้นฐานชีวิตที่ถูกพร่ำสอนมาไม่ให้บริโภคอย่างฟุ่มเฟือยหรือตามใจตัวเองมากเกินไป กับความรู้สึกสบายอารมณ์ เพลิดเพลินใจทุกครั้งที่ได้ใช้จ่าย ได้ชำระเงินเพื่อของที่ตนอยากได้
หากความรู้สึกผิดเกิดขึ้นก็คงเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของเธอเริ่มทำงาน แต่ถ้าเป็นความพึงพอใจ ใครๆ คงพอนึกออกว่าอาการที่ว่านี้เป็นอย่างไร
ในตอนท้าย ซูมิได้ข้อสรุปกับตัวเธอเองว่า เราควรฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ซึ่งนัยยะของเธอน่าจะหมายถึง เท่าทันทั้งต่อการหลอกล่อของผู้ขายและต่อความอยากมีอยากได้ของตนเอง นั่นคือ บริโภคเท่าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิต ไม่ตระหนี่หรือเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจนได้รับความเดือดร้อน
เรื่องของการบริโภคข้างต้น ว่าไปแล้วก็เกี่ยวข้องกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติในบ้านเราขณะนี้อยู่ไม่น้อย
ซูมิจะเคยได้ยินหรือรับรู้เรื่องนี้บ้างหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่น่าสนใจและคิดต่อคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับซูมินั้น มีใครประสบกับตัวเองเช่นเดียวกับเธอบ้าง
หลายคนที่ตั้งใจปวารณาตัวที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงนับตั้งแต่พ.ศ.นี้เป็นต้นไป อาจกำลังสับสน เริ่มไม่แน่ใจในความเป็นไปได้ของชีวิตใหม่ภายใต้ปรัชญาความพอเพียง
บางคนยังคงอดทนทดสอบตัวเอง ถามหาความพอดีในปรัชญาที่ตนปักใจศรัทธาอย่างจริงจัง ขณะที่อีกหลายคน ไม่ทันไรก็เริ่มท้อแท้ เริ่มทยอยกันวางมือ ล้มเลิกความตั้งใจและหันกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม โดยตามใจความต้องการแบบเดิมๆ ของตนเอง
นี่ยังไม่นับรวมผู้คนอีกมากมายมหาศาลที่ถึงวันนี้ คำว่า “ความพอเพียง” ก็ยังเป็นเพียงคำโฆษณาคุ้นหูทั่วไป ไม่ต่างอะไรกับคำโฆษณาชวนเชื่อที่เราได้ยินกันตามสื่อต่างๆ ทุกวี่ทุกวันจนไร้น้ำหนัก ปราศจากอำนาจและความหมายที่ลึกซึ้ง
ซูมิอาจค้นพบความสมดุลในชีวิตการบริโภคของเธอแล้ว เธอซื้อบ้านใหม่ เครื่องเรือนชุดใหม่ เธอเรียนรู้ที่จะประกันความเสี่ยงในชีวิตด้วยการทำประกันภัยและวางแผนชีวิตวัยเกษียณตั้งแต่วัยย่างเข้าสามสิบได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่ คนไทยหลายคนยังคงคลำและควานหา พวกเขายังไม่รู้ด้วยว่าเมื่อไหร่จึงจะพบชีวิตที่ลงตัว เป็นอยู่อย่างพอเพียงในแบบของเขา
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจบางราย ตลอดจนผู้มีฐานะบางส่วนได้ทยอยออกมาให้ทัศนะกันบ้างแล้วว่า ความพอเพียงของคนต่างฐานะกันก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนควรตรวจสอบตัวเองเพื่อกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม ทั้งเหมาะสมกับฐานะและสภาพความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของตน
นัยยะของคนชั้นกลางเหล่านี้ย่อมหมายถึงด้วยว่า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างใหญ่หลวงแล้วก็ตาม แต่โครงสร้างของ “ความไม่เท่าเทียมกัน” รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เคยได้เท่ากันนั้นก็ยังดำรงอยู่อย่างแจ่มชัด และยิ่งตอกย้ำอย่างแน่นหนาในสังคมแบบใหม่เสียด้วยซ้ำ
อันที่จริง สำหรับคุณภาพชีวิตของซูมิแล้ว เธอยังมีเงินเก็บเหลือพอที่จะทำประกันซี่ฟันของเธอด้วย แม่ของเธอก็เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ความพอดียังมีนัยยะของชนชั้นแอบแฝง แต่นับจากนี้ไปก็หวังว่าพวกเราที่เหลือยังคงเฝ้าติดตามและช่วยให้กำลังใจกันและกันในชีวิตใหม่บนเส้นทางแห่งความพอเพียง
ช่วยกันค้นหาจุดสมดุลที่ไม่แข็งตึงและไม่หย่อนยานจนเกินไปในแบบที่แต่ละคนพึงพอใจ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
และที่สำคัญ อย่าเพิ่งหมดหวังว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้า ชีวิตที่พอเพียงในแบบของเราๆ ท่านๆ จะรื่นรมย์ ไร้ความกังวลใจในคุณภาพชีวิต มีเงินพอทำประกันซี่ฟันอย่างซูมิและแม่ของเธอได้บ้าง

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่16 ม.ค.50
เรื่อง: เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล