วันพุธ, มกราคม 31, 2550
ไม่แข็งตึง ไม่หย่อนยาน
ทั้งการบริโภคจนล้นเกินและการปฏิเสธการบริโภคเสียทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ล้วนเป็นหนทางการใช้ชีวิตที่สุดโต่งด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้น หากใครเชื่อใน “ความพอดี” ศรัทธาในปรัชญา “ความพอเพียง” การบริโภคเท่าที่จำเป็น ใช้เท่าที่มี หรือบริโภคอย่างรู้เท่าทัน น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองหลวง
ตัวอย่างในเรื่องนี้ อาจดูจากการปรับตัวในการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของนักเขียนสาวชาวพุทธคนหนึ่งในสหรัฐฯ เธอคือ ซูมิ เลานดอน (Sumi Loundon 1975 ~ ) ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บาร์พุทธศึกษา (Barre Center of Buddhist Studies) ที่เมืองบาร์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร tricycle และอีกมากมายหลายฉบับ
ซูมิเล่าถึงประสบการณ์ความกระอักกระอ่วนใจของเธอบางอย่างในการดำเนินชีวิตประจำวันของเธอไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือชื่อ Hooked! : Buddhist Writings on Greed, Desire, and the Urge to Consume มี Stephanie Kaza เป็นบรรณาธิการ (สำนักพิมพ์ Shambhala ปี 2548 หน้า 49 – 62)
เรื่องของเธอน่าพิจารณาตรงที่ถึงแม้เธอจะเกิดและเติบโตมาในบรรยากาศทางสังคมและการศึกษาจากโลกตะวันตก (เธอสำเร็จการศึกษาจาก Harvard Divinity School สหรัฐฯ) แต่ด้วยพื้นฐานครอบครัวของเธอที่เคยผิดหวัง หมดศรัทธาใน “ความเป็นมนุษย์” ของชาวโลกที่เข่นฆ่ากันเองอย่างโหดเหี้ยมภายหลังสงครามโลกครั้งสอง (พุทธทศวรรษที่ 2480) และเลือกปักใจในวิถีแห่งธรรมชาติ ยึดมั่นในคำสอนของนิกายเซน
ครอบครัวของเธอศรัทธาในวิถีแห่งเซนมาก ถึงขนาดหันหลังให้กับการพัฒนาที่เราๆ ท่านๆ รู้จักดี เพิกเฉยต่อชีวิตที่ทันสมัย แล้วร่วมเป็นครอบครัวหนึ่งในสมาชิกชุมชนชาวเซนที่สมาทานในการดำเนินชีวิตที่แบ่งปันกัน โดยตั้งหลักปักฐานอาศัยอยู่ในเขตชนบทของรัฐนิวแฮมเชียร์
“การบริโภค” อย่างที่เราคุ้นเคยจึงกลายเป็นปมปัญหาขึ้นมาสำหรับเธอ
ในความทรงจำที่เธอเล่า ลักษณะการดำเนินชีวิตของชุมชนชาวเซนแห่งนั้นนิยมบริโภคด้วยการนำของที่ใช้แล้วนำกลับมาซ่อมแซมและใช้ใหม่อีกครั้ง พวกเขาสุขใจที่ได้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักผลไม้ทานกันเองในชุมชน จนแทบไม่ได้แตะต้องสินค้าร่วมสมัยจากในเมืองเลย
ซูมิจำได้ว่า สมาชิกในชุมชน รวมทั้งครอบครัวของเธอยินดีที่จะเลือกใช้ของเก่าเก็บสารพัดอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่นอนหมอนมุ้ง ของใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน แม้กระทั่งเบาะรองนั่งสำหรับนั่งวิปัสสนาก็ยังใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อัดแน่นแทนนุ่นสีขาว
หลายปีผันผ่าน เธอไม่แน่ใจว่าชุมชนแห่งนี้ยังคงดำรงอยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ พ่อและแม่ของเธอไม่ได้อยู่อาศัยที่นั่นแล้ว มิหนำซ้ำ ลักษณะการใช้ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว อย่างเช่นแม่ของเธอทุกวันนี้ กลับกลายเป็นผู้ชื่นชอบบริโภคแต่ของดีๆ และขับรถยนต์หรูราคาแพงเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนซูมิ เมื่อเธอเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เธอกลับค่อนข้างหนักอกหนักใจเกือบทุกครั้งในระยะแรกที่ต้องเข้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ (Modern Trade)
เธอสารภาพถึงความขับข้องใจบ่อยๆ ดังตัวอย่างที่เธอยกมาในข้อเขียนของเธอ เป็นความสับสนวุ่นวายใจระหว่างพื้นฐานชีวิตที่ถูกพร่ำสอนมาไม่ให้บริโภคอย่างฟุ่มเฟือยหรือตามใจตัวเองมากเกินไป กับความรู้สึกสบายอารมณ์ เพลิดเพลินใจทุกครั้งที่ได้ใช้จ่าย ได้ชำระเงินเพื่อของที่ตนอยากได้
หากความรู้สึกผิดเกิดขึ้นก็คงเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของเธอเริ่มทำงาน แต่ถ้าเป็นความพึงพอใจ ใครๆ คงพอนึกออกว่าอาการที่ว่านี้เป็นอย่างไร
ในตอนท้าย ซูมิได้ข้อสรุปกับตัวเธอเองว่า เราควรฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ซึ่งนัยยะของเธอน่าจะหมายถึง เท่าทันทั้งต่อการหลอกล่อของผู้ขายและต่อความอยากมีอยากได้ของตนเอง นั่นคือ บริโภคเท่าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิต ไม่ตระหนี่หรือเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจนได้รับความเดือดร้อน
เรื่องของการบริโภคข้างต้น ว่าไปแล้วก็เกี่ยวข้องกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติในบ้านเราขณะนี้อยู่ไม่น้อย
ซูมิจะเคยได้ยินหรือรับรู้เรื่องนี้บ้างหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่น่าสนใจและคิดต่อคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับซูมินั้น มีใครประสบกับตัวเองเช่นเดียวกับเธอบ้าง
หลายคนที่ตั้งใจปวารณาตัวที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงนับตั้งแต่พ.ศ.นี้เป็นต้นไป อาจกำลังสับสน เริ่มไม่แน่ใจในความเป็นไปได้ของชีวิตใหม่ภายใต้ปรัชญาความพอเพียง
บางคนยังคงอดทนทดสอบตัวเอง ถามหาความพอดีในปรัชญาที่ตนปักใจศรัทธาอย่างจริงจัง ขณะที่อีกหลายคน ไม่ทันไรก็เริ่มท้อแท้ เริ่มทยอยกันวางมือ ล้มเลิกความตั้งใจและหันกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม โดยตามใจความต้องการแบบเดิมๆ ของตนเอง
นี่ยังไม่นับรวมผู้คนอีกมากมายมหาศาลที่ถึงวันนี้ คำว่า “ความพอเพียง” ก็ยังเป็นเพียงคำโฆษณาคุ้นหูทั่วไป ไม่ต่างอะไรกับคำโฆษณาชวนเชื่อที่เราได้ยินกันตามสื่อต่างๆ ทุกวี่ทุกวันจนไร้น้ำหนัก ปราศจากอำนาจและความหมายที่ลึกซึ้ง
ซูมิอาจค้นพบความสมดุลในชีวิตการบริโภคของเธอแล้ว เธอซื้อบ้านใหม่ เครื่องเรือนชุดใหม่ เธอเรียนรู้ที่จะประกันความเสี่ยงในชีวิตด้วยการทำประกันภัยและวางแผนชีวิตวัยเกษียณตั้งแต่วัยย่างเข้าสามสิบได้ไม่นาน ทั้งๆ ที่ คนไทยหลายคนยังคงคลำและควานหา พวกเขายังไม่รู้ด้วยว่าเมื่อไหร่จึงจะพบชีวิตที่ลงตัว เป็นอยู่อย่างพอเพียงในแบบของเขา
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจบางราย ตลอดจนผู้มีฐานะบางส่วนได้ทยอยออกมาให้ทัศนะกันบ้างแล้วว่า ความพอเพียงของคนต่างฐานะกันก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนควรตรวจสอบตัวเองเพื่อกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม ทั้งเหมาะสมกับฐานะและสภาพความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของตน
นัยยะของคนชั้นกลางเหล่านี้ย่อมหมายถึงด้วยว่า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างใหญ่หลวงแล้วก็ตาม แต่โครงสร้างของ “ความไม่เท่าเทียมกัน” รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เคยได้เท่ากันนั้นก็ยังดำรงอยู่อย่างแจ่มชัด และยิ่งตอกย้ำอย่างแน่นหนาในสังคมแบบใหม่เสียด้วยซ้ำ
อันที่จริง สำหรับคุณภาพชีวิตของซูมิแล้ว เธอยังมีเงินเก็บเหลือพอที่จะทำประกันซี่ฟันของเธอด้วย แม่ของเธอก็เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ความพอดียังมีนัยยะของชนชั้นแอบแฝง แต่นับจากนี้ไปก็หวังว่าพวกเราที่เหลือยังคงเฝ้าติดตามและช่วยให้กำลังใจกันและกันในชีวิตใหม่บนเส้นทางแห่งความพอเพียง
ช่วยกันค้นหาจุดสมดุลที่ไม่แข็งตึงและไม่หย่อนยานจนเกินไปในแบบที่แต่ละคนพึงพอใจ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
และที่สำคัญ อย่าเพิ่งหมดหวังว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้า ชีวิตที่พอเพียงในแบบของเราๆ ท่านๆ จะรื่นรมย์ ไร้ความกังวลใจในคุณภาพชีวิต มีเงินพอทำประกันซี่ฟันอย่างซูมิและแม่ของเธอได้บ้าง
ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่16 ม.ค.50
เรื่อง: เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น