เสวนาสื่อสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2 คุยกับอ.อาจอง เรื่อง “จิตสำนึก ใต้สำนึก”
วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2549 ณ ห้องประชุม 1 มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์
วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2549 ณ ห้องประชุม 1 มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์
ถึงวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่า ร่างกาย จิตใจ และสมองของเราช่างเชื่อมโยง เกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ่งยากจะแบ่งแยก แต่ส่วนที่ลึกที่สุดนั้นเห็นไม่พ้น “จิตใจ” ที่มันอยู่ข้างในนี้ แต่เราไม่รู้ว่ามันมีขนาดเท่าไหร่ ที่แน่ๆ มันคงไม่เท่ากับกำปั้นสีแดงในอกข้างซ้ายของเรา เราไม่รู้ว่ามันมีความลึกเท่าไหร่ ที่แน่ๆ มันไม่น่าลึกแค่อกคืบศอกสองศอกของเรา
หากแต่ลึกกว่านั้นมีอะไร? อ.อาจอง นักวิทยาศาสตร์ผู้ใส่ใจเรื่อง “จิตวิญญาณ” ไม่แพ้เรื่องข้อพิสูจน์ ได้นั่งคุยในงานเสวนาสื่อสร้างสรรค์ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับ สมอง ใจ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก
***********************
“จิต” อันลึกและกว้างขว้าง
โลกตะวันออกเราจะเน้นทางด้านจิตใจ เพราะเราถือว่าจิตใจเหนือกว่าสมอง สมองเป็นเครื่องมือระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ เพราะจิตใจมันไปไกลกว่านั้นและต่อเนื่อง เราคงยอมรับว่าทุกยุคทุกสมัย คนเราจะเก่งกว่าคนยุคก่อนๆ เสมอ ลูกเราจะเก่งกว่าพ่อ หลานเราจะต้องเก่งกว่าลูก และมันก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นเพราะมีการสั่งสมประสบการณ์ ดังนั้นเราจะเน้นในเรื่องของจิตใจมากกว่าสมอง
บางคนจะคิดว่าพอตายแล้วก็ดับหมดไม่เหลืออะไร แต่ทำไมเราถึงยังมีความทรงจำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตนี้ อย่างเช่น คีตกวีเอก MOZART ตอนเล็กๆ อายุ 7- 8 ขวบ สามารถเล่น PIANO ได้เลยโดยไม่ต้องฝึกและเล่นได้ดีมากด้วย เด็กไทยบางคนอายุไม่กี่ขวบพูดภาษาบาลีได้ สิ่งนี้แสดงว่ามันไม่ได้อยู่ที่สมองเพียงอย่างเดียวแน่นอน
มนุษย์เราทุกคนส่วนที่จะต้องรับรู้ข้อมูลต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี “สติ” อยู่กับตัวจึงจะทำงานได้ดี ซึ่งส่วนนี้คือ “จิตสำนึก” แต่ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราจะเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดในชีวิตใน “จิตใต้สำนึก” เป็นอันดับแรก และประสบการณ์ในอดีตทั้งหมดอยู่ตรงนี้ ลองถามว่า วันที่ 24 พฤษภาคม เวลา 14.50 น. ตอนที่คุณอายุ 4 ขวบคุณกำลังทำอะไรอยู่ เราจำไม่ได้
แต่จากการศึกษาของ ดร.เฮเลน วัมบาทด์ นักจิตวิทยาที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าข้อมูลทุกอย่างอยู่ในจิตใต้สำนึก เขาลองใช้วิธีสะกดจิต ย้อนเวลากลับไปในอดีต พบว่าจิตใต้สำนึกมันมีข้อมูลอยู่ทุกเวลาอย่างน่ามหัศจรรย์ ดร.วัมบาทด์ ลองถามถึงเหตุการณ์ของวันเวลาในคำถามเมื่อเขาอายุ 4 ขวบ เขาตอบได้หมดและละเอียดมาก ลองถามย้อนอดีตกลับไปเรื่อยๆ ตอนเกิดใหม่เขาก็บอกได้ว่ามีหมอกี่คน พยาบาลกี่คนอยู่ในห้องคลอด พยาบาลพูดอย่างไร หมอพูด และก็ย้อนหลังต่อไปอีกตอนที่อยู่ในท้องแม่ แม่ชอบอะไร ดูหนังเรื่องอะไร แม่ชอบทานอะไร แม่หงุดหงิด แม่โมโห แม่คุยกับใครอย่างไรก็ถูกบันทึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็ก ดังนั้นสื่อที่แม่ชอบดูให้ความสนใจก็จะมีอิทธิพลต่อเด็ก และเมื่อเขาย้อนหลังกลับไปในอดีตเข้าไปอีก ร้อยปี สองร้อยปี ห้าร้อยปี พันปี สองพันปี ดร.วัมบาทด์ ตกใจมาก เพราะไม่เคยคิดเลยว่าจะมีข้อมูลก่อนที่จะมาอยู่ในท้องของแม่ได้ ซึ่งก็เป็นคำถามว่าข้อมูลที่อยู่ในจิตใต้สำนึกนั้นคิดขึ้นมาเองหรือเป็นความจริง?
เขาสะกดจิตชายชาวอเมริกันคนหนึ่งย้อนหลังกลับไปสองพันปี เขาถามว่าตอนนั้นอยู่ที่ไหน ปรากฏว่าอยู่ในมณฑลแห่งหนึ่งในประเทศจีน ชายคนนี้เป็นชาวอเมริกันที่อยู่ในอเมริกาไม่เคยไปจีน ไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับจีน แต่กลับพูดได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การแต่งตัวเครื่องประดับ ภาษา เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปให้นักโบราณคดีพิสูจน์ ก็พบว่าตรงกับจีนในยุคนั้น จากงานของ ดร.วัมบาทด์ เป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์เราจึงเก่งขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ทั้งๆ ที่ก็มีเวลาเรียนในชีวิตใกล้เคียงกัน แต่ทำไมเราเรียนไปได้ไกลกว่า เพราะว่าเราสะสมประสบการณ์ความรู้ของเราในจิตใต้สำนึกนั้นเอง
สื่อกับเรื่อง “จิตสำนึก ใต้สำนึก”
การที่จิตของเราจะรับรู้หรือไม่รับรู้อะไรนั้นขึ้นอยู่กับ “การตีความ” สัญญาณจากสิ่งแวดล้อมผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เหตุผลที่ต้องตีความก็เพราะว่า สิ่งที่เข้ามาในประสาทสัมผัส ในตา หู จมูก ปาก ที่จริงไม่มีอะไร ในหูเป็นเสียงของการสั่นสะเทือนของอากาศ เขาด่าเรา เราก็โกรธ ถามนักวิทยาศาสตร์ว่าอะไรที่ทำให้โกรธ นักวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่าไม่มี มันเป็นแค่การสั่นสะเทือนของอากาศ แต่ไปตีความ ฉะนั้นวิธีการตีความสำคัญ วิธีการตีความของเราก็คือเอาสัญญาณออกมาส่วนหนึ่งจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเอาสัญญาณออกมาจากจิตใต้สำนึกเพื่อมาเปรียบเทียบ เพราะเรารับรู้ด้วยการอาศัยประสบการณ์ในอดีตแล้วจึงตีความ เมื่อเข้าใจแล้วเราก็ส่งสัญญาณไปที่จิตสำนึกว่าเราเข้าใจแล้ว แต่สิ่งที่เราเข้าใจมันก็คือสิ่งที่เราบันทึกข้อมูลไว้ในอดีต
เด็กบางคนได้เห็นอะไรที่ก้าวร้าวมาก พ่อแม่ทะเลาะกัน ตีกัน ด่ากัน เมื่อเขาพบเหตุการณ์มีคนมาด่าเขา เขาก็ไปดึงเอาข้อมูลเหล่านี้ออกมาเอามาเปรียบเทียบ และในทันทีเขาก็อยากจะด่าและตี ฉะนั้นเด็กก้าวร้าวนั้นไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่เป็นเพราะว่าเราไม่ได้บันทึกข้อมูลดีๆให้ โดยเฉพาะในยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ที่มีสิ่งต่างๆให้กับเด็กตลอดเวลา แต่เราให้อะไร สังเกตได้ว่ายุคนี้สมัยนี้เด็กมีปัญหามาก เพราะได้รับข้อมูลไม่ค่อยเหมาะสม
อดีตผมเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในวงการตลาดกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่คือ “เยาวชน“ เขาต้องสร้างความต้องการกิเลสให้กับเยาวชนมากที่สุด เพราะเชื่อง่าย สอนง่าย สร้างกิเลสให้ง่าย และมีความต้องการสูง จึงไม่แปลกเลยที่เด็กสมัยใหม่จะมีความเครียดสูง ผมรู้สึกว่าเรากำลังเอาเปรียบและกำลังสร้างปัญหาให้กับเด็ก เพราะเรารู้ว่ายิ่งเขามีกิเลสมาก เขาจะไม่มีความสุขเลย ต้องการมากก็ผิดหวังมากเป็นธรรมดา
ฉะนั้นเราต้องดูแลอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ สื่อละครโทรทัศน์นอกจากไม่มีคุณค่าแล้วยังให้เด็กมีความอิจฉาริษยา ทะเลาะเบาะแว้งโกรธเคืองกัน เพลงเนื้อร้องก็มีแต่อกหักๆ เสียใจๆ หดหู่ๆ พอเด็กอกหักเสียใจถึงกับกระโดดตึกตายจนเป็นข่าวออกมา พอมีข่าวเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นอีก เป็น PROGRAM ฝังความคิดลงไปในจิตใต้สำนึก ตรงนี้เป็นปัญหาของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในสหรัฐอเมริกาเขาทำวิจัยเรื่องความรุนแรงกับเด็กพบว่าเด็กทุกคนในสหรัฐอเมริกาในหนึ่งปีเห็นการฆาตกรรมในบ้านของตัวเองถึง 15,000 ครั้ง ผลจากสื่อที่ฆ่ากันเป็นว่าเล่น เด็กก็จ้องมอง การจ้องมองของเด็กนั้นไม่ใช่การจ้องแบบคิดวิเคราะห์ แต่เป็นการรับทุกอย่างเข้าไปหมดและฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก จากสถิติเด็กไทยดูโทรทัศน์ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน เด็กเห็นการฆาตกรรม 50-60 ครั้งต่อวัน
“เราไปได้ไกลแสนไกล แต่ผมพบว่ามนุษย์เรายังไม่สามารถเดินทางเข้าไปในจิตใจของเรา”
ตัวผมเองเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ได้ไปช่วยเขาสร้างยานอวกาศไวกิ้งส์ไปลงบนดาวอังคาร ผมรับผิดชอบในส่วนที่จะนำยานอวกาศไปร่อนลงสู่พื้นดินของดาวอังคารซึ่งเราประสบความสำเร็จ ความสำเร็จในครั้งนั้นเกิดจากการนั่งสมาธิ ยกระดับจิตใจบนเขาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่คิดถึงอะไรเลยอยู่ๆ มันก็แวบเข้ามาและเราก็รู้คำตอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรามีในบ้านเมืองไทยของเรา ไตรสิกขาอันมีศีล สมาธิ ปัญญา พาเราไปไกลกว่าฝรั่งมาก เราควรมุ่งผลิตคนดีมีศีลธรรมก่อน แล้วให้ฝึกยกระดับจิตใจและปัญญาขึ้น ส่วนตัวผมเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็กลับมาแอบตัวเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ ซึ่งผมมารู้สึกตัวว่ามันได้ประโยชน์อะไร ผมนำพายานอวกาศไปไกลแสนไกล 250 ล้านไมล์กว่าจะไปถึงดาวอังคารแล้วก็พามันลงมา เราไปได้ไกลแสนไกล แต่ผมพบว่ามนุษย์เรายังไม่สามารถเดินทางเข้าไปในจิตใจของเรา ซึ่งมีระยะทางไม่กี่มิลลิเมตร อยู่ตรงนี้เอง และมันสำคัญกว่ามากมาย ผมจึงตัดสินใจเลิกทำสิ่งเหล่านั้นหันมาส่งเสริมเด็กให้รู้จักเข้าไปในจิตใจของตัวเองก่อน
2 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากค่ะ ที่ได้นำบทความดี ๆ มาให้ฉุกคิดสำหรับชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ จะได้นำไปปรับใช้ในการดูแลเด็ก ๆ ที่อยู่รอบตัวค่ะ :>
บล็อคนี้สนุกจัง โพสต์อีกน่ะคุณนิ้งศรี
แสดงความคิดเห็น