วันอังคาร, สิงหาคม 01, 2549

เผชิญความตายอย่างสงบ ๔

กิจกรรมการฝึกทำโพวะให้ตัวเองอย่างย่อ

คำแนะนำ

วิธีการทำสมาธิ/บำเพ็ญเพียรทางจิตแบบทิเบต ใช้การทำจินตนาการหรือนึกภาพในใจน้อมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรามีศรัทธา เชิญมาเพื่อแผ่รังสีแห่งความเมตตาไปยังผู้อื่นหรือตัวเอง เป็นการปลุกพลังใจ พลังเมตตาโดยอาศัยศรัทธาที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

กระบวนการ

พระไพศาล วิสาโล เป็นวิทยากร กล่าวและนำกระบวนการ ซึ่งก่อนเริ่มกระบวนการ ท่านกล่าวหลักการทำโพวะที่สำคัญคือการจินตนาการ ซึ่งการจินตนาการของคนเราอาจจะถือว่าเป็นเรื่องยากหากคนผู้นั้นไม่ได้ฝึกทำบ่อยหรือมีบ่อย ๆ คือคนที่ไม่ค่อยได้ใช้สมองซีกขวา

การทำโพวะแบบประยุกต์ ประโยชน์ที่ได้นอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยแล้วยังทำให้กับตัวเองด้วย โดยน้อมใจตามการกล่าวนำดังนี้

o ทำความสงบ ตามลมหายใจอยู่กับความสงบ ทำความรู้สึกผ่อนคลายทั้งกายใจ น้อมจิตมาที่ลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ระลึกว่าขณะนี้มีเพียงลมหายใจที่อยู่ในความรับรู้ของเรา ให้วางความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลงชั่วขณะ วางความกังวลหม่นหมอง ให้จิตรับรู้เพียงลมหายใจเข้าออก (ใช้เวลาสักพักเพื่อให้จิตสงบ)

o จินตนาการว่าเรากำลังอยู่บนทุ่งหญ้า ที่โล่งกว้าง ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศบริสุทธิ์ เป็นท้องฟ้าที่กว้าง มีเพียงเราผู้เดียวที่อยู่ในทุ่งโล่งนั้น สัมผัสถึงความสงบ สงัด ของบรรยากาศรอบตัว ทำใจให้โล่ง ไม่ต่างจากท้องฟ้าที่กว้างและโปร่งใส

o น้อมใจนึกต่อไปว่า ที่ท้องฟ้าเบื้องหน้าเราปรากฏสิ่งที่เราเคารพนับถือ อาจเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ครูบาอาจารย์ที่เคารพ รู้สึกในใจว่าท่านกำลังเสด็จมาอยู่บนท้องฟ้าเบื้องหน้าเรา รอบกายเปล่งไปด้วยรัศมีที่เปล่งปลั่ง ให้อธิษฐานในใจว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้พระกรุณาของท่านช่วยให้จิตใจเราหายหม่นหมอง บำบัดความทุกข์โศก โรคภัย กิเลส อวิชชาในใจเรา ช่วยให้เรามีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง ให้รู้สึกถึงพระกรุณาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นที่อยู่เบื้องหน้าเรา

o จินตนาการต่อไปว่ารัศมีเปล่งปลั่งนั้นแผ่ลงมาเป็นลำแสงที่ใส อ่อนโยน ตรงมายังตัวเรา เป็นแสงแห่งกรุณาที่ช่วยเยียวยาความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บในตัวเรา บำบัดปัดเป่าโรคทางวิญญาณ ความเศร้าหมองในใจ

o ให้รู้สึกว่าลำแสงแห่งการุณย์นั้นได้ซึมซาบอาบตัวเรา ชำแรกไปทุกส่วนกาย รู้สึกถึงผัสสะแห่งความอ่อนโยน เมตตาของลำแสง รู้สึกถึงการชำแรกอาบรดของลำแสง จนร่างเราเรืองไปด้วยแสงเปล่งปลั่งเป็นร่างแสง ลำแสงได้แผ่จนร่างเรากลมกลืนไปกับลำแสงนั้น

o รู้สึกถึงทุกข์ที่เบาบางลงทั้งกายและใจ จินตนาการต่อไปว่า ร่างที่เรืองแสงนั้นล่องลอยขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปกคลุมไปด้วยบารมีแห่งกรุณาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น พยายามประคองให้ร่างเรืองแสงนั้นอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นให้นานที่สุด

o เมื่อรู้สึกสมควรแก่เวลาก็ขอให้ลำแสงนั้นค่อยๆ เลือนหายไป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อัญเชิญมาก็ค่อยๆ เลือนหายไป ตัวเราก็น้อมกลับมาสู่ที่เดิม กำหนดลมหายใจเข้าออกด้วยความสงบ (ให้สัญญาณระฆังเลิก ๓ ครั้ง)
เวลาที่ใช้ ประมาณ ๑๕ นาที


กิจกรรมฝึกทักษะการดูแลและให้สติผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการแสดงบทบาทสมมติ

กระบวนการ
๑. วิทยากรแบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมออกเป็น ๒ กลุ่ม โดยจับคู่กับคู่เดิม แต่ให้สลับบทบาทโดยให้คนที่เล่นเป็นเพื่อนผู้ป่วย มาเป็นผู้ป่วยแทน และในแต่ละกลุ่มอ่านบทละครของตน
๒. เมื่อการแสดงจบลง วิทยากรสอบถามถึงความรู้สึกของผู้เล่นแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับบทบาทนั้น ๆ รวมทั้งเหตุผลของการแสดงออกที่เกิดขึ้น
๓. วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมอบรมวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายข้อสังเกตต่างๆ

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๑ ชั่วโมง

Case ๑ เพื่อนผู้ป่วย
คุณเป็นเพื่อนของผู้ป่วย ที่มีอาการหนักอยู่ในระยะสุดท้าย มีลูก ๒ คน อายุ ๑๐ และ ๑๕ ปี สามีทำงานต่างจังหวัด ฐานะการเงินอยู่ในขั้นดี ไม่มีปัญหาในเรื่องการรักษาพยบาล คุณไปเยี่ยมเพื่อนมาแล้ว ๒-๓ ครั้ง และสังเกตว่าเขามีสีหม่นหมองกังวลใจ คุณอยากให้เขาทำใจให้สงบ ในวาระสำคัญของชีวิตให้เขาสามารถทำใจได้

Case ๒ ผู้ป่วย
คุณเป็นผู้ป่วยมีอาการหนัก ระยะสุดท้าย แต่ห่วงลูก ๒ คน อายุ ๑๐ และ ๑๕ ปี ว่าจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างไรดี เพราะสามีทำงานต่างจังหวัด นาน ๆ จะได้กลับบ้าน หากมีอันเป็นไปไม่รู้จะดูแลลูกอย่างไร (สามีจะเปลี่ยนมากรุงเทพดูแลลูกเป็นเรื่องยาก เพราะงานกำลังก้าวหน้า) คุณห่วงลูกทั้งสอง เป็นทุกข์กับการทำใจไม่ได้

อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้สึก
๑) การเข้าไปเยี่ยมเพื่อจะเข้าไปช่วย ต้องระวังการลุ้นให้ได้ข้อมูล เราต้องอ้อม ๆ ก่อน ด้วยการสร้างสัมพันธภาพ เขาอาจจะบอกแค่เรื่องพื้น ๆ แม้แต่เพื่อนสนิท หากเรานึกไปแต่ว่าเราสนิทกัน แต่ความเจ็บปวดทางกาย ทางใจที่มากเสียจนเป็นปมบางอย่าง เราจะเข้าไม่ถึง เราต้องพร้อมทั้งเรื่องเวลาและอารมณ์
๒) ถ้าจะให้เข้าถึงปัญหา ต้องเข้าให้ถึงปม
๓) พระไพศาล สรุป ได้แบบแผนการช่วยปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ

o แสดงหรือย้ำความเป็นเพื่อน ซึ่งแสดงได้หลายอย่าง แสดงด้วยความเห็นอกเห็นใจ ย้ำความเป็นเพื่อน(สำหรับคนที่เป็นเพื่อน สัมพันธภาพ) หรือเห็นอกเห็นใจคยนหัวอกเดียวกัน หรือการนี่งนิ่งเพื่อแสดงความสนใจ หรือการแสวงหาคำพูดเพราะๆ ก็ไม่จำเป็น เป็นประการแรก

o ช่วยให้เบาใจ คือการเอาข้อเท็จจริงบางด้าน เช่น สถานการณ์บางด่านมาให้ เช่น ลูกเป็นคนดี พ่อเป็นคนดี หรือ เขาดูแลลูกมานานแล้ว เราเอาข้อเท็จจริงมาพูด ซึ่งเราอาจเอามาใช้กับญาติผู้ป่วสย หรือถ้าเรามีความรู้ทางการแพทย์ก็เอามาให้สบายใจเช่น เป้นแค่การหายใจติดขัด หรือการช่วยเอื้อความสะดวก ตย. แม่กับลูก ลูกป่วย แม่ก็ชวยได้ หมอบอกให้แม่ช่วยได้ ก็ทำให้แม่มีบทบาทช่วยได้ หรือการใช้ความเป็นเพืท่อนทำให้เขาเบาใจ

oช่วยทำให้เขาเห็นทางออก ถ้ามีความโกรธ กลุ้ม ก็มองไม่เห็นทางออก เป็นการช่วยเขาคิด เช่น จะช่วยไปปรึกษาหารือกับลูก คนที่เป็นสามี หรือแนะนำทางธรรมให้เขาปล่อยวาง ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดความแจ่มใจ จากใจที่โปร่งใส แต่ควรจะผ่านขั้นตอนมาก่อนคือการได้เบาใจ วางใจก่อน แล้วสู่การปล่อยซึ่งการช่วยเหลือ ควรจะมาถึงขั้นที่ ๓ นี้ให้ได้ เพื่อคลี่คลายไปถึงการแก้ปัญหาได้



oการช่วยให้เบาใจ พอใจ เป็นแค่ชั่วคราว ดังนั้นควรให้ไปถึงขั้นที่ ๔

กิจกรรมฝึกทักษะการดูแล และให้สติผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการแสดงบทบาทสมมติ


กระบวนการ
๑. วิทยากรขออาสาสมัครที่จะแสดงบทบาทสมมติในแต่ละกรณี
๒. อาสาสมัครแต่ละท่านจะได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทสมมติต่างๆ เช่น ผู้ป่วย น้องสาวคนป่วย ลูกสาว และพยาบาล แล้วแต่กรณี โดยจะได้รับบทละครไปศึกษาและมีการชี้แจงบทอย่างย่อจากผู้ช่วยวิทยากร เพื่อให้เข้าใจสถานภาพ ลักษณะ และบทบาทที่ต้องแสดงผ่านตัวละครนั้นๆ
๓. ก่อนแสดง วิทยากรจะให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมอบรมในเบื้องต้นถึงลักษณะของผู้ป่วย และตัวละครที่เกี่ยวข้อง
๔. แสดงบทบาทสมมติโดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมพยายามสังเกตการแสดงออกและจับความรู้สึกของตัวละครที่เกิดขึ้น
๕ เมื่อการแสดงจบลง วิทยากรสอบถามถึงความรู้สึกของผู้เล่นแต่ละคนว่ารู้สึกอย่างไรกับบทบาทนั้นๆ รวมทั้งเหตุผลของการแสดงออกที่เกิดขึ้น
๖. วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมอบรมวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายข้อสังเกตต่างๆ

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ ๓ ชั่วโมง

บทบาทสมมติ :
o แม่ป่วย
o ลูกที่ยังเป็นเด็กมาก
o น้องของแม่
o พยาบาล


สถานที่ : โรงพยาบาล

สถานการณ์ : แม่ป่วยนอนอยู่บนเตียง อาการหนักมาก ลูกไม่กล้ามาเยี่ยม กลัวโรงพยาบาล กลัวเห็นอาการป่วย เห็นแผล เพื่อนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกมาเยี่ยมแม่ ขณะที่แม่ก็บ่นน้อยใจว่าลูกไม่ยอมมาเยี่ยม พยาบาลก็ช่วยพูดกับลูกว่าดูแล ทำแผลอย่างไร จนลูกค่อย ๆยอมทำ แม่ก็อาการดีขึ้นเลย ส่วนเพื่อนก็พูดให้ปล่อยวาง

สรุปประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยจากบทบาทสมมติ
แม่ : รู้สึกน้อยใจ ที่ลูกไม่ยอมมา เหมือนตนเองสูญเสีย สูญเสียความรู้สึก เป็นปมที่รู้สึกเหมือนลูกไม่รัก
ลูก : กลัวเสียงแม่ ทำให้ยิ่งตกใจ ตระหนก สงสารก็สงสารแม่ เห็นแผลแล้วน่ากลัว ไม่อยากเข้าใกล้
น้องของแม่ : เข้าใจปัญหา พยายามใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาแก้ เริ่มตั้งแต่ที่เด็ก แล้วก็ตัวแม่ ต้องการให้สิ่งที่ดีๆ โดยต้องมีการเตรียมใจเด็กก่อน และเข้าใจเด็กในสภาพสังคมแบบนี้ เด็กจะถูกกีดกัน ไม่ให้เด็กร่วมรับรู้ความจริง

แลกเปลี่ยนในกลุ่มใหญ่


๑) จะเตรียมให้เด็กมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร
o โดยการโน้มน้าวให้เด็กเกิดการสร้างจินตนาการ เช่น อุลตร้าแมน
o ค่อย ๆ พูด โดยเตรียมที่ผู้ป่วยก่อน ให้ดูดี พร้อม
o ระวังสิ่งที่ตามมาจากคำพูดหรือกระบวนการที่กลายเป็นทำให้เด็กเข้าไปในความรู้สึกมากเกินไป หากแม่สูญเสียจริง ๆ สิ่งที่ตามมาเด็กอาจจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ทำให้แม่จากไป เป็นความผิดของตน
o อย่ากีดกันเด็กห่างออก มากเกินไป จนเมื่อเวลาที่มาพบคนไข้ที่เป็นแม่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จะทำให้เด็กกลายเป็นกลัว ต้องเตรียมความคิดเด็กมาก่อน


๒) พยาบาลรู้สึกอย่างไร
o จะเจอความกดดันจาก ๒ ทาง คือผู้ป่วย และญาติ
o กำลังเผชิญอารมณ์ของคนสิ้นหวัง และอยากตาย ท่าทีของเราคือ สนใจและช่วยเรื่องปมของเขา
o ควรจะช่วยเหลือทางจิตใจได้ด้วย

๓) คำพูดว่า อยากตาย
o ต้องระวัง และต้องให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นความรู้สึกคือต้องการบอกเรา ให้เราช่วยหาปมของเขา

กิจกรรมการฝึกภาวนาร่วมกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล


กระบวนการ
o วิทยากรเตรียมพร้อมผู้เข้าอบรมด้วยการให้ข้อมูลโดยรวมของผู้ป่วย
o นำผู้เข้าอบรมเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อเยื่ยมผู้ป่วย
o แบ่งผู้เข้าร่วมอบรมเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อเยื่ยมพูดคุย และภาวนาด้วยการทำของเล่นร่วมกับผู้ป่วย
o แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับร่วมกัน

ระยะเวลาที่ใช้ ประมาณ 1 ชั่วโมง


-จบบริบูรณ์-

เรียบเรียงโดย พี่อุ๊
โพสต์โดย นิ้ง

ไม่มีความคิดเห็น: