วันพุธ, มกราคม 31, 2550
การ์ดอวยพรจากผู้ป่วยมะเร็ง
ช่วงปีใหม่ หลายคนคงได้รับการ์ดอวยพรมากมายตามธรรมเนียมปฏิบัติ การ์ดแต่ละใบอาจมีข้อความไม่ต่างกันนัก คือปรารถนาให้ผู้รับมีความสุขตลอดปี นับเป็นการส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงให้แก่กัน แต่การ์ดใบหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รับในปีนี้ให้มากกว่าความรู้สึกดีๆ เหล่านั้น การ์ดเล็กๆ ธรรมดาๆ ใบนี้ส่งมาจากผู้ป่วยโรคมะเร็งท่านหนึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยว่าน่าจะเหลือเวลาของชีวิตอยู่อีกไม่เกิน 2 ปี เขาคือ นายแพทย์คมสรรค์ พงษ์ภักดี คนที่ข้าพเจ้ารู้จักและคุ้นเคย พบกันเสมอตามเวที งานเสวนาเกี่ยวกับความตาย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการอบรมภาวนาเผชิญความตายด้วยใจสงบ เนื้อความในการ์ดมีเพียง 3 ประโยคสั้นๆ แต่ไม่ใช่ประโยคเดิมๆ ที่เราเขียนเหมือนๆ กันในการ์ดจำนวนเป็นโหลๆ เนื่องจากไม่มีเวลาสรรหาถ้อยคำอวยพรให้เป็นรายบุคคล สิ่งที่คุณหมอเขียนมีใจความถึงข้าพเจ้าโดยตรง ให้ทั้งกำลังใจในเรื่องงานเขียนหนังสือที่เคยทำและที่กำลังจะทำต่อไป อดคิดไม่ได้ว่าการจะทำเช่นนี้ได้ คุณหมอต้องให้เวลากับการนึกถึงข้าพเจ้า คิดเลือกสรรคำอวยพรที่ให้กำลังใจ
ดูเหมือนว่า ผู้ที่มีเวลาชีวิตไม่มากกลับมีเวลาทำในสิ่งที่ข้าพเจ้าและใครหลายคนบอกว่า “ไม่มีเวลา” ที่สำคัญ การได้รับความปรารถนาดีจากคนป่วย ช่วยให้ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแต่ใจห่อเหี่ยวเศร้าเซ็งกับอุปสรรคในชีวิต กลับมีกำลังใจ มีความสุข และมีพลังขึ้นอย่างมาก ในขณะที่เราหลายคนรำพึงรำพันกร่นว่าชีวิต ว่าเต็มไปด้วยความทุกข์ ปัญหา แต่เพื่อนผู้นี้ ผู้ที่โรคร้ายกำลังลิดรอนพลังทางกายและอาจคร่าชีวิตเขาได้ทุกเมื่อ กลับมีรอยยิ้ม ความสุข ความรัก และกำลังใจเปี่ยมล้น พร้อมที่จะแบ่งปันให้ทุกคน ซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้ายิ้มได้และมีสติรู้ในการดำเนินชีวิตตลอดปีใหม่นี้มากขึ้น
ย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 2 ปีก่อน ด้วยวัยราวปลายสามสิบ คุณหมอคมสรรค์ ได้รับรู้ว่าตนเป็นมะเร็งชนิดไร้ทางรักษาและอาจสิ้นลมหายใจได้ทุกโอกาส อาการของมะเร็งชนิดนี้จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ระบบประสาทล้มเหลวและหยุดทำงานได้ทุกเมื่อ ตามสถิติแล้ว ผู้ที่เป็นโรคนี้จะอยู่ได้ไม่เกิน 36 เดือน เมื่อหนีความตายไม่พ้น คุณหมอจึงเลือกที่จะเผชิญกับมันอย่างกล้าหาญ ทบทวนถามตัวเองว่า “ในเวลาที่เหลือ จะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า และตายอย่างสง่างาม” ด้วยตระหนักว่า การตายอย่างมีสติด้วยใจสงบนั้นสำคัญ คุณหมอจึงหันเข้าหาศาสนธรรม ฝึกฝนวิธีการภาวนารักษาใจและเจริญสติอย่างจริงจัง
หนทางหนึ่งที่หลายคน รวมทั้งคุณหมอคมสรรค์ เห็นว่าน่าจะช่วยให้ใจคลายจากความทรมานทางกายได้บ้างคือ การภาวนาเจริญสติ
“การภาวนา” เป็นหนทางที่ท่านเลือกเพื่อช่วยเตรียมใจถ้าห้วงเวลาสุดท้ายมาเยือน ความเจ็บปวดทรมานทางกายและความตายนั้น เดินทางด้วยกันเสมอๆ ถ้ากายเจ็บ ใจก็มักจะเจ็บกว่าหลายเท่าทวี นอกจากการเตรียมใจตายแล้ว การภาวนายังเอื้อให้ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยความเบิกบานด้วย
หลายครั้งที่เราได้พูดคุยกันในงานเสวนา งานประชุม และทำกิจกรรมต่างๆ คุณหมอจะมีรอยยิ้ม ความเบิกบานให้เราเห็นเสมอ
ครั้งหนึ่งท่านแอบบอกเราว่า “กำลังเจ็บปวดและเหนื่อยมาก แต่ใจยังสบายดีอยู่” ได้ยินเช่นนี้ ถึงกับทำให้เราเกิดความละอายเมื่อเวลาที่เราเจ็บป่วยเพียงเล็กๆ น้อยๆ แล้วตีโพยตีพาย รำพันให้คนดูแลเอาใจใส่ เมื่อเวลาเริ่มเหลือน้อยลง คุณหมอจึงใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด ท่านทำงานน้อยลง เนื่องด้วยสภาพทางกาย แต่เหตุผลสำคัญอีกประการคือ ท่านต้องการให้เวลากับความสัมพันธ์และงานแห่งชีวิตเพิ่มขึ้น ท่านให้เวลากับครอบครัว ดูแลลูกและภรรยา ท่านรับคำเชิญไปบรรยายอยู่เสมอ เช่น เรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์เฉียดตาย อานิสงส์ของการภาวนาในการรักษาใจเมื่อเผชิญความทุกข์กายทุกข์ใจ และยังริเริ่มงานดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐมด้วย ใบหน้าของคุณหมอผ่องใสขึ้นทุกครั้งที่ได้พบ รอยยิ้มของท่านส่งความสุขให้แก่ทุกคนที่พบเจออยู่เสมอ ซึ่งดูแล้วไม่เหมือนผู้ป่วยเลย ทุกวันนี้ ท่านบอกว่ามีความสุขมากกว่าตอนที่ไม่ป่วยหลายเท่า และใครที่ได้เห็นท่านก็จะได้รับพลังความเบิกบานผ่านรอยยิ้มของท่านเสมอ คุณหมอบอกเราด้วยว่า “จะตายเร็วหรือช้ากว่ากำหนดนั้น ไม่สำคัญ แค่มีความสุขสงบ ทุกๆ ขณะที่ยังมีลมหายใจก็เพียงพอแล้ว”
น่าสนใจว่า ความตายเปิดพื้นที่ให้เรามีชีวิตให้เป็น มีโอกาสกลับมาทบทวน ค้นหาความหมาย แสวงหาแก่นแท้และคุณค่าของชีวิต
ที่จริง ยังมีผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายแบบเดียวกับคุณหมอคมสรรค์อีกมากมายที่มีชีวิตอย่างมีความสุข เครียดหรือกังวลน้อย ไม่เสียเวลาที่จะรำพันถึงอดีตหรือเฝ้าฝันถึงอนาคต เวลาปัจจุบันเท่านั้นคือเวลาที่มีชีวิต โดยมาก ความตายไม่อยู่ในความคิดคำนึงของเราๆ ท่านๆ ที่เห็นว่าตนยังสุขภาพดีอยู่ ความตายอยู่ปลายทางอันห่างไกล ไม่แน่ว่าด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้เราปล่อยเวลาไปจ่อมจมกับความทุกข์ ความกังวล ความเครียด ความเสียใจ และความผิดหวังสารพัด
เราจะมีความสุขและใช้ชีวิตที่มีความหมายโดยไม่ต้องรอให้ความตายและความเจ็บป่วยมาถึงได้หรือไม่ จะเป็นอย่างไร หากเราถามตัวเองอย่างจริงจังว่า “ถ้าเรากำลังจะตาย เราจะใช้ชีวิตและเวลาที่เหลืออยู่อย่างไรและเพื่ออะไร”
มีคนเคยพูดว่า “การให้เวลากับผู้อื่นนั้น เป็นของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง” อาจจะจริง นั่นคือ เวลาเป็นสิ่งที่ผ่านแล้วผ่านเลย เวลาคือชีวิตของเรา ถ้าหากเราให้เวลากับใครหรือสิ่งใดนั้นก็คือเรากำลังให้ชีวิตของเรากับสิ่งนั้นๆ
แล้วตอนนี้ เราให้ชีวิตและเวลากับใคร รวมทั้งให้สิ่งใดไปบ้าง? งาน เงิน สะสมทรัพย์สิน ชื่อเสียง ลูก ครอบครัว พ่อแม่ เพื่อน เกมคอมพิวเตอร์ สุขภาพ การเรียนรู้ การปฏิบัติศาสนธรรม ความทุกข์ ความสุข ความโกรธ ความเกลียด การสู้รบและการแข่งขัน
หลายครั้งเราให้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่อาจมีความสำคัญน้อย จนทำให้เหลือเวลาน้อยเพื่อทำในสิ่งที่สำคัญมากกว่า จะหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมนี้ได้ คงต้องมีเวลาสบายๆ นั่งคิดทบทวนชีวิตดูบ้าง
ในการอบรมชีวิตกับพุทธธรรม ซึ่งนำโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านแนะนำให้เราลองทบทวนว่าชีวิตประกอบด้วยมิติอะไรบ้าง กาย ใจ ความสัมพันธ์ การเลี้ยงชีพ ปัจจัย4 สังคม สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้และจิตวิญญาณ
การมีชีวิตคือการดูแล จัดสรรเวลาให้แก่มิติต่างๆ ของชีวิตเหล่านี้อย่างรอบด้านและสมดุลเท่าที่จะเป็นไปได้
บางคนให้ความสำคัญกับมิติการทำมาหากินและหาเก็บสะสมปัจจัยมาก จนละเลยความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว การดูแลกาย และเรียนรู้เพื่อพัฒนาสติปัญญา รวมทั้งจิตใจ
มีตัวอย่างของผู้ที่ดำเนินชีวิตคล้ายๆ อย่างนี้ เมื่อล้มหมอนนอนเสื่อหรือเจียนตายขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้น คือลูกๆ ญาติๆ ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาไป ไม่ค่อยสนใจมาเยี่ยมเยียนดูแล
และเพราะไม่เคยฝึกฝนกายใจมาก่อนเลย พวกเขาจึงรู้สึกทุกข์มากกับความเจ็บปวดทางกายและใจ ท้ายที่สุดก็ตายไปอย่างโดดเดี่ยวและทุรนทุราย
ขอบคุณการ์ดใบเล็กจากผู้ป่วยกายแต่ใจสบายท่านนี้ นับว่าเป็นของขวัญปีใหม่ 2550 ที่ดีที่สุด ช่วยให้ข้าพเจ้าได้หยุดคิดและทบทวน ความหมาย แง่งามของชีวิต เพื่อที่จะใช้ชีวิตที่ยังมีอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า สวัสดีปีใหม่ค่ะ
ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 ม.ค.50
เรื่อง: กรรณจริยา สุขรุ่ง
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น