วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2550

ลัทธิบ้างาน (ใหม่ล่าสุด)


ดิฉันมักโดนเรียกว่าเป็น “คนบ้างาน” คนหนึ่ง
ค่าที่ว่าค่อนข้างเห็นความสำคัญและให้เวลากับงานมากที่สุด หายใจเข้าก็งาน หายใจออกก็งาน รู้สึกฮึกเหิมทุกครั้งเมื่อได้ประชุมวางแผนงาน อยากทำงานให้ได้ปริมาณมากๆ ว่างขึ้นมาเป็นอันต้องนึกสรรค์ฝันถึงโครงการใหม่ๆ จนกลายเป็นเจ้าจอมโปรเจ็คท์ เวลางานเร่งด่วนก็พร้อมจะพลีกายถวายชีวิตทำงานจนดึกดื่นค่อนคืน ยินดีทำไม่เลิกไม่รายันสว่าง นอนค้างออฟฟิศด้วยซ้ำไป เพื่อให้งานเจ้าประคุณเสร็จคามือ เสียแต่ผู้ร่วมงานไม่ใคร่จะเอาด้วย คงเป็นเพราะดีกรีความบ้าของคนเรามันไม่เท่ากัน
ปรัชญาการทำงานของดิฉันอยู่บนพื้นฐานของความเชื่ออย่างสนิทใจว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน” เราอยากมีค่า เราต้องทำงาน อยากมีค่าเยอะๆ ก็ต้องทำงานเยอะๆ แต่แล้ววันหนึ่ง หลังจากตะลุยงานที่รักอย่างบ้าระห่ำอยู่พักใหญ่ จิตไร้สำนึกก็ดันตรึกนึกได้ว่า ดิฉันต้องการการพักผ่อน อยากหยุดงาน ลาพัก เหมือนเด็กที่เฝ้ารอให้ถึงวันปิดภาคเรียนในเร็ววัน ความปรารถนานี้ได้เข้ามาแทนที่ความบ้าที่ว่า พอมากเข้าๆ ที่สุดก็ถึงขั้นเอาตัวเองมาสู่ภาวะ “ว่างงาน” ไร้สังกัดใดๆ
ยามที่คนเราว่างงานมาได้สักระยะก็มักจะมีคำถามยอดนิยมจากคนรอบข้างว่า “ตอนนี้ทำอะไร (บ้าง)” ยิ่งมนุษย์ที่เคยเข้าข่ายบ้างานอย่างดิฉัน น้ำเสียงของผู้ถามก็มักเจือความเวทนา “ป่านนี้ มันจะฟุ้งซ่านเพราะความว่างไปอย่างไรแล้วหนอ” ดิฉันยอมรับอย่างบริสุทธิ์ใจว่า เมื่อแรกหยุดงาน นอกจากอารมณ์หรรษาและอิสรภาพอันหอมหวานแล้ว ในทางตรงข้าม บางวันดิฉันก็กลับตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึก...เคว้ง !!!
บัดนี้ เราไม่มีโต๊ะประจำตำแหน่งแล้ว ไม่มีกองงานมาวางตรงหน้า ไม่มีนาฬิกามากำกับเวลางาน กำหนดเส้นตายไร้ความหมาย เจ้านายหายหน้า ดิฉันไม่มีลูกน้องอีกแล้ว มนุษย์เงินเดือนสิบกว่าสมัยถึงกับคิดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะต้องจัดการตัวเองอย่างไร ไม่รู้จะบริหาร 24 ชั่วโมงที่เหลือเฟือนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่แต่ก่อน จำนวนชั่วโมงเท่ากันนี้กลับไม่เคยพอ
ปรกติเกือบทุกเช้า พ่อแม่ของดิฉันจะออกจากบ้านไปใส่บาตรและจ่ายตลาด ปุเลงๆ หอบหิ้วถุงอาหารพะรุงพะรังกันสองคน ขึ้นรถต่อรถให้วุ่น หากเป็นวันวานที่ต้องรีบเข้างานให้ทันเวลา ลูกที่สุดห่วงก็แทบไม่ได้ดูแลท่านเลย จนเมื่อหยุดพัก ดิฉันจึงมีโอกาสไปใส่บาตรและจ่ายตลาดกับพ่อแม่ กิจวัตรอย่างนี้จัดเป็น “งาน” อย่างหนึ่งได้ไหม งานขับรถ เป็นเด็กหิ้วของ งานใหม่ชิ้นแรกของดิฉันวันนี้เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ เร็วขึ้นกว่าก่อน แต่กลับใช้เวลาทำเพียงไม่นานก็เสร็จ สายๆ ก่อนแดดจะแรงเป็นเวลางานรดน้ำต้นไม้ จากนั้นจึงจะเป็นชั่วโมงจัดการกับเสื้อผ้ากองโต ซักได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องรอให้ถึงวันเสาร์และอาทิตย์ หากห้องรกก็จัดห้องต่อ หรือห้องน้ำเขรอะก็ลงมือขัดล้างทำความสะอาด ผ้าม่านฝุ่นจับมานานก็ได้ฤกษ์ถอดเปลี่ยน กิจวัตรอย่างนี้จัดเป็นงานได้ไหม ได้สิ เพราะการทำสวน รับจ้างซักผ้า เป็นแม่บ้าน หรือเด็กรับใช้ ก็ถือเป็น “การงาน” ได้ทั้งนั้น
ดิฉันจึงได้เรียนรู้ว่า “งาน” มีอยู่รอบตัวเรา และถ้าจะหยิบจับทำกันจริงๆ ก็มีอะไรให้ทำเสมอ งานเทือกนี้ หากคิดแบบคนเมือง (พึ่งพาเงินเดือน) ย่อมไม่ถือเป็นงานสร้างรายได้ แต่ก็น่าคิดด้วยว่า “คนเราจะทำทุกอย่างเพื่อเงินเสมอไปเท่านั้นหรือ” แม้งานแบบนี้อาจจะไม่ได้เงิน แต่ก็บันดาลสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า นั่นคือ “ความสุขใจ”
งานบางอย่าง ทำแล้วสบายใจ บางอย่าง ยิ่งทำยิ่งเพลิน
งานบางอย่าง ทำแล้วได้ออกแรงออกกำลัง ขณะที่บางอย่าง ปฏิบัติบ่อยเข้าก็จะเกิดสมาธิและปัญญา
งานบางอย่าง ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บางอย่างก็ให้แรงใจแก่ใครหลายคนได้ฝึกฝนตาม
ดิฉันลองหัดเย็บเสื้อใส่เองบ้าง เลือกทำด้วยใจรัก แต่พอได้ลงมือทำจริงกลับเล่นงานเรา คนที่เคยแต่ทำงานด่วน ต้องเร่งให้เสร็จทันกำหนดกาล เกิดอาการอารมณ์เสีย หงุดหงิดงุ่นง่านอยู่หลายครั้ง แต่งานฝีมือก็สอนดิฉันให้รู้จักอดทน ฝึกฝนการทำสมาธิและการใช้สติกำกับใจให้เย็นลง เพราะหากเร่งไป ใจก็ย่อมร้อน มุ่งแต่จะให้เสร็จโดยเร็ว ยิ่งเร่ง งานก็ยิ่งช้า เสื้อผ้าที่เสร็จออกมาก็อาจจะไม่สวย ซ้ำอาจจะทำไม่สำเร็จอีกด้วย ที่จริง ผลงานของเราจะออกมาเช่นไรก็ไม่สำคัญเท่า “ความภูมิใจในตัวเอง” ดิฉันหยิบเสื้อตัวนั้นมาชื่นชมอีกหลายต่อหลายครั้ง และไม่ลังเลที่จะบอกใครว่านี่คืองานฝีมือของฉันเอง ปลื้มแล้วปลื้มอีก เป็นความอิ่มเอมใจที่หาไม่ได้ในสินค้าที่ซื้อหามาครอบครอง ความจริงแล้ว ดิฉันก็ยังเป็นคนบ้างานอยู่ เพียงแต่เป็นความบ้าแบบใหม่ที่ตระหนักในคุณค่าของการทำงานอันหลากหลาย เห็นงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นงานสำคัญของชีวิตทั้งสิ้น
วันนี้ ดิฉันรู้สึกว่าชีวิตมีค่าและอยากใช้เวลาอันละเมียด ทำงานทุกอย่างด้วยสติ บ้างานแบบนี้ไม่ทำให้ชีวิตเครียดเลย ยิ่งบ้าก็ยิ่งเพลิดเพลิน ยิ่งมีความสุขกับการทำงาน ดังคำสอนของนักบวชตามแนวทางแบบเซนท่านหนึ่งคือ “ติช นัท ฮันห์” แห่งหมู่บ้านพลัม
ท่านสอนให้เรารู้จักปฏิบัติธรรมฝึกสติขณะทำงานเสมอ หากล้างจานก็ให้รู้ว่ากำลังล้างจาน คือให้เรามีชีวิตอยู่กับนาทีนั้นๆ นั่นคือ ฝึกจิตให้รับรู้ว่าการทำงานขณะนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ปล่อยใจให้ทำงานอย่างขอไปที หรือรีบทำเพียงเพื่อให้เสร็จโดยปราศจากการตระหนักรู้ ช่วงเวลาทำงานจึงมีประโยชน์มหาศาลคือใช้ฝึกสติได้โดยไม่ต้องนุ่งขาวห่มขาวหรือปลีกวิเวกไปไหนไกล
“ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ยังเป็นจริงในความรู้สึก ผิดกันแต่คราวนี้ “ค่า” ไม่ได้มีความหมายแค่ “ค่าตัว” หรือคุณค่าที่ได้รับจากผู้อื่น “ค่า” ครั้งนี้เป็นคุณค่าทางใจที่ผู้อื่นอาจสัมผัสไม่ได้ มองไม่เห็น ตีราคาไม่เป็น แต่ก็รับรู้ได้ด้วยหัวใจ ธรรมชาติของคนทำงานประจำมักยุ่งขิงอยู่กับเรื่องเดิม ทำงานแบบเดิม นั่งในท่าเดิม บนเก้าอี้ตัวเดิม ประสบปัญหาเดิม แก้ปัญหาแบบเดิมๆ มองโลกเหมือนเดิม พบเจอแต่คนเดิมๆ แม้แต่บทสนทนาก็ยังพูดพร่ำแต่เรื่องเดิมๆ
ลองหันมาหาโอกาส มองให้เห็นความสำคัญของงานในรูปแบบและเนื้อหาใหม่ๆ ดูบ้าง บางที ชีวิตของเราๆ ท่านๆ ก็อาจได้รับบทเรียนชีวิตใหม่ๆ บ้าง

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันที่ 06 กพ 2550
ภัทรพร อภิชิต media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: