วันพุธ, กุมภาพันธ์ 14, 2550

ชานใจ

“ชาน” ในความหมายของเรือนโบราณ คือส่วนที่ต่อยื่นออกมาจากตัวเรือน พื้นลดระดับต่ำกว่า ไม่มีหลังคาคลุม พื้นที่ชานมีไว้ทำประโยชน์สารพัด ทั้งนั่งเล่น นอนเล่น รับแขก ซ้อมดนตรี โขลกน้ำพริก ล้อมวงกินข้าว ล้างจาน ทำงานฝีมือ ฯลฯ
คนใช้ประโยชน์จากชานก็มีหลากหลาย ทั้งหลายรุ่น หลายวัย และหลายสปีชีส์ ตั้งแต่นกกาหมาแมว ลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงปู่ย่าตายาย ใครใคร่ใช้ก็ใช้ ด้วยใจเบาๆ สบายๆ ไม่ต้องเกรงใจกันมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองพันธุ์ พูนสุวรรณ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณาจารย์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกกันติดปากด้วยความเคารพอย่างยิ่งว่า “คุณลุง” บอกฉันว่า คำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลีก็คือคำเดียวกับคำว่า “ชาน” นี่เอง
คุณลุงยกตัวอย่างถึง “ชานบันได” ว่าเป็นที่พักเหนื่อยระหว่างการเดินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง เดินขึ้นมาเหนื่อยก็พักเสียหน่อยที่ชาน หายเหนื่อยแล้วค่อยเดินต่อไปอีกชั้น เดินไปเรื่อยๆ ก็จะมีจุดพักเป็นระยะ
การทำสมาธิก็เช่นกัน มีการแบ่งภาวะจิตเป็นฌานขั้นต่างๆ แบบชานบันได นั่นคือมีการกำหนดจุดพักจิตเป็นระยะๆ ตามการเดินทางของจิตสู่ความสงบ ประณีต ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าอย่างนั้น นอกจากชานบ้าน ชานบันได หรือที่โล่งว่างเพื่อให้เราได้พักอย่างอิสระจนหายเหนื่อยกาย สบายเนื้อสบายตัวแล้ว เรายังต้องการ “ชานใจ” เพื่อเป็นที่พักผ่อน บรรเทาเยียวยาความเหนื่อยล้าของจิตใจ ให้ใจกลับมาผ่องใส เบิกบาน เป็นจิตใจที่ควรค่าแก่การงานเช่นกัน
ก่อนนี้ เวลาฉันไปสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อหาข้อมูลมาเขียนหนังสือ พอสัมภาษณ์เสร็จก็มักนึกถึงอาหารอร่อยๆ ซึ่งราคาก็มักจะสูงเอาเรื่องเสมอ ทันทีที่ถึงร้านและสั่งอาหารราวกับหิวโซอดอยากมานาน พอทานเสร็จ ไม่เพียงความรู้สึกเท่านั้นที่เบาสบาย หากกระเป๋าสตางค์ใบน้อยของฉันก็เบาตามไปด้วย
เมื่อนำความรู้เรื่อง “ชาน-ฌาน” ของคุณลุงมาสังเกตใจตนเองก็พบว่า ภาวะใจที่ทำงานหนักจนเหนื่อยล้านั้น ได้แอบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังระหว่างการพบปะพูดคุยกับผู้คน พอเสร็จภารกิจ ใจก็จะรีบกลับสู่ความสงบสบายอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม
สำหรับใจของฉันได้อาศัย “ความพึงใจจากการทานอาหาร” เป็นหนทาง
เหลียวมองรอบตัวฉัน ผู้คนมากมายก็ทำสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างชานใจให้แก่ตนเองเช่นกัน
การจ่ายและเสพสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกิน การเที่ยว การไปดูหนังฟังเพลง ช็อปปิ้ง รวมทั้งการมีเซ็กซ์ ล้วนเป็นชานใจด้วยกันทั้งนั้น
การสร้างชานใจที่ละเมียดละไมขึ้นก็ต้องลงแรงกายแรงใจมากขึ้นตามส่วน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นดนตรี เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ สร้างความสัมพันธ์กับผู้คน ทำงานอาสาสมัคร และดูแลคนใกล้ชิด
ส่วนการสร้างชานที่ตั้งมั่นพาจิตใจกลับสู่ “ความสงบสบาย” ก็เช่นการสะกดจิต ทำสมาธิภาวนา โยคะ รำมวยจีน หรือกิจกรรมกลุ่มแบบอื่นๆ ที่หวังผลทำนองนี้
หากชานบ้านและชานบันไดแยกออกจากตัวบ้านและตัวบันไดไม่ได้ ชานใจของเราก็เช่นกัน
คุณลุงเล่าต่อถึงการ “เข้าฌาน” ซึ่งเป็นวิธีการแสวงหาความรู้และความจริงของชีวิตในพุทธศาสนาว่า ฌานมี 2 แบบหลักๆ คือ “รูปฌาน” และ “อรูปฌาน” แต่ที่พูดถึงกันมากคือรูปฌาน ซึ่งมี 4 ระดับ
ฌานที่ 1 ประกอบด้วย “วิตก” (การกำหนด-ปักหลักจิตลงสู่อารมณ์หนึ่ง) “วิจาร” (การพิจารณาหรือตามทบทวนอารมณ์นั้นๆ) “ปีติ” (ปิติ ซาบซ่าน เอิบอาบทั่วร่างกาย) “สุข” (ความสบาย ความสำราญ) และ “เอกัคคตา” (ความมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์หนึ่งเดียว)
จากฌานที่ 1 จิตจะเข้าสู่ฌานที่ 2 นั่นคือระดับที่เราระงับวิตกและวิจารลงได้ ซึ่งคุณลุงบอกว่า หมายถึงการระงับความคิดลง เมื่อความคิดหยุด “สมาธิ” เบื้องต้นก็จะเกิด
ส่วนฌานที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเราระงับปีติลงได้ และฌานที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อระงับสุขลง จากนั้น สมาธิที่สมบูรณ์ก็จะปรากฏ
ฌานคือจุดกำหนดสำคัญของการทำสมาธิ และการทำสมาธิก็เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในจำนวนเครื่องมือหลักสามประการเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตในโลกทัศน์ของพุทธธรรม นั่นคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
การเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงจะนำพาชีวิตสู่อิสรภาพ ไร้การบีบคั้นจนหมดทุกข์ ฌานจึงเป็นเหมือนหลักกิโลให้เราเห็นความก้าวหน้าในการเดินบนหนทางของตนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ถูกที่ควร
ฉันถามตัวเองว่า ผลของการสร้างชานใจให้ตนเองด้วย “การทาน” นั้น ทำให้ใจสงบขึ้นได้ไหม และตอบตัวเองว่า ได้เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ใช่ความสงบที่ละเอียดปราณีต แต่นั่นก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
ฉันยังอีกพบว่า การใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงของใจอย่างหนักหน่วงนั้น จะทำให้เราต้องใช้ชานใจที่หยาบกว่าการดำเนินชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย
เรื่องนี้ ฉันเคยคุยกับคนขับรถบรรทุกคนหนึ่ง เขาเล่าว่าต้องเสพยาบ้าทุกครั้งที่ขับรถ และเมื่อกลับถึงบ้านแบบหมดสภาพก็ยังต้องมีเซ็กซ์เสียก่อนจึงจะนอนหลับ
ผู้หญิงทำงานกลางคืนที่ฉันสังเกตเห็น ส่วนใหญ่ต้องกินเหล้าหลังเลิกงานเพื่อผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานบริการ
ส่วนตัวฉันเอง ในวันที่ต้องคิด-เขียนทั้งวัน แม้จะหมดแรงแทบลืมตาไม่ขึ้น แต่กว่าจะหลับได้ก็ต้องคว้าหนังสืออะไรก็ได้มาอ่านอีก เป็นชานให้สมองที่วิ่งเร็วจี๋ค่อยๆ ผ่อนลง เหมือนพัดลมที่เพิ่งปิดสวิตช์แล้วยังต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งกว่าใบพัดจะหยุดสนิท
การที่เราไม่เข้าใจ “ธรรมชาติของใจ” ที่ต้องการความสงบสบายอันจริงแท้ เราจึงเลือกวิธีสร้างชานใจที่ให้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราว
ถึงที่สุด ชานที่ว่าก็กลับกลายเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นชินและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตั้งต้น นั่นคือ ความวุ่นวายของใจแต่ประการใด หนำซ้ำ กลับสร้างเรื่องยุ่งๆ ต่อเนื่อง ทำให้เราต้องทำอะไรบางอย่างอันจะเป็นปัญหาใหม่ให้เราต้องแก้ เป็นระลอกเช่นนี้เรื่อยไปไม่รู้จบ
การจะเลือกสร้างชานใจตามแบบที่เหมาะที่ควรในวิถีชีวิตปกติได้ คงต้องตั้งคำถามใหญ่ๆ กับตนเองก่อนว่า “ชีวิตของเราเป็นไปเพื่ออะไร” เมื่อตอบตนเองได้แล้ว เราจะได้เลือกใช้ชานที่ช่วยให้ใจมุ่งไปสู่ชีวิตแบบที่ต้องการได้ไม่หลงทาง
และเมื่อใจเราสงบสบายได้ระดับหนึ่ง ใครจะรู้ว่าหลัก “ชาน” ที่เรามองเห็นอยู่ข้างหน้านั้นก็อาจเป็นหลักเดียวกับ “ฌาน” ที่นำพาชีวิตเข้าสู่อิสรภาพได้เช่นกัน

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2550

จารุปภา วะสี media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: