วันพุธ, กุมภาพันธ์ 21, 2550

ขยะจะอย่างไร



จำได้ถึงความอึดอัดขัดใจเป็นที่สุด เมื่อต้องหย่อนโยนถุงพลาสติก กระป๋องเปล่า และขวดนม ทั้งหมดลงในถังขยะใบเดียวกัน ซึ่งทำหน้าที่รองรับ “ของเหลือ” จากการบริโภคของเรา หนักหน่อย แทนที่จะทิ้งก็เก็บไว้ นำมาตั้งเรียงแถวตามขอบหน้าต่างบ้าง หลังตู้เสื้อผ้าบ้าง พอรู้ว่ามีจุดรับ ขยะเพื่อนำกลับไปใช้อีก (Recycle)ก็สบายใจ กะว่าสักวันจะขนขยะเหล่านั้นไปทิ้งให้ถูกที่
ความคับข้องใจที่เกิดขึ้น ว่าไปแล้วก็อาจเป็นพฤติกรรมประหลาดของคนบางกลุ่ม ผู้อ่อนไหวกับเรื่องของเหลือและปัญหาสิ่งแวดล้อม
ไม่มีข้อมูลว่านักเรียนไทยเป็นอย่างไร แต่ในโลกตะวันตก นักเรียนนักศึกษาหลายคนมีอาการที่ว่านี้ ขณะเดียวกัน อีกหลายคนก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายกับเรื่องทำนองนี้ แม้แต่นักเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
จริงอยู่ที่ยุคสมัยนี้ ใครๆ ก็มีอิสระที่จะเลือก ทำอะไร และไม่ทำอะไร แต่น่าจะมีอะไรอีกบ้างไหมที่พวกเราควรตระหนักและบังคับตัวเองให้ปฏิบัติตาม
ขยะสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น กล่องนมดื่ม หากรินหมดแล้ว เราก็น่าจะนำมากลั้วน้ำ ล้างให้สะอาด กระป๋อง และขวดแก้ว ก็เช่นกัน หากเป็นขยะประเภท แผ่นฟอยล์ (aluminium foil) เราก็ควรล้างและเช็ดผึ่งไว้ พอแห้งจึงแยกเก็บใส่กล่อง เตรียมไว้ทิ้งคราวเดียว เมื่อครัวสะอาดสะอ้านน่าใช้ เราก็สบายตา เกิดความรู้สึกสบายใจ ชีวิตสดใส ไม่ขุ่นมัว ไม่ขุ่นมัวที่ได้จัดการของเหลือของเราอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เป็นภาระต่อใครหรือต่อโลก สำหรับสังคมไทยแล้ว เท่าที่เห็นทั่วไปยังไม่สบายใจเท่าใดนัก แม้แต่กลุ่มคนที่ทำงานด้านมาตรการจัดการกับขยะ พวกเขากลับไม่จริงจังกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเท่าใดนัก
กฎระเบียบ หรือข้อกำหนด การจัดการขยะในบ้านเราทุกวันนี้ ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ ที่สุดก็ไม่มีใครสนใจ หรือใส่ใจที่จะจัดการขยะ หรือของเหลือของตัวเอง ประชาชนและข้าราชการอีกหลายคนก็ยังทานอาหารจากกล่องโฟม ปะปนขยะสารพัดในถังใบเดียวกัน ทิ้ง “ที่เหลือ” ของตนให้พ้นตัว ไม่คิดอะไรต่ออีกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับของที่เหลือเหล่านี้
ข้อมูลจากรายงานฉบับหนึ่งของฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ ชื่อ “หลักโครงการลดการใช้พลาสติกและโฟม” ปี 2547 สำรวจพบว่า อัตราการผลิตขยะจากพลาสติกและโฟมทั้งประเทศ มีจำนวนมากถึง 2.6 ล้านตันต่อปี หลายคนฟังแล้วอาจคิดว่าตัวเลขนี้ไม่สูงนัก แต่หากวาดภาพกองขยะนี้ ก็อาจกองโตมหึมา เทียบได้กับซากรถเก๋งจำนวนถึง 2.6 ล้านคันเลยทีเดียว
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลิตขยะพลาสติกและโฟม วันละ 1.3 แสนตัน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 60 เป็นถุงที่เรียกกันว่า “ก็อบแก็บ” จากห้าง รวมทั้งขวดบรรจุนม ขวดน้ำ และเครื่องดื่ม ซึ่งผลิตจากสารโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ถัดมาเป็นพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene) ที่ใช้ทำถุงแกง ถุงขนมขบเคี้ยว หลอดยาสีฟัน โฟมล้างหน้า แชมพู ครีมนวด ที่เหลือคือโพลีสไตรีน (Polystyrene จำพวกกล่องถ้วยจานโฟมที่ตกค้างปะปนอยู่ในขยะมูลฝอยชุมชน
ว่าไปแล้ว ถึงแม้ขยะพลาสติกและโฟมเหล่านี้จะมีเพียงร้อยละ 20 ของขยะทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้กลับน่าวิตกเพราะเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก และแม้จะรีไซเคิลได้ แต่หากเปื้อนเศษอาหารก็ยากจะจัดการที่ปลายทาง นี่ยังไม่นับรวมที่เข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ ไปจบสุดท้ายที่กระเพาะปลาผู้โชคร้าย หรือกลายเป็นทัศนะอุจาดตามชายหาด แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ
จากการสำรวจทัศนคติและความรู้ของประชาชนทั่วไปในรายงานฉบับดังกล่าวพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าพลาสติกและโฟมเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเนื่องจากย่อยสลายพวกมันได้ยาก ทั้งการกำจัดขยะส่วนใหญ่ก็ยังใช้วิธีการฝังกลบ เพราะหากใช้วิธีเผาก็จำต้องใช้ความร้อนที่สูงมาก ไม่เช่นนั้นจะเกิด “ไดออกซิน” สารอันตรายที่ก่อมะเร็งและทำลายระบบนิเวศ
นอกจากนี้ พวกเขาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการลดการใช้พลาสติกและโฟม แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร เราถึงจะลดการใช้พลาสติกและโฟมได้ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้อยู่รอบตัวเราทั้งนั้น
รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างด้วยว่า ประเทศอื่นๆ ก็กำลังคิดหาวิธีจัดการกับปัญหานี้ ใกล้เราที่สุดเห็นจะเป็น ไต้หวัน นั่นคือ เมื่อกลางปี 2545 ไต้หวันได้ออกประกาศนโยบายจำกัดการใช้ถุงพลาสติก (Plastic shopping bag use restriction policy) โดยมีผลบังคับห้ามไม่ให้ร้านค้าให้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมโดยไม่คิดราคา ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับถึง 100,000 ไต้หวันดอลลาร์ แน่นอน บริษัทผู้ผลิตต่างออกมาคัดค้านกันยกใหญ่ ทว่ารัฐก็ตอบโต้ด้วยการให้รางวัลแก่ผู้ที่ยอมปฏิบัติตาม
ถัดมาอีกนิด ที่แอฟริกาใต้ ปีเดียวกันก็ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และ ใช้ถุงพลาสติกชนิดบาง ซึ่งเคยถูกเรียกแบบเสียดสีว่าเป็น “ดอกไม้แห่งชาติ” เนื่องจากถุงที่ถูกทิ้งขว้างลอยลมละลิ่วไปติดห้อยตามกิ่งก้านบนต้นไม้ริมทาง บานสะพรั่งเป็นทิวแถวทุกฤดูกาล หลังการประกาศก็มีคนยากไร้ออกมาคัดค้าน ขณะเดียวกัน หลายคนกลับเห็นด้วยและสนับสนุนข้อกฎหมายนี้อย่างแข็งขัน
ส่วนเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และอังกฤษ ก็เริ่มมีการจัดเก็บภาษีถุงพลาสติกกันแล้ว ห้างร้านต้องขายถุงให้ลูกค้าแทนที่จะแถมให้ไปกับสินค้า ส่งผลให้เกิดการลดจำนวนการใช้พลาสติกได้ถึงร้อยละ 70 – 90
หันมามองประเทศไทยปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายโดยตรงใดๆ สำหรับจัดการปัญหาเรื่องพลาสติกและโฟม จะมีก็เพียงมาตรการ ตั้งแต่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการผลิตบริโภคพลาสติกและโฟมโดยสมัครใจ อาทิ กระบวนการผลิตที่สะอาด และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายลดการใช้พลาสติกและโฟมให้มากขึ้น
ด้านผู้กำหนดนโยบายหรือภาครัฐเองก็คงตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่ง่ายนัก เพราะพลาสติกและโฟมยังเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท
ดังนั้น ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเลือกใช้อะไรและจะจัดการกับขยะของตัวเองอย่างไร มิให้เป็นภาระกับผู้อื่นและโลก ไม่สงสารหรือละอายลูกหลานของเราบ้างเลยหรือ หากพวกเขาออกปากตัดพ้อรำพึง และต่อว่าคนรุ่นพวกเราว่า เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงชีวิตของคนรุ่นเขาเลย

ชีวิตรื่นรมย์ // ฉบับ 2 ม.ค. 2550
วนิสา สุรพิพิธ
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: