สำหรับมนุษย์เงินเดือนแล้ว การตกงาน ถือเป็นสิ่งน่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียศักยภาพในการใช้จ่ายหรืออาจหมายรวมถึงการสูญเสียการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วย
ขณะที่ทำงาน เราอาจรู้สึกเป็นนายของเงิน ด้วยว่าเราเป็นผู้หาและได้มาด้วยตัวเอง แต่เมื่ออยู่ในภาวะใกล้ตกงาน ความหวาดกลัวสารพันก็จะเกิดขึ้น
หลายคนถึงกับสารภาพด้วยใจทดท้อว่า “ตกงานไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้นทั้งบ้าน รถจะต้องถูกยึดแน่นอน”
ในสภาวะเช่นนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าใครกันแน่ที่เป็นนาย
สำหรับผู้ไม่ถูกพันธนาการด้วยสิ่งเหล่านั้น การตกงานอาจเป็นเพียงแค่ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้คืนกลับสู่ความเรียบง่าย ความสุขพื้นฐานที่เราทำตกหล่นทิ้งไว้นานแล้วเท่านั้นเอง
ท่ามกลางโลกที่มองเห็นเงินเป็นแก้วสารพัดนึก ดลบันดาลทุกอย่างได้ดังใจ “เงิน” จึงมีความหมายเท่ากับ “ความสุข” การไม่มีเงินจึงดูเหมือนเป็นเรื่องโหดร้ายยิ่งนัก
ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ฉันได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตัดสินใจผละจากวงจรชีวิตที่หมุนอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ เพื่อมาดำเนินชีวิตที่ช้าลงและเรียบง่ายยังบ้านเกิดของเธอ
เธอบอกว่า “ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน” เงินเดือนก้อนโตที่เธอเพิ่งทิ้งไป ไม่ได้ลดทอนความสุขของเธอให้ลดน้อยลง แถมยังสุขเป็นทวีคูณ เพิ่มขึ้นกว่าก่อน กว่าชีวิตที่มีกินมีใช้เสียด้วยซ้ำ
แล้วอะไรเล่าที่ทำให้เป็นเช่นนั้น?
เธอเล่าต่อว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มุ่งหน้าหาแต่เงินตรา แยกคุณค่าของงานออกจากการดำเนินชีวิตโดยสิ้นเชิง ด้วยอาจคิดเพียงว่า เมื่อมีเงินแล้ว ย่อมหาความสุขให้แก่ชีวิตแบบไหนก็ได้
เพราะเหตุนี้ เราจึงตะบี้ตะบันใช้ชีวิตและหมกมุ่นอยู่กับการทำงาน เพียงเพื่อเฝ้ารอที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุข เป็นความสุขที่มาจากการออกไปดูหนังฟังเพลง จากการเดินชอปปิ้งในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันพักร้อน โดยไม่เคยตระหนักเลยว่า สิ่งที่ใช้จ่ายไปกับการทำงานที่บ้าคลั่งนั้น เราใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
ต้นทุนที่มองไม่เห็น เช่น ความเครียดสะสม จิตใจที่ขุ่นมัว และร่างกายที่มีแต่ความอ่อนล้าลงทุกวัน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องแลกกับเงินเดือนโดยที่ไม่รู้ตัว
ต่อเมื่อเธอวาง ละทิ้งการงานอันเขม็งเกลียวนั้นลง สิ่งที่ได้รับตอบกลับมาคือ “ความสุข” ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เหนืออื่นใดคือ “เวลา” ที่ได้รับมากขึ้น
นานแค่ไหนแล้วที่คนเราอยู่กับเหตุผลที่ว่า “ยังไม่มีเวลา” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เรากลับบริโภคเวลาไปกับสภาพจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน หรือเสียเวลากับการทุ่มเถียงในห้องประชุมเพื่อสร้างดอกผลหรือทำกำไรสูงสุดให้แก่บริษัท
เวลาที่เราได้รับมา เรากลับไม่มีเผื่อให้แก่การตักบาตรตอนเช้า ไม่มีเวลาให้แก่การนั่งและพูดคุยกับลูกๆ ได้แต่คุยผ่านโน้ตกระดาษบนผนังตู้เย็น เราไม่มีเวลาทำความสะอาดบ้าน และแก้ปัญหาดับทุกข์ด้วยการจ้างแม่บ้านสักคนมาทำแทน
หรือแม้แต่การเดินรดน้ำต้นไม้ เราก็ยังจ้างคนสวนมาดูแลและทำแทน
ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่การปันเวลาเพื่อพัฒนาความรู้ด้านใน ภายในจิตใจและจิตวิญญาณให้เติบโต เราก็ยังปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักบวชทำหน้าที่นี้แทน
ต่อเมื่อเราไม่ได้ทำงานแล้ว เราจึงจะมีเวลาว่างเหลือพอที่จะทบทวนสิ่งต่างๆ อย่างช้าๆ ซึ่งถึงเวลานั้น เราอาจพบอีกว่า ที่จริง เราอาจมี “อะไรมากมาย” จนน่าตั้งคำถามว่า เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
เราใส่เสื้อผ้าสลับไปมาได้ด้วยชุดไม่กี่ชุด แต่เสื้อผ้าที่เรามีนั้น เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
เราไปไหนมาไหนได้ด้วยรองเท้าเพียงไม่กี่คู่ ทว่ารองเท้าที่เรามี เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
เราเก็บข้าวของได้ด้วยกระเป๋าถือไม่กี่ใบ แต่กระเป๋าที่เรามี เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
“การว่าง” ยังทำให้เราเปลี่ยนมิติความหมายของคำว่า “งาน” ได้ใหม่ นั่นคือไม่ได้หมายถึง “สิ่งที่ทำเพื่อแลกกับเงิน” เท่านั้น หากยังหมายถึง “สิ่งสำคัญในชีวิตที่ไม่ควรละเลยด้วย”
ข้อดีของการว่างทำให้เรามีเวลาพินิจสิ่งต่างๆ รอบตัว และมีเวลาได้คิดได้ตระหนักว่า แท้ที่จริง ความสุขและความงามนั้นอยู่รอบตัวเรา โดยอาจร้องเรียกให้เราแลมานานแล้ว แต่เราก็ไม่เคยเหลียวหันไปมองสักที
คราวนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ยินสักทีว่าเสียงนกร้องในสวนหลังบ้านนั้น สดใส เพราะพริ้งเพียงใด
ได้เห็นสักทีว่า ดอกไม้หน้าแล้ง เมื่อยามระบัดใบนั้น สวยงามแค่ไหน
คงถึงเวลาชื่นชมดอกไม้ที่ปลิดปลิวและทิ้งตัวลงสู่พื้น ลองดูสิว่า ลีลาของดอกโรยร่วงเหล่านั้นอ่อนหวานอย่างไร
และคงถึงเวลาที่เราจะได้ดื่มด่ำสักทีว่า ท้องฟ้าสีครามในวันที่ไร้เมฆหมอกนั้น เปี่ยมพลังเพียงไร
การว่างจะช่วยให้เราได้ตระหนักว่า ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่ต้องการการดูแลและใส่ใจจากเราอีกมากมายนัก นอกเหนือจาก “การทำงาน” แล้ว
เราจะว่างพอและมองเห็นว่าต้นไม้เหี่ยวเฉานั้น ต้องการน้ำและการดูแล
เราจะว่างพอและมองเห็นแววตาเปลี่ยวเหงาของหมาน้อยที่ต้องการการสื่อสาร
เราจะว่างพอและมองเห็นความเศร้าในใจของครอบครัวที่ต้องการอ้อมกอด
เราจะว่างพอและได้ทำในสิ่งที่เราเคยคิดว่า “ยังไม่มีเวลาจะทำเสียที”
เพราะถ้ารอให้ถึง “เวลาที่พร้อม” ก็อาจสายเกินไป
และหากเราไม่รู้จักเรียนรู้ที่จะ “ต้อนรับ” สิ่งไม่พึงประสงค์ในชีวิต (เช่น การว่างงาน) เรานั่นล่ะที่จะถูก “ต้อนให้จนมุม” เธอทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น
ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 27 ก.พ. 2550
วิรตี ศรีอ่อน media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น