วันพุธ, มีนาคม 07, 2550

นิรามิสา : สตรีดีเด่นแห่งบ้านพลัม


“นิรามิสา” คือนามทางธรรมของภิกษุณีนิรามิสา แปลว่า “ผู้หมดแล้วซึ่งกิเลส”
ภิกษุณีชาวไทยผู้นี้บวชเรียนกับหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระชาวเวียดนามแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ร่วม 8 ปีเต็ม บนเส้นทางธรรมสายนี้ เธอได้เติมเต็มชีวิตทางจิตวิญญาณจนได้รับ “รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” จากองค์การสหประชาชาติ เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ประจำปีนี้ ลองฟังมุมมองการดำเนินชีวิตเชิงลึกที่เชื่อมโยงกับพุทธธรรมตามทางหมู่บ้านพลัมจากภิกษุณีผู้นี้
วิถีของนักบวช
ภิกษุณีนิรามิสาเติบโตและร่ำเรียนในประเทศไทย เธอเล่าว่า วัยเด็ก เธอก็เหมือนเด็กทั่วไปที่นับถือพุทธศาสนาตามบรรพบุรุษ ทั้งยังไม่เข้าใจในศาสนาพุทธมากนัก จนอายุ 16 ปี เธอมีโอกาสไปสวนโมกขพลารามกับพี่สาวและเพื่อนๆ จึงได้เห็นอีกมุมของศาสนาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
“เราได้เปิดหูเปิดตา เห็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจพุทธศาสนา ได้เรียนรู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่ คนหนุ่มสาวมากมายก็ไปศึกษาที่นั่น ศาสนาไม่ใช่วัดที่ต้องกราบไหว้ แต่เป็นธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล จากตรงนั้นเลยคิดว่า คนเรามีจิตวิญญาณเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าเราไม่มี ชีวิตคงตายด้าน ถึงมีชีวิต แต่ก็ไม่มีชีวา”
ความคิดที่เป็นเสมือน “เมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้” นี้ได้ติดตัวเธอมา
สมัยนั้น เธอเองยังไม่คิดบวช ด้วยยังไม่เห็นแนวทางของนักบวชชัดนัก กระนั้น เธอก็ตั้งใจมั่นทำงานช่วยเหลือผู้คน โดยเลือกศึกษาต่อการพยาบาลผดุงครรภ์และทำงานเพื่อสังคมในองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ปี 2536 ในวัยทำงาน หลังเสร็จภารกิจรายงานผลการดำเนินงานที่ยุโรปแล้ว เธอได้วางแผนเที่ยวแหล่งศึกษาธรรมะต่อ “หมู่บ้านพลัม” (Plum Village) คือแห่งแรกที่เธอไปถึง ทั้งยังเป็นสถานศึกษาธรรมะสำหรับชีวิตของเธอตั้งแต่นั้นมา
“I have arrived. I am home. เราเรียนรู้จากหลวงปู่ว่า อยู่ตรงไหนก็เป็นบ้าน เมื่อเราได้กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริงคือตัวของเราเอง”
การปฏิบัติภาวนาครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอ
เมื่อเธอกลับคืนสู่ชีวิตประจำวัน เธอได้หยุดทำงานประจำ เลือกทำงานอิสระ และหาโอกาสเรียนรู้พุทธศาสนามากขึ้น และสามปีให้หลัง เธอจึงออกบวช เป็นภิกษุณีที่มีความสุขภายใน เห็นได้จากรอยยิ้มบนใบหน้าและดวงตาใสคู่นั้นของเธอ
การเป็นนักบวชมีความสุข สบาย เป็นอิสระ เราได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้ดูแลตัวเอง ได้ช่วยเหลือคนอื่น สิ่งนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่หลวงพี่มีอยู่ในตัว จึงสัมผัสธรรมะง่าย พอมาเจอหลวงปู่ ได้พบวิธีการปฏิบัติ มันเลยง่ายมาก มหัศจรรย์ มีความสุข เราคิดว่า ถ้าอายุ 16 ได้เจอหลวงปู่ ได้เจอหมู่บ้านพลัม เราคงบวชเลย แต่เหตุปัจจัยตอนนั้นยังไม่เกิดเท่านั้นเอง”
เธอเล่าว่า แรงบันดาลใจจากหลวงปู่คือความสามารถที่ทำให้ผู้อื่นเบิกบานและมีแรงบันดาลใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านการสอนด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริง หรือผ่านท่าที การพูดจา และการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อใครพบเห็นย่อมเกิดกำลังใจ
“สิ่งหนึ่งที่หลวงพี่ชอบมากคือ หลวงปู่บอกว่า การเป็นนักบวชที่ออกไปช่วย ไปสอนคนอื่นนั้น สิ่งที่เราทำคือไปสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เขา โดยตัวเราคือเครื่องมือ (Inspiration instrument) เราไม่ได้สอนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก หรือเปลี่ยนแปลงใคร แต่เราไปจุดประกายให้เขามีแรงบันดาลใจ หลวงพี่เคยเป็นพยาบาล แต่ตอนนี้เป็นพยาบาลทางจิตใจ เป็นวิชาชีพของสัมมาพุทธเจ้า”
จุดร่วมของนักบวชทุกเพศวัย
เมื่อเธอออกบวชได้ 5 ปีก็มีประเด็นผู้หญิงกับการบวชปรากฏในสังคม สื่อมวลชนหันมาให้ความสนใจกระทั่งสังคมเห็นว่า “ผู้หญิงก็มีวิถีทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน”
ทุกวันนี้ หากพิจารณาสถานะของหญิงไทยในบริบทของศาสนาพุทธ ภิกษุณีนิรามิสาเอ่ยรับว่าดีใจที่เห็นหญิงไทยสนใจพุทธศาสนามากขึ้น ผู้หญิงหลายคนต้องการศึกษาเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตและการดำรงอยู่ ทั้งๆ ที่ภาพรวมของสังคม ดูเหมือนผู้หญิงยังตกอยู่ในสถานะที่ได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชายก็ตาม
ส่วนภาพการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านพลัมนั้น เธอเล่าว่าเป็นชุมชนของพุทธบริษัท 4 (สังฆะ) อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี และฆราวาสหญิงชาย ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ต่างก็มีหน้าที่เหมือนกันคือการดูแลวัด
นักบวชทั้งหญิงและชายเกือบ 200 รูป มาจากประเทศต่างๆ ทุกรูปเดินทางมาเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างศานติ มีสติและเป็นสุข โดยจะให้ความเคารพและดูแลกันเสมือนสมาชิกในครอบครัว
“ภิกษุเหมือนพี่ชาย เหมือนพ่อทางธรรม ส่วนเรื่องการแบ่งแยกชายหญิง ส่วนใหญ่มาจากการสั่งสมของเราเอง เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังเรามา ด้วยวิถีชีวิตในชุมชน เรื่องการแบ่งแยกจึงไม่เกิด เราโอบรัดกันและกัน อยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้อง เป็นพลังอันอบอุ่น เพื่อขัดเกลาให้มีสติ สมาธิ และปัญญา”
รางวัลของสังฆะแก่เราทั้งผอง
รางวัลที่เธอได้รับในวันสตรีสากลนี้ ภิกษุณีเผยความรู้สึกว่าแปลกใจ ด้วยไม่คาดคิดมาก่อน เพราะสิ่งที่ทำไป ล้วนอยู่ในวิถีชีวิตทั้งสิ้น
“หลวงพี่แปลกใจว่าทำไมจึงได้ เราไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อได้รับอะไร สิ่งที่ทำไปล้วนอยู่ในวิถีชีวิต มันเกิดขึ้นเองเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ถึงหลวงพี่จะได้รับรางวัลนี้ แต่มันไม่ใช่รางวัลของหลวงพี่คนเดียว เพราะเวลาหลวงพี่ทำ หลวงพี่ไม่ได้ทำคนเดียว ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ สังฆะ เพื่อนพี่น้องในเมืองไทยก็ทำด้วย เป็นมือที่ช่วยเกื้อกูลกันและกัน เราเป็นดั่งกันและกัน ฉะนั้น ความสำเร็จจึงไม่ใช่ของหลวงพี่คนเดียว” ภิกษุณีสรุปทิ้งท้าย
พิธีมอบรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ สำหรับปีนี้จะมีขึ้นในวันพุธที่ 7 มีนาคม เวลา 08.00 - 16.00 น.ที่องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ รางวัลนี้ องค์การสหประชาชาติมอบให้สตรีนักบวชและฆราวาสทั่วโลก เพื่อยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนา และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สตรีทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งสิ้น 25 ท่าน
ติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เป็นพระมหาเถระชาวเวียดนามในพุทธศาสนานิกายเซนมหายานองค์สำคัญ มีผลงานด้านสันติภาพมากมายจนได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ท่านเป็นผู้นำพุทธธรรมสู่วิถีชีวิตร่วมสมัย พัฒนาแนวทางแห่งสติแพร่หลายไปทั่วโลก สร้างงานเขียนอันทรงคุณค่าหลายเล่ม เช่น ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ, สันติภาพทุกย่างก้าว, คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ 19 - 31 พฤษภาคม 2550
ติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ/ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัมกว่า 80 รูป จะเดินทางจาริกธรรมมายังประเทศไทย เพื่อ “สู่ศานติสมานฉันท์” หรือ “Toward Peace & Harmony” โดยเอื้อให้คนไทยได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีทางแห่งการอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก ความเมตตา และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งสนใจติดต่อ www.thaiplumvillage.org หรือ อีเมล awakeningsource@yahoo.com หรือ โทร. กรุงเทพฯ 08-5318-2938, 08-5318-2939 เชียงใหม่ 086-910-9611, 089-700-8720

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 6 มี.ค. 2550
พรรัตน์ วชิรชัย media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: