วันพุธ, มีนาคม 21, 2550

เริ่มต้นที่ดอกหญ้าริมทาง


 
ราษฎรอาวุโสอย่างอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนคำปรารภไว้ในหนังสือ “ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) กับทางแพร่งของสังคมสยาม” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537) ว่า ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ คือคนแรกที่นำทฤษฎีไร้ระเบียบมาสู่สังคมไทย
สาระสำคัญของทฤษฎีที่ว่านี้เป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่มองสรรพสิ่งสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างสลับซับซ้อน และที่สำคัญ เป็นแนวคิดที่เปิดใจ มีพื้นที่ว่างให้แก่ “ความบังเอิญ” ไร้ต้นสายปลายเหตุ ซึ่งทฤษฎีวิทยาศาสตร์แบบเก่ารับไม่ได้
แต่ใช่ว่าสังคมไทยจะใจกว้าง เพราะถึงวันนี้ ทฤษฎีไร้ระเบียบก็ยังเป็นเพียงหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่วางนิ่งอยู่บนชั้นหนังสือ ปราศจากการนำมาศึกษาต่อเพื่อปรับใช้ในสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
แต่ถึงอย่างไร ชัยวัฒน์วันนี้ก็ยังยืนยันในจุดยืน ไม่ละทิ้งความใฝ่ฝันที่ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่คนมีคุณภาพ และเป็นสังคมที่น่าอยู่กว่าเดิม
เขายังคงปรารถนาอยากเป็น “นักอภิวัฒน์” (revolutionist) ไม่เสื่อมคลาย
งานอภิวัฒน์ชิ้นแรกของชัยวัฒน์คือ “บางกอกฟอรัม” (Bangkok Forum) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2537 ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นเสมือน “บททดลอง” ภาคปฏิบัติของโครงการสร้างประชาคมเมืองหรือ Civil Society ในทัศนะของเขา
“ผมคิดว่าหากเราอยากทำอะไรสักอย่าง เราก็ลุกขึ้นมาทำเลย เพราะในระบอบประชาธิปไตย เรามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศ นี่คือประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม คือเราทำได้ ไม่ต้องรอใคร เราลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองริเริ่มหรือที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า BÜrger initiative หรือ Civil Initiative ได้เลย”
เพราะชัยวัฒน์เชื่อว่า สังคมที่น่าอยู่ควรมีบรรยากาศของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เป็นสังคมที่มีความรักความอบอุ่น เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะที่เอื้อโอกาสให้ทุกๆ คนได้ใช้ในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน
โครงการถนนคนเดินที่เคยนิยมกันระยะหนึ่ง เช่น บนถนนพระอาทิตย์และถนนสีลม คือผลงานของบางกอกฟอรัมและความคิดริเริ่มของเขา
ทุกวันนี้ ชัยวัฒน์ยังคงสนใจงานสร้างเสริมสุขภาพของสังคมเหมือนเดิม โดยเปลี่ยนบทบาทเป็นประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet)
ว่าไปแล้ว เขาเองก็ยอมรับว่า ความกล้าคิดกล้าลงมือทำโดยไม่ต้องรอใครของเขา อาจเริ่มต้นจากการเป็นหนอนหนังสือตั้งแต่วัยเด็ก
“อิทธิพลที่มีผลต่อชีวิตของผมมาจากหนังสือ ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ที่ต้องอ่านก็เพราะคุณยายให้เลือกระหว่างต้องนวดกับอ่านหนังสือให้ยายฟัง ผมจะเอาอย่างไหน ซึ่งผมเลือกอ่านหนังสือดีกว่า เพราะอ่านแล้วยังได้สตางค์ด้วย”
เด็กชายชัยวัฒน์อ่านหนังสือมากมายหลายประเภท ทั้งนิยายจีน นิทาน เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ไปจนถึงเรื่องราวขนาดยาวอย่างมหากาพย์ รวมทั้งตำนานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ที่จริง เขาตะลุยอ่านสามก๊กจนจบเล่มตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบเท่านั้นเอง
ชัยวัฒน์เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว เติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการอ่านการเขียน เขาเริ่มต้นค้นหาหนังสืออ่านเองจากชั้นหนังสือในบ้านของคุณตาเพื่อนบ้านที่ชื่อ “ขุนอาเทพคดี” ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองนครฯ รุ่นราวคราวเดียวกับบิดาของ ฯพณฯ ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เมื่อเขาย้ายมาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ชีวิตการเรียนการศึกษาของเขาก็ดำเนินต่อไปเป็นปรกติ ไม่หวือหวาอะไรมากนัก นับจากโรงเรียนมัธยมสาธิตประสานมิตร ต่อด้วยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจที่เมืองนูเล็มเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกว่าสิบปี (ราวคริสต์ทศวรรษที่ 1960 – 70) เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในช่วงที่หนุ่มสาวกำลังตั้งคำถามกับสังคมและการเมือง กำลังแสวงหาคุณค่าที่แท้และความหมายของชีวิต
คนรุ่นนั้นผิดหวังกับมนุษย์ที่ก่อสงครามอย่างสงครามเวียดนาม และยังเฉยเมยต่ออารยธรรมแห่งโลกสมัยใหม่จากตะวันตก โดยหันกลับไปพึ่งความสงบจากโลกตะวันออก เลือกใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีทั้งความคิดและพฤติกรรม
และในบรรยากาศของสังคมที่อุดมไปด้วยนักคิดนักปรัชญาอย่างเยอรมนี คือเบ้าหลอมสำคัญในการดำเนินชีวิตและความคิดอ่านของเขาตั้งแต่นั้นมา
หนังสือ “The German Ideology” เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ และ “สิทธารถะ” (Siddhartha) ของนักเขียนชื่อก้องโลกอย่าง เฮอร์มาน เฮสเส (Hermann Hesse, ค.ศ.1877 - 1962) คือหนังสือเล่มแรกๆ ที่หนุ่มน้อยอย่างชัยวัฒน์หยิบจับขึ้นมาอ่านขณะอยู่ที่นั่น
แต่แล้ว ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอีกครั้งเพียงเพราะกอดอกหญ้าเล็กๆ ริมทางเดินกอหนึ่ง
“วันนั้นเป็นวันที่อากาศดีมากเป็นพิเศษ มีแสงแดดอุ่น สวยมาก ท้องฟ้าสีคราม ผมมีความสุขมากเป็นพิเศษ ขณะที่เดินออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ ผ่านสวนสาธารณะก็ไปพบกอดอกหญ้าเข้าโดยบังเอิญ ซึ่งทุกวัน ผมก็เดินผ่านอยู่บ่อยๆ แต่วันนั้นไม่รู้เป็นไง จิตใจกลับเป็นสุขมากกว่าธรรมดา ได้เห็นความงามและความสุขอย่างคาดไม่ถึง”
ดอกหญ้าริมทางกอนั้น ภาษาเยอรมันเรียกว่า “เลอเวนซาห์น” (LÖwenzahn) หรือแปลเป็นภาษาไทยคือ “เขี้ยวราชสีห์” ดอกมีสีเหลือง ชูช่อสูงขึ้นจากพื้นดินไม่ถึงหนึ่งฟุต
ชัยวัฒน์เล่าวินาทีนี้อย่างออกรสว่าเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกปีติหรืออิ่มเอิบภายในจนลืมทุกสิ่งทุกอย่าง หลงลืมเป้าหมายที่กำลังไปชั่วขณะ จากนั้น เขาก็ล้มตัวลงนอนและเหม่อมองไกลขึ้นไปบนท้องฟ้าสีครามกระจ่างสว่างใส เห็นภาพปุยเมฆขาวล่องลอยไปตามสายลม และภาพอันงดงามของกิ่งก้านและกลีบดอกเหลือง
เป็นความงามที่แสนเรียบง่ายของช่อดอกที่เริงระบำร่ายรำตามแรงลม ราวกับเฝ้ารอให้ผู้ผ่านทางก้าวเดินมาพบและสัมผัสด้วยตนเอง
เขาหยุดพักใจและกายอย่างผ่อนคลาย ใช้มือหนุนศีรษะและดื่มด่ำบรรยากาศ พร้อมภาพอันพิสุทธิ์
และเช้าวันนั้น เขาก็ตัดสินใจไม่เข้าห้องเรียน เพราะสะดุดเข้ากับความงามริมทางเสียก่อน
ที่สำคัญ เป็นความงดงามเล็กๆ ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาให้รู้จักกับรสสัมผัสแห่งความสุขง่ายๆ ที่หาได้รอบๆ ตัวเรา โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาหรือดิ้นรนทำอะไรใหญ่โตให้ยุ่งยากแต่อย่างใด



ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 20 มี.ค. 2550
เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: