วันจันทร์, มีนาคม 26, 2550

“ภาวนาว่าด้วยปัญญาและความรัก...หนทางเข้าถึงชีวิตที่เปี่ยมความหมาย”


     
นักบวชที่อยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้าอาจจะดูสะดุดตาด้วยสังฆาฏิสีหมากแดงที่ห่มคลุมจีวรสีเหลือง ผิวพรรณขาว จมูกโด่ง นัยน์ตาฟ้าใสเหมือนเด็ก และความที่ท่านเป็นภิกษุณี ซึ่งในสังคมพุทธเถรวาทยังต้องการเวลาเปิดใจยอมรับ
แต่รูปลักษณ์ภายนอกเหล่านั้นไม่ใช่สาระ สิ่งที่ดึงดูดข้าพเจ้าและใครหลายคนให้เข้าใกล้ท่านคือ รอยยิ้มอันสงบเย็น ความเบิกบาน และความอบอุ่นที่ทำให้หัวใจเราอิ่มเอมปีติ
ข้าพเจ้ารู้จัก ท่านเท็นซิน พัลโม พระภิกษุณีจากทิเบตซึ่งเป็นพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ได้ประมาณครึ่งปีก่อนที่ท่านจะเดินทางมาเยือนเมืองไทยเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ เพื่อบรรยายธรรม จัดงานอบรมภาวนา และที่สำคัญเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจแก่นักบวชหญิง และผู้หญิงที่สนใจวิถีแห่งการรู้แจ้ง
จากหนังสือ รูปเงา ขุนเขา ทะเลสาบ (Reflections on a Mountain Lake) ข้าพเจ้าประทับใจการอธิบายข้อธรรม วิธีการปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่ายๆ เกื้อกูลการภาวนาและกำลังใจ และเมื่อได้อ่าน หนังสือ เส้นทางสายโพธิสัตว์ (Cave in the Snow) ข้าพเจ้าชื่นชมความเด็ดเดี่ยวของท่านที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อการเข้าถึงธรรมและเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ คำอธิษฐานของท่านที่ “ขอบรรลุธรรมในเพศหญิงทุกภพทุกชาติ” แสดงให้เห็นการข้ามพ้นการแบ่งแยกเพศสภาพอันเป็นอคติที่ขวางกั้นทั้งหญิงและชายจากการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้
สำหรับคุรุ ชีวิตของท่านคือคำสอนที่ดีที่สุดของศิษย์ นับแต่สาวชาวอังกฤษ ไดแอน เพอร์รี่ เริ่มสนใจพุทธศาสนา และบวชเมื่ออายุ 20 ปีเธอตั้งใจปฏิบัติและศึกษาธรรมอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนหนึ่งหมายถึงการใช้ชีวิต และภาวนาฝึกฝนตนอย่างเข้มงวดในถ้ำบนเทือกเขาสูงเป็นเวลา 12 ปี เพื่อเข้าถึงธรรม จากนั้นท่านอุทิศตนในการสั่งสอน เผยแผ่ธรรม และก่อตั้งโครงการสามเณรีในประเทศอินเดีย เพื่อสนับสนุนให้นักบวชหญิงได้มีโอกาสในการศึกษาและปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมทัดเทียมกับนักบวชชาย
สำหรับการอบรมภาวนา 5 วันที่อาศรมวงศ์สนิท ในประเทศไทย พระภิกษุณีได้ถ่ายทอดยอดความรู้ ประสบการณ์ทั้งชีวิตของท่านให้กับผู้สนใจกว่า 70 ชีวิต
ท่านทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้มาก แต่ต้องรู้ให้พอในเรื่องที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วที่สำคัญคือต้องปฏิบัติ ซึ่งท่านเน้นย้ำว่า การภาวนาไม่ใช่เรื่องการเข้าอบรม การปลีกวิเวก หรือเรื่องทำเล่นๆ แต่เป็นเรื่องที่จริงจังที่สุดในชีวิต เราต้องอุทิศทั้งชีวิตเพื่อการเข้าถึงธรรมและช่วยเหลือสรรพสัตว์ การค้นพบอิสรภาพที่แท้จริง คือแก่นของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ในวันแรก ท่านเปิดใจให้เราเห็นความเป็นอนิจจังของศาสนาพุทธ ด้วยการเล่าบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของพุทธศาสนา ความที่คำสอน วิถีปฏิบัติในพุทธสาสนาถูกจารึกไว้หลังมหาปรินิพพาน กว่า 3 ศตวรรษ และการที่สังคมอินเดียเต็มไปด้วย วิถี การแสวงหาธรรมรูปแบบต่างๆ ย่อมทำให้เนื้อหา วิธีการบางส่วนในพุทธศาสนาได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสมัยหลังพุทธกาล มีสำนักวิถีพุทธเกิดขึ้น กว่า 18 สำนัก กาลเวลาและสังคมโลกที่แปรเปลี่ยนทำให้ปัจจุบันศาสนาพุทธเจริญเติบโตภายนอกประเทศอินเดีย และคงมีสามนิกายหลัก คือ เถรวาท มหายาน และ วัชรยาน
ทั้งสามนิกายอาจดูต่างกัน แต่ถ้าคัดเอาแกนคำสอนของแต่ละนิกายแล้ว เราเหมือนกันมากกว่าความต่างที่ปรากฏ สิ่งที่เหมือนกันคือ แก่นของศาสนาพุทธ ที่สอนเรื่องทุกข์ การพ้นทุกข์ วิธีดับทุกข์ สังสารวัฏ กฎแห่งกรรม เป็นต้น ความต่างคงอยู่ที่รายละเอียดวิธีการปฏิบัติ แนวคิดบางเรื่อง เท่านั้น
อริยสัจจะเป็นเรื่องที่ทุกนิกายล้วนกล่าวถึง พระภิกษุณีอธิบายว่า ความทุกข์นั้นคือท่าทีที่เรามีต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งสุขและทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่ใจเชื่อมโยง ให้คุณค่าและความหมายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนเหตุอันก่อให้เกิดทุกข์นั้นมาจาก อัตตา ที่สำคัญมั่นหมายว่ามีตัวตน ไม่เปลี่ยนแปลง แบ่งแยกจากสิ่งอื่นๆ ไขว่คว้าในสิ่งที่ต้องการและผลักไสในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์
ฤทธิ์เดชของอัตตาแสดงออกมาในภาพของกิเลส 3 ตัวที่เราต่างคุ้นเคยกันดี คือ อาการโลภ โกรธ และหลง (ท่านเพิ่มอีกสองข้อ คือ ความอิจฉาริษยา และ ความเย่อหยิ่งทะนงตัว ถือตัว) ซึ่งทั้งสาม นิกายล้วนให้แนวทางจัดการกับกิเลสทั้งสามตัวนี้แต่ด้วยวิธีที่ต่างกัน พุทธเถรวาทเน้นการถอนรากถอนโคนกิเลส ส่วนมหายานเห็นว่าเราสามารถแปรเปลี่ยนกิเลสให้เป็นกุศลได้ เช่นเราอาจจะแปรเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความกรุณา และพุทธวัชรยาน มองว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากกิเลสได้ กิเลสนั้นเป็นพลังงานอันทรงพลังอย่างหนึ่ง เช่นความโกรธมีพลังมหาศาลเหมือนพลังกุศลจิตอื่นๆ หากเราตระหนักรู้ความโกรธแต่แรกเริ่ม เราอาจใช้พลังนั้นเกื้อหนุนการปฏิบัติได้
เป้าหมายของพุทธศาสนาทุกนิกาย คือการเข้าถึงการดับทุกข์ คือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในทุกขณะและทุกหนแห่ง ไม่ใช่สิ่งที่อาจสร้างขึ้น หรือสถานที่ที่ต้องไปให้ถึง เพียงแค่ใจเป็นอิสระ รู้เห็นความจริง ก็จะรับรู้สภาวะนิพพานได้ทันที นิพพานไม่ใช่แนวคิด อุดมคติ จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ ท่านภิกษุณีกล่าวว่า นิพพานนั้นเหนือไปจากสมอง ความคิด จินตนาการที่มนุษย์จะคิด หรือจินตนาการได้ “คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูด” ท่านอุปมาเหมือนพระอาทิตย์และแสงอาทิตย์ที่ดำรงอยู่ หากแต่กิเลสคือเมฆหมอกบังแสงและดวงอาทิตย์ไว้ เราจึงไม่อาจเห็นมันได้ ตราบเมื่อเราขจัดหมอกเมฆนั้นไปแล้ว แสงอาทิตย์ก็จะปรากฏสว่างขึ้นทันที
นิพพานเป็นสิ่งล้ำค่าที่เราล้วนมีศักยภาพที่จะสัมผัสได้ ในปัจจุบันชาตินี้ เพียงแต่เรายังมองไม่ถูกทาง และขาดความพากเพียรอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็น ในการภาวนาท่านแนะนำให้ดูที่จิต “หากจะเข้าใจจิตก็คงไม่มีหนทางอื่นนอกจากย้อนดูตรงมาที่จิต” ท่านให้ตระหนักรู้ความคิดที่ผุดขึ้น โดยไม่เข้าไปแทรกแซง คิดต่อ เสริมเรื่อง “อย่าไปให้พลังกับความคิด” สิ่งที่ทำคือ รับรู้ความคิดที่เกิดขึ้น เฉยๆ เรื่อยๆ เนิ่นนานพอ เมื่อสติว่องไว เราจะเห็นความคิดที่เหมือนเทปหนังต่อเนื่องนั้นสิ่งช้าลงๆ จนเราสามารถเห็นช่องว่างระหว่างภาพความคิดหนึ่ง กับภาพความคิดต่อไปได้ เมื่อช่องว่างห่างมากขึ้นๆ เราจะเห็นความจริงแห่งจิต
การเรียนรู้ธรรมและการพากเพียรปฏิบัติภาวนาเป็นเรื่องดี แต่ท่านภิกษุณีถามต่อว่า เราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เราปฏิบัติธรรม ถือศีล ให้ทานไปทำไม เพื่ออะไร แรงจูงใจในการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ชาวพุทธเถรวาทให้ความสำคัญกับการบรรลุธรรมเฉพาะตน เป็นอรหันต์ ซึ่งสำหรับบางคนในนิกายอื่นๆอาจเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่ออกจะเห็นแก่ตัว ผลักดันด้วยอัตตาที่แสวงหาการหลุดพ้นเพื่อตัวเอง เพราะในนิกายมหายานและวัชรยานนั้น การบรรลุธรรมเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย
ท่านภิกษุณีถามว่า ถ้าเปรียบสังสารวัฏเป็นหนองน้ำที่ทุกคนพากันตะเกียกตะกายขึ้นฝั่ง หากเราขึ้นฝั่งได้แล้ว เราจะเดินหนีไป โดยไม่หันมามองหรือคิดช่วยเหลือคนอื่นๆ เราจะทิ้งพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก เพื่อน และญาติของเราไว้อย่างนั้นหรือ
การจะมีปฏิญาณโพธิสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเอาเอง แต่เป็นสิ่งที่งอกงามจากความกรุณาและปัญญาที่แท้ เมื่อมีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงในเรื่องความไม่มีตัวตน ทุกข์ในสังสารวัฏ และความเชื่อมโยงเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งแล้ว ผู้มีปัญญาที่แท้ย่อมเกิดความกรุณาอันแท้จริงที่ไปพ้นจากอัตตาที่ยังเลือกที่รักมักที่ชัง
การเรียนรู้นิกายทั้งสามนั้น ไม่ได้ทำให้ก่อให้เกิดความสับสน การแบ่งแยกว่าอะไรถูก ผิด นิกายใดดีกว่านิกายใด เราอาจจะพอใจวิถีปฏิบัติแบบเถรวาท มหายาน วัชรยาน หรือแม้แต่รูปแบบผสมที่คิดว่าเป็นแบบที่ถูกจริต
หนทางคงไม่ใช่ปัญหา หากแต่ผู้เดินทางต้องตั้งใจและจริงจังที่จะออกจาริกบนเส้นทางนั้น จนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะไปบรรจบบนยอดเขาเดียวกันนั่นเอง

เรื่องโดย "กรรณจริยา สุขรุ่ง"
บทความชิ้นนี้ ลงในสารเพื่อเสม ของเสมสิกขาลัย -- องค์กรที่จัดงานภาวนา
นำโดย ท่าน เท็นซิน พัลโม เมื่อเดือนมกราคม 2550

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดิฉันพึ่งอ่านหนังสือ Cave in the Snow และได้เจอบทความนี้เข้าเมื่อพยายามค้นหาว่าหนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นไทยบ้างเหรอปล่าว เพราะอยากหาซื้อไว้ไปฝากญาติๆที่เมืองไทยได้อ่านบ้าง

บทความของคุณน่าสนใจจริงๆขอบคุณค่ะ