วันอังคาร, มีนาคม 13, 2550

Medi-tea-tion



ถ้าพูดถึงชีวิตรื่นรมย์ อะไรๆ ก็รื่นรมย์ได้ถ้าเรารู้จักวิธีการดื่มด่ำ หรืออยู่กับสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เพื่อนของผมคนหนึ่ง รายนี้รักสุนัขมาก รู้สึกได้เวลาที่เห็นเธอเล่นกับน้องหมา เหมือนเธอกำลังอยู่กับมันจริงๆ เล่นกับมันจริงๆ เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ทั้งตัวและใจของเธออยู่ที่นั่นกับน้องหมาอย่างแท้จริงราวกับไม่มีอะไรในโลกนี้จะสำคัญไปกว่าการได้อยู่กับน้องหมาที่นั่นเวลานั้น
น้องหมาของเธอไม่ได้เป็นแค่สิ่งมีชีวิตประกอบฉากในห้องนั่งเล่น และคำว่า “น้องหมา” ก็ไม่ใช่แค่คำเรียกเพื่อให้แลดูน่ารัก น้องหมาเป็นคำเรียกที่เกิดจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักและความเอ็นดู
นี่คือความรื่นรมย์ที่แสนเรียบง่ายจากการดื่มด่ำหรืออยู่กับสิ่งนั้นๆ อย่างแท้จริง
เป็น “การดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ” (in the present moment) หรือ “การอยู่ ณ ที่นั่น และขณะนั้น” (in the here and now) ดังที่ท่าน ติช นัท ฮันห์ มหาเถระเซนชาวเวียดนาม มักกล่าวเสมอ
การดำรงอยู่กับปัจจุบันเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีประโยชน์มาก ดังจะขอเล่าเรื่องของเพื่อนคนนี้ต่ออีกนิด
ด้วยความที่เธอ “ดำรงอยู่กับปัจจุบัน” กับน้องหมาบ่อยๆ เธอจึงเข้าใจน้องหมาของเธอดีจนน่าทึ่ง อาทิ เธออธิบายพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของน้องหมาได้เป็นฉากๆ สมเหตุสมผล เหมือนกำลังพากย์อยู่ในรายการช่อง Animal Planet
ผมเคยถามเธอว่า “รู้ได้อย่างไร” ซึ่งเธอตอบได้อย่างน่าสนใจมาก เธอไม่พินิจพิเคราะห์อะไรเลย เพียงแค่ “เปิดใจ” แล้วดูพฤติกรรมของมันเรื่อยๆ ไม่วิเคราะห์ ไม่ตัดสิน ที่สุดก็บังเกิด “ความเข้าใจ”
เธอเสริมว่า เทคนิคนี้ เมื่อใช้กับคนก็ให้ผลดีเยี่ยม ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นคนที่เราชอบหรือไม่ก็ตาม ผมเชื่อว่าเธอไม่ได้พูดเล่น แต่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ
ผมเองมักรื่นรมย์กับ “การดื่มชา” ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ ผมเพียงขออยู่กับชาอย่างเต็มร้อยทั้งตัวและจิตใจ อย่างน้อยวันละครั้งสองครั้งๆ ละห้าหรือสิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ได้ แล้วจะให้ทำอะไรค่อยว่ากัน
เวลาจะดื่มชาต้องใจเย็นๆ อยู่นิ่งๆ เงียบๆ สักพัก แล้วค่อยๆ ดื่มด่ำกับการมองแก้วชา
ที่จริง การดื่มด่ำกับชานั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนจิบเสียอีก
วิธีดื่มชาในแบบที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ช่วยให้พลังแก่ชีวิตและให้ข้อคิดอย่างเหลือเชื่อ
เริ่มจากการตามลมหายใจสัก 2 - 3 ครั้ง หายใจเข้าก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่ากำลังหายใจออก รักษาลมหายใจเช่นนี้ไว้ตลอดการดื่ม
จากนั้นก็มองมาที่ถ้วยชาและน้ำชาที่อยู่เบื้องหน้า ขอให้เราค่อยๆ ตระหนักรู้ว่าชาถ้วยนี้ไม่ได้มาอยู่ที่นี่โดยบังเอิญ อาจเป็นแม่บ้านใจดีเตรียมไว้ ถึงตอนนี้ หากจะยิ้มน้อยๆ ด้วยความรู้สึกสดชื่นก็ไม่ต้องฝืน
น้ำอุ่นๆ ที่อยู่ในแก้วเคยเป็นน้ำในสายธาร เคยเป็นฝน เป็นเมฆ ก่อนเป็นเมฆก็เคยเป็นน้ำในลำธารที่ถูกไล้ด้วยไอแดดของดวงอาทิตย์จนระเหยขึ้นสู่ฟ้า หรืออาจเป็นน้ำตาของใครสักคน
ภาพพู่กันจีนของหลวงปู่ นัท ฮันห์ บนผนังในหอฉันที่หมู่บ้านพลัมยังตรึงใจเสมอ ภาพนั้นเขียนไว้ว่า “The tear I shed yesterday has become rain” แปลไทยได้ความว่า “น้ำตาที่หลั่งเมื่อวานนั้นได้กลายเป็นฝนแล้ว” ใบชาในกาก็เช่นกัน ล้วนเคยเป็นใบไม้สดใส เติบโตได้ด้วยดิน น้ำ ลม แสงแดด รวมทั้งคนเก็บใบชาในไร่
การนิ่งทบทวนสักนิดทำให้เราไม่หลงลืมว่า จักรวาลทั้งจักรวาลอิงอาศัยกันอยู่ในชาถ้วยนี้แล้ว ตรงนี้เองที่ทำให้ไม่อาจยกแก้วชาขึ้นซดโฮกอย่างไร้ความหมาย
ต่อจากนี้ ผมจะไม่นึกคิดใดๆ ผมจะเลิกใช้สมองเป็นการชั่วคราว ปล่อยให้การเคลื่อนไหวของนิ้วมือและแขนสอดประสานกับลมหายใจเหมือนการเคลื่อนไหวแบบโยคะ ทั้งนี้ เพื่อให้กายและใจอยู่กับชาที่จะดื่มอย่างเต็มที่
พึงเคลื่อนมือทั้งสองประคองถ้วยให้มั่น ยกถ้วยขึ้นดื่มช้าๆ เมื่อถ้วยแตะริมฝีปากก็รับรู้ เมื่อน้ำชาไหลเข้าปากก็รับรู้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ขอเพียงรับรู้อย่างเดียวโดยไม่พยายามจะรู้หรือต้องรู้ แค่ไม่ลืมที่จะรู้หรือปล่อยใจเตลิดไปไหนก็พอแล้ว
การดื่มแบบนี้จะได้รสชาติหรือ ? ดูวุ่นวายเกินไปไหม ?
สำหรับผม ช่างรื่นรมย์ด้วยรสชาติ สมาธิ และปัญญา ประสบการณ์การดื่มแต่ละครั้งแตกต่างกันไป คาดหวังอะไรไม่ได้ และไม่คาดหวังด้วย ดื่มชาเพื่อดื่ม อย่างอื่นล้วนเป็นของแถม
น่าแปลกที่ของแถมมักเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเสมอ
ครั้งหนึ่ง ผมเคยเตรียมชาที่ให้ความหอม รสชาติ และสีสันที่ถูกใจมาก พยายามชงให้ได้เช่นนั้นอีกหลังจากนั้น ทว่าชงอย่างไรก็ไม่ได้ อ่อนเกินไปบ้าง เข้มเกินไปบ้าง
ที่สุด ในความสงบเงียบก็ดลใจให้นึกได้ว่า การชงชาไม่ซ้ำรสและสีสันนั้น แท้ที่จริงก็แฝงเสน่ห์ของชาไม่น้อย เป็นความแตกต่างที่ไม่น่าเบื่อ ครั้นเมื่อยอมรับความต่างและเข้าใจเหตุปัจจัย ความไม่สมบูรณ์แบบก็กลายเป็นความหลากหลายครบเครื่องไปโดยปริยาย
ถึงตรงนี้ ผมคิดถึงคำพูดในหนังสือของ Mel และ Patricia Ziegler สองสามีภรรยาผู้ก่อตั้งบริษัทชาในอเมริกาที่ชื่อ “The Republic of Tea”
ทั้งคู่เรียกวัฒนธรรมชาว่า “sip by sip” แปลว่า “ทีละจิบๆ” หมายถึงการใช้ชีวิตอย่างดื่มด่ำในทุกๆ กิจกรรมของชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปฏิเสธจังหวะชีวิตแบบน้ำอัดลมที่เรียกว่า “gulp by gulp” หรือ “ทีละโฮกๆ”
ไม่ว่าจะเล่นกับสุนัข จิบชา ดื่มกาแฟ หรือขยอกน้ำอัดลม ชีวิตของคุณและผมก็จะรื่นรมย์ได้เสมอ หากไม่ลืมที่จะใช้ชีวิตทีละจิบๆ
เชิญดื่ม...

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 6 มี.ค. 2550
จิตร์ ตัณฑเสถียร media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น: