ช่วงวัยก่อนอายุสามสิบเช่นผม มีหลายกิจกรรมรื่นเริงที่คนรุ่นเดียวกันมักไปร่วมสังสรรค์ ส่วนใหญ่เป็นงานวันเกิด บ้างเป็นงานแต่งงานของคนหลายคู่ที่ต้องการให้เพื่อนฝูงร่วมแสดงความยินดี
ทว่างานพิธีที่ผมเดินไปร่วมในเย็นวันนั้นไม่ใช่งานรื่นเริง...แต่เป็นงานศพ
ผมไม่ใช่คนคุ้นเคยกับงานศพ และเชื่อว่าไม่มีใครอยากจะคุ้นเคยกับงานศพ เพราะนั่นหมายถึงการลาจากของบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่มีใครอยากจะฝืนเอ่ยว่า ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่ถวิลหาชีวิต แต่สุดท้ายความตายก็ตามหาชีวิตของเราจนพบ
ระหว่างที่ผมกำลังย่ำเดินยังทางเท้า จำต้องแวะผ่านอาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งย่านสาธรซึ่งโฆษณาสวยหรูว่าเป็นจุดศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่สุดในประเทศ ประตูทางออกและฝ้าเพดานของอาคารหลังใหม่เพิ่งถูกฉาบทาด้วยสีน้ำมัน ชั้นหนังสือใหม่แกะกล่องแลดูสวยงาม
แต่ผมคิดว่าหน้าร้านที่เห็นเป็นเพียงห้องแสดงสินค้าไม่ต่างจากโชว์รูมรถยนต์
หันเมินกับหนังสือหลายหลาก มิใช่มองเป็นสิ่งไร้ค่าเสียทั้งหมด แต่เพราะผู้ที่ผมกำลังเดินทางไปให้เกียรติครั้งนี้คือผู้สร้างหมุดหมายบางอย่างที่ทำให้ผมคิดถึงร้านหนังสือในอีกรูปลักษณ์ที่มีบรรยากาศแห่งการอ่านและการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ชายผู้นั้นคือคุณลุงสุข สูงสว่าง บุรุษผู้กว้างขวางแห่งวงการหนังสือในเมืองไทย
ผมไม่รู้จักลุงสุขเป็นการส่วนตัว รู้เพียงในยามที่ผมยังเด็ก ร้านหนังสือดวงกมล (D.K. Book) ที่คุณลุงเป็นเจ้าของ คือร้านหนังสือที่มีคุณภาพ มีสาขามากมายหลายสิบแห่ง ด้วยเขาคือผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจหนังสือดวงกมล
ประกอบด้วยร้านหนังสือดวงกมล สำนักพิมพ์ดวงกมล เป็นผู้นำเข้าตำราภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์หนังสือและตำราวิชาการเป็นภาษาไทย ทั้งเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร ‘โลกหนังสือ’ เมื่อ พ.ศ.2520 ซึ่งคุณพ่อของผมรับหน้าที่บรรณาธิการ
ในช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น ธุรกิจหนังสือของลุงสุขยังก้าวกระโดดสู่การเปิดร้านหนังสือดวงกมลสาขาซีคอนสแควร์ ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แถมยังมีโครงการ ‘เมืองหนังสือ’ ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้เป็นแหล่งซื้อขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุด แต่น่าเศร้าที่โครงการหมู่บ้านนักเขียนนานาชาติที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี กลายเป็นโครงการที่จำต้องถูกล้มเลิก เนื่องจากปัญหาพิษเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2540
ส่วนหนึ่งในความพยายามของลุงสุข เกิดขึ้นเพราะต้องการลบล้างบทบันทึกในพจนานุกรม LONGMAN ที่ระบุว่ากรุงเทพมหานครคือนครแห่งโสเภณี
หลังจากทุ่มเทชีวิตกับการเผยแพร่หนังสือเป็นเวลากว่า 40 ปี ในเวลาต่อมา ลุงสุขก็มีปัญหาครอบครัว ปัญหาการฟ้องร้องหนี้สินและธุรกิจกับครอบครัวผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือดวงกมลมาด้วยกัน จนสุดท้ายก็ล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองถึงสองครั้งในระยะเวลาเพียงสามปี
ถึงแม้อาการของลุงสุขเริ่มมีทีท่าว่าจะดีขึ้น แต่สุดท้าย คุณลุงก็ไม่อาจฝืนสังขารของตัวเองได้ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2550
ผู้กว้างขวางในวงการหนังสือของไทยอย่างคุณลุขสุขคือตัวอย่างของ ‘นายทุน’ ที่ลงทุนทางสังคม ประกอบธุรกิจเพื่อผู้อื่นมากกว่าเพื่อตนเอง ด้วยสิ่งที่ลุงสุขปลูกสร้างล้วนมีคุณค่าต่อแวดวงหนังสือ
ถ้าวงการหนังสือเติบโต นักอ่านก็เข้มแข็ง และถ้านักอ่านเข้มแข็ง พวกเขาย่อมเติบโตทางความคิด เกิดคุณอนันต์ต่ออีกหลายวงการ
หลังจากเดินผ่านอาคารที่บรรจุหนังสือนับล้านเล่ม จนถึงด้านนอกซึ่งเป็นถนนสาธร ผมข้ามสะพานลอยแล้วเดินเลียบทางเท้าไปเรื่อยๆ กระทั่งพบโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์
ผมเข้าไปกราบศพคุณลุงสุข ก่อนจะนั่งนิ่งราวกับขอทำความรู้จักต่อสิ่งรอบด้าน บรรยากาศในตอนหัวค่ำยิ่งเต็มด้วยความเงียบ อาจเพราะญาติมิตรของคุณลุง รวมถึงนักเขียนและคนทำหนังสือหลายคนที่มาร่วมงานต้องการทำให้บรรยากาศในโบสถ์เงียบสงบที่สุด เนื่องเพราะนับแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ลุงสุขคลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือ ชีวิตของคุณลุงล้วนเต็มด้วยความวุ่นวายมาโดยตลอด
เพียงไม่นาน หลวงพ่อประจำโบสถ์ก็เข้ามาให้ศีลตามแบบศาสนาคริสต์ ความที่ผมเป็นชาวพุทธ ซ้ำเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัสวิถีคริสต์ ทำให้ผมตื่นเต้นพอประมาณ โชคดีที่หลวงพ่อกล่าวเทศน์เป็นภาษาไทยจึงฟังเนื้อหารู้เรื่อง
หลวงพ่อท่านเทศน์อย่างเรียบง่าย เอ่ยถึงความตายที่ทุกคนย่อมประสบพบเจอ โดยกล่าวว่าในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเกิด พ่อแม่ของเราต่างเตรียมพร้อมที่จะให้เราลืมตามองโลก ในทางตรงข้าม หากคนเรากำลังเดินทางไปสู่ความตาย ก็ควรจะ ‘ตายก่อนตาย’ ด้วยการตายอย่างมีสติ เช่นเดียวกับการเตรียมตัวเกิด
รับฟังคำเทศน์ไปไม่นาน ผมจึงเชื่อว่าหลังจากลุงสุขล้มป่วยลง คุณลุงก็เตรียมตัวไปสู่ชีวิตนิรันดร์มานานแล้ว เพียงแต่การเตรียมตัวของคุณลุงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่เพราะคุณลุงต้องการให้สังคมไทยตระหนักรู้ต่อทุกสิ่ง
อย่างน้อยก็เพื่อให้ทุกคนได้มีความคิดเป็นอาวุธโดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือ
ไม่ว่าโครงการต่างๆ ของคุณลุงจะทำสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าคุณลุงสุขเป็นนักฝัน นักอุดมคติ หรือคนทำหนังสือผู้เปี่ยมอุดมการณ์ แต่ผมกลับคิดว่าสิ่งที่ลุงสุขทำนั้น ได้บันดาลผลให้ลุงสุขมี ‘ความสุข’ ที่ได้เห็นคนไทยมีคุณภาพทางความคิดอ่านเพิ่มขึ้น
พิธีกรรมทางศาสนาใช้เวลาไม่นาน ผมกราบลาญาติมิตรของลุงสุข ก่อนเดินเท้าจากไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางความมืดยามราตรีและแสงไฟฉาบมัว ก่อนจะวกกลับมาถึงร้านหนังสือขนาดมโหฬารแห่งเดิม
ผมจำใจเดินเข้าไปยังร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อีกครั้ง คล้ายคนทำหนังสือในยุคปัจจุบันที่ต้องสยบยอมกับความจริงบางอย่าง แต่ก่อนจะเดินเข้าภายใน ผมหันกลับไปมองโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ที่มีร่างของลุงสุขกำลังนอนสงบ
ร่างนั้นนอนนิ่งก็จริง แต่ผมเชื่อว่าระหว่างทางที่คุณลุงสุขกำลังเดินทางสู่ชีวิตนิรันดร์ คุณลุงก็ได้พบความสุขที่แท้จริงแล้ว
และความหมายของความสุขที่แท้จริงนี้เองที่ทำให้คนทำงานหนังสือบางคนยังคงมุ่งมั่นกับการสรรค์สร้างเนื้อหาของหนังสือให้เต็มด้วยแสงสว่าง
ในฉับพลัน คำพูดของของผมก็เอ่ยขึ้นจากจิตสำนึกท่ามกลางความมืดมิดในยามราตรี
ขอบคุณมากครับ...คุณลุงสุข สูงสว่าง
ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 27 มี.ค.2550
โมน สวัสดิ์ศรี media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
วันอังคาร, มีนาคม 27, 2550
ความสุขของลุงสุข
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น