วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 16, 2549

แบ่งปันความดี




บุญกุศลที่ทำได้ง่ายๆอย่างหนึ่ง ที่วันนี้อุ๊ขอนำมาแบ่งปัน คือ การยินดี ชื่นชมกับการกระทำดีของผู้อื่น ที่ว่าเป็นกุศลเพราะ มันเป็นการรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในใจของเรา โดยมากเราอยากเป็นคนดี คนเก่ง ไม่ค่อยอยากเห็นใครดีกว่า ดังนั้นการชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจ จึงถือเป็นกุศลที่ช่วยลดละอัตตาตัวตนได้ อีกอย่าง การที่เราชื่นชมการทำดีของคนอื่น จะเเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมให้เราทำความดีนั้นตามเขาได้ และช่วยให้คนที่ทำดีนั้นมีกำลังใจในการทำความดีต่อไป เป็นการกระจายความดีงามให้ฟุ้งไปในสังคมจ๊ะ (เห็นด้วยไหม)

วันนี้อุ๊ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวคนหนึ่ง น้ำเสียงร้อนรน “อุ๊ รู้จักที่ไหนที่เขาช่วยเหลือ ผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายไหม?” อุ๊นิ่งไปสักพักด้วยความงุนงง ว่าพี่ชายช่างอำคนนี้จะมาไม้ไหน บรรณาธิการข่าวสายท่องเที่ยว และธรรมชาติจะเขียนเรื่องการทำร้ายผู้หญิง? หรือเขาจะเขียนบทวิเคราะห์ประเด็นปัญหาผู้หญิงในสังคม
แล้วเขาก็เริ่มเล่าถึงความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้หญิงและเด็กชายคนหนึ่งให้ฟัง

เป็นเวลาแรมปี พี่เปี๊ยกต้องเดินทางข้ามสะพานลอยแถว อนุสาวรีย์ชัยสมรภมิ เพื่อนั่งรถตู้กลับบ้านเมืองทองธานี จนเขาเริ่มสนิทสนมกับเด็กชายวัย ๖ ขวบคนหนึ่งใส่ชุดนักเรียน นั่งขายพวงมาลัยที่สะพานลอย เด็กนน้อยคนนี้น่ารัก ช่างเจรจา ค้าขายเก่ง เพราะเอารอยยิ้มใสๆเข้าแลก กับเม็ดเงินจากกระเป๋าผู้ใหญ่ไร้รอยยิ้มที่เดินไปเดินมาบนสะพานนั้น
แม้เด็กคนนี้จะไปโรงเรียนวันเว้น สองวัน เพราะต้องมาช่วยแม่ขายพวงมาลัย แต่เขาสามารถคิดเลขได้รวดเร็ว ชีวิตบนสะพานลอยสอนวิชาคณิตคิดไวให้เขาทุกวัน
พี่เปี๊ยกมักแวะพูดคุยกับเด็กน้อยคนนี้ และแม่ของเขาที่นั่งขายพวงมาลัยอยู่ด้วยกัน แต่ห่างไปสัก ๕ ถึง ๖ เมตร

มิตรภาพบนสะพานลอยของพี่เปี๊ยก (หนุ่มหล่อแนวเพื่อชีวิต) กับสองแม่ลูก ดำเนินเรื่อยเป็นแรมปี บางครั้งพี่เปี๊ยกเห็นน้องน้อยคนนี้ขายพวงมาลัยในเวลาโรงเรียนเปิด จึงถามว่าไม่ไปโรงเรียนหรือ “มีปัญหาทางบ้านจ๊ะ” แม่ของเด็กตอบ เป็นอันว่าเทอมนั้นทั้งเทอม เด็กชายนั่งเรียนเลขและจิตวิทยาการขายบนสะพานลอยนั้น

เทอมต่อไปพี่เปี๊ยกเสนอทุนการศึกษาให้ ๒,๐๐๐ บาท น้องจึงกลับไปห้องเรียน พี่เปี๊ยกบอกว่า “เด็กคนนี้เป็นเด็กจิตใจดี ตั้งใจเรียน ใฝ่ดี น่าสนับสนุน จะเป็นคนดีของสังคมต่อไป” พี่เปี๊ยกเสนอจะช่วยสนับสนุนการศึกษาในปีต่อไป แต่เธอปฏิเสธ “ค่าใช้จ่ายที่โรงเรียน กทม. ไม่มากเท่าไรค่ะ เทอมนี้พอมีจ่าย” พี่เปี๊ยกให้เบอร์โทรศัพท์หญิงคนนี้ไว้ เผื่อต้องการความช่วยเหลืออะไร แต่เธอไม่เคยโทรมา

ครั้งหนึ่ง แม่และเด็กคนนี้ไม่มาขายพวงมาลัยเป็นอาทิตย์ เมื่อได้เจออีกครั้ง พี่เปี๊ยกก็ได้รู้ว่า “เธอถูกซ้อม จนป่วย หน้าตาบวม จึงไม่สามารถลุกมาขายของได้”

เธอยังอธิบายต่อไปว่า “เมื่อสามีของเธอดื่มเหล้าจนเมา จะซ้อมเธอจนน่วม พอเช้าตื่นมา หายเมาก็บอกว่า ที่ทำไปนั้น ล้อเล่น” สามีของเธอไม่ทำงานอะไร แต่จะยืนเฝ้าเธอและลูกชายขายพวงมาลัยบนสะพานลอยอยู่ห่างๆ หลายครั้งก็เอาเงินไปเล่นการพนัน
แต่เธอไม่บ่น หรือคิดหนีจากสามีของเธอ

จนกระทั่งวันนี้ พี่เปี๊ยกได้รับโทรศัพท์ เสียงผู้หญิงปลายทางสั่นเครือ “ไม่ไหวแล้ว ถูกแฟนซ้อม อยากพาลูกหนีไปอยู่ที่อื่น มีงานให้ทำไหมคะ”

พี่เปี๊ยกโทรศัพท์ติดต่ออุ๊ ซึ่งต้องโทรถามเพื่อนที่ทำงานองค์กรผู้หญิงอีกที จนทราบถึงบ้านพักฉุกเฉิน พี่เปี๊ยกโทรติดต่อเพื่อประสานงาน นำเธอและลูกไปพักที่นั่นชั่วคราว ฝึกอาชีพ ก่อนหาที่ทางไปเริ่มชีวิตใหม่ต่อไป

อุ๊เชื่อว่าทุกคนมีเรื่องราวดีๆที่ตัวเองทำ หรือเห็น ได้ยินผู้อื่นทำ เขียนมาแบ่งปันกันนะค่ะ เป็นกำลังใจให้กัน สร้างกุศลและความดีร่วมกัน

ฉบับต่อไป อุ๊จะเล่าเรื่องหมาๆ ดีกว่า ใครมีเรื่อง แมวๆก็แจมได้นะจ๊ะ

ไม่มีความคิดเห็น: