วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 18, 2549
สื่อกับการสร้างความเข้าใจทางเพศ ๑
สวนดุสิตโพลชี้ ข่าวความรุนแรงทางเพศ หวือหวามีสีสัน แต่ไม่สร้างความเข้าใจปัญหาแท้จริง
สมาคมนักข่าวฯ – วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 สวนดุสิตโพล สำรวจการรับรู้ปัญหาความรุนแรงทางเพศของผู้อ่านข่าวหน้าหนึ่ง พบส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาผิดทาง ส่งผลต่อการแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาผิดจุด สมาคมนักข่าวชี้ จำเป็นต้องมีแนวทางทำข่าวเรื่องเพศ ดึงความร่วมมือนักวิชาการเอ็นจีโอผู้หญิงช่วยระดมสมองหาแนวทางสร้างสรรค์
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และ สวนดุสิตโพล ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่าน ที่มีต่อการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง
ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดี ม.ราชภัฎสวนดุสิต รายงานผลว่า จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,023 คน
พบว่า ความรู้สึก 3 อันดับแรกเมื่อประชาชนอ่านข่าวหน้าหนึ่งคือ
รู้สึกว่าสังคมเสื่อมโทรม ร้อยละ 19.16
รู้สึกว่าสังคมไม่ปลอดภัย ร้อยละ 15.62 และ
รู้สึกสลด เศร้า หดหู่ ร้อยละ 14.28
การอ่านข่าวหน้าหนึ่งทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่า การแต่งกายของผู้หญิงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของข่าวข่มขืน สื่อลามกอนาจารเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของข่าวความรุนแรงทางเพศ ความผิดปกติของจิตใจเป็นสาเหตุของการรักเพศเดียวกัน ขณะที่ข่าวการทำแท้ง หรือทิ้งเด็ก มีสาเหตุอันดับหนึ่งมาจากการขาดคุณธรรมจริยธรรม
นอกจากนี้
ประชาชนมีความเห็นต่อการนำเสนอข่าวปัญหาความรุนแรงทางเพศว่า สื่อมวลชนควรเสนอข่าวที่ตรงกับความจริง ร้อยละ 31.49 ไม่ควรใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือสื่อถึงอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 17.62 และต้องการให้เสนอข่าวที่เป็นอุทาหรณ์อีกร้อยละ 7.83
ณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า สังคมทุกวันนี้ตื่นตัวกับปัญหาเรื่องเพศกันมากขึ้น แต่การป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศนั้น จำเป็นต้องเข้าใจรากเหง้าว่าความคิดความเชื่อแบบไหน ที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศยังเกิดขึ้นในสังคม เช่น ที่ผลโพลชี้ว่า คนคิดว่า เกิดการข่มขืนเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊ ขณะที่การศึกษาวิจัยบอกตรงกันว่า ผู้ถูกข่มขืนมีหลายวัย ไม่ได้แต่งตัวโป๊ และคนที่ข่มขืนมักเป็นคนรู้จักใกล้ชิด หรือเรื่องคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกสรุปนานแล้วว่า ไม่ใช่โรค หรือความผิดปกติ
คนทุกวันนี้รับข่าวสารข้อมูลตั้งแต่เช้าจรดเย็น สื่อจึงมีบทบาทสูงในการให้ความรู้ หรือสร้างความเข้าใจผิดก็ได้ ซึ่งตนอยากเห็นสื่อมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมด้วย
นางผุสดี คีตวรนาฎ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมมือกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงตั้งแต่ปี 47 ในนามคณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง ได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนอาวุโส และนักวิชาการด้านสื่อ มาร่วมกันพัฒนาแนวทางการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง ที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศ และสิทธิมนุษยชน ขณะนี้แนวทางร่างแรกเสร็จแล้ว และคณะทำงานจะพิจารณาเป็นขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สื่อมวลชนสาขาต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการทำข่าวประเด็นเพศและผู้หญิงต่อไป
คุณนาตยา เชษฐโชติรส กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง กล่าวย้ำว่า คณะทำงานประชุมกันทุกเดือนตลอดปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปสำคัญว่า ที่จริง สื่อมีข้อบังคับด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอยู่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 15 ที่ระบุว่า “ในการเสนอข่าวหรือภาพใด ๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส และต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด”
แต่ประเด็นเรื่องเพศ และปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ในการเสนอข่าวต้องอาศัยการเติมมุมมองที่กว้าง และรอบด้านมากขึ้น และสื่อต้องให้พื้นที่ข่าวสำหรับเสียง และมุมมองของผู้ตกอยู่ในปัญหามากขึ้น เพื่อให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้ประสบปัญหามากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
จิตติมา ภาณุเตชะ
มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สคส
02 – 591-1224-5 หรือ 01 –988-0110
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น