วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 18, 2549

สร้างสื่อเข้าใจอาชญากรรมทางเพศ




การวิเคราะห์ข่าวเรื่องเพศในหนังสือพิมพ์กับแนวทางใหม่ในการทำข่าว

โดย คณะทำงานพัฒนาแนวทางการเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง*


หนังสือพิมพ์มีความสำคัญในฐานะเป็นสื่อกลางในการรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้กับสมาชิกในสังคม

หนังสือพิมพ์จึงเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพของสังคมได้ในแง่มุมหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาสื่อหนังสือพิมพ์ได้รับเสียงท้วงติงจากสังคมอยู่บ่อยครั้งว่า ในการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศนั้น มักจะละเมิดสิทธิของผู้ที่ตกเป็นข่าวทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

หลายครั้งเป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงวงจรความรุนแรงทางเพศ
ภาพลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ในฐานะกลไกผลิตซ้ำ และสร้างมายาคติในสังคม ได้รับการยืนยันจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ซึ่งสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ร่วมมือกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สอบถามความคิดเห็น โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,023 คน

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 75.56 เห็นว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิด และพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเป็นอย่างมาก และร้อยละ 70.09 คิดว่าการพาดหัวข่าวประเด็นผู้หญิง ปัญหาทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวของหนังสือพิมพ์ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเป็นการชี้นำ อาจมีผู้ทำตามได้ และมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้กระทำ

ความเข้าใจของผู้อ่านต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ
เมื่อสอบถามผู้อ่านว่า จากการอ่านพาดหัวข่าว ข่าวข่มขืน ข่าวความรุนแรงทางเพศ ข่าวความรุนแรงในครอบครัว ข่าวคนรักเพศเดียวกัน ข่าวเพศกับวัยรุ่น ข่าวการทำแท้ง/ทิ้งเด็ก คิดว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร กลุ่มตัวอย่างได้ให้สาเหตุ 3 อันดับแรกของปัญหาดังกล่าว ดังนี้

ปัญหาข่มขืน
ผู้อ่านคิดว่าปัญหาข่มขืนเกิดจาก
1) การแต่งตัวของผู้หญิง
2) สื่อลามกอนาจาร และ
3) ถนนเปลี่ยว/เดินคนเดียว

จากการวิเคราะห์พาดหัวข่าวข่มขืน พบว่าการใช้ภาษาของสื่อสอดคล้องกับความเชื่อของกลุ่มตัวอย่างและคนทั่วไปในสังคม แต่ขัดแย้งกับสภาพปัญหาที่แท้จริง โดยหนังสือพิมพ์มักใช้ภาษาที่เน้นการอธิบายคุณลักษณะ เช่น รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย สถานภาพ ทำให้สังคมเข้าใจว่า การล่วงละเมิดทางเพศจะเกิดกับผู้ที่มีสรีระดึงดูดความสนใจเท่านั้น เช่น “... พบ น.ส. นาในชุดสายเดี่ยวสีดำ สวมกางเกงขาสั้นรัดรูป ใบหน้าปูดบวม นั่งเหม่อลอยในสภาพอิดโรย ส่วนกลุ่มวัยรุ่นแยกย้ายกันหลบหนีไปแล้ว”

ภาษาลักษณะนี้มีนัยยะชี้นำว่าผู้หญิงเป็นสาเหตุของปัญหา เพราะแต่งตัวโป๊ มีเพศสรีระที่ดึงดูดความสนใจ มีพฤติกรรมยั่วยวน ในขณะที่ข้อเท็จจริงของสภาพปัญหา พบว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมีทุกวัย ตั้งแต่อายุไม่กี่เดือนจนถึงผู้สูงอายุ การแต่งกายจึงไม่ใช่สาเหตุของการข่มขืน

ส่วนการใช้คำ เช่น หื่น โหด บ้ากาม และซาดิสม์ "จับไอ้ซาดิสต์ฆ่าโหดแม่เฒ่า" เป็นการชี้นำว่า ปัญหาข่มขืนเป็นเรื่องของความต้องการทางเพศที่ไม่อาจควบคุมได้ เพราะได้รับสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น ดูสื่อโป๊ ดื่มสุรา ทั้ง ๆ ที่ แท้จริงแล้วปัญหาข่มขืนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นการใช้อำนาจในเรื่องเพศของผู้ที่เหนือกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า และผู้กระทำส่วนใหญ่มีการวางแผนล่วงหน้าก่อนลงมือ การข่มขืนจึงไม่ใช่เรื่องการควบคุมอารมณ์เพศไม่ได้

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
ผู้อ่านคิดว่าสาเหตุ 3 อันดับแรกของปัญหา คือ
1) ปัญหาครอบครัว
2) ความมึนเมา/ไม่มีสติ และ
3) ความหึงหวง

เมื่อพิจารณาภาษาและน้ำเสียงที่สื่อนำเสนอ เช่นคำว่า ซ้อมเมีย ลิ้นกับฟัน เตะสั่งสอน พบว่าเป็นการชี้นำว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลายมาเป็นข่าวก็เพราะ "หนักมือไปหน่อย" เมื่อเกิดการตายขึ้นจึงรู้สึกว่ากระทำรุนแรงเกินไป ด้วยมุมมองเช่นนี้เอง ถือเป็นการตอกย้ำและส่งทอดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมสู่สังคม

นอกจากนี้ การพาดหัวข่าว เช่น หนุ่ม 'รปภ.' แค้นเมียระรื่นชู้คว้าปืนยิงทะลุอก มือขวานฆ่าเมียมอบตัว-แค้นมีชู้หน.คนงาน รูปแบบการเล่าเรื่องมักให้น้ำหนักไปที่สาเหตุที่ผู้กระทำใช้ความรุนแรง โดยมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของฝ่ายหญิง เช่น ประเด็นความสัมพันธ์นอกสมรส การพยายามเลิกรา หรือที่สื่อใช้คำว่า “ตีตัวออกห่าง” อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าเมียเป็นสมบัติของผัว สั่งสอนกันบ้างก็ไม่เป็นไรหากทำให้ผู้ชายเสียศักดิ์ศรี ซึ่งเท่ากับว่า สื่อช่วยหล่อเลี้ยงค่านิยม ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวให้ดำรงอยู่ต่อไป และเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การดำเนินงานเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ปัญหาเรื่องเพศกับวัยรุ่น
ผู้อ่านเห็นว่าสาเหตุ 3 อันดับแรก คือ
1) อยากรู้อยากลอง
2) ความคึกคะนอง และ
3) สื่อลามกอนาจาร

สำหรับข่าวเรื่องเพศกับวัยรุ่น สื่อมักใช้ภาษาที่มีลักษณะสร้างแนวโน้มหรือทิศทางที่ตายตัว โดยการสร้างชุดความคิดหรือชุดคำศัพท์สำเร็จรูป เช่น ติดเซ็กส์ ติดซิ่ง น้ำหนักของการนำเสนอข่าวจะกล่าวโทษพฤติกรรมของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่น ใช้พฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นหญิงเป็นตัวชี้วัดความเสื่อมของสังคมไทย หรือมีการใช้คำว่า “เซ็กส์เอื้ออาทร” เรียกการกระทำรุนแรงทางเพศของวัยรุ่นชายที่เป็นการรุมโทรม ซึ่งเป็นการลดระดับความรุนแรงของพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นชาย

การนำเสนอข่าวยังละเลยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิทางเพศของเด็กวัยรุ่น ที่รัฐต้องสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพทางเพศที่ดี ซึ่งเกี่ยวพันถึงกลไกของรัฐ ที่ต้องจัดบริการให้ เช่น แหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารเพื่อให้วัยรุ่นมีสุขภาพทางเพศที่ดี สถานที่ให้คำปรึกษากับวัยรุ่นในเรื่องชีวิตทางเพศ

ปัญหาท้องไม่พร้อมและการทำแท้ง
ผู้อ่านคิดว่าปัญหาท้องไม่พร้อมเกิดจาก
1) ขาดคุณธรรมจริยธรรม
2) ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และ
3) สถานการณ์บีบบังคับ

ในการนำเสนอข่าวท้องไม่พร้อม การทำแท้ง/ทิ้งเด็ก สื่อจะใช้ภาษาที่ “ตัดสินและพิพากษา” ผู้กระทำ และชี้นำว่าผู้หญิงขาดจริยธรรม เช่น แม่ใจยักษ์ทิ้งลูก แม่โหดทิ้งลูกตากแดด – มดรุมกัด แม่ใจร้ายทิ้งทารก นอกจากนี้ ยังใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นถึง “ความไม่ต้องการ” ของผู้กระทำ ซึ่งเป็นการอธิบายปัญหาด้วยเหตุผลเพียงด้านเดียว คำศัพท์ที่ใช้ เช่น ทิ้งมารหัวขน หักคอฆ่าอำมหิตมารหัวขนยัดถุงหิ้วฝังดิน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมทุกคนอยากไปทำแท้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม การทำแท้งไม่ใช่ทางออกที่ผู้หญิงทุกคนนึกถึงเสมอไป ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมต้องการคนที่เข้าใจ รับฟังปัญหา ต้องการข้อมูลที่รอบด้าน ก่อนตัดสินใจเลือกทางออกที่เหมาะสมสำหรับตน และสถานการณ์ขณะนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การนำเสนอข่าวประเด็นท้องไม่พร้อมยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมคือคนไม่รับผิดชอบ ไม่คุมกำเนิด แต่ ข้อเท็จจริง จากงานวิจัย พบว่าร้อยละ 24 ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมีการคุมกำเนิดแล้ว แต่ก็ยังท้อง

นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวการแท้งยังมุ่งไปที่เด็กวัยรุ่น เป็นการ สร้างความเชื่อผิด ๆ ว่าการทำแท้งเป็นเรื่องของเด็กใจแตก ใจง่าย แต่ข้อเท็จจริงจากการศึกษา กลับพบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 56 ของผู้หญิงที่ทำแท้งมีอายุระหว่าง 20-29 ปี ซึ่งถือว่าอยู่ในวัยทำงาน

กล่าวได้ว่า การนำเสนอข่าวของสื่อ ยังไม่ได้ช่วยให้ประชาชนรับทราบสภาพปัญหา หรือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา หากแต่เป็นเพียงการกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน เช่น ความเข้าใจผิด ความหวาดกลัว และความเกลียดชังในกลุ่มคนบางกลุ่ม

การนำเสนอเนื้อหา และภาพข่าวของสื่อมวลชนดังกล่าวข้างต้น ยืนยันถึงบทบาทของสื่อในการสร้าง และตอกย้ำมายาคติในเรื่องเพศได้เป็นอย่างดี

สื่อจึงเป็นกลไกที่สำคัญในการรื้อสร้าง (deconstruct) มายาคติ และระบบคิดเรื่องเพศในสังคมไทย ซึ่งจำเป็นที่สื่อจะต้องรู้เท่าทันระบบคิดเหล่านี้ ที่เป็นตัวกำหนด “รูปคำ” “การเลือกคำ” “การตีความปรากฏการณ์” และ “อคติ” ต่าง ๆ

ฉะนั้น หากสามารถมีแนวทางการนำเสนอข่าวให้แก่สื่อมวลชน ก็จะช่วยให้สื่อรู้เท่าทันกระบวนการสร้างความเชื่อผิด ๆ และระบบคิดเรื่องเพศที่ดำเนินไปในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างความเชื่อ” ผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และสื่อก็จะสามารถกำหนด “รูปคำ”, “แง่มุมการนำเสนอ”, “การตีความปรากฏการณ์” รวมถึงการลด “อคติ” ต่าง ๆ ในการเสนอข่าวได้


ข้อเสนอแนะในการเสนอข่าวเรื่องเพศและปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง

  • สื่อมวลชนต้องยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองปกป้องผู้เสียหายที่ตกเป็นข่าว เพราะรายงานข่าวความรุนแรงทางเพศ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และสามารถส่งผลกระทบทางลบในระยะยาว แก่ผู้ตกเป็นข่าว จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการนำเสนอเหตุการณ์

  • ในการรายงานข่าว สื่อควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ต่อปัญหาทางเพศ เช่น ไม่รายงานปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเน้นการบรรยายทรวดทรง รูปร่าง และการแต่งตัว ไม่ใช้ภาษาที่ตัดสินคุณค่า หรือประณามผู้ที่ตกเป็นข่าว

  • ขยายมุมมองในการรายงานปัญหาความรุนแรงทางเพศ ให้กว้าง และรอบด้านมากขึ้น เช่น มีทั้งมุมมองด้านค่านิยมดั้งเดิม มุมมองของสังคมยุคใหม่ มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน มุมมองทางศาสนา มุมมองของคนต่างเพศต่างวัย มุมมองด้านสุขภาพ กลไกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น

  • ควรเพิ่มพื้นที่ข่าวสำหรับเสียง และมุมมองของผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหา เพื่อให้สังคมได้รับรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจสภาพปัญหาอย่างรอบด้านมากขึ้น