วันพุธ, กุมภาพันธ์ 22, 2549

สุขภาวะทางจิตวิญญาณกับการแพทย์




ใครสนใจเรื่องการเจ็บ การตายอย่างมีความสุข มีความหมาย ลองไปงานนี้ดูนะค่ะ




เวทีสาธารณะเรื่อง “สุขภาวะทางจิตวิญญาณกับการแพทย์”
วันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.
ห้องประชุม ๓๐๔ ตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


๐๘.๓๐ – ๐๙.๐๐ น. กล่าวเปิดงาน และชี้แจงที่มาของการจัดงาน
โดย นพ.ปรีดา ทัศนประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการเวชจริยศาสตร์โดย นายสรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ


๐๙.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. สนทนาเรื่อง แนวคิดจิตวิญญาณกับวิทยาศาสตร์การแพทย์: จุดร่วม/จุดต่าง
โดย สุวรรณา สถาอานันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิชิต เปานิล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดำเนินรายการโดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
๑๐.๐๐ – ๑๐.๑๕ น. พักรับประทานอาหารว่าง
๑๐.๑๕ – ๑๒.๐๐ อภิปรายเรื่อง แนวทางการส่งเสริมมิติทางจิตวิญญาณและการแพทย์แบบองค์รวม
- มิติจิตวิญญาณกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
โดย นพ.โรจน์รุ่ง สุวรรณสุทธิ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- มิติจิตวิญญาณกับการอภิบาลผู้ป่วย
โดย ทัศนีย์ ทองประทีป วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
- มิติจิตวิญญาณกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
โดย นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย
นพ.ชนวัธน์ เทศะวิบุล โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งกรุงเทพฯ
๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐– ๑๓.๔๕ น. ศาสนากับการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ : เรียนรู้จากองค์กรพุทธฉือจี้
โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ
๑๓.๔๕ – ๑๖.๐๐ น. เสวนากลุ่มย่อย การขับเคลื่อนสุขภาวะจิตวิญญาณ แบ่งเป็น ๔ กลุ่มย่อย
(๑) การแพทย์ทางเลือกกับมิติจิตวิญญาณ
วิทยากรนำ : นายยงศักดิ์ ตันติปิฏก สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
(๒) การผสมผสานมิติจิตวิญญาณในระบบโรงพยาบาล
วิทยากรนำ : อาภรณ์ เชื้อประไพศิลป์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(๓) การฟื้นฟูทางจิตวิญญาณกับผู้ติดยา
วิทยากรนำ : นพ.พิชัย แสงชาญชัย โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
(๔) การพัฒนาหลักสูตรแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
วิทยากรนำ : นพ.สกนธ์ สิงหะ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- นำเสนอกลุ่มใหญ่
ดำเนินรายการโดย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้
(พักรับประทานอาหารว่าง ระหว่างกลุ่มย่อย)
๑๖.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. สะท้อนความเห็นจากการประชุม : มุมมองจากสหวิทยาการ
โดย สุวรรณา สถาอานันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุมพล พูลภัทรชีวิน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
๑๖.๓๐ น. ปิดการประชุม

วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 19, 2549

สื่อ: สุนัขนั่งตัก หรือสุนัขเฝ้าบ้าน?



บทความดีๆใน Post Today




โอกาสที่สื่อจะกู้เกียรติภูมิกลับมา
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล

ยังเหลือเวลาอีกหนึ่งสัปดาห์ที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ และวิทยุ จะพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่า สื่อยืนอยู่ข้างประชาชน หรือ
ยืนอยู่ฟากเดียวกับกลุ่มทุนการเมือง ที่ใช้ทั้งอำนาจอุปถัมภ์ และอำนาจกรรมสิทธิ์ในการครอบครองสื่อ

ก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ยังมีอุดมการณ์เพื่อสาธารณะอยู่นั้น จึงน่าจะรีบใช้โอกาสนี้ กู้ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นแห่งการเป็นฐานันดรที่สี่กลับคืนมา หลังจากที่ความไม่เป็นกลางของสื่อจำนวนหนึ่ง
ได้ส่งผลให้สื่อทั้งมวลถูกระบายสีอย่างเปรอะเปื้อนไปทั่วกันหมด และถูกขนานนามจากกลุ่มวิพากษ์สังคมว่า สื่อมวลชนเป็นได้แค่ “สุนัขนั่งตัก” มิใช่สุนัขเฝ้าบ้าน

ห้าปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทักษิณ น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับการทำให้โครงสร้างของระบบสื่อสารมวลชนไทยถูกสั่นคลอน และตกอยู่ในสภาพของ “วัฒนธรรมแห่งความเปราะบางและหวาดกลัว”จนผู้ที่เกี่ยวข้องกับสื่อในทุกระดับ เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่นำเสนอข่าวของฝ่ายคัดค้านรัฐบาล หรือบิดประเด็นข่าวบางแง่มุม
เพื่อไม่ให้เกิดภาพลบกับรัฐบาล

สถานการณ์ที่จัดได้ว่าเป็นการสั่นคลอนระบบสื่อ และสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น เริ่มมาตั้งแต่ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศในต้นปี 2544

ซึ่งในช่วงต้นนั้น ยังเป็นลักษณะของการสั่งระงับรายการบางตอน หรือทำให้เสียงสัมภาษณ์สดบุคคลทางการเมืองบางคนขาดหายไป โดยอ้างเหตุขัดข้องทางเทคนิค หรือให้ยกเลิกรายการบางรายการ โดยอ้างเหตุผลว่าผู้ดำเนินรายการไม่มีใบอนุญาตผู้ประกาศข่าว

สถานการณ์การคุกคามสื่อในช่วงสองปีแรกของรัฐบาล ดูไม่อึกทึกครึกโครมหรือมีผลให้
ประชาชนทั่วไปรู้สึกเดือดร้อนมากนัก จะมีก็แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปสื่อเท่านั้น ที่เริ่มส่งสัญญาณบอกสังคมว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

แต่พอกลางปี 2546 เป็นต้นมา สถานการณ์ต่างๆ เริ่มชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ เพราะการที่รัฐบาลใช้ความได้เปรียบทางการเมืองและการบริหาร เข้าไปจัดวางโครงสร้างสื่อที่เป็นของรัฐ ให้เอื้อต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองของกลุ่มตน ได้ส่งผลให้เกิดการกวาดต้อนสื่อ เข้ามาเป็นพวกพ้องอย่างยกใหญ่ และในขณะเดียวกัน ก็เกิดยุทธการของการผลักดันสื่อที่ไม่ยอมเป็นพวกออกไปจากอาณาจักร

การแทรกแซงในระดับโครงสร้างขององค์กรสื่อนี้ มีตั้งแต่การใช้กลยุทธ์ของการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบของโฆษณา การใช้หน่วยงานราชการ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์สถานี มาสั่งการยกเลิกสัญญากับรายการข่าวบางบริษัท โดยอ้างเพียงเหตุผลของการปรับผังรายการ การชิงต่อสัญญาสัมปทานระยะยาวให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อสมท. การแก้ไขสัญญาของไอทีวี จนทำให้ทีวีเสรีเพื่อปวงชนพลิกโฉมกลายเป็นทีวีเชิงพาณิชย์ และได้รับการปรับลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ
ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียผลประโยชน์อันควรจะเป็นของสาธารณะไปอย่างมหาศาล

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมอีกหลายสิบกรณีของการปลดนักข่าว การเปลี่ยนตัวผู้บริหารสถานีหรือบรรณาธิการข่าว การส่งคนเข้ามาแทรกซึมความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ
การเข้าไปจัดการกับเนื้อหาและสัดส่วนรายการของสื่อต่างๆ และล่าสุดคือ กรณีการปลดบุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้จัดรายการ “ข่าววันใหม่” ทางช่อง3 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งล่วงหน้า และให้เหตุผลเพียงแค่ต้องการปรับปรุงรูปแบบรายการใหม่ ทั้งๆ ที่เข้าใจกันได้ไม่ยากว่า น่าจะมีเหตุผลอยู่เบื้องหลังการออกใบสั่งครั้งนี้

ยังมีการแทรกแซงในรูปแบบของการเพิกเฉยละเลยกลไกของรัฐธรรมนูญ เช่น การปล่อยให้เกิดความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของกระบวนการสรรหา กสช. การแปรสัญญาโทรคมนาคมที่ทำให้เกิดความได้เปรียบและผูกขาดของกลุ่มทุนในซีกรัฐบาล การกว้านซื้อหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนของกลุ่มธุรกิจการเมืองเครือญาติและเพื่อนฝูง

การรุกรานวิทยุชุมชนด้วยการหนุนให้วิทยุชุมชนมีโฆษณา จนทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองของวิทยุชุมชนแบบสองขั้ว และความพยายามที่จะแปรรูปกิจการสื่อสาธารณะอย่างช่อง 11 ให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น
อีกทั้งมีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายฟ้องหมิ่นประมาทสื่อ และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น กรณีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทสุภิญญา กลางณรงค์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ถึง 400 ล้านบาท การพิพากษาคดีอาญาแก่เสถียร จันทร ตัวแทนวิทยุชุมชน อ่างทอง ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นที่เข้าใจกันดีว่า เป็นการฟ้องร้องเพื่อปรามรายอื่นๆ แม้ทางฝ่ายทนายของบริษัทชินคอร์ปฯ จะยื่นข้อเสนอเมื่อกลางสัปดาห์นี้ เพื่อขอถอนฟ้องคดีของสุภิญญา แต่ก็เป็นที่น่าเคลือบแคลงใจว่าทำไมมาขอยอมความในช่วง
ที่นายกฯ กำลังอยู่ในภาวะขาลงเช่นนี้

กรณีการแทรกแซงสื่อดังที่กล่าวมานี้ ได้ส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางความคิด ควบคุมเนื้อหา และกำหนดวาระข่าวสารที่สังคมควรจะรู้ ดังจะเห็นได้จากการครองพื้นที่สื่อทางวิทยุทุกเช้าวันเสาร์ของนายกฯ ที่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวมาโดยตลอด การจัดฉากเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะ เช่น เรียลลิตี้โชว์ที่อาจสามารถ หรือการปิดกั้นโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสาธารณะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและชีวิตของประชาชน เช่น การผูกขาดข่าวสารกรณีไข้หวัดนกเมื่อต้นปี 2547

ห้าปีแห่งแรงกดดันที่รัฐบาลกระทำกับสื่อ ทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นสถาบันที่ได้รับความน่าเชื่อถือเกือบต่ำสุดจากประชาชน
และทำให้สื่อถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง ความเป็นอิสระอย่างมากมาย จนกล่าวได้ว่าไม่มียุคสมัยใดที่เรื่องของจริยธรรม และความรับผิดชอบของสื่อ จะถูกท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์หนักเท่ากับยุคสมัยนี้

การร้องเรียนของผู้สื่อข่าวทีวีบางช่องว่าถูกปฏิบัติจากกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์อย่างไม่เป็นธรรมนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อสื่อ แม้การใช้ความรุนแรงของคนเหล่านั้นเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ และนักข่าวเหล่านี้เป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาก็ตาม

แต่สื่อต้องใช้โอกาสนี้ใคร่ครวญว่ากระแสความไม่พอใจเหล่านี้สืบเนื่องมาจากสาเหตุใด การติดตามตรวจสอบการรายงานข่าววันที่ 11 กุมภาพันธ์ของสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องโดยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ (Media Monitor)
ยืนยันให้เห็นว่าสื่อขาดความเป็นธรรมทั้งในมิติของการให้พื้นที่

การเสนอภาพและเสียงของแหล่งข่าว คือ ให้น้ำหนักไปที่การถ่ายทอดสดภารกิจของนายกฯ ที่ภาคใต้ และกลุ่มของผู้สนับสนุนนายกฯ มากกว่าการถ่ายทอดเหตุการณ์และสาระจากการชุมนุม

ผลการศึกษาที่ทำอย่างเป็นระบบเช่นนี้ น่าจะกระตุ้นให้สื่อได้พิจารณาตัวเอง และร่วมกันวางแนวทางที่จะเสนอข่าว ของทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายไม่สนับสนุนรัฐบาล อย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง ระมัดระวังการชี้นำ และการใช้ภาษา ที่ตอกย้ำอคติ หรือสร้างความเกลียดชังระหว่างกัน

สื่อต้องหาทางที่จะฝ่าพ้นวิกฤติแห่งศรัทธาที่สั่งสมมากว่าห้าปีออกไปให้ได้ ด้วยการแสดงให้เห็นว่า การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ยังเป็นเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของสื่อ ถ้าไม่เช่นนั้น เกียรติภูมิของสถาบันแห่งนี้ก็คงไม่หลงเหลืออีกต่อไป

วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 18, 2549

สร้างสื่อเข้าใจอาชญากรรมทางเพศ




การวิเคราะห์ข่าวเรื่องเพศในหนังสือพิมพ์กับแนวทางใหม่ในการทำข่าว

โดย คณะทำงานพัฒนาแนวทางการเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง*


หนังสือพิมพ์มีความสำคัญในฐานะเป็นสื่อกลางในการรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้กับสมาชิกในสังคม

หนังสือพิมพ์จึงเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพของสังคมได้ในแง่มุมหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาสื่อหนังสือพิมพ์ได้รับเสียงท้วงติงจากสังคมอยู่บ่อยครั้งว่า ในการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศนั้น มักจะละเมิดสิทธิของผู้ที่ตกเป็นข่าวทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

หลายครั้งเป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงวงจรความรุนแรงทางเพศ
ภาพลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ในฐานะกลไกผลิตซ้ำ และสร้างมายาคติในสังคม ได้รับการยืนยันจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ซึ่งสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ร่วมมือกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สอบถามความคิดเห็น โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,023 คน

ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 75.56 เห็นว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิด และพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเป็นอย่างมาก และร้อยละ 70.09 คิดว่าการพาดหัวข่าวประเด็นผู้หญิง ปัญหาทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวของหนังสือพิมพ์ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเป็นการชี้นำ อาจมีผู้ทำตามได้ และมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้กระทำ

ความเข้าใจของผู้อ่านต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ
เมื่อสอบถามผู้อ่านว่า จากการอ่านพาดหัวข่าว ข่าวข่มขืน ข่าวความรุนแรงทางเพศ ข่าวความรุนแรงในครอบครัว ข่าวคนรักเพศเดียวกัน ข่าวเพศกับวัยรุ่น ข่าวการทำแท้ง/ทิ้งเด็ก คิดว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร กลุ่มตัวอย่างได้ให้สาเหตุ 3 อันดับแรกของปัญหาดังกล่าว ดังนี้

ปัญหาข่มขืน
ผู้อ่านคิดว่าปัญหาข่มขืนเกิดจาก
1) การแต่งตัวของผู้หญิง
2) สื่อลามกอนาจาร และ
3) ถนนเปลี่ยว/เดินคนเดียว

จากการวิเคราะห์พาดหัวข่าวข่มขืน พบว่าการใช้ภาษาของสื่อสอดคล้องกับความเชื่อของกลุ่มตัวอย่างและคนทั่วไปในสังคม แต่ขัดแย้งกับสภาพปัญหาที่แท้จริง โดยหนังสือพิมพ์มักใช้ภาษาที่เน้นการอธิบายคุณลักษณะ เช่น รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย สถานภาพ ทำให้สังคมเข้าใจว่า การล่วงละเมิดทางเพศจะเกิดกับผู้ที่มีสรีระดึงดูดความสนใจเท่านั้น เช่น “... พบ น.ส. นาในชุดสายเดี่ยวสีดำ สวมกางเกงขาสั้นรัดรูป ใบหน้าปูดบวม นั่งเหม่อลอยในสภาพอิดโรย ส่วนกลุ่มวัยรุ่นแยกย้ายกันหลบหนีไปแล้ว”

ภาษาลักษณะนี้มีนัยยะชี้นำว่าผู้หญิงเป็นสาเหตุของปัญหา เพราะแต่งตัวโป๊ มีเพศสรีระที่ดึงดูดความสนใจ มีพฤติกรรมยั่วยวน ในขณะที่ข้อเท็จจริงของสภาพปัญหา พบว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมีทุกวัย ตั้งแต่อายุไม่กี่เดือนจนถึงผู้สูงอายุ การแต่งกายจึงไม่ใช่สาเหตุของการข่มขืน

ส่วนการใช้คำ เช่น หื่น โหด บ้ากาม และซาดิสม์ "จับไอ้ซาดิสต์ฆ่าโหดแม่เฒ่า" เป็นการชี้นำว่า ปัญหาข่มขืนเป็นเรื่องของความต้องการทางเพศที่ไม่อาจควบคุมได้ เพราะได้รับสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น ดูสื่อโป๊ ดื่มสุรา ทั้ง ๆ ที่ แท้จริงแล้วปัญหาข่มขืนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นการใช้อำนาจในเรื่องเพศของผู้ที่เหนือกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า และผู้กระทำส่วนใหญ่มีการวางแผนล่วงหน้าก่อนลงมือ การข่มขืนจึงไม่ใช่เรื่องการควบคุมอารมณ์เพศไม่ได้

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
ผู้อ่านคิดว่าสาเหตุ 3 อันดับแรกของปัญหา คือ
1) ปัญหาครอบครัว
2) ความมึนเมา/ไม่มีสติ และ
3) ความหึงหวง

เมื่อพิจารณาภาษาและน้ำเสียงที่สื่อนำเสนอ เช่นคำว่า ซ้อมเมีย ลิ้นกับฟัน เตะสั่งสอน พบว่าเป็นการชี้นำว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลายมาเป็นข่าวก็เพราะ "หนักมือไปหน่อย" เมื่อเกิดการตายขึ้นจึงรู้สึกว่ากระทำรุนแรงเกินไป ด้วยมุมมองเช่นนี้เอง ถือเป็นการตอกย้ำและส่งทอดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมสู่สังคม

นอกจากนี้ การพาดหัวข่าว เช่น หนุ่ม 'รปภ.' แค้นเมียระรื่นชู้คว้าปืนยิงทะลุอก มือขวานฆ่าเมียมอบตัว-แค้นมีชู้หน.คนงาน รูปแบบการเล่าเรื่องมักให้น้ำหนักไปที่สาเหตุที่ผู้กระทำใช้ความรุนแรง โดยมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของฝ่ายหญิง เช่น ประเด็นความสัมพันธ์นอกสมรส การพยายามเลิกรา หรือที่สื่อใช้คำว่า “ตีตัวออกห่าง” อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าเมียเป็นสมบัติของผัว สั่งสอนกันบ้างก็ไม่เป็นไรหากทำให้ผู้ชายเสียศักดิ์ศรี ซึ่งเท่ากับว่า สื่อช่วยหล่อเลี้ยงค่านิยม ที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวให้ดำรงอยู่ต่อไป และเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การดำเนินงานเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ปัญหาเรื่องเพศกับวัยรุ่น
ผู้อ่านเห็นว่าสาเหตุ 3 อันดับแรก คือ
1) อยากรู้อยากลอง
2) ความคึกคะนอง และ
3) สื่อลามกอนาจาร

สำหรับข่าวเรื่องเพศกับวัยรุ่น สื่อมักใช้ภาษาที่มีลักษณะสร้างแนวโน้มหรือทิศทางที่ตายตัว โดยการสร้างชุดความคิดหรือชุดคำศัพท์สำเร็จรูป เช่น ติดเซ็กส์ ติดซิ่ง น้ำหนักของการนำเสนอข่าวจะกล่าวโทษพฤติกรรมของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่น ใช้พฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นหญิงเป็นตัวชี้วัดความเสื่อมของสังคมไทย หรือมีการใช้คำว่า “เซ็กส์เอื้ออาทร” เรียกการกระทำรุนแรงทางเพศของวัยรุ่นชายที่เป็นการรุมโทรม ซึ่งเป็นการลดระดับความรุนแรงของพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นชาย

การนำเสนอข่าวยังละเลยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิทางเพศของเด็กวัยรุ่น ที่รัฐต้องสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพทางเพศที่ดี ซึ่งเกี่ยวพันถึงกลไกของรัฐ ที่ต้องจัดบริการให้ เช่น แหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารเพื่อให้วัยรุ่นมีสุขภาพทางเพศที่ดี สถานที่ให้คำปรึกษากับวัยรุ่นในเรื่องชีวิตทางเพศ

ปัญหาท้องไม่พร้อมและการทำแท้ง
ผู้อ่านคิดว่าปัญหาท้องไม่พร้อมเกิดจาก
1) ขาดคุณธรรมจริยธรรม
2) ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และ
3) สถานการณ์บีบบังคับ

ในการนำเสนอข่าวท้องไม่พร้อม การทำแท้ง/ทิ้งเด็ก สื่อจะใช้ภาษาที่ “ตัดสินและพิพากษา” ผู้กระทำ และชี้นำว่าผู้หญิงขาดจริยธรรม เช่น แม่ใจยักษ์ทิ้งลูก แม่โหดทิ้งลูกตากแดด – มดรุมกัด แม่ใจร้ายทิ้งทารก นอกจากนี้ ยังใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นถึง “ความไม่ต้องการ” ของผู้กระทำ ซึ่งเป็นการอธิบายปัญหาด้วยเหตุผลเพียงด้านเดียว คำศัพท์ที่ใช้ เช่น ทิ้งมารหัวขน หักคอฆ่าอำมหิตมารหัวขนยัดถุงหิ้วฝังดิน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมทุกคนอยากไปทำแท้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม การทำแท้งไม่ใช่ทางออกที่ผู้หญิงทุกคนนึกถึงเสมอไป ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมต้องการคนที่เข้าใจ รับฟังปัญหา ต้องการข้อมูลที่รอบด้าน ก่อนตัดสินใจเลือกทางออกที่เหมาะสมสำหรับตน และสถานการณ์ขณะนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การนำเสนอข่าวประเด็นท้องไม่พร้อมยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมคือคนไม่รับผิดชอบ ไม่คุมกำเนิด แต่ ข้อเท็จจริง จากงานวิจัย พบว่าร้อยละ 24 ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมีการคุมกำเนิดแล้ว แต่ก็ยังท้อง

นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวการแท้งยังมุ่งไปที่เด็กวัยรุ่น เป็นการ สร้างความเชื่อผิด ๆ ว่าการทำแท้งเป็นเรื่องของเด็กใจแตก ใจง่าย แต่ข้อเท็จจริงจากการศึกษา กลับพบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 56 ของผู้หญิงที่ทำแท้งมีอายุระหว่าง 20-29 ปี ซึ่งถือว่าอยู่ในวัยทำงาน

กล่าวได้ว่า การนำเสนอข่าวของสื่อ ยังไม่ได้ช่วยให้ประชาชนรับทราบสภาพปัญหา หรือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา หากแต่เป็นเพียงการกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน เช่น ความเข้าใจผิด ความหวาดกลัว และความเกลียดชังในกลุ่มคนบางกลุ่ม

การนำเสนอเนื้อหา และภาพข่าวของสื่อมวลชนดังกล่าวข้างต้น ยืนยันถึงบทบาทของสื่อในการสร้าง และตอกย้ำมายาคติในเรื่องเพศได้เป็นอย่างดี

สื่อจึงเป็นกลไกที่สำคัญในการรื้อสร้าง (deconstruct) มายาคติ และระบบคิดเรื่องเพศในสังคมไทย ซึ่งจำเป็นที่สื่อจะต้องรู้เท่าทันระบบคิดเหล่านี้ ที่เป็นตัวกำหนด “รูปคำ” “การเลือกคำ” “การตีความปรากฏการณ์” และ “อคติ” ต่าง ๆ

ฉะนั้น หากสามารถมีแนวทางการนำเสนอข่าวให้แก่สื่อมวลชน ก็จะช่วยให้สื่อรู้เท่าทันกระบวนการสร้างความเชื่อผิด ๆ และระบบคิดเรื่องเพศที่ดำเนินไปในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างความเชื่อ” ผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และสื่อก็จะสามารถกำหนด “รูปคำ”, “แง่มุมการนำเสนอ”, “การตีความปรากฏการณ์” รวมถึงการลด “อคติ” ต่าง ๆ ในการเสนอข่าวได้


ข้อเสนอแนะในการเสนอข่าวเรื่องเพศและปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง

  • สื่อมวลชนต้องยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองปกป้องผู้เสียหายที่ตกเป็นข่าว เพราะรายงานข่าวความรุนแรงทางเพศ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และสามารถส่งผลกระทบทางลบในระยะยาว แก่ผู้ตกเป็นข่าว จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการนำเสนอเหตุการณ์

  • ในการรายงานข่าว สื่อควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ต่อปัญหาทางเพศ เช่น ไม่รายงานปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเน้นการบรรยายทรวดทรง รูปร่าง และการแต่งตัว ไม่ใช้ภาษาที่ตัดสินคุณค่า หรือประณามผู้ที่ตกเป็นข่าว

  • ขยายมุมมองในการรายงานปัญหาความรุนแรงทางเพศ ให้กว้าง และรอบด้านมากขึ้น เช่น มีทั้งมุมมองด้านค่านิยมดั้งเดิม มุมมองของสังคมยุคใหม่ มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน มุมมองทางศาสนา มุมมองของคนต่างเพศต่างวัย มุมมองด้านสุขภาพ กลไกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น

  • ควรเพิ่มพื้นที่ข่าวสำหรับเสียง และมุมมองของผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหา เพื่อให้สังคมได้รับรู้ และนำไปสู่ความเข้าใจสภาพปัญหาอย่างรอบด้านมากขึ้น

สื่อกับการสร้างความเข้าใจทางเพศ ๑




สวนดุสิตโพลชี้ ข่าวความรุนแรงทางเพศ หวือหวามีสีสัน แต่ไม่สร้างความเข้าใจปัญหาแท้จริง

สมาคมนักข่าวฯ – วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 สวนดุสิตโพล สำรวจการรับรู้ปัญหาความรุนแรงทางเพศของผู้อ่านข่าวหน้าหนึ่ง พบส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาผิดทาง ส่งผลต่อการแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาผิดจุด สมาคมนักข่าวชี้ จำเป็นต้องมีแนวทางทำข่าวเรื่องเพศ ดึงความร่วมมือนักวิชาการเอ็นจีโอผู้หญิงช่วยระดมสมองหาแนวทางสร้างสรรค์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และ สวนดุสิตโพล ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่าน ที่มีต่อการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง

ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดี ม.ราชภัฎสวนดุสิต รายงานผลว่า จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,023 คน

พบว่า ความรู้สึก 3 อันดับแรกเมื่อประชาชนอ่านข่าวหน้าหนึ่งคือ
รู้สึกว่าสังคมเสื่อมโทรม ร้อยละ 19.16
รู้สึกว่าสังคมไม่ปลอดภัย ร้อยละ 15.62 และ
รู้สึกสลด เศร้า หดหู่ ร้อยละ 14.28

การอ่านข่าวหน้าหนึ่งทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่า การแต่งกายของผู้หญิงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของข่าวข่มขืน สื่อลามกอนาจารเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของข่าวความรุนแรงทางเพศ ความผิดปกติของจิตใจเป็นสาเหตุของการรักเพศเดียวกัน ขณะที่ข่าวการทำแท้ง หรือทิ้งเด็ก มีสาเหตุอันดับหนึ่งมาจากการขาดคุณธรรมจริยธรรม

นอกจากนี้
ประชาชนมีความเห็นต่อการนำเสนอข่าวปัญหาความรุนแรงทางเพศว่า สื่อมวลชนควรเสนอข่าวที่ตรงกับความจริง ร้อยละ 31.49 ไม่ควรใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือสื่อถึงอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 17.62 และต้องการให้เสนอข่าวที่เป็นอุทาหรณ์อีกร้อยละ 7.83

ณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า สังคมทุกวันนี้ตื่นตัวกับปัญหาเรื่องเพศกันมากขึ้น แต่การป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศนั้น จำเป็นต้องเข้าใจรากเหง้าว่าความคิดความเชื่อแบบไหน ที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศยังเกิดขึ้นในสังคม เช่น ที่ผลโพลชี้ว่า คนคิดว่า เกิดการข่มขืนเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊ ขณะที่การศึกษาวิจัยบอกตรงกันว่า ผู้ถูกข่มขืนมีหลายวัย ไม่ได้แต่งตัวโป๊ และคนที่ข่มขืนมักเป็นคนรู้จักใกล้ชิด หรือเรื่องคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกสรุปนานแล้วว่า ไม่ใช่โรค หรือความผิดปกติ

คนทุกวันนี้รับข่าวสารข้อมูลตั้งแต่เช้าจรดเย็น สื่อจึงมีบทบาทสูงในการให้ความรู้ หรือสร้างความเข้าใจผิดก็ได้ ซึ่งตนอยากเห็นสื่อมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมด้วย


นางผุสดี คีตวรนาฎ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมมือกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงตั้งแต่ปี 47 ในนามคณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง ได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนอาวุโส และนักวิชาการด้านสื่อ มาร่วมกันพัฒนาแนวทางการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง ที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศ และสิทธิมนุษยชน ขณะนี้แนวทางร่างแรกเสร็จแล้ว และคณะทำงานจะพิจารณาเป็นขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สื่อมวลชนสาขาต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการทำข่าวประเด็นเพศและผู้หญิงต่อไป

คุณนาตยา เชษฐโชติรส กรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะรองประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง กล่าวย้ำว่า คณะทำงานประชุมกันทุกเดือนตลอดปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปสำคัญว่า ที่จริง สื่อมีข้อบังคับด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอยู่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 15 ที่ระบุว่า “ในการเสนอข่าวหรือภาพใด ๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส และต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด”

แต่ประเด็นเรื่องเพศ และปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ในการเสนอข่าวต้องอาศัยการเติมมุมมองที่กว้าง และรอบด้านมากขึ้น และสื่อต้องให้พื้นที่ข่าวสำหรับเสียง และมุมมองของผู้ตกอยู่ในปัญหามากขึ้น เพื่อให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้ประสบปัญหามากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
จิตติมา ภาณุเตชะ
มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง สคส
02 – 591-1224-5 หรือ 01 –988-0110

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 16, 2549

สื่อดีมีสุข


โครงการ“สื่อสร้างสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาวะทางจิตวิญญาณ”

ปัจจุบันบุคคลากรในวงการสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ(ปัญญา)มากขึ้น จะเห็นได้จากการที่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เนต หนังสือ รายการโทรทัศน์ ละคร หรือ ภาพยนตร์ นำเสนอ เนื้อหา เรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้มีส่วนช่วยสร้างสรรค์ความสุข สงบในสังคมได้อย่างมาก

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงริเริ่มโครงการ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” เพื่อให้บุคลากรสื่อที่สนใจในมิติสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้มีเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ทำกิจกรรมที่เป็นช่องทางส่งเสริมสุขภาวะทางกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ(ปัญญาญาณ) เช่น วิถีโยคะเพื่อสุขภาพใจ-กาย ศิลปะและดนตรีเพื่อการพัฒนาใจ-กาย การทำงานอาสาสมัคร วิปัสสนากัมมัฏฐานและปฏิบัติธรรม เป็นต้น

กิจกรรมต่างๆในโครงการ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” มีดังนี้


ธันวาคม เดือนแห่งชีวิตวิถีโยคะ

โยคะเป็นวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพใจและกาย เพื่อปูทางสู่การเข้าถึงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
(องค์กรสนับสนุนการจัดกิจกรรม สถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน )


มกราคม เดือนของมณฑลแห่งพลัง สุนทรียสนทนาและสักขีพยาน

เราจะไปเยี่ยมเยือนสถาบันขวัญเมืองที่เชียงราย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมมณฑลแห่งพลังและสุนทรียสนทนา ซึ่งนำโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู และ ณัฐฬส วังวิญญู ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้สัมผัสกิจกรรมที่เป็นขุมพลังแห่งชีวิตของแต่ละคน นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่อยู่ในองค์กรการสื่อสารจะได้เรียนรู้แนวทางการสื่อสาร เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง การสนทนาเพื่อสันติและความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
(องค์กรสนับสนุนการจัดกิจกรรม สถาบันขวัญเมือง เชียงราย)


กุมภาพันธ์ ผ่อนพักใจ-กายอย่างลึกซึ้งด้วยดนตรี

ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเล่น หรือการฟัง สามารถช่วยให้เราเข้าถึงบ่อน้ำแห่งความสุข ความสงบ และปัญญาได้ ปรีชา เรืองวิชาธร แห่งเสมสิกขาลัย จะนำเสนอวิธีการที่เราจะใช้ความงามตามธรรมชาติของเสียงดนตรี มาเห่กล่อมจิตใจเราให้สัมผัสความสุข สงบ และการผ่อนพักอย่างลึกซึ้ง
(องค์กรสนับสนุนการจัดกิจกรรม เสมสิกขาลัย)


มีนาคม ศิลปะจากใจ
อดิศร จันทรสุข แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ จะมาเสนอกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นหนทางสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ผ่านการทำงานทางศิลปะ ได้เสพความงามและสุนทรียภาพที่กลั่นออกมาจากใจของตน นอกจากนั้นเราอาจร่วมกันเดินสติบนชายหาด หรือเล่นน้ำกลางแสงจันทร์


เมษายน เดือนแห่งจิตอาสาพาสุข

เราจะเชื้อเชิญเพื่อนสื่อเดินทางร่วมกันไปจังหวัดชัยภูมิเพื่อช่วยกันย่ำดิน ก่อกำแพง สร้างศาลาดินให้เด็กๆที่นั่นได้หลบร้อนระหว่างวัน นอกจากการงานอันเลอะเทอะน่าสนุกนี้ เราอาจจะได้มีโอกาสเที่ยวชมนก โดยการนำทางของเด็กๆชาวชมรมดูนก และยามค่ำคืน ฟ้าเปิด เราอาจได้นอนดูดาวกันด้วย
(องค์กรสนับสนุนการจัดกิจกรรม budpage.com )


โครงการได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มาแบ่งความสุขให้กันเถอะ



Truly Happy Fest
มหกรรมความสุข

วันเสาร์ที่ 4 – วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2549
อุทยานเบญจสิริ (ข้างห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม/สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์) และอาคารศูนย์พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ด้านหลังอุทยานเบญจสิริ)

จัดโดย แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บริหารงานโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)

มีภารกิจการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) ซึ่งเป็นสุขภาวะที่เกิดจากการมีสติและปัญญา การเข้าถึงการดำเนินชีวิตที่ดีงาม สงบเย็น เป็นประโยชน์ มีน้ำใจ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

จุดมุ่งหมายในการจัดงานมหกรรมความสุข เป็นไปเพื่อการสื่อสารเรื่องการพัฒนาจิตและสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ในรูปแบบที่รับได้ง่าย ไม่เป็นทางการและวิชาการ โดยนำเสนอทางเลือก “กิจกรรมที่ทำแล้วนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง” ตลอดจนเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานในรอบปีของภาคีเครือข่ายของ สสส. ที่ทำงานส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ


แนวคิดการจัดงาน
1. Alternative สร้างทางเลือก ภายในงานมีกิจกรรมดีๆ งานอดิเรกที่สร้างสรรค์นำเสนอ
2. Participation สร้างความมีส่วนร่วม ลักษณะการจัดกิจกรรมเน้นให้ผู้เข้าร่วมสามารถมีส่วนร่วม
3. Inspiration สร้างแรงบันดาลใจ ส่งต่อแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างสรรค์


กิจกรรมภายในงาน

1. Hidden Connections
นิทรรศการภาพถ่ายความสุขจากทุกใจโยงใยทั่วโลก
นิทรรศการกึ่งงานศิลปะของภาพถ่ายนับพันภาพ ที่สะท้อนถึงความสุขของผู้คน ในแนวคิดโยงใยที่ซ่อนเร้น (Hidden Connections) ทุกคนบนโลกนี้มีความสัมพันธ์โยงใยทั่วกัน เริ่มโดยกล้องใช้แล้วทิ้ง 100 ตัว จะถูกส่งให้คน 100 คน แต่ละคนได้รับการบอกเล่าให้ถ่ายรูปที่สะท้อนถึงความสุขเพียงคนละรูป กรอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองและภาพที่ถ่ายลงบนกระดาษที่แนบไปกล้อง แล้วส่งต่อให้คนพิเศษ เพื่อให้คนต่อไปถ่ายอีก 1 รูป จนกระทั่งกล้องแต่ละตัวได้ถูกถ่ายจนครบ 27 รูป ด้วยคน 27 คน ที่รู้จักโยงใยเข้าด้วยกัน นอกจากนิทรรศการนี้จะแสดงภาพของความสุขแล้ว ยังจะมีกิจกรรมให้ผู้เข้าชมได้เข้าร่วมด้วยการเขียน/วาด ถึงความสุขของแต่ละคนด้วย


2. แผนที่ความสุข – ค้นหาและสร้างความสุขจากข้างใน
เป็นกิจกรรมหลักของงาน นำเสนอแนวคิดการค้นพบความสุขที่แท้ ทางเลือกหนึ่งคือการเดินทางค้นหาและพัฒนาตัวเองตามแผนที่ความสุข ประกอบด้วยการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณใน 4 รูปแบบ ผ่านทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สูจิบัตรแนะนำงาน (Booklet) จัดพิมพ์ในลักษณะคู่มือเล่มเล็ก และนิทรรศการหรืองานศิลปะ ที่นอกจากจะนำเสนอเนื้อหาเรื่องแผนที่ความสุขแล้ว ยังจะตั้งคำถามกับผู้ชมให้ย้อนตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับความสุขที่แท้จริงด้วย
ก่อนที่จะแยกเข้าโซนทั้ง 4 ผู้เข้าชมงานจะผ่านกิจกรรมสำรวจความสุข (How happy you are?) เพื่อจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สำรวจความสุขของตัวเอง และเลือกว่ากิจกรรมใดหรือองค์ประกอบความสุขใดที่ยังขาดอยู่ เพื่อได้เลือกชมงานได้บางส่วนตามความสนใจและสอดคล้องความต้องการมากที่สุด หรือเลือกชมตลอดทั้งงาน

Zone 1 : Happy Body (ร่างกาย/Physical)
• นิทรรศการกระจกสะท้อนท่าทาง
• อาหารเพื่อสุขภาพ
• สาธิตโยคะไทเก๊ก ชี่กง วูซู รำกระบอง
• Workshop โยคะ

Zone 2 : Happy Mind (จิตใจ/Mental)
• Paint in the park- ประกวดวาดภาพในสวน
• กิจกรรมศิลปะ วาดภาพบนผ้า ฯลฯ
• กิจกรรมงานประดิษฐ์ งานอดิเรก เช่น จัดสวนถาด ทำสมุดทำมือ ทำตุ๊กตาเพื่อมอบให้เด็กด้อยโอกาส
• ดนตรี กิจกรรมดนตรีรีไซเคิล ดนตรีที่คนทั่วไปมาร่วมเล่นได้ ดนตรีอคูสติก

Zone 3 : Happy Soul (จิตวิญญาณ/Spiritual)
• กิจกรรมเปิดตู้หนังสือ
• เสวนาจากกลุ่มจิตวิวัฒน์
• เสวนาการเผชิญความตายอย่างสงบ
• เขียนพินัยกรรมชีวิต
• Workshop- Happy Dead Day แบบฝึกหัดลองตายเพื่อเรียนรู้การมีชีวิตอย่างสมบูรณ์

Zone 4 : Happy Society (สังคม/Social)
• บูทรับสมัครอาสาสมัคร จากองค์กรต่างๆ
• กิจกรรมอาสาสมัครที่สามารถร่วมทำได้ทันที
• เสวนา-คุยกันเรื่องเป็นอาสาสมัคร

3. กิจกรรมบันเทิง การแสดง และกิจกรรมอื่นๆ
กิจกรรมการแสดง ที่จะสร้างสีสันภายในงาน และนำเสนอความบันเทิงไปพร้อมๆ กับแง่คิดการใช้ชีวิตดีๆ ตลอดงาน และเป็นไฮไลท์ในช่วงค่ำจนกระทั่งปิดงาน

ญาณทัศนะ และการบ่มเพาะ







เคยหรือไม่ ที่อยู่ๆ ความคิดดีๆ ก็แว้บผ่านเข้ามาในสมอง เป็นความคิดดีๆ ที่ช่วยตอบคำถาม ปัญหาบางอย่างในใจเรา โดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือเวลาในการขบคิด ใคร่ครวญแต่อย่างใด เช่น นิวตันเองก็ปิ๊งทฤษฏีแรงโน้มถ่วงเมื่อลูกแอปเปิ้ลตกใส่หัว

ญาณทัศนะ (Intuition) คือปัญญาหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากการคิดไตร่ตรอง หรือเป็นลักษณะที่เรียกว่า ปิ๊งแว็บ ญาณทัศนะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์บางคนบางประเภท เช่น คนที่เราเห็นว่าเป็นอัจฉริยะ แต่ญาณทัศนะเป็นสภาวะธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ้าหากสร้างเหตุปัจจัย คือสภาวะจิตที่เอื้อต่อการเกิดญาณทัศนะ

โดยปรกติแล้ว มนุษย์ใช้สมอง หรือ จิตสำนึกในการขบคิด วิเคราะห์ เรื่องราว ข้อมูล และ ปัญหาต่างๆ ปัญญาที่เกิดในขั้นนี้เราอาจเรียกได้ว่า ไอคิว แต่หลายครั้ง การขบคิดในลักษณะนี้ก็ไปถึงทางตัน คือเราคิดไม่ออก รู้สึกเครียด อึดอัดคับข้องใจ ยิ่งพยายามคิดเท่าไร ก็คิดไม่ออก ถ้าหากเราไม่ฝืนที่จะคิดให้ได้จนเกินไปนัก แล้วลองหย่อนใจให้คลายจากความตึงเครียดลงบ้าง ไม่ต้องวนเวียนคิดคำนึงเพื่อหาคำตอบให้ได้ เราอาจจะประหลาดใจว่า บางครั้งคำตอบก็สามารถผุดขึ้นมาในใจเราได้เองโดยที่เราไม่ได้คิด ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ปัญหาที่เราขบคิดอยู่นั้นมันยังฝังอยู่ในใจ ได้รับการบ่มเพาะในจิตใต้สำนึกที่ยังคงทำงานต่อไปกับคำถามและปัญหานั้นๆ จนเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เราจะพบอาการที่เรียกว่า ปิ๊งแว๊บ คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากการขบคิด ปัญญาที่แว๊บเข้ามาจะเกิดอย่างรวดเร็ว เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ในตัวเอง และเราจะรู้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อไร

หลังจากเกิดเสี้ยววินาทีแห่งปัญญาแล้ว เราต้องแปลงความรู้นั้นออกมาอีกทีเป็นภาษา กิจกรรม หรือรูปธรรมอื่นๆภายหลัง

ภาวะที่จะส่งเสริมให้เกิดญาณทัศนะ คือในเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย หรือ อาจจะเทียบเป็นภาวะแห่งสติสมาธิก็ได้ ในทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ใจอยู่ในคลื่นอัลฟา คือ คลื่นสมองค่อนข้างราบเรียบ

เราสามารถสร้างปัจจัยที่จะบ่มเพาะญาณทัศนะได้ โดยการวางใจให้ผ่อนคลาย สบาย และสงบ แล้วปัญญาที่ปราศจากการคิดลักษณะนี้ ก็จะเกิดบ่อยขึ้น อีกอย่างเราต้องบ่มเพาะความไว้ใจในญาณทัศนะด้วย

แบ่งปันความดี




บุญกุศลที่ทำได้ง่ายๆอย่างหนึ่ง ที่วันนี้อุ๊ขอนำมาแบ่งปัน คือ การยินดี ชื่นชมกับการกระทำดีของผู้อื่น ที่ว่าเป็นกุศลเพราะ มันเป็นการรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในใจของเรา โดยมากเราอยากเป็นคนดี คนเก่ง ไม่ค่อยอยากเห็นใครดีกว่า ดังนั้นการชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจ จึงถือเป็นกุศลที่ช่วยลดละอัตตาตัวตนได้ อีกอย่าง การที่เราชื่นชมการทำดีของคนอื่น จะเเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมให้เราทำความดีนั้นตามเขาได้ และช่วยให้คนที่ทำดีนั้นมีกำลังใจในการทำความดีต่อไป เป็นการกระจายความดีงามให้ฟุ้งไปในสังคมจ๊ะ (เห็นด้วยไหม)

วันนี้อุ๊ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวคนหนึ่ง น้ำเสียงร้อนรน “อุ๊ รู้จักที่ไหนที่เขาช่วยเหลือ ผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายไหม?” อุ๊นิ่งไปสักพักด้วยความงุนงง ว่าพี่ชายช่างอำคนนี้จะมาไม้ไหน บรรณาธิการข่าวสายท่องเที่ยว และธรรมชาติจะเขียนเรื่องการทำร้ายผู้หญิง? หรือเขาจะเขียนบทวิเคราะห์ประเด็นปัญหาผู้หญิงในสังคม
แล้วเขาก็เริ่มเล่าถึงความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้หญิงและเด็กชายคนหนึ่งให้ฟัง

เป็นเวลาแรมปี พี่เปี๊ยกต้องเดินทางข้ามสะพานลอยแถว อนุสาวรีย์ชัยสมรภมิ เพื่อนั่งรถตู้กลับบ้านเมืองทองธานี จนเขาเริ่มสนิทสนมกับเด็กชายวัย ๖ ขวบคนหนึ่งใส่ชุดนักเรียน นั่งขายพวงมาลัยที่สะพานลอย เด็กนน้อยคนนี้น่ารัก ช่างเจรจา ค้าขายเก่ง เพราะเอารอยยิ้มใสๆเข้าแลก กับเม็ดเงินจากกระเป๋าผู้ใหญ่ไร้รอยยิ้มที่เดินไปเดินมาบนสะพานนั้น
แม้เด็กคนนี้จะไปโรงเรียนวันเว้น สองวัน เพราะต้องมาช่วยแม่ขายพวงมาลัย แต่เขาสามารถคิดเลขได้รวดเร็ว ชีวิตบนสะพานลอยสอนวิชาคณิตคิดไวให้เขาทุกวัน
พี่เปี๊ยกมักแวะพูดคุยกับเด็กน้อยคนนี้ และแม่ของเขาที่นั่งขายพวงมาลัยอยู่ด้วยกัน แต่ห่างไปสัก ๕ ถึง ๖ เมตร

มิตรภาพบนสะพานลอยของพี่เปี๊ยก (หนุ่มหล่อแนวเพื่อชีวิต) กับสองแม่ลูก ดำเนินเรื่อยเป็นแรมปี บางครั้งพี่เปี๊ยกเห็นน้องน้อยคนนี้ขายพวงมาลัยในเวลาโรงเรียนเปิด จึงถามว่าไม่ไปโรงเรียนหรือ “มีปัญหาทางบ้านจ๊ะ” แม่ของเด็กตอบ เป็นอันว่าเทอมนั้นทั้งเทอม เด็กชายนั่งเรียนเลขและจิตวิทยาการขายบนสะพานลอยนั้น

เทอมต่อไปพี่เปี๊ยกเสนอทุนการศึกษาให้ ๒,๐๐๐ บาท น้องจึงกลับไปห้องเรียน พี่เปี๊ยกบอกว่า “เด็กคนนี้เป็นเด็กจิตใจดี ตั้งใจเรียน ใฝ่ดี น่าสนับสนุน จะเป็นคนดีของสังคมต่อไป” พี่เปี๊ยกเสนอจะช่วยสนับสนุนการศึกษาในปีต่อไป แต่เธอปฏิเสธ “ค่าใช้จ่ายที่โรงเรียน กทม. ไม่มากเท่าไรค่ะ เทอมนี้พอมีจ่าย” พี่เปี๊ยกให้เบอร์โทรศัพท์หญิงคนนี้ไว้ เผื่อต้องการความช่วยเหลืออะไร แต่เธอไม่เคยโทรมา

ครั้งหนึ่ง แม่และเด็กคนนี้ไม่มาขายพวงมาลัยเป็นอาทิตย์ เมื่อได้เจออีกครั้ง พี่เปี๊ยกก็ได้รู้ว่า “เธอถูกซ้อม จนป่วย หน้าตาบวม จึงไม่สามารถลุกมาขายของได้”

เธอยังอธิบายต่อไปว่า “เมื่อสามีของเธอดื่มเหล้าจนเมา จะซ้อมเธอจนน่วม พอเช้าตื่นมา หายเมาก็บอกว่า ที่ทำไปนั้น ล้อเล่น” สามีของเธอไม่ทำงานอะไร แต่จะยืนเฝ้าเธอและลูกชายขายพวงมาลัยบนสะพานลอยอยู่ห่างๆ หลายครั้งก็เอาเงินไปเล่นการพนัน
แต่เธอไม่บ่น หรือคิดหนีจากสามีของเธอ

จนกระทั่งวันนี้ พี่เปี๊ยกได้รับโทรศัพท์ เสียงผู้หญิงปลายทางสั่นเครือ “ไม่ไหวแล้ว ถูกแฟนซ้อม อยากพาลูกหนีไปอยู่ที่อื่น มีงานให้ทำไหมคะ”

พี่เปี๊ยกโทรศัพท์ติดต่ออุ๊ ซึ่งต้องโทรถามเพื่อนที่ทำงานองค์กรผู้หญิงอีกที จนทราบถึงบ้านพักฉุกเฉิน พี่เปี๊ยกโทรติดต่อเพื่อประสานงาน นำเธอและลูกไปพักที่นั่นชั่วคราว ฝึกอาชีพ ก่อนหาที่ทางไปเริ่มชีวิตใหม่ต่อไป

อุ๊เชื่อว่าทุกคนมีเรื่องราวดีๆที่ตัวเองทำ หรือเห็น ได้ยินผู้อื่นทำ เขียนมาแบ่งปันกันนะค่ะ เป็นกำลังใจให้กัน สร้างกุศลและความดีร่วมกัน

ฉบับต่อไป อุ๊จะเล่าเรื่องหมาๆ ดีกว่า ใครมีเรื่อง แมวๆก็แจมได้นะจ๊ะ

ศิลป์... สร้าง... สรรค์... สุข





ศิลป์... สร้าง... สรรค์... สุข
Contemplative Arts for Happiness วันที่ ๑๑ – ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙ ชะอำ

โดย ครูอั๋น อดิศร จันทรสุข จาก สถาบันอาศรมศิลป์

วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม
๐๗.๓๐ พบกันที่ มูลนิธิสดศรี-สฤษวงศ์ พหลโยธิน ๒๒ รถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีพหลโยธิน ทางออก เทสโก้โลตัส
๑๐.๐๐ ถึงที่หมาย เก็บสัมภาระ และเริ่มกิจกรรม check-in
กิจกรรม “เสียงและท่วงทำนองภายใน” (สำรวจเสียง จังหวะและท่วงทำนองภายในของตนเอง ค้นหาความรู้สึกที่ปรากฏในกายและใจ ซึ่งเป็นที่มาของภาวะและอารมณ์แห่งปัจจุบัน)
ช่วงเวลา contemplation and reflection
๑๒.๐๐ อาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ กิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ และ Body Scan
๑๔.๐๐ กิจกรรม “ภาพสีน้ำสะท้อนใจ” (ค้นหา pattern ของชีวิตผ่านการวาดภาพสีน้ำ เพื่อนำตนเองกลับสู่ความเป็นปกติจากการทำงานศิลปะ)
๑๗.๐๐ ริมทะเล ร่วมกันทำอาหารเย็น ปิ้งย่างอาหารทะเล หรือเมนูอื่นๆ และกินด้วยกัน (Cooking and Eating Meditation) พักผ่อนตามอัธยาศัย ร้องเพลง
๑๙.๐๐ กิจกรรม “เคลื่อนกาย-คลายจิต” (สำรวจ “ปัญญา” ของกาย เพื่อผ่อนคลาย “ปัญหา” ของจิต)
ช่วงเวลา contemplation and reflection
๒๑.๐๐ พักผ่อนตามอัธยาศัย เดินเล่นชายหาด เล่นน้ำทะเลอาบแสงจันทร์ หรือ ลองเดินจงกรมบนหาดทราย นั่งสมาธิตามเสียงคลื่นและสัมผัสสายลม

วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม
๘.๐๐ ทานอาหารเช้า
๙.๐๐ กิจกรรม “ภาพวาดแห่งปัญญา” (สำรวจความเชื่อและทางเลือกของชีวิตผ่านการสร้างสรรค์และการวิเคราะห์งานศิลปะที่เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้สร้างร่วมกันเป็นกลุ่ม)
ช่วงเวลา contemplation and reflection
๑๒.๐๐ อาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ สุนทรียสนทนา และ กิจกรรมแห่งการร่ำลา
๑๖.๐๐ เดินทางกลับกรุงเทพ แวะซื้อของฝากตามชอบใจ


กิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และความสนใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เราอยากให้ทุกคนร่วมคิดทำกิจกรรมส่งเสริมความสุขสงบง่ายๆ และเรียนรู้ร่วมกันฉันท์มิตร
สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ติดต่อ อุ๊ 06-XXX-XXX

ผ่อนพักตระหนักรู้และสุนทรียสนทนา



สื่อสร้างสรรค์สัญจร ครั้งที่ ๒
“ผ่อนพักตระหนักรู้และสุนทรียสนทนา”
๑๔-๑๖ ม.ค. ๒๕๔๘ เชียงราย
ที่ณัฎฐิพล รีสอร์ท (๓๐ กม. จากเชียงราย ล้อมรอบด้วยขุนเขา และท้องนา)


โครงการสื่อสร้างสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ขอเชิญเพื่อนๆสื่อ มาร่วมเรียนรู้ศิลปะแห่งการสื่อสาร การฟังอย่างลึกซึ้ง การรับรู้ และพื้นฐานแห่งชีวิตที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ชีวิตตามแนวคิดของวิทยาศาสตร์แนวใหม่ และสัมผัส รับฟังความงามของธรรมชาติ


กระบวนกร (วิทยากร)
ณัฐฬส วังวิญญู และ ธนัญธร เปรมใจชื่น


กระบวนกรรับเชิญ
อ. วิศิษฐ์ วังวิญญู เรื่องสุนทรียสนทนา
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เรื่อง สุขภาพองค์รวม และวิทยาศาสตร์แนวใหม่


สุนทรียสนทนาและการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
เราจะได้เรียนรู้ถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นทีม เพื่อให้เห็นว่าความรู้นั้นก่อรูปขึ้นมาในวงสนทนาได้ ในบรรยากาศแห่งความผ่อนคลาย ไว้วางใจและมิตรภาพ โดยที่ความรู้ ไม่จำต้องมาจากใครคนใดคนหนึ่ง หรือไม่จำเป็นต้องมาจากสภาวะแห่งความตึงเครียด เคร่งเครียด หรือแข่งขัน การรับรู้และรับฟังเป็นประตูเข้าของความรู้ใหม่ๆสำหรับชีวิต เราจะมาค้นหาดูว่าเรามีกระบวนการรับรู้และรับฟังอย่างไร


ชีวทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ (Sacred View of Life)
จากมุมมองของกระบวนทัศน์ใหม่ เราจะหันมามองชีวิตในทุกระดับใหม่ ให้เห็นคุณลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์และทรงคุณค่าได้อย่างไร วิทยาศาสตร์ในกระบวนทัศน์เก่านั้น มองชีวิตว่าเป็นเพียงการสั่นไหวของอะตอม หาได้มีชีวิตไม่ หากในทัศนะใหม่ มุมมองดังกล่าวกำลังได้รับความท้าทายจากการค้นพบใหม่ๆ ที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนว่าชีวิตคืออะไร หรือมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร


ผู้นำ ๔ ทิศ (ปัญญาของอินเดียนแดง)
ภาวะผู้นำนั้นมีหลากหลาย ดังที่ธาตุที่ก่อประกอบโลกและชีวิตขึ้นมาก็มีทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นธาตุพื้นฐาน กิจกรรมนี้จะช่วยให้เรารู้จักตัวเอง และรู้จักกันและกันมากขึ้นเพื่อสร้างปัจจัยสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ


ตารางกิจกรรมประจำวัน (โดยย่อ)
๗.๐๐ ถึง ๘.๐๐ ไทเก็ก โดย อ. ฌาญเดช พ่วงจีน (อาจเปลี่ยนแปลงวิทยากรแต่กิจกรรมยังคงมี )
๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ กิจกรรม และ เนื้อหาการอบรม
๑๓.๐๐ ถึง ๑๕.๐๐ กิจกกรม และ เนื้อหาการอบรม (ต่อ)
๑๕.๐๐ ถึง เย็น สัมผัส เรียนรู้ จากธรรมชาติ เดินเล่นในป่า เล่นน้ำที่น้ำตก ตามหาความทรงจำของก้อนหิน ไปโป่งน้ำร้อนธรรมชาติ หรือไปเยี่ยมชมวัดของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
๑๙.๐๐ ถึง ๒๑.๐๐ เนื้อหาการอบรมและสุนทรียสนทนา
พักผ่อน


สิ่งที่ต้องเตรียมไป
ใจสบายๆ กับเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นได้พอสมควร และชุดที่พอสามารถใช้เล่นน้ำในน้ำตกได้ หรือ แช่ตัวน้ำร้อนในโป่งได้


การเดินทาง
เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง และเพื่อนสื่อจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมเต็มที่ เราจะเดินทางโดย เครื่องบินราคาประหยัด ตอนเช้าวันที่ ๑๔ มกราคม กลับเย็นวันที่ ๑๖ มกราคม เราจะแจ้งเวลาเดินทางที่แน่นอนภายหลัง


จำนวนผู้เข้าร่วม และการสมัคร รับจำนวนจำกัด เพียง 18 คนเท่านั้น

ผ่อนพักตระหนักรู้กับดนตรี






สื่อสร้างสรรค์สัญจร ครั้งที่ ๓
ผ่อนพักตระหนักรู้กับดนตรีเพื่อการพัฒนาด้านใน
ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
หมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี


ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเล่น หรือการฟัง สามารถช่วยให้เราเข้าถึงบ่อน้ำแห่งความสุข ความสงบ และปัญญาได้ ปรีชา เรืองวิชาธร แห่งเสมสิกขาลัย และทีมงาน จะมานำเสนอวิธีการ ที่เราจะใช้ความงามตามธรรมชาติของเสียงดนตรี มาเห่กล่อมจิตใจเราให้สัมผัสความสุข สงบ และการผ่อนพักอย่างลึกซึ้งด้วยวิธีต่างๆ เช่น การนอน ทำโยคะ รวมถึงปาฏิหาริย์แห่งการตื่นรู้ของสติ

นอกจากนี้ เราจะร่วมกันพิจารณามรณสติ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยให้เราหันกลับมาทบทวนชีวิตของเราอย่างจริงจัง ตระหนักถึงคุณค่า ความงามของชีวิต และหนทางที่จะดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์ในแบบของเรา

วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์
๗.๐๐ พบกันที่มูลนิธิสดศรี-สฤษวงศ์ พหลโยธิน ๒๒ รถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีพหลโยธิน ทางออก เทสโก้โลตัส
๗.๓๐ ออกเดินทางไปกาญจนบุรี
๑๐.๓๐ ถึง ๑๒.๐๐ ถึงที่พัก รู้จักกันก่อน แนะนำวัตถุประสงค์การอบรม และร่วมทำกิจกรรมจุดพักพิงของชีวิต
๑๓.๑๕ ถึง ๑๔.๐๐ นอนอย่างมีสติ
๑๔.๐๐ ถึง ๑๖.๓๐ สติกับฐานทั้งสี่ของชีวิต ความรู้ตัวทั่วพร้อมกับปาฏิหาริย์ของชีวิต
ค้นหาบทภาวนาสำหรับตัวเอง
๑๖.๔๕ ถึง ๑๗.๓๐ โยคะกับการรู้ตัว
๑๙.๓๐ ถึง ๒๑.๐๐ ดนตรีกับความผ่อนคลาย และความสงัดภายใน

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์
๘. ๔๕ ถึง ๑๒.๐๐ แปรเปลี่ยนจุดเปราะบางแห่งชีวิต เป็นพลังสร้างสรรค์
๑๓.๑๕ ถึง ๑๔.๐๐ นอนอย่างมีสติ
๑๔.๐๐ ถึง ๑๖.๓๐ สร้างสรรค์วิสัยทัศน์แห่งชีวิต และพิธีร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อการเริ่มต้น ใหม่ของชีวิต
๑๖.๔๕ ถึง ๑๗.๓๐ โยคะกับการรู้ตัว
๑๙.๓๐ ถึง ๒๑.๐๐ งานเฉลิมฉลองของชีวิต หรือ ภาวนาเพื่อเตรียมตัวตาย

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ วันหยุด มาฆบูชา (กิจกรรมเสริมสำหรับผู้สนใจ)
๗.๐๐ ทำบุญ ใส่บาตรร่วมกัน (อยู่ระหว่างการติดต่อวัด และพระอาจารย์)
ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมร่วมกัน และถามปัญหาธรรมและการปฏิบัติ
๑๑.๐๐ เดินทางกลับกรุงเทพ ระหว่างทางแวะทานอาหารกัน

หมายเหตุ
อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างของกิจกรรมหรือเวลา ตามความเหมาะสมค่ะ

โยคะรายสัปดาห์




สืบเนื่องจากกิจกรรมค่ายโยคะที่ผ่านมา พวกเราหลายคนได้เรียนรู้แนวทางหนึ่งเพื่อการดูแลสุขภาพกาย ใจ และ ปัญญา เราได้ดื่มชาสีทับทิมใส ชื่นใจ ได้พูดคุยเรื่องดีๆที่ทุกคนได้ทำ การปฏิบัติธรรม และหนทางสู่ความสุขในชีวิต

ขอบอกว่าเพื่อนๆที่กลับไปก่อน คุณพลาดการล้างตาด้วยการเพ่งเทียน การล้างจมูกด้วยน้ำผสมเกลือ (ไม่ยากอย่างที่คิด ล้างแล้ว จมูกและหัวโล่งขึ้นมากเลย) การหายใจที่เอื้อต่อความสงบใจ เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ใจสงบได้อย่างรวดเร็ว

มีเพื่อนจำนวนหนึ่งเกิดความคิดว่า เราน่าจะมีโอกาสฝึกโยคะอย่างต่อเนื่อง การที่จะรักษาวินัยฝึกอยู่ที่บ้านตามลำพังนั้นเหงาเกินไป อาจทำให้การฝึกจางได้ตามกาลเวลา เราจึงคิดว่า ต้องหาเพื่อนฝึกโยคะร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เราฝึกต่อไป

แรงจูงใจอีกประการสำหรับเพื่อนของเราบางคนในการเข้าโครงการโยคะรายสัปดาห์นี้ คือ โยคะจะช่วยให้สามารถนั่งปฏิบัติสมาธิได้นาน โดยไม่ปวดเมื่อย (ผู้ที่บรรลุ อาสนชัย จะสามารถนั่งสมาธิได้นานา 3 ชั่วโมงโดยไม่ขยับ ไม่เมื่อย และขายังปรกติ)

ในแต่ละครั้ง เราจะฝึกฝนโยคะอาสนะต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแรง และความยืดหยุ่นให้ร่างกาย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นบันไดขั้นต่อไปในการฝึก ปราณายามะ คือการหายใจที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ได้ดี มีสติ สมาธิ เพิ่มขึ้น และคงมีผลส่งถึงสุขภาพกายที่ดีขึ้นด้วย เพราะโรคหรือทุกข์ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง มีเหตุจากความเครียด

นอกจากนั้นแล้ว ครูทางสถาบันจะเสริม การทำโยคะกริยา คือการชำระล้างตามวิถีโยคะต่างๆ เช่นการชำระระบบหายใจ ชำระท่อน้ำตา (หลังการใช้งานหน้าจอคอมอันแสนจะเหนื่อยล้า)
และที่ขาดไม่ได้ หลังการฝึก เราจะได้มีถามถึงศาสตร์โยคะอันเป็นปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้ง แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนๆ และ จิบชา กินขนมกันด้วย

โครงการฝึกโยคะประจำสัปดาห์นี้จะเริ่ม
กลางเดือนมกราคม ไปจนถึง กลางเมษายน เป็นเวลา 3 เดือน ถ้าหากเพื่อนๆสื่อให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องก็อาจดำเนินการต่อได้

เราได้ข้อสรุปเบื้องต้นของกิจกรรมโยคะรายสัปดาห์แล้วนะค่ะ ว่าเราจะมีโยคะรายวัปดาห์ภาคพิเศษ สำหรับเพื่อนสื่อ


วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้บุคลกรสื่อที่สนใจได้เรียนรู้วิถีโยคะเพื่อพัฒนา สุขภาพกาย ใจ และจิตวิญญาณ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เพื่อนๆมาสังสรรค์ พบปะกันด้วย

ระยะเวลาของการอบรม
10 สัปดาห์ เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ ถึง 5 เมษายน

เวลา
ทุกวันพุธ มีสองรอบให้เพื่อนสื่อเลือกมาร่วมกิจกรรมตามสะดวก
ระหว่างเวลา 16.00-18.00
และ 18.00-20.00
การอบรมใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง และที่เหลืออีก 30 นาทีเป็นช่วงถาม-ตอบ หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

สถานที่
มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒน์ รถไฟฟ้าใต้ดิน สถานี เพชรบุรีตัดใหม่

รูปแบบของกิจกรรม
โยคะอาสนะมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างร่างกายที่แข็งแรง ยืดหยุ่น

นอกจากจะมีการฝึกโยคะอาสนะแล้ว ครูโยคะจะแถมท่าโยคะบริหารประจำวัน ให้เพื่อนๆนำไปประยุกต์ใช้ระหว่างวัน ในเวลาขับรถ ทำงาน และเทคนิคการผ่อนคลายอย่างลึก

เราจะเรียนรู้ กริยา คือการชำระล้างร่างกาย เช่น โพรงจมูก ตา ระบบหายใจ และอื่นๆ
นอกจากนั้นแล้ว เพื่อนๆจะได้เรียนรู้ ปราณายามะ การหายใจด้วยท้องและทรวงอก เพื่อการผ่อนคลาย เพื่อสมาธิที่ดีขึ้น

ท้ายที่สุด เราจะได้ปฏิบัติสมาธิร่วมกันด้วย

ที่สำคัญ ทุกท่านจะได้เรียนรู้ วิถีธรรมแห่งโยคะที่จะช่วยปรับสมดุลให้ชีวิตของเราด้วย

จำนวนผู้เข้าอบรม
เพื่อความเป็นกันเอง และผ่อนคลาย เรารับได้จำกัดเพียง 20 คนต่อกลุ่ม
เพื่อนๆสามารถชักชวนเพื่อนสื่อด้วยกันในองค์กร หรือคนที่ท่านรัก มาร่วมสุข สงบกายใจในคอร์สโยคะนี้ด้วยกัน

ผู้ร่วมสนับสนุนกิจกรรม
สถาบันโยคะวิชาการ และ
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผู้ที่สนใจจริงจังกับการฝึกความแข็งแรงของร่างกาย และจิตใจนี้ กรุณาโทรมาบอกอุ๊ 06-XXX-XXX หรือ อีเมล์ตอบกลับมานะคะ

สปาโยคะ





สปาโยคะ เพื่อความสมดุลของใจ กาย และจิตวิญญาณ




โครงการ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” ขอเรียนเชิญเพื่อนสื่อมาร่วมเรียนรู้ สัมผัสโยคะ: ศาสตร์แห่งวิถีชีวิตที่สมดุลด้วยกัน ในกิจกรรมสบายๆตามสไตล์ “สปาโยคะ” ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคมนี้ (เสาร์ ถึง จันทร์) ที่ศูนย์พักผ่อนดอนตูม จังหวัดนครปฐม

หลายคนคงพอรู้จักโยคะในรูปแบบการออกกำลังกายที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพกาย บำบัดโรค ปรับสมดุลของโครงสร้างทางกาย ลดสัดส่วน และชลอความแก่ (?) แต่โยคะเป็นมากกว่านั้น

ครูกวี คงภักดีพงศ์ ครูโยคะแห่งสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน กล่าวว่าโยคะเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิต ที่เน้นการบริหารใจและกายให้สมดุล เพื่อท้ายที่สุดจะได้นำพาผู้ปฏิบัติ (อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ) ไปสู่ความสงบระงับแห่งจิต และเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง

“การฝึกโยคะที่มุ่งแค่ความแข็งแรงหรือสุขภาพทางกาย เปรียบเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากโยคะ ซึ่งน่าเสียดาย... ผู้ที่ฝึกโยคะอย่างเข้าใจเป้าหมายของโยคะ จะเรียนรู้ที่จะมีสุขจากภายใน ลดการพึ่งพิงความสุข-ทุกข์ จากปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ หรือสถานการณ์ต่างๆในชีวิต” ครูกวีกล่าว

เวลาของโยคะไม่ได้จำกัดแค่ ๑-๒ ชั่วโมงในห้องออกกำลังกาย โยคะไม่ใช่การทำท่าทางแปลกๆยากๆ แต่ยังรวมถึงวิธีการหายใจเพื่อปรับสมดุลทางกายและใจ วิถีการกิน การอยู่ การนอน เป็นต้น ดังนั้น ทุกคนรวมทั้งผู้ที่มีข้อจำกัดทางกาย เช่นผู้พิการ แขน-ขา ก็สามารถปฏิบัติโยคะและรับประโยชน์จากโยคะได้เหมือนกัน

ดังนั้น
ในคอร์สสปาโยคะนี้ เราจะ ได้ฝึกฝน และเรียนรู้การใช้ชีวิตตามวิถีโยคะ ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน เช่น ความหมายของโยคะ เป้าหมาย และโยคะร้อนที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้คืออะไร
วิธีการรักษาสมดุลของร่างกาย ท่าอาสนะต่างๆที่ช่วยบริหารกายให้ระบบต่างๆทำงานเป็นปรกติ สอดประสานกันได้ดี เช่นระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ระบบหายใจ ซึ่งสัมพันธ์กับการไหลเวียนของเลือด ระบบการทำงานต่อมไร้ท่อในร่างกาย ที่มีอิทธิพลอย่างมากกับการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ
การกินแบบโยคะเป็นอย่างไร อาหารที่เป็นมิตรต่อร่างกายมีอะไรบ้าง วิถีการกินเพื่อสุขภาพเป็นอย่างไร
เทคนิคการผ่อนคลายแบบโยคะ เพื่อเราจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ที่อาจมีทั้งความเครียดทางกาย และ ใจ และมีเทคนิคการผ่อนคลายเพื่อการนอนหลับอย่างลึกซึ้งด้วย

การหายใจตามแนวโยคะ (ปราณายามะ) เพื่อพัฒนาอารมณ์ให้มั่นคงขึ้น (E.Q) ช่วยให้จิตใจสงบเย็นขึ้น และเท่าทันกิเลส ความคิดของตัวเอง

กิจกรรมวิถีโยคะช่วยฝนลับสติให้ว่องไวขึ้น พัฒนาสมาธิ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม
เทคนิคโยคะอื่นๆที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การบริหารสายตา แขน ไหล่ (สำหรับผู้ที่ต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ)


จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม

เพื่อความสนุก สุข สงบในการทำกิจกรรมตลอดรายการ เราสามารถรับเพื่อนสื่อได้จำนวนไม่เกิน 30 คน และเพื่อนสื่อสามารถเชิญเพื่อนมาเข้าร่วมหนทางแห่งสุขภาพได้ อีก 1 คน


ค่าใช้จ่ายสำหรับเข้าร่วมกิจกรรม

กิจกรรมสปาโยคะนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น


ข้อปฏิบัติระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมสปาโยคะ

เพื่อความสุขใจ-กายของเราทุกคน ทางสถาบันโยคะชวนเชิญให้เรางดการบริโภค ชา กาแฟ เครื่องดื่มอัดลม หรือของขบเคี้ยวเล่นต่างๆ (แต่ถ้าหากทำไม่ได้จริงๆ ทางเราผู้จัดงานจะเตรียม ชา กาแฟสำรองให้)

น้ำเปล่า คือเครื่องดื่มอย่างเป็นทางการในคอร์สสปาโยคะนี้ นอกนั้นก็มีน้ำผลไม้ และที่พิเศษสุดที่ทางเราเตรียมไว้ คือ “ชาสัพตางคะ” ที่พี่ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แนวอายุรเวท คิดค้นสูตรเอง ขอรับรองว่าคอชาสมุนไพรต้องชอบ ชานี้มีกลิ่นหอมละมุน สีใสสวย และมีรสหวานตามธรรมชาติ

พวกเราจะได้อิ่มอร่อยกับอาหารมังสวิรัติ กล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม ที่ทางศูนย์พักผ่อนจัดเตรียมไว้ไห้
สิ่งที่เพื่อนๆควรเตรียมไปคือ เสื้อผ้าใส่สบายๆ เช่นกางเกงวอร์ม เสื้อยืด (ไม่รัดพุง) ยาประจำตัว และของใช้ส่วนตัว

กำหนดการโยคะสปา
วันที่ 17-19 ธันวาคม 2548 ที่ ศูนย์พักผ่อนนครปฐม ดอนตูม

เสาร์ 17 ธันวาคม
10.00 -11.30 ออกเดินทางจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ซอยพหลโยธิน 22 (รถไฟฟ้าใต้ดิน ลง สถานีพหลโยธิน เดินตามทางออกที่บอกว่าไปทาง เทสโก้โลตัส)
12.00 – 13.00 อาหารเที่ยง กินแบบโยคะ
13.00 – 13.30 ผ่อนคลายแบบโยคะ
13.30 – 15.00 แนะนำตัว ทำความรู้จักกัน
15.00 – 15.30 แนะนำวัตถุประสงค์ พุดคุย
15.30 - 16.00 บรรยาย ทำความรู้จักโยคะ
16.00 – 18.00 ฝึกโยคะอาสนะ เทคนิคการผ่อนคลาย
18.00 – 19.00 อาหารเย็น
19.00 – 20.30 กิจกรรม และถาม-ตอบ เกี่ยวกับเรื่องโยคะ
อาทิตย์ 18 ธันวาคม
6.30 – 8.00 โยคะรับอรุณ
8.00 – 9.00 อาหารเช้า
9.30 – 10.00 โยคะกับการออกกำลังกาย
10.00 – 12.00 ฝึกลมหายใจ
12.00 – 13.00 อาหารเที่ยง
13.00 – 13.30 ผ่อนคลายแบบโยคะ
13.30 – 15.00 บรรยาย โยคะน่ารู้สำหรับสื่อมวลชน
15.00 – 15.15 พัก
15.15 – 18.00 ฝึกโยคะอาสนะ เทคนิคการผ่อนคลาย
18.00 – 19.00 อาหารเย็น
19.00 – 20.30 กิจกรรม และถาม-ตอบ เกี่ยวกับเรื่องโยคะ
จันทร์ 19 ธันวาคม
6.30 – 8.00 โยคะรับอรุณ
8.00 – 9.00 อาหารเช้า
9.00 – 9.40 เทคนิคโยคะ
9.40 – 11.40 จดหมายรักถึงเพื่อนสนิท
11.40 – 12.00 สรุปปิด
12.00 - 13.00 อาหารเที่ยง
13.30 ออกเดินทางกลับ