วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 27, 2550

คิดได้เมื่อว่าง (งาน)


สำหรับมนุษย์เงินเดือนแล้ว การตกงาน ถือเป็นสิ่งน่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียศักยภาพในการใช้จ่ายหรืออาจหมายรวมถึงการสูญเสียการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วย
ขณะที่ทำงาน เราอาจรู้สึกเป็นนายของเงิน ด้วยว่าเราเป็นผู้หาและได้มาด้วยตัวเอง แต่เมื่ออยู่ในภาวะใกล้ตกงาน ความหวาดกลัวสารพันก็จะเกิดขึ้น
หลายคนถึงกับสารภาพด้วยใจทดท้อว่า “ตกงานไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้นทั้งบ้าน รถจะต้องถูกยึดแน่นอน”
ในสภาวะเช่นนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าใครกันแน่ที่เป็นนาย
สำหรับผู้ไม่ถูกพันธนาการด้วยสิ่งเหล่านั้น การตกงานอาจเป็นเพียงแค่ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้คืนกลับสู่ความเรียบง่าย ความสุขพื้นฐานที่เราทำตกหล่นทิ้งไว้นานแล้วเท่านั้นเอง
ท่ามกลางโลกที่มองเห็นเงินเป็นแก้วสารพัดนึก ดลบันดาลทุกอย่างได้ดังใจ “เงิน” จึงมีความหมายเท่ากับ “ความสุข” การไม่มีเงินจึงดูเหมือนเป็นเรื่องโหดร้ายยิ่งนัก
ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ฉันได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตัดสินใจผละจากวงจรชีวิตที่หมุนอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ เพื่อมาดำเนินชีวิตที่ช้าลงและเรียบง่ายยังบ้านเกิดของเธอ
เธอบอกว่า “ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน” เงินเดือนก้อนโตที่เธอเพิ่งทิ้งไป ไม่ได้ลดทอนความสุขของเธอให้ลดน้อยลง แถมยังสุขเป็นทวีคูณ เพิ่มขึ้นกว่าก่อน กว่าชีวิตที่มีกินมีใช้เสียด้วยซ้ำ
แล้วอะไรเล่าที่ทำให้เป็นเช่นนั้น?
เธอเล่าต่อว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มุ่งหน้าหาแต่เงินตรา แยกคุณค่าของงานออกจากการดำเนินชีวิตโดยสิ้นเชิง ด้วยอาจคิดเพียงว่า เมื่อมีเงินแล้ว ย่อมหาความสุขให้แก่ชีวิตแบบไหนก็ได้
เพราะเหตุนี้ เราจึงตะบี้ตะบันใช้ชีวิตและหมกมุ่นอยู่กับการทำงาน เพียงเพื่อเฝ้ารอที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุข เป็นความสุขที่มาจากการออกไปดูหนังฟังเพลง จากการเดินชอปปิ้งในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันพักร้อน โดยไม่เคยตระหนักเลยว่า สิ่งที่ใช้จ่ายไปกับการทำงานที่บ้าคลั่งนั้น เราใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

ต้นทุนที่มองไม่เห็น เช่น ความเครียดสะสม จิตใจที่ขุ่นมัว และร่างกายที่มีแต่ความอ่อนล้าลงทุกวัน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องแลกกับเงินเดือนโดยที่ไม่รู้ตัว
ต่อเมื่อเธอวาง ละทิ้งการงานอันเขม็งเกลียวนั้นลง สิ่งที่ได้รับตอบกลับมาคือ “ความสุข” ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เหนืออื่นใดคือ “เวลา” ที่ได้รับมากขึ้น

นานแค่ไหนแล้วที่คนเราอยู่กับเหตุผลที่ว่า “ยังไม่มีเวลา” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เรากลับบริโภคเวลาไปกับสภาพจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน หรือเสียเวลากับการทุ่มเถียงในห้องประชุมเพื่อสร้างดอกผลหรือทำกำไรสูงสุดให้แก่บริษัท
เวลาที่เราได้รับมา เรากลับไม่มีเผื่อให้แก่การตักบาตรตอนเช้า ไม่มีเวลาให้แก่การนั่งและพูดคุยกับลูกๆ ได้แต่คุยผ่านโน้ตกระดาษบนผนังตู้เย็น เราไม่มีเวลาทำความสะอาดบ้าน และแก้ปัญหาดับทุกข์ด้วยการจ้างแม่บ้านสักคนมาทำแทน
หรือแม้แต่การเดินรดน้ำต้นไม้ เราก็ยังจ้างคนสวนมาดูแลและทำแทน
ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่การปันเวลาเพื่อพัฒนาความรู้ด้านใน ภายในจิตใจและจิตวิญญาณให้เติบโต เราก็ยังปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักบวชทำหน้าที่นี้แทน
ต่อเมื่อเราไม่ได้ทำงานแล้ว เราจึงจะมีเวลาว่างเหลือพอที่จะทบทวนสิ่งต่างๆ อย่างช้าๆ ซึ่งถึงเวลานั้น เราอาจพบอีกว่า ที่จริง เราอาจมี “อะไรมากมาย” จนน่าตั้งคำถามว่า เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
เราใส่เสื้อผ้าสลับไปมาได้ด้วยชุดไม่กี่ชุด แต่เสื้อผ้าที่เรามีนั้น เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
เราไปไหนมาไหนได้ด้วยรองเท้าเพียงไม่กี่คู่ ทว่ารองเท้าที่เรามี เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
เราเก็บข้าวของได้ด้วยกระเป๋าถือไม่กี่ใบ แต่กระเป๋าที่เรามี เรามีมากเกินไปหรือเปล่า
“การว่าง” ยังทำให้เราเปลี่ยนมิติความหมายของคำว่า “งาน” ได้ใหม่ นั่นคือไม่ได้หมายถึง “สิ่งที่ทำเพื่อแลกกับเงิน” เท่านั้น หากยังหมายถึง “สิ่งสำคัญในชีวิตที่ไม่ควรละเลยด้วย”

ข้อดีของการว่างทำให้เรามีเวลาพินิจสิ่งต่างๆ รอบตัว และมีเวลาได้คิดได้ตระหนักว่า แท้ที่จริง ความสุขและความงามนั้นอยู่รอบตัวเรา โดยอาจร้องเรียกให้เราแลมานานแล้ว แต่เราก็ไม่เคยเหลียวหันไปมองสักที
คราวนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ยินสักทีว่าเสียงนกร้องในสวนหลังบ้านนั้น สดใส เพราะพริ้งเพียงใด
ได้เห็นสักทีว่า ดอกไม้หน้าแล้ง เมื่อยามระบัดใบนั้น สวยงามแค่ไหน
คงถึงเวลาชื่นชมดอกไม้ที่ปลิดปลิวและทิ้งตัวลงสู่พื้น ลองดูสิว่า ลีลาของดอกโรยร่วงเหล่านั้นอ่อนหวานอย่างไร
และคงถึงเวลาที่เราจะได้ดื่มด่ำสักทีว่า ท้องฟ้าสีครามในวันที่ไร้เมฆหมอกนั้น เปี่ยมพลังเพียงไร

การว่างจะช่วยให้เราได้ตระหนักว่า ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่ต้องการการดูแลและใส่ใจจากเราอีกมากมายนัก นอกเหนือจาก “การทำงาน” แล้ว
เราจะว่างพอและมองเห็นว่าต้นไม้เหี่ยวเฉานั้น ต้องการน้ำและการดูแล
เราจะว่างพอและมองเห็นแววตาเปลี่ยวเหงาของหมาน้อยที่ต้องการการสื่อสาร
เราจะว่างพอและมองเห็นความเศร้าในใจของครอบครัวที่ต้องการอ้อมกอด
เราจะว่างพอและได้ทำในสิ่งที่เราเคยคิดว่า “ยังไม่มีเวลาจะทำเสียที”
เพราะถ้ารอให้ถึง “เวลาที่พร้อม” ก็อาจสายเกินไป
และหากเราไม่รู้จักเรียนรู้ที่จะ “ต้อนรับ” สิ่งไม่พึงประสงค์ในชีวิต (เช่น การว่างงาน) เรานั่นล่ะที่จะถูก “ต้อนให้จนมุม” เธอทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น


ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 27 ก.พ. 2550

วิรตี ศรีอ่อน media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 21, 2550

ตามลมหอม ณ บ้านอ.ระพี สาคริก




กิจกรรมเดือนกุมภาพันธ์นี้
ชาวสื่อสร้างสรรค์ใฝ่รู้ จะพากันไป "ตามลมหอม"
ณ บ้านระพี สาคริก พหลโยธิน ๔๑
วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๓.๐๐ น.

ร่วมสนทนา ตามหากลิ่นหอมที่ทวนลมมากว่าแปดทศวรรษกับ ศ.ระพี สาคริก ตั้งแต่เรื่องกล้วยไม้ของประชาชนจนถึงประวัติศาสตร์บอกเล่าเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน

ขอขอบคุณ เอก ผู้ประสานงาน "ตามลมหอม" นี้
กรุณานำเครื่องดื่ม ขนม อาหาร ที่ชอบที่ชอบ และอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆชอบด้วย ไปแบ่งกันทานค่ะ ถือเป็นการไปปิกนิกที่บ้านอาจารย์ระพีกัน
สนใจร่วมกิจกรรม โปรดแจ้งเล็ก081-622-7855 หรือ อุ๊ 086-789-7070

เด็กซนคนผิด


ร้านขายหนังสือมากมายมารวมกันอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งหลังสุดเมื่อปีกลาย นับเป็นแหล่งยวนเย้าความรู้สึกของผมที่ต้องการสัมผัสกลิ่นอายของบรรยากาศการแลกเปลี่ยนซื้อขายตัวอักษร
ผมจับรถไฟที่ป้ายหยุดรถคลองรังสิตเพื่อเดินทางเข้าเมือง เมื่อขึ้นไปบนขบวนรถ พบเห็นบรรดาผู้โดยสารจับจองที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว โชคดียังมีเก้าอี้ว่างริมทางเดินกลางตู้รถ ผมเดินผ่านแม่ค้า พระสงฆ์ เด็กน้อยและหนุ่มสาว เข้าไปนั่งเอกเขนกตามใจหมาย
รถไฟแล่นเฉื่อยไม่ทันใจคนที่ต้องการสัมผัสตัวอักษ รความที่มองไม่ค่อยเห็นทิวทัศน์สองข้างทาง เนื่องเพราะไม่ได้นั่งเก้าอี้ริมหน้าต่าง ทำให้ผมเสมองบรรยากาศภายในโบกี้โดยสารที่แน่นขนัด กระทั่งเห็นเด็กชายร่างอ้วนคนหนึ่ง เจ้าเด็กอ้วนที่ผมจ้องมองไม่ได้เรียกความสนใจเฉพาะผมเท่านั้น เพราะสายตาคนทุกผู้ก็ยังจับจ้องเช่นกัน ด้วยมือไม้ของเจ้าเด็กอ้วนไม่เคยอยู่สุข ลุกลี้ลุกลนตลอด บ้างเตะต่อยคนที่นั่งอยู่ข้างๆ และบางครั้งก็ถึงกับยกเท้าถีบหน้าอกผู้โดยสารที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
ผู้โดยสารเหล่านั้นไม่ได้โต้ตอบ เพียงตั้งรับปลายมือปลายเท้าของเจ้าเด็กกวนประสาทที่อาละวาดอย่างไร้เหตุผล แม้แต่คุณแม่ของเด็กน้อยที่นั่งอยู่เคียงใกล้ก็ยังโดนเจ้าลูกชายทั้งเตะ ทั้งต่อย ทั้งถีบ ทว่าคุณแม่ผู้ใจดีกลับไม่กล้าขึ้นเสียงหรือแม้แต่จะเงื้อมือ
ผมโกรธแทนผู้โดยสารที่เจ้าเด็กใช้เป็นกระโถนระบายอารมณ์ คงเพราะผู้เป็นแม่ไม่แสดงทีท่าห้ามปราม ผู้โดยสารที่รับกรรมจึงไม่กล้าหือ ผมละเว้นที่จะครุ่นคิดถึงสาเหตุที่ทำให้เจ้าเด็กออกลาย ละเว้นที่จะครุ่นคิดว่าเหตุใดคุณแม่ของเด็กจึงไม่เอ็ดลูก แต่ผมกลับคิดว่าแม้เขาเป็นเพียงเด็ก เขาก็เริ่มเติบโตเป็นผู้เป็นคนแล้ว จึงน่าจะรู้สึกได้ถึงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของตนบ้าง
สิ่งที่ผมทำได้คือจ้องมอง มองเจ้าเด็กอ้วนมีความสุขที่ได้ทำร้ายผู้อื่น และดูเหมือนเจ้าเด็กนั่นมองมาทางผมเช่นกัน ผ่านไปเพียงครู่ คุณแม่ก็พาลูกชายเข้าห้องน้ำ เจ้าลูกชายเดินตามคุณแม่ไปยังห้องน้ำท้ายโบกี้ โดยต้องเดินผ่านเบาะไม้โทรมๆ ที่ผมนั่งอยู่
และในช่วงขากลับ เจ้าเด็กนั่นก็ชกหน้าผมอย่างจัง
ผมโกรธจนควันออกหู มองเจ้าเด็กส่งสัญญาณเสียดเย้ยตบท้าย ทั้งยังเตะต่อยคนโดยสารและผู้เป็นแม่ไม่เลิก ราวกับสิ่งรอบด้านเป็นเพียงกระสอบทรายรองรับอารมณ์ที่แสนเอาแต่ใจ
ยิ่งมองเจ้าเด็กด้วยความโกรธเกรี้ยวเพียงใด เจ้าเด็กก็ยิ่งดูสุขสมหวัง คล้ายสิ่งที่ทำลงไปนั้นบรรลุผล
รถไฟมาถึงหัวลำโพงเกือบเที่ยงตรง ผมลุกยืนเมื่อเจ้าเหล็กขบวนยาวเลื้อยเทียบชานชาลา เจ้าเด็กอ้วนกับคุณแม่ก็เช่นกัน คุณแม่ของเจ้าเด็กเดินจูงลูกชายที่กำลังแลบลิ้นปลิ้นตา เช่นเดียวกับผมที่กำลังหาทางเล่นงานเจ้าเด็กบ้านั่น
แต่ในระหว่างเดินลงจากขบวนรถ พระสงฆ์รูปหนึ่งที่นั่งอยู่เคียงใกล้ก็เดินมาคั่นกลางระหว่างผมกับเจ้าเด็กอ้วนโดยบังเอิญ
พระสงฆ์องค์เจ้าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ทว่าสัญลักษณ์ของผ้ากาสาวพัตรที่ฉายฉาน กลับทำให้ผมทบทวนถึงความตั้งใจ เสมือนความหมายของพระธรรมแสดงตนให้ผมตริตรองถึงผลลัพธ์ หากกระทำในสิ่งเลวร้ายลงไป
อย่างน้อยเพื่อให้ผมฉุกคิดขึ้นได้ว่า ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าเด็กก็ยังไม่ติดใจเอาความ หรือแม้แต่คนผู้เป็นแม่ก็ยังใจเย็น
น่าเสียดายที่จุดหมายในการเอาชนะเจ้าเด็กอ้วน บดบังความละอายต่อบาปเสียสิ้น
ความโกรธแค้น... แสนอร่อยเหลือเกิน
หลังจากเจ้าเด็กอ้วนและแม่ พระสงฆ์หนึ่งรูป และผู้โดยสารอีกไม่กี่คนก้าวลงบนพื้นชานชาลา จนเหลือเพียงผมที่ตั้งใจเดินออกจากตู้รถเป็นคนสุดท้าย
ทันทีที่ถึงพื้น ฉากชีวิตของผู้คนบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงที่ผมเห็น เป็นยิ่งกว่าความหมายของคำว่า “ชุลมุนวุ่นวาย”
ผมเดินรี่ยังเจ้าเด็กอ้วนโดยแอบอยู่ในเงาร่างของผู้โดยสารคนอื่น จับจ้องร่างเด็กเตี้ยป้อมที่คงจะเลิกสนใจผมไปแล้ว พร้อมกับเห็นคุณแม่ของเด็กจูงมือลูกอย่างทะนุถนอม
เพียงเสี้ยววินาที ฝ่ามืออรหันต์ของผมก็พุ่งเข้าไปเบิร์ดกะโหลกเจ้าเด็กอ้วนจนหัวทิ่ม
ไม่จำต้องหันมองก็รู้ว่าเจ้าเด็กนั่นยืนอึ้ง ก่อนปล่อยโฮออกมาอย่างคลั่งแค้น คงเป็นความแค้นแบบเดียวกับที่ผมเพิ่งได้ลิ้มลองไปไม่นาน
เสียงร้องไห้ของเจ้าเด็กดังลั่น แข่งกับสรรพเสียงของสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ส่วนตัวผมก็จำต้องรีบจ้ำอ้าว สาวเท้ายาวๆ ตรงยังทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินราวกับจะมุดหนี
ผมไม่ลืมการกระทำครั้งนี้แน่นอน... เพราะนี่คือการ ‘ทำผิดแล้วคิดหนี’ ครั้งแรกในชีวิต
การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินจากหัวลำโพงไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็จริง แต่กลับรู้สึกว่าเป็นห้วงมิติอันแสนอึดอัด แม้เสียงร้องของเจ้าเด็กอ้วนจะถูกกลืนหายจนหมดสิ้น ทว่าผมก็ยังเหลียวหลังไม่วางวาย คล้ายการกระทำของตัวเองยังคงหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา
ผมกำลังบอกตัวเองว่า เจ้าเด็กคนนั้นกำลังตามมาทวงแค้นอย่างไม่ลดละ
เมื่อถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อารมณ์ด้านลึกยิ่งพวยพุ่งจับความรู้สึกที่สั่นไหวให้โยกคลอนกว่าเดิม หลังจากมองเห็นเด็กๆ นับพันนับหมื่นคน อืออลวนเวียนอยู่ในงานมหกรรมหนังสือ เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมที่มักมีเด็กเล็กเด็กใหญ่ รวมถึงผู้ปกครองที่จูงบุตรหลานมาเที่ยวซื้อหนังสือเช่นเดียวกับผมและนักอ่านทั่วไป
ผมตัวสั่นงันงก ทำอะไรไม่ถูก ราวกับมองเห็นเจ้าเด็กอ้วนกำลังหลบอยู่มุมใดมุมหนึ่งเพื่อคอยโต้ตอบ บางขณะก็คิดว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาจับกุมคนรังแกเด็ก
ตลอดเวลาที่ผมคลุกคลีอยู่ในร้านหนังสือ สมาธิของผมกระเจิดกระเจิงจนไม่อาจเลือกซื้อหนังสือติดมือสักเล่ม สายตาเต็มด้วยความหวั่นระแวงทั้งต่อผู้อื่นและตัวเอง คล้ายสำนึกชั่วของตนถูกความเป็นธรรมเล่นงาน กระทั่งสายตาเจ้ากรรมพลันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งกำลังเลือกซื้อหนังสืออย่างใจเย็น
ไม่น่าเชื่อ...เป็นพระรูปเดียวกับที่เดินทางมาบนรถไฟด้วยกัน
ภาพของพระรูปนั้นยิ่งทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า สองแม่ลูกก็อาจวนเวียนอยู่ไม่ไกล ถึงจะไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่ก็ปรากฏในจิตใจของผมอย่างชัดเจน
ท่ามกลางความสับสน ผมอยากเดินไปหาพระรูปนั้น พร้อมกับสารภาพถึงการกระทำผิดของตน แม้จะขอยืนยันอีกครั้งว่า เจ้าเด็กอ้วนนั่นควรได้รับการอบรมเสียบ้าง
ทว่าผู้ที่ควรได้รับการสั่งสอนอีกคน...ก็น่าจะเป็นผมด้วย

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันที่ 20 ก.พ. 2550
โมน สวัสดิ์ศรี media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ขยะจะอย่างไร



จำได้ถึงความอึดอัดขัดใจเป็นที่สุด เมื่อต้องหย่อนโยนถุงพลาสติก กระป๋องเปล่า และขวดนม ทั้งหมดลงในถังขยะใบเดียวกัน ซึ่งทำหน้าที่รองรับ “ของเหลือ” จากการบริโภคของเรา หนักหน่อย แทนที่จะทิ้งก็เก็บไว้ นำมาตั้งเรียงแถวตามขอบหน้าต่างบ้าง หลังตู้เสื้อผ้าบ้าง พอรู้ว่ามีจุดรับ ขยะเพื่อนำกลับไปใช้อีก (Recycle)ก็สบายใจ กะว่าสักวันจะขนขยะเหล่านั้นไปทิ้งให้ถูกที่
ความคับข้องใจที่เกิดขึ้น ว่าไปแล้วก็อาจเป็นพฤติกรรมประหลาดของคนบางกลุ่ม ผู้อ่อนไหวกับเรื่องของเหลือและปัญหาสิ่งแวดล้อม
ไม่มีข้อมูลว่านักเรียนไทยเป็นอย่างไร แต่ในโลกตะวันตก นักเรียนนักศึกษาหลายคนมีอาการที่ว่านี้ ขณะเดียวกัน อีกหลายคนก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายกับเรื่องทำนองนี้ แม้แต่นักเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
จริงอยู่ที่ยุคสมัยนี้ ใครๆ ก็มีอิสระที่จะเลือก ทำอะไร และไม่ทำอะไร แต่น่าจะมีอะไรอีกบ้างไหมที่พวกเราควรตระหนักและบังคับตัวเองให้ปฏิบัติตาม
ขยะสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น กล่องนมดื่ม หากรินหมดแล้ว เราก็น่าจะนำมากลั้วน้ำ ล้างให้สะอาด กระป๋อง และขวดแก้ว ก็เช่นกัน หากเป็นขยะประเภท แผ่นฟอยล์ (aluminium foil) เราก็ควรล้างและเช็ดผึ่งไว้ พอแห้งจึงแยกเก็บใส่กล่อง เตรียมไว้ทิ้งคราวเดียว เมื่อครัวสะอาดสะอ้านน่าใช้ เราก็สบายตา เกิดความรู้สึกสบายใจ ชีวิตสดใส ไม่ขุ่นมัว ไม่ขุ่นมัวที่ได้จัดการของเหลือของเราอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เป็นภาระต่อใครหรือต่อโลก สำหรับสังคมไทยแล้ว เท่าที่เห็นทั่วไปยังไม่สบายใจเท่าใดนัก แม้แต่กลุ่มคนที่ทำงานด้านมาตรการจัดการกับขยะ พวกเขากลับไม่จริงจังกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเท่าใดนัก
กฎระเบียบ หรือข้อกำหนด การจัดการขยะในบ้านเราทุกวันนี้ ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ ที่สุดก็ไม่มีใครสนใจ หรือใส่ใจที่จะจัดการขยะ หรือของเหลือของตัวเอง ประชาชนและข้าราชการอีกหลายคนก็ยังทานอาหารจากกล่องโฟม ปะปนขยะสารพัดในถังใบเดียวกัน ทิ้ง “ที่เหลือ” ของตนให้พ้นตัว ไม่คิดอะไรต่ออีกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับของที่เหลือเหล่านี้
ข้อมูลจากรายงานฉบับหนึ่งของฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ ชื่อ “หลักโครงการลดการใช้พลาสติกและโฟม” ปี 2547 สำรวจพบว่า อัตราการผลิตขยะจากพลาสติกและโฟมทั้งประเทศ มีจำนวนมากถึง 2.6 ล้านตันต่อปี หลายคนฟังแล้วอาจคิดว่าตัวเลขนี้ไม่สูงนัก แต่หากวาดภาพกองขยะนี้ ก็อาจกองโตมหึมา เทียบได้กับซากรถเก๋งจำนวนถึง 2.6 ล้านคันเลยทีเดียว
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลิตขยะพลาสติกและโฟม วันละ 1.3 แสนตัน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 60 เป็นถุงที่เรียกกันว่า “ก็อบแก็บ” จากห้าง รวมทั้งขวดบรรจุนม ขวดน้ำ และเครื่องดื่ม ซึ่งผลิตจากสารโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ถัดมาเป็นพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene) ที่ใช้ทำถุงแกง ถุงขนมขบเคี้ยว หลอดยาสีฟัน โฟมล้างหน้า แชมพู ครีมนวด ที่เหลือคือโพลีสไตรีน (Polystyrene จำพวกกล่องถ้วยจานโฟมที่ตกค้างปะปนอยู่ในขยะมูลฝอยชุมชน
ว่าไปแล้ว ถึงแม้ขยะพลาสติกและโฟมเหล่านี้จะมีเพียงร้อยละ 20 ของขยะทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้กลับน่าวิตกเพราะเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก และแม้จะรีไซเคิลได้ แต่หากเปื้อนเศษอาหารก็ยากจะจัดการที่ปลายทาง นี่ยังไม่นับรวมที่เข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ ไปจบสุดท้ายที่กระเพาะปลาผู้โชคร้าย หรือกลายเป็นทัศนะอุจาดตามชายหาด แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ
จากการสำรวจทัศนคติและความรู้ของประชาชนทั่วไปในรายงานฉบับดังกล่าวพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าพลาสติกและโฟมเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเนื่องจากย่อยสลายพวกมันได้ยาก ทั้งการกำจัดขยะส่วนใหญ่ก็ยังใช้วิธีการฝังกลบ เพราะหากใช้วิธีเผาก็จำต้องใช้ความร้อนที่สูงมาก ไม่เช่นนั้นจะเกิด “ไดออกซิน” สารอันตรายที่ก่อมะเร็งและทำลายระบบนิเวศ
นอกจากนี้ พวกเขาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการลดการใช้พลาสติกและโฟม แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร เราถึงจะลดการใช้พลาสติกและโฟมได้ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้อยู่รอบตัวเราทั้งนั้น
รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างด้วยว่า ประเทศอื่นๆ ก็กำลังคิดหาวิธีจัดการกับปัญหานี้ ใกล้เราที่สุดเห็นจะเป็น ไต้หวัน นั่นคือ เมื่อกลางปี 2545 ไต้หวันได้ออกประกาศนโยบายจำกัดการใช้ถุงพลาสติก (Plastic shopping bag use restriction policy) โดยมีผลบังคับห้ามไม่ให้ร้านค้าให้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมโดยไม่คิดราคา ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับถึง 100,000 ไต้หวันดอลลาร์ แน่นอน บริษัทผู้ผลิตต่างออกมาคัดค้านกันยกใหญ่ ทว่ารัฐก็ตอบโต้ด้วยการให้รางวัลแก่ผู้ที่ยอมปฏิบัติตาม
ถัดมาอีกนิด ที่แอฟริกาใต้ ปีเดียวกันก็ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และ ใช้ถุงพลาสติกชนิดบาง ซึ่งเคยถูกเรียกแบบเสียดสีว่าเป็น “ดอกไม้แห่งชาติ” เนื่องจากถุงที่ถูกทิ้งขว้างลอยลมละลิ่วไปติดห้อยตามกิ่งก้านบนต้นไม้ริมทาง บานสะพรั่งเป็นทิวแถวทุกฤดูกาล หลังการประกาศก็มีคนยากไร้ออกมาคัดค้าน ขณะเดียวกัน หลายคนกลับเห็นด้วยและสนับสนุนข้อกฎหมายนี้อย่างแข็งขัน
ส่วนเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และอังกฤษ ก็เริ่มมีการจัดเก็บภาษีถุงพลาสติกกันแล้ว ห้างร้านต้องขายถุงให้ลูกค้าแทนที่จะแถมให้ไปกับสินค้า ส่งผลให้เกิดการลดจำนวนการใช้พลาสติกได้ถึงร้อยละ 70 – 90
หันมามองประเทศไทยปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายโดยตรงใดๆ สำหรับจัดการปัญหาเรื่องพลาสติกและโฟม จะมีก็เพียงมาตรการ ตั้งแต่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการผลิตบริโภคพลาสติกและโฟมโดยสมัครใจ อาทิ กระบวนการผลิตที่สะอาด และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายลดการใช้พลาสติกและโฟมให้มากขึ้น
ด้านผู้กำหนดนโยบายหรือภาครัฐเองก็คงตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่ง่ายนัก เพราะพลาสติกและโฟมยังเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท
ดังนั้น ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเลือกใช้อะไรและจะจัดการกับขยะของตัวเองอย่างไร มิให้เป็นภาระกับผู้อื่นและโลก ไม่สงสารหรือละอายลูกหลานของเราบ้างเลยหรือ หากพวกเขาออกปากตัดพ้อรำพึง และต่อว่าคนรุ่นพวกเราว่า เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงชีวิตของคนรุ่นเขาเลย

ชีวิตรื่นรมย์ // ฉบับ 2 ม.ค. 2550
วนิสา สุรพิพิธ
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

เพื่อนริมระเบียง


ามว่างช่วงหลังมานี้ แทนที่จะเข้าร้านหนังสือ ข้าพเจ้ากลับนิยมเดินชมต้นไม้ แล้ววันหนึ่งก็พบว่า – เป็นไปได้อย่างไร ที่เรารู้จักต้นไม้อยู่ไม่กี่ต้น และไม่เคยแยกความแตกต่างระหว่างใบกระเพรากับโหระพาได้เลย สหายร่วมทางของข้าพเจ้าช่วยเลือก โมก ชบา พุด และกล้วยไม้จำพวกหวาย เป็นต้นไม้ประเดิมสำหรับมือใหม่หัดปลูก หลังจากจัดใส่กระถางเรียงไว้บนระเบียงห้องพัก พิธีกรรมใหม่ของทุกเช้าและเย็นคือ การรดน้ำต้นไม้และเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลง ทุกวันมีดอกและใบร่วงเหลืองโรย ทุกวันมีกิ่งตาและหน่อใหม่แทงยอด และทุกวัน ลมฟ้าอากาศก็ไม่เหมือนกัน บางกระถางต้องขยับที่วางใหม่ให้เหมาะกับปริมาณแสง บางกระถางต้องลิดกิ่งใบให้แตกใหม่ บางกระถางต้องคอยดูเพลี้ย ไม่ให้มีมากเกินจำนวนมด ภาวะสมดุลตลอดกาลนานคงไม่เคยมี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย คงต้องอาศัยการใส่ใจเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อก่อให้เกิดการปรับตัวที่เหมาะสมทันการณ์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนเลี้ยงต้นไม้ส่วนใหญ่พูดคุยกับต้นไม้ และไม่คิดว่าการพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตร่วมโลกที่สวยงามน่ารักอย่างต้นไม้เป็นเรื่องบ้า สำหรับคนในเมืองใหญ่และใช้ชีวิตอยู่ในห้องพักคนเดียว การมีเพื่อนเป็นสิ่งมีชีวิตลำตัวเขียวและมีอวัยวะสืบพันธุ์ (ดอก)สีต่างๆ ช่างเป็นเรื่องอันน่ารื่นรมย์เสียนี่กระไร เช้าวันที่ชบาดอกแรกคลี่กลีบซ้อนออกมาทักทายโลก ข้าพเจ้าก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทกลอนบทนี้

๏ ชบายิ้มหยอกเย้าแต่เช้าตรู่ ชื่นชมพูชูช่อจีบกลีบแก้มสวย
แย้มยั่วยิ้มพริ้มพรมลมระรวย ช่วยให้รู้ใช่อยู่เพียงเดียวดาย ฯ
๏เจ้าเบิกเจ้าบานแล้วหล่นร่วง หอมแห่งห้วงดวงชีวาใช่ขาดหาย
เจ้าร่วงเพื่อบานใช่วางวาย พิณกรีดสายร่ายบรรเลงเพลงนิรันดร์ ฯ


ยามเย็นย่ำค่ำดึก โมกพวงก็ส่งกลิ่นหอมอวลตลบไปทั้งระเบียง คนขายต้นไม้ย้ำนักย้ำหนาว่าให้ตัดกิ่งทิ้งก้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กิ่งก้านใหม่ได้แตกออก กิ่งก้านยิ่งมาก ดอกก็ยิ่งมาก สงสัยจริงว่าชีวิตคนเราต้องตัดอะไรออกไปบ้าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งดีงามใหม่ ๆ เช่นเดียวกับต้นโมก ในเวลาที่เห็นดอกไม้ ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอม และดูเหมือนจะซาบซึ้งมากขึ้นกับคำกล่าวของ ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามที่ว่า “เมื่อมองไปที่ดอกไม้ เราย่อมมองเห็นปุ๋ยคอก น้ำ เมฆ แสงแดด และแรงงานของคนสวนที่ขันแข็ง” ติช นัท ฮันห์ยังกล่าวอีกว่า “เมื่อเห็นดอกไม้ร่วงโรย เราไม่เคยเสียใจ แต่เมื่อประสบกับความตายหรือความพลัดพรากสูญเสีย เรากลับโศกเศร้า”
ข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่ก็หวั่นใจปนโศกเศร้า ในเมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดใบเหลืองขึ้นมาทั้งต้น ข้าพเจ้าก็มือไม้สั่น ไม่รู้จะช่วยชีวิตเพื่อนต้นไม้ อย่างไร นอกจากถอดออกจากกระถางมาผึ่งแดดไม่ให้รากเน่า และภาวนาให้หายป่วยในเร็ววัน เพื่อนริมระเบียงอีกตัวเป็นเจ้านกตัวใหญ่ที่บินมาเกาะขอบระเบียงเป็นประจำ ซึ่งต่อให้ข้าพเจ้ารู้จักนกเพียงไม่กี่ชนิดก็พอยันได้ว่า นกตัวนั้นไม่ใช่นกเอี้ยงหรือนกพิราบ นกตัวนั้นอาจประหลาดใจที่มีต้นไม้สีเขียวโผล่ขึ้นมาบนแท่งตึกสูง มันคงแวะมาดูว่ามีอะไรให้กินบ้าง ทั้งข้าพเจ้าเองก็ประหลาดใจไม่น้อยว่า เหตุใด ระเบียงเล็กๆ กับต้นไม้เพียงไม่กี่ต้นจึงเชื้อเชิญให้นกตัวนั้นเข้ามาแวะเวียนได้ นอกจากนกตัวใหญ่แล้วก็ยังมีเพื่อนมดตัวน้อย ช่วงหลังๆ เจ้ามดตัวจ้อยเริ่มทยอยหายไปจากห้องพัก ไม่มาตอมอาหารในถังขยะเหมือนเคย เพิ่งมารู้ภายหลังว่า ที่แท้ เพื่อนๆ ก็พากันไปทำรังอยู่ในกระถางนั่นเอง ว่าไปแล้ว หลังจากซื้อต้นไม้มาปลูกได้ไม่กี่สัปดาห์ ดูเหมือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเลยทีเดียว
ระเบียงดูเขียวสดใส อากาศเริ่มเย็นสบาย ห้องพักดูน่าอยู่ มีชีวิตชีวา และที่สำคัญคือมีกติกาเพิ่มขึ้น เป็นต้นว่าเจ้าของห้องจะต้องไม่หายหัวไปจากห้องพักนานเกินสองวัน และแล้ว ห้องพักที่มีคนอยู่ถี่ขึ้นจึงกลายเป็นห้องที่ “มีชีวิต” ขึ้นกว่าเดิม บางครั้ง พอนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ การผ่อนพักสายตากับสีเขียวของต้นไม้ หรือพักดื่มชา เดินชมชื่นช่อดอกใหม่ ก็เป็นของขวัญพิเศษระหว่างวันได้เช่นกัน น่าสนใจว่าทำไมต้นไม้จึงช่วยให้ใจของเราเบิกบานได้ และปรากฏด้วยว่า มนุษย์ทุกแห่งบนโลก ต่างรู้สึกเกี่ยวข้องและผูกพันกับต้นไม้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นอาจเป็นเพราะต้นไม้มี “พลังชีวิต” ที่ไหลเวียนอยู่ภายในตัวเช่นเดียวกับเราอย่างนั้นหรือ อาจารย์สอนรำมวยจีนท่านหนึ่งแนะนำข้าพเจ้าว่า “ในภาวะที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย พลังชี่หรือพลังชีวิตในตัวจะแผ่วเบา ให้ลองเอามือไปสัมผัสกับไม้ใหญ่แล้วโคจรลมปราณ พลังชี่จากต้นไม้จะถ่ายเทเข้ามาในตัวเรา ซึ่งช่วยให้เราสดชื่นหรือเบิกบานขึ้นได้” ข้าพเจ้าเชื่อแม้ยังไม่ได้ทดลอง เพราะเพียงแค่มองเห็นต้นไม้ก็รู้สึกสบายตาสบายใจแล้ว อย่าว่าแต่สัมผัสเลย ต้นไม้เป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจหลายอย่าง เด็กๆ หลายคนฝันใฝ่จะมีบ้านบนต้นไม้ แต่ผู้ใหญ่อย่างวิลเลียม แม็กโดนาฟ และมิคาเอล บราวน์การ์ต หนึ่งสถาปนิกและหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ กลับเลือกเนรมิตต้นไม้ไว้ในบ้านแทน ทั้งคู่เขียนหนังสือชื่อ From Cradle To Cradle: remaking the way we make thingsจนมีชื่อเสียงเป็นที่ลือลั่น พลิกวิธีคิดในวงการออกแบบอุตสาหกรรมอย่างถึงรากถึงโคน พวกเขาเสนอให้สร้างอาคารที่มีคุณลักษณะเหมือนต้นไม้คือ “ให้พลังงานมากกว่าที่ใช้ไป” หลังคาปูด้วยผืนหญ้าเพื่อเก็บซับน้ำและกันความร้อน ทั้งยังดึงดูดให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้ามาอาศัยกลายเป็นสวนธรรมชาติขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย ระเบียงห้องพักของข้าพเจ้ายังไม่มีพื้นหญ้า แต่ก็คิดว่าคงเป็นการดีไม่น้อยหากห้องพักทุกแห่งในเมืองได้รับการออกแบบให้มีสวนเล็กๆ ภายในเช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์จำเป็นอื่นๆ พูดถึงสวนในบ้าน ข้าพเจ้านึกได้ว่าเมื่อคราวเป็นเด็ก ได้มีโอกาสอาศัยอยู่กับยายที่ต่างจังหวัด บ้านเรือนแต่ละหลังล้วนรายล้อมไปด้วยต้นไม้ “ต้นไม้เป็นของกำนัลแลกเปลี่ยนมากกว่าไว้ซื้อขาย” ทว่าทุกวันนี้ หากคิดจะปลูกต้นไม้ทั้งที ดินก็ต้องซื้อ แถมยังต้องซื้อคู่มือปลูกต้นไม้มาอ่านประกอบอีก ภาวะแปลกแยกระหว่างวิถีชีวิตปัจจุบันกับธรรมชาติคงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงรู้จักต้นไม้น้อยต้นเหลือเกิน และทั้งที่หยิบจับหนังสืออ่านวันละหลายเล่ม แต่ข้าพเจ้ากลับไม่รู้สึกหรือสนใจเลยว่า หนังสือที่กำลังถืออ่านอยู่นั้น ทำมาจากไม้ต้นอะไร?

ชีวิตรื่นรมย์ / โพสต์ทูเดย์ / ฉบับ 30 ม.ค.50
ชลนภา อนุกูล
สนับสนุนโดย กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 14, 2550

ชานใจ

“ชาน” ในความหมายของเรือนโบราณ คือส่วนที่ต่อยื่นออกมาจากตัวเรือน พื้นลดระดับต่ำกว่า ไม่มีหลังคาคลุม พื้นที่ชานมีไว้ทำประโยชน์สารพัด ทั้งนั่งเล่น นอนเล่น รับแขก ซ้อมดนตรี โขลกน้ำพริก ล้อมวงกินข้าว ล้างจาน ทำงานฝีมือ ฯลฯ
คนใช้ประโยชน์จากชานก็มีหลากหลาย ทั้งหลายรุ่น หลายวัย และหลายสปีชีส์ ตั้งแต่นกกาหมาแมว ลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงปู่ย่าตายาย ใครใคร่ใช้ก็ใช้ ด้วยใจเบาๆ สบายๆ ไม่ต้องเกรงใจกันมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองพันธุ์ พูนสุวรรณ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณาจารย์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกกันติดปากด้วยความเคารพอย่างยิ่งว่า “คุณลุง” บอกฉันว่า คำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลีก็คือคำเดียวกับคำว่า “ชาน” นี่เอง
คุณลุงยกตัวอย่างถึง “ชานบันได” ว่าเป็นที่พักเหนื่อยระหว่างการเดินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง เดินขึ้นมาเหนื่อยก็พักเสียหน่อยที่ชาน หายเหนื่อยแล้วค่อยเดินต่อไปอีกชั้น เดินไปเรื่อยๆ ก็จะมีจุดพักเป็นระยะ
การทำสมาธิก็เช่นกัน มีการแบ่งภาวะจิตเป็นฌานขั้นต่างๆ แบบชานบันได นั่นคือมีการกำหนดจุดพักจิตเป็นระยะๆ ตามการเดินทางของจิตสู่ความสงบ ประณีต ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าอย่างนั้น นอกจากชานบ้าน ชานบันได หรือที่โล่งว่างเพื่อให้เราได้พักอย่างอิสระจนหายเหนื่อยกาย สบายเนื้อสบายตัวแล้ว เรายังต้องการ “ชานใจ” เพื่อเป็นที่พักผ่อน บรรเทาเยียวยาความเหนื่อยล้าของจิตใจ ให้ใจกลับมาผ่องใส เบิกบาน เป็นจิตใจที่ควรค่าแก่การงานเช่นกัน
ก่อนนี้ เวลาฉันไปสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อหาข้อมูลมาเขียนหนังสือ พอสัมภาษณ์เสร็จก็มักนึกถึงอาหารอร่อยๆ ซึ่งราคาก็มักจะสูงเอาเรื่องเสมอ ทันทีที่ถึงร้านและสั่งอาหารราวกับหิวโซอดอยากมานาน พอทานเสร็จ ไม่เพียงความรู้สึกเท่านั้นที่เบาสบาย หากกระเป๋าสตางค์ใบน้อยของฉันก็เบาตามไปด้วย
เมื่อนำความรู้เรื่อง “ชาน-ฌาน” ของคุณลุงมาสังเกตใจตนเองก็พบว่า ภาวะใจที่ทำงานหนักจนเหนื่อยล้านั้น ได้แอบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังระหว่างการพบปะพูดคุยกับผู้คน พอเสร็จภารกิจ ใจก็จะรีบกลับสู่ความสงบสบายอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม
สำหรับใจของฉันได้อาศัย “ความพึงใจจากการทานอาหาร” เป็นหนทาง
เหลียวมองรอบตัวฉัน ผู้คนมากมายก็ทำสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างชานใจให้แก่ตนเองเช่นกัน
การจ่ายและเสพสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มกิน การเที่ยว การไปดูหนังฟังเพลง ช็อปปิ้ง รวมทั้งการมีเซ็กซ์ ล้วนเป็นชานใจด้วยกันทั้งนั้น
การสร้างชานใจที่ละเมียดละไมขึ้นก็ต้องลงแรงกายแรงใจมากขึ้นตามส่วน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นดนตรี เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ สร้างความสัมพันธ์กับผู้คน ทำงานอาสาสมัคร และดูแลคนใกล้ชิด
ส่วนการสร้างชานที่ตั้งมั่นพาจิตใจกลับสู่ “ความสงบสบาย” ก็เช่นการสะกดจิต ทำสมาธิภาวนา โยคะ รำมวยจีน หรือกิจกรรมกลุ่มแบบอื่นๆ ที่หวังผลทำนองนี้
หากชานบ้านและชานบันไดแยกออกจากตัวบ้านและตัวบันไดไม่ได้ ชานใจของเราก็เช่นกัน
คุณลุงเล่าต่อถึงการ “เข้าฌาน” ซึ่งเป็นวิธีการแสวงหาความรู้และความจริงของชีวิตในพุทธศาสนาว่า ฌานมี 2 แบบหลักๆ คือ “รูปฌาน” และ “อรูปฌาน” แต่ที่พูดถึงกันมากคือรูปฌาน ซึ่งมี 4 ระดับ
ฌานที่ 1 ประกอบด้วย “วิตก” (การกำหนด-ปักหลักจิตลงสู่อารมณ์หนึ่ง) “วิจาร” (การพิจารณาหรือตามทบทวนอารมณ์นั้นๆ) “ปีติ” (ปิติ ซาบซ่าน เอิบอาบทั่วร่างกาย) “สุข” (ความสบาย ความสำราญ) และ “เอกัคคตา” (ความมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์หนึ่งเดียว)
จากฌานที่ 1 จิตจะเข้าสู่ฌานที่ 2 นั่นคือระดับที่เราระงับวิตกและวิจารลงได้ ซึ่งคุณลุงบอกว่า หมายถึงการระงับความคิดลง เมื่อความคิดหยุด “สมาธิ” เบื้องต้นก็จะเกิด
ส่วนฌานที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเราระงับปีติลงได้ และฌานที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อระงับสุขลง จากนั้น สมาธิที่สมบูรณ์ก็จะปรากฏ
ฌานคือจุดกำหนดสำคัญของการทำสมาธิ และการทำสมาธิก็เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในจำนวนเครื่องมือหลักสามประการเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตในโลกทัศน์ของพุทธธรรม นั่นคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
การเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงจะนำพาชีวิตสู่อิสรภาพ ไร้การบีบคั้นจนหมดทุกข์ ฌานจึงเป็นเหมือนหลักกิโลให้เราเห็นความก้าวหน้าในการเดินบนหนทางของตนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ถูกที่ควร
ฉันถามตัวเองว่า ผลของการสร้างชานใจให้ตนเองด้วย “การทาน” นั้น ทำให้ใจสงบขึ้นได้ไหม และตอบตัวเองว่า ได้เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ใช่ความสงบที่ละเอียดปราณีต แต่นั่นก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
ฉันยังอีกพบว่า การใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงของใจอย่างหนักหน่วงนั้น จะทำให้เราต้องใช้ชานใจที่หยาบกว่าการดำเนินชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย
เรื่องนี้ ฉันเคยคุยกับคนขับรถบรรทุกคนหนึ่ง เขาเล่าว่าต้องเสพยาบ้าทุกครั้งที่ขับรถ และเมื่อกลับถึงบ้านแบบหมดสภาพก็ยังต้องมีเซ็กซ์เสียก่อนจึงจะนอนหลับ
ผู้หญิงทำงานกลางคืนที่ฉันสังเกตเห็น ส่วนใหญ่ต้องกินเหล้าหลังเลิกงานเพื่อผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานบริการ
ส่วนตัวฉันเอง ในวันที่ต้องคิด-เขียนทั้งวัน แม้จะหมดแรงแทบลืมตาไม่ขึ้น แต่กว่าจะหลับได้ก็ต้องคว้าหนังสืออะไรก็ได้มาอ่านอีก เป็นชานให้สมองที่วิ่งเร็วจี๋ค่อยๆ ผ่อนลง เหมือนพัดลมที่เพิ่งปิดสวิตช์แล้วยังต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งกว่าใบพัดจะหยุดสนิท
การที่เราไม่เข้าใจ “ธรรมชาติของใจ” ที่ต้องการความสงบสบายอันจริงแท้ เราจึงเลือกวิธีสร้างชานใจที่ให้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราว
ถึงที่สุด ชานที่ว่าก็กลับกลายเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นชินและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตั้งต้น นั่นคือ ความวุ่นวายของใจแต่ประการใด หนำซ้ำ กลับสร้างเรื่องยุ่งๆ ต่อเนื่อง ทำให้เราต้องทำอะไรบางอย่างอันจะเป็นปัญหาใหม่ให้เราต้องแก้ เป็นระลอกเช่นนี้เรื่อยไปไม่รู้จบ
การจะเลือกสร้างชานใจตามแบบที่เหมาะที่ควรในวิถีชีวิตปกติได้ คงต้องตั้งคำถามใหญ่ๆ กับตนเองก่อนว่า “ชีวิตของเราเป็นไปเพื่ออะไร” เมื่อตอบตนเองได้แล้ว เราจะได้เลือกใช้ชานที่ช่วยให้ใจมุ่งไปสู่ชีวิตแบบที่ต้องการได้ไม่หลงทาง
และเมื่อใจเราสงบสบายได้ระดับหนึ่ง ใครจะรู้ว่าหลัก “ชาน” ที่เรามองเห็นอยู่ข้างหน้านั้นก็อาจเป็นหลักเดียวกับ “ฌาน” ที่นำพาชีวิตเข้าสู่อิสรภาพได้เช่นกัน

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2550

จารุปภา วะสี media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2550

ลัทธิบ้างาน (ใหม่ล่าสุด)


ดิฉันมักโดนเรียกว่าเป็น “คนบ้างาน” คนหนึ่ง
ค่าที่ว่าค่อนข้างเห็นความสำคัญและให้เวลากับงานมากที่สุด หายใจเข้าก็งาน หายใจออกก็งาน รู้สึกฮึกเหิมทุกครั้งเมื่อได้ประชุมวางแผนงาน อยากทำงานให้ได้ปริมาณมากๆ ว่างขึ้นมาเป็นอันต้องนึกสรรค์ฝันถึงโครงการใหม่ๆ จนกลายเป็นเจ้าจอมโปรเจ็คท์ เวลางานเร่งด่วนก็พร้อมจะพลีกายถวายชีวิตทำงานจนดึกดื่นค่อนคืน ยินดีทำไม่เลิกไม่รายันสว่าง นอนค้างออฟฟิศด้วยซ้ำไป เพื่อให้งานเจ้าประคุณเสร็จคามือ เสียแต่ผู้ร่วมงานไม่ใคร่จะเอาด้วย คงเป็นเพราะดีกรีความบ้าของคนเรามันไม่เท่ากัน
ปรัชญาการทำงานของดิฉันอยู่บนพื้นฐานของความเชื่ออย่างสนิทใจว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน” เราอยากมีค่า เราต้องทำงาน อยากมีค่าเยอะๆ ก็ต้องทำงานเยอะๆ แต่แล้ววันหนึ่ง หลังจากตะลุยงานที่รักอย่างบ้าระห่ำอยู่พักใหญ่ จิตไร้สำนึกก็ดันตรึกนึกได้ว่า ดิฉันต้องการการพักผ่อน อยากหยุดงาน ลาพัก เหมือนเด็กที่เฝ้ารอให้ถึงวันปิดภาคเรียนในเร็ววัน ความปรารถนานี้ได้เข้ามาแทนที่ความบ้าที่ว่า พอมากเข้าๆ ที่สุดก็ถึงขั้นเอาตัวเองมาสู่ภาวะ “ว่างงาน” ไร้สังกัดใดๆ
ยามที่คนเราว่างงานมาได้สักระยะก็มักจะมีคำถามยอดนิยมจากคนรอบข้างว่า “ตอนนี้ทำอะไร (บ้าง)” ยิ่งมนุษย์ที่เคยเข้าข่ายบ้างานอย่างดิฉัน น้ำเสียงของผู้ถามก็มักเจือความเวทนา “ป่านนี้ มันจะฟุ้งซ่านเพราะความว่างไปอย่างไรแล้วหนอ” ดิฉันยอมรับอย่างบริสุทธิ์ใจว่า เมื่อแรกหยุดงาน นอกจากอารมณ์หรรษาและอิสรภาพอันหอมหวานแล้ว ในทางตรงข้าม บางวันดิฉันก็กลับตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึก...เคว้ง !!!
บัดนี้ เราไม่มีโต๊ะประจำตำแหน่งแล้ว ไม่มีกองงานมาวางตรงหน้า ไม่มีนาฬิกามากำกับเวลางาน กำหนดเส้นตายไร้ความหมาย เจ้านายหายหน้า ดิฉันไม่มีลูกน้องอีกแล้ว มนุษย์เงินเดือนสิบกว่าสมัยถึงกับคิดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะต้องจัดการตัวเองอย่างไร ไม่รู้จะบริหาร 24 ชั่วโมงที่เหลือเฟือนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่แต่ก่อน จำนวนชั่วโมงเท่ากันนี้กลับไม่เคยพอ
ปรกติเกือบทุกเช้า พ่อแม่ของดิฉันจะออกจากบ้านไปใส่บาตรและจ่ายตลาด ปุเลงๆ หอบหิ้วถุงอาหารพะรุงพะรังกันสองคน ขึ้นรถต่อรถให้วุ่น หากเป็นวันวานที่ต้องรีบเข้างานให้ทันเวลา ลูกที่สุดห่วงก็แทบไม่ได้ดูแลท่านเลย จนเมื่อหยุดพัก ดิฉันจึงมีโอกาสไปใส่บาตรและจ่ายตลาดกับพ่อแม่ กิจวัตรอย่างนี้จัดเป็น “งาน” อย่างหนึ่งได้ไหม งานขับรถ เป็นเด็กหิ้วของ งานใหม่ชิ้นแรกของดิฉันวันนี้เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ เร็วขึ้นกว่าก่อน แต่กลับใช้เวลาทำเพียงไม่นานก็เสร็จ สายๆ ก่อนแดดจะแรงเป็นเวลางานรดน้ำต้นไม้ จากนั้นจึงจะเป็นชั่วโมงจัดการกับเสื้อผ้ากองโต ซักได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องรอให้ถึงวันเสาร์และอาทิตย์ หากห้องรกก็จัดห้องต่อ หรือห้องน้ำเขรอะก็ลงมือขัดล้างทำความสะอาด ผ้าม่านฝุ่นจับมานานก็ได้ฤกษ์ถอดเปลี่ยน กิจวัตรอย่างนี้จัดเป็นงานได้ไหม ได้สิ เพราะการทำสวน รับจ้างซักผ้า เป็นแม่บ้าน หรือเด็กรับใช้ ก็ถือเป็น “การงาน” ได้ทั้งนั้น
ดิฉันจึงได้เรียนรู้ว่า “งาน” มีอยู่รอบตัวเรา และถ้าจะหยิบจับทำกันจริงๆ ก็มีอะไรให้ทำเสมอ งานเทือกนี้ หากคิดแบบคนเมือง (พึ่งพาเงินเดือน) ย่อมไม่ถือเป็นงานสร้างรายได้ แต่ก็น่าคิดด้วยว่า “คนเราจะทำทุกอย่างเพื่อเงินเสมอไปเท่านั้นหรือ” แม้งานแบบนี้อาจจะไม่ได้เงิน แต่ก็บันดาลสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า นั่นคือ “ความสุขใจ”
งานบางอย่าง ทำแล้วสบายใจ บางอย่าง ยิ่งทำยิ่งเพลิน
งานบางอย่าง ทำแล้วได้ออกแรงออกกำลัง ขณะที่บางอย่าง ปฏิบัติบ่อยเข้าก็จะเกิดสมาธิและปัญญา
งานบางอย่าง ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บางอย่างก็ให้แรงใจแก่ใครหลายคนได้ฝึกฝนตาม
ดิฉันลองหัดเย็บเสื้อใส่เองบ้าง เลือกทำด้วยใจรัก แต่พอได้ลงมือทำจริงกลับเล่นงานเรา คนที่เคยแต่ทำงานด่วน ต้องเร่งให้เสร็จทันกำหนดกาล เกิดอาการอารมณ์เสีย หงุดหงิดงุ่นง่านอยู่หลายครั้ง แต่งานฝีมือก็สอนดิฉันให้รู้จักอดทน ฝึกฝนการทำสมาธิและการใช้สติกำกับใจให้เย็นลง เพราะหากเร่งไป ใจก็ย่อมร้อน มุ่งแต่จะให้เสร็จโดยเร็ว ยิ่งเร่ง งานก็ยิ่งช้า เสื้อผ้าที่เสร็จออกมาก็อาจจะไม่สวย ซ้ำอาจจะทำไม่สำเร็จอีกด้วย ที่จริง ผลงานของเราจะออกมาเช่นไรก็ไม่สำคัญเท่า “ความภูมิใจในตัวเอง” ดิฉันหยิบเสื้อตัวนั้นมาชื่นชมอีกหลายต่อหลายครั้ง และไม่ลังเลที่จะบอกใครว่านี่คืองานฝีมือของฉันเอง ปลื้มแล้วปลื้มอีก เป็นความอิ่มเอมใจที่หาไม่ได้ในสินค้าที่ซื้อหามาครอบครอง ความจริงแล้ว ดิฉันก็ยังเป็นคนบ้างานอยู่ เพียงแต่เป็นความบ้าแบบใหม่ที่ตระหนักในคุณค่าของการทำงานอันหลากหลาย เห็นงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นงานสำคัญของชีวิตทั้งสิ้น
วันนี้ ดิฉันรู้สึกว่าชีวิตมีค่าและอยากใช้เวลาอันละเมียด ทำงานทุกอย่างด้วยสติ บ้างานแบบนี้ไม่ทำให้ชีวิตเครียดเลย ยิ่งบ้าก็ยิ่งเพลิดเพลิน ยิ่งมีความสุขกับการทำงาน ดังคำสอนของนักบวชตามแนวทางแบบเซนท่านหนึ่งคือ “ติช นัท ฮันห์” แห่งหมู่บ้านพลัม
ท่านสอนให้เรารู้จักปฏิบัติธรรมฝึกสติขณะทำงานเสมอ หากล้างจานก็ให้รู้ว่ากำลังล้างจาน คือให้เรามีชีวิตอยู่กับนาทีนั้นๆ นั่นคือ ฝึกจิตให้รับรู้ว่าการทำงานขณะนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ปล่อยใจให้ทำงานอย่างขอไปที หรือรีบทำเพียงเพื่อให้เสร็จโดยปราศจากการตระหนักรู้ ช่วงเวลาทำงานจึงมีประโยชน์มหาศาลคือใช้ฝึกสติได้โดยไม่ต้องนุ่งขาวห่มขาวหรือปลีกวิเวกไปไหนไกล
“ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ยังเป็นจริงในความรู้สึก ผิดกันแต่คราวนี้ “ค่า” ไม่ได้มีความหมายแค่ “ค่าตัว” หรือคุณค่าที่ได้รับจากผู้อื่น “ค่า” ครั้งนี้เป็นคุณค่าทางใจที่ผู้อื่นอาจสัมผัสไม่ได้ มองไม่เห็น ตีราคาไม่เป็น แต่ก็รับรู้ได้ด้วยหัวใจ ธรรมชาติของคนทำงานประจำมักยุ่งขิงอยู่กับเรื่องเดิม ทำงานแบบเดิม นั่งในท่าเดิม บนเก้าอี้ตัวเดิม ประสบปัญหาเดิม แก้ปัญหาแบบเดิมๆ มองโลกเหมือนเดิม พบเจอแต่คนเดิมๆ แม้แต่บทสนทนาก็ยังพูดพร่ำแต่เรื่องเดิมๆ
ลองหันมาหาโอกาส มองให้เห็นความสำคัญของงานในรูปแบบและเนื้อหาใหม่ๆ ดูบ้าง บางที ชีวิตของเราๆ ท่านๆ ก็อาจได้รับบทเรียนชีวิตใหม่ๆ บ้าง

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันที่ 06 กพ 2550
ภัทรพร อภิชิต media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล