วันพฤหัสบดี, มีนาคม 29, 2550

Happy Media Learning Tour เดือนเมษายน กับ ศิลปิน ช่างปั้น




ขอชวนเพื่อน ๆ เยี่ยมบ้านครูช่าง ผู้พบบทเรียนแห่งชีวิตผ่านงานปั้น รองศาสตราจารย์สมถวิล อุรัสยะนันทน์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๙ สาขาทัศนศิลป์ (ออกแบบอุตสาหกรรม)
อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษอีกหลายสถาบัน ทั้งยังเป็นกรรมการผู้ริเริ่มก่อตั้งภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการตัดสินการประกวดผลงานเซรามิกส์อีกหลายเวที

ผลงานอันโดดเด่นแปลกใหม่ของท่านคือจุดบรรจบระหว่างธรรมชาติกับงานศิลปนวัตกรรม ซึ่งขจรไกลข้ามพรมแดนไทยสู่หลายประเทศทั่วโลก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ข้อคิดสอนชีวิตที่อาจารย์ประสบตลอดชีวิตการปั้นและงานสอนกว่า 40 ปีที่ผ่านมา


อาจารย์สมถวิลเขียนไว้ว่า “ในการปั้น มีสิ่งที่จะต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา...สิ่งนี้จะช่วยให้เรานำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้”

นอกจากนี้ ลูกชายคนสุดท้องของท่าน – ภรต อุรัสยะนันทน์ – นายธนาคารผู้รักการภาวนาผ่านงานปั้น จะมาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนปรัชญาชีวิตที่ตนค้นพบจากการทำงานปั้นกับพวกเราด้วย

นายแบงค์อย่างคุณภรตบอกว่า “ดินคือตัวเรา หากไม่ใส่ใจทำงาน งานที่ได้ก็จะออกมาไม่ดี ต่างจากงานที่ทำด้วยใจชัดเจน ดินยังสอนสัจธรรมแก่เราด้วยว่า ทุกสิ่งล้วนไม่จีรัง”

ผู้ใดสนใจกิจกรรมครั้งนี้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ เอก 02-428-7946 หรือ (มือถือ) 081-556-5269 เราจะนำขนมไปทานกันด้วย ในเช้าวันเสาร์ที่ 7 เมษายน เวลา 10.30 – 12.00 น. ณ Som Ceramics Studio เลขที่ 5 สุขุมวิท 56 (เข้าไปไม่ไกล ด้านซ้ายมือ รั้วหน้าบ้านสีขาวดำ)

...แล้วพบกันนะครับ...

ขอเชิญนักเดินทาง ร่วมใส่ไวตามินให้ร่างกายแข็งแรง




สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ขอเชิญเดินทางไป "สัมผัสหัวใจอันงดงาม" ร่วมเปิดตัวหนังสือ
"เดินสู่อิสรภาพ" ของ ประมวล เพ็งจันทร์
"จากเชียงใหม่ - เกาะสมุย 66 วัน กับ 1,000 กม.
เมื่อสองเท้าสัมพันธ์กับหัวใจ มีของฝากอะไรจากริมทาง"


พบกับ ประมวล เพ็งจันทร์ (คนเขียน), อุ๊ ช่อผกา วิริยานนท์ (คนอ่าน)
ชวนคุยโดย ประสาน อิงคนันท์ (คนเดินเรื่อง) จากรายการ คนค้นคน
วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2550 เวลา 12.00 - 13.00 น.
ณ เวทีกิจกรรม Hall A ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


หนึ่งใน 3 กิจกรรมบำรุงหัวใจ เพื่อ "การเดินทางด้านใน" สู่ความสดใสของชีวิต

  • "เดิน..สู่อิสรภาพ" เรื่องจริงจากทุกย่างก้าวและทุกลมหายใจ ของประมวล เพ็งจันทร์ ด็อกเตอร์ทางด้านปรัชญา ผู้ลาออกจากการเป็นอาจารย์มหา'ลัย ในวัน 50 ปี ตั้งใจ "เดินเท้า" ทางไกลจากเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่บ้านเกิดที่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดย ไม่พกเงินติดตัว / ไม่เดินไปหาคนรู้จัก หากคนรู้จักอยู่ที่ไหนก็จะหลีกเลี่ยง / ไม่ร้องขออาหาร เว้นแต่มีผู้หยิบยื่นให้เองโดยไม่เดือดร้อน / ไม่เบียดเบียนใคร หรือสิ่งใด / ไม่กำหนดเวลา / ไม่กำหนดเส้นทางที่แน่ชัด

  • ตลอดการเดินเท้า 66 วัน ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งน่าปลาบปลื้มใจในมิตรภาพของผู้คนรายทาง และน่าระทึกใจ อาทิ เฉียดตายจากการเดิน, นอนกับหมาขี้เรื้อน, อดข้าวนาน 3 วัน, ถูกชาวบ้านและตำรวจล้อมจับตัวกลางดึก, ถูกสงสัยว่าเป็นคนบ้า บ้างก็ว่าเป็นขโมย เป็นสายสืบ และอีกหลากหลายเรื่องราวที่เป็นทั้งบทเรียนอันมีค่าและวิธีคิดที่ท้าทายยุคสมัย

  • "เดิน..สู่อิสรภาพ" หนังสือที่เต็มไปด้วยรอยเท้าจากการ "ก้าวเดิน" ออกไปเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิต ออกไปต่อสู้กับความยากลำบาก ความไม่สะดวกสบายทางกาย และมุ่ง "ก้าวเดิน" ให้พ้นจากความหวาดกลัวทั้งปวงภายในจิตใจ

  • "เดิน..สู่อิสรภาพ" หนังสือที่เปี่ยมด้วยเรื่องราวของมิตรภาพ ความรัก และการเรียนรู้ชีวิตภาคปฏิบัติ ผู้เขียนนำความอบอุ่นระหว่างทางมากำนัลผู้อ่านผ่านทางตัวหนังสือบนหน้ากระดาษได้อย่างเข้าถึงเสมือนหนึ่งผู้อ่านได้ร่วมอยู่ในแต่ละย่างก้าว ในแต่ละเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

  • รายละเอียดเพิ่มเติม คุณเจี๊ยบ-อุษา 0-2415-2621 ต่อ 806 08-6778-0110

    การเสวนา ๓ ทศวรรษสายธารความคิด ติช นัท ฮันห์ กับสังคมไทย


                        
    นับตั้งแต่ ติช นัท ฮันห์ พระภิกษุหนุ่ม ชาวเวียดนาม จำต้องอพยพ ออกจากแผ่นดินเกิด เพื่อลี้ภัยสงครามเมื่อ ๓ ทศวรรษก่อน ทำให้โลก และ สังคมไทย ได้รู้จักขุมทรัพย์แห่งปัญญา และความรัก อันรุ่มรวยของพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะเมื่อมีการแปล ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เป็นภาษาไทย เมื่อปี ๒๕๑๙ ในท่ามกลางยุคสมัยของการใช้ความรุนแรงต่อกัน ในนามของความแตกต่าง ทางอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ช่วยสร้าง แรงบันดาลใจ แก่คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งในยุคนั้น ให้สามารถหยัดยืน

    ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยศานติ ทั้งในระดับบุคคล และ โครงสร้างสังคม นับแต่นั้นมา งานเขียนของท่าน หลายสิบเรื่อง ได้ถูกแปลเป็น ภาษาไทย อย่างต่อเนื่องมาตลอด อาทิ เดิน วิถีแห่งสติ, ด้วยปัญญาและความรัก, ทางกลับคือการเดินทางต่อ เป็นต้น เกิดเป็นกลุ่มก้อนของผู้ศึกษางานของท่าน อย่างจริงจัง และแตกหน่อออกไปเป็น กลุ่มปฏิบัติการต่างๆ อันมีพื้นฐาน ของการภาวนา และรับใช้สังคมไปพร้อมๆ กันจำนวนมากมาย โดยกาลเวลาที่ผ่านเลย มากว่า ๓ ทศวรรษ มิได้ทำให้คุณค่าในงานของท่าน ลดน้อยถอยลงไป หากกลับยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ในภาวะที่โลก ยังคงเป็นไปด้วยความอยุติธรรม และรุนแรงรูปแบบใหม่ๆ เคลื่อนจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง มาเป็นการอ้างถึงความขัดแย้งทางอารยธรรมหรือศาสนาแทน

    ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดี ที่สังคมไทยควรจะได้กลับมา ทบทวนว่า เราได้เรียนรู้อะไร จากงานของท่าน โดยวิเคราะห์ ผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ ตลอด ๓ ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา และยังจะต้อง เรียนรู้อะไรอีกบ้าง เพื่อนำมาใช้ แก้ปัญหา ความขัดแย้ง และความรุนแรงต่างๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

    ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้เชิญผู้แปลงานเขียน หรือได้รับ แรงบันดาลใจ จากท่านอย่างสำคัญ มาร่วมเสวนา แบ่งปัน ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน เพื่อกระตุ้นเตือน ให้สังคมไทยตระหนักว่า การแก้ไขความขัดแย้งด้วยศานติ เป็น หนทางไปสู่ความสงบสุขอย่างแท้จริง ใน วันศุกร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ ห้องประชุมย่อย ๑ (Meeting Room 1) ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

    ผู้ร่วมจัดงาน : มูลนิธิโกมลคีมทอง, กลุ่มสังฆะแห่งสติ, สำนักพิพม์เคล็ดไทย, ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหิดล

    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    มูลนิธิโกมลคีมทอง ๐๒-๔๑๒-๐๗๔๔
    กลุ่มสังฆะแห่งสติ ๐๘๖-๗๘๙-๗๐๗๐
    ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiplumvillage.org

    วันอังคาร, มีนาคม 27, 2550

    ความสุขของลุงสุข

     
    ช่วงวัยก่อนอายุสามสิบเช่นผม มีหลายกิจกรรมรื่นเริงที่คนรุ่นเดียวกันมักไปร่วมสังสรรค์ ส่วนใหญ่เป็นงานวันเกิด บ้างเป็นงานแต่งงานของคนหลายคู่ที่ต้องการให้เพื่อนฝูงร่วมแสดงความยินดี
    ทว่างานพิธีที่ผมเดินไปร่วมในเย็นวันนั้นไม่ใช่งานรื่นเริง...แต่เป็นงานศพ
    ผมไม่ใช่คนคุ้นเคยกับงานศพ และเชื่อว่าไม่มีใครอยากจะคุ้นเคยกับงานศพ เพราะนั่นหมายถึงการลาจากของบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่มีใครอยากจะฝืนเอ่ยว่า ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่ถวิลหาชีวิต แต่สุดท้ายความตายก็ตามหาชีวิตของเราจนพบ
    ระหว่างที่ผมกำลังย่ำเดินยังทางเท้า จำต้องแวะผ่านอาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งย่านสาธรซึ่งโฆษณาสวยหรูว่าเป็นจุดศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่สุดในประเทศ ประตูทางออกและฝ้าเพดานของอาคารหลังใหม่เพิ่งถูกฉาบทาด้วยสีน้ำมัน ชั้นหนังสือใหม่แกะกล่องแลดูสวยงาม

    แต่ผมคิดว่าหน้าร้านที่เห็นเป็นเพียงห้องแสดงสินค้าไม่ต่างจากโชว์รูมรถยนต์
    หันเมินกับหนังสือหลายหลาก มิใช่มองเป็นสิ่งไร้ค่าเสียทั้งหมด แต่เพราะผู้ที่ผมกำลังเดินทางไปให้เกียรติครั้งนี้คือผู้สร้างหมุดหมายบางอย่างที่ทำให้ผมคิดถึงร้านหนังสือในอีกรูปลักษณ์ที่มีบรรยากาศแห่งการอ่านและการเรียนรู้อย่างแท้จริง
    ชายผู้นั้นคือคุณลุงสุข สูงสว่าง บุรุษผู้กว้างขวางแห่งวงการหนังสือในเมืองไทย
    ผมไม่รู้จักลุงสุขเป็นการส่วนตัว รู้เพียงในยามที่ผมยังเด็ก ร้านหนังสือดวงกมล (D.K. Book) ที่คุณลุงเป็นเจ้าของ คือร้านหนังสือที่มีคุณภาพ มีสาขามากมายหลายสิบแห่ง ด้วยเขาคือผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจหนังสือดวงกมล
    ประกอบด้วยร้านหนังสือดวงกมล สำนักพิมพ์ดวงกมล เป็นผู้นำเข้าตำราภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์หนังสือและตำราวิชาการเป็นภาษาไทย ทั้งเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร ‘โลกหนังสือ’ เมื่อ พ.ศ.2520 ซึ่งคุณพ่อของผมรับหน้าที่บรรณาธิการ
    ในช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น ธุรกิจหนังสือของลุงสุขยังก้าวกระโดดสู่การเปิดร้านหนังสือดวงกมลสาขาซีคอนสแควร์ ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แถมยังมีโครงการ ‘เมืองหนังสือ’ ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้เป็นแหล่งซื้อขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุด แต่น่าเศร้าที่โครงการหมู่บ้านนักเขียนนานาชาติที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี กลายเป็นโครงการที่จำต้องถูกล้มเลิก เนื่องจากปัญหาพิษเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2540
    ส่วนหนึ่งในความพยายามของลุงสุข เกิดขึ้นเพราะต้องการลบล้างบทบันทึกในพจนานุกรม LONGMAN ที่ระบุว่ากรุงเทพมหานครคือนครแห่งโสเภณี
    หลังจากทุ่มเทชีวิตกับการเผยแพร่หนังสือเป็นเวลากว่า 40 ปี ในเวลาต่อมา ลุงสุขก็มีปัญหาครอบครัว ปัญหาการฟ้องร้องหนี้สินและธุรกิจกับครอบครัวผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือดวงกมลมาด้วยกัน จนสุดท้ายก็ล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองถึงสองครั้งในระยะเวลาเพียงสามปี
    ถึงแม้อาการของลุงสุขเริ่มมีทีท่าว่าจะดีขึ้น แต่สุดท้าย คุณลุงก็ไม่อาจฝืนสังขารของตัวเองได้ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2550
    ผู้กว้างขวางในวงการหนังสือของไทยอย่างคุณลุขสุขคือตัวอย่างของ ‘นายทุน’ ที่ลงทุนทางสังคม ประกอบธุรกิจเพื่อผู้อื่นมากกว่าเพื่อตนเอง ด้วยสิ่งที่ลุงสุขปลูกสร้างล้วนมีคุณค่าต่อแวดวงหนังสือ
    ถ้าวงการหนังสือเติบโต นักอ่านก็เข้มแข็ง และถ้านักอ่านเข้มแข็ง พวกเขาย่อมเติบโตทางความคิด เกิดคุณอนันต์ต่ออีกหลายวงการ
    หลังจากเดินผ่านอาคารที่บรรจุหนังสือนับล้านเล่ม จนถึงด้านนอกซึ่งเป็นถนนสาธร ผมข้ามสะพานลอยแล้วเดินเลียบทางเท้าไปเรื่อยๆ กระทั่งพบโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์
    ผมเข้าไปกราบศพคุณลุงสุข ก่อนจะนั่งนิ่งราวกับขอทำความรู้จักต่อสิ่งรอบด้าน บรรยากาศในตอนหัวค่ำยิ่งเต็มด้วยความเงียบ อาจเพราะญาติมิตรของคุณลุง รวมถึงนักเขียนและคนทำหนังสือหลายคนที่มาร่วมงานต้องการทำให้บรรยากาศในโบสถ์เงียบสงบที่สุด เนื่องเพราะนับแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ลุงสุขคลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือ ชีวิตของคุณลุงล้วนเต็มด้วยความวุ่นวายมาโดยตลอด
    เพียงไม่นาน หลวงพ่อประจำโบสถ์ก็เข้ามาให้ศีลตามแบบศาสนาคริสต์ ความที่ผมเป็นชาวพุทธ ซ้ำเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สัมผัสวิถีคริสต์ ทำให้ผมตื่นเต้นพอประมาณ โชคดีที่หลวงพ่อกล่าวเทศน์เป็นภาษาไทยจึงฟังเนื้อหารู้เรื่อง
    หลวงพ่อท่านเทศน์อย่างเรียบง่าย เอ่ยถึงความตายที่ทุกคนย่อมประสบพบเจอ โดยกล่าวว่าในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเกิด พ่อแม่ของเราต่างเตรียมพร้อมที่จะให้เราลืมตามองโลก ในทางตรงข้าม หากคนเรากำลังเดินทางไปสู่ความตาย ก็ควรจะ ‘ตายก่อนตาย’ ด้วยการตายอย่างมีสติ เช่นเดียวกับการเตรียมตัวเกิด
    รับฟังคำเทศน์ไปไม่นาน ผมจึงเชื่อว่าหลังจากลุงสุขล้มป่วยลง คุณลุงก็เตรียมตัวไปสู่ชีวิตนิรันดร์มานานแล้ว เพียงแต่การเตรียมตัวของคุณลุงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่เพราะคุณลุงต้องการให้สังคมไทยตระหนักรู้ต่อทุกสิ่ง
    อย่างน้อยก็เพื่อให้ทุกคนได้มีความคิดเป็นอาวุธโดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือ
    ไม่ว่าโครงการต่างๆ ของคุณลุงจะทำสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าคุณลุงสุขเป็นนักฝัน นักอุดมคติ หรือคนทำหนังสือผู้เปี่ยมอุดมการณ์ แต่ผมกลับคิดว่าสิ่งที่ลุงสุขทำนั้น ได้บันดาลผลให้ลุงสุขมี ‘ความสุข’ ที่ได้เห็นคนไทยมีคุณภาพทางความคิดอ่านเพิ่มขึ้น
    พิธีกรรมทางศาสนาใช้เวลาไม่นาน ผมกราบลาญาติมิตรของลุงสุข ก่อนเดินเท้าจากไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางความมืดยามราตรีและแสงไฟฉาบมัว ก่อนจะวกกลับมาถึงร้านหนังสือขนาดมโหฬารแห่งเดิม
    ผมจำใจเดินเข้าไปยังร้านหนังสือยักษ์ใหญ่อีกครั้ง คล้ายคนทำหนังสือในยุคปัจจุบันที่ต้องสยบยอมกับความจริงบางอย่าง แต่ก่อนจะเดินเข้าภายใน ผมหันกลับไปมองโบสถ์เซ็นต์หลุยส์ที่มีร่างของลุงสุขกำลังนอนสงบ
    ร่างนั้นนอนนิ่งก็จริง แต่ผมเชื่อว่าระหว่างทางที่คุณลุงสุขกำลังเดินทางสู่ชีวิตนิรันดร์ คุณลุงก็ได้พบความสุขที่แท้จริงแล้ว
    และความหมายของความสุขที่แท้จริงนี้เองที่ทำให้คนทำงานหนังสือบางคนยังคงมุ่งมั่นกับการสรรค์สร้างเนื้อหาของหนังสือให้เต็มด้วยแสงสว่าง
    ในฉับพลัน คำพูดของของผมก็เอ่ยขึ้นจากจิตสำนึกท่ามกลางความมืดมิดในยามราตรี
    ขอบคุณมากครับ...คุณลุงสุข สูงสว่าง

    ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 27 มี.ค.2550
    โมน สวัสดิ์ศรี media4joy@hotmail.com
    กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
    และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

    วันจันทร์, มีนาคม 26, 2550

    วันดี ๆ ของฉัน:ตอนเรียนรู้จากคุณพ่อระพีและผองเพื่อน

         
    เมืองใหญ่เมืองนี้ มีมุมอบอุ่นรออยู่เสมอ ก๊วนมวลมิตรชาว Happy media – H m นี่ไงล่ะ แม้เวลาเพียงน้อยนิดที่เราร่วมแบ่งปันให้กัน ยังทำให้ทุกครั้ง ได้เรียนรู้ถึง “คุณค่าแห่งชีวิต” เก็บแต้มสะสมให้หัวใจได้เบิกบาน ...นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดกับฉันสม่ำเสมอ ยามเจอเพื่อนๆ ชาวH m และล่าสุดวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 กุมภาพันธ์) ถือว่าเป็นรายการพิเศษอยู่ไม่น้อย เพราะพวกเราได้รับความเมตตาจากอาจารย์ระพี สาคริก ท่านได้ถ่ายทอดและแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ของท่านแก่พวกเรา



    อิ่มน้ำทิพย์ชโลมใจ...เรียนรู้จากคุณพ่อระพี

    อาจารย์ระพีเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พวกเราฟัง ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเองอย่างยิ่ง อาจารย์เรียกแทนตัวเองกับพวกเราว่า “คุณพ่อ” ทำให้ฉันรู้สึกเสมือนนั่งฟังญาติผู้ใหญ่ใจดีปลุกปลอบ ให้กำลังใจ ให้พลังสร้างสรรค์เพื่อก้าวสู่ชีวิตที่งดงาม ย้ำเตือนให้ฉันได้ “สติ” เริ่มต้นล้างพิษแห่งโทสะภายในที่สะสมไว้มากมายในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา
    คุณพ่อระพีบอกว่า “สื่อที่แท้จริงคือ จิตเราเอง คนที่รู้ตัว จะไม่ทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน เหตุของทุกอย่างอยู่ในใจมนุษย์ ขอให้อยู่ด้วยความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติมี 2 ด้าน ข้างนอก อย่าไปหลงมัน ส่วนข้างในนั้น ธรรมชาติในใจเราสำคัญสุด มีคนมาพูดชมพ่อว่า ใจเย็นนะอยู่กับต้นไม้ พ่อบอกว่า ใจเย็นน่ะ อยู่กับคนต่างหากล่ะ คิดซะว่า ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น อย่าไปสนใจคือ ไม่ใช่ไม่ใส่ใจ แต่คือ เรามุ่งปฏิบัติตัวให้ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้ คนเราน่ะอยู่ได้ด้วย ศรัทธา บารมี ปัญหาคือครู และหนังสือเล่มจริงอยู่ใจ... ความจริงที่อยู่ในตัวเองคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตใจที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เข้มแข็ง คนเรามันต้องเรียนรู้ไปแล้วปรับตัวเอง จิตที่เป็นอิสระคือ บุญ จิตที่ยึดติดคือ กรรม วัดที่แท้จริงอยู่ในใจ ตรงนี้ ทำอะไรก็ได้ ต้องจริงใจและมีความซื่อสัตย์กับตัวเอง นั่นคือ การปฏิบัติธรรมแล้ว ขอให้เอาชนะใจคนด้วย ความดี อย่าไปคิดว่า เขาเป็นศัตรู เดินไปหาเป็นเพื่อนกับเขาเลย ใช้สื่อใจถึงใจ ฝึกไปให้ใจเข้มแข็งขึ้น ชีวิตทั้งชีวิตคือการศึกษา ของบางอย่างมันไม่เห็น แต่...ใจเห็น”

    อิ่มสุขอิ่มกายกับผองเพื่อน

    เมื่อใจอิ่มเอิบได้ประกายแห่งความดีงามมาจากคุณพ่อระพีแล้ว ชาว Hm ก็แล่นหาแหล่งจับกลุ่มจ้อต่อ ร้านนารีสโมสรของพี่หนูจึงกลายเป็นแหล่งพักพิงของผองเพื่อน ข้าวหน้าไก่และบะหมี่ไก่สูตรคุณพ่อของพี่หนูนับเป็นสิ่งดีเลิศด้วยคุณภาพที่เรามอบให้แก่ท้อง(กาย)ของเรา พร้อมกับชื่นชมงานฝีมือตัดเย็บอันปราณีตของคุณแม่ บวกกับการตกแต่งร้านที่ลงตัว รอยยิ้มเป็นกันเองของพี่น้องของพี่หนู ล้วนทำให้พวกเราอิ่มครบทุกรสสัมผัส

    น้องเกมเปรยขึ้นว่า อาจารย์ระพีจบเหมือนเจ้าชายน้อยเลยนะ บางสิ่งมองไม่เห็นด้วยตา แต่ใจเห็น แล้วชอบที่อาจารย์บอกว่า เกษตรไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นงานอบรม “ให้คนรักแผ่นดิน” นึกถึงความตั้งใจเราเลย กำลังจะไปทำนาที่ขอนแก่น เป็นนาของญาติ ขอไปช่วยเขา ซึ่งเพื่อนหลายคนเสริมส่งและเสนอตัวจะร่วมทางไปด้วย หากไม่ติดเงื่อนไขอื่นใด และที่เกมจะเริ่มต้นเลยก็คือ การเรียนรู้ อีสานไซโคโลจี้ เรื่องรวบรวมความรู้ของอาหารพื้นถิ่นอีสาน เพราะคำปรามาสของเชฟชาวอิตาเลี่ยนที่ว่า คนอีสานไม่มีความสามารถจะเป็นเชฟได้หรอก มันเป็นการดูถูกไปถึงต้นตระกูลเชียวนะ ...อันนี้เกมยอมไม่ได้ บวกกับมีความชอบเป็นทุนเรื่องของอาหารอยู่แล้ว จึงจะทำเรื่องนี้จริงจังขึ้นแบบปฏิบัติจริงเชียวล่ะ...ฉันคิดว่า ไม่นานนักหรอก เมืองไทยจะมีเชฟอาหารอีสานผู้เชี่ยวชาญ ที่สื่อความให้ต่างชาติเข้าใจถึงวัฒนธรรมการกินแบบอีสานได้ ไม่แพ้ชาติใด

    ส่วน สาวเชียงใหม่ น้องแอมที่มีสำนึกรักบ้านเกิดอย่างยิ่ง กำลังก่อการ คิดทำโครงการเพื่อเด็กในซอยชุมชนวัดอุโมงค์ ช่วงแรกเราได้แลกเปลี่ยนความคิดกันด้วย ฉันนึกถึงกลไกเชิงนโยบายที่น่าจะได้เข้ามาร่วมไม้ร่วมมือเพื่อให้โครงการนี้สัมฤทธิ์ผล อย่างกลุ่มเทศบาลหรือหน่วยงานของจังหวัดที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและน่าจะมีงบประมาณ ถ้าเขามีมุมมองนี้น่าจะเป็นตัวช่วยได้และโครงการน่าจะไปได้ดี แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ น่าจะต้องอาศัยการประสานงานอยู่พอสมควร ฝ่ายเกมมองต่างมุมได้น่าสนใจว่า ทำไปเถอะ ทำเท่าที่เราทำได้ก่อน พอฉันได้ฟังเกม ทำให้ได้คิด ณ ขณะนั้นเลยว่า ทำดีทำไปเถอะ เพราะหลายโครงการที่เคยเห็น ตอนทำเล็ก ๆ ได้ผลดีอยู่แล้ว แต่พอกลุ่มนั้น หน่วยนี้เข้ามาช่วยคนละไม้คนละมือ กลับกลายเป็นได้ความยุ่งยากแทนที่จะได้พลังความสามัคคี ทำให้เจ้าของโครงการที่เคยมีความสุขเกิดความลำบากใจ บทสรุปร่วมกันของพวกเราคือ ยังคงเสนอตัวอาสาร่วมด้วยเช่นเคย ทำกันตามกำลังที่เรามีอยู่นี่แหละ ขอให้ส่งข่าวบอกละกันนะ...น้องแอม
    นี่เป็นเพียง บางเสี้ยวของวงคุยอย่างรื่นรมย์ของพวกเรา ที่พร้อมเปิดประตูให้เพื่อนคนอื่น ๆ ที่สนใจมาแจมกัน “สิ่งดีๆ มีมากเหลือเกินบนโลกนี้” เป็นวลีพื้นฐานที่เราเชื่อกัน แม้บางครั้งจะหลงลืมมันไปในช่วงเวลาที่เร่งรีบ แล้วพบกันใหม่ มาเก็บเกี่ยวความสุขร่วมกันนะคะ

    บ้าย...บาย โย จิรา

    “ภาวนาว่าด้วยปัญญาและความรัก...หนทางเข้าถึงชีวิตที่เปี่ยมความหมาย”


         
    นักบวชที่อยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้าอาจจะดูสะดุดตาด้วยสังฆาฏิสีหมากแดงที่ห่มคลุมจีวรสีเหลือง ผิวพรรณขาว จมูกโด่ง นัยน์ตาฟ้าใสเหมือนเด็ก และความที่ท่านเป็นภิกษุณี ซึ่งในสังคมพุทธเถรวาทยังต้องการเวลาเปิดใจยอมรับ
    แต่รูปลักษณ์ภายนอกเหล่านั้นไม่ใช่สาระ สิ่งที่ดึงดูดข้าพเจ้าและใครหลายคนให้เข้าใกล้ท่านคือ รอยยิ้มอันสงบเย็น ความเบิกบาน และความอบอุ่นที่ทำให้หัวใจเราอิ่มเอมปีติ
    ข้าพเจ้ารู้จัก ท่านเท็นซิน พัลโม พระภิกษุณีจากทิเบตซึ่งเป็นพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ได้ประมาณครึ่งปีก่อนที่ท่านจะเดินทางมาเยือนเมืองไทยเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ เพื่อบรรยายธรรม จัดงานอบรมภาวนา และที่สำคัญเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจแก่นักบวชหญิง และผู้หญิงที่สนใจวิถีแห่งการรู้แจ้ง
    จากหนังสือ รูปเงา ขุนเขา ทะเลสาบ (Reflections on a Mountain Lake) ข้าพเจ้าประทับใจการอธิบายข้อธรรม วิธีการปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่ายๆ เกื้อกูลการภาวนาและกำลังใจ และเมื่อได้อ่าน หนังสือ เส้นทางสายโพธิสัตว์ (Cave in the Snow) ข้าพเจ้าชื่นชมความเด็ดเดี่ยวของท่านที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อการเข้าถึงธรรมและเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ คำอธิษฐานของท่านที่ “ขอบรรลุธรรมในเพศหญิงทุกภพทุกชาติ” แสดงให้เห็นการข้ามพ้นการแบ่งแยกเพศสภาพอันเป็นอคติที่ขวางกั้นทั้งหญิงและชายจากการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้
    สำหรับคุรุ ชีวิตของท่านคือคำสอนที่ดีที่สุดของศิษย์ นับแต่สาวชาวอังกฤษ ไดแอน เพอร์รี่ เริ่มสนใจพุทธศาสนา และบวชเมื่ออายุ 20 ปีเธอตั้งใจปฏิบัติและศึกษาธรรมอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนหนึ่งหมายถึงการใช้ชีวิต และภาวนาฝึกฝนตนอย่างเข้มงวดในถ้ำบนเทือกเขาสูงเป็นเวลา 12 ปี เพื่อเข้าถึงธรรม จากนั้นท่านอุทิศตนในการสั่งสอน เผยแผ่ธรรม และก่อตั้งโครงการสามเณรีในประเทศอินเดีย เพื่อสนับสนุนให้นักบวชหญิงได้มีโอกาสในการศึกษาและปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมทัดเทียมกับนักบวชชาย
    สำหรับการอบรมภาวนา 5 วันที่อาศรมวงศ์สนิท ในประเทศไทย พระภิกษุณีได้ถ่ายทอดยอดความรู้ ประสบการณ์ทั้งชีวิตของท่านให้กับผู้สนใจกว่า 70 ชีวิต
    ท่านทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้มาก แต่ต้องรู้ให้พอในเรื่องที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วที่สำคัญคือต้องปฏิบัติ ซึ่งท่านเน้นย้ำว่า การภาวนาไม่ใช่เรื่องการเข้าอบรม การปลีกวิเวก หรือเรื่องทำเล่นๆ แต่เป็นเรื่องที่จริงจังที่สุดในชีวิต เราต้องอุทิศทั้งชีวิตเพื่อการเข้าถึงธรรมและช่วยเหลือสรรพสัตว์ การค้นพบอิสรภาพที่แท้จริง คือแก่นของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์
    ในวันแรก ท่านเปิดใจให้เราเห็นความเป็นอนิจจังของศาสนาพุทธ ด้วยการเล่าบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของพุทธศาสนา ความที่คำสอน วิถีปฏิบัติในพุทธสาสนาถูกจารึกไว้หลังมหาปรินิพพาน กว่า 3 ศตวรรษ และการที่สังคมอินเดียเต็มไปด้วย วิถี การแสวงหาธรรมรูปแบบต่างๆ ย่อมทำให้เนื้อหา วิธีการบางส่วนในพุทธศาสนาได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสมัยหลังพุทธกาล มีสำนักวิถีพุทธเกิดขึ้น กว่า 18 สำนัก กาลเวลาและสังคมโลกที่แปรเปลี่ยนทำให้ปัจจุบันศาสนาพุทธเจริญเติบโตภายนอกประเทศอินเดีย และคงมีสามนิกายหลัก คือ เถรวาท มหายาน และ วัชรยาน
    ทั้งสามนิกายอาจดูต่างกัน แต่ถ้าคัดเอาแกนคำสอนของแต่ละนิกายแล้ว เราเหมือนกันมากกว่าความต่างที่ปรากฏ สิ่งที่เหมือนกันคือ แก่นของศาสนาพุทธ ที่สอนเรื่องทุกข์ การพ้นทุกข์ วิธีดับทุกข์ สังสารวัฏ กฎแห่งกรรม เป็นต้น ความต่างคงอยู่ที่รายละเอียดวิธีการปฏิบัติ แนวคิดบางเรื่อง เท่านั้น
    อริยสัจจะเป็นเรื่องที่ทุกนิกายล้วนกล่าวถึง พระภิกษุณีอธิบายว่า ความทุกข์นั้นคือท่าทีที่เรามีต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งสุขและทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่ใจเชื่อมโยง ให้คุณค่าและความหมายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนเหตุอันก่อให้เกิดทุกข์นั้นมาจาก อัตตา ที่สำคัญมั่นหมายว่ามีตัวตน ไม่เปลี่ยนแปลง แบ่งแยกจากสิ่งอื่นๆ ไขว่คว้าในสิ่งที่ต้องการและผลักไสในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์
    ฤทธิ์เดชของอัตตาแสดงออกมาในภาพของกิเลส 3 ตัวที่เราต่างคุ้นเคยกันดี คือ อาการโลภ โกรธ และหลง (ท่านเพิ่มอีกสองข้อ คือ ความอิจฉาริษยา และ ความเย่อหยิ่งทะนงตัว ถือตัว) ซึ่งทั้งสาม นิกายล้วนให้แนวทางจัดการกับกิเลสทั้งสามตัวนี้แต่ด้วยวิธีที่ต่างกัน พุทธเถรวาทเน้นการถอนรากถอนโคนกิเลส ส่วนมหายานเห็นว่าเราสามารถแปรเปลี่ยนกิเลสให้เป็นกุศลได้ เช่นเราอาจจะแปรเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความกรุณา และพุทธวัชรยาน มองว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากกิเลสได้ กิเลสนั้นเป็นพลังงานอันทรงพลังอย่างหนึ่ง เช่นความโกรธมีพลังมหาศาลเหมือนพลังกุศลจิตอื่นๆ หากเราตระหนักรู้ความโกรธแต่แรกเริ่ม เราอาจใช้พลังนั้นเกื้อหนุนการปฏิบัติได้
    เป้าหมายของพุทธศาสนาทุกนิกาย คือการเข้าถึงการดับทุกข์ คือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในทุกขณะและทุกหนแห่ง ไม่ใช่สิ่งที่อาจสร้างขึ้น หรือสถานที่ที่ต้องไปให้ถึง เพียงแค่ใจเป็นอิสระ รู้เห็นความจริง ก็จะรับรู้สภาวะนิพพานได้ทันที นิพพานไม่ใช่แนวคิด อุดมคติ จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ ท่านภิกษุณีกล่าวว่า นิพพานนั้นเหนือไปจากสมอง ความคิด จินตนาการที่มนุษย์จะคิด หรือจินตนาการได้ “คนพูดไม่รู้ คนรู้ไม่พูด” ท่านอุปมาเหมือนพระอาทิตย์และแสงอาทิตย์ที่ดำรงอยู่ หากแต่กิเลสคือเมฆหมอกบังแสงและดวงอาทิตย์ไว้ เราจึงไม่อาจเห็นมันได้ ตราบเมื่อเราขจัดหมอกเมฆนั้นไปแล้ว แสงอาทิตย์ก็จะปรากฏสว่างขึ้นทันที
    นิพพานเป็นสิ่งล้ำค่าที่เราล้วนมีศักยภาพที่จะสัมผัสได้ ในปัจจุบันชาตินี้ เพียงแต่เรายังมองไม่ถูกทาง และขาดความพากเพียรอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็น ในการภาวนาท่านแนะนำให้ดูที่จิต “หากจะเข้าใจจิตก็คงไม่มีหนทางอื่นนอกจากย้อนดูตรงมาที่จิต” ท่านให้ตระหนักรู้ความคิดที่ผุดขึ้น โดยไม่เข้าไปแทรกแซง คิดต่อ เสริมเรื่อง “อย่าไปให้พลังกับความคิด” สิ่งที่ทำคือ รับรู้ความคิดที่เกิดขึ้น เฉยๆ เรื่อยๆ เนิ่นนานพอ เมื่อสติว่องไว เราจะเห็นความคิดที่เหมือนเทปหนังต่อเนื่องนั้นสิ่งช้าลงๆ จนเราสามารถเห็นช่องว่างระหว่างภาพความคิดหนึ่ง กับภาพความคิดต่อไปได้ เมื่อช่องว่างห่างมากขึ้นๆ เราจะเห็นความจริงแห่งจิต
    การเรียนรู้ธรรมและการพากเพียรปฏิบัติภาวนาเป็นเรื่องดี แต่ท่านภิกษุณีถามต่อว่า เราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เราปฏิบัติธรรม ถือศีล ให้ทานไปทำไม เพื่ออะไร แรงจูงใจในการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ชาวพุทธเถรวาทให้ความสำคัญกับการบรรลุธรรมเฉพาะตน เป็นอรหันต์ ซึ่งสำหรับบางคนในนิกายอื่นๆอาจเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่ออกจะเห็นแก่ตัว ผลักดันด้วยอัตตาที่แสวงหาการหลุดพ้นเพื่อตัวเอง เพราะในนิกายมหายานและวัชรยานนั้น การบรรลุธรรมเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย
    ท่านภิกษุณีถามว่า ถ้าเปรียบสังสารวัฏเป็นหนองน้ำที่ทุกคนพากันตะเกียกตะกายขึ้นฝั่ง หากเราขึ้นฝั่งได้แล้ว เราจะเดินหนีไป โดยไม่หันมามองหรือคิดช่วยเหลือคนอื่นๆ เราจะทิ้งพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก เพื่อน และญาติของเราไว้อย่างนั้นหรือ
    การจะมีปฏิญาณโพธิสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเอาเอง แต่เป็นสิ่งที่งอกงามจากความกรุณาและปัญญาที่แท้ เมื่อมีปัญญาเห็นตามความเป็นจริงในเรื่องความไม่มีตัวตน ทุกข์ในสังสารวัฏ และความเชื่อมโยงเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งแล้ว ผู้มีปัญญาที่แท้ย่อมเกิดความกรุณาอันแท้จริงที่ไปพ้นจากอัตตาที่ยังเลือกที่รักมักที่ชัง
    การเรียนรู้นิกายทั้งสามนั้น ไม่ได้ทำให้ก่อให้เกิดความสับสน การแบ่งแยกว่าอะไรถูก ผิด นิกายใดดีกว่านิกายใด เราอาจจะพอใจวิถีปฏิบัติแบบเถรวาท มหายาน วัชรยาน หรือแม้แต่รูปแบบผสมที่คิดว่าเป็นแบบที่ถูกจริต
    หนทางคงไม่ใช่ปัญหา หากแต่ผู้เดินทางต้องตั้งใจและจริงจังที่จะออกจาริกบนเส้นทางนั้น จนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะไปบรรจบบนยอดเขาเดียวกันนั่นเอง

    เรื่องโดย "กรรณจริยา สุขรุ่ง"
    บทความชิ้นนี้ ลงในสารเพื่อเสม ของเสมสิกขาลัย -- องค์กรที่จัดงานภาวนา
    นำโดย ท่าน เท็นซิน พัลโม เมื่อเดือนมกราคม 2550

    วันพุธ, มีนาคม 21, 2550

    เริ่มต้นที่ดอกหญ้าริมทาง


     
    ราษฎรอาวุโสอย่างอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนคำปรารภไว้ในหนังสือ “ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) กับทางแพร่งของสังคมสยาม” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537) ว่า ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ คือคนแรกที่นำทฤษฎีไร้ระเบียบมาสู่สังคมไทย
    สาระสำคัญของทฤษฎีที่ว่านี้เป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่มองสรรพสิ่งสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างสลับซับซ้อน และที่สำคัญ เป็นแนวคิดที่เปิดใจ มีพื้นที่ว่างให้แก่ “ความบังเอิญ” ไร้ต้นสายปลายเหตุ ซึ่งทฤษฎีวิทยาศาสตร์แบบเก่ารับไม่ได้
    แต่ใช่ว่าสังคมไทยจะใจกว้าง เพราะถึงวันนี้ ทฤษฎีไร้ระเบียบก็ยังเป็นเพียงหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่วางนิ่งอยู่บนชั้นหนังสือ ปราศจากการนำมาศึกษาต่อเพื่อปรับใช้ในสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
    แต่ถึงอย่างไร ชัยวัฒน์วันนี้ก็ยังยืนยันในจุดยืน ไม่ละทิ้งความใฝ่ฝันที่ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่คนมีคุณภาพ และเป็นสังคมที่น่าอยู่กว่าเดิม
    เขายังคงปรารถนาอยากเป็น “นักอภิวัฒน์” (revolutionist) ไม่เสื่อมคลาย
    งานอภิวัฒน์ชิ้นแรกของชัยวัฒน์คือ “บางกอกฟอรัม” (Bangkok Forum) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2537 ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นเสมือน “บททดลอง” ภาคปฏิบัติของโครงการสร้างประชาคมเมืองหรือ Civil Society ในทัศนะของเขา
    “ผมคิดว่าหากเราอยากทำอะไรสักอย่าง เราก็ลุกขึ้นมาทำเลย เพราะในระบอบประชาธิปไตย เรามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศ นี่คือประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม คือเราทำได้ ไม่ต้องรอใคร เราลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองริเริ่มหรือที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า BÜrger initiative หรือ Civil Initiative ได้เลย”
    เพราะชัยวัฒน์เชื่อว่า สังคมที่น่าอยู่ควรมีบรรยากาศของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เป็นสังคมที่มีความรักความอบอุ่น เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะที่เอื้อโอกาสให้ทุกๆ คนได้ใช้ในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน
    โครงการถนนคนเดินที่เคยนิยมกันระยะหนึ่ง เช่น บนถนนพระอาทิตย์และถนนสีลม คือผลงานของบางกอกฟอรัมและความคิดริเริ่มของเขา
    ทุกวันนี้ ชัยวัฒน์ยังคงสนใจงานสร้างเสริมสุขภาพของสังคมเหมือนเดิม โดยเปลี่ยนบทบาทเป็นประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet)
    ว่าไปแล้ว เขาเองก็ยอมรับว่า ความกล้าคิดกล้าลงมือทำโดยไม่ต้องรอใครของเขา อาจเริ่มต้นจากการเป็นหนอนหนังสือตั้งแต่วัยเด็ก
    “อิทธิพลที่มีผลต่อชีวิตของผมมาจากหนังสือ ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ที่ต้องอ่านก็เพราะคุณยายให้เลือกระหว่างต้องนวดกับอ่านหนังสือให้ยายฟัง ผมจะเอาอย่างไหน ซึ่งผมเลือกอ่านหนังสือดีกว่า เพราะอ่านแล้วยังได้สตางค์ด้วย”
    เด็กชายชัยวัฒน์อ่านหนังสือมากมายหลายประเภท ทั้งนิยายจีน นิทาน เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ไปจนถึงเรื่องราวขนาดยาวอย่างมหากาพย์ รวมทั้งตำนานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
    ที่จริง เขาตะลุยอ่านสามก๊กจนจบเล่มตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบเท่านั้นเอง
    ชัยวัฒน์เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว เติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการอ่านการเขียน เขาเริ่มต้นค้นหาหนังสืออ่านเองจากชั้นหนังสือในบ้านของคุณตาเพื่อนบ้านที่ชื่อ “ขุนอาเทพคดี” ปราชญ์ชาวบ้านแห่งเมืองนครฯ รุ่นราวคราวเดียวกับบิดาของ ฯพณฯ ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
    เมื่อเขาย้ายมาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ชีวิตการเรียนการศึกษาของเขาก็ดำเนินต่อไปเป็นปรกติ ไม่หวือหวาอะไรมากนัก นับจากโรงเรียนมัธยมสาธิตประสานมิตร ต่อด้วยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจที่เมืองนูเล็มเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
    เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกว่าสิบปี (ราวคริสต์ทศวรรษที่ 1960 – 70) เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในช่วงที่หนุ่มสาวกำลังตั้งคำถามกับสังคมและการเมือง กำลังแสวงหาคุณค่าที่แท้และความหมายของชีวิต
    คนรุ่นนั้นผิดหวังกับมนุษย์ที่ก่อสงครามอย่างสงครามเวียดนาม และยังเฉยเมยต่ออารยธรรมแห่งโลกสมัยใหม่จากตะวันตก โดยหันกลับไปพึ่งความสงบจากโลกตะวันออก เลือกใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีทั้งความคิดและพฤติกรรม
    และในบรรยากาศของสังคมที่อุดมไปด้วยนักคิดนักปรัชญาอย่างเยอรมนี คือเบ้าหลอมสำคัญในการดำเนินชีวิตและความคิดอ่านของเขาตั้งแต่นั้นมา
    หนังสือ “The German Ideology” เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ และ “สิทธารถะ” (Siddhartha) ของนักเขียนชื่อก้องโลกอย่าง เฮอร์มาน เฮสเส (Hermann Hesse, ค.ศ.1877 - 1962) คือหนังสือเล่มแรกๆ ที่หนุ่มน้อยอย่างชัยวัฒน์หยิบจับขึ้นมาอ่านขณะอยู่ที่นั่น
    แต่แล้ว ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอีกครั้งเพียงเพราะกอดอกหญ้าเล็กๆ ริมทางเดินกอหนึ่ง
    “วันนั้นเป็นวันที่อากาศดีมากเป็นพิเศษ มีแสงแดดอุ่น สวยมาก ท้องฟ้าสีคราม ผมมีความสุขมากเป็นพิเศษ ขณะที่เดินออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ ผ่านสวนสาธารณะก็ไปพบกอดอกหญ้าเข้าโดยบังเอิญ ซึ่งทุกวัน ผมก็เดินผ่านอยู่บ่อยๆ แต่วันนั้นไม่รู้เป็นไง จิตใจกลับเป็นสุขมากกว่าธรรมดา ได้เห็นความงามและความสุขอย่างคาดไม่ถึง”
    ดอกหญ้าริมทางกอนั้น ภาษาเยอรมันเรียกว่า “เลอเวนซาห์น” (LÖwenzahn) หรือแปลเป็นภาษาไทยคือ “เขี้ยวราชสีห์” ดอกมีสีเหลือง ชูช่อสูงขึ้นจากพื้นดินไม่ถึงหนึ่งฟุต
    ชัยวัฒน์เล่าวินาทีนี้อย่างออกรสว่าเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกปีติหรืออิ่มเอิบภายในจนลืมทุกสิ่งทุกอย่าง หลงลืมเป้าหมายที่กำลังไปชั่วขณะ จากนั้น เขาก็ล้มตัวลงนอนและเหม่อมองไกลขึ้นไปบนท้องฟ้าสีครามกระจ่างสว่างใส เห็นภาพปุยเมฆขาวล่องลอยไปตามสายลม และภาพอันงดงามของกิ่งก้านและกลีบดอกเหลือง
    เป็นความงามที่แสนเรียบง่ายของช่อดอกที่เริงระบำร่ายรำตามแรงลม ราวกับเฝ้ารอให้ผู้ผ่านทางก้าวเดินมาพบและสัมผัสด้วยตนเอง
    เขาหยุดพักใจและกายอย่างผ่อนคลาย ใช้มือหนุนศีรษะและดื่มด่ำบรรยากาศ พร้อมภาพอันพิสุทธิ์
    และเช้าวันนั้น เขาก็ตัดสินใจไม่เข้าห้องเรียน เพราะสะดุดเข้ากับความงามริมทางเสียก่อน
    ที่สำคัญ เป็นความงดงามเล็กๆ ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาให้รู้จักกับรสสัมผัสแห่งความสุขง่ายๆ ที่หาได้รอบๆ ตัวเรา โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาหรือดิ้นรนทำอะไรใหญ่โตให้ยุ่งยากแต่อย่างใด



    ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 20 มี.ค. 2550
    เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ media4joy@hotmail.com
    กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
    และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

    วันอังคาร, มีนาคม 13, 2550

    Medi-tea-tion



    ถ้าพูดถึงชีวิตรื่นรมย์ อะไรๆ ก็รื่นรมย์ได้ถ้าเรารู้จักวิธีการดื่มด่ำ หรืออยู่กับสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เพื่อนของผมคนหนึ่ง รายนี้รักสุนัขมาก รู้สึกได้เวลาที่เห็นเธอเล่นกับน้องหมา เหมือนเธอกำลังอยู่กับมันจริงๆ เล่นกับมันจริงๆ เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์
    ทั้งตัวและใจของเธออยู่ที่นั่นกับน้องหมาอย่างแท้จริงราวกับไม่มีอะไรในโลกนี้จะสำคัญไปกว่าการได้อยู่กับน้องหมาที่นั่นเวลานั้น
    น้องหมาของเธอไม่ได้เป็นแค่สิ่งมีชีวิตประกอบฉากในห้องนั่งเล่น และคำว่า “น้องหมา” ก็ไม่ใช่แค่คำเรียกเพื่อให้แลดูน่ารัก น้องหมาเป็นคำเรียกที่เกิดจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักและความเอ็นดู
    นี่คือความรื่นรมย์ที่แสนเรียบง่ายจากการดื่มด่ำหรืออยู่กับสิ่งนั้นๆ อย่างแท้จริง
    เป็น “การดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ” (in the present moment) หรือ “การอยู่ ณ ที่นั่น และขณะนั้น” (in the here and now) ดังที่ท่าน ติช นัท ฮันห์ มหาเถระเซนชาวเวียดนาม มักกล่าวเสมอ
    การดำรงอยู่กับปัจจุบันเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีประโยชน์มาก ดังจะขอเล่าเรื่องของเพื่อนคนนี้ต่ออีกนิด
    ด้วยความที่เธอ “ดำรงอยู่กับปัจจุบัน” กับน้องหมาบ่อยๆ เธอจึงเข้าใจน้องหมาของเธอดีจนน่าทึ่ง อาทิ เธออธิบายพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของน้องหมาได้เป็นฉากๆ สมเหตุสมผล เหมือนกำลังพากย์อยู่ในรายการช่อง Animal Planet
    ผมเคยถามเธอว่า “รู้ได้อย่างไร” ซึ่งเธอตอบได้อย่างน่าสนใจมาก เธอไม่พินิจพิเคราะห์อะไรเลย เพียงแค่ “เปิดใจ” แล้วดูพฤติกรรมของมันเรื่อยๆ ไม่วิเคราะห์ ไม่ตัดสิน ที่สุดก็บังเกิด “ความเข้าใจ”
    เธอเสริมว่า เทคนิคนี้ เมื่อใช้กับคนก็ให้ผลดีเยี่ยม ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นคนที่เราชอบหรือไม่ก็ตาม ผมเชื่อว่าเธอไม่ได้พูดเล่น แต่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ
    ผมเองมักรื่นรมย์กับ “การดื่มชา” ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ ผมเพียงขออยู่กับชาอย่างเต็มร้อยทั้งตัวและจิตใจ อย่างน้อยวันละครั้งสองครั้งๆ ละห้าหรือสิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ได้ แล้วจะให้ทำอะไรค่อยว่ากัน
    เวลาจะดื่มชาต้องใจเย็นๆ อยู่นิ่งๆ เงียบๆ สักพัก แล้วค่อยๆ ดื่มด่ำกับการมองแก้วชา
    ที่จริง การดื่มด่ำกับชานั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนจิบเสียอีก
    วิธีดื่มชาในแบบที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ช่วยให้พลังแก่ชีวิตและให้ข้อคิดอย่างเหลือเชื่อ
    เริ่มจากการตามลมหายใจสัก 2 - 3 ครั้ง หายใจเข้าก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่ากำลังหายใจออก รักษาลมหายใจเช่นนี้ไว้ตลอดการดื่ม
    จากนั้นก็มองมาที่ถ้วยชาและน้ำชาที่อยู่เบื้องหน้า ขอให้เราค่อยๆ ตระหนักรู้ว่าชาถ้วยนี้ไม่ได้มาอยู่ที่นี่โดยบังเอิญ อาจเป็นแม่บ้านใจดีเตรียมไว้ ถึงตอนนี้ หากจะยิ้มน้อยๆ ด้วยความรู้สึกสดชื่นก็ไม่ต้องฝืน
    น้ำอุ่นๆ ที่อยู่ในแก้วเคยเป็นน้ำในสายธาร เคยเป็นฝน เป็นเมฆ ก่อนเป็นเมฆก็เคยเป็นน้ำในลำธารที่ถูกไล้ด้วยไอแดดของดวงอาทิตย์จนระเหยขึ้นสู่ฟ้า หรืออาจเป็นน้ำตาของใครสักคน
    ภาพพู่กันจีนของหลวงปู่ นัท ฮันห์ บนผนังในหอฉันที่หมู่บ้านพลัมยังตรึงใจเสมอ ภาพนั้นเขียนไว้ว่า “The tear I shed yesterday has become rain” แปลไทยได้ความว่า “น้ำตาที่หลั่งเมื่อวานนั้นได้กลายเป็นฝนแล้ว” ใบชาในกาก็เช่นกัน ล้วนเคยเป็นใบไม้สดใส เติบโตได้ด้วยดิน น้ำ ลม แสงแดด รวมทั้งคนเก็บใบชาในไร่
    การนิ่งทบทวนสักนิดทำให้เราไม่หลงลืมว่า จักรวาลทั้งจักรวาลอิงอาศัยกันอยู่ในชาถ้วยนี้แล้ว ตรงนี้เองที่ทำให้ไม่อาจยกแก้วชาขึ้นซดโฮกอย่างไร้ความหมาย
    ต่อจากนี้ ผมจะไม่นึกคิดใดๆ ผมจะเลิกใช้สมองเป็นการชั่วคราว ปล่อยให้การเคลื่อนไหวของนิ้วมือและแขนสอดประสานกับลมหายใจเหมือนการเคลื่อนไหวแบบโยคะ ทั้งนี้ เพื่อให้กายและใจอยู่กับชาที่จะดื่มอย่างเต็มที่
    พึงเคลื่อนมือทั้งสองประคองถ้วยให้มั่น ยกถ้วยขึ้นดื่มช้าๆ เมื่อถ้วยแตะริมฝีปากก็รับรู้ เมื่อน้ำชาไหลเข้าปากก็รับรู้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ขอเพียงรับรู้อย่างเดียวโดยไม่พยายามจะรู้หรือต้องรู้ แค่ไม่ลืมที่จะรู้หรือปล่อยใจเตลิดไปไหนก็พอแล้ว
    การดื่มแบบนี้จะได้รสชาติหรือ ? ดูวุ่นวายเกินไปไหม ?
    สำหรับผม ช่างรื่นรมย์ด้วยรสชาติ สมาธิ และปัญญา ประสบการณ์การดื่มแต่ละครั้งแตกต่างกันไป คาดหวังอะไรไม่ได้ และไม่คาดหวังด้วย ดื่มชาเพื่อดื่ม อย่างอื่นล้วนเป็นของแถม
    น่าแปลกที่ของแถมมักเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเสมอ
    ครั้งหนึ่ง ผมเคยเตรียมชาที่ให้ความหอม รสชาติ และสีสันที่ถูกใจมาก พยายามชงให้ได้เช่นนั้นอีกหลังจากนั้น ทว่าชงอย่างไรก็ไม่ได้ อ่อนเกินไปบ้าง เข้มเกินไปบ้าง
    ที่สุด ในความสงบเงียบก็ดลใจให้นึกได้ว่า การชงชาไม่ซ้ำรสและสีสันนั้น แท้ที่จริงก็แฝงเสน่ห์ของชาไม่น้อย เป็นความแตกต่างที่ไม่น่าเบื่อ ครั้นเมื่อยอมรับความต่างและเข้าใจเหตุปัจจัย ความไม่สมบูรณ์แบบก็กลายเป็นความหลากหลายครบเครื่องไปโดยปริยาย
    ถึงตรงนี้ ผมคิดถึงคำพูดในหนังสือของ Mel และ Patricia Ziegler สองสามีภรรยาผู้ก่อตั้งบริษัทชาในอเมริกาที่ชื่อ “The Republic of Tea”
    ทั้งคู่เรียกวัฒนธรรมชาว่า “sip by sip” แปลว่า “ทีละจิบๆ” หมายถึงการใช้ชีวิตอย่างดื่มด่ำในทุกๆ กิจกรรมของชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปฏิเสธจังหวะชีวิตแบบน้ำอัดลมที่เรียกว่า “gulp by gulp” หรือ “ทีละโฮกๆ”
    ไม่ว่าจะเล่นกับสุนัข จิบชา ดื่มกาแฟ หรือขยอกน้ำอัดลม ชีวิตของคุณและผมก็จะรื่นรมย์ได้เสมอ หากไม่ลืมที่จะใช้ชีวิตทีละจิบๆ
    เชิญดื่ม...

    ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 6 มี.ค. 2550
    จิตร์ ตัณฑเสถียร media4joy@hotmail.com
    กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
    และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

    กิจกรรมเพื่อจิตแจ่ม หน้าใส ปัญญาดี ประจำเดือน พฤษภาคม

         
    เชิญเพื่อนๆ มาร่วมภาวนากับ หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระนิกายเซ็น ชาวเวียดนาม ผู้เขียนหนังสือ ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ / สันติภาพทุกย่างก้าว / เมตตาภาวนาว่าด้วยรัก และหนังสือเลื่องชื่ออีกมากมาย
    ร่วมสัมผัสรสแห่งการตื่นอยู่เสมอกับหลวงปู่ ได้ระหว่างวันที่ 20-31 พฤษภาคม ที่ท่าน และภิกษุ และ ภิกษุณี จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส จะมาเยือนเมืองไทย

    กิจกรรมในกรุงเทพ
  • วันอาทิตย์ที่ 20 พค. หลวงปู่ จะนำกิจกรรมในวันแห่งสติ เป็นกิจกรรมที่นำเสนอว่า เราสามารถเอาธรรม มาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับทุกกิจกรรมในชีวิตของเราได้
  • วันอังคารที่ 29 พค. ท่านจะไปปาฐกถา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    แต่สำคัญที่สุด ท่านจะนำการปฏิบัติของเรา เป็นเวลา 5 วัน ระหว่าง 23-27 พค. ในงานภาวนาสู่ศานติ สมานฉันท์ ที่ จ.เชียงใหม่
    ผู้ใดสนใจ ต้องรีบยื่นวันลา โทรสำรองที่กับผู้จัดงาน และเตรียมกายและใจให้พร้อมเรียนรู้ การตื่นและความเบิกบานในชีวิต

    ก่อนหลวงปู่มา เราจะจัดงานเสวนา 30 ปี ติช นัท ฮันห์ ในเมืองไทย ที่งานสัปดาห์หนังสือ วันที่ 6 เมษายนนี้ (กำหนดงานจะแจ้งให้ทราบต่อไป)

    ใครสนใจ จะร่วมช่วยงานในฐานะ อาสาสมัคร เราโอบ 2 แขน รับเลยจ๊ะ

    หวังว่าเพื่อนๆ คงจะมีโอกาสไปร่วมงานได้ อย่างน้อย หนึ่งกิจกรรม
    สนใจ ติดต่อ อุ๊ 086-789-7070 หรือ www.thaiplumvillage.org
  • การอบรมการคิดกระบวนระบบ Systems thinking 16-18 มีนาคมนี้




    ขอเชิญร่วม กิจกรรมส่งเสริมปัญญา พัฒนาจิต และความสุข ประจำเดือน มีนาคม

    การอบรม Systems thinking การคิดกระบวนระบบ

    ในวันที่ ศุกร์ ถึง อาทิตย์ 16-18 มีนาคม (3 วัน 2 คืน)

    ณ พนาศรม ศาลายา นครปฐม

    รับจำนวนจำกัด เพียง 15 คน เท่านั้น!!!!




    การคิดกระบวนระบบคืออะไร ทำไมเราจึงต้องเรียนรู้เรื่องนี้

    ระบบสังคมโลกในยุคปัจจุบัน มีความซับซ้อน เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง การจัดการกับปัญหาต่างๆไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป หลายครั้งที่เราจัดการปัญหาด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจเหตุ และความสัมพันธ์ของปัญหาอย่างถ่องแท้ ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ต่อเนื่องไปอีก
    โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความโยงใยของปัญหาซับซ้อนขึ้นตามการหมุนวนของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง ความรู้ และการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากกับโลกอนาคต และสำหรับเราที่ต้องอยู่ในโลกใบนี้ต่อไป อย่างสร้างสรรค์และเข้าใจ
    การคิดกระบวนระบบ จะช่วยให้เราเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ต่างๆในชีวิตของเรา ในการทำงาน ในสังคม วิเคราะห์ แนวโน้ม แบบแผนที่นำมาซึ่งปรากฏการณ์นั้นๆ มากไปกว่านั้นเราจำเป้นต้องมองลึกให้ไปถึงระดับโครงสร้างที่ก่อให้เกิดแบบแผนนั้น และท้ายที่สุด เราสามารถส่องเข้าไปเห็น ภาพจำลองความคิด หรือแนวคิดของตัวเรา ของสังคม ที่ผลักดัน กำหนดความเป็นไปของชีวิตเราเอง และสังคมโลก
    ใครที่สนใจพุทธศาสนาอาจมองว่าการฝึกคิดกระบวนระบบนี้ ที่แท้ก็เทียบเคียงได้กับ โยนิโสมนสิการ คือการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง
    โลกภายนอก คือ ภาพสะท้อนของความคิดภายในของเรานั่นเอง หากเราเห็นภาพภายในที่สะท้อนสู่โลกภายนอกแล้ว เข้าใจ สามารถแปรเปลี่ยนมัน โลกภายนอกก็อาจมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือสังคม น่าจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงโลกภายในของเรานั่นเอง

    มาร่วมเรียนรู้ การคิดกระบวนระบบ กับ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้ที่เรียกตัวเองว่า นักอภิวัฒน์ ผู้ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดี ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
    ถ้าใครคุ้นเคยกับงานปิดถนน ถนนคนเดิน หรือย่านถนนพระอาทิตย์ ก็จะรู้ว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ เป็นผู้อยู่แถวหน้า ผลักดันให้เมืองน่าอยู่ เปิดพื้นที่ให้มนุษย์เดินดิน มีพื้นที่เดิน ติดต่อ สื่อสาร พูดคุยกันมากขึ้น เป็นพื้นที่ ประชาสังคม
    อาจารย์ชัยวัฒน์ ยังศึกษา และเขียนหนังสือ เกี่ยวกับ ทฤษฏี ไร้ระเบียบ Chaos ซึ่งกล่าวถึงการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์หลายอย่างในธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลง และการสิ้นสลาย ฟังแล้วดูเหมือน กฏไตรลักษณ์ประมาณนั้น
    ความสนใจเรื่องสังคม การพัฒนาตนเอง และวิทยาศาสตร์ใหม่ประยุกต์กับโลกสมัยใหม่ ทำให้อาจารย์ชัยวัฒน์ อ่านหนังสือ เข้ารับการอบรมกับเจ้าสำนักพัฒนาตนสำนักต่างๆทั้งในโลกตะวันตก และตะวันออก และที่สำคัญคือ การลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ในศาสตร์ต่างๆเพื่อการพัฒนาตน ไม่ว่า จะเป็นการเขียนพู่กันจีน akido เป็นต้น

    อยากรู้ว่า เรียนรู้การคิดกระบวนระบบเป็นอย่างไร ให้ประโยชน์อะไรกับชีวิตเราและผู้อื่นได้บ้าง หาทางเดียวก็คือ มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ตรงในการอบรม วันที่ 16-18 มีนาคมนี้
    เราต้องการผู้ที่ตั้งใจจริง และสามารถสละเวลาให้ตัวเองได้เรียนรู้ เป็นเวลา 3 วันเต็ม
    ค่าสนับสนุนการอบรม คนละ 2,000 บาทถ้วน ซึ่งเป็นค่าที่พัก 2 คืน ค่าอาหาร 7 มื้อ
    สนใจติดต่อ เล็ก 081-622-7855 หรือ อุ๊ 086-789-7070


    วันพุธ, มีนาคม 07, 2550

    นิรามิสา : สตรีดีเด่นแห่งบ้านพลัม


    “นิรามิสา” คือนามทางธรรมของภิกษุณีนิรามิสา แปลว่า “ผู้หมดแล้วซึ่งกิเลส”
    ภิกษุณีชาวไทยผู้นี้บวชเรียนกับหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระชาวเวียดนามแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ร่วม 8 ปีเต็ม บนเส้นทางธรรมสายนี้ เธอได้เติมเต็มชีวิตทางจิตวิญญาณจนได้รับ “รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” จากองค์การสหประชาชาติ เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ประจำปีนี้ ลองฟังมุมมองการดำเนินชีวิตเชิงลึกที่เชื่อมโยงกับพุทธธรรมตามทางหมู่บ้านพลัมจากภิกษุณีผู้นี้
    วิถีของนักบวช
    ภิกษุณีนิรามิสาเติบโตและร่ำเรียนในประเทศไทย เธอเล่าว่า วัยเด็ก เธอก็เหมือนเด็กทั่วไปที่นับถือพุทธศาสนาตามบรรพบุรุษ ทั้งยังไม่เข้าใจในศาสนาพุทธมากนัก จนอายุ 16 ปี เธอมีโอกาสไปสวนโมกขพลารามกับพี่สาวและเพื่อนๆ จึงได้เห็นอีกมุมของศาสนาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
    “เราได้เปิดหูเปิดตา เห็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจพุทธศาสนา ได้เรียนรู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่ คนหนุ่มสาวมากมายก็ไปศึกษาที่นั่น ศาสนาไม่ใช่วัดที่ต้องกราบไหว้ แต่เป็นธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล จากตรงนั้นเลยคิดว่า คนเรามีจิตวิญญาณเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าเราไม่มี ชีวิตคงตายด้าน ถึงมีชีวิต แต่ก็ไม่มีชีวา”
    ความคิดที่เป็นเสมือน “เมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้” นี้ได้ติดตัวเธอมา
    สมัยนั้น เธอเองยังไม่คิดบวช ด้วยยังไม่เห็นแนวทางของนักบวชชัดนัก กระนั้น เธอก็ตั้งใจมั่นทำงานช่วยเหลือผู้คน โดยเลือกศึกษาต่อการพยาบาลผดุงครรภ์และทำงานเพื่อสังคมในองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ปี 2536 ในวัยทำงาน หลังเสร็จภารกิจรายงานผลการดำเนินงานที่ยุโรปแล้ว เธอได้วางแผนเที่ยวแหล่งศึกษาธรรมะต่อ “หมู่บ้านพลัม” (Plum Village) คือแห่งแรกที่เธอไปถึง ทั้งยังเป็นสถานศึกษาธรรมะสำหรับชีวิตของเธอตั้งแต่นั้นมา
    “I have arrived. I am home. เราเรียนรู้จากหลวงปู่ว่า อยู่ตรงไหนก็เป็นบ้าน เมื่อเราได้กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริงคือตัวของเราเอง”
    การปฏิบัติภาวนาครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอ
    เมื่อเธอกลับคืนสู่ชีวิตประจำวัน เธอได้หยุดทำงานประจำ เลือกทำงานอิสระ และหาโอกาสเรียนรู้พุทธศาสนามากขึ้น และสามปีให้หลัง เธอจึงออกบวช เป็นภิกษุณีที่มีความสุขภายใน เห็นได้จากรอยยิ้มบนใบหน้าและดวงตาใสคู่นั้นของเธอ
    การเป็นนักบวชมีความสุข สบาย เป็นอิสระ เราได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้ดูแลตัวเอง ได้ช่วยเหลือคนอื่น สิ่งนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่หลวงพี่มีอยู่ในตัว จึงสัมผัสธรรมะง่าย พอมาเจอหลวงปู่ ได้พบวิธีการปฏิบัติ มันเลยง่ายมาก มหัศจรรย์ มีความสุข เราคิดว่า ถ้าอายุ 16 ได้เจอหลวงปู่ ได้เจอหมู่บ้านพลัม เราคงบวชเลย แต่เหตุปัจจัยตอนนั้นยังไม่เกิดเท่านั้นเอง”
    เธอเล่าว่า แรงบันดาลใจจากหลวงปู่คือความสามารถที่ทำให้ผู้อื่นเบิกบานและมีแรงบันดาลใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านการสอนด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริง หรือผ่านท่าที การพูดจา และการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อใครพบเห็นย่อมเกิดกำลังใจ
    “สิ่งหนึ่งที่หลวงพี่ชอบมากคือ หลวงปู่บอกว่า การเป็นนักบวชที่ออกไปช่วย ไปสอนคนอื่นนั้น สิ่งที่เราทำคือไปสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เขา โดยตัวเราคือเครื่องมือ (Inspiration instrument) เราไม่ได้สอนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก หรือเปลี่ยนแปลงใคร แต่เราไปจุดประกายให้เขามีแรงบันดาลใจ หลวงพี่เคยเป็นพยาบาล แต่ตอนนี้เป็นพยาบาลทางจิตใจ เป็นวิชาชีพของสัมมาพุทธเจ้า”
    จุดร่วมของนักบวชทุกเพศวัย
    เมื่อเธอออกบวชได้ 5 ปีก็มีประเด็นผู้หญิงกับการบวชปรากฏในสังคม สื่อมวลชนหันมาให้ความสนใจกระทั่งสังคมเห็นว่า “ผู้หญิงก็มีวิถีทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน”
    ทุกวันนี้ หากพิจารณาสถานะของหญิงไทยในบริบทของศาสนาพุทธ ภิกษุณีนิรามิสาเอ่ยรับว่าดีใจที่เห็นหญิงไทยสนใจพุทธศาสนามากขึ้น ผู้หญิงหลายคนต้องการศึกษาเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตและการดำรงอยู่ ทั้งๆ ที่ภาพรวมของสังคม ดูเหมือนผู้หญิงยังตกอยู่ในสถานะที่ได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชายก็ตาม
    ส่วนภาพการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านพลัมนั้น เธอเล่าว่าเป็นชุมชนของพุทธบริษัท 4 (สังฆะ) อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี และฆราวาสหญิงชาย ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ต่างก็มีหน้าที่เหมือนกันคือการดูแลวัด
    นักบวชทั้งหญิงและชายเกือบ 200 รูป มาจากประเทศต่างๆ ทุกรูปเดินทางมาเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างศานติ มีสติและเป็นสุข โดยจะให้ความเคารพและดูแลกันเสมือนสมาชิกในครอบครัว
    “ภิกษุเหมือนพี่ชาย เหมือนพ่อทางธรรม ส่วนเรื่องการแบ่งแยกชายหญิง ส่วนใหญ่มาจากการสั่งสมของเราเอง เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังเรามา ด้วยวิถีชีวิตในชุมชน เรื่องการแบ่งแยกจึงไม่เกิด เราโอบรัดกันและกัน อยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้อง เป็นพลังอันอบอุ่น เพื่อขัดเกลาให้มีสติ สมาธิ และปัญญา”
    รางวัลของสังฆะแก่เราทั้งผอง
    รางวัลที่เธอได้รับในวันสตรีสากลนี้ ภิกษุณีเผยความรู้สึกว่าแปลกใจ ด้วยไม่คาดคิดมาก่อน เพราะสิ่งที่ทำไป ล้วนอยู่ในวิถีชีวิตทั้งสิ้น
    “หลวงพี่แปลกใจว่าทำไมจึงได้ เราไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อได้รับอะไร สิ่งที่ทำไปล้วนอยู่ในวิถีชีวิต มันเกิดขึ้นเองเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ถึงหลวงพี่จะได้รับรางวัลนี้ แต่มันไม่ใช่รางวัลของหลวงพี่คนเดียว เพราะเวลาหลวงพี่ทำ หลวงพี่ไม่ได้ทำคนเดียว ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ สังฆะ เพื่อนพี่น้องในเมืองไทยก็ทำด้วย เป็นมือที่ช่วยเกื้อกูลกันและกัน เราเป็นดั่งกันและกัน ฉะนั้น ความสำเร็จจึงไม่ใช่ของหลวงพี่คนเดียว” ภิกษุณีสรุปทิ้งท้าย
    พิธีมอบรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ สำหรับปีนี้จะมีขึ้นในวันพุธที่ 7 มีนาคม เวลา 08.00 - 16.00 น.ที่องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ รางวัลนี้ องค์การสหประชาชาติมอบให้สตรีนักบวชและฆราวาสทั่วโลก เพื่อยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนา และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สตรีทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งสิ้น 25 ท่าน
    ติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เป็นพระมหาเถระชาวเวียดนามในพุทธศาสนานิกายเซนมหายานองค์สำคัญ มีผลงานด้านสันติภาพมากมายจนได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ท่านเป็นผู้นำพุทธธรรมสู่วิถีชีวิตร่วมสมัย พัฒนาแนวทางแห่งสติแพร่หลายไปทั่วโลก สร้างงานเขียนอันทรงคุณค่าหลายเล่ม เช่น ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ, สันติภาพทุกย่างก้าว, คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ 19 - 31 พฤษภาคม 2550
    ติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ/ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัมกว่า 80 รูป จะเดินทางจาริกธรรมมายังประเทศไทย เพื่อ “สู่ศานติสมานฉันท์” หรือ “Toward Peace & Harmony” โดยเอื้อให้คนไทยได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีทางแห่งการอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก ความเมตตา และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งสนใจติดต่อ www.thaiplumvillage.org หรือ อีเมล awakeningsource@yahoo.com หรือ โทร. กรุงเทพฯ 08-5318-2938, 08-5318-2939 เชียงใหม่ 086-910-9611, 089-700-8720

    ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 6 มี.ค. 2550
    พรรัตน์ วชิรชัย media4joy@hotmail.com
    กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
    และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล