วันอังคาร, พฤษภาคม 08, 2550

คุณค่าของการสะสม

ส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนทั่วไปมักมีสิ่งรื่นรมย์เป็นของตนเอง แต่คนส่วนใหญ่ชอบตีความคำว่า ‘สิ่งรื่นรมย์’ ไปกับการเที่ยวเตร่ เข้าผับเข้าบาร์ หรือชอปปิ้งสินค้าเพื่อความสะใจ
ผมภูมิใจที่ไม่ได้ใช้ชีวิตเช่นนั้น มิใช่มองว่าไร้ค่าเสียทั้งหมด แต่เพราะการเที่ยวเตร่ไปวันๆ ไม่ถือเป็นการใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิ แม้ไม่อาจปฏิเสธว่าชีวิตควรสรรหาความสุขใส่ตัวพอเป็นกับแกล้มให้กับลมหายใจ เพียงแต่ผมพอใจจะคลุกคลีกับบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะของสะสมที่ผมครอบครอง
รถไฟเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบ ผมสะสมสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับรถไฟมาตั้งแต่เด็ก อาทิ ถ้วยน้ำวาดลายสถานีหัวลำโพง รูปถ่ายรถไฟ แสตมป์รถไฟ จนถึงตั๋วรถไฟชนิดที่เป็นกระดาษแข็ง
แต่ของสะสมเกี่ยวกับรถไฟที่ผมมักนำไปโอ้อวดคนอื่นมากที่สุด...คือรถไฟจำลอง
พื้นฐานของคนเล่นรถไฟจำลองคือคนชอบรถไฟ และพื้นฐานของคนชอบรถไฟคือการครอบครองรถไฟ น่าเสียดายที่คนรักรถไฟไม่อาจซื้อรถไฟจริงมาประดับไว้หน้าบ้าน หรืออุตริไปขับรถไฟเล่น อย่างมากเพียงนั่งรถไฟชมวิวทิวทัศน์
การสะสมรถไฟจำลองจึงเป็นความฝันอันสูงสุดของคนรักรถไฟ ซึ่งเป็นความสุขยากจะหาใดเปรียบ
รถไฟจำลองเป็นของเล่นผู้ใหญ่ และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตผมมาเกือบ 20 ปี จำได้ว่าเมื่อครั้งอายุเพียง 7 ขวบ ชาวต่างชาติท่านหนึ่งซึ่งเคยมีพระคุณกับพ่อแม่ของผมในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้หอบหิ้วรถไฟจำลองจากสหรัฐฯ มาฝากผม
จวบจนปัจจุบัน ผมมีรถจักรในครอบครองหลายสิบคัน ตู้รถไฟเกือบสามสิบตู้ แต่ยังถือว่าน้อยกว่าเซียนรถไฟจำลองอีกหลายสิบคน
รวมถึงเซียนรถไฟจำลองที่ชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่สะสมรถจักรและตู้โดยสารมากกว่าผมหลายสิบเท่า
ถึงจะดูน้อยกว่าท่านนายกฯ แต่หากนำไปเทียบกับคนที่เพิ่งจะเริ่มเล่นก็ถือว่าผมมีมาก แต่กระนั้น ผมก็ยังไม่ยอมยุติจำนวนของสะสมให้เพิ่มปริมาณ และทั้งๆ ที่ช่องทางหารายได้ของผมไม่อาจทำเงินได้มากนัก แต่ผมก็ยังมุ่งมั่นซื้อเก็บเพื่อความรื่นรมย์ของผมเสมอ
รถไฟจำลองของผมส่วนใหญ่ผลิตในยุโรป ยี่ห้อที่ผมครอบครอง ได้แก่ Marklin, Trix, Roco, Lima, Piko, ส่วนระบบรางรถไฟ ผมเลือกใช้ของยี่ห้อ Bachmann ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่ท่านนายกฯ เลือกใช้เป็นระบบรางในเมืองจำลองของท่าน
ส่วนการวาง Lay-out (เมืองจำลอง) ของผมมีเพียงบ้านและอาคารสถานที่ไม่กี่หลัง นอกนั้นเป็นรางรถและต้นไม้จำลองประดับพอสวยงาม
ความสุขของคนทำรถไฟจำลองคือ การประกอบสร้างเมืองจำลอง
บางครั้งหากออกแบบไม่สวยงาม หรือทำให้รถไฟตกราง ผู้เล่นก็ต้องผจญกับความเครียดอยู่บ้าง ผมเองก็ค่อนข้างเครียดหากรถไฟจำลองตกราง แต่อุปสรรคดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิคที่สามารถแก้ไขได้
แต่สิ่งที่เครียดยิ่งกว่าคือการคร่ำคิดล่วงหน้าว่าหากผมมีอายุมากขึ้น มีรถไฟจำลองไว้ในครอบครองมากขึ้น ใครจะสนับสนุนรถไฟจำลองของผม
หลายครั้งที่ผมนั่งมองรถไฟแล่นผ่านเมืองจำลองที่มีขนาดใหญ่กว่าเตียงนอนเล็กน้อย หากเผลอมองถึงอนาคตเมื่อใดก็คล้ายความคิดด้านลบกำลังเล่นงาน
ความรู้สึกหวงแหนรถไฟจำลองเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เนื่องเพราะวัตถุดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สิน บ้านเรือน หรือที่ดินมรดกที่ใครก็สามารถส่งต่อถึงลูกหลาน
สิ่งดังกล่าวเป็นเพียง ‘ของเล่น’ ที่บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ
และถ้าผมมีคนรัก เธอคนนั้นจะสนับสนุนให้ผมเล่นรถไฟจำลองหรือไม่ หรือหากผมมีลูก ถ้าเป็นลูกสาวก็อาจเสี่ยงกับการขายเป็นเศษเหล็ก
ด้วยเหตุและผลดังกล่าว กลายเป็นต่อมกระตุ้นว่า ถ้าไม่มีโอกาสเล่นในอนาคต ผมก็ต้องซื้อเก็บให้มากเข้าไว้ก่อนจะอดเล่น ความกระสันอยากในของสะสมจึงพอกพูน ทั้งที่ราคาของรถไฟจำลองก็ใช่ย่อย (หัวรถจักรหนึ่งคันตกราคาประมาณ 6,000 – 10,000 บาท)
มนต์สะกดที่ต้องการเพิ่มปริมาณทำให้ผมซื้อสะสมไว้เรื่อยๆ กระทั่งห้องนอนของผมเริ่มจะกลายเป็นหัวลำโพงขนาดย่อม
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกครั้งที่ผมเปิดหนังสือเกี่ยวกับรถไฟจำลอง เมื่อเห็นภาพเมืองจำลองที่ตกแต่งไว้สวยงาม กิเลสตันหาเกี่ยวกับของสะสมก็พวยพุ่งจนบางครั้งถึงกับตัวสั่นงันงก อยากได้หัวรถจักรคันนั้นคันนี้
ความรู้สึกของผมเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก หลังจากวงการรถไฟจำลองเกิดการขยายตัว มีการเปิดหน้าร้าน มีเวบไซต์ มีชมรมผู้เล่นรถไฟจำลอง โดยต้นเหตุเกิดจากกระแสของนายกรัฐมนตรีที่เล่นรถไฟจำลอง รวมถึงสังคมออนไลน์ที่ทำให้ผู้ชอบสะสมรถไฟจำลองหลายคนเกาะกลุ่มร่วมตัวตั้งเป็นสมาคม นัดพบปะสังสรรค์ในบางวาระ
มิติแรกถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะหากผู้นำเข้ารถไฟจำลองรับรู้ว่าลูกค้ามีความต้องการสูง สินค้าย่อมถูกลงตามกฎของอุปสงค์อุปทาน ทว่าในอีกมิติ ส่วนหนึ่งของการรวมตัวของคนชอบรถไฟจำลอง มักแฝงด้วยการอวดร่ำอวดรวย หยิบโชว์ของสะสมของตนว่าเป็นของมีระดับ
ผมเคยจดจ้องรถจักรของผู้เล่นคนหนึ่งที่นำหัวรถของตัวเองมาอวด รถจักรของเขาราคาเหยียบแสนบาท กระตุ้นความกระสันให้ผมไขว่คว้าเป็นเจ้าของ ความหมายของราคาที่ตีตราวัตถุ ลุกลามถึงจิตใจอย่างไม่อาจหยุดยั้ง
แต่ในบ่ายแก่ๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะจำใจวิ่งรถไฟจำลองคันเก่า ผมก็ถามตัวเองว่า...อะไรคือความหมายของการสะสม
ตริตรองอยู่เป็นนานจึงพบว่า จุดหมายของการสะสม...มิใช่แค่การสะสม
เพราะการเล่นรถไฟจำลองนั้น ถ้าจิตใจยังเปี่ยมด้วยความทะยานอยาก หมกมุ่นจนยอมให้กิเลสแห่งการไขว่คว้าเข้าสิงสู่ ย่อมรู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมช่างน้อยนิด
แต่ถ้าลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าหากต้องการสะสมเพียงเท่านี้ หรือในช่วงเวลานี้จะซื้อเก็บเพียงเท่านี้ ย่อมมองเห็นคุณค่าของสิ่งสะสม จนกลายเป็นมิติเวลาแห่งความสุข เป็นการพักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานมาทั้งวัน แถมยังเป็นสิ่งชักชวนให้รับรู้ประวัติความเป็นมาของกิจการรถไฟ ซึ่งคนรักรถไฟส่วนใหญ่มักชอบค้นคว้าเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว
หลังจากทดลองเปลี่ยนวิธีคิด ความสุขในการสะสมรถไฟจำลองเริ่มกลับมาหาผมอีกครั้ง แม้จะยังยืนยันว่าชีวิตนี้คงจะเล่นรถไฟจำลองไปตลอด กระนั้นก็ต้องพยายามตั้งรับกิเลสที่ถามหาอยู่เป็นระยะ ซ้ำต้องท่องจำอีกด้วยว่า ของสะสมคือวัตถุอันเย้ายวนที่กำลังทดสอบจิตใจเราว่าจะจัดการกับความต้องการไม่สิ้นสุด มิให้ล่วงเกินความพอดีได้อย่างไร
เพราะหากจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ ‘ความพอดี’ กับ ‘ของสะสม’ ย่อมอยู่ร่วมกันได้

ชีวิตรื่นรมย์ // โพสต์ทูเดย์ // ฉบับวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2550
โมน สวัสดิ์ศรี media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
สนับสนุนโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น: