ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อาจทำให้ข้าพเจ้าเศร้าใจ แต่ก็เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะท่านกลับมามีชีวิตอีกครั้งในความทรงจำ และในหัวใจของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้พบท่านผู้หญิงเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ครั้งเป็นผู้สื่อข่าวหน้า outlook หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
แม้จะได้มีโอกาสพูดคุยกับท่าน เพียง 2 ครั้งเท่านั้น แต่หญิงชรากิริยาสงบและ สง่า มีเมตตาผู้นี้ ได้ฝากรอยแห่งความประทับใจที่ข้าพเจ้าไม่รู้ลืม
สำหรับข้าพเจ้า ท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ได้เป็นเพียงภริยาของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส แต่ท่านผู้หญิงยังเป็นวีรสตรีที่มีคุณงามความดีอยู่ในเนื้อตัวของท่านเองอย่างเพียบพร้อม
ข้าพเจ้าพบท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เป็นวันแรกของอาชีพการเป็นนักข่าว ข้าพเจ้าถูกมอบหมายให้รายงานข่าว วันทำบุญรำลึก วันเสรีไทย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่โรงพยาบาลจุฬา
ที่นั่น ข้าพเจ้าได้พบกับวีรบุรุษ วีรสตรีที่อยู่เบื้องหลังขบวนการช่วยประเทศไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เราไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในสงครามอย่างมหาศาล หรือถูกยึดครองโดยประเทศที่ชนะสงคราม
พิธีการทำบุญเป็นไปอย่างเงียบๆ และเรียบง่าย มีชายและหญิงชรา อดีตเสรีไทย พร้อมลูกหลาน ประมาณ 50 คนมาร่วมงาน บรรยากาศในงานเหมือนงานเลี้ยงในหมู่ญาติมิตรอย่างเป็นกันเอง
ท่านผู้หญิงเป็นคนง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตรอง ให้เกียรติคนทุกคนเสมอกัน ท่านให้ความเอ็นดูข้าพเจ้าเสมือนลูกหลานของท่านคนหนึ่ง ท่านตอบคำถาม ชวนข้าพเจ้ามาร่วมพิธีการทำบุญ
ท่านผู้หญิงพูนศุขมาเป็นประธานในพิธี ไม่ใช่เพราะท่านเป็นภริยารัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งขบวนการนี้ หากแต่ตัวท่านเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกเสรีไทยเช่นกัน
ท่านผู้หญิงเล่าว่า ท่านทำหน้าที่ส่งรหัสข่าวสารทางวิทยุให้ฝ่ายพันธมิตร “ฉันกลัวมาก ถ้าหากพวกเราถูกจับได้ คงต้องตายกันหมด”
คนเหล่านี้ทำความดีในที่ลับ คนมองไม่เห็นและไม่ต้องการป่าวประกาศ
คนที่ปิดทองหลังพระได้ต้องมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ และคนที่เรียบง่ายนั้น แท้จริงแล้ว เป็นคนที่มีความพิเศษในตัวอย่างล้นเหลือ และด้วยความพิเศษของท่าน ข้าพเจ้าจึงอยากรู้จักท่านให้มากขึ้น
2 ปีต่อมา ข้าพเจ้าจึงได้โอกาสเข้าพบและสัมภาษณ์ท่านที่บ้านย่านสาธร
สุภาพสตรีผมสีดอกเลาเดินมาทักทายข้าพเจ้าด้วยรอยยิ้ม ทำให้ข้าพเจ้าหายเกร็งไปบ้าง ท่านแต่งตัวเรียบง่าย นุ่งผ้าถุงและเสื้อสีสันสดใส ไม่มีเครื่องประดับใดนอกจากแว่นตา นาฬิกา และ แหวนที่นิ้วนางข้างซ้าย
ในขณะนั้น แม้ท่านจะอายุ 84 ปีแล้ว แต่ความทรงจำของท่านก็ยังกระจ่างชัด ไม่มีวี่แววของการหลงลืมแต่อย่างใด ท่านเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของท่านให้ข้าพเจ้าฟัง ตั้งแต่สมัยยังเยาว์จนกระทั่งชีวิตในวัยชรา
ท่านผู้หญิงเกิดและเติบโตในตระกูลขุนนาง ณ ป้อมเพชร พ่อของท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ แม้จะเกิดในครอบครัวคหบดี แต่ท่านถูกสอนให้ดูแลช่วยเหลือตัวเอง ต้องทำงานบ้านโดยเฉพาะห้องนอนของตัวเอง พ่อของท่านผู้หญิงบอกว่า “เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้า จะมีความสุขสบาย หรือ ยากลำบากรอเราอยู่ เราต้องเตรียมตัว”
ท่านผู้หญิงทำอะไรเองมาตลอด แม้ตอนที่ข้าพเจ้าสัมภาษณ์ ก็จะสังเกตเห็นว่า ท่านไม่ได้ร้องเรียกคนมาช่วยให้หยิบโน่นนี่ หรือทำอะไรให้ หากท่านสามารถทำเองได้
ท่านได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนกระทั่งอายุ 16 ปี ก็ลาออกมาแต่งงานกับท่านอาจารย์ ปรีดี หนุ่มนักเรียนนอกจากฝรั่งเศส อนาคตไกล สิ่งที่ท่านประทับใจใน “นายปรีดี” คือ “ฉันประทับใจที่เขาเป็นมีความรู้ ความประพฤติดี และ ขยันขันแข็ง”
ท่านผู้หญิงช่วยงาน อาจารย์ปรีดี หลายอย่างตั้งแต่การเตรียมการบรรยายการสอน หรือ การพิสูจน์อักษรหนังสือต่างๆ ที่โรงพิมพ์
ในขณะที่พ่อบ้าน ทุ่มเทเวลา และ แรงกายให้กับบ้านเมือง ท่านผู้หญิงก็เป็นทั้งพ่อและแม่บ้านที่ดูแลจัดการธุระภายในบ้าน โดยไม่ได้เรียกร้อง หรือน้อยใจที่สามีไม่มีเวลาทานข้าว หรือ สนุกสนานกับครอบครัว
“งานของนายปรีดี เป็นไปเพื่อบ้านเมือง มีความสำคัญมากกว่าธุระในครอบครัว ถ้าบ้านเมืองดี มีความสุข เราเองก็จะมีความสุขเช่นกัน ดังนั้น เราจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เอาแต่ความสุขลำพังไม่ได้”
“ฉันโชคดีที่มีสามีที่ดี อุทิศตัวเพื่อประเทศชาติ”
ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข และครอบครัวพลิกผันไปตามกระแสการเมืองของโลก และ ภายในประเทศ ไม่ว่าภาวะสงคราม การถูกกล่าวหาด้วยข้อหาร้ายแรงต่างๆ จนต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ และ ความรุ่งเรืองทางการเมืองของท่านอาจารย์ปรีดี ที่ทำงานเป็นเจ้ากระทรวงต่างๆ มากมาย ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง จนกระทั่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และท่านผู้หญิงทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่สามีในฐานะ สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ ในขณะนั้น
ความรุ่งเรือง และ ความยากลำบากในชีวิต ไม่ได้ทำให้ท่านผู้หญิงหวั่นไหวเท่าใดนัก อาจเป็นเพราะท่านเป็นสุภาพสตรีที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และพื้นเพทางครอบครัว ที่ปลูกฝังธรรมให้ท่านตั้งแต่ยังเล็ก
“ฉันไม่ได้เป็นคนทะเยอทะยาน ไม่ตื่นเต้นกับเกียรติยศชื่อเสียง ฉันใช้ชีวิตอย่างที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเราดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง จะมีหรือไม่มี เราก็ไม่หวั่นไหว” ท่านกล่าว
คราวที่ท่านอาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ในปีที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ท่านผู้หญิงพูนศุขต้องยืนหยัดฝ่าวิกฤตชีวิตอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ
ท่านถูกควบคุมตัวด้วย ข้อหา ทรยศต่อราชอาณาจักร คราวนั้น สาววัย 40 ปี ไม่หนี ไม่ถอย แต่รอการมาเชิญตัวของเจ้าหน้าที่อย่างสงบ ในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เราจะเห็นสุภาพสตรีเดินอย่างองอาจ สง่างามท่ามกลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธ
แม่ของท่านผู้หญิง บอกว่ารู้จักเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในสมัยนั้น และจะขอให้ช่วย แต่ท่านผู้หญิงปฏิเสธ “ฉันบริสุทธิ์ ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร และจะไม่คุกเข่าร้องขอความเมตตาจากใคร”
ท่านอยู่ในห้องคุมขังเป็นเวลา 84 วัน ในนั้นมีเพียงเสื่อนอน และ โต๊ะ 1 ตัว และทุกวัน ญาติๆจะมาเยี่ยมพร้อมข้าวปลาอาหาร ลูกชายคนโตของท่านก็ถูกจับกุมเช่นกัน และในฐานะผู้เป็นแม่ ท่านก็ไม่ได้แสดงความหวั่นไหวอันใด ในวิกฤตเช่นนี้
ข้อกล่าวหาทั้งหลายมีอันต้องตกไป เพราะขาดหลักฐาน ไม่กี่เดือนต่อมา ท่านก็เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ จนท้ายที่สุด ทั้งท่านและ อาจารย์ ปรีดี ก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบที่ประเทศฝรั่งเศส กว่า 30 ปี จนกระทั่งอาจารย์ปรีดีเสียชีวิต ท่านจึงกลับมาอยู่เมืองไทยแดนเกิดและแผ่นดินแม่ที่ท่านปรารถนาจะจบชีวิตลง
ในบั้นปลายของชีวิต ท่านผู้หญิงเล่าให้ฟังว่า ท่านมีชีวิตสงบ ออกกำลังกายเบาๆ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ฟังธรรมอยู่กับลูกหลาน ไปร่วมงานต่างๆ ที่เนื่องกับท่านอาจารย์ปรีดีบ้างและวันเสรีไทย
ข้าพเจ้าได้ตระหนักว่า การได้สนทนากับคนดีนั้น เป็นมงคลชีวิตจริงๆ สิ่งที่ท่านเล่า เป็นบทเรียนให้ข้าพเจ้าเรียนรู้ และที่สำคัญ บุคลิกภาพ ท่าทีของท่าน เป็นสิ่งที่ฝังแนบเข้าในใจของข้าพเจ้า
นี่คือการสอนโดยไม่สอน เป็นวิธีที่ทั้งท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงใช้สอนลูกหลานของท่าน การทำให้ดูเป็นตัวอย่างสำคัญมากกว่าการพูดสอน
จวบวาระสุดท้าย ท่านก็สอนโดยการแสดงให้เห็นวิถีของผู้ดีที่แม้ตายก็ยังสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป ท่านอุทิศร่างกายให้เป็นครูแก่นักเรียนแพทย์ ผู้ซึ่งจะช่วยดูแลรักษาชีวิตคนอีกมากมายต่อไป ท่านยังระบุให้ลูกหลาน ทำพิธีศพและรำลึกถึงท่านอย่างเรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง หรือรบกวนผู้ใด
ความยิ่งใหญ่ของท่านคือความเรียบง่ายและชีวิตที่ครองธรรมอยู่เสมอ
ไม่ว่าชีวิตจะขึ้นหรือลงทั้งอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขยึดถือสัจจธรรมข้อเดียวกัน
“ธรรมจะคุ้มครองผู้ที่ปฏิบัติธรรม ความดีงามที่เราทำไม่มีวันจางหาย” ท่านผู้หญิงพูนศุขบอกข้าพเจ้า
คนดีไม่มีวันตาย ความดีของท่านผูหญิงพูนศุขยังดำรงอยู่ในโลก ในหัวใจของใครหลายคนที่ยังมีชีวิตและสานต่อความดีงามต่อไป
คำสั่งถึงลูกๆทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
1)นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
2)ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
3)ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
4)ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
5)มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
6)ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
7)เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
8)ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ๆแม่เกิด
9)หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
10)ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ
พูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ 172 สาธร 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541
แม่มีอายุครบ 86 ปี 9 เดือน
ชีวิตรื่นรมย์ 22 พค 50
กรรณจริยา สุขรุ่ง media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ www.happymedia.blogspot.com
วันจันทร์, พฤษภาคม 28, 2550
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “คนดีไม่มีวันตาย”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น