ประสบการณ์ยิ่งใหญ่จากหนังสือเล็กๆ ชื่อ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ”
“บ้านนอกของเรามีบางสิ่งที่เมืองใหญ่ทำหายไป เราต้องสร้างบ้านนอกขึ้นด้วยการสนับสนุนข้อดีของเราเอง”
คุณอุ๊บอกมาหลายที (แสดงว่าค่อนข้างนานแล้ว) ว่าอยากให้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้เพื่อนๆได้รู้จัก แบ่งรับแบ่งสู้และไม่ได้ลงมือจัดการเสียทีเพราะนึกว่ายังต้องพูดถึงหนังสือเล่มนี้อยู่อีกหรือ ก็เขาออกจะ “ดัง” ทีเดียว ในแวดวงเราๆส่วนใหญ่คงได้อ่านกันเยอะแล้ว
แต่อีกใจคิดว่าไหนๆก็รับปากไปแล้ว และเอาเข้าจริงๆนะถ้าจะสามารถบอกต่อให้ใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพิ่มขึ้นแม้เพียงอีกสักคนเดียว ก็คุ้มค่าละ
“ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ” เขียนโดยมาซาฮิโกะ โอโตชิ แปลโดยมุทิตา พานิช สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาจัดพิมพ์
เรื่องราวที่นักเขียนผู้หนึ่งได้สัมผัสเมื่อเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง กลางหุบเขาในจังหวัดโคจิ บนเกาะชิโกกุ หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากความศิวิไลซ์นี้ชื่อ “อูมะจิ” ที่แปลว่าทางม้า หมายถึงครั้งหนึ่งหนทางที่จะเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้ได้จะต้องอาศัยขี่ม้าเข้าไปเท่านั้น
หมู่บ้านอูมะจิ ก็เหมือนๆหมู่บ้านตามบ้านนอกทั่วไปไม่ว่าจะในญี่ปุ่น หรือเมืองไทย คือ แทบจะรกร้าง ผู้คนทิ้งถิ่น หนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่และเด็กน้อยเพียงบางเบา หมู่บ้านแบบนี้มักต้องพึ่งพาอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐ ประชาชนจึงขาดอิสระ มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองน้อย ชุมชนอ่อนแอ
แต่สิ่งที่ทำให้หมู่บ้านอูมะจิไม่เหมือนหมู่บ้านไหนๆก็คือ ที่นี่มีคนเข้มแข็ง ซึ่งผู้เขียนใช้คำว่า “ชายผู้แต่งงานกับหมู่บ้าน” คุณลุงโมจิฟูมิ โตทานิ ผู้เกิดและเติบโตในอูมะจิ ทีแรกนั้นเขาเป็นเพียงหัวหน้าแผนกธรรมดาๆในสหกรณ์การเกษตรของหมู่บ้าน แต่ที่ไม่ธรรมดาคือเขามีความบ้าเป็นที่ตั้ง บ้าขนาดที่ว่าไม่ยอมนอนรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ เขามองเห็นศักยภาพที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆของหมู่บ้าน ลุงโตทานิรู้ดีว่าไม่มีใครจะรู้จักหมู่บ้านอูมะจิมากไปกว่าชาวอูมะจิ และเขาเชื่อมั่นว่าหากทุกคนรวมตัวกัน หมู่บ้านอูมะจิจะพัฒนาไปไกลโลดอย่างเป็นตัวของตัวเองแน่นอน
บนเกาะชิโกกุเป็นแหล่งที่ปลูกส้มยูสุกันมาก หมู่บ้านอูมะจิก็เช่นกัน แต่เพราะความที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขาดแรงงาน ส้มยูสุของอูมะจิจึงไม่ได้รับการดูแล ทำให้กลายเป็นยูสุป่าที่ปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิง ผลที่ออกมาจึงไม่สวย ถ้านำมาขายสดๆก็จะได้ราคาต่ำมาก ทางออกจึงอยู่ที่การแปรรูปส้มยูสุออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ลุงโตทานิ คือ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่กระตุ้นให้ชาวบ้านที่มีฝีมือมาช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วลุงก็เร่ออกร้านขายตามงานต่างๆ เหนื่อยยากและต้องฝ่าฟันสารพันอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า จนที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าน่าจะใช้วิธีขายตรงจากหมู่บ้าน ซึ่งนั่นก็ไม่ได้แปลว่าหนทางจะสะดวกสบายง่ายดายไปกว่ากันหรอกนะ แต่ทางสู้ของคนไม่มีทางสู้ เมื่อไม่อยากหยุดนิ่งอยู่กับที่ วิธีเดียวก็คือทำด้วยความมุ่งมั่นศรัทธาและเดินหน้า...ลุย!
ปรัชญาของลุงโตทานิคือ ทำงานด้วยความจริงใจ ผลิตแต่สินค้าที่มีคุณภาพ และบริการลูกค้าอย่างดีเยี่ยม พยายามสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เปรียบเสมือนผู้มีพระคุณทุกคน ลุงโตทานิใช้ความเป็นคนมีอารมณ์ขัน (แม้จะแฝงอยู่ในท่าทีสงบเสงี่ยม) และหัวการตลาดแบบบ้านๆที่เข้าถึงจิตใจคนได้อย่างดี ลองผิดลองถูกอย่างไม่ย่อท้อเรื่อยมา
ทั้งหมดทั้งปวงรวมกับพลังความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ทำให้สิบเจ็ดปีต่อมา (ค.ศ.1997) โรงงานแปรรูปยูสุของอูมะจิมียอดขายผลิตภัณฑ์ถึงเกือบ 2 ล้านเยน มีลูกค้าสั่งของส่งถึงบ้านมากกว่า 2 แสนราย ชื่อเสียงและเรื่องราวของหมู่บ้านอูมะจิก็พลอยขจรขจายสร้างปรากฏการณ์ไปทั่ว จนนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนอูมะจิไม่ขาดสาย
ในหนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดกว่าจะมาเป็นผลิตภํณฑ์ดีเด่น ด้วยสำนวนการเขียนเหมือนเล่าที่อ่านสบาย แถมด้วยภาพประกอบจากฉลากผลิตภัณฑ์ที่แสนจะน่ารักน่าขัน อ่านเพลินแต่ได้ข้อคิดเพียบเลย จนอยากให้บรรดาผู้นำหมู่บ้านแต่ละแห่งของบ้านเราได้ใช้เป็นกรณีศึกษา
ความรู้สึกอีกสองอย่างที่เกิดขึ้นขณะอ่านหนังสือเล่มนี้คือ หนึ่ง อยากกินน้ำส้มยูสุ (เอื๊อก!) และโชคดีที่ได้ลองชิมแล้วด้วย อร่อยมาก กับสองคือ เกิดสำนึกรักบ้านเกิด อันที่จริงในเมืองไทยมีปราชญ์เดินดินหรือคนเก่งๆอย่างลุงโตทานิไม่น้อยเลย เราสมควรต้องเรียนรู้จากท่านเหล่านั้นและช่วยๆกันเผยแพร่แง่คิดคุณงามความดี เป็นกำลังใจให้ชุมชนมีความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง มีความเป็นอยู่อันพอเพียง อันจะนำไปสู่สภาพชุมชนเข้มแข็ง หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ความยากจน และการแทรกแซงแสวงหาผลประโยชน์กับท้องถิ่นจากบรรดานักการเมืองน้ำเน่า
หมู่บ้านเล็กๆที่ยิ่งใหญ่หลายๆแห่งรวมกันเท่านั้น ถึงจะสร้างประเทศชาติที่มั่นคงยิ่งใหญ่ได้ ...ไม่ใช่มาจากการมีรัฐบาลยิ่งใหญ่สักหน่อย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น