วันพุธ, มีนาคม 11, 2552

รักกันผ่านเพลงชาติ

เรียนรู้ความเป็นพี่เป็นน้องกันในโลก ผ่านการร้องเพลงชาติของคนอื่น

เพื่อนคนหนึ่งส่งคลิปวิดีโอดี ๆ มาให้ เป็นภาพชาวเคนยาจากหลากเผ่าหลายชนชั้น มาร้องเพลงชาติอินเดีย เพลงเพราะ (เพราะร้องโดยนักร้องประสานเสียง) ภาพทิวทัศน์สวย

ในประเทศเคนยามีชาวอินเดียอยู่กว่า 2 ล้านคน เป็นผู้อพยพมาทำงานตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษสร้างรถไฟในแอฟริกาตะวันออก (ในสมัยนั้น ท่านคานธีไปแอฟริกาใต้)

นี่เป็นหนึ่งในโครงการที่ผู้กำกับภาพยนต์ต้องการนำเสนอ เผื่อว่าเราจะรับรูู้โลกต่างไปจากเดิม

ในประเทศไทย มีแรงงานพม่ากว่าล้านคน ลาวและเขมรอีกมาก เราเคยได้ยิน ได้ฟังเพลงชาติของเพื่อนบ้านไหม

คนไทยเคยคิดจะร้องเพลงชาติพม่า ลาว เขมรหรือเปล่า

ถ้าเราเรียนรู้ที่จะร้องเพลงชาติของกันและกัน เราจะรู้สึกต่อกันต่างไปไหม จะรักกัน เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้้นไหม

ไม่รู้ว่า งานประชุมอาเซียนที่ผ่านไป มีการให้เราร้องเพลงชาติอื่นไหม เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี




Leading film-makers are seeking to change the way we think about other countries. This is one of a powerful series of films to be shown on Pangea Day, May 10, "the day the world comes together through film".

See all six anthems. Then visit http://www.pangeaday.org and register your screening for May 10. It's time to imagine a different world.

Here, set against the backdrops of Nairobi city and the beautiful landscape of Uhuru Park (Maasai country), a Kenyan choir sings the Indian national anthem.

The director has chosen the Indian anthem because Kenya is home to a sizeable Indian population (including Sikhs & Jains also) of approximately 2.5 million, most of them descendants of the East African Railways labourers who were brought over by the British during the late 19th and early 20th centuries when the British colonialists ruled Kenya and the rest of the East African region.

วันจันทร์, มีนาคม 09, 2552

ตลาดเขียวบนตึกสูง




"เราเป็นสิ่งที่เรากินเข้าไป" และอยากขอเติมว่า เราเป็นดังวิธีการที่เรากินด้วย

You are what you eat (and how you eat it).


ถ้าเช่นนั้น คนเมืองอย่างเรา ๆ คงเป็นสารพิษและขยะ เพราะสิ่งที่เรากิน ดื่ม เจือปนด้วยสารพิษนานาชนิด และวิถีชีวิตแบบเร่งรีบทำให้เราจำต้องด่วนแดกเป็นประจำ

จะหาอาหารที่ปลอดภัยได้ที่ไหน จะหาคนปรุงอาหารจะใส่ใจกับสุขภาพผู้ซื้อกินได้จากไหน และเราจะหาเวลาค่อย ๆ ละเลียดลิ้มรสอาหารเพื่อสุขภาวะของเราได้อย่างไร

เวทีสร้างสุข สสส.จับมือกับเครือข่ายตลาดสีเขียว เปิดตัวกิจกรรม “ตลาดสีเขียวบนตึกสูง” ที่จะจัดขึ้นทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ ๑ และ ๓ ของเดือน ณ ลานกิจกรรม ชั้น ๓๕ อาคารเอส. เอ็ม.ทาวเวอร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป

ในวันทำการ ตลาดสีเขียวบนตึกสูงเริ่มเปิดเวลา ๑๑.๐๐ น. และตลาดวายตอน ๑๗.๓๐ น. ซึ่งผู้สนใจสามารถเลือกซื้อหาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเครือข่ายตลาดสีเขียวได้ รวมทั้งยังเป้นโอกาสให้ผู้บริโภคได้รู้จักกับผู้ปลิตโดยตรงด้วย เพื่อเพิ่มสายใยสัมพันธ์ของความห่วงใยกันและกัน

และในช่วงกิจกรรมเปิดตลาดในวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมา เวทีสร้างสุขหาสาระมาเติมสมองของเราด้วยการเสวนา “ตลาดเขียว เกษตรอินทรีย์ กับวิถีผู้บริโภคคนเมือง”

คุณพฤติ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัทแดรี่โฮม เจ้าของผลิตภัณฑ์นมอินทรีย์ตราแดรี่โฮม ในฐานะตัวแทนเครือข่ายตลาดสีเขียว เล่าถึงความเป็นมาของการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตนมอินทรีย์ว่า เป็นการแสวงหาทางเลือกเพื่อลดแรงกระทบจากธุรกิจนำเข้านมจากต่างประเทศ หลายปีที่ผ่านมานมนำเข้ามีราคาถูกกว่านมที่ผลิตในประเทศ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาด้านการจำหน่ายเพราะไม่สามารถผลิตนมที่มีราคาต่ำกว่าได้

ในมุมมองของคุณพฤติ ทางรอดของเกษตรกรจึงไม่ใช่การแข่งขันด้านราคา แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพให้ดีกว่า จึงเป็นที่มาของนมอินทรีย์ ที่งดเว้นการใช้เคมีทุกชนิดในฟาร์ม เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโคนมให้เป็นไปตามวิถีธรรมชาติ เลี้ยงวัวให้เป็นวัวไม่ใช่เครื่องจักรผลิตนม ที่ต้องควบคุมการผลิตหรือฉีดสารเร่ง แน่นอนว่าผลผลิตย่อมลดลง แต่ผลดีที่ตามมาถือว่าเกินคุ้ม ดังที่ คุณพฤติ กล่าวไว้ว่า

“หลังจาก ๓ เดือนผ่านไปเกษตรกรบอกว่าดี ทำงานน้อยลง มีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น วัวที่เคยเจ็บป่วยบ่อยๆ ก็ไม่ป่วย ผู้เลี้ยงก็มีสุขภาพจิตดีขึ้น รายได้น้อยลงแต่เหลือเก็บมากขึ้น จากเดิมได้เดือนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เหลือเก็บ ๑๐,๐๐๐ – ๒๐,๐๐๐ บาท บางเดือนก็ไม่เหลือเพราะต้องจ่ายค่ายา ค่ารักษาวัวป่วย แต่พอเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบตามธรรมชาติ วัวไม่เคยป่วย ถึงแม้จะได้แค่เดือนละ ๘๐,๐๐๐ บาท แต่รายจ่ายก็ไม่ค่อยจะมี”

ส่วนกิจกรรมขับเคลื่อนตลาดเกษตรอินทรีย์คุณพฤติบอกว่า สิ่งที่ทำอยู่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่คุ้มค่าทางธุรกิจแต่ต้องช่วยกันทำ ทำแ ล้วต้องไม่เลิก เพื่อจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ทางด้านคุณธวัชชัย โตสิตระกูล รองประธานกรรมการมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคคนเมือง ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานกว่า ๑๖ ปี ในการทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ ทั้งในบทบาทผู้จำหน่ายและส่งเสริมการผลิต เล่าถึงสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในสังคมไทยว่า ปี ๒๕๓๖ ที่เริ่มทำตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์นั้น มีคนจำนวนน้อยมากที่เข้าใจว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร และยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างคำว่าปลอดสารพิษ ไร้สาร และเกษตรอินทรีย์ บางคนเข้าใจว่า ปลอดภัยจากสารพิษดีที่สุด ซึ่งในความเป็นจริง คำว่า “ปลอดสาร” หรือ “ไร้สาร” เป็นเพียงการไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ในกระบวนการปลูกยังคงใช้ปุ๋ยเคมีอยู่

ปัจจุบันการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กว้างขวางมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงองค์กรพัฒนาภาคเอกชน แต่ยังมีภาคธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย เช่น สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งมีองค์กรธุรกิจเป็นสมาชิกเกือบ ๑๐ องค์กร ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีในแง่ของการขยายตัวของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ทำให้คนเข้าใจเกษตรอินทรีย์กว้างขวางขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ส่วนสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ คุณธวัชชัยเล่าจากประสบการณ์ในอดีตถึงปัจจุบันว่า

“หลังจากมูลนิธิฯ ทำงานส่งเสริมเกษตรกรประมาณ ๑๓ กลุ่ม ใน ๑๘ จังหวัด ผลผลิตที่ได้มูลนิธิฯ จะมีการรับประกันและรับซื้อในนามของสหกรณ์กรีนเนท เพื่อนำมาจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยสัดส่วนการส่งออกจะสูงกว่าการขายในประเทศ คือส่งออก ๘๐% ขายในประเทศ ๒๐% ตลาดในต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและโตเร็วกว่าการเกษตรทั่วไป ยกเว้นปีนี้ที่กำลังซื้อลดลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ”

จากสถานการณ์ที่ตลาดรับซื้อในต่างประเทศลดลงในปีนี้ จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการหันมาส่งเสริมการทำตลาดภายในประเทศ ให้คนไทยนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มากขึ้น

คุณธวัชชัยยังมีข้อเสนอต่อการดำเนินงานด้านการตลาดที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคคนเมืองว่า ควรติดต่อให้หน่วยงานในระดับนโยบายรับซื้อผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายโดยตรงแล้วจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าตามจำนวนที่มีการสั่งซื้อ เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตไม่ต้องลงทุนมาเร่ขายเอง และควรเปิดร้านอาหารของเครือข่าย โดยใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ล้วนๆ แม้ต้นทุนจะสูงก็ต้องยอมรับกำไรที่น้อยลง เพื่อให้คนสนใจบริโภคมากขึ้น

ในส่วนภาครัฐ คุณสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงานสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ก็ให้ความสำคัญต่อเกษตรอินทรีย์ในแง่ที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Green” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเกษตรอินทรีย์ได้ ผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหลายโครงการ อาทิ สวนลอยฟ้า ที่มีการปลูกพืชผักสวนครัวโดยใช้ปุ๋ยหมักจากขยะ ซึ่งเติบโตดีมากจนสามารถส่งขายให้เลมอนฟาร์มได้ การรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้ว และการส่งเสริมให้โรงเรียนหมักเศษขยะอาหาร แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์โดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนเมืองที่ควรสื่อสารไปยังคนเมืองเพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักให้มากขึ้น

“เครือข่ายตลาดสีเขียวพยายามจะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย แต่บางทีผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ที่ต้องตัดสินใจเลือกก็ไม่มีความรู้ประกอบการตัดสินใจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสื่อสารให้มากขึ้น องค์กรภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ และที่สำคัญคือการรวมตัวกันให้เข้มแข็ง”

ฝ่ายนักวิชาการ ผศ.ดร.โอปอลล์ สุวรรณเมฆ จากภาควิชาบริหารธุรกิจเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวถึงคำว่า “green product” ใน ๒ แนวทาง คือ green product ที่เป็นตัวผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เช่น นมแดรี่โฮม กับ green product ในรูปแบบของการประหยัดพลังงาน เช่น การมุ่งลดภาวะโลกร้อน

จากการทำงานวิจัย ผศ.ดร.โอปอลล์ กล่าวว่า หลักวิชาการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ปลอดภัยจากสารเคมีนั้น ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อผลผลิตโตเต็มที่เกษตรกรจะต้องรีบเก็บทันทีก่อนที่แมลงจะมากัดกิน ไม่สามารถรอจนถึงระยะที่ผลผลิตจะสะอาดปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงที่ใส่ไปแล้วได้ ผลผลิตที่นำมาขายในตลาดจึงแฝงไว้ด้วยยาฆ่าแมลงและสารฟอร์มาลีน ซึ่งในเมืองไทยไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ ผู้บริโภคต้องระมัดระวังด้วยตนเอง การหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่า

“วิถีชีวิตการบริโภคของคนในสังคมเปลี่ยนไปมาก การจัดตลาดนัดก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น ถึงแม้จะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการมาออกร้านแต่ละครั้ง แต่ก็ช่วยในแง่ของการประชาสัมพันธ์ได้ดี เป็นรูปแบบที่มีชีวิตชีวาและมีสีสัน จุดสำคัญคือต้องดึงกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาหาให้ได้ ซึ่งคิดว่าลูกค้าของตลาดเขียวมีอยู่ ๔ กลุ่มคือ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนชั้นกลาง” ผศ.ดร.โอปอลล์ แสดงทัศนะต่อตลาดเขียวบนตึกสูง

อย่างไรก็ตาม ในวิถีทางของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก เพียงแต่ต้องไม่ลืมที่จะทำตลาดภายในประเทศด้วย ดังที่ ผศ.ดร.โอปอลล์ กล่าวว่า

“ในระยะสั้นและระยะกลางการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จะยังอยู่ในระดับดี แต่ในระยะยาวก็ต้องหันมามองสังคมเราด้วย เพราะมาตรฐานการส่งออกต่างประเทศจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาชนะบรรจุต้องทำให้ย่อยสลายได้ง่ายในช่วงเวลาสั้นๆ”

แม้การสร้างตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเป็นเรื่องยาก แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์กลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ดังนั้นความพยายามของเครือข่ายตลาดสีเขียวที่จะนำผู้ผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยมาพบกับผู้บริโภค จะเป็นหนทางที่ช่วยเพิ่มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยได้ ซึ่งจะย้อนกลับไปสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ผลิต ให้หันมาผลิตตามแนวทางนี้ได้มากขึ้นด้วย

ทางเครือข่ายตลาดสีเขียวจึงยังคงมุ่งมั่นจะดำเนินการตามวิถีตลาดสีเขียวต่อไป เพราะเชื่อว่า วิถีนี้คือความยั่งยืนของการดูแลสุขภาพ ไม่เฉพาะมิติทางกายเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณด้วย
...........................
กิจกรรมตลาดสีเขียวบนตึกสูง
จะจัดขึ้นทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ ๑ และ ๓ ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ชั้น ๓๕ ตึกเอส.เอ็ม.ทาวเวอร์ (ตรงข้าม ททบ.๕ สนามเป้า) เริ่มเปิดตลาดตั้งแต่ ๑๑.๐๐ น. และปิดตลาดในเวลา ๑๗.๓๐ น.

หากผู้บริโภคท่านใดสนใจ หรือ ผู้ประกอบตึกสูงในกรุงเทพฯ สนใจให้เครือข่ายตลาดสีเขียวไปร่วมออกร้าน
สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒-๒๒๒๕๖๙๘ , ๐๒-๖๒๒๐๙๕๕ , ๐๘๙-๘๙๒๑๗๙๑

“วิชา... ที่โรงเรียนไม่ได้สอน"











เราใช้เวลา 14-20 ปีในการศึกษาเล่าเรียน ตั้งแต่เตรียมอนุบาลไล่ไปจนถึงปริญญาเอก

เรียนมาก ... สุขมากขึ้นด้วยหรือไม่

เมื่อสังคมให้คุณค่ากับปริญญาและการศึกษาสูง ๆ เราเคยถามตัวเองไหมว่า

เราเรียนหนังสือไปมาก ๆ เพื่ออะไร
ตำรา ใบปริญญา ให้อะไรกับชีวิตบ้าง มีความสุข ความสงบในนั้นบ้างไหม
ท้ายที่สุด การเรียนตอบโจทย์ชีวิตของเราอย่างไร

เราได้พูดคุยประเด็นต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว ในการเสวนา “วิชา...” ที่โรงเรียนไม่ได้สอน" ที่จัดโดยโครงการสร้างสุข สสส. เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราชวนกันคุยเพื่อค้นว่า สาระสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้ คืออะไร และยังมีอะไรที่เราไม่ได้เรียนจากโรงเรียน


อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ นักวิชาการอิสระ เปิดประเด็นด้วยการยกตัวอย่างประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ได้รู้จักกับชายพิการผู้ไม่มีแขนทั้งสองข้าง ส่วนขาและเท้าก็ยื่นออกมาจากสะโพกเพียง ๑ ศอก แต่เขากลับสามารถทำให้อาจารย์ได้มองชีวิตในมุมใหม่ เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายของการดำรงอยู่มากขึ้น


เขาชื่อเอกชัย เมื่อผมพาเขาไป ไหว้พระธาตุดอยสุเทพเพื่อเป็นการตอบแทนมิตรภาพที่เขามีให้แล้ว เขาก็ซื้อกำไลข้อมือกลับมาด้วยคู่หนึ่ง ระหว่างที่นั่งทานอาหารด้วยกันเขาใช้เท้าหยิบกำไลขึ้นมาหนีบไว้บนไหล่ แล้วสวมเท้าเข้าไปทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เมื่อสวมเสร็จแล้วเขายิ้มให้ผมพร้อมกับถามว่า สวยไหมครับอาจารย์ ความรู้สึกของผมตอนนั้นช่างยิ่งใหญ่และงดงามเหลือเกิน


เขา คือครูผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่คนอย่างผมซึ่งมีร่างกายสมบูรณ์และใช้ชีวิตมานานกว่าครึ่งร้อยปีแล้วบาง ครั้งก็ยังรู้สึกคับข้องหมองใจในชีวิต รู้สึกว่ามันไม่พอ ไม่สมบูรณ์สักครั้ง ความรู้สึกอันยิ่งใหญ่นั้นผมไม่สามารถสอนให้ลูกศิษย์ของผมรู้สึกได้ในขณะที่ ผมเป็นครูสอนปรัชญา


อาจารย์ประมวล เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ตัดสินใจเลือกชีวิตใหม่ด้วยการลาออกจากราชการเมื่ออายุครบ ๕๐ ปี แล้วเริ่มต้นแสวงหาประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณ การเล่าถึงประสบการณ์ทางความรู้สึกที่ได้เรียนรู้จากชายผู้พิการคนนั้น เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า วิชาการ หรือความคิดที่มีการเรียนการสอนกันอยู่ในสังคมนั้นมีมากเป็นล้นพ้น แต่ไม่มีพลังในการขับเคลื่อนชีวิตคนเราไปสู่ความเบิกบานและแจ่มใสเหมือนที่ อาจารย์ได้รับความรู้สึกอันทรงพลังจากชายพิการคนหนึ่ง ซึ่งแม้ร่างกายเขาจะไม่สมบูรณ์ แต่จิตใจเขากลับมีความปีติยินดีกับชีวิตและมีพลังอย่างน่าอัศจรรย์


ใช่ หรือไม่ว่า การศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นที่แนวคิด เหตุผล และการคิดเชิงตรรกะ แต่ไม่ได้เติมเต็มความรู้สึกด้านอารมณ์ที่เป็นนามธรรม อันมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและสามารถผลักดันชีวิตไปสู่ทิศทางที่สร้าง สรรค์ได้ ... แล้ววิธีการเรียนการสอนอย่างไร จึงจะทำให้ผู้เรียนถึงพร้อมซึ่งความสมบูรณ์แห่งชีวิต


แบบอย่างจากโรงเรียนทอสี ซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ คือการนำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านการลงมือ ปฏิบัติ อาจารย์บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี พบหลักการศึกษาตามแนวทางของพุทธศาสนาเมื่อได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ประกอบ กับการนำตัวเองเข้าสู่วิถีการปฏิบัติธรรม จึงทำให้เข้าใจหลักพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาและชีวิตมากขึ้น ดังที่อาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า


พอจับหลักพุทธศาสนาได้ว่า ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต ก็เริ่มมองว่าสาระทั้ง ๘ ที่ให้เด็กเรียนนั้นมันเป็นวิชาการมาก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ วิชาชีวิต เราจะเรียนเฉพาะวิชาเลข ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แต่วิถีชีวิตที่เราอยู่ร่วมกันตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในโรงเรียนกลับไม่ได้ เอามาเป็นบทเรียน แต่ถ้าเอาหลักพุทธศาสนานี้มาใช้เราจะได้บทเรียนชีวิตเพิ่มขึ้นมา


วิธี การที่อาจารย์บุบผาสวัสดิ์นำบทเรียนชีวิตมาใช้ในโรงเรียนคือ จัดสรรวิถีชีวิตในโรงเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต เช่น ตอนเช้าเมื่อแม่ครัวทำอาหาร เด็กๆ ต้องไปช่วยงานในครัวด้วย เด็กๆ จะได้เรียนรู้การหั่นผัก การใช้มีด


ขณะ เดียวกันก็ได้เรียนรู้วิชาชีวิตคือ การมีน้ำใจ การแบ่งปัน และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น วิชาชีวิตจึงเป็นวิชาที่มีความเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วน และการสอนในทุกวิชาไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ จะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตอันมีวิชาที่สำคัญในเบื้องต้นคือ วิชาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือสร้างสัมมาทิฏฐิ และต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วยว่า โรงเรียนสอนให้เด็กนอบน้อม มีความเคารพต่อคุณครู ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครูที่สอนในห้องเรียน แต่หมายถึงแม่ครัว คนขับรถ คนสวน หรือยามรักษาความปลอดภัย ส่วนครูที่สอนในห้องเรียนและผู้ปกครองทุกคน ก็เปรียบเสมือนนักศึกษาที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ



อีกเรื่องหนึ่งที่ทางโรงเรียนเน้นมากคือเรื่อง “เกิดมาทำไม” ซึ่งจะสอนเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลโดยใช้สื่อละคร ให้เด็กๆ รู้ว่า เขาเกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นควบคู่กันไป



นอกจากโรงเรียนทอสีแล้ว ยังมีอีกหลายรูปแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจในเวทีการเสวนาครั้งนี้ ดังเช่น คุณชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช จาก แผนงานพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชน ก็มีวิธีการให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตท้องถิ่นของตน ด้วยการจัดกิจกรรมพิเศษนอกโรงเรียนในลักษณะค่ายให้กับเด็กพื้นที่ต่างๆ โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งเด็กที่เรียนจบเพียงชั้นประถม เด็กที่กำลังเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียน เด็กชนบท และเด็กเมือง



การ ส่งเสริมให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนรู้จากความรู้ที่มีอยู่รอบๆ ตัวในท้องถิ่นและชุมชน จะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจในถิ่นฐานของตน ซึ่งความรู้สึกนี้จะนำมาสู่ความภาคภูมิใจในตนเองในระยะต่อมา อันจะทำให้เด็กๆ มีจิตใจที่มั่นคง และพร้อมจะพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนของตน ต่อไปด้วย



กิจกรรม การเรียนการสอนผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชน เป็นการสร้างสรรค์วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาภูมิปัญญาในท้องถิ่น และสร้างความตระหนักในคุณค่าของความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน คุณชัยวัฒน์กล่าว


ด้าน พระมหานิคม คุณสัมปันโน ผู้ก่อตั้งจาริกาสิกขาลัย ใช้ กระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยการจาริก หรือการเดินไปสู่แหล่งความรู้หรือผู้รู้ แตกต่างจากวิธีการศึกษาโดยทั่วไปที่กำหนดให้มีการเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ ตายตัวและมีหลักสูตรชัดเจนที่ถูกกำหนดไว้แล้ว



วิธี การเรียนรู้แบบจาริกาสิกขาลัยจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ด้วยการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากการกำหนดหลักสูตรร่วมกันว่า อยากเรียนรู้เรื่องอะไร และอยากเรียนรู้กับใคร ซึ่งอาจจะเป็นบุคคล สัตว์ สถานที่ หรือสิ่งของก็ได้ จากนั้นจะไปฝังตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฉันทะหรือความพึงพอใจที่จะเรียนรู้ เมื่อจบหลักสูตรแล้วก็มาสรุปบทเรียนร่วมกัน


การเรียนการสอนของจาริกาสิกขาลัยใช้หลักสูตร ๒ ปี ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และเมื่อจบหลักสูตรจะไม่มีการมอบใบประกาศให้ แต่ผู้เรียนต้องนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อประกาศความสามารถของตัวเอง พระมหานิคมกล่าวถึงเป้าหมายและประโยชน์ของจาริกาสิกขาลัยว่า



“ถ้าเข้าเรียนตามมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาต่างๆ จะเป็นเหมือนการไปซื้อความรู้ แต่กระบวนการของเราเป็นการสร้างความรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้ไปรับใช้ผู้อื่นและรับใช้สังคม เมื่อการเรียนแบบนี้ไม่ต้องซื้อหา ไม่ได้เสียค่าลงทะเบียน ผู้เรียนก็จะเข้ามาด้วยความอ่อนน้อม และตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เรียน”


สำหรับ ชัยพร นำประทีป หรือ เอี้ยว นักดนตรีผู้เคยหลงรักการเดินทาง เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีวิธีการเรียนรู้โดดเด่น เขากล้าหาญพอที่จะเดินออกจากรั้วสถาบันทั้งที่ยังเรียนไม่จบเพื่อแสวงหาตัว เองจากการเดินทาง โดยเอาระยะทางเป็นตัวตั้ง สุดท้ายเขาก็กลับมาหยุดอยู่ที่เดิม แล้วเริ่มเดินทางเข้าสู่ภายในเพื่อค้นหาชีวิตจากพุทธธรรม

หลังจากได้ฝึกนั่งสมาธิมา ๓-๔ ปี ก็ทำให้พบว่า การเดินทางไปยังสถานที่ใกล้ไกลหลายๆ แห่งนั้น มันจะไม่มีคุณค่าเลยถ้าเราละเลยมิติภายใน คือจิตใจ จิตวิญญาณของเรา บางทีการออกเดินทางมากๆ อาจจะไม่พบตัวตนที่เราตามหาเลยก็ได้ ชัยพรเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จาการเดินทาง


วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน ในทัศนะของชัยพรจึงเป็นวิชาที่เกิดจากการ ใช้ชีวิตด้วยการเดินทางทั้งภายนอกและภายใน จนทำให้ เข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้และนำไปสู่การละวางตัวตนในที่สุด


นอกจาก วิชา ที่จะนำผู้เรียนไปสู่ความมีตัวตนที่ชัดเจนบนเวทีชีวิตแล้ว การศึกษาที่แท้จริงยังควรเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจอันถ่องแท้ทั้งภายในตัว เอง สังคม และโลก ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน โดยตัววิชาความรู้ที่เล่าเรียนนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การทำให้ผู้เรียนตระหนักว่า หากเปิดดวงใจให้กว้าง ชีวิตก็จะมอบทุกอย่างให้เราได้เรียนรู้ ดังที่อาจารย์ประมวลได้ให้ข้อคิดปิดท้ายไว้ว่า


ชีวิต ของแต่ละคนมีขั้นตอนในการดำเนินไป และขั้นตอนของการดำเนินชีวิตไปนั้น มันจะมีบทเรียนไปเป็นระยะๆ ผมจึงพยายามสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ขอให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในชีวิตที่มีอยู่ จงศรัทธาเถิดว่าชีวิตนี้จะดำเนินไปเพื่อการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ และเพื่อการค้นพบความหมายที่งดงามของชีวิต หากแม้นวันนี้ยังไม่พบสิ่งที่งดงามในชีวิต ก็อย่าสูญเสียศรัทธาในการมีชีวิตอยู่

.................

นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ เวทีสร้างสุข สสส. จัดขึ้น เมื่อวันอังคารที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ลานกิจกรรม ชั้น ๓๕ ตึกเอส.เอ็ม.ทาวเวอร์

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของ เวทีสร้างสุข โครงการสื่อสารสร้างสุข สสส.ได้ที่ คุณธนาทิพ ๐๘๙-๘๙๒๑๗๙๑ และ คุณกิติมาภรณ์ ๐๘๑ -๔๔๙๗๔๗๙

วันพุธ, มีนาคม 04, 2552

ปิดมือถือป้องกันฟ้าผ่า

สบท.เตือนประชาชนปิดมือถือป้องกันฟ้าผ่า

พบข้อมูล คนทั้งไทยและเทศถูกฟ้าผ่าดับหลายรายเพราะเปิดมือถือและฮัลโหลช่วงฝนฟ้าคะนอง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาวนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังคงออกประกาศเตือนให้ประชาชนทั่วทุกภาค ระวังอันตรายจากสภาวะฝนฟ้าคะนองกระจายและฝนตกหนัก
โดยตลอดปี 2551 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และหลายกรณีถูกระบุว่า มีสาเหตุมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่ฝนตก เช่น

ที่จ.มุกดาหาร ฟ้าผ่านักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวออสเตรเลียเสียชีวิต ขณะเล่นน้ำตกตาดโตน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ก่อนฟ้าผ่าหนึ่งในผู้เสียชีวิตกำลังเช็คข้อความในมือถือ

ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ฟ้าผ่าคนงานชาวกัมพูชาเสียชีวิต 3 ราย เพราะคนงานหยิบโทรศัพท์มือถือมาโทร

ที่อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ฟ้าผ่าชาวบ้านเสียชีวิตขณะออกไปเลี้ยงควาย แล้ววิ่งหลบฝนในกระท่อมกลางทุ่งนาโดยพกมือถือไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า

ที่ อ.งาว จ.ลำปาง ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ขณะผู้เสียชีวิตเข้าไปหลบฝนในกระท่อม มีสายเรียกเข้ายังไม่ทันกดรับสาย ฟ้าก็ผ่าลงกระท่อมไปยังโทรศัพท์มือถือจนทำให้ผู้นั้นเสียชีวิต

ส่วนในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศอังกฤษ ในปี 2549 สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์ได้รายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษหรือ บริติช เมดิคอล เจอร์นัล (บีเอ็มเจ) ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในที่โล่งแจ้ง ขณะเกิดพายุฝนอาจทำให้เกิดอันตรายจากฟ้าผ่า

โดยยกตัวอย่างกรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งถูกฟ้าผ่าขณะคุยโทรศัพท์มือถือในสวนสาธารณะกลางเมืองจนได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือที่อเมริกาพบกรณีของชายคนหนึ่งกำลังขับรถออกไปทำงานในขณะที่ฝนตกฟ้าคะนอง ก็ถูกฟ้าผ่าทะลุหลังคาลงมายังโทรศัพท์ที่เหน็บโทรศัพท์ไว้ที่เข็มขัดจนผิวหนังไหม้บาดเจ็บสาหัส

ส่วนที่ประเทศจีน มีรายงานเช่นกันว่ามีผู้ถูกฟ้าผ่าขณะใช้โทรศัพท์มือถืออยู่บนท้องถนนในช่วงที่ฝนตกฟ้าคะนอง

เช่นเดียวกับที่ประเทศรัสเซีย มีรายงานว่า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตขณะใช้โทรศัพท์มือถือในที่โล่งแจ้ง มือถือเครื่องนั้นถูกฟ้าฝ่าจนละลายคามือ กรณีดังกล่าวทำให้ประเทศรัสเซียมีการออกประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้โทรศัพท์ในช่วงฝนตกฟ้าร้อง

"จากบทเรียนดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย ประชาชนจึงควรงดใช้โทรศัพท์มือถือหรือปิดเครื่องชั่วคราวในขณะที่เกิดฝนตกฟ้าร้อง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ทุ่งนา ชายหาด ลานกว้าง สนามกีฬา น้ำตก เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือใต้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้าหรือรั้วกำแพง ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ" นพ.ประวิทย์กล่าว