วันพุธ, ตุลาคม 24, 2550

อุบายขจัดโกรธ

อุบายขจัดโกรธ

เรื่องโกรธนี้สำคัญ โดยเฉพาะในโลกยุคนี้
เหตุการณ์ 9/11 กับอาคารแฝดเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ หรือ 28 เมษายน การสูญเสียที่กรือเซะ หรือที่ใกล้ตัวเราเข้ามาอีกนิดคือ การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในบ้านเราต่างกรรมต่างวาระ แม้แต่เรื่องราวความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างเหตุแห่ง “ความโกรธร่วม” ได้ทั้งสิ้น
หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ และ องค์ทะไลลามะ ทั้งคู่ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ “การจัดการ” ความโกรธ เล่มของท่าน ติช นัท ฮันห์ ที่จัดพิมพ์หลังเหตุการณ์ 9/11 (11 กันยายน) เป็นอันขายดีโดยบังเอิญ ส่วนของท่าน ทะไลลามะ คือเล่ม Healing Anger: The Power of Patience from a Buddhist Perspective ซึ่งจัดพิมพ์ในภายหลัง เน้นย้ำถึง “ขันติธรรม” เป็นโอสถเจือจางและรักษาความโกรธ
ในที่นี้ ดิฉันจะขออนุญาตเล่าถึงเฉพาะเล่มหลัง ด้วยเห็นว่ามีกุศโลบายดีๆ ที่กำจัดโกรธได้หลายวิธี ที่เหลือคือความมานะฝึกฝน เพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำๆ และมีวินัย
ลำพังเพียงท่องจำคำ “โกรธนั้น ไม่ดี” ก็ยังไม่ช่วยอะไร การจะขจัดความโกรธในใจได้นั้น ต้องอาศัยความอดทนเป็นยาบรรเทา
อุบายขจัดโกรธในหนังสือเล่มนี้ ท่านทะไลลามะอ้างอิงจากงานเขียนของท่าน สันติเทวะ อีกชั้น ท่านผู้นี้เป็นปราชญ์ เป็นคุรุผู้ใหญ่สายพุทธมหายาน งานชิ้นนี้ประกอบด้วยโคลง 134 บท เขียนในเชิงแสดงเหตุและผล รวมทั้งยกสมมติฐานและข้อโต้แย้งขึ้นมาอรรถาธิบายได้อย่างเฉียบแหลม จับใจผู้อ่าน
ขันติต้องเริ่มจาก “การเห็นโทษ” ของความโกรธ ถ้าเราไม่เห็นโทษของมัน เราก็จะโกรธอยู่เรื่อยไป
หากเราลองนั่งนึกถึงสีหน้าของคนที่กำลังโมโห คนที่น่ารัก สดใส และอารมณ์ดีก็จะกลายเป็นคนไม่หน้ามองไปโดยปริยาย
ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องของคนที่โกรธกัน ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็เป็นเรื่องของคนที่เกลียดกัน สงครามอิรักก็เป็นเรื่องโกรธเกลียดกัน ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใส่อารมณ์โกรธากันในประเด็นปัญหาของประชาชนโดยลืมนึกถึงเด็กที่นั่งดูท่านเป็นตัวอย่างอยู่ที่บ้าน
ช่างน่าเศร้ายิ่งนัก เราเห็นตัวอย่างไม่ดีแล้วก็ต้องคอยตักเตือนตัวเอง บุญกุศลใดที่เคยทำมาเป็นอันสูญเปล่าเพียงชั่วพริบตาเพราะความโกรธ
นอกจากนั้น เรายังต้องเล็งเห็น “คุณประโยชน์” ของความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า ประโยชน์จากการไม่ได้รับความเป็นธรรม นั่นคือ หากมีผู้ปฏิบัติไม่ดีต่อเรา เราเองก็ต้องคิดว่าความทุกข์เล็กน้อยเหล่านี้คือโอกาสที่เอื้อให้เราได้ฝึกฝนตนเอง โดยเฉพาะความอดทนข่มกลั้น และที่ว่าความทุกข์เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็เพราะ จริงๆ แล้ว โลกนี้มีความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น นั่นคือ “การยึดติดอยู่ในวัฏสงสาร” การจะทนกับทุกข์ขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ก็ต้องหัดคุ้นชินกับความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ก่อน และถ้าไม่มีใครทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เราก็จะไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนตนเอง เพราะฉะนั้น ต้องมองให้เห็นข้อดีของความทุกข์เหล่านี้
และถ้ามองต่อไปว่าคนที่ทำร้ายเราก็มุ่งหวังให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรายิ่งเป็นทุกข์เดือดร้อนก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีให้เขาสมความปรารถนา และหากเป็นเช่นนี้ ความโกรธและเกลียดนั้นก็จะเป็น “ศัตรูตัวฉกาจที่แท้จริง” เพราะไม่ว่าจะใครก็ตาม ล้วนตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ตัวเราและกุศลของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องระมัดระวังไม่ปล่อยให้ความโกรธเกลียดของเราผุดขึ้นในใจ
ศาสนาพุทธนั้นเชื่อเรื่อง “กรรม” ที่เกิดจาก “เหตุปัจจัย” กฏอิทัปปัจจัยยตาและปฏิจจสมุปบาทย้ำว่า “ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้เอง” สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยอำนวยให้ปรากฏ การที่มีคนมาทำร้ายเราก็ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย ซึ่งบางครั้ง ตัวเราหรือคนที่ทำร้ายเราก็ไม่มีเจตนา
เช่นเดียวกับอาการเจ็บป่วยที่ไม่ได้มีเจตนาจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากผลของเหตุปัจจัยต่างๆ เป็นต้นว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากโมโหเชื้อโรคหรือร่างกายที่อ่อนแอก็ไม่ช่วยให้เราหายป่วยไข้แต่อย่างใด
ถ้าเขาทำร้ายเราก็เท่ากับเขาได้ทำอกุศลกรรมและเป็นเหตุปัจจัยของผลร้ายที่เขาจะได้รับในภายหลังอยู่แล้ว ในสถานการณ์เดียวกันนี้ ตัวเราเองต่างหากที่มีโอกาสประกอบกรรมดีด้วยการบำเพ็ญขันติบารมี และเราต่างหากที่ต้องเห็นใจเขาให้มาก เพราะเรามองเห็นผลกรรมในบั้นปลายของเขา
“ความเห็นอกเห็นใจ” คือ “ความกรุณา” ทั้งสองโอสถนี้จะช่วยเสริมความอดทนข่มกลั้นขจัดโกรธได้
และยิ่งหากเรายินดีที่ได้เห็นศัตรูมีความสุขหรือประสบความสำเร็จก็ยิ่งดี เฉกเช่นเป้าหมายของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
เนื่องจากมนุษย์ทุกชีวิตต้องการความสุข เขาย่อมมีสิทธิแสวงหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ตนเองได้ เช่น การที่เราให้การอุปถัมภ์การเงินแก่ญาติมิตร ถ้าเขาเหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้บนลำแข้งของตัวเอง เราก็ควรยินดี และการที่เขามีสุขเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นผลมาจากความดีของเรา แต่ถ้าเราคิดร้ายกับเขาสิ กลับจะทำให้กุศลของเราหม่นหมอง
อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ศัตรูของเราก็คือผู้มีพระคุณต่อเรา ทำให้เรามีโอกาสฝึกฝนตนเอง วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นอุบายที่ช่วยในการฝึกฝนเพื่อให้เรามีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ การปฏิบัติธรรมนั้นไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ด้วยการใช้เพียง “ความคิด” หรือ “การคำนวณ” หรือ “การคิดเชิงเหตุและผล”
สุขภาพร่างกายแข็งแรง โภชนาการที่ดี การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจไม่พอ เราต้องพึ่งวินัยในกิจกรรมเหล่านี้ด้วย วินัยในการรับประทาน วินัยในการออกกำลังกาย การจะมีคุณภาพทางวิญญาณที่ดีต้องได้รับอาหารทางจิตวิญญาณและการบำเพ็ญญานไปพร้อมๆ กันด้วย
นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “การออกกำลังทางจิต”
ท่านทะไลลามะยืนยันว่า มนุษย์แต่ละคนล้วนมีจริตแตกต่างกัน ศรัทธา ความคิด และความเชื่อย่อมขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิถีการเรียนรู้
ที่เหลือคือ ความใจกว้าง ยอมรับความหลากหลายของทุกชีวิตและสรรพสิ่งในโลก หากเราเข้าใจดังนี้ ตัวตน และความโกรธของเราย่อมถูกขจัดให้ดับสูญไปโดยปริยาย

โพสต์ทูเดย์ // ชีวิตรื่นรมย์ // 23 ตค 50


ชลนภา อนุกูล
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
media4joy@hotmail.com
www.happymedia.blogspot.com

วันพุธ, ตุลาคม 17, 2550

พลังชีวิตจากความหมาย

เพื่อนสนิทคนหนึ่งของดิฉันถูกขอร้องให้เป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษในงานนำเสนอโครงการสำหรับกระทรวงยุติธรรม เธอสารภาพภายหลังว่า ตอบตกลงไปอย่างงงๆ ไม่ได้ตั้งตัว และรู้สึกปฏิเสธไม่ได้

ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นที่เธอต้องเดินทางไปเป็นล่ามอาสานั้น เธอจึงดูหงุดหงิดเล็กน้อย ฉันมีงานตั้งกระบุงต้องทำให้เสร็จ น่าจะเอาเวลาไปทำงานของตัวเองหรือไม่ก็น่าจะได้นั่งเล่น นอนเล่น หรือพักผ่อนเพิ่มพลัง ทำไมต้องมาทำงานที่ไม่ใช่ธุระของตนด้วยเธอพร่ำพรรณนายืดยาวขณะเดินทางไปยังจุดหมาย

เมื่อต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายค่าแท๊กซี่ เธอก็บ่นต่อ แล้วยังต้องเสียเงินอีก โอ้ย! เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ฉันมาทำอะไรอยู่ตรงนี้นะ

คำถามนั้นดิฉันก็ตอบเธอไม่ได้เหมือนกัน อยากช่วยให้เธอคลายความหงุดหงิดใจบ้างเลยลองถามไปว่า สิ่งที่กำลังจะทำนี้มีความหมายอะไรบ้างไหม?

เธอนิ่งไปครู่ใหญ่ก่อนแลกเปลี่ยนว่า ถ้าผู้มาร่วมฟังโครงการรู้สึกสนใจนำศิลปะบำบัดไปใช้กับเด็กและเยาวชนที่พลาดพลั้ง กระทำความผิด เด็กเหล่านั้นจะได้รับการเยียวยาปัญหาภายในของเขา ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เขาน่าจะมีความสุขขึ้น และหากเขาเป็นคนที่มีความสุข เขาจะสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้แก่สังคมได้อีกมาก เธอตอบพร้อมรอยยิ้มบาน

และถ้าเด็กๆ มีความสุข สังคมก็น่าจะเป็นสุขขึ้น ฉันก็จะได้อยู่ในสังคมที่มีความสุข ความปลอดภัยขึ้น

ตาเธอเป็นประกายเมื่อพูดถึงตรงนี้ คำตอบที่ได้รับจากภายในทำให้เธอดูมีความสุขมากขึ้นทีเดียว แต่ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า เธอกำลังทำตัวเป็นมะนาวหวานหาเหตุผลดีๆ เพื่อเกลื่อนความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจดังกล่าว

ดิฉันเฝ้าสังเกตเธอในช่วงเวลาสองชั่วโมงกว่าที่เธอทำหน้าที่ล่ามอาสา ดิฉันเห็นพลัง ความสุข และความเบิกบานในตัวเธออย่างมาก ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดจากใจจริงๆ หรือเธอพยายามสร้างขึ้น มันก่อให้เกิดผลอันมหัศจรรย์ทีเดียว

งานลุล่วงไปด้วยดี เจ้าหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรมเปิดใจและให้ความสนใจแนวคิดเยียวยาเด็กและเยาวชนด้วยกระบวนการทางศิลปะ แม้จะไม่เกี่ยวอะไรกับเธอเลย แต่เธอก็รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

เธอไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แต่เธอได้รับความอิ่มใจและความสุขเป็นรางวัล

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ดิฉันหันกลับมาทบทวนว่า บางที มนุษย์อาจเป็นเผ่าพันธุ์ที่วิวัฒน์จากการกระเสือกกระสนเพื่อการอยู่รอด มาถึงจุดที่ต้องการแสวงหา ความหมาย ในการดำรงอยู่

ชีวิตเรามีความหมายอย่างไร เราเรียนหนังสือหรือทำงานไปเพื่ออะไรกัน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มีความหมายอย่างไรบ้าง

ในหนังสือเรื่อง อิสรภาพในค่ายกักกัน (Men’s Search for Meaning) ที่เขียนโดยจิตแพทย์ วิคเตอร์ แฟรงเคิล หนึ่งในเชลยในค่ายเอาชวิตช์ ได้เขียนเล่าประสบการณ์ภายในค่ายกักกันว่า เชลยอยู่รอดได้เพราะตระหนักรู้ความหมายของชีวิตว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร

สำหรับตัว ดร.แฟรงเคิล เมื่อแรกมาถึงค่ายกักกันเชลย เจ้าหน้าที่ได้ยึดต้นฉบับหนังสือที่เขาอุตส่าห์เขียนและพร้อมตีพิมพ์ไป เขาตั้งใจที่จะอยู่รอดเพื่อเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่ นี่คือความหมายของชีวิตในเวลานั้น และที่สุด จิตแพทย์ผู้นี้ก็อดทนฟันฝ่าความทุกข์และความโหดร้ายในค่ายนาซี ทั้งยังได้เขียนหนังสือเล่มนี้และอีกหลายเล่มในเวลาต่อมา

แม้กระทั่งการตายก็มีความหมายได้ ดร.แฟรงเคิล ยังเล่าด้วยว่า หลายคนยินดีที่จะตายเพื่ออะไรสักอย่าง พวกเขายอมตายเพื่อความหมายของชีวิต ผดุงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และคุณความดีบางอย่าง

การเห็นความหมายในชีวิตให้พลังความมุ่งมั่นที่จะอยู่ต่อและพลังที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า

มนุษย์ที่ตีกรอบตัวเองเป็นปัจเจกสูง ไม่ยุ่งเกี่ยวสัมพันธ์กับใครและสิ่งใดเลยจะรู้สึกโดดเดี่ยว และเป็นไปได้ว่ายากที่จะเห็นความหมายของตัวเอง เพราะความหมายเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่พ้นไปจากตัวเอง เช่น ชีวิตของพ่อแม่มีความหมายเพื่อลูก ครูมีความหมายต่อนักเรียน การประหยัดพลังงานมีความหมายต่อโลกและการอยู่รอดของทุกชีวิต การผลิตของใช้ดีๆ ให้ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุข การนำเสนอเรื่องราวดีๆ เป็นประโยชน์ ทำให้สังคมตื่นรู้มีปัญญาไปด้วยกัน

ดิฉันชื่นชมอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ท่านเห็นความเจ็บป่วยของท่านเป็น บทเรียนมีชีวิต ที่สอนนักเรียนแพทย์ได้ ท่านยกระดับความเป็นครูของท่านจากตำรา การปฏิบัติ มาสู่ความท้าทายจริงในชีวิต สอนจนลมหายใจสุดท้ายของความเป็นครู ดิฉันเห็นว่าท่านมีความสุขมากในภาวะเจ็บป่วยเพราะมันมีความหมายบางอย่าง

ความหมายอันยิ่งใหญ่นำพลังมหาศาลตามมาด้วย ยิ่งเราเห็นความหมายของสิ่งที่ทำเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ และเกิดประโยชน์พ้นตัวตนไปมากเท่าไร พลังในการสร้างสรรค์และความอึดต่ออุปสรรคปัญหาก็มากขึ้นเท่านั้น

หัวใจมนุษย์จะพองโตเมื่อรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวตน แต่น่าเสียดาย ปัจจุบัน น้อยคนที่จะหยุดวิ่งแล้วตั้งคำถามสำคัญนี้กับตัวเอง

ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายหลายคนเคยสะท้อนว่าในห้วงเวลานั้น เขารู้สึกสิ้นหวังในชีวิต คิดว่าชีวิตไร้ค่าและปราศจากความหมาย หรือคนที่ไม่เคยตั้งคำถามว่า สิ่งที่ตนทำนั้นมีคุณค่าและความหมายอย่างไร อาจเกิดผลในทางที่ไม่ใส่ใจทำ ประเภททำงานเช้าชามเย็นชาม หรือนักเรียนที่เรียนไปวันๆ เพราะไม่รู้ความหมายว่า การเรียนมีความหมายหรือก่อประโยชน์อย่างไรบ้าง

หากเด็กและเยาวชนหรือผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่ค่อยน่ารัก เห็นความหมายของตัวเอง ท่าทีนิสัยจะเปลี่ยนไป นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในยุคนี้มีการรณรงค์ให้หนุ่มสาวหันมาทำงานอาสาเพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ความหมาย และทำประโยชน์ให้ผู้อื่น

คราวหนึ่ง ดิฉันเคยถามเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งว่า เราจำเป็นต้องค้นหาความหมายชีวิตและสิ่งที่ทำด้วยหรือ เราทำชีวิตให้ยุ่งยากไปหรือเปล่าพี่ชายคนนั้นไม่ตอบ บอกให้ดิฉันค้นหาคำตอบกันเอาเอง

ดิฉันขบคิดหาคำตอบ ทั้งจากการคิดๆ การอ่านหนังสือ แต่แล้วก็ไม่ได้คำตอบที่ตรงใจ ในที่สุด ดิฉันก็ทิ้งความพยายามที่จะคิดเอาคำตอบ จนวันหนึ่ง รุ่นน้องที่ทำงานบ่นเรื่องการทำงานให้ฟัง เธอรู้สึกว่างานซ้ำๆ ไม่มีอะไรใหม่ และก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร นอกจากมีเงินเลี้ยงดูชีวิตไปวันๆ

ดิฉันฟังแล้วรู้สึกเศร้าไปด้วยกับเธอ สำหรับการทำงานในภาวะจิตแบบนี้ มนุษย์ก็ไม่ต่างไปจากหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิตชีวา

ความหมายคงไม่ใช่สิ่งที่จะตอบให้กันได้ และไม่มีคำตอบสำเร็จรูปคำตอบเดียว ความหมายสัมพันธ์โดยตรงกับความรู้สึกลึกๆ ภายในใจ ไม่ใช่การขบคิดเชิงตรรกะ

การเป็นแพทย์มีความหมายอย่างไร

หากนักการตลาดถาม คุณค่าและความหมาย ของสิ่งที่ทำ การโฆษณาจะเป็นรูปแบบใด

หากนักการเมืองถาม ความหมาย ของการงานที่ตนพึงทำ พวกเขาจะเป็นอย่างไร

ลองถามใจตนเองอย่างจริงจังว่า ความหมายของงานที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร

คำตอบล้วนอยู่ที่ใจคุณเอง



โพสต์ทูเดย์ // ชีวิตรื่นรมย์ // 16 ตค 50

กรรณจริยา สุขรุ่ง
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์
media4joy@hotmail.com